เข้าใจและรับมือกับ “Motion Sickness” ศัตรูตัวฉกาจสำหรับเกมเมอร์ทุกคนต้องเผชิญหน้า
“ผมไม่เล่นเกมพวกเดินยิงอย่าง Counter-Strike เพราะเล่นทุกครั้งก็รู้สึกคลื่นไส้ทุกครั้งเลย“
“มีวิธีเล่นเกม Battlefield ได้นาน ๆ ไหมครับ ผมเล่นแค่ 15 ก็ไม่ไหวล่ะ ปวดหัวมากครับ (;w;)“
“เราเล่นเกมพวกมุมกล้อง TPS ไม่มีปัญหา เเต่พอเล่น FPS ล่ะก็เป็นเรื่องขึ้นมาทันที“
ปัญหาโลกแตกสำหรับผู้เล่นหน้าใหม่หน้าเก่าทุกคน สำหรับผู้เล่นที่ต้องการจะเล่นเกมเป็นเวลานาน ๆ นั่งติดเก้าอี้ถึง 2-3 ชั่วโมง หรือจะลองเล่นเกมประเภทใหม่ ๆ เกมที่ดี เกมที่หลายคนแนะนำ แต่ทว่าแทนที่จะได้ประสบการณ์ดี ๆ สมกับกระแส สมกับราคา สมกับคุณภาพ แต่สำหรับผู้เล่นบางคนกลับได้ประสบการณ์ที่เลวร้ายแทนใน 20 – 30 นาทีต่อมาจากการเล่น ด้วยอาการปวดหัว คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ถ้าหนักสุด ๆ ถึงขั้นอาเจียน ก็มีมาแล้ว หลังจากนั้นคุณก็ไม่กล้าจะเล่นเกม สัญญาเลยว่าจะไม่แตะเกมประเภทนี้อีกเด็ดขาด บางคนตั้งข้อสงสัยว่าทำไมบางผู้เล่นถึงเล่นได้ไม่มีปัญหา ทำไมไม่อาการดังนี้ แล้วเกิดคำถาม คำบอกเล่ายอดฮิตในกลุ่มเพื่อน ๆ อย่างที่กล่าวมาทั้งหมด
เข้าใจ Motion Sickness จากการเล่นวีดีโอเกม
Motion Sickness หรืออาการป่วยจากการเคลื่อนไหว เป็นอาการที่เกิดจากระบบการทรงตัวของร่างกายและสมองของคนเราไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จนเกิดเป็นอาการ หรือใคร ๆ ก็เรียกกันว่าอาการเมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน หรือเมายานพาหนะอื่น ๆ เเต่มันเกิดกับวีดีโอเกมได้อย่างไร ? คุณต้องเข้าใจก่อนว่า อาการ Motion Sickness จากการเล่นวีดีโอเกม สามารถเกิดขึ้นได้ทุกคนเพียงแต่บางคนเป็นน้อยบางคนเป็นหนัก อาจจะขึ้นกับความเคยชินของผู้เล่นที่เล่นเกมประเภทนี้มานานแล้ว หรือขึ้นอยู่กับระบบมุมกล้องของเกมที่ทำมาได้ลื่นไหลแค่ไหน เช่น ถ้าคุณเล่นเกมประเภท MOBA หรือประเภทเกมวางแผนการรบ ที่มุมกล้องส่วนมากจะเป็น Bird Eye View อาจจะไม่ส่งกระทบต่อสายตาเท่าไหร่นัก แต่ถ้าเล่นเกมประเภทมุมมองบุคคลที่สามอย่าง Resident Evil 4 หรือ Tomb Raider ผลลัพธ์คือสามารถเล่นได้ทั้ง 2 เกม แต่สำหรับเกม Tomb Raider เกมที่มีมุมกล้องที่ผาดโผน มีกล้องสั่นบ้างตามอีเว้นต์ในเกม คุณอาจจะรู้สึกปวดหัวเล็กน้อย หลังจากเล่นไปแล้ว 3 ชั่วโมง เเต่อาการ Motion Sickness มักจะเกิดขึ้นสำหรับเกมประเภท First-Person Shooting มากที่สุด (หรือถ้ามีเกมประเภทอื่น ๆ ก็บอกต่อได้นะครับ)
เกมประเภทมุมมองบุคคลที่หนึ่งเป็นมุมมองแบบใช้สายตามนุษย์ เราควบคุมสายตาตัวละครโดยการมองซ้ายขวาบนล่าง ไม่เหมือนบุคคลที่สามที่จะควบคุมมุมกล้องจากเกม ในขณะที่ผู้เล่นนั่งโซฟาหรือนั่งเก้าอี้เพ็งเล็งหน้าจอนิ่ง ๆ เเล้วลองตัดภาพในหน้าจอที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา เปรียบเสมือนนั่งนิ่ง ๆ ในเรือส่ายไปส่ายมา ก่อให้เกิดอาการ Motion Sickness ในที่สุด เพราะเกม FPS ที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว มีไหวพริบ กับการสังเกตมากเป็นพิเศษ จึงไม่แปลกใจที่พอมาเล่นเกมประเภทมุมมองบุคคลหนึ่งไม่ว่าจะเกมไหน เล่นได้เพียงแค่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ปวดหัวจะอ้วกแตกหมดทุกเกม !
รับมือ Motion Sickness ยังไง ?
วิธีที่รับมืออาการ Motion Sickness ในวีดีโอเกม สามารถทำได้หลากหลายวิธี ตั้งแต่วิธีง่าย ๆ พื้นฐาน หรือรวมถึงการปรับเเต่งตัวเกมเพื่อให้การเล่นเกมราบลื่น เล่นได้นานยิ่งขึ้น
เล่นออกห่างจากหน้าจอ เปิดไฟในห้องให้สว่าง ปรับความสว่างหน้าจอให้พอดีตา
เป็นวิธีเบสิคที่สุด พ่อแม่สั่งสอนมาตั้งแต่ผู้เล่นยังวัยเด็ก เดิมทีการดูใกล้โทรทัศน์ เเละดูในที่มืดส่งผลเสียต่อสายตาเราโดยตรงอยู่แล้ว พอมาเล่นเป็นวีดีโอเกมนอกจากไม่ได้ทำให้สายตาเสียอย่างเดียว เพราะเราเล่นเกมจริงจังจนเราเผลอเพ่งเล็งเกือบจะติดหน้าจออยู่เสมอ จึงมาพร้อมพ่วงกับอาการเวียนหัว คลื่นไส้ ได้ เพราะฉะนั้นการเล่นเกมในการรักษาระยะห่างระหว่างหน้าจอเป็นสิ่งที่ต้องทำ เป็นไปได้ปรับความสว่างหน้าจอให้อยู่ระดับที่พอดี จะเป็นการช่วยไม่ให้คุณรู้สึกล้าตาระหว่างเล่นอีกด้วย
ลดคุณภาพกราฟิก ปิดเอฟเฟคบางส่วน
เกมที่ไม่ลื่นไหล สร้างความปวดหัวปวดตาให้แก่ผู้เล่นอยู่เสมอ อาจจะต้องลองปรับลดคุณภาพกราฟิกเพื่อให้เกมสามารถประมวลผลได้ราว 30 FPS หรือประมาณ 50-60 FPS ให้ตลอดเวลา (ขึ้นอยู่กับสไตล์การเล่น และคุณภาพฮาร์ดแวร์) รวมถึงปิดเอฟเฟคบางชนิดที่ส่งกระทบต่อสายตาของเรา โดยเฉพาะ Motion Blur หรือแสง Lens Flare เพื่อให้การเล่นเกมรู้สึกสบายตาที่สุด
ปรับค่า FoV (Field of View) กับ Sensitivity ตามความเหมาะสม
มุมมองชีวิตจริงของเราไม่ได้จำกัดในวงแคบเหมือนในเกม การปรับค่า Field of View เป็นการตั้งค่ามุมมองความกว้างในเกม ยิ่งตั้งค่าเยอะมุมมองก็จะยิ่งกว้างขึ้น ทำให้การมองของเราจะไม่ได้มองโฟกัสอยู่ที่ตรงกลางตลอดเวลา รวมถึงไม่ต้องเคลื่อนไหวขยับเม้าส์ อนาล็อก เกินควร การปรับตั้งค่า Sensitivity จึงเป็นของคู่คอมกับการปรับ FoV เพราะนอกจากมุมมองกว้างขึ้น เคลื่อนไหวก็น้อยลง จึงเป็นวิธีที่พิชิต Motion Sickness ที่ได้ผลที่ดีมาก
ไม่ควรเล่นเกมทันที หลังจากมื้ออาหาร
คงไม่มีใครอยากจะอาเจียนหลังจากกินอาหารมื้ออร่อย ๆ แล้วเสียมันไปเพียงเแค่เล่นเกมหรอก แนะนำควรหลีกเลี่ยงการเล่นเกมที่จะเสี่ยงต่ออาการ Motion Sickness หลังทานอาหาร เเนะนำก่อนเล่นเกมควรไปดูหนัง ฟังเพลง เล่นเว็บ ซัก 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ให้ท้องโล่งซะก่อน แล้วค่อยกลับมาเล่นใหม่จะดีกว่า
เมื่อมีอาการ อย่าฝืน ให้ปล่อยวาง ออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ข้างนอก ยืดเนื้อยืดตัวบ้าง
การสร้างความเคยชินต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่สามารถปรับตัวได้ทันที เมื่อมีอาการ Motion Sickness ไม่ควรฝืนร่างกายของตนเองมากเกินไป พักจากการเล่นเกมแล้วปล่อยวาง ยืดเส้นยืดสาย ใช้ยาดม ดีที่สุดคือออกนอกบ้านสูดอากาศบริสุทธิ์ หรือหลับตาก็ดีนั่งสมาธิได้ เมื่ออาการดีขึ้นก็กลับมาเล่นเกมอีกทีก็ไม่สาย
นี่เป็นวิธีหลักที่ผู้เล่นส่วนมากรวมถึงตัวผู้เขียนเอง ใช้ในการพิชิตอาการ Motion Sickness จากวีดีโอเกมได้ไม่ว่ามากก็น้อย ถึงแม้จะไม่สามารถแก้อาการป่วยให้หายขาด แต่แลกกับความสามารถเล่นเกมได้นานขึ้น สร้างความชิน จนสามารถเล่นเกมประเภทต่าง ๆ ไม่จำกัดประเภทได้โดยไม่เสียสุขภาพก็คุ้มค่าเเล้ว หากใครมีวิธีบรรเทาอาการ Motion Sickness ในขณะเล่นเกม ก็สามารถคอมเม้นต์ด้านล่างร่วมเแชร์วิธีรักษาต่าง ๆ กันได้นะครับ