BY Zreast
31 Jan 22 8:30 pm

NEEDY STREAMER OVERLOAD ตามติดชีวิตนางฟ้าโลกอินเทอร์เน็ต กับเหรียญอีกด้านที่ถูกตีแผ่อย่างเจ็บแสบ

1,298 Views

“เป็นสตรีมเมอร์นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด” ด้วยวลีนี้เองจึงทำให้ผู้พัฒนาสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง WSS playground ผุดไอเดียทำเกมจำลองชีวิตสตรีมเมอร์สุดแหวกแนว ที่ใส่สีตีไข่เข้าไปจนเกินขนาด และออกมาดูฉูดฉาดเตะตาใครหลายคน

ทำไมเกมนี้ถึงเป็นที่ชื่นชอบ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ปากต่อปากแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง ขอเชิญมาทำความรู้จักเพิ่มเติมไปกับ “NEEDY STREAMER OVERLOAD” ตามติดชีวิตนางฟ้าบนโลกอินเทอร์เน็ต กับหนทางสู่การเป็นดาวเด่นอันแสนจะไม่ธรรมดา

Needy Streamer Overload 1

อันที่จริงแล้วตัวเกมนี้ไม่ได้ใช้ชื่อ NEEDY STREAMER OVERLOAD มาตั้งแต่แรก เพราะในตอนที่เปิดตัวออกมานั้นเป็นชื่อว่า “NEEDY GIRL OVERDOSE” ซึ่งฟังดูแล้วก็น่าจะเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมทีมงานถึงต้องเปลี่ยนชื่อ (ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษ) เพราะหากใช้ชื่อเดิมก็คงดูสุ่มเสี่ยงจนไม่น่าจะโปรโมตอย่างโจ่งแจ้งได้แบบทุกวันนี้แน่นอน

(โลโก้ปัจจุบันของเกมจะเป็นฟอนต์ที่เขียนทับจากชื่อเกมเดิม)

ผู้เล่นจะได้รับบทเป็น “โปรดิวเซอร์” (หรือ Pจัง) ผู้ที่จะมาคอยช่วยเหลือสาวน้อยนามว่า “อาเมะ” ให้ก้าวสู่หนทางของการเป็นสตรีมเมอร์ชื่อดังของวงการ โดยมีเป้าระยะสั้นคือการสร้างรายได้จากไลฟ์เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเช่าห้อง และมีเป้าอันทะเยอทะยานคือทำยอดผู้ติดตามไปให้ถึง 1 ล้านภายในระยะเวลา 1 เดือน

เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น สาวน้อยอาเมะจึงแปลงโฉมหน้าตาของเธอให้กลายเป็นนางฟ้าแห่งโลกอินเทอร์เน็ตนามว่า KAngel (ย่อมาจาก OMGkawaiiAngel-chan) และมัดใจคนดูด้วยความน่ารัก รวมถึงคอนเทนต์สุดครีเอทที่ขึ้นอยู่กับว่า ‘Pจัง’ อย่างเราจะอยากให้เธอทำอะไรในแต่ละวัน

แม้จะฟังดูธรรมดา แต่แท้จริงแล้วอาเมะนั้นเข้าข่ายว่าเป็น “เมนเฮระ” ซึ่งเป็นศัพท์วัยรุ่นของญี่ปุ่นที่ใช้เรียกคนมีปัญหาด้านสุขภาพจิต และมักจะเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่นด้วยวิธีการรุนแรง นอกจากนี้แล้วตัวเราที่อาศัยอยู่ร่วมกันในห้องเดียวกับอาเมะ ก็ยังสื่อได้ชัดเจนว่าเราไม่ได้เป็นแค่โปรดิวเซอร์ แต่เป็นแฟนของเธอด้วยนั่นเอง ซึ่งถ้าเรื่องนี้หลุดไปจนคนที่ติดตามอยู่รู้เข้า ก็น่าจะมีผลกระทบอยู่ไม่ใช่น้อย

Needy Streamer Overload 2

หน้าที่ของเราในฐานะ Pจัง คือการช่วยเธอค้นหาแนวทางในการไลฟ์สตรีม คิดคอนเทนต์ใหม่ ๆ ขึ้นจากการใช้เวลาร่วมกัน, ออกไปเที่ยว, ดูหนัง, หมั่นทานยาให้ครบตามที่เขียนในฉลาก อีกทั้งยังต้องคอยดูแลสภาพของเธอให้ดีผ่านค่าสเตตัส 3 แบบ อันได้แก่ความเครียด, ความสเน่หา (ต่อตัวเรา) และความผิดปกติทางจิต ซึ่งถ้ามีค่าใดค่าหนึ่งที่หนักเกินไป ก็อาจจะนำไปสู่ฉากจบที่ไม่สวยนัก อยู่ที่เราจะชักจูงตัวอาเมะไปในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง

ทั้งนี้ตัวเกมก็ดำเนินไปอย่างฉับไวมาก ๆ สอดคล้องกับเพลงประกอบที่เป็นจังหวะเร็ว โดยในหนึ่งวันเราจะมีเวลาคิดอยู่ไม่นานนัก เพราะต้องคอยตอบแชทของอาเมะไปด้วย (ตอบให้ไวก่อนจะโดนโกรธ), คอยคิดไปด้วยว่าจะทำอะไรต่อ หรือหาเวลาเช็คในโลกออนไลน์ว่าผู้คนกำลังคิดอย่างไรกับเธอ โดยแต่ละการกระทำล้วนกินเวลาทั้งสิ้น และก็ต้องสงวนช่วงกลางคืนเอาไว้สำหรับการไลฟ์สตรีม ซึ่งถ้าเธอบอกว่าวันนี้ไม่อยากจะไลฟ์ ก็อาจจะต้องเออออตามใจเจ้าตัวไปด้วยแล้วแต่โอกาส

ความน่าสนใจของ NEEDY STREAMER OVERLOAD คือบทพูดภายในเกม ซึ่งตัวอาเมะเองก็มีความเป็นสาวน้อยเมนเฮระที่อารมณ์แปรปรวน และเราต้องรับมือกับคำพูดแรง ๆ ของเธออยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้บรรดาช่องแชทภายในไลฟ์เองก็ใช่ย่อย เพราะหลายประโยคก็ดูรุนแรง คุกคาม และแอบมีความคุ้นหูคุ้นตาแบบที่เราจะเจอได้ในไลฟ์สตรีมจริง ๆ อยู่เหมือนกัน

Needy Streamer Overload 3

โดยเฉพาะคนที่คลุกคลีกับวัฒนธรรมของวีทูบเบอร์ก็น่าจะอินเป็นพิเศษ เพราะแม้ว่าตัวเกมจะหลีกเลี่ยงการพูดถึงวีทูบเบอร์ แต่สิ่งที่สื่อออกมาในนี้ก็ค่อนข้างชัดมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการส่ง Superchat ซึ่ง Pจังจะต้องเป็นคนคัดเลือกข้อความขึ้นมาให้เธออ่านในช่วงท้ายไลฟ์, การที่อาเมะสร้างตัวตนที่ 2 ขึ้นมาเพื่อไลฟ์สตรีม รวมไปถึงเว็บบอร์ด /st/ ที่ใครจะมาพิมพ์อะไรใส่ตัวเธอก็ได้ ดูแล้วก็คลับคล้ายกันกับศูนย์รวมอารยธรรมแห่งโลกอินเทอร์เน็ตอย่าง 4chan ซึ่งมีห้องสำหรับพูดคุยเกี่ยวกับวีทูบเบอร์อยู่ด้วย (และมีขนาดชุมชนที่ใหญ่โตไม่น้อยในตอนนี้)

นอกจากนี้ตัวอาเมะก็ยังต้องเผชิญกับหลายปัญหา เพราะแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบ KAngel ทำให้ตัวเธอก็มีทั้งกลุ่มที่เป็นแอนตี้, มีกลุ่มที่อยากล้วงข้อมูลและเปิดเผยตัวตนในโลกจริง (Doxx) ไหนจะนิสัยส่วนตัวของเธอเองก็ชอบดูถูกแฟนคลับ และมีแอบมาด่าในทวิตเตอร์ลับ (หรือที่เรียกกันว่า ‘แอคหลุม’) อยู่เป็นครั้งคราวด้วย

Needy Streamer Overload 4

ในกรณีแย่ที่สุด สถานการณ์อาจทวีความรุนแรงและวิกลจริตมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดแล้วก็นำไปสู่ฉากจบในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะมีฉากจบแบบใดบ้างนั้น เรื่องนี้ผู้อ่านคงต้องไปลองเล่นดูด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ตัวเกมก็แฝงไว้ด้วยเนื้อหารุนแรงอยู่เยอะมาก ทั้งการทำร้ายร่างกาย, การเสพยา, เซ็กส์, การฆ่าตัวตาย และไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีอาการลมชัก แพ้แสงวูบวาบ เพราะจะมีฉากหลอนประสาทในรูปแบบต่าง ๆ ใส่เข้ามาแบบจัดเต็มด้วยในเกมนี้

อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งก็มีอีเวนต์ที่จิกกัดวงการสตรีมเมอร์ได้อย่างเจ็บแสบ ทั้งความหมกมุ่นเรื่องยอดผู้ติดตามของอาเมะ, หลุดหลักฐานว่าเธออยู่กับแฟน หรือการเลือกแนวทางวาบหวิวเพื่อเพิ่มยอดผู้ติดตามแบบรวดเร็ว ซึ่งแม้ตัวอย่างเหล่านี้จะฟังดูเหมารวมเกินจริง แต่ก็น่าจะเป็นประเด็นที่มีหลายคนแอบคิดอยู่ในใจบ้างเช่นกันไม่มากก็น้อย

Needy Streamer Overload 6

เพราะฉะนั้นแล้ว NEEDY STREAMER OVERLOAD จึงไม่ได้เป็นเกมจำลองชีวิตสตรีมเมอร์ที่สมจริง แต่เป็นเกมตลกร้ายที่เน้นความสะใจของแต่ละเหตุการณ์เสียมากกว่า และกลายเป็นอีกจุดสนใจว่าจะมีสตรีมเมอร์คนไหนหยิบเกมนี้ไปลองเล่นดูบ้างหรือไม่

สำหรับใครที่คันไม้คันมือจนอยากเล่นเกมกราฟิกน่ารัก ที่มาพร้อมดนตรี Chiptune อันแสนจะติดหู และมั่นใจว่าทนรับกับเนื้อหารุนแรงของเกมนี้ได้ ก็สามารถเข้าไปสั่งซื้อกันได้เลยผ่านร้านค้า Steam :
https://store.steampowered.com/app/1451940/NEEDY_STREAMER_OVERLOAD

โดยปัจจุบันตัวเกมทำยอดขายทะลุ 100,000 ชุดไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย หลังวางจำหน่ายมาได้เพียง 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ก็มีการประกาศจับมือกับ Muse Dash เพื่อนำเพลงประกอบอย่าง “INTERNET OVERDOSE” เข้าไปอยู่ในเกมด้วย

และปิดท้ายว่าเราก็สามารถเข้าไปติดตามทวิตเตอร์ (?) ของน้อง KAngle กันได้ด้วยเช่นกัน ที่ :
https://twitter.com/x_angelkawaii_x

Satthathan Chanchartree

ฟ่าง - Content Writer

Back to top