ระบบ Microtransactions จัดว่าเป็นปัญหาของอุตสาหกรรมเกมที่ยังคงมีการโต้เถียงในชุมชนคนเล่นเกม และไม่มีท่าทีว่ากระแสต่อต้านจะจบลงอย่างง่าย ๆ แต่สำหรับใครที่สงสัยว่า Microtransactions คืออะไร ทำไมจึงโดนต่อต้านจากหลายคน แล้วทำไมจึงเป็นปัญหาต่อวงการเกม บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจอย่างเคลียร์กระจ่างเอง
Microtransactions คืออะไร ?
Microtransactions (หรือจะเรียกว่า In-App หรือ In-Game Purchased ก็ได้) เป็นระบบ “โมเดลธุรกิจ” ของวิดีโอเกม ที่ให้ผู้เล่นซื้อสินค้าพิเศษในเกมด้วยการจ่ายเงินจริง ผ่านช่องทางบัตรเครดิต/เดบิต
ระบบ Microtransactions มีมานานตั้งแต่ยุคปลายปี 1990 ซึ่งเป็นช่วงที่เกมออนไลน์ใน PC เล่นฟรีหลายเกมกำลังบูม ไม่ว่าจะเป็นเกม Ragnarok Online, World of Warcraft, Pangya, Maplestory และเกมอื่น ๆ อีกมากมาย โดยส่วนใหญ่พบได้ตามเกมแนว MMORPG เพราะเป็นเกมที่สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ได้หลากหลาย และไม่มีการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิดีโอเกมเริ่มเข้ายุคของ PlayStation 3, Xbox 360 หรือราวปี 2010 เป็นต้นไป ซึ่งช่วงนั้น เกมแนว Multiplayer กำลังได้รับความนิยมแบบสุด ๆ จึงทำให้ระบบ Microtransactions เริ่มนำมาใช้กับเกมประเภท Singleplayer และเกม Multiplayer แบบจ่ายเงิน จนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ระบบ Microtransactions เริ่มมีกระแสต่อต้านจากเกมเมอร์อย่างรุนแรง และเป็นระบบที่ถูกมองในแง่ลบจากคอมมูนิตี้จนถึงทุกวันนี้
ทำไมหลายคนจึงรังเกียจ Microtransactions
สาเหตุที่เกมเมอร์หลายคนไม่ชื่นชอบระบบ Microtransactions เพราะว่าทีมพัฒนาเกมหลายแห่ง พยายามผลักดันขาย Microtransactions ด้วยการตั้งค่าบาลานซ์ของเกมเพลย์ให้ขาดความสมดุล (ไม่มากก็น้อย) หรือตัดคอนเทนต์ย่อยเป็น DLC เพื่อเอื้อหรือชักชวนให้ผู้เล่นซื้อ Microtransactions ในเกม
นอกจากนี้ Microtransactions มีวิวัฒนาการเติบโตจนเกิดเทรนด์โมเดลการค้าแบบใหม่ที่เรียกว่า “Loot Box” คือการซื้อไอเทมเพื่อสุ่มของแรร์ โดยบางช่วงเวลาจะเป็น Loot box แบบ Limited ที่เปิดได้ไอเทมพิเศษเฉพาะช่วงเวลาจำกัดเท่านั้น
อีกหนึ่งสาเหตุหลักที่เกมเมอร์ต่อต้าน Microtransactions เพราะ “ระบบดังกล่าวเคยอยู่ถูกที่ถูกทาง” ผู้เล่นหลายคนแสดงความคิดเห็นว่า Microtransactions ควรอยู่ในเฉพาะเกมแบบ Free-2-Play เท่านั้น และการวางจำหน่าย Microtransactions บนเกม Singleplayer ซึ่งไม่ใช่เกมเน้น Competitve จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเลยแม้แต่นิดเดียว
แล้วทำไม Microtransactions ยังอยู่ทุกวันนี้
เกมเมอร์อาจจะไม่รู้มาก่อนว่าตั้งแต่ปี 1980 จนถึงปัจจุบัน ราคาขายแผ่นเกมยังคงขายในราคาสูงสุดที่ 60 เหรียญฯ หรือราว 2,000 บาท โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนราคาแม้แต่เหรียญฯ เดียว ซึ่งตรงกันข้ามกับงบประมาณสร้างเกมที่ทุกปีมีแต่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะมาตรฐานการสร้างเกมที่สูงขึ้น และฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ กับเกมเอนจินสามารถสร้างภาพกราฟิกเกมที่มีรายละเอียดสมจริง ก็ส่งผลทำให้การสร้างเกม AAA ในตอนนี้ ใช้งบประมาณสูงมากจนเกือบเทียบเท่ากับการสร้างภาพยนตร์คุณภาพสูงแล้ว
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้วงการเกมได้เกิดโมเดลการตลาดรูปแบบใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสั่งจองเกม Pre-Purchased ล่วงหน้า, เปิดแคมเปญ Kickstarter, เปิดตัวระบบ Battle Pass, ระบบจอง DLC อย่าง Season Pass และรวมถึงผลักดันระบบ Microtransactions ทั้งใน Singleplayer กับ Multiplayer เพื่อนำงบประมาณในการพัฒนาคอนเทนต์ใหม่ ปรับปรุงเกม สร้างกำไร หรือนำไปใช้พัฒนาเกมโปรเจกต์เกมใหม่ต่อไป
และอีกหนึ่งความจริงอันโหดร้ายที่หลายคนต้องยอมรับ คือมีเกมเมอร์อีกหลายฝ่ายได้สนับสนุนระบบ Microtransactions ด้วยเหตุผลชนิด 108 เช่น ต้องการให้การเล่นเกมสะดวกสบายขึ้น, ไม่มีเวลาเล่นเกมออนไลน์กับเพื่อน ๆ จึงจำเป็นต้องซื้อ Microtransactions เพราะต้องการตามเลเวลให้ทันเพื่อน หรือรวมไปถึงเกมเมอร์บางคน มีพฤติกรรมชื่นชอบการช็อปปิ้งเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว และอื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้หมด
แล้วระบบ Microtransactions จะเริ่มหมดยุคตอนไหน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบ Microtransactions กลายเป็นปัญหาที่เกมเมอร์หลายคนเรียกร้องอย่างมากจนไปถึงหูของรัฐบาล ทำให้บางประเทศอย่างเช่น เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ได้ประกาศแบน Loot Box เนื่องจากมีมติเห็นว่าเข้าข่ายเป็นการพนันรูปแบบหนึ่ง หรือรวมถึงบางประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ก็เริ่มมีการประชุมหารือ เพื่อควบคุมระบบ Microtransactions อย่างต่อเนื่อง หลังจากเกม Star Wars: Battlefront II กับ FIFA 19 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องของระบบการจ่ายเงินจริงในเกม
นอกจากนี้ องค์กรจัดเรตวิดีโอเกมในประเทศสหรัฐฯ หรือ ESRB เริ่มมีการแปะป้ายเตือนว่าเกมจะประกอบด้วย In-Game Purchased ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ปกครองเฝ้าดูพฤติกรรมการเล่นเกมของเด็ก ๆ ได้ หรือคัดเลือกเกมตามความเหมาะสมตามวัย
หรือแม้กระทั่งฝั่งของทีมพัฒนาเกมหลายแห่ง ก็เริ่มไม่ใส่ระบบ Microtransactions หรือมีการอัปเดตลบร้านค้า Microsactions ออกจากเกม Singleplayer ตามคำแนะนำ และแรงกดดันจากชุมชนคนเล่นเกม
และล่าสุด หลังจาก NBA 2K21 ประกาศราคาขายเกมในรูปแบบ Standard Edition ที่ 70 เหรียญฯ ซึ่งแพงขึ้นจากราคาขายปกติที่ 10 เหรียญฯ ทาง Cory Barlog ผู้กำกับเกม God of War ก็ออกมาแสดงความเห็นด้วยว่าควรขึ้นราคาเกม เพราะดีกว่าปล่อยให้เกมต้องหาเงินด้วยระบบ Microtransactions ซึ่งจะทำผู้เล่นไม่ชอบใจมากขึ้นไปอีก
แม้ระบบ Microtransactions จะไม่มีท่าทีหายจากไปแบบง่าย ๆ เนื่องจากงบประมาณสร้างเกมแพงขึ้น และเป็นหนึ่งในวิธีสร้างรายได้ที่ทำผลกำไรดี แต่อย่างน้อยการควบคุมระบบ Microtransactions ที่กล่าวไว้ด้านบน ก็อาจจะช่วยให้ระบบดังกล่าว เริ่มมีกระแสตอบรับจากเหล่าชุมชนไปในทางที่ดีขึ้นในไม่ช้าก็เร็ว