BY สฤณี อาชวานันทกุล
23 Mar 21 11:38 am

Little Nightmares II: เมื่อผู้ใหญ่บ้าอำนาจคือฝันร้ายของเด็ก

83 Views

เกมที่อาศัย “ความกลัว” ของผู้เล่นในการสร้างความระทึก พรั่นพรึง และลุ้นระคนตื่นเต้น หัวใจแทบจะหลุดออกมาจากอกทุกห้านาทีนั้นเรียกได้ว่าแทบจะนับนิ้วได้ แต่เกมที่ขับเคลื่อนด้วยความกลัวจากจิตใต้สำนึกของเรา ความกลัวว่าโลกที่เรารับรู้จะไม่เป็นอย่างที่คิด กลัวว่า ‘ผู้ใหญ่’ ที่ควรทำตัวเป็นแบบอย่างจะทำตัวหน้าไหว้หลังหลอก สอนเราอย่างหนึ่งแต่ตัวเองกลับทำตรงกันข้าม วางก้ามและบ้าอำนาจเป็นสรณะ – เกมที่ทำแบบนี้ได้เห็นจะมีแต่ Little Nightmares เกมอินดี้ดังค้างฟ้าจาก Tarsier Studio สัญชาติสวีเดนเท่านั้น

เกือบสี่ปีหลังจากที่เราพา “ซิกซ์” (Six) เด็กสาวปริศนาผู้มีพลังเร้นลับ หนีตายจาก “เดอะ มอว์” (The Maw) ดินแดนแห่งความละโมบและกระหายไม่จบสิ้น ก็ถึงเวลาของการผจญภัยครั้งใหม่ใน Little Nightmares II เกมภาคต่อที่ยังคงรักษาทุกอย่างที่ทำให้ Little Nightmares ภาคแรกติดอันดับ “เกมที่น่ากลัวที่สุด” แต่คราวนี้นำเสนออีกหลายส่วนเสี้ยวของโลกฝันร้ายในจินตนาการที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่าเกมแรก

โลกของ Little Nightmares II คือโลกที่ฝันร้ายของเด็กทุกชนิดกลายเป็นความจริงขึ้นมาสมชื่อเกม แถมยังบิดเบือนบูดเบี้ยวยิ่งกว่าในฝันร้าย แทบทุกอย่างที่เคลื่อนไหวได้ในโลกนี้อยากจะวิ่งมากลุ้มรุมโจมตี กัดกินหรือทำร้ายเรา ไม่ว่าจะเป็นครูคอยาวใจร้าย นักเรียนจอมบุลลี่สวมหน้ากากกระเบื้องพอร์ซเลน หมออ้วนสุดเพี้ยน คนไข้หุ่นเชิด ฝูงชนคลั่งทีวี ฯลฯ

คราวนี้เราไม่ได้ควบคุม “ซิกซ์” แล้ว แต่ควบคุมเด็กชายวัยไล่เลี่ยกับซิกซ์ ชื่อ “โมโน” ที่จะมาพบเจอกับซิกซ์ในฉากแรกๆ ของเกม และกลายมาเป็นเพื่อนร่วมทางของเธอ เรื่องราวทั้งเกมเดินเรื่องเหมือนกับภาคแรก ไม่มีบทสนทนาหรือการใช้ภาษาใดๆ มาดึงเราออกจากโลก มีเพียงภาษากายของซิกซ์ โมโน และเหล่าวายร้ายหลากหลายรูปแบบในเมือง เพล ซิตี้ (Pale City – เมืองซีดจาง) ที่คุกคามชีวิตทุกเมื่อ

ขณะที่ “ความละโมบ” เป็นธีมหลักของ Little Nightmares (ดังสะท้อนผ่านฉากสวาปามมูมมามของผู้โดยสารบนเรือ ฉากที่ซิกซ์เดินหิวท้องกิ่ว ปรี่เข้าไปกัดกินหนูสกปรก ความกระหายอยากชมโฉมตัวเองในกระจกของสาวใส่กิโมโนลึกลับ ฯลฯ) ธีมหลักของ Little Nightmares II ดูจะเป็น “การหลีกหนี” – หลีกหนีทั้งทางกายภาพและทางความคิด หนีจากความจริงอันโหดร้ายเพียงเพื่อจะพบกับความจริงอีกชุดที่โหดร้ายยิ่งกว่าไปเรื่อยๆ

ตัวเราในเกมคือโมโนต้องวิ่งหนีตั้งแต่ฉากแรก ในป่าแสนสวยงามที่เผยความน่ากลัวออกมาภายในไม่กี่นาที ในรูปของกับดักเหล็กแหลมที่กระโจนสับตัวเราราวกับมีชีวิต ไม่ช้านายพรานผู้ถือปืนลูกซอง อำพรางใบหน้าภายใต้หน้ากากก็จะเผยตัวออกมา เมื่อเราวิ่งหนีไปไม่นานก็จะได้พานพบ ซิกซ์ เด็กสาวจากเกมแรก หลังจากที่หยั่งเชิงกันเล็กน้อยว่าจะมาไม้ไหน โมโนกับซิกซ์ก็กลายมาเป็นเพื่อนร่วมทางกัน เราควบคุมซิกซ์ไม่ได้แต่สามารถจูงมือเธอวิ่ง กู่ร้องเรียกเธอมาใกล้ๆ และต้องอาศัยความช่วยเหลือจากซิกซ์อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเธอจะหยุดเดิน ประสานมือเป็นวงให้เราเหยียบเพื่อกระโดดปีนขึ้นโต๊ะ ตู้ หรือที่สูงอื่นๆ ที่ลำพังเรากระโดดเองไม่ถึง

Little Nightmares II แบ่งการผจญภัยออกเป็นตอนๆ คล้ายกับภาคแรก แต่คราวนี้ในโลกที่กว้างกว่า เดอะ มอว์ เราจะได้สำรวจป่าลึกลับ โรงเรียน โรงพยาบาล และบ้านเรือนของผู้คนในเพล ซิตี้ เมืองที่ทุกคนจ้องจอทีวีเหมือนต้องมนต์

พวกเขาและเธอดูทีวีเพราะอยากหลบหนีจากโลกจริง แต่กลับตกเป็นเหยื่อของทีวี ดูจนใบหน้าหลอมเหลวไร้ตัวตนเพราะได้อุทิศทั้งชีวิตและจิตวิญญาณให้กับทีวีไปหมดแล้ว ในฉากที่ลืมไม่ลงฉากหนึ่ง เราจะวิ่งบนหลังคาผ่านด้านหลังของผู้ชายใส่สูทห้าคน ขณะที่เราวิ่งผ่าน พวกเขาก็จะทยอยก้าวออกจากขอบหลังคา ร่วงลงสู่ความตายทีละคน ทีละคน

ความน่ากลัวของ Little Nightmares II มาจากความ “สมจริง” ของสิ่งที่เรารู้อยู่ว่าไม่จริง ฉากที่น่ากลัวที่สุดสำหรับผู้เขียนคือทุกฉากที่ชายปริศนาร่างโย่งก้าวออกมาจากทีวี มาไล่ล่าเรา และตอนที่โมโนต้องเผชิญหน้ากับฝูงคนไข้หุ่นเชิดที่ไม่ใช่คน เดินมะงุมมะงาหราในความมืดมารุมล้อมเราเหมือนซอมบี้ที่หิวโหย ทางเดียวที่เราจะเอาตัวรอดได้ก็คือต้องคอยเล็งไฟฉายไปที่หุ่นเชิดเหล่านี้ เพราะพวกมันแพ้แสง หรือไม่ก็ต้องวิ่งไปสับสวิทช์เปิดไฟเป็นระยะๆ แต่จะเปิดไฟไว้ตลอดก็ไม่ได้เพราะหุ่นเชิดบางตัวนั่งเก้าอี้ที่เราจำเป็นต้องใช้ ต้องปิดไฟแล้วไปวิ่งล่อให้มันลุกจากเก้าอี้เดินตามเรามาก่อน

ระบบเกมใน Little Nightmares II ยกยอดมาจากภาคแรก แต่ปรับให้สะดวกขึ้นอีก เช่น รอบนี้เวลาเจอกุญแจเราไม่ต้องแบกกุญแจไปมาอีกแล้ว แต่โมโนจะเก็บกุญแจเข้ากระเป๋าเสื้อ แล้วควักออกมาใช้โดยอัตโนมัติเมื่อเจอประตูที่เหมาะสม ปริศนาต่างๆ ในเกมก็หลากหลายกว่าภาคแรกเช่นกันและต้องอาศัยความช่วยเหลือจากซิกซ์ ยกเว้นบางช่วงที่เธอถูกลักพาตัวไปและโมโนต้องหาทางช่วยเหลือ

ท่ามกลางฉากน่ากลัวทั้งหลายที่กระพือความอกสั่นขวัญแขวน Little Nightmares II ก็วางจังหวะสงบเงียบเป็นระยะๆ ให้เราได้ครุ่นคิดถึง “ความจริง” ที่เกมสื่อผ่านโลกแห่งฝันร้าย ไม่ว่าจะเป็นความยากลำบากที่เด็กทุกคนต้องเผชิญตั้งแต่อ้อนแต่ออก เมื่อเจอผู้ใหญ่ใจร้าย โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่ช่วยเหลืออุ้มชูเด็กๆ ทั้งครูและหมอ กลับบ้าอำนาจและหมกมุ่นกับความต้องการของตัวเองมากกว่าอยากปกป้องเด็ก ความจมจ่อมอยู่กับสิ่งบันเทิงในฐานะเครื่องมือที่ช่วยเรา “หลีกหนี” จากความจริงอันโหดร้าย แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราชาชินกับความเลวร้ายรอบตัว และสุดท้ายโลกของเราก็แคบลงเรื่อยๆ จนไม่ใยดีต่อสังคมภายนอกอีกต่อไป

Little Nightmares II ทำให้เราฉุกคิดถึงความเฉยชาเฉยเมยของการใช้ชีวิตไปวันๆ ทุกคนในโลกนี้สิ้นไร้ซึ่งเจตจำนงของตนเอง ฝูงชนยืนออหน้าทีวีเหมือนถูกสะกดจิต นักเรียนใส่หน้ากากพอร์ซเลนตัวหงอต่อหน้าครู วิ่งกรูกันมาบุลลี่เรากับซิกซ์ทันทีที่ครูส่งสัญญาณ ราวกับเป็นสุนัขล่าเนื้อหนึ่งฝูง ส่วนคนไข้หุ่นเชิดในโรงพยาบาลก็เป็นหุ่นเชิดจริงๆ จะถามหาอิสระเสรีอะไรได้

เกมนี้ทั้งเกมเต็มไปด้วยรายละเอียดที่บรรจงแต่งแต้มอย่างปราณีต กราฟิกสวยงามน่าหลงใหลกว่าภาคแรกหลายเท่า ตั้งแต่ห้องหับในโรงพยาบาล ชั้นต่างๆ ของอพาร์ตเม้นท์พังมิพังแหล่ในเมือง แม้แต่แสงเงาที่เล็ดรอดออกมาใต้ประตู หรือแสงไฟสลัวรางใน Little Nightmares II ยังสวยงามน่าค้นหา กราฟิกในเกมถูกประกบเข้ากับดนตรีประกอบที่เข้ากันอย่างยิ่งและ “ติดหู” ยิ่งกว่าดนตรีในภาคแรก โดยเฉพาะในจุดสำคัญๆ ที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างโมโนกับซิกซ์ เด็กสองคนที่จับพลัดจับผลูมาเจอกัน และในฉาก “โกยแน่บไม่ต้องคิด” (chase scenes) ที่มักจะใช้ปิดท้ายแต่ละตอน

จุดอ่อนจากภาคแรกที่ Little Nightmares II ยังปรับปรุงไม่มากพอคือความ “เป๊ะ” ที่ต้องใช้ในการกะจังหวะกระโดด หรือวิ่งหลบหลีกตัวร้ายในเกม นอกจากนี้มันยังคงเป็นเกมที่บังคับให้คนเล่น “เรียนรู้จากความตาย” คือหลายครั้งเราต้องตายก่อน จึงจะถึงบางอ้อว่าจะเอาตัวรอดได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนนี้ก็นับเป็นเรื่องเล็กน้อย และการที่เซฟอัตโนมัติในภาคนี้ดูจะมีถี่กว่าภาคแรก ก็น่าจะทำให้คนเล่นหัวร้อนน้อยลงเมื่อโมโนถึงแก่ความตาย

เหนือสิ่งอื่นใด Little Nightmares II เป็นเกมที่จะขึ้นแท่นเกมคลาสสิกอย่างไม่ต้องสงสัย ตลอดเวลา 6-8 ชั่วโมงของการเล่น เราจะได้ประสบการณ์ลืมไม่ลงระหว่างที่เกมเล่าเรื่องมิตรภาพ ความเศร้า ความหวังท่ามกลางความมืดมิด ด้านมืดของสิ่งบันเทิง ต้นทุนของการหลีกหนีความจริง และความบ้าอำนาจของผู้ใหญ่ซึ่งกลายมาเป็นฝันร้ายของเด็ก

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดอาจไม่ใช่สัตว์ประหลาดในจินตนาการ หากเป็นคนหรือสิ่งใดก็ตามที่เราเคยเชื่ออย่างไร้เดียงสาว่าพึ่งพาอาศัยได้ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่าอยากกลืนกินเราทั้งเป็น

สฤณี อาชวานันทกุล

Back to top