เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยหงุดหงิดกับปัญหาจุกจิกสารพัดระหว่างการเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ UI ที่ใช้งานยาก, เงื่อนไขการฟาร์มไอเทมเยอะจนเกินไป หรือไม่สามารถข้ามฉากคัตซีน และอื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่สามารถยกตัวอย่างได้ทั้งหมด จึงมีหลายครั้งที่ทีมพัฒนาเกมมักมีการปล่อย Patch ‘เพื่อปรับปรุง Quality of Life ให้ดีขึ้น’
แต่ทว่า Quality of Life มีหมายความว่าอะไร แล้วการปรับปรุงดังกล่าวส่งผลต่อเกมมากน้อยแค่ไหน บทความนี้ช่วยให้เข้าใจคำว่า Quality of Life ในเกมมากยิ่งขึ้นครับ
Quality of Life คืออะไร ?
ถ้าหากแปลอย่างตรงตัว Quality of Life (จากนี้จะเรียกว่า QoL) หมายถึง ‘คุณภาพชีวิต’ เป็นปรัชญาแนวการใช้ชีวิตที่นำมาสู่ความสุขและความพึงพอใจ แต่สำหรับวงการวิดีโอเกม QoL หมายถึงองค์ประกอบฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่ทำให้ประสบการณ์การเล่นเกมมีความลื่นไหล ประหยัดเวลาเล่น และสะดวกสบายยิ่งกว่าเดิม
QoL มีความสำคัญสำหรับเกมออนไลน์, Games As A Service หรือเกม MMORPG ที่เปิดบริการมานาน โดยการปรับปรุง QoL ส่วนใหญ่มักมาพร้อมกับการอัปเดต Patch หลังมีฟีดแบ็กเกี่ยวกับการเล่นที่ไม่สะดวกสบายจากผู้เล่นเท่าที่ควร
ตัวอย่างการปรับปรุง Quality of Life
Quality of Life มีตัวเลือกให้สามารถปรับปรุงมากมาย โดยตัวอย่างการอัปเดต QoL ที่มักเห็นบ่อยมีดังนี้..
การปรับปรุง User Experience / User Interface เป็นหนึ่งในอัปเดต QoL ที่เกมเมอร์ต้อนรับมากที่สุด เพราะช่วยให้ผู้เล่นสามารถเข้าถึงระบบหรือฟีเจอร์ได้รวดเร็วกว่าเดิมหลายเท่า เช่น การออกแบบ UI ใหม่ จากดีไซน์เดิมที่มีความซับซ้อน ล้าสมัย หรือรกมากจนเกินไป รวมถึงย้ายการเข้าถึงระบบสำคัญ ให้มาอยู่หน้าเมนูหลัก เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นสำหรับเกมมือถือและเกมออนไลน์ที่เปิดบริการมานานจนมีฟีเจอร์ใหม่มากมาย ทำให้ทีมงานต้องมีการปรับเปลี่ยน UX /UI ให้มีความเหมาะสม
MMORPG เป็นเกมที่ผู้เล่นต้องฟาร์มไอเทมหรือ Grind ค่าประสบการณ์เป็นเวลานานมาก ๆ อีกเกมหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าเกมเมอร์บางคนอาจเกิดความรู้สึกซ้ำซากหรือเบื่อหน่ายจากการฟาร์มเป็นเวลานานจนเลิกเล่นถาวรไปในที่สุด ทำให้เกมออนไลน์บางเกม เริ่มเพิ่มระบบใหม่เรียกว่า Auto-Play เป็นระบบปล่อยให้ AI เป็นผู้ควบคุมตัวละครเอกตามคำสั่งที่ผู้เล่นตั้งค่าไว้ ส่วนผู้เล่นก็สามารถทิ้งเกมเพื่อหนีไปทำธุระส่วนตัวอย่างอื่น เช่นนอนหลับพักผ่อน กินอาหารกับครอบครัว เที่ยวนอกบ้าน ออกกำลังกาย และกิจกรรมอื่นที่เป็นประโยชน์กว่าการเล่นเกมเดิม ๆ เป็นเวลานาน 8-12 ชั่วโมงโดยไม่ได้หลับไม่ได้นอน
การปรับบาลานซ์เกมก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอัปเดต QoL เช่นกัน แต่การปรับเปลี่ยนต้องทำให้การเล่นเกมสะดวกสบายขึ้นโดยไม่ส่งผลต่อเกมการเล่น ยกตัวอย่างเช่น สำหรับแนวเกม MMORPG มีการเพิ่มขีดจำกัดให้ใส่ไอเทมในช่องเดียวสูงสุดจากเดิม 30 ชิ้นเป็น 50 ชิ้น หรือปรับเงื่อนไขเควสต์ให้ใช้เวลาฟาร์มไอเทมน้อยลงกว่าเดิม ซึ่งการเพิ่ม-ลดระดับความยากของศัตรู, ปรับพฤติกรรม AI หรือปรับ Stats ของอาวุธ ไม่ถือว่าเป็นอัปเดต QoL เพราะเป็นการอัปเดตที่ส่งผลต่อเกมเพลย์
เกมแนว Singleplayer ก็สามารถอัปเดต QoL ให้การเล่นเกมสบายขึ้นเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น Death Stranding มีการอัปเดตเพิ่มตัวเลือกขนาดตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้น หลังจากเกมเมอร์บางคนส่งฟีดแบ็กว่าตัวอักษรในเกมมีขนาดเล็กเกินไปจนอ่านแล้วตาลาย รวมไปถึงเพิ่มตัวเลือกให้คนเล่นเกมสามารถหยุดและกดข้ามฉากคัตซีน
QoL ส่วนใหญ่ของเกม Singleplayer เป็นอัปเดตเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เพิ่มตัวเลือกให้ข้ามฉากเปิดโลโก้บริษัทตอนเปิดเกม, เพิ่มช่องเซฟ, เพิ่มระบบ Fast Travel, เพิ่มระบบ Auto-Buy ให้ AI เลือกสินค้าที่ต้องการซื้ออัตโนมัติ เป็นต้น
หนึ่งในฟีเจอร์ QoL ที่ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับเกมแนว RPG Singleplayer ณ ตอนนี้ คือระบบเร่งเวลา ซึ่งเป็นตัวเลือกที่มีประโยชน์สำหรับคนต้องการฟาร์มไอเทมหรือเลเวลตัวละครอย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบดังกล่าวเคยปรากฏตัวใน Final Fantasy XII Zodiac Age และเกมมือถืออย่าง Fate Grand/Order, Princess Connect Re:Dive จนปัจจุบัน มันกลายเป็นระบบมาตรฐานที่เกม RPG ส่วนใหญ่ต้องมีมาตั้งแต่เกมเวอร์ชัน 1.0 แล้ว
Quality of Life ยังคงเป็นส่วนสำคัญสำหรับการพัฒนาเกมในระยะยาวจนถึงตอนนี้ เพราะถ้าหากเกมมีคุณภาพ QoL ที่ไม่ดี ก็อาจเป็นสาเหตุหลักทำให้บางคนเลิกเล่นไปเลยก็ได้ รวมถึงแน่นอนว่า QoL ที่มีคุณภาพ ก็สามารถมอบประสบการณ์การเล่นหรือสร้างความประทับใจครั้งแรกที่ดีตามมาอีกด้วย