BY KKMTC
13 Nov 20 6:38 pm

Plug & Play Game เครื่องเกมในรูปแบบจอย ที่เคยเป็นกระแสในยุค ’90

61 Views

เครื่องเกมคอนโซล Plug & Play Game เคยเป็นที่พูดถึงบ่อยสำหรับเด็กยุค ’90 และ ’00 เพราะต้องมีสักครั้งนึงที่พ่อแม่ซื้อเครื่องเกมเหล่านี้เป็นของขวัญวันเกิด ซึ่งขัดกับความใฝ่ฝันของเด็ก ๆ ที่ต้องการเครื่อง PlayStation ซะมากกว่า

มารู้กับ Plug & Play Game เครื่องเกมในรูปแบบจอย ที่เคยเป็นกระแสในยุค ’90 แล้วจะเป็นอย่างไร สามารถรับชมได้เลย

Plug & Play Game คืออะไร

Plug & Play Game (หรือมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า TV Game หรือ Handheld TV Game) เป็นรูปแบบเครื่องเกมคอนโซลอย่างหนึ่ง ที่เคยได้รับความนิยมช่วงปี ’90s ซึ่งเครื่องเกมดังกล่าวมีจุดเด่นที่ “ตัวคอนโทรลเลอร์ คือเครื่องเกมคอนโซล” เพราะส่วนประกอบการทำงานทั้งหมดอยู่ในจอย เพียงแค่เสียบสายคอนโทรลเลอร์ (ซึ่งเป็นพอร์ต AV) หลังโทรทัศน์ และใส่ถ่านแบตเตอรี่ เพียงเท่านี้ก็พร้อมสามารถเล่นได้ทันที

ด้วยเครื่องเกมมีขนาดเล็ก ขายราคาถูก และเกมส่วนใหญ่มักมาเป็นรูปแบบ “XXX in 1” สามารถเล่นได้หลายเกม ทำให้เครื่องคอนโซล Plug & Play Game เคยรับความนิยมช่วงหนึ่ง ก่อนนี้กระแสจะหายไปในช่วงกลางปี 2000

ทำไม Plug & Play Game จึงเคยได้รับความนิยม

ย้อนกลับไปสมัยกลางปี 1990 ถึงปี 2000 ตอนนั้นเครื่องเกมคอนโซลเริ่มมีตัวเลือกน้อยลง เพราะบริษัทเกมใหญ่ทยอยปิดตัวลง หรือไม่ทำตลาดเครื่องเกมคอนโซลอีกต่อไป, ต้นทุนการผลิตเครื่องคอนโซลถูกขึ้น, เกมดังในอดีตเริ่มหาเล่นยาก กลายเป็นสินค้าหายากมีมูลค่าสูง และที่สำคัญที่สุด รถยนต์ที่มีโทรทัศน์สำหรับรับชมทีวี เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น

ด้วยกระแสดังกล่าว ทำให้ทีมพัฒนาเกมปริศนาที่ไม่มีการเปิดเผยตัวตนชัดเจน ได้สร้างเครื่องคอนโซลขนาดเล็กอย่าง “TV Play” ซึ่งว่ากันว่าเป็นเครื่องเกม Plug & Play Game เป็นที่รู้จักอย่างล้นหลามในอังกฤษ และยุโรป เพราะจัดจำหน่ายในหลายบริษัทอย่าง Systema, Akor และ NICS เป็นต้น

TV Boy

TV Play มีส่วนประกอบใช้ 512KB ROM มีเกมให้เล่นทั้งหมด 127 เกม (127 in 1) โดยเกมทั้งหมดนำมาจากเกมค่าย Atari, Activision และ Mattel จากเครื่องคอนโซล Atari 2600 ซึ่งถูกแฮกเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนตัวละคร และเปลี่ยนเพลงประกอบ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวรสอบลิขสิทธิ์ เช่นเกม Donkey Kong เปลี่ยนชื่อเป็น Mad Kong หรือเกม Superman เปลี่ยนชื่อเป็น The Flying Man เป็นต้น

เพียงเท่านี้ เกมเมอร์น่าจะทราบแล้วว่า TV Play (รวมถึงเครื่องเกม Plug & Play Game ส่วนใหญ่) เป็นเครื่องเกมผิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากเกมรันด้วยโปรแกรม Emulator แถมเครื่องเกมมีคุณภาพต่ำทั้งด้านวัสดุไม่ทนทาน เมนูเขียนภาษาอังกฤษผิด (ทั้งจงใจและไม่ได้ตั้งใจ) และเกมส่วนใหญ่เป็นเกมโคลนลอกเลียนแบบจากเกมอื่น หรือถูกดัดแปลงจากต้นฉบับ แน่นอนว่าประสบการณ์การเล่นเกมเครื่องนี้ ต้องไม่เป็นที่น่าพึงพอใจแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก TV Play มีราคาถูกกว่าเครื่อง PlayStation, Nintendo N64 และ SEGA Saturn หลายเท่า ผู้ปกครองหลายคนซึ่งไม่มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องเกมคอนโซล จึงเลือกซื้อ TV Play เป็นของขวัญคริสมาสต์ให้กับเด็ก ๆ อย่างพวกเรา ที่งอแงอยากให้พ่อแม่ซื้อเครื่องเกมมาเล่นที่บ้านมาโดยตลอด

ซึ่งแน่นอนว่าพวกเราบางส่วน ถูกล้างสมองเนื่องจากความไร้เดียงสา มองว่า Plug & Play Game เป็นเครื่องเกมคอนโซลที่ดีกว่า PlayStation หรือ Nintendo N64 เพราะเกมดังกล่าว มีความสนุกสนานในฉบับเกมคลาสสิก และมีเกมให้เลือกเล่นหลากหลายมากกว่า 1 เกมขึ้นไป

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้กระแสเครื่อง Plug & Play Game เริ่มเป็นที่รู้จัก และส่งผลทำให้ทีมพัฒนาและตัวแทนจำหน่ายเกมชื่อดังหลายแห่ง ได้ผลิตเครื่องเกม Plug & Play แบบออฟฟิเชียลเป็นของตัวเอง เพื่อเจาะตลาดอีกกลุ่มหนึ่ง โดยเครื่องเกม Plug & Play แบบ Official ที่โด่งดังมี Toymax Activision 10-in-1 และ Techno Source Activision 10 In 1 โดยเกมทั้งสองเครื่องเป็นเกมสิขสิทธิ์ถูกต้อง

Techno Source Activision 10 In 1

นอกจากนี้ บริษัทสื่อเอนเตอร์เทนต์ เริ่มมีการจ้างโรงงานผลิตของเล่นโดย Third-Party เพื่อผลิตเครื่องเกม Plug & Play Game เช่น SpongeBob SquarePants TV Video Game Plug’ N Play และ Marvel’s Spider-Man ผลิตโดยบริษัท Jakks Pacific Inc.

จนกระทั่งช่วงกลางปี 2005 เครื่องเกม Plug & Play Game ได้รับความนิยมลดลง “ด้วยสาเหตุบางอย่าง” แม้จะไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะกระแสของเครื่องเกม PlayStation 2 ที่มีเสียงตอบรับอย่างล้นหลามทั่วโลก และภาพกราฟิกสามมิติที่สวยงามสมจริง ทำให้ผู้ปกครองรวมถึงนักเรียน สามารถตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องเกมคอนโซลได้มากขึ้น

ปัจจุบัน เครื่องเล่นเกม Plug & Play Game ยังคงมีการผลิตเพื่อวางจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยจะสามารถพบเห็นได้บ่อยตามร้านขายของเล่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะห้างสรรพสินค้า หรือสะพานเหล็ก โดยเครื่องเกมส่วนใหญ่ มีต้นกำเนิดผลิตมาจากประเทศจีน และเป็นเกมผิดสิขสิทธิ์ที่มีการปรับเปลี่ยนชื่อจากเกมต้นฉบับ

แหล่งที่มา: Wikipedia

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top