BY TheStarrySky
29 May 20 10:48 am

“Online Card Game” ประวัติ ที่มา และเกมที่พัฒนาโดย “คนไทย”

366 Views

Online และ Offline โลกสองใบของเหล่าเกมเมอร์ ที่แยกเกมออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้มากมาย Single Player, Mutiplayer หรือ RPG และ MMO สิ่งเหล่านี้ก็ได้สร้างเกมชนิดหนึ่งออกมา และกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน นั่นก็คือ “Online Card Game”

การ์ดเกม ถือเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมความบันเทิงที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีทั้งเกมการ์ดจริง ๆ แบบจับต้องได้ เช่นไพ่ Poker ต้นฉบับของไพ่ทั้งหมด, ไพ่แบบ Bordgame ที่เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย และ TCG ที่เกิดจากการใส่จินตนาการต่าง ๆ ลงไป กลายเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมการเล่นที่นิยมไปทั่วโลกในตอนนี้

จนถึงจุดหนึ่ง การ์ดเกมก็ได้กระโจนเข้าสู่วงการเกมออนไลน์ กลาย Online Card Game ที่มีการแข่งขันชิงเงินรางวัลนับล้าน เป็น Esports ที่เทียบชั้นได้กับแนวเกมอื่น ๆ ได้อย่างสมศักดิ์ศรี วันนี้ เราจะพาทุกท่านไปย้อนชมประวัติความเป็นมาของการ์ดเกม Online ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไปดูกันว่าระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาของเกมแนวนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงและมีเกมอะไรที่น่าสนใจเกิดขึ้นมาบ้าง หลายคนอาจไม่ทราบว่า ประเทศไทยก็ถือเป็นชาติที่มีผู้พัฒนาเกมเหล่านี้อยู่ตลอดเช่นกัน

การ์ดเกมมาจากไหน แล้วทำไมถึงต้อง Online ?

เริ่มแรก เราก็ควรที่จะมองไปยังจุดเริ่มต้นของเรื่องกันก่อน ทำไมการ์ดเกมถึงต้อง Online ? แล้วในความเป็นจริง การ์ดเกมคืออะไร ?

เรื่องนี้ต้องย้อนไปแต่ยุคโบราณตามที่ได้กล่าวไปในตอนต้น มนุษย์นั้นได้คิดค้นวิธีที่จะเล่นสนุกกันมานานมากแล้ว แถมยังคิดกันออกมาได้หลายวิธี การ์ดเกม หรือ “เกมไพ่” (Card Game) ก็เป็นหนึ่งในนั้น ประวัติของมันย้อนไปได้มากกว่า 1000 ปี โดยไม่มีหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัดว่าใครเป็นพวกแรกที่คิดค้นการเล่นนี้ขึ้นมา บ้างก็ว่ามีต้นกำเนิดที่ประเทศจีน โดยพัฒนาจากเกมที่มีลักษะคล้ายโดมิโน่ บางก็ว่ากำเนิดจากเยอมันไม่ก็อินเดีย ที่ซึ่งมีเกมไพ่ที่มีกติกาการเล่นคล้ายคลึงกัน

แต่ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็เห็นจะเป็นทฤษฏีที่บอกว่า Poker กำเนิดในฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 15 เนื่องจากไพ่ที่ชื่อ “Pogue” มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับ Poker มาก ทั้งจำนวนไพ่ในสำรับ (52 ใบ) เท่ากัน จำนวนดอก 4 ชนิดเหมือนกัน และมีการใช้ศัพท์ในการเล่นที่คล้ายกันอีกด้วย ภายหลัง Jonathan H Green ได้นำ Poker ไปพัฒนาต่อที่อเมริกา จนกลายเป็นเกมที่โด่งดังไปทั่วโลกถึงปัจจุบัน

ในช่วงแรกจะใช้ไพ่ Poker ในการเล่นเป็นหลัก ซึ่งโป๊กเกอร์เพียงสำรับ (Deck) เดียว ก็สามารถใช้เล่นในกติกาต่าง ๆ ได้นับสิบแบบ ส่วนใหญ่ใช้เล่นเพื่อผ่อนคลาย และการพนันของเหล่าชนชั้นสูง เกมไพ่ในช่วงแรกจึงจะยังไม่มีอะไรมากไปกว่ากระดาษที่มีสัญลักษณ์แทนแต้มต่าง ๆ เล่นกันโดยกติกาง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนอย่างในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากภาพด้านล่างนี้

ภาพ “The Card Players” โดย Theodoor Rombouts ศตวรรษที่ 17 แสดงให้เห็นว่าการเล่นไพ่นั้นมีมามากกว่า 400 แล้ว

เวลาล่วงเลยจนมาถึงยุค 90 Trading card (TC) หรือ “การ์ดสะสม ก็ได้ถือกำเนินขึ้น โดยความหมายแล้ว TC ถึงไพ่ขนาดเล็ก มักทำจากกระดาษหรือวัสดุอื่น ๆ ที่แข็งแรงแต่น้ำหนักเบา มักแสดงรูปของคน/สัตว์/สิ่งของ หรือะไรก็ตามแล้วแต่ผู้ผลิต พร้อมคำอธิบายความสามารถหรือประวัติของการ์ดในนั้น ๆ นั่นทำให้ TC ยุคแรกจึงไม่ใช่การ์ดเกม เป็นของสะสมเพื่อให้แฟน ๆ เลือกซื้อไปเก็บเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่ง ภาพที่ถูกนำมาใช้มักเป็นวงการกีฬา โดยมักจะเป็นเบสบอลและบาสเกตบอล ภายหลังก็ได้มีการนำตัวละครในการ์ตูนชื่อดังมาทำเป็นคอลเล็กชั่นด้วย อย่างเช่น Marvel Comic ที่ก็เคยเอาจริงเอาจังกับสินค้าประเภทนี้อยู่เช่นกัน แน่นอนว่า TC ในช่วงนี้ไม่ได้ถูกออกมาให้ใช้สำหรับเล่น แต่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการสะสมและซื้อ-ขาย ตามชื่อ “Trading Card” นั่นเอง

Trading Card ในช่วงแรก ๆ บางส่วนกลายเป็นของหายากและมีราคาสูงในปัจจุบัน

เมื่อโลกได้พัฒนาสู่ยุคใหม่ เกมการ์ดก็ถูกพัฒนาโดยใส่ความเป็นแฟนตาซี ใส่กฏกติกาต่าง ๆ ลงไป กลายเป็น Trading Card Game (TCG) หรือ Collectible Card Game (CCG) ทำให้คราวนี้ ตัวการ์ดนอกจากจะใช้สะสมได้แล้ว ยังสามารถใช้เล่นเหมือน Boardgame ได้ด้วย โดยมีผู้นำวงการคือ “Magic: The Gathering” (MGT) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “The First Trading Card Game” ในปี 1993 ออกแบบและควบคุมการสร้างโดย Richard Garfield ผู้ที่ภายหลังได้มีส่วนร่วมในการสร้างและออกแบบ Artifact เกมการ์ด Dota 2 อันเลื่องชื่อ MGT ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง มีผู้เล่นกว่า 20 ล้านคนทั่วโลกในปี 2015 โดยมีการประมาณคร่าว ๆ ว่า ในปี 2008-2016 อันเป็นช่วงยุกทองของเกม ได้มีการ์ด MTG ถูกผลิตไปแล้วถึง 20 พันล้านใบ

Magic: The Gathering (1993)

สำหรับเหตุผลที่การ์ดเกมต่าง ๆ ต้องเข้าสู่โลก Online นั้นก็ง่ายมาก ระบบอินเตอร์เน็ตทำให้ทุกคนสามารถพบเจอกันได้แม้จะอยู่คนละซีกโลก จากเดิมที่ผู้เล่นจะต้องเดินทางมาพบหน้ากัน คราวนี้ผู้เล่นสามารถนั่งอยู่ในบ้านแต่จะเล่นกับใครก็ได้ที่ Online อยู่ อีกทั้ง มันยังเป็นช่องทางใหม่ของผู้พัฒนาที่จะขยายทั้งฐานผู้เล่นและขายสินค้าไปพร้อม ๆ กัน นี่เป็นทั้งโอกาสและอนาคตของวงการอย่างไม่ต้องสงสัย บรรดา TCG ทั้งหน้าเกมและหน้าใหม่ต่างทยอยสร้างเกมในโลกดิจิทัลขึ้นมาหวังครองตลาดเหนือคู่แข่ง แล้วยุคสมัยของ DCCG ก็เริ่มขึ้นนับจากนั้น

เกมการ์ด Online กลุ่มแรกของโลก

เมื่อเข้าสู่โลกออนไลน์แล้ว TCG ก็ได้รับชื่อใหม่เป็น Digital Collectible Card Game (DCCG) หรือ Online Collectible Card Game (OCCG) จากข้อมูลที่มีอยู่ มี 5 เกมที่น่าจะเป็นผู้ริเริ่มของเกมประเภทนี้ ได้แก่

  • Magic: The Gathering (1997)
  • Chron X (1997)
  • Pokémon Trading Card Game (1998)
  • Yu-Gi-Oh! Duel Monsters (1998)
  • Sanctum (1998)

ซึ่งในรายชื่อนี้ Chron X ถือว่าเป็น DCCG แรกของโลกที่มีโหมด Online พัฒนาโดย Genetic Anomalies และเปิดตัวมาตั้งแต่พฤษภาคม 1997 โดยมีธีม Sci-fi อยู่ในโลกยุคใหม่ที่มีเทคโลโยยีและอาวุธทันสมัย ซึ่งจะดูแปลกตาจากเกมการ์ดทั่วไปที่เราพบเห็นในตอนนี้ ที่จะเป็นแนวแฟนตาซีเสียมากกว่า ตัวเกมมีการพัฒนาถึงปี 2005 ใน Act 3 ก่อนที่จะสิ้นสุดการเดินทางแลถถูกหลงลืมไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังมีการอัปเดตเพิ่มเติมบ้างประปรายอยู่เรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันในชื่อ Chron X Final Century

หากใครอยากลอง หรืออยากสัมผัสกับเกมการ์ด Digital ตัวแรกของโลกนี้ดูซักครั้ง ก็สามารถเข้าชมได้ที่ Link ด้านล่างนี้ และยังสามารถ Download ทั้งแบบบอร์ดเกม และตัวเกมจริงของ Chron X ได้แบบฟรี ๆ อีกด้วย

Chron X (1997) เกมแรกของตระกูล DCCG ที่มีระบบ Mutiplayer แบบ Online

https://www.facebook.com/ChronXHQ/videos/358424448419221/

แม้ว่า Chron X จะได้ตำแหน่ง “First Born” ไปในครั้งนี้ แต่ในความเป็นจริง ผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างที่สุด คือเกมที่เปิดตัวช้าไปเพียงไม่กี่เดือนอย่าง Magic: The Gathering ที่ได้เปิดตัวการ์ดเกมแบบ Digital Online ในชื่อ Magic: The Gathering Online (MTGO) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2002 หรือกว่า 16 ปีที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้ MTG Online จึงอาจถือได้ว่าเป็นเกมการ์ด Online เต็มรูปตัวแรกของโลกด้วยก็ว่าได้ เนื่องจากระบบ Online ของ Chron X จะถูกเรียกว่า Mutiplayer และตัวเกมก็ยังมีโหมด Single อยู่ จึงเป็นเหมือนกับเกมทั่วไปที่สามารถเล่นแบบหลายคนได้มากกว่า โดย MTG Online แทบจะยก MTG ของจริงมาไว้ในคอมพิวเตอร์ มีระบบการเล่นเหมือนกัน มีการ์ดครบทุกชุดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และผู้เล่นก็สามารถจ่ายเงินเพื่อซื้อการ์ดได้เหมือนของจริงด้วย

MTG Online (2002) ถือเป็น DCCG ที่ถูกสร้างเป็นเกมออนไลน์โดยเฉพาะตัวแรก ๆ ของโลก

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมของคนไทยเราแล้ว MTG Online ถือว่ายังมีบทบาทไม่มากนัก เพราะตัว MTG หลักเองก็เป็นที่รู้จักเพียงในวงแคบ ๆ เฉพาะผู้ที่เล่นการ์ดตามตัวเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น (เช่น กทม, เชียงใหม่, ชลบุรี) มิได้เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศเหมือนกับการ์ดจากทางญี่ปุ่น และในช่วงนั้นกำลังเป็นยุคทองของเกม MMORPG, MOBA และ FPS ทำให้เกมประเภท TCG อาจไม่เป็นที่รู้จักเลยก็เป็นได้ อีกด้านหนึ่ง การเล่นเกมข้ามประเทศในตอนนั้นก็ยังทำได้ยากอีกด้วย

ในส่วนของตัวเกมเอง เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยการ์ดที่มีมากขึ้นและเกมที่ซับซ้อนมากขึ้น จนเป็นปัญหากับผู้เล่นใหม่ ๆ ทางผู้พัฒนาจึงได้ออก “Magic the Gathering Arena” ขึ้นมาใหม่ในปี 2019 ที่ผ่านมา โดยเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ MTG Online ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เหมาะกับการเล่นและผู้เล่นสมัยใหม่มากขึ้น Magic the Gathering Arena ในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงทดสอบ คาดว่าจะเปิดตัวภายในปีนี้

Magic the Gathering Arena (คาดว่าจะเปิดตัว 2020) ยังคงเป็น MGT เหมือนเดิม แต่เข้าใจได้ง่ายขึ้น ได้เล่นได้ง่ายขึ้น และภาพรวมของเกมดีขึ้น

เกมการ์ดของญี่ปุ่น

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เกมการ์ด Digital ทั้งหลายก็เกิดขึ้นมาอย่างแต่เนื่องทุกปี โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ประเทศที่เริ่มพัฒนาในทุก ๆ ด้านหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งวงการสื่อบันเทิงก็เป็นหนึ่งในนั้น ตลาดเกมในญี่ปุ่นพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ในประเทศที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีจินตนาการ และผู้คนที่ไฝ่หาความสุขจากสิ่งเหล่านั้น นี่จึงเป็นส่วนผสมที่ลงตัวเป็นอย่างมาก เกมการ์ดในช่วง 10 ปีต่อมานั้นจึงมีฐานการพัฒนาส่วนใหญ่จากประเทศนี้

หลังจากที่ Pokémon Trading Card Game และ Yu-Gi-Oh! Duel Monsters ออกมาเป็นสองเกมแรกในปี 1998 ทางค่ายเกมและค่ายการ์ตูนทั้งหลายต่างก็สร้างการ์ดเกมของตนออกมาอย่างพร้อมหน้า โดยมีรายใหญ่คือกลุ่มเกมการ์ดของ Final Fantasy, Dragon Quest และ Pokémon กับ Yu-Gi-Oh! อย่างไรก็ตาม เกมเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่เกม Online อย่างเต็มรูปแบบแต่อย่างใด อย่างมากก็มีเพียงโหมด Mutiplayer ที่สามารถเล่นกันได้ในวงแคบ ๆ เท่านั้น

Pokémon Trading Card Game ของปี 2011

Yu-Gi-Oh! Online: Duel Accelerator (2010)

อีกประการหนึ่ง การเติบโตของการ์ดเกมในญี่ปุ่นนั้นเน้นไปที่ Browser based games, Mobile Game (รวมถึงเครื่องเกมพกพาทั้งหลาย) และ Arcade game ที่มีลูกค้าเป็นผู้เล่นในญี่ปุ่นเองเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การพัฒนานี้ไม่ได้ออกสู่สายตาชาวโลกมากเท่าไหร่นัก แม้แต่รายใหญ่อย่าง Yu-Gi-Oh! ซึ่งกว่าจะมีตัวเกมที่เป็นแบบ Online เต็มรูปแบบ ก็ต้องรอจนถึงปี 2005 ในชื่อ Yu-Gi-Oh! Online ที่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และปิดตัวไปในปี 2012

แต่ Konami ก็ได้พยายามอีกครั้งกับแฟรนไชส์นี้ในตลาดโลก ในปี 2014 Yu-Gi-Oh! Duel Generation ถูกปล่อยออกมา และเป็นเกมการ์ด Yu-Gi-Oh! เกมแรกที่ได้เปิดให้บริการในมือถือนอกประเทศญี่ปุ่น ตัวเกมยังคงรูปแบบการเล่นตามแบบการ์ดจริง และมีโหมดเนื้อเรื่องให้เล่นอีกด้วย ถือเป็นเกม Yu-Gi-Oh! ที่ตรงตามต้นฉบับบมากที่สุดที่เปิดเป็นเกม Online ของการ์ตูนชื่อดังเรื่องนี้

Yu-Gi-Oh! Duel Generation (2014) มีทั้งโหมดเนื้อเรื่อง และโหมด Online ให้เล่นในเกมเดียวกัน ตัวเกมใช้กติกาเหมือนกับการ์ดของจริงทุกประการ

เกมการ์ดกระแสหลัก

ในปี 2016 Yu-Gi-Oh! Duel Links ก็ได้ออกมาเป็นทิศทางใหม่ของซีรี่ส์ โดยมีการลดขนาดของเกมลง ลดความซับซ้อน ปรับ/เพิ่มกติกาใหม่ จนได้กลายเป็นเกมการ์ดมือถือที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกในจนถึงปัจจุบัน สามารถเล่นได้ทั้งในมือถือและ PC ซึ่งในปีที่ผ่านมา Duel Links ก็ได้เป็นหนึ่งในเกมมือถือที่ทำรายได้มากที่สุดของโลกอีกด้วย Dual Link นั้นประสบความสำเร็จมาก จนในตอนนี้ก็มีแพทช์ที่เพิ่มการ์ดใหม่ ๆ เข้ามาไม่ขาดสาย มีการแข่งขัน Esports ระดับนานาชาติทุกปี

Yu-Gi-Oh! Duel Links (2016) คือ Yu-Gi-Oh! ที่ถูกปรับกฏการเล่นใหม่ และได้รับความนิยมมาก

สำหรับในส่วนของ PC เนื่องจากถูกกระแสของเกมแนวอื่น ๆ กลบทับจนมิด ทำให้เกมการ์ด Online ทั้งหลายจรึงแทบไม่มีบทบาทอะไรเลยนับ 10 ปี จนกระทั่ง Blizzard ปล่อย Hearthstone ในปี 2014 ทำให้ผู้คนเริ่มหันกลับมามองเกมการ์ด Online กันอีกครั้ง

Hearthstone มีพื้นฐานมาจากเกมต่าง ๆ ของ Blizzard เอง ทำให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและกว้างขว้าง ทำให้เกมอื่น ๆ ในแบบเดียวกันขึ้นมากมายหลังจากนั้น เช่น Gwent: The Witcher Card Game,  The Elder Scrolls: Legends และ Shadowverse โดยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากข้อมูลของ Superdata ระบุว่า ในปี 2017 เกมการ์ดในตลาดสามารถทำเงินได้รวมกันถึง 1.7 พันล้านเหรียญฯ หรือกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท

Hearthstone (2014) กลายเป็นเกมที่เป็นตัวแทนของ DCCG ยุคใหม่

สิ่งที่ว่ามานี้ ทำให้ Hearthstone ได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานของเกมการ์ด Digital ยุคใหม่ด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้ เกมการ์ดมักจะมีพื้นฐานมากจากการ์ดจริงที่มีอยู่ในโลก เพื่อที่ทางผู้พัฒนาจะได้ขายทั้งสองอย่างพร้อมกัน (เป็นแนวคิดหลักของเกมการ์ดจากทางญี่ปุ่น) เช่น Yu-gi-oh! และ Pokemon ทำให้มีข้อจำกัดหลายอย่างในการพัฒนา Hearthstone คือผู้ที่มาเหนือกฏเหล่านั้น ความสามารถต่าง ๆ ของการ์ด สามารถคิดและทำได้อย่างไม่จำกัด

ยกตัวอย่างเช่น การคำนวนสิ่งที่เป็นตัวเลข ที่พบเห็นมากที่สุดคือค่าพลัง ในเกมการ์ดของจริง ผู้เล่นจะต้องนับคะแนนและเทียบค่าพลังต่าง ๆ กันเอง หรือไม่ก็มีเครื่องมือบางอย่างในการช่วยนับ ทำให้ระบบของการ์ดไม่สามารถวางได้อย่างซับซ้อนมากได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้เล่นโดยไม่จำเป็น แต่ปัญหานี้ไม่มีในเกมแบบ Digital เพราะคอมพิวเตอร์จะเป็นผู้จดจำและคำนวนให้ทั้งหมด นี่จึงเป็นเหตุผลที่ Online Card Game ส่วนใหญ่จะสามารถเล่นได้แค่ในคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมเท่านั้น ไม่สามารถผลิตออกมาเป็นการ์ดจริง ๆ ได้ เพราะความซับซ้อนของมันนั่นเอง  

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ Online Card Game อย่างเช่น Hearthstone ผู้เล่นจะไม่ได้เสียเงินเพื่อซื้อการ์ดโดยตรง แต่จะเป็นการเปิดคอนเทนต์ในเกมเพื่อให้ได้รับการ์ดจากการเล่นแทน ทุกคนสามารถเข้าถึงการ์ดได้ทุกใบอย่างเท่าเทียมกัน (แต่จะเร็วกว่าถ้าเติมเงิน) ไม่จำเป็นต้องเปิดหากันแบบในอดีตอีกต่อไป ตัวเกมยังมาพร้อมกับระบบการเล่นที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนทำให้เล่นได้ทุกเพศทุกวัยด้วย

Hearthstone ยืนหนึ่งในบรรดาเกมการ์ด Online ยุคใหม่ไปหลายปี ภายหลัง Valve จึงส่ง Artifact เกมการ์ด Dota 2 เข้าสู่สนามหวังเทียบชั้นด้วยเกมการเล่นที่ไม่เหมือนใคร พร้อมระบบ Trade ที่ว่ากันว่าจะมาเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้วงการ แต่ก็ตกม้าตายตั้งแต่เริ่มด้วยภาพรวมของเกมที่ไม่ดึงดูดใจ และยังต้องเสียเงินซื้อเกมอีกกว่า 600 บาท โดยมีผู้เล่นไม่ถึง 100 อยู่นานหลายเดือนจนต้องนำกลับไปแก้ใหม่ยกชุดและเตรียมจะกลับมาใหม่ในภา 2.0 ในอนาคต สามารถอ่าน Review: Artifact ของ GamingDose ได้ที่นี่

Artifact (2019) ถือเป็นอีกหนึ่งช้างล้มเบอร์ใหญ่ที่สุดของปีที่ผ่านมา

ในที่สุดหลังจากที่อยู่แบบไร้คนกวนใจนาน Hearthstone ก็ได้พบกับคู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้อเป็นครั้งแรก ด้วยการมาของ League of Runeterra จาก Riot Game ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วใน League of Legends คราวนี้ไม่เหมือนกับ Artifact ผู้ปราชัย LoR มาพร้อมกับการเล่นและคุณภาพกราฟิกที่เหนือชั้น ระบบที่ทำให้เข้าถึงการ์ดทุกใบได้โดยง่ายพร้อมเนื้อเรื่องที่ชวนติดตาม ทำให้ได้รับความสนใจมาตั้งแต่เกมยังไม่เปิดให้บริการ สามารถรับชม Review ของเราได้ที่ Link ด้านล่างนี้

ปัจจุบัน ก็ถือเป็นเรื่องดีของเหล่าแฟน ๆ การ์ดเกม เพราะกระแสของ OCCG กำลังดีขึ้นตามลำดับ ทั้งจากคุณภาพของเกมที่พัฒนาขึ้นมาตลอด และการเสื่อมถอยของเกมกระแสหลักอื่น ๆ อย่าง MOBA และ FPS ทำให้คนเริ่มหันมาสนใจเกมประเภทอื่น ๆ กันมากขึ้น อีกทั้ง ด้วยการที่การ์ดเกมมีลักษณะที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย เล่นได้ทุกวัยและมีส่วนช่วยในการพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ ทำให้ง่ายต่อผู้สนับสนุนที่จะเข้ามาช่วยเหลือทั้งในด้านการพัฒนา และการแข่งขันอย่างในระดับ Esports โดยเฉพาะภาครัฐในหลายประเทศที่ก็เริ่มเปิดโอกาสมากขึ้นกับการแข่งขันเกม ด้วยเหตุนี้ก็คาดว่า ตลาดของการ์ดเกมน่าเติบโตได้มากขึ้นทั้งในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจได้เห็นทัวร์นาเมนต์การ์ดเกมที่มีเงินรางวัลสูงในระดับโลกเทียบชั้นกับ MOBA และ FPS ก็เป็นได้

League of Runeterra (2020) เกมการ์ดที่กำลังมาแรงที่สุดในปัจจุบัน

เกมการ์ดโดยฝีมือคนไทย

ตามที่ได้กริ่นเอาไว้ในช่วงต้น ว่าที่จริงแล้วชาติไทยเราเองก็มีเกมการ์ดออกมาให้เล่นอยู่ตลอดเช่นกัน และทุกเกมก็ล้วนเป็นผลงานชิ้นเอกที่ควรค่าแก่การจดจำทั้งสิ้น จะมีเกมอะไรบ้าง เรามาดูไปพร้อม ๆ กันตามลำดับ

เริ่มแรก กับเกมการ์ด Online ฝีมือคนไทยที่ออกมาก่อนใคร “Arcana Advanced Online” หรือ Arcana Battle Card (ABC) เปิดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี 2005 และได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในช่วงที่ออกมานั้น มีจุดเด่นที่ภาพประกอบสวยที่สดใสต่างกับเกมการ์ดอื่น ๆ พร้อมคำอธิบายภาษาไทยอันเป็นมิตร ระบบการเล่นที่ซับซ้อนแต่ก็เข้าใจได้ไม่ยาก Arcana จึงกลายเป็นเกมไทยเกมแรก ๆ ที่ถือว่าประสบความสำเร็จในช่วงเวลาที่เปิดตัวออกมา

Arcana Advanced Online (2005)

น่าเสียดายที่ Arcana ไปต่อได้ไม่ไกลนัก ด้วยความแรงของ MOBA และ MMORPG ในช่วงนั้นถือว่าเป็นที่สุด เกมการ์ดจึงมีแต่ผู้ที่สนใจอย่างแท้จริงเท่านั้นที่ยังคงเล่นอยู่ Arcana ยุติการพัฒนาไปหลังจากยืนหยัดไปได้กว่า 3 ปี แต่ Digicraft ก็ยังเปิดให้บริการตัวอยู่อีกนานแม้ว่าจะมีผู้เล่นไม่ถึง 10 คน สุดท้าย ทั้งตัวเกมและเว็ปไซต์ก็ได้หายไปจากโลก Online อย่างเงียบ ๆ เหลือไว้เพียงความทรงจำดี ๆ และตำนานการเป็นเกมการ์ด Online เกมแรกของไทยเท่านั้น

หน้าต่างการเล่นของ Arcana Advanced Online

ต่อมาไม่นาน Asiasoft ผู้ให้บริการอันดับ 1 ของไทยในขณะนั้น ได้ร่วมมือกับเกมการ์ดสัญชาติไทยชื่อดังเช่นกันอย่าง Summoner Master เพื่อสร้าง Summoner Master Online ซึ่งถือว่าเป็นที่ฮือฮามากในขณะนั้น เพราะ Summoner Master กำลังเริ่มมีกระแสในประเทศไทยพอดี ตัวเกมเปิดตัวในงาน Summoner Master Grand Open ครั้งที่ 12 ในปี 2008 โดยได้รับความสนใจจากทั้งเหล่า Summoner ที่เล่นเกมการ์ดหลักอยู่แล้ว และผู้คนที่อยากนร่วมสัมผัสกับผลงานของเพื่อนร่วมชาติที่น่าตื่นตานี้ ตัวเกมมีกติกาการเล่นเหมือนต้นฉบับทุกประการ แต่การ์ดบางในจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเกมนี้โดยเฉพาะ และแน่นอนว่าไม่มีขายในโลกแห่งความเป็นจริง จะต้องเล่น Summoner Master Online เท่านั้นถึงจะมีสิทธิเป็นเจ้าของได้

Summoner Master Online (2008)

อย่างไรก็ดี Summoner Master เป็นเกมการ์ดที่มีความซับซ้อนมาก ด้วยเทคโนโลยีและฝีมือด้านการพัฒนาเกมของไทยเราในขณะนั้นจึงยังไม่สามารถสร้างสรรค์ตัวเกมได้อย่างสมบูรณ์ ผู้เล่นรายงานว่ามีบัคและอาการค้างบ่อยครั้ง จนนำไปสู่การปิดปรับปรุงเซิร์ฟเวออีกคราว และในวันหนึ่ง ก็เป็นการประกาศปิด “แบบไม่มีกำหนด” ทั้งตัวเกมและเว็ปไซต์ก็ได้หายไปจากโลก Online แบบเงียบ ๆ เช่นเดียวกับ Arcana Advanced

ปัจจุบัน Summoner Master ยังพอมีความหวังที่จะกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง จากผู้เล่นกลุ่มสุดท้ายที่ยังคงรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น และทางผู้พัฒนายังคงทะยอยปล่อยการ์ดใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง รอเพียงจังหวะเหมาะและการสนับสนุนที่ดี เชื่อว่าเราอาจจะได้เห็นการกลับมาของเกมในตำนานนี้อีกครั้งในอนาคต

รูปภายในเกมของ Summoner Master Online

หลังการจากไปของ Summoner Master Online ในปี 2008 วงการเกมไทยก็แทบไม่มีเกมการ์ดปรากฏตัวออกมาอีกเลยนับสิบปี จนล่วงเข้าสู่ยุคใหม่ของเกมการ์ดที่เริ่มมีการพัฒนากฏและรูปแบบการเล่นที่แปลกใหม่มากขึ้น Commandeer จึงขอปลุกชีพวงการ์ดการ์ดเกมไทยอีกครั้งกับ Commandeer Armament โดย Commandeer ถือว่าเป็นมิติใหม่ของการ์ดเกม ที่มีการนำระบบ Position เพิ่มเข้าเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานของการ์ดเกมที่มักจะมีการเล่นเป็นเส้นตรงมากเกินไป ทำให้ผู้เล่นต้องใช้ทักษะและการคิดวิเคราะห์ที่มากขึ้นกว่าเกมการ์ดอื่น ๆ เพราะตำแหน่งที่ลงการ์ดเข้าไปในสนามนั้นมีผลเป็นอย่างมาก

Commandeer ยังได้นักวาดฝีมือดีชาวไทยมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานหลายคน ทำให้เป็นเหมือนกับแกลลอรี่ขนาดย่อม ๆ ของคนในวงการที่จะได้แสดงฝีมือและผลงานของตัวเอง อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดตัวไปได้ไม่นาน ในวันที่ 1 สิงหาคม 2018 ก็มีการปิดปรับปรุงเซิร์ฟเวอร์ และจนทุกวันนี้ก็ยังไม่เปิดให้บริการอีกครั้งแต่อย่างใด สามารถรับชมรายละเอียดและ Download เกมได้ที่นี่

Commandeer Armament (2018)

เกมเปิดตัวเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในปี 2018 ก่อนที่จะปิดปรับปรุงเซิร์ฟเวอร์มาจนถึงทุกวันนี้ โดยยังสามารถ Download ได้ตามปรกติ

ผ่านไปแล้ว 3 ดับไปแล้ว 1 และน่าเป็นห่วงอีก 2 ดูเหมือนว่าความหวังของวงการการ์ดเกม Online ของไทยจะดูริบหรี่เต็มที แต่ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว ปัจจุบันยังคงมีเกมการ์ดสัญชาติไทยเปิดให้บริการอยู่อย่างน้อย 2 เกม ในแฟลตฟอร์มมือถือที่เข้าถึงได้ทุกคน ได้แก่ KOS Online และ Athenion 

เริ่มจาก KOS Online กันก่อน ที่เปิดตัวเมื่อราว ๆ ปี 2018 เป็นเกมการ์ดที่พื้นฐานคล้ายกับ Chron X คือเป็นเกมการ์ดแนว Sci-fi ที่ดูแตกต่างกับรายอื่น ๆ พอสมควร มีการใช้ระบบ Lane ที่การ์ดสามารถเลื่อนขึ้นลงตามแถวในสนามได้ แต่รูปแบบการเล่นจะยังไม่ลื่นไหลนักเมื่อเทียบกับเกมการ์ดรายอื่น ๆ ในตลาด ตัวเกมมีการอัปเดตล่าสุดเมื่อราว ๆ 8 เดือนที่แล้ว แต่ก็ยังคงสามารถ Download ได้ตาม Store ของแต่ละระบบ โดยใช้ชื่อในการค้นหาว่า “KOS Trading Card Game” และยังคงเล่นได้ตามปรกติ

KOS Online

และแล้วก็มาถึงผลงานล่าสุดของชาติไทยเราอย่าง Athenion ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นเกมการ์ด Online ของไทยที่สมบูรณ์ที่สุดแล้วในขณะนี้ โดยมีลักษณะการเล่นเหมือน Commandeer แต่เข้าใจได้ง่ายกว่า การ์ดต่าง ๆ ถูกวาดขึ้นอย่างสวยงามและมีเสียงพากย์ครบทุกใบ ตัวเกมถูกสร้างเพื่อเปิดบริการในระดับนานาชาติ จึงมีให้เลือกทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ราคาการ์ดในเกมถือว่าสมเหตุสมผลแม้ว่าการได้รับการ์ดจากยากไปบ้าง Meta ของเกมมีความสมดุลเป็นอย่างดี ไม่มี Deck หรือวิธีการเล่นแบบไหนที่ได้เปรียมจนเกินไปจนเกิดความไม่สมดุล สามารถชม Review Athenion ของ GamingDose ได้ที่นี่

Athenion (2019)

แม้ในวันนี้อาจจะไม่ได้พูดถึงเกมจากฝีมือของคนในชาติครบทั้งหมด แต่นี่ก็คือส่วนหนึ่งของการพัฒนาวงการของไทยเรา ที่กำลังเริ่มฉายแสงแห่งความรุ่งเรืองออกมาทีละน้อย การ์ดเกมอาจไม่ใช่แถสหน้าในเวทีนี้ แต่ก็เป็นหนึ่วในผู้ร่วมผลักดันอย่างแข็งขันมาโดยตลอด เพียงแค่เราให้การสนับสนุน โดยไม่ใช่แค่การซื้อหรือเล่นเกมเหล่านี้เพียงอย่างเดียว กำลังใจและแรงพลักดันจากทุกคนก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เรื่องราวของ Card Game มิได้ถูกสร้างขึ้นมาในวันเดียวเช่นไร ความยิ่งใหญ่ของวงการเกมบ้านเราในอนาคตก็คงจะไม่สำเร็จในวันเดียวเช่นกัน ขอเพียงแค่พวกเราก้าวต่อไปด้วยกันจนถึงที่สุด วันแห่งความสำเร็จคงอยู่ไม่ไกลแน่นอน 😀

Pathiphan Tepinta

Back to top