BY BabeElena
20 Jan 19 12:17 pm

Nintendo eShop คู่แข่งรายสำคัญของ Steam ในตลาดเกมอินดี้

24 Views

หากพูดถึงวงการเกมอินดี้แล้ว ในนาทีนี้ยังไงก็หนีไม่พ้น Steam กับ Epic Games Store ที่ได้มีเรื่องราวสุดร้อนแรงเกิดขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา กับการปะทะในเรื่องของส่วนแบ่ง และเสียงโวยของนักพัฒนาเกมอินดี้ที่เสียผลประโยชน์จากนโยบายเรื่องของส่วนแบ่ง รวมถึงการย้ายไปวางจำหน่ายบน Epic Game Store ที่ก็มีทั้งคนที่เห็นใจและไม่เห็นใจเกี่ยวกับสถานการณ์และความดุเดือดในครั้งนี้

แต่ในบรรดาสงครามอันดุเดือดนี้ ก็ได้มีร้านค้าขายเกมเกมนึงที่สามารถอยู่ท่ามกลางสงครามเกมอินดี้นี้ได้ และกลายเป็นคู่แข่งเบอร์สำคัญของวงการเกมอินดี้ไปแล้ว เมื่อบรรดาเหล่าเกมอินดี้ทยอยกันลงร้านค้านี้กันจ้าละหวั่น และบางเกมก็ทำยอดขายได้ถล่มทลายยิ่งกว่าร้านขายเกมอื่น ๆ ซึ่งคุณไม่คาดคิดแน่นอนว่าคู่แข่งรายนี้จะอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด เพราะเขาคนนี้คือ “Nintendo eShop”

Related image

Nintendo eShop คืออะไร ??

ก่อนที่เราจะเข้าสู่เรื่องราวของหัวข้อในวันนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับเจ้า Nintendo eShop กันเสียก่อน

Nintendo eShop เป็นร้านค้าขายเกมออนไลน์ที่ใช้งานสำหรับแพลตฟอร์มของทาง Nintendo เท่านั้น โดยเปิดตัวครั้งแรกในปี 2011 บนเครื่อง Nintendo 3DS จากนั้นจึงมีการขยายร้านค้าในปี 2012 บนเครื่อง Wii U และล่าสุด 2017 บนเครื่อง Switch ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางปู่นินทำร้านค้าขายเกมออนไลน์ เพราะก่อนหน้านี้ย้อนไปเมื่อปี 2006 ทางปู่นินก็เคยลองทำร้านขายเกมออนไลน์อย่าง “Wii Shop Channel” สำหรับเครื่อง Wii และ “DSi Shop” สำหรับเครื่อง Nintendo DSi เพียงแต่กับยุคของ Nintendo eShop คือยุคที่ปู่จริงจังกับตลาดเกมดิจิตอลมากขึ้นตามสมัยนิยมที่ยอดขายเกมสายดิจิตอลเรื่มมาแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ขอบอกไว้นิดหน่อยว่า Nintendo eShop ยังไม่มีโซนไทย แต่เนื่องจากว่าเครื่อง Nintendo Switch นั้นมีการยกเลิกการล็อกโซนแล้ว เพราะฉะนั้นหากอยากได้เกมราคาถูก ๆ ก็สามารถไปมุดไปซื้อเกมจากโซนประเทศอื่น ๆ ได้อย่างอิสระ (แบบเดียวกับ Steam, Xbox)

Related image

ทำไมนักพัฒนาเกมอินดี้ถึงให้ความสนใจ ??

เอาจริง ๆ ต้องเรียกว่าไม่ใช่แค่สนใจแล้ว เพราะเหล่าเกมอินดี้จำนวนมหาศาลได้เทกระจาดมาลงกันแทบทุกเดือนทุกสัปดาห์ เรียกได้คอเกมอินดี้ว่ามีเกมใหม่ให้เล่นกันแทบทุกสัปดาห์กันเลยทีเดียว ส่วนเหตุผลว่าทำไมนักพัฒนาเกมอินดี้ถึงให้ความสนใจกับ Nintendo eShop มากขนาดนี้ล่ะก็ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของความยอดนิยมและการตลาดที่ดูเหมือนว่าผู้เล่นฝั่ง Nintendo จะไม่ได้ซีเรียสว่าเกมจะต้องเกรด AAA ภาพสวย ๆ ใช้ทุนพันล้าน หากเห็นว่าเกมมันน่าสนุกและดีจริงสาวกเขาก็พร้อมจ่ายมาเล่นได้แบบไม่ยากเย็น

นอกจากนี้ Nintendo ในยุคของ Nintendo Switch เรียกได้ว่าจัดหนักจัดเต็มและเอาใจนักพัฒนาเกมอินดี้แบบสุด ๆ ด้วยการโปรโมตเกมขึ้นแชแนลยูทูปของทาง Nintendo โดยตรง แถมยังมีโครงการ Nindie ที่จะเอาเกมอินดี้ดี ๆ มารวมกันและนำมาเสนอในรูปแบบของการไลฟ์เปิดตัวเกมแบบสด ๆ อย่าง Nintendo Direct แบบพิเศษ อย่าง Nindie Showcase, Indie Highlight, Indie World และหากเกมอินดี้เกมไหนเทพจริงก็จะได้โผล่ใน Nintendo Direct ใหญ่กันเลย เรียกได้ว่าแค่ทำเกมดี ๆ ปู่ก็พร้อมที่จะโปรโมตให้โดยที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายงบการตลาดมากมายอะไร (แต่อาจจะมีหักค่าต๋งและค่าลิขสิทธิ์เครื่องคอนโซลเล็กน้อยตามปกติ)

Image result for indie highlights

Indie Highlights หนึ่งในรายการถ่ายทอดสดเปิดตัวเกมอินดี้ของทางฝั่ง Nintendo

วัฒนธรรมของแฟนเกมที่เอื้อเป็นอย่างมาก

เราเคยพูดถึงเรื่องของวัฒนธรรมแฟนเกมของ Nintendo ไปบ้างแล้วในบทความ “5 สาเหตุทำไม Playstation Classic ถึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร” ซึ่งก็เอ่อ.. เป็นบทความฝั่ง Sony ที่ทางผู้เขียนพูดถึงปู่นินเฉย แต่เอาเถอะเราจะมาอธิบายใหม่กันอีกรอบเกี่ยวกับวัฒนธรรมในการเล่นของสาวกฝั่ง Nintendo ครับ

หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าผู้เล่นเครื่องฝั่ง Nintendo เป็นพวก Casual Player ซึ่งนั้นก็จริงส่วนหนึ่ง เพราะว่ายุค Wii, DS ก็มีผู้เล่นกลุ่มนี้เยอะพอสมควร แต่หากมาดูกันจริง ๆ แล้ว ส่วนใหญ่ผู้เล่นของฝั่งปู่นินมักจะเป็นพวก “Core Gamer” ที่จะแคชชวลก็ได้จะฮาร์ดคอร์ก็ได้ ไม่ได้เกี่ยงว่าจะต้องภาพสวยจัดเต็ม เนื้อเรื่องล้ำ ๆ และไม่ได้เกี่ยงว่าจะต้องภาพพิกเซล เนื้อเรื่องแห้ง ๆ เพราะสิ่งที่สาวกของปู่นินให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งก็มีเพียงแค่ “Gameplay” ที่ต้องล้ำต้องดี ส่วนอย่างอื่นไม่เป็นไร ขอให้เกมสนุกและดีงามก็พอแล้ว

ถามว่าทำไมกลุ่มผู้เล่นของฝั่ง Nintendo ถึงเป็นอย่างนั้น ?? คงต้องบอกว่าการออกแบบเกมของ Nintendo ที่หลาย ๆ คนมองว่ามันอาจจะการ์ตูนหรือเด็กน้อย แต่ผู้เขียนกลับมองว่านี่คือการออกแบบเกมที่ดูฉลาดมาก ด้วยการนำเสนอกราฟิกที่ดู “เป็นกลาง” ต่อผู้เล่นทุกกลุ่ม กล่าวคือมันไม่ดูเด็กน้อยและมันไม่ได้ดูสมจริงรุนแรงแบบเกม AAA หลาย ๆ เกมในสมัยนี้ และ Nintendo ก็ยึดหลักนี้ในการออกแบบเกมของพวกเขาเสมอ สังเกตที่ตัวเกมที่ภาพมีความละเอียดขึ้นเรื่อย ๆ แต่อาร์ตสไตล์ก็จะยังคงเดิม

Image result for breath of the wild

ตัวอย่างงานภาพของ Breath of the Wild ที่มีความเป็นการ์ตูน แต่ก็ดูไม่เด็กจ๋าจนเกินไป

นอกจากเรื่องของภาพแล้ว แน่นอนก็คงหนีไม่พ้นเรื่องที่ปู่นินถนัดและขึ้นชื่อมากที่สุดนั้นก็คือ Gameplay ที่ได้มีการเจาะตลาดชัดเจนว่าเกมไหนมีความลึกหรือความยากขนาดไหน โดยไม่ได้ใช้ระดับความยากเป็นตัววัดตามสมัยนิยม แต่จะเน้นการไต่ระดับความยากเสียมากกว่า หรือบางเกมที่ทำมาเพื่อเอาสนุกสำหรับทุกเพศทุกวัยก็จะมีความยากที่น้อยลง และเกมไหนที่ทำมาเพื่อเกมเมอร์สาวกปู่นินแบบสุดซึ้ง พวกเขาก็จะจัดหนักจัดเต็มเรื่องความยากไม่แพ้กัน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเกมของ Nintendo ทำหลาย ๆ คนหัวร้อนนะครับ…

Image result for donkey kong tropical freeze

Donkey Kong : Tropical Freeze เห็นภาพแบบนี้แต่ทำคนหัวร้อนมาเยอะแล้วนะครับ…

และกับอีกเกมอีกกลุ่มนั้นก็คือ “Competitive” ที่จะเป็นเกมที่เน้นการแข่งขัน ซึ่งเกมสมัยนี้การที่จะพยายามทำให้เป็น E-Sport ไม่เข้าถึงง่ายมาก ๆ ก็เข้าถึงยากเฉพาะกลุ่มไปเลย แต่เกมของ Nintendo ไม่ใช่แบบนั้น เพราะแทบทุกเกมได้ใช้หลักการของ “Easy to play, hard to Master” คือเล่นอะก็เล่นได้ แถมเข้าใจได้ง่ายมากอีกด้วย แต่ในความง่ายเหล่านี้ก็ได้ซ่อนกลไกและความลึก ที่หากจะเล่นให้รีดพลังของเกมได้ก็ต้องฝึกกันจริงจังพอสมควรถึงจะเล่นเก่งจริง ๆ ซึ่งตัวอย่างของเกมจำพวกนี้ก็คือ Arms, Pokemon, Pokken Tournament, Super Smash Bros. และ Splatoon

Related image

Splatoon หนึ่งในซีรี่ส์เกมที่ขึ้นชื่อเรื่องของ E-Sport มากที่สุดของ Nintendo

จากที่เราได้บอกไป เราจะเห็นได้ว่า “Nintendo มีเกมที่พร้อมมอบความสนุกให้กับคนทุกกลุ่ม” จากที่ผู้เขียนไปสำรวจจากกลุ่มคอมมูนิตี้ของสาวก Nintendo ทั้งไทยและต่างประเทศ ก็ได้พบว่าสาวกของปู่นินนั้นมีครบครันในแง่ของกลุ่มคนเล่น ไม่ว่าจะเป็นสายกินง่ายอย่าง Casual Player สายยังไงก็ได้อย่าง Core Gamer หรือแม้กระทั่งสายฮาร์ดคอร์อย่าง Hardcore Gamer ที่มาโคจรมาเจอกันโดยมีวีดีโอเกมของ Nintendo เป็นสื่อกลาง และพวกเขาก็มีความเชื่อเดียวกันว่า “กราฟิกยังไงก็ได้แต่เกมเพลย์ต้องสนุกไว้ก่อน”

ด้วยวัฒนธรรมทั้งหมดที่เราได้บอกไป ทำให้สาวกของ Nintendo จะไม่เกี่ยงว่าเกมจะภาพสวย เนื้อเรื่อง ใช้ทุนเยอะหรือไม่ เพราะสิ่งที่พวกเขาแคร์ก็คือ “เกมเพลย์และคุณภาพตัวเกม” ซึ่งเกมอินดี้หลาย ๆ เกมในท้องตลาดได้ตอบโจทย์พวกเขาเป็นอย่างมาก และนั้นทำให้พวกเขาพร้อมจ่ายเพื่อแลกกับวีดีโอเกมที่สนุกสนาน ที่พวกเขาจะได้เล่นมันจริง ๆ และสนุกไปกับมันจริง ๆ ก่อให้เกิดความแข็งแกร่งของตลาดเกมอินดี้ที่น่ากลัวอันดับต้น ๆ แห่งยุค แม้กระทั่ง Epic Games Store กับ Steam ก็ยังต้องมองว่านี่คือคู่แข่งที่เบอร์ใหญ่

และยิ่งกับ Nintendo Switch ที่พกพาไปได้ทุกที่ ทำให้เปิดโอกาสในการเล่นเกมใหญ่เกมเล็กได้ทุกที่ทุกเวลา จากเดิมที่ซื้อเกมอินดี้มาแต่ไม่มีเวลาเล่น เพราะเอาเวลาไปลงกับเกมใหญ่บน PC หมด แต่ตอนนี้ก็สามารถหยิบเกมเล็ก ๆ มาเล่นในห้องน้ำได้แบบสะดวกสบายได้ทุกที่ทุกเวลา เรียกได้ว่าบันเทิงใจเกมเมอร์เป็นอย่างมาก

จริงอยู่ที่ผู้ใช้ Steam กับ Epic Games Store จะมีจำนวนเยอะกว่า Nintendo eShop เป็นอย่างมาก แต่อย่างที่ได้ย้ำตลอดว่า “วัฒนธรรมในการเล่นมันต่างกัน” และจำนวนผู้ใช้งานไม่ได้ชี้วัดถึงตัวเลขยอดขายเสมอไป เพราะได้มีเคสตัวอย่างเกิดขึ้นมาเยอะแล้ว ซึ่งสิ่งที่ผู้เขียนพูดเป็นเรื่องที่อวยเกินจริงหรือไม่ มาดูในหัวข้อต่อไปกันครับ

ทั้งหมดที่พูดมาไม่ได้อวยแต่มันเป็นเรื่องจริง

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะมีคำถามว่า “เอ้ย อวยกันซะขนาดนี้ เอ็งเป็นติ่ง Nintendo อะดิ๊” ซึ่งหากคุณคิดแบบนั้นล่ะก็ คุณคิด… ถูกแล้ว ใช่ครับผู้เขียนเป็นแฟนบอยของ Nintendo แบบเข้มข้นเลย แต่แน่นอนว่าผู้เขียนก็ไม่ใช่พวกอวยสุดเดชที่อวยทุกอย่างจนหาข้อเสียมิได้ ซึ่งด้วยผลลัพธ์และตัวเลขยอดขายที่ถือว่าเป็นข้อมูลดิบสำคัญสำหรับการสนับสนุนว่า “Nintendo eShop เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในตลาดเกมอินดี้” จริง ๆ จะเป็นผู้เขียนหรือใครก็ตามก็คงต้องยอมรับความจริงกันล่ะครับ

ยกตัวอย่างเช่นเกม Blossom Tale : The Sleeping Kingที่วางจำหน่ายใน Steam ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2017 โดยที่ไม่สามารถทำยอดขายได้ดีพอจนทำเอาบริษัทค่ายเกมเกือบเจ๊งกันแล้ว แต่เมื่อตัวเกมได้ถูกวางจำหน่ายบน Nintendo Switch ในเดือนธันวาคม 2017 กลับสามารถทำยอดขายได้มากกว่าถึงสิบเท่าของ Steam ทั้ง ๆ ที่ผู้ใช้ Nintendo eShop ก็ไม่น่าเยอะเท่า Steam แต่อย่างที่บอกไป “วัฒนธรรมในการเล่นมันต่างกัน” (ย้ำกี่รอบแล้วนะประโยคนี้ ??) และนั้นทำให้ค่ายเกมรอดตายจากการปิดบริษัทและสามารถสร้างสรรค์ผลงานต่อไปเรื่อย ๆ

Related image

หรือจะเป็นเกม Monster Boy and the Cursed Kingdom เกมอินดี้คุณภาพสูงที่ได้วางจำหน่ายไปเมื่อเดือนธันวาคม 2018 ซึ่งเรายังไม่ได้เห็นตัวเลขยอดขายที่ชัดเจน แต่ทางทีมพัฒนาก็มากล่าวขอบคุณ พร้อมได้บอกว่าพวกเขาสามารถทำยอดขายบน Nintendo Switch ได้มากกว่าแปดเท่าของทุกคอนโซลรวมกัน เรียกได้ว่าชัดเจนมาก ๆ ว่า Nintendo eShop มันเอื้อไปเสียหมดสำหรับตลาดเกมอินดี้ ขนาดที่ว่าทุกคอนโซลรวมกันยังสู้ยอดขายบน Switch ไม่ได้

Related image

หรือจะเป็นเกม Death Squared, Oceanhorn และ Wonderboy ที่สามารถทำยอดขายเปิดตัวได้มากกว่าบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ ทั้งที่แพลตฟอร์มอื่นก็มีขนาดคอมมูนิตี้และผู้ใช้งานที่มากกว่า จนเกมอินดี้หลาย ๆ เกมต้องถึงกับต้องไปร่วมโปรแกรมของทาง Nintendo เพื่อทำเป็น Time Exclusive เพื่อลงให้กับเครื่อง Nintendo Switch ก่อนเครื่องอื่น ๆ เป็นเวลาหลายเดือน

Related image

Image result for oceanhorn

Image result for Wonderboy

เพราะฉะนั้นผู้เล่น Nintendo Switch บางกลุ่มอาจจะต้องทำใจและเปิดใจยอมรับเกมอินดี้กันเสียหน่อย เพราะในเมื่อมีเคสตัวอย่างที่สามารถทำยอดขายได้สูงแบบชัดเจนขนาดนี้ เราก็คงได้เห็นบรรดาเหล่าเกมอินดี้ต่างพามาพอร์ตและมาลงเครื่องกันแน่นอน ซึ่งเอาจริง ๆ หากไม่ติดที่ว่าคุณยึดติดกับเกม AAA เกมอินดี้เหล่านี้ก็พร้อมให้ความสนุกกับคุณไม่แพ้เกมใหญ่ ๆ เลย (เผลอ ๆ อาจจะสนุกกว่าด้วยซ้ำ) แต่ก็นั้นแหละ หากมีใครบอกว่า “อี๋ย์ Nintendo Switch เครื่องเล่นเกมพอร์ต เครื่องเล่นเกมอินดี้” เราก็ต้องยอมรับตามความจริงแหละ เพราะมันเป็นแบบนั้นจริง ๆ ที่เกมอินดี้ขนมาลงเยอะ ซึ่งเราก็ทำได้แต่มองอย่างเงียบ ๆ และคิดอยู่ในใจว่า

ก็ทำแล้วมันขายได้อะครับ ใครมันจะไม่อยากเอาเกมมาลงกันล่ะ หื้ม ?!

เป็นอันจบบทความด้วยประการฉะนี้…

BabeElena

Back to top