BY StolenHeart
15 Oct 19 12:27 pm

Payday 3 กับความหวังกู้วิกฤติเพียงหนึ่งเดียวของ Starbreeze

14 Views

สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวสารในวงการเกมอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา น่าจะเคยผ่านตากับข่าวของค่ายเกมจากสวีเดน เจ้าของผลงานเกมสวมหน้ากากปล้นถล่มเมือง Payday 2 อย่าง Starbreeze กันอย่างแน่นอน แต่เพราะอะไรที่ทำให้ค่ายผู้พัฒนาเกมที่มีศักยภาพสูงต้องมาพบเจอกับวิกฤติที่ย่ำแย่ขนาดนี้ได้กัน?

ก่อนที่เจะเข้าสู่ประเด็นหลัก เรามาดูกันก่อนว่าพวกเขามีความเป็นมาอย่างไร Starbreeze Studios ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1998 โดยมีคุณ Magnus Högdahl โปรแกรมเมอร์ชาวสวีเดนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและคุ้นเคยกับการสร้าง Tech Demo ของเครื่อง PC แต่ด้วยความต้องการที่จะสร้างเกมแนว Action RPG ขึ้นมาสักชิ้น ทำให้เขาตัดสินใจก่อตั้งบริษัทเกมขึ้นมา แต่ก็มีเหตุหลายอย่างเกิดขึ้นจนต้องยกเลิกการพัฒนาเกมไปหลายโปรเจกต์ด้วยกัน

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาย่อท้อในการสร้างสรรค์ผลงาน ในที่สุดพวกเขาก็สามรถวางจำหน่ายเกมแนววางแผนการรบอย่าง The Outforce ได้สำเร็จในปี 2000 แต่เริ่มมาโด่งดังจริง ๆ ก็คือเกม The Chronicle of Riddick: Escape From Butcher Bay ที่อิงมาจากภาพยนตร์ชื่อดังและนำแสดงโดย Vin Dissel ซึ่งมันเป็นเกมที่มีการออกแบบฉาก ระบบต่อสู้ได้สนุกลงตัวมากเกมหนึ่ง แม้จะขายได้ไม่มากเมื่อเทียบกับเกมระดับตำนานอื่น ๆ แต่ก็กวาดคะแนนและรางวัลจากสื่อเกมไปไม่น้อยเช่นกัน

The Chronicle of Riddick: Escape From Butcher Bay เกมแอคชั่นจากหนังดังที่เริ่มสร้างชื่อให้กับ Starbreeze

ด้วยผลงานเกมที่ทำออกมาได้ดีขนาดนี้ ทำให้ชื่อของพวกเขาเริ่มเป็นที่จับตามองกับค่ายผู้จัดจำหน่ายเกมอื่น ๆ เช่น EA ที่ให้พวกเขาเป็นผู้สร้าง Syndicate เกม FPS ที่ดัดแปลงจากเกมวางแผนสุดคลาสสิก และภาคต่อของ Riddick ในชื่อ Assault on Dark Athena ในเวลาต่อมา แต่น่าเสียดายที่ผลงานเกมทั้งสองชิ้นนั้นกลับไม่เข้าตาผู้เล่นและสื่อเกมนัก จนดูเหมือนว่าพวกเขากำลังจะประสบชะตากรรมที่ย่ำแย่ในการพัฒนาเกมอีกครั้ง

แต่โชคก็ยังเข้าข้างพวกเขา เพราะในปี 2013 พวกเขาได้ซื้อบริษัทและทีมงาน Overkill Software ผู้พัฒนา Payday: The Heist มาเป็นบริษัทลูกของพวกเขา ซึ่งผลงานของสองพี่น้อง Anderson และ Simon Viklund นี้ก็สร้างความประทับใจให้กับผู้เล่นพอสมควร ด้วยการปล้นอันสุดระทึก เหล่าตำรวจที่มีวิธีการต่อกรแตกต่างกัน และต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมเพื่อบรรลุเป้าหมาย ทำให้ตัวเกมได้รับความนิยมในกลุ่มผู้เล่นที่ชื่นชอบเกมที่เล่นกับเพื่อนแบบ Co-op มากขึ้น

และแม้ในตอนแรกทาง Overkill คิดจะสร้างภาคต่อของเกมอยู่แล้ว แต่ก็ติดปัญหาในเรื่องของเงินทุนในการพัฒนา จนทำให้ทาง Starbreeze เข้ามาช่วยอุ้มเรื่องเงินของพวกเขา พร้อมยกให้ 505 Games เป็นผู้จัดจำหน่าย เพื่อให้โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นมาสร้างตำนานต่อไป

และหลังการวางจำหน่ายของ Payday 2 มันก็กลายเป็นยุคทองของทั้ง Overkill และ Starbreeze ไปในทันที

ด้วยความสนุกของเกมที่มีการออกแบบและแก้ไขให้ดีขึ้นในทุกปี วางเนื้อเรื่องที่เข้มข้นน่าติดตามและใช้ดาราชื่อดังมาดึงดูดผู้เล่น รวมไปถึงการอัพเดตที่ต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เล่นที่สนใจเข้ามาลองเล่นแล้วติดหนึบอย่างมากมายจนถึงเวลานี้ และเคยทำยอดผู้เล่นถึงช่วงพีคสูงสุดไปได้ถึง 247,000 คน เรียกว่าเป็นเกม Co-op ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเกมหนึ่งในยุคนี้เลยทีเดียว

จากความสำเร็จนี้ทำให้หลายคนเริ่มจับตามองทั้ง Starbreeze และ Overkill ทันที ว่าผลงานต่อไปของพวกเขานั้นจะเฉิดฉายได้ขนาดไหน ซึ่งเมื่อมีการประกาศว่า พวกเขากำลังพัฒนาเกมที่อิงมาจากซีรีส์และการ์ตูนคอมิกส์ชื่อดังอย่าง The Walking Dead ก็ยิ่งทำให้ความคาดหวังของแฟนเกมพุ่งทะยานขึ้นไปอีก

อนิจจาที่ทุกอย่างไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะหลังการวางจำหน่ายของ Overkill: The Walking Dead ทุกอย่างก็ดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็ว

Overkill: The Walking Dead ได้รับคะแนนวิจารณ์ไปในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานเพียง 5/10 คะแนน ทุกอย่างในเกมพยายามทำให้เหมือนกับ Payday 2 ที่มีการแทรกภารกิจต่อกรกับเหล่า Walker และมนุษย์ในเกม แต่ความสนุกนั้นเทียบไม่ติดเลยกับเกมอื่น ๆ ในตลาด รวมไปถึงการออกแบบที่ตกยุค จนทำให้ชื่อของ The Walking Dead ต้องมองมัว แย่ทั้งตัวเกมและยอดขายจนแทบจะกู้หน้าคืนกลับมาไม่ได้เลย

OVERKILL's The Walking Deadแน่นอนว่าความล้มเหลวของ The Walking Dead เพียงเกมเดียวก็เพียงพอให้ Starbreeze ต้องระส่ำระสาย ราคาหุ้นตกระนาว และหลังจากนั้นไม่นานทาง Skybound เจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริงของซีรีส์ก็ประกาศแยกทางกับ Overkill และ Starbreeze เพราะตัวเกมทำมาตรฐานไปได้ไม่ถึงที่คาดหวังเอาไว้ และการพัฒนาเกมในเวอร์ชั่นคอนโซลเองก็ถูกระงับไปด้วย

หลังสูญเสียความเชื่อมั่นไปกับเกมเพียงเกมเดียว คราวเคราะห์ของ Starbreeze ก็ยังไม่หมดลงเพียงเท่านั้น เพราะคราวนี้ฐานะทางการเงินของบริษัทที่ลงทนลงแรงไปกับ The Walking Dead นั้นแทบไม่ได้รับกลับคืนมาเลย จนทำให้โปรเจกต์ที่จะวางจำหน่ายเกมให้กับผู้พัฒนาอื่น ๆ เช่น System Shock 3 ต้องถูกยกเลิกไป เกมหลายเกมที่กำลังจะพัฒนาก็ต้องถูกพักไว้ เพราะขาดทุนอย่างหนัก ยกเว้นแกมเพียงเกมเดียว

เกมนั้นก็คือ Payday 3 นั่นเอง

เพราะอะไรถึงเป็น Payday 3? เรื่องนี้ก็สามารถตอบได้ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เพราะ Payday 2 คือเกมที่ทำรายได้ให้กับบริษัทได้มากที่สุดนั่นเอง ไม่ว่ารายได้จากการขายส่วนเสริมของเกมที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง หรือตัวเกมในช่วงลดราคาตามเทศกาลก็ขายได้ดีมาตลอด และพอเมื่อเนื้อเรื่องการสนับสนุนตัวเกมภาคสองจบลง การนำภาคต่อของเกมที่ได้รับความนิยมมาทำจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

ถ้าหากตามข่าวในช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับ Starbreeze เราจะเห็นได้ว่าพวกเขาพูดถึง Payday 3 บ่อยมาก จนถึงขนาดที่ว่าเกมอื่น ๆ ที่พวกเขาเคยให้การสนับสนุนหรือเคยทำมาไม่เคยอยู่ในซีนเลยสักครั้ง เรียกว่าน่าจะเป็นไพ่ตายใบสุดท้ายแล้วสำหรับพวกเขาที่พร้อมจะทุ่มเทเดิมพันทุกอย่างลงไปเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์ทางการเงินที่ย่ำแย่ขนาดนี้ได้

แต่ถ้าลองมองในมุมของผู้พัฒนา เราก็พอจะเข้าใจได้ว่า Starbreeze เองนั้นก็แทบไม่เหลือเกมอื่นที่มีชื่อพออยู่ในมือเลยนอกจาก Payday การสร้างภาคต่อเพื่อโกยเงินกลับมากู้วิกฤติจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ทว่าเกมภาคต่อนั้นย่อมตามมาพร้อมกับความคาดหวังของแฟนเกมที่สูงขึ้นตามลำดับแน่นอนอยู่แล้ว และถ้าคราวนี้พังอีก ก็คงไม่เหลือโอกาสใด ๆ ให้พวกเขาได้แก้ตัวอีกแน่นอน

สุดท้ายนี้ เราก็ยังไม่รู้ว่า Payday 3 จะมีหน้าตาอย่างไร ยังคงระบบการเล่นเดิมไว้หรือไม่จนกว่าจะถึงปี 2022 หรือ 2023 ที่เป็นกำหนดการวางจำหน่ายคร่าว ๆ ของเกมในอนาคตเท่านั้น แต่เชื่อว่าทั้ง Starbreeze และ Overkill คงต้องทุ่มสุดตัวเพื่อสร้างผลงานเกมที่ยอดเยี่ยมออกมาให้ได้ ไม่ใช่เพียงแค่การกู้ชื่อเสียงกลับมาเท่านั้น

เพราะถ้าคราวนี้พลาดอีก พวกเขาก็จะไม่มีการแก้ตัวอีกต่อไปแล้วนั่นเองครับ

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top