ท่ามกลางกระแสเกม NFT หรือ “GameFi” ที่ยังคงคึกคัก ก็มีโปรเจกต์เกมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ ในตลาด ชูความเป็น Play2Earn (เล่นแล้วได้เงิน) ที่บ้างก็โดดเด่นเรื่องระบบการเล่น บ้างก็เด่นเรื่องระบบการซื้อขายภายในเกม
ทว่ากับเกมกลุ่มนี้ ก็อาจจะแตกต่างจากปกติที่อยากเล่นเกมอะไรก็เล่นได้เลย เพราะเราจะต้องคำนึงถึงเงินต้นทุน และปัจจัยอื่น ๆ ประกอบกันไปด้วย
ในโอกาสนี้เราจึงขอแนะนำ 7 ข้อที่ควรพิจารณา ก่อนเลือกเล่นเกม NFT ซึ่งก็คาดว่าน่าจะพอช่วยเหล่าเกมเมอร์และนักลงทุนให้ตัดสินใจกันได้ง่ายขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อย
1. สำรวจตัวเองว่าเป็นผู้เล่นกลุ่มใด
น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญในระดับต้น ๆ ของการเลือกเล่นเกม NFT สักเกมหนึ่ง เนื่องจากว่าแต่ละเกมนั้น ก็มีความสมดุลและเหมาะสมกับกลุ่มผู้เล่นที่แตกต่างกันไป
โดยพื้นฐานแล้ว เกมที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องมีผู้เล่นอยู่ทั้ง 2 กลุ่ม คือส่วนที่เข้ามาทำกำไร หาไอเท็มมาลงตลาดในเกม ขณะที่ฝั่งเล่นเอาสนุก ก็คือผู้เล่นที่อยากจะเติมเต็มความสุขของตัวเอง ในการมีชุดแฟชันสวย ๆ , อาวุธที่แข็งแกร่ง เพื่อไต่อันดับขึ้นไปอยู่จุดสูงสุดเท่าที่จะทำได้ หรือไม่ก็เล่นเป็นสาย Competitive ไปเลยสำหรับบางเกม
ซึ่งถ้าย้อนไปยุคเกมออนไลน์ในอดีต ก็อาจจะเปรียบเทียบได้ง่าย ๆ ว่าผู้เล่น 2 กลุ่มนี้ ก็คือนักฟาร์มที่หาของแรร์มาขายในตลาด กับกลุ่มผู้เล่นสายเปย์ที่รอซื้อของเหล่านั้นต่อนั่นเอง
หากรู้ตัวเองว่าเป็นผู้เล่นในกลุ่มใดแล้ว จะสามารถตั้งเป้าหมายการเล่นได้แตกต่างกัน คือ
- เข้ามาทำกำไร – พยายามศึกษาว่าต้องใช้เงินทุนขั้นต่ำเท่าไร จึงจะได้ทีม / ไอเท็มที่เป็น Meta ในราคาคุ้มที่สุด และสามารถใช้สร้างรายได้ได้ยาว ๆ
- เข้ามาเล่นเอาสนุก – จะมีอิสระกว่ากลุ่มด้านบน เพราะจะศึกษาแค่ขั้นต่ำที่พอจะเล่นเกมได้จริง ๆ หรือไม่ก็มองถึงทีม / ไอเท็มระดับสูง ที่จะทำให้ไต่ไปถึงระดับท็อปได้อย่างรวดเร็วก็ได้ทั้งนั้น
นอกจากนี้แล้ว หากผู้เล่นที่ต้องการเข้ามาเล่นเกมเพื่อหวังทำกำไร เกิดเล่นไปเล่นมาแล้วรู้สึกสนุกกับมันจริง ๆ นั่นก็ถือเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนระดับหนึ่งแล้ว ว่าเกมนี้สามารถทำให้คน “ติด” ได้ด้วยตัวมันเอง และอาจเป็นที่นิยมได้ง่าย ๆ ต่อไปในวันข้างหน้า
2. Gameplay ดูแล้วน่าเล่นหรือไม่
สืบเนื่องจากข้อที่ผ่านมา หากเกมไหนที่ระบบ Gameplay ถูกออกแบบมาดี ก็ถือว่ามีชัยไปเกินครึ่งแล้ว
เพราะนี่คือจุดที่ชี้วัดว่าเกมนั้น ๆ “สนุก” ได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้พึ่งแต่เพียงระบบเศรษฐกิจของเกมอย่างเดียว
หากเกมเล่นแล้วสนุก ต่อให้ราคาของเหรียญดูซบเซาลงไป เราก็มั่นใจได้ว่าคนเล่นจะยังไม่ขายเหรียญของเกมออกไปง่าย ๆ หนำซ้ำอาจจะยิ่งอยากลงทุนเพิ่มไปอีก เพราะคนที่เล่นแบบจริงจังก็มองว่าเป็นโอกาสอันดีแล้ว ที่จะได้ช้อนซื้อไอเท็ม / NFT ที่ตัวเองต้องการในราคาถูก ๆ
การออกแบบระบบ Gameplay ที่ดี อาจไม่ต้องซับซ้อนมากเหมือนอย่างเกมปกติในตลาด แต่ก็ไม่ควรจะขี้เหร่เกินไปนักจนดูแล้วเหมือนแชร์ลูกโซ่มากกว่าจะเป็นเกม ซึ่งตรงจุดนี้ ก็สามารถเปรียบเทียบง่าย ๆ กับเกมในแนวใกล้กันได้ เช่น Splinterlands กับ Heartstone หรือ Plant vs Undead กับ Plant vs Zombies เป็นต้น แล้วดูระบบการเล่นว่าครบถ้วนรัดกุมมากน้อยเพียงใด
สำหรับเกมไหนที่เราเล่นแล้วรู้สึกดี ดูสมกับเป็น “เกมที่ทำมาเพื่อเกมเมอร์” จริง ๆ ไม่ใช่แค่ตามกระแสความเป็น Play2Earn แต่เพียงอย่างเดียว เท่านี้ก็ถือว่าเป็นโปรเจกต์ที่มีคุณค่า น่าจับตามองกันไปยาว ๆ แล้ว
3. เกมอยู่บน Blockchain ใด และตัวเหรียญมีความน่าเชื่อถือหรือไม่
ถือเป็นอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญมาก เพราะแต่ละเครือข่าย Blockchain ก็มีกลุ่มโปรเจกต์และราคาค่าธรรมเนียม (Gas Fee) ที่ต่างกัน
สำหรับเครือข่ายยอดฮิตที่สุดของตลาด NFT ขณะนี้ ก็เห็นจะหนีไม่พ้น Ethereum ที่มีโปรเจกต์ดัง ๆ และมีเกมน่าสนใจมากมาย แต่ก็แลกมากับการที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแพงมาก ซึ่งมีได้ตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหลายพันเลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกรรมและช่วงเวลา ณ ขณะนั้น
ในบางเกมอย่าง Axie Infinity จึงเลือกที่จะเปิดเครือข่ายย่อยของตัวเองขึ้นมาในชื่อ “Ronin” ทำให้ตัดปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมแพงลงไปได้ แต่สุดท้ายแล้ว ในจังหวะที่ต้องโอนเหรียญเข้าหรือออกจากเกม ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมอยู่ดี
ดังนั้น ก็อาจจะพิจารณาเป็นเครือข่ายอื่น ๆ ที่มีค่าธรรมเนียมถูกกว่า เช่น Binance Smart Chain (BSC) ซึ่งขณะนี้ก็มีเกมให้เล่นแล้วจำนวนหนึ่ง หรือที่อื่น ๆ อย่าง Solana ที่ก็เริ่มมีทีมพัฒนาใหม่ ๆ เข็นโปรเจกต์เกมออกมาเตรียมเปิดให้บริการอย่างน่าสนใจ
สาเหตุที่เราควรต้องดูว่าเกมนั้น ๆ อยู่บนเครือข่ายชื่อดังหรือไม่ ก็เพราะมันจะทำให้ตัวเกมมีโอกาสได้ไปจับมือกับโปรเจกต์อื่น ๆ ภายในเครือข่าย นำมาซึ่งการเติบโตของเกมได้อย่างรวดเร็ว (ตัวอย่างเช่น – เหรียญเกม MOBOX ที่ไปอยู่บนฟาร์มของ PancakeSwap)
ดังนั้น แค่ดูว่าเกมดีอย่างเดียวจึงอาจจะไม่เพียงพอ เพราะการดูว่าตัวเกมอยู่บนเครือข่ายใดไว้ด้วย ก็จะทำให้พอจะคาดเดาความเติบโตในอนาคตได้ระดับหนึ่ง และหากตัวเหรียญหลักของเครือข่ายนั้น ๆ (เช่น ETH – Ethereum, BNB – Binance Smart Chain) กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นด้วยแล้วล่ะก็ จะยิ่งทำกำไรได้เพิ่มขึ้นไปอีกต่อหนึ่งเลยทีเดียว
นอกจากจะดูที่เครือข่ายแล้ว ตัวเหรียญของเกมนั้น ๆ เองก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา เพราะส่วนใหญ่ในช่วงเปิดตัว ราคาเหรียญมักจะพุ่งขึ้นไปสูงมาก ก่อนที่เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งก็จะโดนเทขายจนร่วงลงมาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้คนเล่นพากันทิ้งเกมไปอย่างรวดเร็วด้วยเหมือนกัน
และเมื่อผ่านเหตุการณ์ที่ว่าไปจนราคานิ่งแล้วระดับหนึ่ง ราคานั้น ๆ ก็อาจจะเป็นการสะท้อนมูลค่าจริง ๆ ของเหรียญออกมา ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นแล้วก็ขึ้นอยู่กับเราว่ายังอยากจะเข้าไปเล่นอยู่หรือไม่
สำหรับผู้ที่อยากเล่นเกมที่รู้สึกว่าปลอดภัย ก็อาจจะมองเป็นเกมสเกลใหญ่ที่เปิดให้บริการมาสักพักแล้ว เพราะเหรียญของเกมเหล่านี้ผ่านการพิสูจน์ตัวเองมาหลายรอบ จึงไม่ต้องมาคอยลุ้นมากเท่าไร ว่าตอนไหนที่ราคาเหรียญจะร่วงกราวชนิดกู่ไม่กลับ
อย่างสุดท้าย คือเมื่อใดก็ตามที่เหรียญขึ้นไปอยู่บนกระดานเทรดดัง ๆ (เช่น Binance) ก็จะยิ่งเป็นการรับรองความมั่นคงของตัวเหรียญได้อย่างดี และมีโอกาสที่จะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาในเกมได้มากขึ้นกว่าที่เคย
4. สำรวจรายได้ของเกม
เช่นเดียวกับโปรเจกต์ประเภทอื่น ๆ ในวงการคริปโตฯ คือเกมจะอยู่รอดได้ ก็ต้องมี Use Case ที่มากเพียงพอให้มีรายได้ไหลเข้ามาสู่ตัวเกม
รายได้ที่ดี เกิดจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้น่าดึงดูด น่าเสียเงินซื้อ ตัวอย่างเช่น Axie Infinity ที่จะต้องใช้เหรียญ SLP ในการผสมพันธุ์ตัว Axie ขึ้นมาใหม่ และยังมีระบบยิบย่อยที่ต้องใช้เงินอีกมากมาย ไม่ได้จบแค่เปิดให้ผู้เล่นซื้อเหรียญเข้ามาเล่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึง Tokenomic ที่ดีได้ด้วย
ดังนั้น สำหรับเกมใดที่มี Trading Volume (ปริมาณการซื้อขาย) สูง ๆ ก็ให้สันนิษฐานไว้เลยว่าระบบภายในจะมีลูกเล่นอะไรเกี่ยวกับตัวเหรียญคริปโตฯ อยู่มากมายแน่นอน และเมื่อมีเม็ดเงินเข้ามาหล่อเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้รายได้กระจายมาสู่ชุมชนชาวเกมได้มากขึ้นด้วยนั่นเอง
5. สำรวจแนวโน้มทั้งตลาด
ขาขึ้นของตลาดคริปโตฯ ในรอบนี้ จะบอกว่าส่วนหนึ่งมาจากการขับเคลื่อนของ NFT และเกม NFT ก็คงจะไม่ผิดนัก แม้ว่าจะมีทั้งโปรเจกต์ที่ประสบความสำเร็จ ปะปนไปกับโปรเจกต์ที่หลอกลวง และเสี่ยงต่อการที่มูลค่าจะลดลงมาแทบเหลือ 0 ไม่ต่างอะไรกับวงการ Yield Farming ก็ตาม
ดังนั้น การอ่านภาพรวมทั้งตลาด และดูว่าเราควรเข้าไปลงทุนกับเกม NFT ในตอนไหน ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรพิจารณา ควบคู่ไปกับว่าจะเลือกเล่นเกมบน Blockchain ไหนด้วยนั่นเอง เพราะสุดท้ายแล้วต่อให้ตัวโปรเจกต์จะดีมาก ทำเงินได้เยอะมาก แต่ถ้าเราเข้าไปเล่นผิดจังหวะ ขายเหรียญของเกมออกก็ผิดจังหวะ สุดท้ายแล้วสิ่งที่ลงมือลงแรงไปก็อาจจะสูญเปล่าเลยก็เป็นได้
แต่หากว่าเราอยากจะซื้อความสุขเข้าเกม ไม่ได้อยากขายอะไรออกไป หรืออยากขายแค่ขำ ๆ เอาไว้เป็นค่าขนม ตลาดขาลงก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้จับจ่ายใช้สอยไอเท็ม เพื่อเติมเต็มความสุขได้ในราคาที่ถูกลงเช่นกัน
6. ชุมชนของผู้เล่น และความเห็นของส่วนรวมต่อตัวเกม
โปรเจกต์เกมจะบรรลุผลได้ ส่วนหนึ่งแล้วก็อยู่ที่ชุมชนผู้เล่นเป็นผู้ขับเคลื่อนด้วยเช่นกัน
เพราะสินทรัพย์นั้น ๆ จะมีมูลค่าได้ ขึ้นอยู่กับว่าชุมชนเป็นคนกำหนด ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะมีผู้สนใจนำไปต่อยอดเกิดเป็นสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย คล้ายชาว Mod ที่นำเกมไปปรับแต่งให้เกิดเป็นคอนเทนต์ของเหล่าแฟน ๆ ขึ้นมา
นอกจากนี้ ความเห็นของผู้เล่นส่วนใหญ่ต่อตัวเกมก็สำคัญ หากดูจากภายนอกแล้วเป็นเกมที่มีเม็ดเงินไหลเข้ามามหาศาล แต่พอมาดูชุมชนจริง ๆ กลับพบว่ามีแต่คนบ่นถึงสภาพอันย่ำแย่, อัปเดตช้า, ผู้พัฒนาไม่ใส่ใจ ก็เป็นไปได้ว่าเกมนั้น ๆ กำลังเป็นระเบิดเวลา ที่ไม่รู้ว่าเมื่อใดจะสูญศรัทธาจากเหล่าคนเล่นไปจนหมดสิ้น
ทั้งนี้แล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกม NFT ส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบบ Centralize ที่มีผู้กำหนดกติกาและ Tokenomic อยู่ เปรียบเทียบว่าเรากำลังเข้าไปอยู่ในประเทศ ๆ หนึ่งที่ต้องเล่นไปตามกฎของผู้สร้าง ดังนั้นแล้วตัวละครที่เคยเก่งในวันนี้ วันข้างหน้าก็อาจจะถูกเนิร์ฟลงมาจนทำให้เล่นต่อได้ลำบากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งปกติแค่เกมทั่ว ๆ ไป หากตัวละครโปรดของเราถูกเนิร์ฟ เราก็บ่นทีมงานกันเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว แต่นี่ยังมีเม็ดเงินเข้ามาเกี่ยวข้องไปด้วยอีก ความเจ็บปวดก็เลยยิ่งทวีมากขึ้นไปหลายเท่าตัว
7. ศึกษา Whitepaper และตามข่าวจากทางผู้พัฒนา
วิธีที่จะทำให้เข้าใจระบบการเล่น และ Tokenomic ของเกมได้อย่างครบถ้วน ก็เห็นจะหนีไม่พ้นการอ่าน Whitepaper ของเกม ซึ่งเป็นเอกสารที่ทางผู้พัฒนาจะต้องเผยแพร่ไว้อยู่แล้ว เพื่อแสดงความโปร่งใสของตัวโปรเจกต์ และทุกคนสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ด้วยตนเอง ว่าเกมนี้เขียนขึ้นมาอย่างรัดกุม, มีช่องโหว่ให้เกิดการโกง หรือมีกลิ่นว่าจะเป็นการลอกผลงานของคนอื่นมาหรือไม่
ส่วนใหญ่แล้ว Whitepaper จะสามารถดูได้จากเว็บไซต์หลักของเกมโดยตรง อาจจะอยู่ที่บริเวณล่างสุดของหน้า หรืออยู่ตรงเมนูหลักบนเว็บไซต์ ซึ่งเราแนะนำว่าการอ่านเอกสารให้ครบถ้วน และตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะลงทุนดีหรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะนั่นหมายความว่าเราได้รู้จักกับสินทรัพย์ในระดับหนึ่งแล้วนั่นเอง
นอกจากนี้ หากเกมไหนที่มีผู้พัฒนาเป็นตัวเป็นตน เปิดเผยหน้าตา / ผลงานในอดีตออกมาให้ทราบ แถมมีการอัปเดตความเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ, มีการเผย Roadmap ของเกมออกมายาว ๆ และรายงานให้ผู้เล่นว่าจะมีฟีเจอร์อะไรปล่อยออกมาอีกบ้าง ก็จะยิ่งทำให้อุ่นใจมากขึ้นไปอีกว่าโปรเจกต์นี้มีอนาคต ไม่หักหลังทิ้งเกมหนีไปไหนก่อนง่าย ๆ
ปัจจุบันเทรนด์ NFT ที่กำลังมาแรงก็คือ Loot และ mLoot อันเป็นแนวคิดตั้งต้นที่ผู้เล่นสามารถถือ “เซ็ตไอเท็ม” ไว้กับตัวเองได้ โดยในแต่ละ Loot จะมีรายการไอเท็มและระดับความหายากที่แตกต่างกันไป ซึ่งจุดนี้เอง ก็ทำให้ NFT ดังกล่าวที่เป็นเพียงแค่ตัวอักษรเปล่า ๆ สามารถถูกนำไปต่อยอดเป็นไอเท็มชิ้นสวย ๆ และทรงพลังในเกมต่าง ๆ ได้มากมาย
1) What is Loot?
Loot is an on-chain NFT that contains just text. Yes, just text!
It's a list of adventure items as texts. When you mint one, you get a set of items – as texts.
Simple as that. pic.twitter.com/HGAtPsbLtP
— tandavas.eth 🫡 (@tandavas) August 31, 2021
ดังนั้น Loot จึงมีศักยภาพที่จะเติบโตสูงมาก ๆ ในอนาคต และหากทีมพัฒนาเกมทีมใดที่จับเอา Loot เข้ามาประยุกต์ใช้กับเกมตัวเองได้ก่อน ก็รับรองว่าจะสามารถดึงดูดผู้ที่มี Loot อยู่ในมือเข้ามาเล่นเกมได้อย่างแน่นอน
ตัวอย่างเช่น โปรเจกต์เกม MMORPG เกมหนึ่ง เปิดให้ผู้เล่นสามารถสร้างตัวละคร และ Import ไอเท็มเข้ามาได้ด้วย Loot ที่มีอยู่แล้ว เกิดเป็นอาวุธ / ชุดเกราะที่เสริมความแข็งแกร่งทันทีโดยไม่จำเป็นต้องฟาร์มเอาในเกม ซึ่งเพียงแค่คิดเท่านี้ก็น่าสนุกแล้วว่าต่อไปจะมีการซื้อขาย Loot กันอย่างบ้าคลั่งแค่ไหน และถือเป็นโอกาสที่ผู้พัฒนาเกมไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
ขณะเดียวกัน ผู้เล่นคนใดที่มองเห็นภาพได้ไว ว่าเกมนั้น ๆ จะเอา Loot มาใช้แล้วปังแน่ ก็ย่อมทำให้เราได้เปรียบที่จะเข้ามาเล่นไวกว่าคนอื่น ทำกำไรได้มากกว่าคนอื่นด้วยนั่นเอง
สรุป
ตลาดเกม NFT ยังคงไปได้เรื่อย ๆ ตราบใดที่มีผลงานอันสร้างสรรค์ออกมาดึงดูดใจผู้เล่นได้อยู่เสมอ
ในมุมมองของเกมเมอร์แล้ว อาจจะต้องปรับตัวด้วยการศึกษาผลงานนั้นเยอะ ๆ ก่อน ดูแค่รีวิวอาจไม่พอ แต่ต้องลงไปทำความรู้จักกับกลไกเศรษฐกิจของเกมพอสมควร เพราะมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เทคโนโลยีบนโลกคริปโตฯ นั้นไปไวมาก มีของใหม่เข้ามาแทบทุกอาทิตย์ อะไรที่เคยล้ำในวันนี้ วันข้างหน้าก็อาจจะมีสิ่งที่ดีกว่ามาแทนที่ ดังนั้นใครที่เข้ามาร่วมหัวจมท้ายกับเกมใดเกมหนึ่งแล้ว ก็ควรต้องตามข่าวและจับตาดูทีมพัฒนาให้ดี ว่าพวกเขามีศักยภาพเพียงพอที่จะอยู่รอดในตลาดนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในด้านของรายได้, ชื่อเสียง, บริษัทที่หนุนหลัง และฐานผู้เล่น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญทั้งหมด
และสุดท้าย แม้ว่าแนวทางเหล่านี้จะดูไม่ทำให้เราสนุกกับการเล่นเกมเอาเสียเลย แต่มันก็คงไม่ใช่เรื่องยากเกินไป กับการจะหาเกม Play2Earn ในแบบที่ถูกใจที่สุด ซึ่งอาจมีอยู่แล้ว หรืออาจถือกำเนิดขึ้นมาภายหลังก็เป็นได้ทั้งสิ้น
อ่านเพิ่มเติม : NFT คืออะไร ? น่าสนใจแค่ไหนสำหรับวงการวิดีโอเกม