BY สฤณี อาชวานันทกุล
24 Nov 21 7:30 pm

Inscryption แหวกขนบข้ามพรมแดน

56 Views

ขึ้นชื่อว่า “เกม” อาจฟังดูไร้ขีดจำกัด แต่แนวเกมแต่ละแนวทุกวันนี้ก็ถูกตีกรอบด้วย “ขนบ” ที่สั่งสมต่อยอดกันมาหลายทศวรรษ กลไกใหม่ๆ ที่ได้รับความนิยมจากเหล่าเกมเมอร์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ขนบ” เพื่อการสืบสานและต่อยอดในอนาคต ตัวอย่างที่รู้จักกันดีก็เช่น การเล่าเรื่องผ่านเหตุการณ์ที่โค้ดให้เกิดในโลกของเกม (environmental storytelling) แทนที่จะดึงผู้เล่นออกไปเล่าเรื่องต่างหาก ของ Half Life เกมแอ๊กชั่นในตำนาน

เกมใหม่ๆ มักจะต่อยอดจาก “ขนบ” เดิมไม่มากก็น้อย แต่การ “แหก” หรือ “แหวก” ขนบไปอย่างสิ้นเชิงนั้นเป็นเรื่องที่ยากจะคาดหวังจากค่ายเกมยักษ์ใหญ่ เพราะการแหกหรือแหวกนั้นเป็นกิจกรรมความเสี่ยงสูง เกมเมอร์ที่เข้ามาเล่นเกมนี้เพราะแปะป้ายว่าเป็นเกมแนว “แอ๊กชัน” หรือ “ผจญภัย” อาจหงุดหงิดหัวเสียได้ง่ายๆ เมื่อพบว่าเกมไม่ตรงกับแนวที่ตัวเองต้องการ หรือไม่ก็สับสนงุนงงว่าเกมนี้มาแนวไหนแน่ ไม่อยากอุทิศเวลามานั่งเรียนรู้ระบบหรือกลไกแปลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน

ด้วยเหตุนี้ เกมที่แหกหรือแหวกขนบ ยกระดับวงการไปอีกขั้นด้วยความคิดสร้างสรรค์เหลือเฟือ จึงมักจะมาจากวงการเกมอินดี้ ซึ่งมีต้นทุนให้เสียน้อยกว่าค่าย AAA ความที่ไม่ต้องทุ่มทุนสร้างเป็นสิบล้านหรือร้อยล้านบาท

เกมอินดี้ที่ได้ชื่อว่า “แหกขนบ” อย่างน่าตื่นตาตื่นใจที่ผ่านมาก็มีไม่น้อย แต่เกมที่แหกด้วยและตัวเกมเองก็สนุกติดหนึบด้วยจนกลายเป็นเกมขึ้นหิ้ง อย่าง Doki Doki Literature Club หรือ Undertale ยังมีน้อยเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร

Inscryption เกมที่สามของ แดเนียล มัลลินส์ นักออกแบบเบื้องหลัง Pony Island เกมอินดี้จิ๋วแต่แจ๋วที่เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย ควรค่าแก่การขึ้นแท่นเป็นเกม “แหกขนบ” ระดับคลาสสิกที่น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้นักออกแบบเกมรุ่นหลังไปอีกนาน

Inscryption Screen5

Inscryption Screen5

มองอย่างผิวเผิน Inscryption เป็นเกมเล่นไพ่วางแผน (deckbuilding) ไม่ต่างจากเกมอื่นในแนวนี้ อย่าง Slay the Spire หรือ Monster Train เพียงแต่มีสไตล์กราฟิกและกลไกน่าดึงดูดเป็นเอกลักษณ์ ด้วยความที่ “ไพ่” ที่เล่นได้ในมือหลายใบจะ “พูด” กับเราคนเล่น และบอกใบ้ว่าควรทำอะไรต่อไป แต่ถ้าใครเคยเล่น Pony Island มาแล้วก็จะพอเดาได้ตั้งแต่ฉากแรกว่า Inscryption ไม่ใช่เกมไพ่ธรรมดา แต่จะพาเราไปสำรวจธีมระดับ “ใหญ่กว่าเกม” (meta) นอกขนบอีกมากมาย – ไปไกลจนน่าติดตามจนถึงฉากจบ และแม้ไปถึงฉากขึ้นเครดิต เราก็จะยังไม่ค่อยเชื่อสายตาว่าเกม “จบ” ลงแล้วจริงๆ! 

Inscryption เริ่มต้นอย่างน่าค้นหาด้วยการให้เล่นไพ่กับคู่ต่อสู้ลึกลับที่ซ่อนตัวในเงามืด มองเห็นแต่ลูกตา เราไม่รู้ว่าเราคือใคร มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร รู้แต่ว่าเราหนีออกไปไม่ได้ บรรยากาศรอบตัวเหมือนอยู่ในกระท่อมกลางป่าที่ไหนสักแห่งในหนังซอมบี้เกรดบี ที่กองทัพผีพร้อมจะพังประตูเข้ามาได้ทุกเมื่อ เกมไพ่ใน Inscryption เข้าใจง่ายแต่จะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป เป้าหมายของเราคือต้องลงไพ่สัตว์ต่างๆ ในมือ (เล่นไปสักพักจะได้เลือกไพ่จากทั้งหมดสี่สำรับ ได้แก่ สัตว์ป่า หุ่นยนต์ โครงกระดูก และพ่อมดที่ใช้พลังจากอัญมณี) มาบนโต๊ะ ไพ่เกือบทุกใบจะมีค่าพลังชีวิต และค่าโจมตี 

ตอนจบตาแต่ละตา ไพ่ของเราบนกระดานจะโจมตีไพ่ของคู่ต่อสู้ที่ประจันหน้ามันโดยอัตโนมัติ จากนั้นไพ่ของศัตรูก็จะโจมตีเรา ถ้าไพ่ของเราไม่ได้ประจันหน้ากับไพ่ของคู่ต่อสู้ ตอนจบตาไพ่เราจะโจมตีคู่ต่อสู้ได้โดยตรง ส่งผลให้ “ตาชั่งชีวิต” ฝั่งคู่ต่อสู้ลดต่ำลง (แสดงด้วยการวางฟันหลายซี่ลงบนตาชั่ง – นัยว่าสัตว์เราต่อยให้เขาฟันหลุด) ไพ่ของศัตรูก็โจมตีเราด้วยกฎเดียวกัน คือถ้ามีไพ่ของเราประจันหน้าอยู่ มันก็จะโจมตีไพ่เราก่อน ทุกครั้งที่ไพ่ของคู่ต่อสู้โจมตีตัวเราได้ ตาชั่งก็จะกระดกกลับขึ้นมา เมื่อใดที่เราโจมตีให้ตาชั่งฝั่งศัตรูลดต่ำลงมากกว่าฝั่งเราได้ 5 ระดับ (ฟัน 5 ซี่) เราจะเป็นฝ่ายชนะ 

Inscryption Opossum

Inscryption Opossum

การที่ต้อง “ชักคะเย่อ” ระหว่างกันทำให้ Inscryption สนุกและท้าทายกว่าเกม deckbuilding ทั่วไป เพราะเราอาจต้องวางแผนให้โดนโจมตีทีละนิดหน่อยทุกตา เพื่อเผื่อเวลาให้สามารถลงไพ่สัตว์ทรงพลังที่จะสามารถโค่นศัตรูได้ในตาเดียว ความยากอยู่ตรงที่แต่ละตาเราจั่วไพ่ขึ้นมือได้เพียง 1 ใบ ซึ่งก็ต้องเลือกระหว่างสำรับไพ่กระรอก (ไพ่ที่ไม่มีค่าโจมตีเลย มีแค่ค่าพลังชีวิต 1) กับสำหรับไพ่โจมตี (มีค่าโจมตี แต่หลายใบถ้าจะเล่นต้อง “บูชายัญ” ไพ่กระรอกหรือไพ่ใบอื่นบนกระดาน) อีกทั้งไพ่หลายใบทั้งของเราและของคู่ต่อสู้ก็มีความสามารถพิเศษ ทั้งหมดมีหลายสิบอย่าง แถมไพ่ยังสามารถอัพเกรดตัวเองได้ กลไกเหล่านี้เราจะค่อยๆ เรียนรู้ผ่านการเล่นเกม ยังไม่นับอุปกรณ์ตัวช่วยที่เราสะสมได้ระหว่างทาง และศัตรูระดับ “บอส” ที่มีความสามารถพิเศษที่ทำให้เกมยากกว่าเดิมไปอีก

“เรื่องราว” ที่แท้จริงของ Inscryption จะค่อยๆ เผยออกมา ผ่านบทสนทนาระหว่างเรากับคู่ต่อสู้ และระหว่างเรากับ “ไพ่พูดได้” ที่ทำให้เราเข้าใจว่ามีคนหรือสัตว์ถูก “สาบ” ให้กลายเป็นไพ่ ระหว่างเกมไพ่แต่ละเกม ตัวเราในเกมจะลุกจากเก้าอี้ (ในเกม) ได้ เดินไปสำรวจกระท่อมจากมุมมองบุคคลที่หนึ่ง จุดนี้กลไกใน Inscryption จะกลายเป็นเกมผจญภัย เราจะเจอตู้ล็อกกุญแจ นาฬิกาติดผนัง และข้าวของอื่นๆ ที่ต้องคิดว่าจะเปิดหรือเก็บมาอย่างไรดี ปริศนาต่างๆ ในโลกสามมิตินอกกระดานไพ่นี้ล้วนแต่น่าค้นหา และเติมเสน่ห์ให้กับ Inscryption รวมถึงเป็นกลวิธีให้เส้นเรื่องเดินไปข้างหน้า

เกมไพ่แต่ละรอบใช้เวลาเพียง 10-15 นาที ทำให้ Inscryption เหมาะมากที่จะเล่นระหว่างพักเบรก และระบบเกมไพ่ก็สนุกติดหนึบระดับเดียวกับ Slay the Spire (ถึงแม้เกมนี้จะบาลานซ์ไม่ดีเท่า มีกลยุทธ์บางอย่างที่ทำให้เกมง่ายเกินไปถ้าค้นเจอ โชคดีที่เราจะมีโอกาสใช้แผนนี้ไม่กี่ครั้ง เพราะกว่าจะถึงเวลานั้นเกมจะเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากแล้ว ทำให้ชัยชนะไม่น่าเบื่อ) 

แต่ความมหัศจรรย์ของ Inscryption อยู่ตรงที่เกมจะค่อยๆ เปลี่ยนไปในทางที่เราคาดไม่ถึง ในขณะที่ยังรักษา “แก่น” ของกลไก deckbuilding เอาไว้ได้ ไพ่ที่เราใช้ วิธีที่เราใช้ไพ่ (และอย่างอื่นที่ไม่ใช่ไพ่) กลไกใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามา รวมถึงเกมระดับ “นอกเกม” (metagame) ล้วนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราคิดไม่ถึง (บางจังหวะมีการเสียดสีขนบของเกมไพ่สะสม (collectible card games) อย่าง Magic the Gathering ด้วย)

และเมื่อเราพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งแรก เราก็จะตั้งหน้ารอการเปลี่ยนแปลงครั้งต่อไป และอยากรู้ว่า Inscryption จะพาเราไปไหนต่อ – ถ้าเขียนอะไรมากกว่านี้ ความสนุกของเกมนี้ก็จะถูกบั่นทอน และคนอ่านคงไม่ให้อภัยกับการสปอยล์ 

เอาเป็นว่า ใครที่อยากรู้ว่า “เกม” จะพาเราไปไหนได้บ้าง ขอบเขตหรือหน้าตาของความคิดสร้างสรรค์อยู่ตรงไหน หรืออยากลองเกมแปลกที่ไม่แปลกจนเล่นไม่รู้เรื่อง เพราะแก่นสารของมันยังยึดโยงอยู่กับระบบเกมที่สนุกติดหนึบ และลองเล่นไม่นานก็คุ้นเคย Inscryption ก็เป็นเกมแนวนี้ที่ “ต้องเล่น” แห่งปี 2021 

SHARE

สฤณี อาชวานันทกุล

Back to top