คงไม่ต้องพูดให้มากความว่า วิกฤติโควิด-19 ไม่ได้เป็นเพียงวิกฤติสุขภาพกายอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติสุขภาพจิตในเวลาเดียวกันด้วย เพราะมาตรการ “รักษาระยะห่างทางสังคม” ของภาครัฐที่ใช้รับมือกับโรคระบาดส่งผลให้คนตกงานและสูญเสียรายได้นับล้าน สุขภาพจิตใจย่ำแย่ลงทุกวัน คนจำนวนมากตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่หนี้และปัญหา มองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอุโมงค์จะสิ้นสุดลงตรงไหน
สุขภาพจิตของคนไทยมีแนวโน้มแย่ลงก่อนหน้าวิกฤติโควิด-19 อยู่แล้ว โดยสถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า สัดส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและจิตเภทปรับตัวสูงขึ้นจาก 27 คนต่อประชากรหมื่นคนในปี พ.ศ. 2552 เป็น 34 คนต่อประชากรหมื่นคนในปี 2562 – ตัวเลขนี้นับเฉพาะผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแล้ว ไม่นับผู้ที่มีอาการแต่ไม่รู้ตัวว่าป่วยอีกมากมาย
ในยุคที่คนในสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่คุกคามสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากสังคมโซเชียลมีเดียที่ทุกคนสามารถอวดความสำเร็จแข่งกันอย่างง่ายดาย เกมเกี่ยวกับ “สุขภาพจิต” ที่สนุกติดหนึบ สื่อสารเรื่องอ่อนไหวในจิตใจมนุษย์อย่างมีชั้นเชิง แถมยังเป็นเกมครอบครัวที่พ่อแม่เล่นกับลูกได้สบายๆ นับว่าหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร
Psychonauts 2 เกมหายากที่ทั้ง “สนุก” และ “สอน” วิธีดูและสุขภาพใจโดยไม่ชี้นิ้วสั่งสอน เป็นผลงานชิ้นเอกจาก Double Fine Productions สตูดิโออิ้นดี้ของ Tim Schafer ดีไซเนอร์เบื้องหลังเกมผจญภัยระดับตำนานอย่าง Secret of Monkey Island, Day of the Tentacle และ Grim Fandango
Psychonauts ภาคแรกออกวางจำหน่ายในปี 2005 ขึ้นแท่นเป็นเกมในดวงใจของคอเกมจำนวนมากอย่างรวดเร็ว แต่แฟนเกมส่วนใหญ่ต้องรอคอยภาคต่อนานถึง 16 ปี ก่อนที่ภาคสองจะออกวางจำหน่าย (ที่จริง Double Fine ออกเกมชื่อ Psychonauts in the Rhombus of Ruin ออกปี 2017 ก่อนหน้านี้ แต่ออกเฉพาะเวอร์ชัน VR และมีขนาดค่อนข้างเล็ก หลายคนจึงไม่ได้มองว่าเป็น “ภาคต่อ” ที่แท้จริง)
เรื่องราวใน Psychonauts 2 เปิดฉากเพียง 3 วันในเวลาเกม นับตั้งแต่ฉากจบของภาคแรก เราเล่นเป็น ราซปูติน อะควาโต ชื่อเล่น “ราซ” เด็กวัยสิบขวบผู้เปี่ยมพลังจิต ราซอาศัยอยู่ในโลกที่พลังจิตนานาชนิดเป็นเรื่องปกติธรรมดา บรรดาผู้ใช้พลังจิตหลายคนเข้าสังกัด “ไซโคนอท” (Psychonauts) ฮีโร่สายลับที่คอยปกป้องโลกจากเหล่าวายร้ายที่ใช้พลังจิตในทางมิชอบ ในโลกของราซ สมองมนุษย์สามารถถูกขโมยและใส่สลับร่างเพื่อปลอมแปลงตัวตน ผู้มีพลังจิตสามารถกระโดดเข้าไปในจิตใจ (psyche) ของคนอื่น แต่หลักการข้อสำคัญของกลุ่มไซโคนอทก็คือ พวกเขาจะใช้พลังจิตในการค้นหาและพยายาม “เข้าอกเข้าใจ” (empathy) คนอื่นเท่านั้น ไม่ใช่ “เปลี่ยนใจ” เจ้าของจิตใจ ถึงแม้จะมีพลังทำอย่างนั้นได้ (ฉากหนึ่งในเกมเมื่อราซละเมิดหลักการข้อนี้ เขาก็ถูกดุโดยหัวหน้าทีมไซโคนอท)
ในแง่ระบบเกม Psychonauts ยังคงเป็นแนวแอ๊กชันผสมผจญภัย (action adventure) ไม่ต่างจากภาคแรก แต่เสริมด้วยพลังจิตใหม่ๆ และปรับปรุงระบบการต่อสู้ให้ลื่นไหลมากขึ้น เรื่องราวและปูมหลังของตัวละครล้วนแต่มีเอกลักษณ์และน่าติดตามสมชื่อชั้น Tim Schafer โลกในเกมมีทั้งโลกแห่งความจริง และ “โลกจิต” ภายในจิตใจของตัวละครที่ราซกับผองเพื่อนไซโคนอทกระโจนเข้าไปสำรวจ ทั้งโลกจริงและโลกจิตในเกมล้วนมีสีสันสนุกสนาน เต็มเปี่ยมด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัด เราจะได้สำรวจโลกจิตที่ทั้งฉากออกแบบจากช่องปาก ฟัน และอุปกรณ์การทำฟัน เพราะเป็นจิตใจของทันตแพทย์ โลกจิตที่ทุกอย่างทำจากหนังสือและห้องสมุด โลกจิตที่ทุกอย่างเหมือนหลุดออกมาจากโลกของฮิปปี้เมาเห็ดในทศวรรษ 1960 โลกจิตที่ให้เรานั่งเรือในแดนเนรมิต ล่องผ่านโฆษณาชวนเชื่อหลอกตา ฯลฯ
ความสนุกอย่างหนึ่งของเกมนี้ก็คือการรอ “โลกจิต” ฉากต่อไปอย่างใจจดจ่อ เดาไม่ได้ว่ารอบนี้จะเจอกับอะไรบ้าง ยังไม่นับการวิ่งเก็บไอเท็มและทำภารกิจเสริมต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องทำให้สำเร็จ แต่ถ้าลองทำก็จะได้เข้าใจเรื่องราวใน Psychonauts มากขึ้น และได้โอกาสเพิ่มพลานุภาพของพลังจิตชนิดต่างๆ ที่ราซใช้เป็นอาวุธ
Psychonauts 2 พาเราไปสำรวจโรคจิต อาการทางจิต และจิตเภทต่างๆ อย่างเข้าอกเข้าใจ ไม่บั่นทอนหรือเหยียดหยามผู้ป่วย ไม่ฉวยโอกาสใช้อาการทางจิตเป็นอุบายในทางที่ทำให้คนเล่นรู้สึกขยะแขยง (ผู้เขียนไม่ชอบเกม Twelve Minutes เพราะเหตุนี้) “ศัตรู” ที่เราต้องต่อสู้ใน Psychonauts 2 ครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพจิต เช่น ตัว “เซ็นเซอร์” ใส่แว่นถือตราเซ็นเซอร์ เป็นตัวแทนของนักวิพากษ์ในใจเราที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ ตัว “ความกังขา” ออกมารบกวนจิตใจ พ่นเมือกที่ทำให้เราเดินช้าลง ส่วนตัว “แพนิก” หรือโรคตื่นตระหนก ปรากฏตัวในรูปสัตว์ประหลาดหน้ามังกรหลากสีที่เคลื่อนไหวเร็วกว่าปกติ เรารับมือกับมันด้วยการใช้พลังจิต “ชะลอเวลา” ให้มันเคลื่อนไหวช้าลง จะได้โจมตีมันได้ – ไม่ต่างจากในโลกแห่งความจริงที่เรารับมือกับโรคแพนิกด้วยการพยายามหายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ และผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
อุปไมยแบบนี้มีอยู่เต็ม Psychonauts 2 และกระตุ้นให้เราฉุกคิดถึงคำถามสำคัญๆ มากมายเกี่ยวกับสุขภาพจิต การพยายาม “เปลี่ยนใจ” ใครสักคนเพราะเราเชื่อว่า “สิ่งนั้นดีกับเขา(หรือเธอ)ที่สุด” นั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าดีที่สุดสำหรับเขาหรือเธอจริงไหม เจ้าตัวควรมีสิทธิตัดสินใจเองหรือเปล่า การพยายาม “พัฒนาตัวเอง” มีประโยชน์อะไรถ้าหากว่าทำเพราะถูกคนอื่นบังคับ
ฉากโปรดของผู้เขียนฉากหนึ่งใน Psychonauts 2 เกิดขึ้นเมื่อโรคจิตของตัวละครส่งผลให้ความจำของเขาสับสน ไม่ตรงกับเหตุการณ์ในอดีต เขารู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่มีใครต้องการ แต่ความจริงไม่ใช่เลย เขาคิดอย่างนั้นเพียงเพราะกำลังป่วย ราซหรือตัวเราในเกมไม่เคยตัดสินหรืออยากสั่งสอนใคร เราเพียงแต่อยากช่วย
แน่นอน ราซไม่สมบูรณ์แบบ และบางครั้งก็ตัดสินใจผิดพลาด แต่บทเรียนที่ Psychonauts 2 ให้กับเราอย่างนุ่มนวลก็คือ ไม่มีใครหรอกในโลกนี้ที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีใครที่ไม่เคยทำพลาด แต่ความผิดพลาดเหล่านั้นไม่ได้ทำให้เราหมดความสำคัญ และถึงที่สุดแล้วก็ไม่มีใครควรอยู่อย่างเดียวดาย
Psychonauts 2 เป็นเกมแรกที่รับมือกับประเด็น “สุขภาพจิต” อย่างรอบด้าน เต็มเปี่ยมด้วยความเข้าอกเข้าใจ และแม้แต่อารมณ์ขันที่ลงตัว
เกมนี้เกมเดียวทำให้เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ในวาทะอมตะของ จอห์น วัตสัน นักบวชชาวสก็อตช่วงต้นศตวรรษที่ 20 –
“จงใจดี เพราะทุกคนที่เธอพบเจอล้วนกำลังต่อสู้อย่างยากเย็น”