ระบบฟื้นฟูเลือดอัตโนมัติหรือ Regenerating Health ได้อยู่คู่เกมเมอร์มานานแสนานตั้งแต่ยุคสมัย PlayStation 2 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าระบบดังกล่าวมักนิยมเห็นในเกมแอ็กชันหรือเกม FPS จนกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของวงการเกมไปแล้ว แต่เรื่องราวเริ่มต้นของการฟื้นเลือดด้วยตัวเองเริ่มต้นมาจากไหนนั้น บทความนี้จะเล่าสู่กันฟัง
เกมเมอร์หลายคนอาจคิดว่าระบบฟื้นเลือดอัตโนมัติ เริ่มมาจากเกมแนวแอ็กชัน FPS ในยุค PlayStation 2 แต่ความจริงแล้ว ระบบดังกล่าวเริ่มมีตั้งแต่ช่วงปี 1980 โดยมีเกมแรกที่ใช้ระบบฟื้นตัวเองคือ Hydlide เกม J-RPG โดย T&E Soft บนระบบ PC ที่มียอดขายฮิตถล่มทลาย แต่มีกระแสรีวิวระดับ Mediocre
แม้ว่าเกมดังกล่าวมีกระแสตอบรับย่ำแย่ แต่อย่างน้อย Hydlide ก็มีการนำเสนอระบบเกมที่น่าสนใจอย่างระบบ Quick Save และการฟื้น HP กับ MP เองอัตโนมัติเพียงแค่การยืนนิ่ง หรือที่เราเรียกกันว่า Regenerating Health
ด้วยตัวเกม Hydlide ที่มีกระแสยอดขายโด่งดังในญี่ปุ่น ทำให้ระบบดังกล่าว เริ่มเป็นที่รู้จักต่อนักพัฒนาเกมหลายฝ่าย แล้วรับแรงบันดาลไปใช้ในเกมอื่นต่อมา จนกระทั่งการถือกำหนดของแฟรนไชส์เกม RPG ชื่อดังอย่าง Ys I: Ancient Ys Vanished ของ Sega Master System และ PC Engine ในปี 1988 ซึ่งได้เริ่มใช้ระบบฟื้นหลอดเลือดตัวเองอัตโนมัติตั้งแต่เกมภาคแรก และเนื่องจากแฟรนไชส์ Ys เริ่มโด่งดังทั้งในประเทศญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ (ในขณะที่ Hydlide ดังในญี่ปุ่นเท่านั้น) ทำให้ระบบ Regenerating Health กลายเป็นที่รู้จักต่อวงการเกมทั่วโลก
นับตั้งแต่ปี 1990-2000 เกม RPG หลายเกมเริ่มใช้ระบบ Regenerating Health จนกลายเป็นมาตรฐานที่เกม RPG เกือบทุกเกมต้องมีติดตัวไว้เป็น Passive Skill แต่ทว่าเกม Halo: Combat Evolved หรือเกม FPS ของ Xbox ได้นำเสนอระบบฟื้นพลังแบบใหม่ที่แตกต่างและมีความคิดสร้างสรรค์ด้วยระบบ Shield หรือเกราะของผู้เล่นที่มีความสามารถรับแรงความเสียหายจากการถูกโจมตีได้ พร้อมทั้ง Shield จะสามารถทำการฟื้นพลังตัวเองตามอัตโนมัติ แต่ถ้าหากเกมเมอร์ได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่อง ระบบ Shield ก็จะแตก แล้วผู้เล่นจะได้รับเสียหายเป็นหลอดเลือดแทน
หลังจากเกม Halo: Combat Evolved ได้รับความนิยมอย่างถล่มทลายจนกลายเป็นหนึ่งในสุดยอดเกม Multiplayer ของแพลตฟอร์ม Xbox ก็ทำให้ Call of Duty 2 ตัดสินใจปรับเปลี่ยนระบบเลือดเป็นรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงวงการเกม FPS และเกมแอ็กชันไปตลอดกาล
จากเดิมที่ Call of Duty ภาคแรก ใช้ระบบหลอดเลือดเหมือนเกมทั่วไปที่ผู้เล่นต้องคอยหากล่องปฐมพยาบาลตลอดเวลา ในเกม Call of Duty 2 นั้น ทีมงานได้เปลี่ยนไปใช้ระบบการฟื้นตัวเองอัตโนมัติแทน แต่แตกต่างจากเกม RPG ที่ฟื้นฟูหลอดเลือดอย่างช้า ๆ สำหรับ CoD 2 จะไม่มีหลอดเลือดอีกต่อไป แต่ทดแทนด้วยการแสดงความเสียหายบนหน้าจอเป็น “สีแดงเลือด”
นอกจากนี้ ระยะเวลาการฟื้นตัวก็มีความรวดเร็วราวกับพลังเวทมนตร์ รวมถึงผู้เล่นจะไม่สามารถฟื้นตัวเองจนกว่าหาที่กำบังหรือไม่ได้รับความเสียหาย ซึ่งระบบดังกล่าว ทำให้ระบบเกมการเล่นของ Call of Duty มีความง่ายขึ้น แต่ยังคงต้องระมัดระวังตัวเองไม่ให้รับความเสียหายมากจนเกินไป
ระบบ Regenerating Health ของเกม Call of Duty 2 ได้เปลี่ยนมาตรฐานของเกมแนวแอ็กชันไปทั่วโลก ซึ่งนอกจากระบบดังกล่าวถูกนำไปใช้ในเกมภาคต่อจนถึงเกมล่าสุดอย่าง Call of Duty: Modern Warfare แล้ว เกมแอ็กชันโด่งดังเกมอื่นอย่าง Uncharted, Just Cause, Metal Gear Solid V: The Phantom Pain และเกมอื่น ๆ อีกมากมายก็ใช้ระบบที่ได้แรงบันดาลใจจาก CoD2
ซึ่งความจริงแล้วไอเดียระบบ Regenerating Health ของ Call of Duty 2 ได้มีการคิดค้นโดยเกมก่อนหน้าอย่าง The Gateway พัฒนาโดย Team Soho ของ PlayStation 2 แต่เนื่องจากกระแสความโด่งดังของเกมยังไปไม่ถึงจุดสุดยอดเหมือนกับ Call of Duty 2 ทำให้ถูก CoD 2 ได้แย่งซีนนวัตกรรมจาก The Gateway ไปโดยปริยาย
แน่นอนว่าหลังจาก Call of Duty 2 เป็นผู้สร้างกระแสระบบ Regenerating Health จนกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของเกมแนวแอ็กชัน ก็มีนักพัฒนาเกมบางส่วนพยายามออกแบบระบบฟื้นฟูตัวเองให้มีความหลากหลายมากขึ้น
F.E.A.R เป็นเกม FPS สยองขวัญจิตวิทยาที่มีระบบฟื้นหลอดเลือดอัตโนมัติ เมื่อผู้เล่นกำลังจะตาย ถ้าหากหลอดเลือดผู้เล่นมีต่ำกว่า 25% ตัวเกมจะเปิดระบบฟื้นฟูตัวเองจนกว่าหลอดเลือดจะเต็ม 25% ซึ่งถ้าหากเกมเมอร์ต้องการเติมหลอดเลือดเต็ม 100% ก็ต้องหาชุดไอเทมปฐมพยาบาลหรือไอเทมอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติฟื้นพลังชีวิตตัวเองได้ ซึ่งระบบ Regenerating Health ดังกล่าว ก็ได้รับความนิยมในหมู่เกมแนวแอ็กชัน และเกม RPG หลายเกมเช่นกัน อย่างเช่น Grand Theft Auto V เป็นต้น
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้ระบบ Regenerating Health ได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของวงการเกมแอ็กชันหรือ RPG จนถึงทุกวันนี้ ในขณะที่ระบบหลอดเลือดแบบดั้งเดิมที่ต้องฟื้นฟูด้วยการใช้หรือเก็บไอเทม ก็ยังคงมีให้ตามเกมประเภทดังกล่าวเช่นเดียวกัน
แหล่งที่มา: Stop, Drop, and Heal: The history of regenerating health, Regenerating Health (Concept)