Like a Dragon: Ishin! คือเกม Spin-off ของซีรีส์ Yakuza ที่แฟน ๆ ต่างชาติหลายคนเรียกร้องกันมานานแสนนาน จนในที่สุด ทีมงาน Ryu Ga Gatoku Studio ก็สานฝันเหล่าผู้ติดตามให้เป็นจริง ด้วยการมอบเกมเวอร์ชัน Remake พร้อมกับแปลเป็นภาษาอังกฤษตามคำร้องขอ แล้วเกมนี้จะมีคุณภาพเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่ สามารถเข้ามาอ่านบทความรีวิว Like a Dragon: Ishin! ได้เลย
เนื้อเรื่อง
ในเกมนี้ ผู้เล่นรับบทเป็น Sakamoto Ryoma (แสดงโดย Kiryu Kazuma) ได้เดินทางกลับมาที่บ้านเกิด Tosa อีกครั้ง แล้วเข้าร่วมกลุ่ม Tosa Loyalist Party ร่วมกับพี่น้องร่วมสาบาน Takechi Hanpeita ตามคำขอของพ่อบุญธรรม Yoshida Toyo เพื่อทำภารกิจลับเป็นการโค่นล้มยุติระบบชนชั้นในเมือง Tosa ให้ได้
อย่างไรก็ตาม แผนการลับได้รั่วไหล ทำให้ Yoshida Toyo ถูกลอบสังหารเสียชีวิต และ Ryoma ถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นผู้สังหาร ทำให้ Ryoma ต้องหลบหนีไปที่เมือง Kyo กลายเป็นโรนิน แล้วเข้าร่วมกลุ่มตำรวจพิเศษ Shinsengumi โดยใช้ชื่อว่าปลอมว่า Saito Hajime เพื่อหาคนร้ายที่สังหารพ่อบุญธรรมของเขา ที่คาดว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนใดคนหนึ่ง และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้สังหาร
ถึงแม้ชื่อตัวละคร ฉากหลัง ช่วงปีได้อ้างอิงมาจากประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่นในช่วง Bakumatsu หรือปลายสมัยเอโดะ แต่เนื้อเรื่องของเกมจะเป็นการเขียนใหม่ทั้งหมด ไม่ได้นำเสนอเนื้อหาตรงตามประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ ให้คิดซะว่าเป็นเนื้อเรื่องที่ปรุงแต่งขึ้นโดยอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่เคยเกิดขึ้นจริง
แน่นอนว่าการนำเสนอเนื้อเรื่องของเกม Like a Dragon: Ishin! ยังมีกลิ่นอายเหมือนเกม Yakuza ภาคก่อน ๆ คือมีความเข้มข้น มีการสอดแทรกประเด็นการเมือง ได้เห็นวิวัฒนาการของตัวละคร และการใช้ฉากจบแบบค้างคา ที่ทำให้เราอยากติดตามเนื้อเรื่องต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณการแสดง เสียงพากย์ และฉากคัตซีนแบบภาพยนตร์ที่มีรายละเอียดสูง ทำให้การเล่าเรื่องของเกมนี้เหมือนเรากำลังรับชมภาพยนตร์ หรือซีรีส์ J-Drama น้ำดีเรื่องหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่า Like a Dragon: Ishin! เป็นเกมที่มีการเล่าเรื่องแบบช้า ๆ (Slow Burn) ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ระหว่างการเล่นเนื้อเรื่อง มีหลายครั้งที่ผู้เล่นต้องวางจอยคอนโทรลเลอร์เพื่อรับชมฉากคัตซีน ซึ่งก็ต้องบอกเลยว่าเกมนี้มีฉากพูดคุยเยอะมาก จนบางคนอาจรู้สึกรำคาญกับบทสนทนาที่ยืดเยื้อไม่จำเป็น และคิดว่าเป็นการทำลาย Pacing ระหว่างเกมเพลย์กับการเล่าเรื่องได้เช่นกัน
การนำเสนอ / คอนเทนต์
เนื้อเรื่องซีเรียส แต่เนื้อหาเสริมมินิเกมบ้าบอยังมีในเกมนี้
Like a Dragon: Ishin! มีฉากหลังเป็นประเทศญี่ปุ่นในช่วงยุคปี 1860 ฉะนั้นบ้านเมืองของเกมนี้ จะมีลักษณะแตกต่างจากเกม Yakuza ภาคหลักอย่างสิ้นเชิง ในเกมนี้ เราจะได้เห็นตัวอย่างวิถีการใช้ชีวิต การกิน การค้าขาย การแต่งกาย การละเล่น และการปกครองระบบศักดินาในยุคนั้น รวมถึงในเมือง Ryo ได้มีการแบ่งแยกโซนอย่างชัดเจน ระหว่างแหล่งค้าขายที่เต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ค้า, แหล่งสลัมที่มีแต่โจร โรนิน คนเร่ร่อน ฯลฯ ซึ่งทำให้บรรยากาศเมือง Kyo มีชีวิตชีวาเต็มไปด้วยสีสัน
หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสำคัญของ Like a Dragon: Ishin! คือตัวละครหลักส่วนใหญ่ ได้ถูกเปลี่ยนใบหน้า เสียงพากย์ให้กลายเป็นตัวละคร Yakuza จากเกมภาคเก่าที่แฟน ๆ คุ้นเคยเป็นอย่างดี ซึ่งแน่นอน นี่คือเนื้อหาแฟนเซอร์วิสชั้นยอดสำหรับผู้ติดตามซีรีส์เกมนี้โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการเปลี่ยนหน้า กับเสียงพากย์ตัวละครแล้ว เราค้นพบว่าเกมเวอร์ชัน Remake แทบไม่มีคอนเทนต์อะไรใหม่ ๆ ที่เพิ่มเข้ามาจากเกมต้นฉบับเลย ไม่มีการเพิ่มฉากคัตซีนภาพยนตร์ ไม่มีการเปลี่ยนเนื้อหาบางส่วน หรือหมายความว่าเกมต้นฉบับเป็นแบบไหน เกมเวอร์ชัน Remake คือนำเสนอแบบนั้นเลย
แม้มันไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตสำหรับเกม Like a Dragon: Ishin! ที่มีคอนเทนต์เยอะ และครบถ้วนจากต้นฉบับอยู่แล้ว แต่แน่นอนว่าเราก็คาดหวังเหมือนกันว่าเกม Remake จะต้องมีการปรับปรุงบางส่วน หรือมีการขยายเนื้อหาจากของเดิมที่ช่วยมอบประสบการณ์การเล่นเกมแบบใหม่ ฉะนั้นจึงแอบรู้สึกผิดหวังเล็กน้อยเหมือนกันที่เกมเวอร์ชัน Remake มีการปรับเปลี่ยนจากเกมต้นฉบับที่น้อยนิดหากเทียบกับเกม Remake ไตเติลอื่น ๆ
แน่นอนว่าสิ่งขาดหายไปไม่ได้ เพราะมันเป็นเอกลักษณ์ของเกมตระกูลนี้ไปแล้ว ซึ่งนั่นก็คือ “มินิเกม” ในทั่วเมือง Kyo จะมีกิจกรรมเสริมให้ทำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตกปลา การเสิร์ฟอาหาร การร้องเพลงคาราโอเกะ การเต้นรำ การตัดไม้ การเป่ายิ้งฉุบเปลืองผ้า การเล่นเกมการ์ดพนัน และอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงบางครั้ง ผู้เล่นจะเจอกับเนื้อเรื่องเสริม Substories ที่ Sakamoto Ryoma ต้องช่วยเคลียร์ปัญหาชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อน โดยเนื้อเรื่องเสริมต่าง ๆ ของเกมนี้จะมาแบบครบอารมณ์ ทั้งเนื้อหาสนุกสนานบันเทิงใจ ตลกขำขัน หรือดราม่าซึ้งจนน้ำตาไหล ซึ่งหากเล่นจนจบ ผู้เล่นจะได้ของตอบแทนเป็นค่าพร Virtue ไว้ใช้ซื้อไอเทมพิเศษ หรือเพิ่ม Quality-of-Life เช่น วิ่งได้นานขึ้น, ช่อง Inventory เยอะขึ้น และอื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่ส่งผลต่อเกมเพลย์ แต่เพิ่มความสะดวกสบายต่อการเล่นมากขึ้น
มินิเกมเป่ายิ้งฉุบเปลืองผ้า
มินิเกมแต่ละโหมดจะให้ความสนุกสนานบ้าบิ่นที่แตกต่างกัน ถ้าถามความคิดเห็นส่วนตัวว่ามินิเกมไหนดีที่สุด ก็คงเป็น “Another Life” มินิเกมขนาดใหญ่ของ Like a Dragon: Ishin! ที่เป็นแนว Life Simulation ต้องปลูกผัก ทำไร่ ทำอาหาร เพื่อนำวัตถุดิบ ไอเทม กับอาหารไปขายแลกเงิน เพื่อล้างหนี้สินไม่ให้บ้านของ Haruka ต้องโดนยึด ซึ่งเป็นมินิเกมชิลล์ ๆ เล่นง่ายคลายเครียด และติดพันอย่างน่าประหลาด
แต่น่าเสียดาย ไม่ใช่มินิเกมทั้งหมดของ Like a Dragon: Ishin! จะสนุกสนานไปทั้งหมด ส่วนตัวคิดว่าโหมดตะลุยดันเจี้ยน หรือ Battle Trooper Raids เป็นมินิเกมที่ซ้ำซากจำเจพอสมควร เพราะแม้ภารกิจทั้งหมดจะมี Objective ต่างกัน แต่สุดท้าย ก็ต้องลงเอยด้วยการกำจัดศัตรูให้หมดอยู่ดี แล้วเนื่องจากการเอาไอเทม เพื่อใช้ในการคราฟต์อาวุธใหม่ ส่วนใหญ่หาได้จากการเล่นโหมดนี้ ทำให้เราต้องวนเวียนกลับมาเล่นมินิเกมนี้หลายรอบ จนรู้สึกเอียนเลยทีเดียว
ถึงอย่างนั้น โดยรวมแล้ว ปริมาณคอนเทนต์ของเกม Like a Dragon: Ishin! จัดว่าเยอะมากพอ ๆ กับ Yakuza 0 แล้วด้วยมินิเกมที่หลากหลาย มีความสนุกสนาน และเนื้อเรื่อง Substories ที่เขียนดีให้ครบอารมณ์ เราเชื่อมั่นว่าใครที่ชื่นชอบการเก็บ 100% จะต้องเพลิดเพลินกับการเล่นเกมนี้ได้หลายชั่วโมงแน่นอน
เกมเพลย์
Like a Dragon: Ishin! เป็นเกมแนวต่อสู้ Beat’em Up ที่ยังมีกลิ่นอาย Yakuza แบบครบถ้วน แน่นอนว่าฟีเจอร์ Heat Action, การอัปเดตทักษะสกิล และท่าต่อสู้สุดเว่อร์วังยังคงกลับมาอีกครั้งในเกมภาคนี้
Sakamoto Ryoma จะมีทักษะการต่อสู้อยู่ 4 แบบด้วยกัน คือ Swordsman การต่อสู้โดยใช้ดาบ, Gunman การต่อสู้โดนใช้ปืน, Brawler การต่อสู้โดยใช้หมัด และ Wild Dancer การต่อสู้ผสมผสานระหว่างการใช้ดาบกับปืน โดยทุกท่าต่อสู้จะมีข้อดีข้อเสีย และมอบความสนุกสนานที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม เราพบว่า Brawler เป็นท่าต่อสู้ที่ใช้สนุกสนานน้อยที่สุด เนื่องจากทำดามาจได้น้อย (ยกเว้นท่า Komaki Tiger Drop ที่ยังอัดแรงเหมือนโดนรถบรรทุกชนเหมือนเดิม) รวมถึงอาวุธปืน ก็จัดว่าค่อนข้าง Overpower เพราะสามารถโจมตีจากระยะไกล เอาชนะศัตรูได้จากการกดสแปมปุ่มรัว ๆ ทำให้บาลานซ์ของเกมนี้ยังไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่นัก
Parry THIS !
หน้าต่างการคราฟต์อาวุธ
นอกจากนี้ ความแกร่งของตัวละครส่วนหนึ่งจะมาจากดาบกับปืนที่ผู้เล่นกำลังใช้อยู่ ดังนั้นถ้าหากอยากให้ตัวละครโจมตีแรงขึ้นแบบเห็นชัด ผู้เล่นต้องทำการคราฟต์อาวุธที่มีค่าพลังโจมตีสูงกว่าเดิม เช่นเดียวกับพวกชุดเกราะ ที่ต้องคอยอัปเกรดหรือคราฟต์ชุดใหม่ เพื่อเพิ่มพลังป้องกันที่สูงขึ้น
เนื่องจากความยาก ความอึด และความโหดของศัตรูจะเพิ่มมากขึ้นในทุกการดำเนินเนื้อเรื่อง ทำให้การคราฟ์อาวุธ กับชุดเกราะเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเกิดปัญหาตามมา คือเกมเมอร์จะต้องหาเวลามานั่งเล่นโหมด Battle Trooper Raids เพื่อ Grind หาไอเทมสำหรับคราฟต์อาวุธไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการทำลาย Pacing และอาจไม่ถูกใจสำหรับเกมเมอร์ที่เกลียดการฟาร์มไอเทมจากการเล่นแต่โหมดเดิม ๆ ซ้ำ ๆ หลายรอบ
แน่นอนว่าฟีเจอร์ใหม่ในระบบการต่อสู้ที่ควรกล่าวถึง คือ Trooper Card ซึ่งมันเป็นระบบการ์ดที่ผู้เล่นสวมใส่แล้ว จะช่วยบัฟพลังโจมตี เพิ่มพลังป้องกัน หรือปล่อยท่าโจมตีพิเศษที่ทำให้การต่อสู้ง่ายขึ้นเป็นเวลาชั่วคราว โดย Trooper Card จะมีระดับความแรร์แตกต่างกัน โดยสามารถปลดล็อกได้จากการทำ Substorie บางเควสต์ และจบการเล่น Battle Trooper Raids
จากการทดลองใช้ Trooper Card พบว่าระบบดังกล่าวทำให้เกมง่ายขึ้นจริง แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางการ์ด ทำให้ตัวละครเราแข็งแกร่งขึ้นมากจน Overpower ไปเลย ซึ่งก็เป็นเรื่องโชคดีที่ Trooper Card เป็นแค่ฟีเจอร์เสริมที่ผู้เล่นจะเลือกใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ แต่สำหรับส่วนตัวจะใช้ในโหมด Battle Trooper Raids เพื่อช่วยให้เกมจบเร็วขึ้น
กราฟิก / ประสิทธิภาพ
Like a Dragon: Ishin! เป็นเกมแรกของ Ryu Ga Gotoku Studio ที่พัฒนาโดยใช้ Unreal Engine 4 ซึ่งแตกต่างจากเกมภาค Kiwami 2 ที่ Remake โดยใช้ Dragon Engine
อย่างไรก็ตาม ถึงจะเป็นเกมเวอร์ชัน Remake แต่กราฟิกไม่ได้ก้าวกระโดดจากต้นฉบับมากนัก แม้ฉากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ยังดูดี มีแสงเงาสวยงามตามสไตล์เกมที่สร้างด้วย Unreal Engine แต่ภาพกราฟิกโดยรวมจัดว่าดูตกยุคอย่างเห็นได้ชัด
จากการเล่นเกมตลอด 20 ชั่วโมง เราแทบไม่เจอปัญหาบั๊กกวนใจใด ๆ นอกเหนือจากปัญหาด้าน Performance ใน PC ที่มีอาการเกมกระตุกหลายครั้งทั้งในระหว่างเกมเพลย์ กับฉากคัตซีน แต่ล่าสุด ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขใน Patch ล่าสุดแล้ว ฉะนั้นคุณภาพโดยรวมของเกมนี้จัดว่าเล่นได้โอเค ไม่กินแรงเครื่องมากเกินไป และรันอย่างลื่นไหลแล้ว
สรุป
ถึงแม้เป็นการ Remake แบบเพลย์เซฟที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มอะไรใหม่ ๆ จากต้นฉบับมากนัก แต่ตัวเกมยังคงมอบประสบการณ์ที่เต็มอิ่มด้วยมินิเกมหลากหลาย ตัวละครน่าจดจำ และเนื้อเรื่องแอ็กชันดราม่าตามสไตล์เกม Yakuza ก็ต้องบอกเลยว่าใครเป็นแฟนตัวยงเกมตระกูล Yakuza ไม่ควรพลาดเกม Like a Dragon: Ishin! เป็นอย่างยิ่ง
ข้อดี
- เนื้อเรื่องเข้มข้นน่าติดตาม
- มีมินิเกมหลากหลาย คอนเทนต์ให้ทำเพียบ
- เควสต์เสริมสนุกสนาน เนื้อหาครบอารมณ์
- การเปลี่ยนหน้า เสียงพากย์ตัวละครกลายเป็นคาแรคเตอร์ Yakuza ภาคเก่า คือแฟนเซอร์วิสชั้นยอดสำหรับผู้ติดตามซีรีส์เกมนี้
ข้อเสีย
- นอกจากระบบ Trooper Card ก็แทบไม่มีฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่มมาจากต้นฉบับ
- กราฟิกโดยรวมดูล้าหลัง
- มินิเกม Battle Trooper Raids และการ Grind อาจซ้ำซากจำเจสำหรับเกมเมอร์บางคน