ผ่านมาแล้ว 1 ปีหลังจากที่ PlayStation 5 วางจำหน่าย ซึ่งแม้ว่าจะมีการผลิตออกมาแล้วอีกหลายล็อต แต่ปัจจุบันตัวเครื่องก็ยังไม่เพียงพอสำหรับเกมเมอร์ทั่วโลกอยู่ดี
ทั้งนี้บางคนก็ยังอาจจะสงสัยว่านอกจากชิปเซ็ตที่แรงขึ้น และได้ SSD มาช่วยให้โหลดไวขึ้นแล้ว เทคโนโลยีอื่น ๆ ของ PlayStation 5 มันดีจริงหรือเปล่า ? ไม่ว่าจะเป็นการสั่นของจอย DualSense ก็ดี ระบบเสียง 3 มิติก็ดี ตลอด 1 ปีมานี้มีเกมไหนได้เอาออกมาใช้เต็มที่บ้างหรือยัง หรือจะเป็นแค่ฟีเจอร์ ‘Nice to have’ ที่ท้ายสุดแล้วชาวเกมก็ไม่ได้ต้องการมันจริง ๆ
ด้วยเหตุนี้เราเลยขอหยิบเอา Ratchet & Clank: Rift Apart ขึ้นมาชำแหละฟีเจอร์กันสักหนึ่งวาระ เพื่อดูว่าลูกเล่นที่ Sony ใส่เข้ามากับคอนโซลแห่งยุคตัวนี้ มันจะทำงานได้เต็มที่มากน้อยเพียงใด
สำหรับ Ratchet & Clank: Rift Apart ถือเป็นอีกหนึ่งพระเอกของงานเปิดตัว PlayStation 5 ที่ทำให้เราได้เห็นศักยภาพการโหลดอย่างรวดเร็วของ SSD ในเครื่องเป็นครั้งแรก ซึ่งต่อมาเมื่อตัวเกมออกวางจำหน่ายจริง ก็มีโหมด Performance RT อัปเดตเพิ่มเข้ามาในแพทช์ Day One เพื่อทำให้ผู้เล่นได้สัมผัสกับประสบการณ์ของเกม Next-gen กันไปอีกระดับ
Ray Tracing ของเกมนี้สามารถทำงานได้อย่างน่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของเงาสะท้อน รวมไปถึงการแสดงทิศทางของแสงโดยรวมก็จัดอยู่ในระดับน่าพึงพอใจ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแลกกับความละเอียดจอที่จะเหลือเพียง 1080p – 1440p เท่านั้น
แสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วประสิทธิภาพตัวฮาร์ดแวร์ก็ยังมีอยู่จำกัด และหลาย ๆ เกมบน PlayStation 5 ก็จะมาในลักษณะเดียวกันทั้งสิ้น คือเราจะต้องเลือกระหว่างกราฟิกที่สวยงาม, เฟรมเรตที่ลื่นไหล หรือความละเอียด 4K ซึ่ง 3 สิ่งนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกัน
อย่างต่อมาก็คือฟีเจอร์ของจอย DualSense, ตรงส่วนนี้เป็นความโดดเด่นที่สุดซึ่ง Ratchet & Clank: Rift Apart ทำได้อย่างแทบไม่มีที่ติ เพราะ Adaptive Trigger ที่เป็นการใส่แรงต้านให้ปุ่ม L2 และ R2 ก็สอดรับกับปืนต่าง ๆ ในเกมได้ดี บางปืนที่ยิงรัว ๆ ตัวปุ่มก็จะสั่นได้ตรงกับจังหวะปืน ขณะที่ลูกเล่น Haptic Feedback ก็ถูกดึงเอามาใช้กับหลาย ๆ องค์ประกอบของเกมแบบเต็มเหนี่ยว ไม่ใช่แค่ระหว่างการยิงปืนเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนที่ด้วยเท้าไอพ่น, ในคัทซีนตอนที่ยานอวกาศกำลังบิน หรือแม้แต่หน้าเมนูของเกม ตัวจอย DualSense ก็จะสั่นสะใจจนสะเทือนมาได้ถึงข้อมือเลยทีเดียว
อีกจุดหนึ่งที่น่าประทับใจมาก ก็คือการใช้เสียงจากลำโพงในจอย DualSense เพื่อบอกว่าเรากำลังหยิบปืนอะไรขึ้นมาใช้, ในหลาย ๆ ปืนจะมีเอฟเฟคต์เฉพาะเป็นของตัวเอง เช่นเวลาเรากดชาร์จปืน Pixelizer ค้างไว้ ก็จะมีเสียงเพลงธีมหลักของเกมในเวอร์ชัน Chiptune (8-bit) เล่นออกมาที่ตัวจอยแบบเก๋ ๆ ภาพรวมที่ออกมา เลยกลายเป็นว่าปืน “ทุกกระบอก” ในเกมจะมีการดึงเอาลูกเล่นของจอย DualSense ออกมาใช้งานอย่างแตกต่างกัน สร้างอรรถรสใหม่ให้กับการยิงปืนได้แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน…. และก็ทำให้แบตฯ จอยหมดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วยเหมือนกัน
หนึ่งสิ่งที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป ก็คือระบบเสียง Tempest 3D Audio ของ PlayStation 5 โดยทาง Sony เคลมว่าเป็นระบบที่ทำให้ผู้เล่นสามารถจำแนกทิศทางของเสียงได้แบบ 360 องศา ซึ่งจากการทดสอบด้วยหูฟัง Pulse 3D ของทาง PlayStation เอง ก็ต้องบอกว่ามันไม่ได้ชวนให้รู้สึกถึงความเซอร์ราวด์มากขนาดนั้น ส่วนหนึ่งก็อาจจะเพราะว่าเกมนี้ไม่มีฉากที่จะโชว์ความล้ำของระบบเสียงออกมานัก ขณะที่อีกเกม Exclusive อย่าง Demon’s Souls นั้นดูจะปรับแต่งเสียงมาดีกว่า แต่โดยภาพรวมแล้วก็ถือว่า Tempest 3D Audio ของ PlayStation ยังตามหลังเจ้าตลาดอย่าง Dolby Atmos อยู่พอสมควร
ปิดท้ายกันด้วยประสิทธิภาพการโหลดอันรวดเร็วของ SSD ซึ่งก็ต้องบอกว่านี่คือจุดที่หายห่วงที่สุดเลยสำหรับ PlayStation 5 เพราะถึงมันจะไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่ SSD ที่ Sony ให้ติดเครื่องมานั้นก็ถือว่าเป็นตัวที่มีคุณภาพดีเยี่ยม ขนาดที่เคยมีผลทดสอบออกมาว่าทำผลลัพธ์ได้ใกล้เคียงกันกับ Samsung 980 Pro เลยทีเดียว
โดยรวมแล้ว ฟีเจอร์ทั้งหมดของ PlayStation 5 ก็ถูกนำมาใช้งานได้อย่างคุ้มค่าน่าพอใจกับ Ratchet & Clank: Rift Apart และทำให้นี่คืออีกหนึ่งเหตุผลหลัก ที่จะแนะนำให้ใครสักคนหนึ่งได้ลองเล่นเกมนี้ เพราะอย่างน้อยมันก็คือ Tech Demo ระดับย่อม ๆ ที่จะทำให้ผู้ใช้ PlayStation 5 มือใหม่ได้ลองฟีเจอร์ของเครื่องกับเกมจริง ๆ
จะมีด้อยกว่าเกมที่ติดมากับเครื่องอย่าง Astro’s Playroom อยู่บ้าง ก็แค่ฟีเจอร์การสั่งงานผ่านไมค์ (เป่าลมเข้าไปที่จอย) เท่านั้น ที่ Ratchet & Clank: Rift Apart ไม่ได้มีมาให้
นอกเหนือจากการดึงเอาประสิทธิภาพของ PlayStation 5 ออกมาใช้อย่างเต็มที่แล้ว Ratchet & Clank: Rift Apart ก็เป็นตัวเลือกที่ดีมาก ๆ สำหรับการนำมาทดสอบกับหน้าจอหรือทีวี เพราะบอกเลยว่าเกมนี้ถูกปรับจูนมาให้แสดงผลสีสันได้อย่างสวยสดงดงาม อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนฉากอย่างรวดเร็ว เป็นจุดวัดใจว่าเมื่อต้องเปลี่ยนภาพจากมืดไปสว่าง หรือเปลี่ยนจากฉากโทนม่วงเป็นโทนสีอื่นแล้ว ตัวหน้าจอจะสามารถตอบสนองต่อการแสดงผลได้ดีและถูกต้องแม่นยำเพียงใด
แม้ว่าลูกเล่นของฮาร์ดแวร์ จะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ตัวเกมสนุก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ทำให้นักพัฒนาเกมได้ใส่ไอเดียความสร้างสรรรค์ลงไป ซึ่งก็ต้องรอดูกันว่าหลังจากนี้ จะมีเกมไหนที่ขึ้นมาท้าชนกับ Ratchet & Clank: Rift Apart ในแง่การใช้ประโยชน์จาก “ความเป็น Exclusive” อย่างคุ้มค่าได้อีกในอนาคต