Nintendo ถือว่าเป็นค่ายเกมยักษ์ใหญ่ของโลกที่ทำได้ดีทั้ง Hardware และ Software ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอเกมหรือเครื่องเล่นเกมคอนโซล และเป็นหนึ่งในค่ายเกมสำคัญที่มีอิทธิพลต่อวงการเกมเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าหากไม่มีปู่นินวงการเกมก็ไม่มีทางถึงตรงนี้ได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ดีด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้หลาย ๆ คนอาจจะมองว่า Nintendo เป็นค่ายเกมที่หัวโบราณไม่ตามโลก ซึ่งผู้เขียนก็ไม่แปลกใจที่จะมองแบบนั้น เพราะในท่ามกลางโลกวงการเกมที่โหมกันด้วยเนื้อเรื่องและกราฟิก หากเกมเมอร์จะคิดแบบนั้นก็คงไม่แปลก แต่ถึงอย่างนั้นทางผู้เขียนก็ยังคงอยากจะเล่าถึงค่ายเกมนี้เรื่อย ๆ เพราะเรื่องราวของ Nintendo มีสิ่งที่น่าสนใจและน่าค้นหามากมาย และหากจะให้คุยกันแบบละเอียดจัดเต็มล่ะก็ เป็นเดือนก็ยังไม่จบเลยด้วยซ้ำ (ฮา)
ในบทความนี้ทาง GamingDose จะพามาย้อนยุคไปดูส่วนหนึ่งของเหล่าเหตุการณ์สำคัญ ตั้งแต่ยุควงการเกมตั้งไข่และปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับวีดีโอเกม ซึ่งผู้เขียนก็ได้หยิบหนึ่งในอุปกรณ์เสริมของทาง Nintendo มาเป็นเครื่องปูพรมในการเล่าเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของวงการวีดีโอเกม โดยชอให้ทุกท่านได้ทำความรู้จักกับ “R.O.B.” หุ่นยนต์เพื่อนเล่นเกมสำหรับคุณ ที่จะมีบทบาทสำคัญในวงการเกมเป็นอย่างมากสำหรับปู่นิน ส่วนรายละเอียดและเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรนั้น อย่ารอช้าดีกว่า เราไปลุยกันเลยครับผม
ข้อมูลเบื้องต้นเจ้าหุ่นยนต์จอมป่วน
R.O.B. (ชื่อเต็ม : Robotic Operating Buddy) หรือในชื่อฝั่งญี่ปุ่นว่า Family Computer Robot เป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับเครื่อง Nintendo Entertainment System และ Family Computer ชูคอนเซปต์เรื่อง “หุ่นยนต์ช่วยเล่นเกม” แต่มาอยู่ที่บ้านของคุณ โดยได้ถูกวางจำหน่ายในโซนญี่ปุ่น (JP) เมื่อเดือนกรกฏาคมปี 1985 และในโซนอเมริกาเหนือ (NA) เดือนตุลาคมปี 1985 ซึ่งเจ้าอุปกรณ์เสริมตัวนี้มีอายุการสนับสนุนที่สั้นมาก และมีเกมที่รองรับการใช้งานเจ้าหุ่นยนต์นี้เพียงสองเกมเท่านั้นได้แก่ Gyromite และ Stack-Up
ส่วนในด้านของขนาด เจ้า R.O.B. ก็มาพร้อมกับความสูง 24 เซนติเมตร โดยตัวของมันสามารถขยับแขนได้ถึง 240 องศา และต้องใช้ถ่านแบตเตอร์รี่แบบ AA จำนวน 4 ก้อนในการใช้งาน
โดยหลักการทำงานของตัวอุปกรณ์ตัวนี้ก็คือ เราต้องวางตัวของ R.O.B. เอาไว้ด้านหน้าโทรทัศน์ CRT (จอทีวีตู้ในยุคนั้น) เท่านั้น ถึงจะสามารถใช้งานได้ ซึ่งตัวของ R.O.B. จะรับคำสั่งจากแสงบนจอภาพ CRT และทำงานด้วยชุดคำสั่งที่มี 6 คำสั่งด้วยกัน (ตามจำนวนปุ่มหลักของจอย Famicom / NES) และจะมีฐานสำหรับใส่เจ้า Controller และ Gyro ลงไปเพื่อให้เจ้า R.O.B. สามารถกดเล่นเกมได้่ ซึ่งหลักการนี้ก็จะคล้าย ๆ หลักการทำงานของ NES Zapper ที่ใช้กับเกมยิงเป็ดอย่าง Duck Hunt
และเราสามารถใช้ฟีเจอร์เพื่อทดสอบการใช้งานได้ โดยหากใช้งานได้เจ้าดวงตาของ R.O.B. จะแสดงผลออกมาเป็นสีแดงดังภาพ
ซึ่งพอเอาเข้าจริงแล้ว R.O.B. กลับไม่ใช่อุปกรณ์เสริมที่ดีเด่อะไรมากนัก เพราะด้วยคอนเซ็ปต์ “หุ่นยนต์ช่วยเล่นเกม” ที่ถึงแม้จะทำได้จริง และสามารถนำไปเล่นเกมได้จริง ๆ ซึ่งมันเจ๋งเอามาก ๆ แต่ตัวหุ่นยนต์กลับมีการตอบสนองและมีการทำงานที่ช้ามาก แถมมีเกมรองรับเพียงแค่สองเกมเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์เสริมที่ไอเดียดีมาก แต่ไม่เข้าท่าเท่าไหร่สำหรับ Nintendo แต่ยังไงซะเจ้าตัวเครื่องนี้ก็ถูกยกย่องว่าเป็นอุปกรณ์เสริมที่บ้าบิ่นที่สุดในยุคนั้นจากหลาย ๆ สื่อ
โดยถึงแม้ตัวของ R.O.B. จะไม่ใช่อะไรที่เวิร์ค แต่การมีตัวตนของเจ้าหุ่นยนต์เล่นเกมนี้ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะตัวของมันถือได้ว่าเป็น 1 ในอาวุธสำคัญของ Nintendo สำหรับการกอบกู้วงการเกมจากเหตุการณ์ Video Game Crash 1983 1 ในเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์วงการเกมอันเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น
เหตุการณ์วีดีโอเกมล่มสลายปี 1983
แน่นอนว่าหากเราเรียกหรือพูดถึงเจ้าเหตุการณ์วีดีโอเกมล่มสลายอย่าง “Video Game Crash 1983” ผู้เขียนก็คงต้องหยิบมาเล่าพอสังเขปเพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจถึงเหตุการณ์ได้มากขึ้น เพราะเนื้อหาส่วนนี้จะเชื่อมต่อและมีความสำคัญต่อเจ้า R.O.B. โดยตรง
ซึ่งเอาจริง ๆ นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกของทาง GamingDose ที่พูดถึงเจ้าเหตุการณ์นี้ เพราะพวกเราเคยพูดถึงในบทความ “ย้อนรอย E.T. เกมตราบาปค่าย Atari เจ๊งเกมเดียวจมทั้งบริษัท” กันไปบ้างแล้ว แต่เนื่องจากว่าทางผู้เขียนอยากจะเขียนขึ้นมาอีกรอบด้วยข้อมูลที่มีความละเอียดและมีรายละเอียดที่มากขึ้น เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านบทความดังกล่าวก็ไม่ต้องกังวล เพราะผู้เขียนจะเล่าใหม่อีกครั้งครับ
ย้อนเวลาไปในช่วงปี 1977 ทาง Atari ค่ายเกมยักษ์ใหญ่ในยุคสมัยนั้น ได้ออกเครื่องเกมคอนโซลประจำยุคเจเนเรชั่นที่ 2 อย่าง Atari 2600 ซึ่งช่วงแรก ๆ ก็ทำยอดขายได้ค่อนข้างดีแต่ก็ไม่ได้เปรี้ยงปร้างอะไรเท่าไหร่นัก
จนกระทั่งในปี 1980-1982 ทาง Atari ก็ได้ทำการซื้อลิขสิทธิ์ของเกมตู้อย่าง Space Invaders จากทาง Taito เพื่อนำไปทำเกมเวอร์ชั่นคอนโซลของพวกเขา และนั้นทำให้ยอดขายของเครื่อง Atari 2600 พุ่งกระฉุดเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าเกม Space Invaders กลายเป็น Killer Application ที่ทำให้่ Atari เป็นเต็งหนึ่งของวงการเกมในยุคนั้นเลยทีเดียว และตัวเกมก็สามารถทำยอดขายได้หลักล้านเป็นเกมแรกของเครื่อง Atari 2600 อีกด้วย
จากความสำเร็จของ Atari 2600 ทำให้ได้มีบริษัทต่าง ๆ มากมายออกคอนโซลตัวใหม่เพื่อหวั่นจะมากินเค้กส่วนแบ่งไม่ว่าจะเป็น Atari 5200, ColecoVision, Magnavox Odyssey 2 และ Intellivision โดยก็เป็นยุคนี้นี่เองที่เป็นจุดกำเนิดของ “คอนโซลโคลน” หรือคอนโซลก๊อปปี้ออกมากันให้พรึ่บและมีเป้าหมายในการแย่งส่วนเค้กของเหล่าของแท้ โดยในยุคนั้นก็จะมีเหล่า Coleco Gemini, Tandyvision ที่เป็นโคลนของเครื่อง Atari 2600 และ Intellvision ตามลำดับ (หากนึกภาพไม่ออกก็ขอให้นึกถึงเครื่องโคลน Famicom ที่ผลิตโดยบริษัทแห่งหนึ่งของประเทศไทย)
ด้วยความรุ่งเรืองของวงการเกมคอนโซลในยุคสมัยนั้น ทำให้เหล่านักวิเคราะห์ได้ถึงกับทำนายเอาไว้ว่า “ในปี 1983 ธุรกิจเกมจะเติบโตขึ้นมากกว่าปี 1982 ถึง 100%” แต่ก็จะมีเหล่าเครื่องเกมคอนโซลที่จะเป็น “ส่วนเกิน” และนั้นอาจจะส่งผลทำให้เครื่องเล่นเกมคอนโซลเกิดการ “ล้นตลาด” แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าวงการเกมคอนโซลจะเจอคู่แข่งเบอร์ใหญ่เข้าให้แล้ว นั้นก็คือเหล่า “คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล” คอมพิวเตอร์ราคาถูกสำหรับผู้ใช้ตามบ้านที่นำทัพโดย Commodore 64 และ Apple I ผู้ที่กลายเป็นเบอร์หนึ่งแห่งวงการพีซีในยุคนั้น และนั้นก็ทำให้วงการเกมคอนโซลเรื่มปั่นป่วนจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะกับ Atari
เท่านั้นยังไม่พอ ฝั่งของ Atari เองยังต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับเกมตู้ Arcade ที่เกิดการเงินเฟ้อและทำให้ตลาดรวนไปหมด โดยมีสาเหตุมาจากเหรียญดอลล่าร์สหรัฐอย่าง Eisenhower Dollar ในยุคนั้นที่มีขนาดใหญ่และไม่พอดีกับตู้เกม เพราะตู้ส่วนใหญ่มักจะนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นที่ใช้เหรียญ 100 เยนในการเล่นและมีขนาดที่พอดี และถึงแม้จะมีเหรียญดอลลาร์สหรัฐออกมาตัวใหม่อย่าง Susan B. Anthony Dollar ที่มีขนาดพอดีกับเกมตู้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเจ้าเหรียญดังกล่าวกลับไม่ได้รับความนิยม และทำให้เกิดสถานะอันเลวร้ายของ Atari ที่ถูกเรียกว่า “Atari Shock”
ซึ่งเพียงแค่นี้ Atari ก็เจ็บจนจุกอยู่แล้ว แต่นั้นก็ไม่ใช่ที่สุดของความเจ็บปวดของพวกเขา เมื่อในโลกของวงการเกมได้่ให้ถือกำเนิด “ค่ายเกม Third Party ค่ายแรกของโลก” อย่าง Activision และนั้นทำให้ Atari เริ่มสุญเสียอำนาจการควบคุมในการวางจำหน่ายเกม ซึ่งการมาของ Activision นั้นเกิดจาก “การทำของตัวเอง” ของ Atari เองล้วน ๆ เพราะจุดประสงค์ในการจัดตั้ง Activision ขึ้นมาก็คือ “ผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเกมควรได้รับเครดิตสำหรับเกมที่เขาได้พัฒนาขึ้นมา” และนั่นคือสิ่งที่ตรงข้ามกับ Atari ในยุคนั้นอย่างสิ้นเชิง ที่พวกเขาจะไม่ให้เครดิตกับผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเกมเลย และขายในชื่อผู้จัดจำหน่ายอย่าง Atari เท่านั้น (หนึ่งใน Easter Eggs ของวงการเกมตัวแรก ๆ ในเกม Adventure ก็เกิดจากสาเหตุนี้)
โดย Atari ก็ได้หาทางกีดกัน Activision เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้แย่ไปกว่านี้ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่สามารถทำได้ และนั่นทำให้เกิดค่ายเกม Third-Party ตามมาอีกเรื่อยๆในยุคนั้น เพื่อทำการถ่วงอำนาจของ Atari แต่นั้นก็เป็นดาบสองคมที่อาจจะนำไปสู่ความพินาศ เพราะถึงแม้เหล่า Third-Party จะมีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น แต่นั้นก็หมายความว่าก็จะมีเหล่าค่ายเกมที่ไม่มีประสบการณ์และความสามารถออกมามากขึ้น และนั้นนำมาสู่ “กองทัพเกมไร้คุณภาพ” ที่ออกมาจนล้นวงการเกม
และแน่นอนเหล่ากองทัพเกมไร้คุณภาพหนึ่งในนั้นก็คือ E.T. หนึ่งในวีดีโอเกมที่ขึ้นชื่อห่วยแตกที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการเกม ที่หวังจะทำเกมเพื่อเกาะกระแสความโด่งดังและความยอดเยี่ยมของฉบับภาพยนตร์จากผู้กำกับ Steven Spielberg โดยช่วงแรกตัวเกมก็ทำยอดขายได้ดีอยู่หรอก จนกระทั่งกระแสไม่ดีจากเหล่านักวิจารณ์และผู้เล่นได้ถาถมเข้ามา และนั้นทำให้ยอดขายของ E.T. นิ่งแด่ว ๆ อยู่ที่ 1.5 ล้านชุด ทั้ง ๆ ที่ยังมีอีกกว่าหลายล้านชุดที่ยังขายไม่ออกจนถูกส่งกลับไปบริษัท (ทั้งเกมนี้และเกมอื่น ๆ) ซึ่งนั้นทำให้ Atari ต้องถึงกับนำตลับเกมเหล่านั้นไปฝังดินเอาไว้ และต้องจำใจออกจากวงการคอนโซลไป ซึ่งด้วยเหตุการณ์แย่ ๆ ที่สะสมพลังมาเป็นอย่างเวลายาวนาน จนมาในตอนนี้ก็ได้ระเบิดพลังออกมาเป็นที่เรียบร้อย ทำให้วงการเกมเข้าสู่ยุค “Video Game Crash 1983” ยุคที่มึดมนที่สุดแห่งวงการเกมเท่าที่เคยมีมาในที่สุด
ขอต้อนรับเข้าสู่ปี 1983 ยุคที่มึดมนและสิ้นหวังมากที่สุดของวงการเกม เงินหมุนในอุตสาหกรรมจากเดิมที่มีถึงสามพันล้าน แต่ยุคนี้เหลือแค่เพียงแค่ร้อยล้านเท่านั้น (ลดลงไปถึง 97%) เหล่าเกมตู้ Arcade ที่ถูกตั้งเป็นหลักหมื่นทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ในยุคนี้ก็ถูกถอนเหลือเพียงแค่ประมาณ 1,500 ตัวเท่านั้น และด้วยคุณภาพของเกมที่ออกมาดูถูกคนเล่นจนเกินไป ทำให้คนอเมริกาที่ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่สุดยุคนั้นเรื่มเกลียดและต่อต้านวีดีโอเกม จนทำให้ยอดขายเครื่องเกมคอนโซลและซอฟต์แวร์ตกลงอย่างเป็นอย่างมาก หลาย ๆ ค่ายเกมก็เรื่มถอยห่างจากวงการเกมคอนโซล และที่แย่ไปที่สุดก็คือราคาเฉลี่ยของวีดีโอเกมในสมัยนั้นที่เคยขายในราคา 35 ดอลล่าร์มาโดยตลอด แต่ตอนนี้ลดลงเหลือเพียงแค่ 5 ดอลล่าร์เท่านั้น ซึ่งถึงจะลดราคาขนาดนี้ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใดเลย….
ดาราหน้าใหม่แห่งดินแดนพระอุทัย
ก่อนที่เราจะเล่าเรื่องในส่วนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการเกิด Video Game Crash ในปี 1983 เราจะขอพาทุกท่านย้อนเวลามาปี 1974 ซึ่งจะเป็นเนื้อหาเสริมที่จะไปเชื่อมกับเนื้อหาในส่วนหัวข้อที่แล้วอีกทีในไม่ช้ากันก่อนครับ
ในปี 1974 ได้มีบริษัทของประเทศญี่ปุ่นแห่งหนึ่งนามว่า Nintendo โดยหลังจากที่พวกได้ผ่านยุคแห่งการขายของเล่น ทำไพ่นอกกระจอก ฮานาฟุดะ ทำรถแท็กซี่มาเป็นระยะเวลาอย่างยาวนานกว่าหลายสิบปี ในที่สุด ในปีดังกล่าวพวกเขาก็ได้นำตัวเองเข้าสู่วงการเกมเป็นครัังแรก โดยการร่วมลงทุนกับทาง Magnavox Odyssey เครื่องเกมคอนโซลเครื่องแรกของประเทศญี่ปุ่น และนำเข้าตัวเครื่องมาจัดจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น
จนมาถึงปี 1977 ทาง Nintendo จึงได้พัฒนาคอนโซลเครื่องแรกของพวกเขาออกมา โดยใช้ชื่อว่า Color TV-Game และวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งเครื่องเล่นเกมคอนโซลเครื่องนี้นั้นเป็นแบบ Dedicated Console ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเกมหรือเพื่มเกมได้ (คุ้น ๆ ไหมเอ่ย ??) และด้วยที่ตัวเครื่องมันไม่สามารถเปลี่ยนหรือเพื่เกมได้ ทำให้ Nintendo ต้องซอยรุ่นออกมาถึง 5 รุ่น ตลอดระยะเวลาสนับสนุนระหว่างปี 1977-1980 โดยตัวเครื่องสามารถทำยอดขายได้มากถึง 3 ล้านเครื่อง และขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 คอนโซลที่ขายดีที่สุดแห่งเจเนเรชันที่ 1 เรียกได้ว่าเปิดประเดิมวงการเกมได้อย่างสวยงาม
ซึ่งคอนโซลเครื่องนี้ทางปู่นินก็ได้เลือกให้คุณ Gunpei Yokoi ผู้ซึ่งเป็นอดีตภารโรงของบริษัทมาก่อน และได้ทำการว่าจ้างคุณ Shigeru Miyamoto นักศึกษาหน้าใหม่ไฟแรง ที่ในอนาคตทัังคู่จะกลายเป็นตำนานแห่งวงการเกมที่ถูกจารึกเอาไว้ตลอดกาล
ส่วนในฝั่งของเกมตู้อาร์เคดนั้น ในปี 1975 ทาง Nintendo เองก็ได้ลุยกับเขาเหมือนกัน โดยจะเน้นเกมแข่งรถเป็นหลัก และได้คุณ Genyo Takeda นักพัฒนาเกมคนแรกของ Nintendo มาดูแลโปรเจคนี้ ซึ่งเจ้าเกมตู้นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ไม่ได่เจ๊งและไม่ได้ปังอะไรมากมาย
จนกระทั่งในปี 1981 คุณ Shigeru Miyamoto ได้ให้ถือกำเนิดซีรี่ส์เกมอย่าง Donkey Kong ลงตู้อาร์เคด และนั้นทำให้ Nintendo เรื่มโด่งดังมาแรงในวงการเกมมากขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีเหล่าค่ายเกมที่ทำเครื่องเกมคอนโซลแห่กันมาซื้อลิขสิทธิ์เกมจากทาง Nintendo ไม่ว่าจะเป็น Atari และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อนำเกมตู้ของปู่นินในยุคนั้นนำมาพอร์ตลงเครื่องเกมคอนโซลของพวกเขา เรียกได้ว่าปู่นินในยุคนั้นนับเงินแทบจะไม่ไหวเลยทีเดียว
ในขณะเดียวกัน ณ ช่วงยุค 1980s ทาง Nintendo ก็เริ่มพัฒนาเครื่องเกมคอนโซลตัวใหม่ของพวกเขา โดยได้คุณ Masayuki Uemura มาออกแบบให้ และใช้ชื่อโค้ดเนมว่า “GameCom” ที่จะเป็นคอนโซลที่สามารถเปลี่ยนตลับเกมได้ และจะมาพร้อมกับภาพกราฟิก 16bit มีคีย์บอร์ดและช่องใส่แผ่น Floppy Disk เหมือนกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในยุคสมัยนั้น
อย่างไรก็ดี คุณ Hiroshi Yamauchi ประธานบริษัทของ Nintendo ในยุคนั้น กลับไม่เห็นด้วยกับไอเดียนี้พร้อมตีกลับไป เนื่องจากว่าเขาต้องการให้เจ้าเครื่องนี้มีความเป็นเครื่องเกมคอนโซลมากกว่านี้ และมีราคาที่ไม่แพงจนเกินไป โดยภรรยาของคุณ Uemura ก็ได้เสนอชื่อจริง ๆ ของเจ้าคอนโซลเครื่องนี้ว่า “Famicom” เพื่อสื่อว่า “นี่คือคอมพิวเตอร์สำหรับครอบครัว” และการพัฒนาก็ได้ถูกดำเนินต่อไปโดยมีอุปสรรคตามปกติ แต่ก็ผ่านไปได้อย่างไม่มีอะไรน่าติดขัด
โดยในขณะที่ทาง Nintendo ได้ทำการพัฒนาคอนโซลเครื่องใหม่ ช่วงนั้นก็คือปี 1982 ที่เป็นยุคแห่งการปะทะระหว่าง Atari 2600 และ ColecoVision ซี่งหนึ่งในโปรแกรมเมอร์ของ Nintendo อย่างคุณ Takao Sawano ก็ได้หิ้วเครื่องคอนโซล ColecoVision นำกลับมาเล่นที่บ้านของเขา โดยเมื่อเขาได้ลองเล่นเจ้าคอนโซลเครื่องนี้ เขาก็พบว่าเจ้านี่มีการแสดงสีที่เหมาะสมและมาพร้อมกับกราฟิกที่มีความลื่นไหล ผิดกับ Atari 2600 ที่แสดงผลสีค่อนข้างไม่เวิร์คและไม่มีความลื่นไหล ซึ่งคุณ Uemura ก็ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบเจ้า Famicom จากเจ้าคอนโซล ColecoVision ตัวนี้ เพื่อให้ผู้เล่นสามารถรับประสบการณ์ในการเล่นเกมได้ดีสุด
ส่วนในทางฝั่งของสื่อที่ใช้เล่น แน่นอนว่าเมื่อมันเป็นเกมที่เปลี่ยนตลับได้ก็ย่อมต้องมีการออกแบบตลับ ซึ่งคอนเซปต์ต้นแบบทาง Nintendo หวังจะให้มีขนาดเท่า Cassette Tape ที่รุ่นปู่ของเราใช้เปิดฟังในวิทยุ แต่พอทำไปทำมาดันใหญ่กว่าเดิมเสียนั้น ซึ่งเอาจริง ๆ ขนาดก็ไม่ได้ใหญ่ไปกว่าเจ้าเทปมากเท่าไหร่หรอก
ส่วนในเรื่องของ Controller ทาง Nintendo ก็ได้พยายามหยิบดีไซน์จากตู้อาร์เคด มาย่อส่วนให้เหลือแค่ขนาดพอดีมือ โดยจอยของคอนโซลอื่น ๆ ในยุคนั้นมักจะเป็นอนาล็อกและปุ่มกดเรียงกันอย่างเรียบง่าย (แต่พอเอามาเล่นเกมมันใช้งานยากนะ) แต่จอยของเครื่อง Famicom จะคำนึงถึงศรีระในการถือ พร้อมกับตำแหน่งปุ่มกดที่เพียงพอและเหมาะสม ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ Nintendo ได้หยิบมาใช้ก็คือ “D-Pad” ที่จะทำให้การกดปุ่มบังคับทิศทางทำได้สะดวกและง่ายดายขึ้น แต่ด้วยที่ต้องลดต้นทุนให้ได้เยอะที่สุดเพื่อทำราคา จอยของเครื่อง Famicom จึงเป็นแบบติดมากับเครื่องมาให้เลยและไม่สามารถทำการถอดออกได้
หลังจากการพัฒนาเครื่องเกมคอนโซลที่ผ่านไปเป็นเวลาอย่างยาวนาน ทาง Nintendo ก็ได้ทำการวางจำหน่ายเจ้า Family Computer (Famicom) ในวันที่ 15 กรกฏาคม 1983 โดยวางจำหน่ายเพียงแค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น พร้อมกับขนเกมตู้ของปู่นินที่ยอดนิยมมาพอร์ตลงให้เล่นบนเครื่องคอนโซลได้ ซึ่งในช่วงแรกในการวางจำหน่าย ตัวเครื่องกลับประสบปัญหาเกี่ยวกับ Motherboard ที่ทำให้เจ้าเครื่อง Famicom ตัวนี้ทำงานผิดพลาด จน Nintendo ต้องทำการเรียกคืนและเปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ซึ่งมาพร้อมกับ Motherboard ที่ถูกแก้ไขปัญหาแล้ว ซึ่งหลังจากนั้นยอดขายของเจ้า Famicom ก็ได้พุ่งกระฉุดจนกลายเป็นคอนโซลยอดนิยม และเป็นคอนโซลทำยอดขายได้เป็นอันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่นในยุคนั้น
หนทางสู่แดนแฮมเบอร์เกอร์และบทบาทสำคัญของ R.O.B.
จากความประสบความสำเร็จของ Famicom ทำให้ Nintendo ได้หาหนทางในการเจาะตลาดสหรัฐอเมริกาในปี 1983 โดยได้ทำการจับมือกับ Atari ที่ช่วงนั้นยังคงประครองตัวเองเอาไว้ได้ โดยพวกเขาได้ร่วมมือการทำคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีพื้นฐานจาก Famicom (เพราะว่าหากทำคอนโซลคงขายไม่ได้) ในนามว่า Nintendo AVS และไปเปิดตัวกันในงาน Consumer Electronic Show (CES) ในเดือนมิถุนายน 1983 แต่อย่างไรก็ตาม Atari กลับจับได้ว่า ทาง Nintendo ได้ทำผิดสัญญาที่เขาจะทำเกม Exclusive ให้กับเครื่องของเขาเพียงแค่เครื่องเดียว โดยเขาพบว่าได้มีเครื่องคอมพิวเตอร์ของคู่แข่งของ Coleco อย่าง Coleco Adam กลับมีเกม Donkey Kong ลงให้ในเครื่อง (ผลจากการขายลิขสิทธิ์เกมตู้ในช่วงก่อนหน้า) ทำให้ Atari จึงทำการเลื่อนสัญญาแห่งการร่วมมือออกไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งถึงแม้ Atari จะจับ Nintendo เรื่องนี้ได้ แต่ประธานของบริษัทในสมัยนั้นอย่างคุณ Ray Kassar กลับถูกไล่ออกในเดือนต่อมา เนื่องจากวีรกรรมและสิ่งที่เขาทำไว้ในปี 1982 และได้คุณ James J. Morgan มาเสียบแทนและนำพา Atari ไปในทิศทางที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด
ซึ่งด้วยเหตุนี้ทาง Nintendo จึงจะต้องหาทางนำเข้าเครื่องเกมคอนโซลด้วยตัวของเขาเอง เนื่องจากสัญญาตัวดังกล่าวได้ถูกยกเลิกในเชิงปฏิบัติแล้ว โดยอุปสรรคใหญ่ที่ปู่นินต้องเผชิญก็คือช่วงที่เขาจะเจาะตลาดเป็นช่วงของ “Video Game Crash 1983” ที่ธุรกิจเกมตกต่ำอย่างรุนแรง และนั้นทำให้ Nintendo ต้องพยายามตีโจทย์ให้แตกเพื่อให้เครื่องเกมของพวกเขาสามารถทำการวางขายในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ โดยสิ่งที่ Nintendo เลือกที่จะทำก็คือ “การพยายามนำเสนอให้เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความบันเทิง” และพยายามเลี่ยงคำว่า “วีดีโอเกม” ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้สามารถเจาะตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาได้
สองปีผ่านไป ณ Consumer Electronic Show (CES) ในปี 1985 ทาง Nintendo ก็ได้เปิดตัวคอนโซลเครื่องใหม่ของพวกเขา โดยทิ้งคอนเซปต์ของ Nintendo AVS ไป และเน้นการออกแบบให้เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อให้ความบันเทิง และใช้ชื่อว่า “Nintendo Entertainment System” พร้อมกับพยายามเลี่ยงคำที่สื่อถึงความเป็นวีดีโอเกม อย่างเช่นตลับเกมที่ใช้คำว่า “Pak” แทนคำว่า “Cartridge” และตัวเครื่องที่ใช้ “Control Deck” แทนคำว่า “Console” ทำการซ่อนช่องใส่ตลับเอาไว้ในฝาเปิดและมีการออกแบบตัวเครื่องให้เป็นสีเทา ส่วนในฝั่ง Controller ของเครื่องนี้่ก็ได้เปลี่ยนเป็นพอร์ต 7 Pin เพื่อให้สามารถเสียบเข้าเสียบออกจอยได้
และด้วยคำว่า “Entertainment System” แต่ความเป็นปู่นินก็ยังคงเป็นปู่อยู่ ทำให้ทาง Nintendo ได้ทำการออกของเล่นเจ๋ง ๆ เสริมเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น “Zapper” ปืนยิงที่ใช้ในการเล่นเกมอย่าง Duck Hunt และในที่สุดกับพระเอกของเราอย่าง “R.O.B.” หุ่นยนต์เล่นเกมสุดเจ๋งก็ได้ถือกำเนิดออกมาในช่วงนี้ ซึ่งเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ก็ได้สร้างความน่าสนใจเป็นอย่างมากและกลายเป็นหนึ่งในมาสคอตสำคัญที่ทำให้เหล่าร้านค้าหันมาสนใจเจ้าเครื่อง Nintendo Entertainment System นี้กันยกใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยังคงไม่กล้าเสี่ยงที่จะวางจำหน่าย
ซึ่งแค่นี้ก็ถือว่าเพียงพอมากแล้ว สำหรับการทำให้เหล่าร้านค้าขายเกมหันมาสนใจเครื่องเล่นเกมคอนโซลท่ามกลางยุคตกต่ำของวีดีโอเกมนี้ และนี่ก็เป็นก้าวแรกที่สำคัญเป็นอย่างมากสำหรับ Nintendo ในการวางขายเจ้าเครื่องเล่นเกมคอนโซลนอกประเทศญี่ปุ่น โดยทางปู่นินก็ได้ทำการทดสอบการวางจำหน่ายจำนวน 100,000 เครื่องใน New York City ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลปรากฏว่าสามารถทำยอดขายไปได้มากถึง 90,000 เรียกได้ว่าเกือบหมดคลัง จน Nintendo ต้องเพื่มเมือง Los Angeles, Chicago และ San Francisco เข้าไป และทำการวางจำหน่ายทั่วสหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายนปี 1986 โดยสามารถทำยอดขายไปได้มากถึง 1.1 ล้านเครื่อง ส่วนยอดขายสุดท้ายที่วางขายทั่วโลกนั้นอยู่ที่ 61.91 ล้านเครื่อง
หลังจากนั้นทาง Nintendo จึงได้ทำการวางขายเจ้าเครื่อง Nintendo Entertainment System ต่อไป และทำการปฏิวัติวงการเกมครั้งยิ่งใหญ่ โดยทำการออกลิขสิทธิ์ที่ถูกเรียกว่า “Licensed By Nintendo” ที่จะทำให้มีแต่เกมที่ถูกตรวจสอบแล้วเท่านั้นที่สามารถวางขายตามร้านได้อยากถูกต้องได้ (ป้องกันเรื่องเกมเถื่อนและเกมละเมิดลิขสิทธิ์) และ “Official Nintendo Seal of Quality” ที่ได้ตัดปัญหาเรื่องวีดีโอเกมไร้คุณภาพจนเกลื่อนในยุคก่อนหน้า เพราะหากกล่องตลับเกมไหนไม่มีตรานี้ รับรองได้ว่านั้นไม่ใช่เกมที่มีคุณภาพแน่นอน และทำให้เหล่าค่ายเกมตั้งใจปั้นเกมคุณภาพเพื่อให้ได้ตราสัญลักษณ์นี้มาสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ทำให้วงการเกมกลับมามีอนาคตที่สดใสอีกครั้งและสร้างรากฐานให้ทุกสิ่งทุกอย่างของวงการเกมที่ออกมาหลังจากนี้ เรียกได้ว่า Nintendo กลายมาเป็นหลักไมล์สำคัญของวงการเกมที่ทำให้เหตุการณ์ Video Game Crash ที่มีอิทธิพลยาวนานถึง 2-3 ปี ได้สิ้นสุดลง
ส่วนทางฝั่ง R.O.B. ถึงจะได้รับความสนใจจากเหล่าร้านค้าเป็นจำนวนมาก แต่ตัวของมันเองกลับไม่สามารถทำยอดขายได้ดีเท่าไหร่ เพียงแต่ทาง Nintendo เองก็มองว่าเจ้าหุ่นยนต์นี้เป็นหลักไมล์สำคัญที่ทำให้ปู่นินและวงการเกมสามารถยืนมาอยู่จุดนี้ได้ ทำให้ปู่นินยกย่องเจ้าหุ่นตัวนี้ราวกับลูกของตนเอง และพยายามใส่ Easter Eggs หรือสิ่งต่าง ๆ ที่สื่อถึงเจ้าหุ่นยนต์นี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะกับซีรี่ส์เกม Super Smash Bros. ที่ R.O.B. กลายมาเป็นตัวละครที่เล่นได้เพียงตัวเดียวที่มีที่มาจาก Hardware หรืออุปกรณ์เสริมนั้นเองครับ
เป็นยังไงกันบ้างครับ สำหรับเรื่องราวของ R.O.B. อุปกรณ์เสริมสุดเจ๋งจากทาง Nintendo ที่ถึงแม้จะมีไอเดียที่ดีแต่กลับใช้งานจริงได้ไม่ค่อยเข้าท่าเสียเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามเรื่องราวของมันก็ต้องใช้ว่าปูพรมยาวเอาเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงเหตุการณ์ Video Game Crash ในปี 1983 หรือจะเป็นการเข้าสู่วงการเกมของ Nintendo ที่ปูพรมไปมากลายเป็นว่าเจ้าหุ่นยนต์นี้มีส่วนสำคัญต่ออุตสาหกรรมเกมเป็นอย่างมาก ซึ่งหากเราเอามากรองเอาสาระที่พูดถึงเจ้า R.O.B. โดยตรง แน่นอนว่าบทความมันไม่ยาวขนาดนี้หรอก แต่เพื่อความสะใจของตัวผู้เขียนและอยากให้ผู้อ่านได้รับความรู้กันแบบเต็มเหนี่ยว เราก็เลยทำการปูเนื้อหาเพื่อทำให้ตัวบทความตัวนี้มีความน่าสนใจ และกลายเป็น 1 ในแหล่งศึกษาข้อมูลภาษาไทยที่ดีสำหรับวงการเกมในบ้านเราครับ
และแน่นอนเนื่องจากบทความนี้ใช้เวลาในการเขียนที่ค่อนข้างนาน ทำให้อาจจะมีข้อมูลที่ผิดพลาดได้ ถ้าหากพบข้อมูลที่ผิดพลาดหรือผิดเพี้ยน โปรดแจ้งเราได้ที่หลังไมค์ของทางเพจ หรือทำการแสดงความคิดเห็นกันได้ด้านล่างครับ เราพร้อมที่จะแก้ไขและปรับปรุงเสมอครับ