ถ้าพูดถึงชื่อ “HyperX Cloud” ขึ้นมา เชื่อว่าเกมเมอร์จะต้องคุ้นเคยกับมันเป็นอย่างดีแน่นอน เพราะนี่คือรุ่นหูฟังยอดฮิต ที่เป็นดาวค้างฟ้า อยู่คู่วงการเกมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 9 ปี
เหตุใดหูฟัง HyperX Cloud ถึงยังได้รับความนิยม และเป็นรุ่นที่ขายดีอย่างต่อเนื่องมาเสมอ ? แล้วตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทาง HyperX ปรับปรุงอะไรเพิ่มเข้ามาบ้าง วันนี้เราจะมาเปรียบเทียบให้ดูกันชัด ๆ กับ HyperX Cloud 4 แบบ 4 สไตล์ ที่จะมาตอบโจทย์การเล่นเกมของคุณได้อย่างครบถ้วน และครอบคลุมที่สุด
โดยสำหรับ HyperX Cloud ที่เรานำมาเปรียบเทียบกันวันนี้ มีทั้งหมด 4 รุ่น ได้แก่
1. HyperX Cloud II
หูฟังรุ่นมาตรฐานแบบมีสาย ขายดีต่อเนื่องมายาวนาน และเกมเมอร์รู้จักเป็นอย่างดี
2. HyperX Cloud Alpha S
หูฟังมีสาย รุ่นอัปเกรดคุณภาพเสียงที่ต่อยอดมาจาก HyperX Cloud Alpha และเพิ่มลูกเล่นการปรับเสียงเบส
3. HyperX Cloud II Wireless
หูฟังรุ่นมาตรฐานแบบไร้สาย ใช้งานได้หลากหลายแพลตฟอร์ม
4. HyperX Cloud Alpha Wireless
หูฟังไร้สายรุ่นล่าสุดที่กำลังจะวางขายเร็ว ๆ นี้ รองรับระบบเสียง DTS:X พร้อมแบตเตอรี่อยู่ได้นานสูงสุด 300 ชั่วโมง
นั่นหมายความว่าเรามี HyperX Cloud II และ Cloud Alpha มาเปรียบเทียบกันแบบครบครันทั้งมีสายและไร้สาย โดยที่ตัว Cloud II ของเราจะเป็นรุ่นสีชมพูที่มีความสดสว่างน่าใช้งาน ขณะที่ Cloud Alpha Wireless ก็เป็นรุ่นล่าสุดซึ่งน่าจับตามองเลยทีเดียว ว่าจะมีอะไรที่แตกต่างไปจากรุ่นพี่อยู่บ้าง
อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง
เริ่มต้นเรามาดูอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทาง HyperX ให้มาในกล่องกันก่อนเลย
รุ่นหูฟัง | อุปกรณ์ |
HyperX Cloud II | – ตัวหูฟัง – ไมโครโฟนแบบถอดแยกได้ พร้อมฟองน้ำ – การ์ดเสียง USB – คู่มือ |
HyperX Cloud Alpha S | – ตัวหูฟัง – ถุงใส่หูฟัง – Earpad สำรองแบบกำมะหยี่ 1 คู่ – ไมโครโฟนแบบถอดแยกได้ พร้อมฟองน้ำ – การ์ดเสียง USB – คู่มือ |
HyperX Cloud II Wireless | – ตัวหูฟัง – ตัวรับสัญญาณหูฟังแบบ USB – สายชาร์จ USB C to USB A – ไมโครโฟนแบบถอดแยกได้ พร้อมฟองน้ำ – คู่มือ |
HyperX Cloud Alpha Wireless | – ตัวหูฟัง – ตัวรับสัญญาณหูฟังแบบ USB – สายชาร์จ USB C to USB A – ไมโครโฟนแบบถอดแยกได้ พร้อมฟองน้ำ – คู่มือ |
สังเกตว่า HyperX Cloud Alpha S จะมีถุงใส่หูฟังมาด้วย พร้อมกับ Earpad สำรองแบบกำมะหยี่อีก 1 คู่ ซึ่งรุ่นอื่นไม่ได้มีมาให้ ตรงนี้ก็เป็นข้อได้เปรียบที่เราสามารถสับเปลี่ยน Earpad ได้ตามต้องการ
ส่วนทางฝั่งของหูฟัง Wireless นั้นจะได้อุปกรณ์ในกล่องมาเหมือนกันทั้งตัว Cloud II และ Cloud Alpha ซึ่งมีสายชาร์จที่ปลายข้างหนึ่งเป็น USB C และอีกข้างเป็น USB A พร้อมสรรพ แต่ในตอนที่ออกมาจากกล่อง หูฟังก็จะถูกชาร์จมาก่อนแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง จึงไม่จำเป็นต้องเสียบชาร์จก่อนก็ได้ในตอนแรก
จุดหนึ่งที่หูฟัง Wireless ทั้งสองรุ่นนั้นแตกต่างกัน ก็คือตัวรับสัญญาณ ซึ่งฝั่งของ Cloud II Wireless จะมีขนาดใหญ่เป็นรูปทรงแบบเดียวกับแฟลชไดรฟ์ ส่วนตัวรับสัญญาณของ Cloud Alpha Wireless ที่เป็นรุ่นอัปเกรด กลับมีขนาดเล็กกว่าเกือบครึ่งตัวเลยทีเดียว ตรงนี้ถือว่าน่าสนใจ และต้องรอดูในพาร์ททดสอบคุณภาพเสียงกันว่าจะแตกต่างอย่างไรบ้าง
ดีไซน์
มาต่อกันที่ดีไซน์ของหูฟังกันบ้าง ซึ่งที่จริงทั้ง 4 รุ่นก็มีรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ตามสไตล์ HyperX อยู่แล้ว
โดยสิ่งที่เหมือนกันทุกรุ่น ได้แก่
- มีโลโก้แบรนด์อยู่ทั้งข้างซ้าย, ขวา และที่คาดด้านบน
- มีช่อง 3.5 มม. สำหรับเสียบไมค์
- บริเวณก้านที่ติดกับ Earpad มีความมันเงาเล็กน้อย สะท้อนแสงแล้วดูสวยงาม
- สำหรับรุ่นมีสาย สายหูฟังจะติดมากับหูฟังเลย ถอดไม่ได้
- รุ่นไร้สาย ฝั่งซ้ายจะมีช่อง USB C สำหรับเสียบชาร์จหูฟัง, ปุ่ม Power, ปุ่มเปิด-ปิดไมค์ ส่วนฝั่งขวาจะมีปุ่มหมุนปรับระดับเสียง
ส่วนจุดที่แตกต่างกัน จะเป็นเรื่องของดีไซน์บางจุด รวมไปถึงปุ่มควบคุมการใช้งานรอบ ๆ ตัวหูฟังที่บางรุ่นจะพิเศษกว่ารุ่นอื่น ดังต่อไปนี้
รุ่นหูฟัง | ดีไซน์ |
HyperX Cloud II | – ที่คาดด้านบนเป็นผิวเรียบ – รุ่นที่เราเลือกมาเป็นสีขาวตัดชมพู บริเวณก้านที่ติดกับ Earpad ก็เป็นสีชมพู สะท้อนแสงแล้วโดดเด่นกว่ารุ่นอื่นเป็นพิเศษ – การ์ดเสียงมีปุ่มบวกลบทั้งเสียงหูฟังและไมค์, เปิด-ปิดไมค์ด้วยปุ่มแบบสไลด์ |
HyperX Cloud Alpha S | – ที่คาดด้านบนเป็นผิวไม่เรียบ – ก้านที่ติดกับ Earpad จะเจาะเป็นช่องโปร่งตามเอกลักษณ์รุ่น Alpha – รอบ ๆ Earpad เป็นผิวเรียบ สามารถถอดเปลี่ยนได้ ขณะที่รุ่นอื่น ๆ จะเป็นผิวหยัก – มีปุ่มเลื่อนปรับเสียงเบสได้ 3 ระดับ อยู่ด้านหลังหูทั้ง 2 ข้าง – การ์ดเสียงมีปุ่มบวกลบปรับเสียงหูฟัง ส่วนอีกฝั่งจะเป็นการปรับบาลานซ์เสียงเกมและเสียงแชท – เปิด-ปิดไมค์ด้วยปุ่มแบบกด กดแล้วจะมีไฟสีแดงแจ้งสถานะให้ทราบ |
HyperX Cloud II Wireless | – ที่คาดด้านบนเป็นผิวเรียบ – บริเวณก้านที่ติดกับ Earpad จะโค้งมนตามแนวกว้าง เวลาสะท้อนแสงจะเห็นเป็นเงามีมิติ |
HyperX Cloud Alpha Wireless | – ที่คาดด้านบนเป็นผิวไม่เรียบ – ปุ่มหมุนปรับระดับเสียงที่ฝั่งขวาเป็นแบบหยัก จับถนัดมือกว่า Cloud II Wireless เล็กน้อย – ก้านที่ติดกับ Earpad เจาะเป็นช่องโปร่งตามเอกลักษณ์รุ่น Alpha |
สังเกตได้ว่ารุ่น Alpha S จะมีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากรุ่นอื่น ก็คือปุ่มปรับเสียงเบสที่ปรับได้ถึง 3 ระดับ ซึ่งเมื่อเราลองใช้งานจริงแล้วก็พบว่ามันให้ความแตกต่างได้เยอะมากอย่างน่าพอใจทีเดียว โดยถ้าดันปุ่มลงมาด้านล่างสุด จะแทบไม่ได้ยินเบสเลย ส่วนถ้าดันขึ้นไปบนสุด ก็จะได้ยินเบสมาเต็มลูก สะใจคอเกมแอคชันที่ชอบเอฟเฟคต์ความกระแทกกระทั้นแน่นอน
ไมค์
ในส่วนนี้เรียกว่าขอให้มั่นใจได้เลย เพราะไม่ว่าจะเป็น Cloud รุ่นไหน ก็รับประกันความเทพของไมค์แบบ Noise Cancelling ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ HyperX มาช้านาน ด้วยคุณภาพการตัดเสียงรบกวนระดับดีเยี่ยม ได้ยินเสียงพูดชัดเจน ไม่ก้อง ตัวฟองน้ำสามารถกันลม, กันเสียงหายใจได้ดี และยังสามารถปรับความงอได้อิสระอีกด้วย เพื่อให้เข้ากับปากเราที่สุด
การสวมใส่
เช่นเดียวกันว่านี่ก็คืออีกหนึ่งเอกลักษณ์ของหูฟัง HyperX Cloud ที่ทำให้ใครหลายคนยังคงหลงรักถึงทุกวันนี้ เพราะมันสามารถสวมใส่ได้สบาย ใช้วัสดุเป็นเมมโมรีโฟม ที่ปรับตัวเข้ากันกับสรีระของหูได้อย่างหลากหลายเหมือนกันในทุกรุ่น
แต่จะมีพิเศษหน่อยก็ตรงที่รุ่น Cloud Alpha S ซึ่งมี Earpad แบบกำมะหยี่มาให้เปลี่ยนด้วย เมื่อเราทดสอบสวมใส่ดูแล้วก็พบว่ามีสัมผัสที่ต่างกัน และนุ่มกว่าแบบหนังเทียมที่ติดมากับหูฟังเล็กน้อย ซึ่งจุดนี้ก็แล้วแต่ความชื่นชอบของแต่ละคน ใครที่ร้อนหูง่าย ก็อาจจะเลือกใช้เป็นตัวกำมะหยี่ได้เลย
ในส่วนของน้ำหนักหูฟัง แต่ละรุ่นจะอยู่ที่ประมาณ 300 กรัมเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่หนักและไม่เบาจนเกินไป ขณะที่แรงบีบหูฟังก็ถือว่ากำลังดีมาก และสามารถสวมใส่เล่นเกมได้เป็นเวลานานโดยไม่ต้องกังวลว่าจะเจ็บหูง่าย ๆ
คุณภาพเสียงขณะเล่นเกม
เข้าสู่นาทีสำคัญที่เชื่อว่าหลายคนอยากจะรู้กันแล้ว ว่าในแต่ละรุ่นจะมีคุณภาพเสียงเป็นอย่างไรบ้างขณะเล่นเกม โดยเกมที่เราเลือกมาทดสอบก็คือ Forza Horizon 5 ซึ่งเป็นเกมที่ขึ้นชื่อเรื่องการออกแบบเสียงอันยอดเยี่ยม จนสามารถคว้ารางวัล Best Audio Design มาได้จากเวที The Game Awards 2021
และอีกเกมหนึ่งก็คือ Call of Duty: Warzone ที่ต้องอาศัยการจับทิศทางของเสียงเพื่อระบุตำแหน่งศัตรู รวมถึงตัวเกมยังมีความโดดเด่นในเรื่องของเสียงปืน ที่ทีมงานทำออกมาได้อย่างดุดันถึงใจอีกด้วย
โดยในการทดสอบ เราเลือกเปิดโหมดเสียงเป็น Virtual Surround 7.1 เพื่อให้ได้ประสบการณ์เสียงรอบทิศทางแบบเต็มสูบ โดยสำหรับรุ่น HyperX Cloud Alpha Wireless จะเปิดใช้งานเป็นระบบเสียง Spatial Audio ของ DTS:X ซึ่งตัวหูฟังรองรับ
Forza Horizon 5
รุ่นหูฟัง | Forza Horizon 5 |
HyperX Cloud II | – เสียงรถปะทะเข้ามาด้านหน้า มีย่านเสียงที่แตกต่างกันกับเครื่องยนต์รถแต่ละรุ่น – จับทิศทางเสียงสภาพแวดล้อมได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะรถที่วิ่งสวนทาง เวทีเสียงกว้างประมาณหนึ่ง |
HyperX Cloud Alpha S | – เสียงเครื่องยนต์ทุ้มและหนักแน่นขึ้นกว่า HyperX Cloud II ด้วยอานิสงส์ของพลังเสียงเบสที่สามารถปรับตั้งค่าได้ตามใจชอบ – เวทีเสียงกว้างมาก ปลอดโปร่ง ให้บรรยากาศขับรถในแผนที่กว้างได้เป็นอย่างดี |
HyperX Cloud II Wireless | – เก็บรายละเอียดเสียงเครื่องยนต์ได้ดีทั้งเสียงแหลมและเสียงทุ้ม มีมวลของเบสที่มากขึ้นกว่าเดิม – จับทิศทางเสียงสภาพแวดล้อมได้ดี เวทีเสียงกว้างประมาณหนึ่ง – ระดับเสียงจะเบากว่า HyperX Cloud II เล็กน้อย |
HyperX Cloud Alpha Wireless | – รายละเอียดเสียงคมชัดมาก ทั้งเสียงเครื่องยนต์ และวัตถุชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ปลิวกระจายเมื่อซิ่งรถไถลไปตามข้างทาง – จับทิศทางเสียงสภาพแวดล้อมได้ดีเยี่ยม เวทีเสียงกว้างมาก – ระดับเสียงจะเบากว่า HyperX Cloud Alpha S เล็กน้อย |
Call of Duty: Warzone
รุ่นหูฟัง | Call of Duty: Warzone |
HyperX Cloud II | – เสียงปืนมีความชัดเจน เที่ยงตรง – จับทิศทางเสียงได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางในแนวราบและระดับสูง-ต่ำ |
HyperX Cloud Alpha S | – จับทิศทางเสียงได้อย่างแม่นยำ โดยมีเวทีเสียงที่กว้างขึ้น ทำให้จับองศาของแต่ละการเคลื่อนไหวได้ละเอียดขึ้น |
HyperX Cloud II Wireless | – เสียงปืนจะติดเบสกว่า HyperX Cloud II – เวทีเสียงกว้างพอประมาณ – ระดับเสียงจะเบากว่า HyperX Cloud II เล็กน้อย |
HyperX Cloud Alpha Wireless | – เสียงปืนจะติดเบส แน่น คมชัดขึ้นกว่ารุ่นอื่น ๆ – เวทีเสียงกว้างมาก – ระดับเสียงจะเบากว่า HyperX Cloud Alpha S เล็กน้อย |
จากการทดสอบ ก็ถือว่าได้ความแตกต่างของแต่ละรุ่นอยู่ประมาณหนึ่ง โดยในด้านของเวทีเสียง จะเป็นฝั่งของ HyperX Cloud Alpha ที่ทำได้ดีกว่า HyperX Cloud II ทั้งแบบมีสายและไร้สาย
ขณะที่ HyperX Cloud Alpha Wireless จะมีความโดดเด่นมากกว่ารุ่นอื่นเป็นพิเศษ ด้วยพลังของระบบเสียง DTS:X ที่มีเฉพาะรุ่นนี้เท่านั้น ทำให้เวทีเสียงกว้างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และที่น่าสนใจก็คือเสียงที่ได้นั้นมีความคมชัดมากขึ้นด้วย แม้ขนาดตัวรับสัญญาณจะเล็กกว่า Cloud II Wireless ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเสียงเครื่องยนต์รถใน Forza Horizon 5 และเสียงปืนใน Warzone ก็มีความแตกต่างจากรุ่นอื่นประมาณหนึ่งเลยทีเดียว
ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใด คาแรคเตอร์เสียงที่ได้ก็ยังคงดุดัน และมีคุณภาพในระดับที่ไว้วางใจได้อยู่เช่นเคย ภายใต้เทคโนโลยีไดรเวอร์แบบ Dual Chamber ที่แยกการขับเสียงเบสย่านกลางและสูงออกจากกัน ซึ่งใครที่อยากควบคุมระดับเสียงเบสตอนเล่นเกมได้เอง เช่นอยากให้ Forza Horizon 5 ได้เสียงแน่น ๆ แต่ Warzone ไม่ต้องเน้นเบสมากก็ได้ รุ่น Cloud Alpha S ก็จะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดีที่สุด
ซอฟต์แวร์ปรับแต่ง
อันที่จริง HyperX Cloud สามารถเชื่อมต่อและสามารถใช้งานได้ทันที โดยสำหรับรุ่นมีสาย ก็จะมีการ์ดเสียงสำหรับควบคุมการเปิด-ปิด ระบบเสียงรอบทิศทาง 7.1 อยู่แล้ว
แต่ทั้งนี้ทาง HyperX ก็มีซอฟต์แวร์ NGenuity มาให้เราปรับแต่งได้มากขึ้นอีกหนึ่งระดับสำหรับเกมเมอร์ชาว PC เปิดให้ดาวน์โหลดได้ผ่านทาง Microsoft Store โดยตรง
โดยสำหรับแต่ละรุ่น จะมีลูกเล่นการปรับแต่งใน NGenuity ที่แตกต่างกันดังนี้
รุ่นหูฟัง | ฟังก์ชันปรับแต่ง |
HyperX Cloud II | ไม่รองรับการปรับแต่งผ่านซอฟต์แวร์, รุ่นนี้เป็นแบบ Plug-n-play ที่ปรับแต่งเสียงได้ผ่านทางการ์ดเสียงโดยตรง |
HyperX Cloud Alpha S | – เปิด-ปิดโหมด Mic Monitoring ได้ ซึ่งใช้สำหรับฟังเสียงพูดของเราที่เข้าไปผ่านไมค์ – ปรับบาลานซ์ระหว่างเสียงเกมและเสียงแชท– เปิดปิดระบบเสียงรอบทิศทาง 7.1 – โหมดปรับเสียงให้เข้ากันกับเกมที่เล่นแบบอัตโนมัติ |
HyperX Cloud II Wireless | – เปิด-ปิดโหมด Mic Monitoring ได้ – เปิดปิดระบบเสียงรอบทิศทาง 7.1 |
HyperX Cloud Alpha Wireless | – เปิด-ปิดโหมด Mic Monitoring ได้ – เปิดปิดระบบเสียงรอบทิศทาง DTS:X Spatial Sound – ตั้งค่า Equalizer ได้หลายโปรไฟล์ |
ในรุ่น Cloud II ที่เป็นต้นฉบับนั้น จะมีฟังก์ชันการใช้งานที่จบในตัว และไม่รองรับการปรับแต่งผ่านซอฟต์แวร์เพิ่มเติม ขณะที่ตัวอื่น ๆ จะมีฟังก์ชันเพิ่มมาบ้างใน NGenuity โดยที่โดดเด่นก็เห็นจะเป็นฝั่งของ HyperX Cloud Alpha S ที่มีระบบ Auto-optimize ปรับเสียงให้เข้ากันกับเกมที่เล่นที่สุด ซึ่งเกมที่รองรับก็จะเป็นเกมสไตล์ Competitive ยอดฮิต เช่น Apex Legends, Overwatch, CS:GO, Call of Duty Modern Warfare เป็นต้น
ส่วนทางด้านของ Cloud Alpha Wireless ก็จะจัดเต็มในด้านระบบเสียงกว่าด้วย DTS:X Spatial Sound ซึ่งในส่วนนี้เราจะต้องติดตั้งไดร์เวอร์ของหูฟังเพิ่มเติมก่อน จึงจะเริ่มต้นใช้งานได้
สรุป
HyperX Cloud แต่ละตัวนั้นให้คุณภาพเสียงที่ดีไปในทิศทางเดียวกัน แต่จะมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้างในเรื่องของฟังก์ชันการใช้งานยิบย่อย
ซึ่งเราสรุปจุดเด่นและราคาของแต่ละรุ่นออกมาได้ดังนี้
HyperX Cloud II – 3,090 บาท
รุ่นมาตรฐานที่ได้รับความไว้วางใจมานาน ฟังก์ชันการใช้งานไม่หวือหวา แต่คุณภาพอัดแน่นคุ้มกับราคาที่สุด
HyperX Cloud Alpha S – 3,990 บาท
รุ่นอัปเกรดที่ได้เวทีเสียงกว้างขึ้น และเป็นรุ่นเดียวที่ปรับระดับเบสได้เองเลย จากปุ่มที่ตัวหูฟัง
HyperX Cloud II Wireless – 4,890 บาท
รุ่นไร้สายแบบมาตรฐาน ต่างจาก Cloud II ปกติตรงที่สามารถตั้งค่าในซอฟต์แวร์ได้ด้วย
HyperX Cloud Alpha Wireless – 6,990 บาท
รุ่นไร้สายอัปเกรดล่าสุด ระบบเสียงล้ำที่สุด และมีแบตเตอรี่ใช้งานได้นานถึง 300 ชั่วโมง
เชื่อว่าตอนนี้หลายคนก็น่าจะมีคำตอบในใจกันแล้ว ว่า HyperX Cloud แบบไหนที่ใช่สำหรับตัวเอง โดยทั้ง Cloud II, Cloud II Wireless และ Alpha S สามารถหามาเป็นเจ้าของได้เลยวันนี้ง่าย ๆ ผ่านทางร้านขายอุปกรณ์ไอทีและเกมมิ่งเกียร์ทั่วไป
ส่วน HyperX Cloud Alpha Wireless เป็นรุ่นล่าสุดที่กำลังจะวางขายในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งก็น่าจับตามองว่าจะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งรุ่นหรือไม่ ที่ครองใจเกมเมอร์ทั่วโลกไปได้ยาว ๆ อีกหลายต่อหลายปี เช่นเดียวกับที่บรรดาหูฟังรุ่นพี่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว