BY Zreast
4 Jun 21 8:33 pm

NFT คืออะไร ? น่าสนใจแค่ไหนสำหรับวงการวิดีโอเกม

181 Views

ท่ามกลางกระแส Cryptocurrency ที่กำลังมาแรง อีกหนึ่งสิ่งที่กำลังเป็นที่พูดถึงขึ้นมาเรื่อย ๆ เช่นกัน ก็คือ NFT (Non-Fungible Tokens) ซึ่งแพร่ไปสู่หลากหลายวงการ รวมถึงเกมด้วย

แล้ว NFT มันคืออะไร ? จะกลายมาเป็นอนาคตใหม่ของธุรกิจเกมนับจากนี้หรือเปล่า เกมเมอร์อย่างเรา ๆ ควรจะต้องรู้จักเอาไว้หรือไม่ ขอเชิญมาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเรากันได้เลย

อะไรคือ NFT ?

NFT หรือ “โทเคนที่ไม่สามารถทดแทนกันได้” กล่าวโดยทั่วไปแล้วก็คือ “สิทธิ์” สำหรับการครอบครองสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีความจำเพาะเจาะจง ใครที่ได้ครอบครองสิ่ง ๆ นี้จะถือได้ว่าเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว

คำว่า “Non-Fungible” อันหมายถึงไม่สามารถนำไปใช้ทดแทนได้ ก็มาจากที่ตัวมันมีความแตกต่างและมีมูลค่าไม่เท่ากัน ซึ่งถ้าจะให้เทียบในฝั่งของวงการเกม ก็จะเหมือนกับการ์ดสะสมที่ถูกพิมพ์ออกมาปริมาณจำกัด แต่ละการ์ดมีคุณลักษณะ ตำหนิ หรือสภาพความสมบูรณ์ที่แตกต่างกันไป

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ชาว CS:GO จะเข้าใจได้ง่าย ก็คือมีดภายในเกม ที่แม้ว่าจะได้มาจากการสุ่มกล่อง Loot Box แต่เมื่อสุ่มได้แล้ว ก็จะมาในสภาพความสมบูรณ์ที่แตกต่างกัน วัดด้วยค่า Float (เลขทศนิยม) ว่าถ้ายิ่งเข้าใกล้ 0 ก็ยิ่งหมายถึงความใหม่เอี่ยมจากโรงงาน ขณะที่หาก Float เยอะ ก็คือสึกกร่อนจากการใช้งานมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งความหลากหลายตรงจุดนี้ ก็เป็นแนวคิดที่คล้ายคลึงกันกับ NFT นั่นเอง

เพราะทุกอย่างล้วนมีค่า เมื่ออยู่ในมือของคนที่เห็นค่า ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นทวีตแรกของเหล่าคนดัง, ภาพ GIF ช็อตเด็ดของนักบาสเก็ตบอล และผลงานศิลปะที่เป็น Digital Art อีกมากมาย ก็สามารถกลายเป็นสิ่งที่หาซื้อมาครอบครองได้เพียงไม่กี่คลิก (ถ้าเงินถึง) และเป็นเจ้าของผลงานชิ้นนั้น ๆ โดยชอบธรรม

ผลงาน NFT ชิ้นแรกของ NFT1 x YOUNGOHM ที่ปิดประมูลไปในราคา 1.3 WETH (156,XXX THB ณ วันที่ 13 พ.ค. 2021)

ดังนั้น หากเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับการซื้อที่ดิน โดยที่ NFT = โฉนดรับรองความเป็นเจ้าของผลงานผ่านเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งก็ยิ่งมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นอีกขั้น เพราะการรับรองนี้จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง

แล้ว NFT เกี่ยวกับวงการคริปโตฯ อย่างไร ? โดยพื้นฐานแล้ว NFT ก็คือเหรียญประเภทหนึ่ง แต่ด้วยลักษณะเฉพาะตัวของมัน ทำให้ NFT มีความเป็นของสะสมมากกว่าจะใช้เทรดกันแบบจริงจัง

ทั้งนี้ การซื้อขาย NFT ก็คือการซื้อขาย “สิทธิ์” ความเป็นเจ้าของของผลงานที่ NFT นั้น ๆ ผูกติดอยู่ด้วยนั่นเอง ซึ่งเมื่อได้เป็นเจ้าของแล้ว ก็มีสิทธิ์ที่จะเก็บสะสมเอาไว้เอง, โอนต่อให้คนอื่น, เอาไปขายต่อ หรือจะเอาขึ้นไปประมูลก็ยังได้ เช่นเดียวกับสินทรัพย์ในโลกความเป็นจริง

ส่วนใหญ่แล้วการซื้อขาย NFT ก็จะชำระเงินด้วยเหรียญคริปโตฯ เป็นหลัก โดยตัวอย่างของแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยม มีผู้นำ NFT มาลงขายโดยแพร่หลาย ได้แก่ Rarible, OpenSea และ SuperRare เป็นต้น

NFT ในแวดวงเกม

ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ไปเสียทีเดียว เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็มีเกมจำนวนหนึ่งที่อยู่บน Blockchain และชูจุดเด่นว่าผู้เล่นสามารถจะครอบครองไอเท็มภายในเกมได้จริง ๆ แต่เพียงผู้เดียวมาแล้ว

สำหรับเกมที่เป็นที่รู้จักโดยแพร่หลาย เห็นจะหนีไม่พ้น CryptoKitties ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้เข้ามาจับจองและสะสม NFT ในรูปแบบสิ่งมีชีวิตสุดน่ารักรูปร่างคล้ายแมวเหล่านี้ และสามารถที่จะผสมพันธุ์พวกมันออกมาเป็นหน้าตาใหม่ ๆ อันมีความจำเพาะของตัวเองต่อไปได้อีกเรื่อย ๆ 

อีกหนึ่งเกมที่ได้รับความนิยมเช่นกัน ก็คือ Axie Infinity ที่ผู้เล่นสามารถจะสะสม, ขยายพันธุ์ และซื้อขายสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า Axie ได้ คล้ายคลึงกับว่าเป็นโปเกมอนตัวหนึ่ง

เกมนี้จะให้ผู้เล่นได้ดูแลเหล่า Axie และจัดทีม 3 ตัวเพื่อออกไปต่อสู้กับศัตรูทั้งแบบ PvE และ PvP ซึ่งแน่นอนว่า Axie เหล่านี้ก็มีค่าสเตตัสแตกต่างกันไป ทั้งพลังชีวิต, ความเร็ว, ความสามารถ และการซื้อขาย NFT ในเกมนี้ ก็คือการซื้อขายสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ Axie แต่ละตัว ซึ่งผู้เล่นสามารถหามาทำเป็นฟาร์มเพาะพันธุ์และขายออกไปเพื่อทำกำไรได้ หรือจะขายแค่เหรียญที่ดรอปมา, ขายที่ดินในเกม ก็สามารถทำได้เช่นกัน ทำให้เกมนี้มีช่องทางในการทำกำไรหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าใครอยากมุ่งไปในทิศทางใด

ส่วนในฝั่งของเหล่าเกมเมอร์ จะเข้าใจได้เป็นอย่างดี ว่า “ความแรร์ของไอเท็ม” นี้สามารถที่จะสร้างคุณค่าเพิ่มขึ้นได้ นึกภาพถึงเกม MMORPG ที่มีอาวุธสุดทรงพลังอยู่ในเกมเพียงชิ้นเดียว ใครที่ดรอปได้มันมาก็จะเป็นอันจบ ผู้เล่นคนอื่นไม่มีสิทธิ์ดรอปได้อีกแล้ว ก็คงไม่ต้องบอกว่าหากจะนำอาวุธชิ้นนี้มาขึ้นประมูล มันจะมีราคาพุ่งไปได้มากเพียงใด

บริษัทใหญ่ ๆ ที่เริ่มหาลู่ทางก้าวเข้าสู่ตลาด

ด้วยความ (ค่อนข้าง) ใหม่ของมัน ทำให้ปัจจุบันยังไม่มีค่ายเกมใหญ่ ๆ ค่ายไหนออกมาทำให้ดูเป็นตัวอย่างชัดเจนนัก

เชื่อได้เลยว่า NFT กลายไปเป็นหัวข้อในที่ประชุมของบริษัทเหล่านี้เรียบร้อยแล้ว เพราะนี่อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางทำเงินสำคัญในอนาคต เหลือแค่เพียงว่าจะทำมันออกมาในโมเดลธุรกิจแบบใดให้น่าดึงดูด และเกมเมอร์อยากจะจับจ่ายใช้สอยกันมากที่สุด

ปัจจุบันมีบริษัทที่ให้ความสนใจแล้วแน่ ๆ คือ SEGA ที่ได้ออกมาประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ว่าพวกเขาจะนำเอาผลงานเกมคลาสสิคกลับมาวางขายใหม่ในรูปแบบ NFT ตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนนี้เป็นต้นไป (มิถุนายน – กันยายน)

ซึ่งในเมื่อที่มันเป็น NFT เกมที่ว่าก็คงจะไม่ได้เป็นอีกหนึ่งก๊อปปี้เหมือนกับที่ใครหลาย ๆ คนเคยได้เล่นเป็นแน่ อาจจะมีการใส่เนื้อหาสุด Limited, เบื้องหลังการสร้าง หรืออาจจะถูกรีมาสเตอร์ใหม่ให้ผู้ที่ครอบครองได้สัมผัสกันแบบ Exclusive

กล่าวง่าย ๆ คือ SEGA อาจกำลังตั้งเป้าจะวางขายเกมที่ไม่ได้เป็นแค่ Collector’s Edition หากแต่เป็นอีกเวอร์ชันของเกม ที่มีจำนวนจำกัดยิ่งกว่าเดิมก็เป็นได้

โดยการก้าวเข้าสู่ตลาด NFT ครั้งนี้ จะได้รับความร่วมมือจากบริษัท Double Jump.Tokyo ผู้เคยมีผลงานเกม My Crypto Heroes มาแล้ว เกมดังกล่าวเปิดให้ผู้เล่นสามารถเป็นเจ้าของฮีโร่และอาวุธภายในเกมได้จริง ๆ แบบเดียวกันกับ CryptoKitties และ Axie Infinity จึงบอกได้ว่าพวกเขาก็คืออีกหนึ่งผู้บุกเบิกแนวทางของ NFT ในเกมมาก่อนด้วยเช่นกัน

ทางด้านของ GameStop บริษัทร้านขายเกมรายใหญ่ของโลก ก็เป็นอีกเจ้าที่ก้าวเข้ามาสู่ตลาด NFT แล้ว โดยปัจจุบันมีการเปิดหน้าเว็บไซต์ GameStop NFT ขึ้นมา แต่ยังไม่ระบุรายละเอียดแน่ชัดว่าพวกเขาจะทำอะไร

ซึ่งก็มีการคาดเดาที่น่าสนใจ ว่านี่อาจเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มใหม่ที่จะเปิดให้สามารถมาลงขายผลงาน NFT ที่เกี่ยวข้องกับวิดีโอเกมอยู่บนนี้ โดยเราก็ยังคงต้องรอติดตามการเปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อไป

อนาคตของ NFT สำหรับวิดีโอเกม

คาดว่าอีกไม่นาน เราจะได้เห็นบริษัทเกมใหญ่ ๆ ก้าวมาสู่ตลาดนี้กันอย่างต่อเนื่อง และก็จะขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การตลาดของแต่ละเจ้าแล้ว ว่าจะนำเสนอผลงานของตัวเองออกมาอย่างไรให้ดูมีมูลค่า และดึงดูดเกมเมอร์ได้เหมือนอย่างที่โมเดล “การสุ่มกาชา” ทำสำเร็จอย่างงดงามมาแล้ว

อะไรบ้างจะทำให้ NFT ติดตลาดเกมเมอร์ได้ ?

  • มาในรูปแบบของไอเท็มที่ทำให้ผู้เล่นปราถนาจะครอบครอง จะเป็นด้านความสวยงาม หรือความแข็งแกร่งก็ได้ ซึ่งทีมพัฒนาจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ว่ามันควรจะต้อง “โกง” กว่าของทั่วไปมากน้อยเพียงใดถึงจะพอเหมาะพอดี
  • ผู้เล่นรู้สึกสนุกกับการได้ซื้อขายมันจริง ๆ ไม่ใช่แค่เพียงมาเพื่อตามกระแสชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
  • จะเป็นเกมใหม่ไปเลยก็ได้ แต่ถ้านำระบบมาใส่ในเกมเดิมที่มีฐานผู้เล่นอยู่แล้ว จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้เว็บไซต์ Protos ออกมาเผยถึงสถิติจากการศึกษาวิจัยตลาด NFT และพบว่าตอนนี้ซบเซาลงมามากแล้ว จากจุดที่เคยมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 100 ล้านเหรียญฯ ภายในวันเดียว ร่วงลงมาเหลือเพียงราว ๆ 19.4 ล้านเหรียญฯ สอดคล้องกับตัวเลขจำนวนผู้ใช้งานที่ Active อยู่ ซึ่งร่วงลงมาจาก 12,000 เหลือเพียงประมาณ 3,900 คนเท่านั้น

แม้จะดูเหมือนว่าฟองสบู่ NFT แตกไปแล้วในตอนนี้ แต่ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะมีบริษัทใดบริษัทหนึ่ง สามารถคิดค้นนวัตกรรมเพื่อมาปลุกกระแสขึ้นมาอีกครั้งก็ได้

และหากว่าหวยมาตกอยู่ที่วงการเกมจริง ๆ ก็คงตอบคำถามของบทความนี้ได้เลย ว่ามันจะน่าสนใจมาก เพราะนั่นหมายความว่าเราจะได้เห็นอะไรสนุก ๆ ตามมามากมายสุดแล้วแต่ที่ผู้พัฒนาจะครีเอต ไม่ว่าจะเป็นไอเท็มสุดลิมิเต็ด, สกินที่มีแค่คุณคนเดียวได้เป็นเจ้าของ หรือตัวละครในเกมกาชาที่สามารถซื้อขายกันได้ ซึ่งแค่ได้คิดก็น่าสนุก และอยากจะให้วันนั้นมาถึงไว ๆ แล้ว

ข้อมูลอ้างอิง

NFT ในมุมมองอุตสาหกรรมเกม – Game Informer

สถิติในช่วงที่ผ่านมา – Protos

อื่น ๆ – Ethereum, 9arm, Kotaku, The Verge

Satthathan Chanchartree

ฟ่าง - Content Writer

Back to top