หลังจากกระแสม็อดอนิเมะของเกม Fallout 4 ได้สร้างกระแสให้ผู้เล่นหันกลับมาเล่นดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เหล่าคอมมูนิตี้เกมรู้สึกอบอุ่นหัวใจทุกครั้งที่พบเห็นเกมเก่าถูกรื้อให้พูดถึงอีกครั้ง แม้เป็นเกมปี 2015 ก็ตาม
แต่เท่าที่สังเกตมา เกมเมอร์อย่างพวกเรามักแบ่งปันพูดคุยเกี่ยวกับเกมเก่าที่นิยมกลับมาเล่นอีกครั้ง โดยยกเหตุว่าเป็นเกม Replay Value เยอะ อยู่เสมอ
ซึ่งคำศัพท์นี้ใช้สำหรับวงการวิดีโอเกมมานานมากแล้ว แต่เกมเมอร์ชาวไทยบางคนอาจยังไม่เข้าใจว่าเกมดังกล่าวมีดีอย่างไร แล้วทำไมเกมเก่าอายุมากกว่า 10 ปี ยังคงมีการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง บทความนี้จะอธิบายให้กระจ่างเองครับ
Replay Value คืออะไร ?
คำว่า Replay Value ถ้าหากแปลตรงตามภาษาอังกฤษ มีความหมายว่า “คุณค่าในการกลับมาเล่นอีกครั้ง” เป็นคำศัพท์ที่ใช้กับวิดีโอเกมที่มีคุณสมบัติดึงดูดให้ผู้เล่นกลับมาเล่นอีกใหม่อีกรอบ โดยไม่มีจำกัดเวลา ซึ่งแม้เว้นระยะห่างนานถึง 1-3 ปี ตัวเกมก็ยังคงกลับมาเล่นสนุกได้อีกรอบ
ก็ต้องบอกก่อนว่า “คุณค่าในการกลับมาเล่น” กับ “เกมไม่มีวันตาย” มีความหมายที่ไม่เหมือนกัน ในขณะที่เกมไม่มีวันตายคือเกมระดับตำนานที่ช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ให้วงการเกม แต่เกมที่มีคุณค่าในการกลับมาเล่นอีกครั้ง คือเกมที่แม้ว่าเวลาผ่านนานแค่ไหน ผู้เล่นก็สามารถกลับมาเล่นสนุกสนานเท่าเดิม
เกมที่มีคุณค่าในการเล่นซ้ำที่ดี ไม่มีตัวชี้วัดอย่างชัดเจน เพราะขึ้นอยู่กับรสนิยมการเล่นเกมของแต่ละคนซะมากกว่า แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว องค์ประกอบหลักมีดังนี้
Plot เกมไม่ตายตัว กับ Lore ช่วยให้เกมน่าค้นหา
เนื้อเรื่องเกมแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ Linear เนื้อเรื่องดำเนินเป็นเส้นตรง กับ Non-Linear ที่เนื้อหาไม่เป็นเส้นตรง
ถึงแม้ว่าเนื้อเรื่องประเภท Linear จะมีเป้าหมายชัดเจน โครงสร้างเนื้อเรื่องส่วนใหญ่ไม่ซับซ้อน และมีคุณภาพมากกว่า แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธว่ามีผลลัพธ์ทำให้เกมมีคุณค่ากลับมาเล่นซ้ำต่ำ เพราะไม่มีอะไรน่าค้นหา เรารู้เรื่องทั้งหมด จบเกมแล้วจบเกมเลย
ตรงกันข้าม Non-Linear แม้มีโครงสร้างเนื้อเรื่องที่ซับซ้อนกว่า Linear หลายเท่า, ตัวเลือกเยอะกว่า และคุณภาพ Lore ต้องแน่นพอสมควร แต่หากผ่านการคราฟต์อย่างพิถีพิถัน มันกลายเป็นเกมที่น่าค้นหาโดยทันที เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีตายตัว กับบทสรุปขึ้นอยู่กับการกระทำของผู้เล่น
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่นเกม Fallout: New Vegas ซึ่งมีฉากจบหลักอยู่สี่แบบแต่ฉากจบย่อยจะแตกละเอียดมากกว่า 100 ฉากจบ โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้เล่นสามารถเก็บเนื้อหาครบเยอะแค่ไหน หาก NPC ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่น NPC ตัวนั้นจะไม่มีการกล่าวถึงอีกเลย เป็นต้น
และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเกมเนื้อหา Non-Linear กับ Lore แน่น จึงรู้สึกน่าค้นหากว่าเกมที่เล่าเรื่องเส้นตรง เพราะยังมีประเด็นอีกหลายอย่างที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนจากการเล่นจบครั้งแรก โดยรอบต่อไป เกมเมอร์จะสามารถใช้เวลากับการค้นหาอย่างเต็มที่ โดยมีพลัง Lore คอยค้ำจุนผู้เล่นให้ติดตามเนื้อหาของเกมต่อไป
เกมเพลย์เล่นสนุกและไม่น่าเบื่อ
เกมที่มีคอนเทนต์เยอะมาก ย่อมต้องมีกิจกรรมเลือกทำเยอะแยะในโลกวิดีโอเกม แต่ถ้าหากเกมเพลย์ไม่สนุกสนานมากพอ มันสามารถเป็นพิษร้ายส่งผลทำให้เราเบื่อหน่ายกับการเล่นเกมอย่างรวดเร็ว (ใช่ MAFIA III คุณนั่นแหละ!)
การทำเกมที่มี Replay Value สูง ต้องมีคุณภาพเกมเพลย์ที่ชวนเสพติด, สนุกสนาน และไม่ซ้ำซากจำเจจนเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่เกมเหล่านี้พบเห็นตามเกม Multiplayer หรือเกม Singleplayer ที่มีความท้าทาย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
Dark Souls เป็นหนึ่งในเกม Singleplayer ที่มีคุณค่าในการเล่นซ้ำเยอะในมุมมองของเหล่า Hardcore Player เพราะเกมเพลย์มีความท้าทายสูง, น่าตื่นตาตื่นใจ, แต่ละอาชีพมีรูปแบบการเล่นแตกต่างกัน และต้องอาศัยการเรียนรู้หรืออ่านจังหวะของศัตรูเพื่อเกมเมอร์เก่งขึ้น ฉะนั้นนักเล่นเกมสายเลือดเกมเมอร์ 100% จึงยอมรับว่าเกมนี้เป็นเกมที่เหล่าฮาร์ดคอร์เกมเมอร์ไม่ควรพลาดทั้งปวง !
แต่ยกตัวอย่างเฉพาะเกมที่สร้างขึ้นเพื่อเกมเมอร์อาจจะไม่แฟร์เท่าไหร่นัก เรามายกตัวอย่างเกมสุด Causal อย่าง Microsoft Pinball ที่เกมเมอร์หลายคนต้องผ่านไม้ผ่านมือมาบ้างในช่วงยุค Windows 95 ถึง Windows ME ซึ่งมันเป็นเกมเล่นง่าย แต่กลับรู้สึกเสพติดอย่างเหลือเชื่อ
เกม Multiplayer หลายเกมก็มี Replay Value เยอะไม่ใช่น้อยเช่นกัน ไม่ว่า Team Fortress 2, Overwatch, Battlefield หรือ Call of Duty เพราะเนื่องจากเราต้องปะทะกับฝีมือผู้เล่นหลายระดับ ทำให้เกมการเล่นมีหลากรสชาติ ทั้งชัยชนะ, พ่ายแพ้, ผิดหวัง, หัวร้อน เป็นต้น
แต่สุดท้าย ไม่ว่าวิดีโอเกมประเภทอะไร แต่ประสบการณ์ที่ส่งตรงถึงไปถึงผู้เล่นมากที่สุด คือ “ความสนุกสนาน” และด้วยเนื้อหาแปลกใหม่น่าสนใจจะช่วยบัฟให้คุณค่าในการเล่นซ้ำเยอะขึ้นตามมาเอง
เนื้อหายังมีอีกหลายอย่างเป็นปริศนา
ในบางครั้ง เกมเมอร์ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องหมดซะทุกเรื่อง ฉะนั้นเนื้อหาเกมบางประเภทจึงต้องล็อกหรือเก็บเงียบเป็นปริศนาต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เล่นต้องทำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ หรือค้นหาด้วยตัวเองจากการสำรวจพื้นที่
ถึงแม้การ Unlock โหมดหรือเนื้อหาพิเศษเป็นเพียงออฟชั่นเสริมที่จะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่ถ้าหากเกมเมอร์คาดหวังกับผลลัพธ์ที่ดีกว่า, รู้สึกคุ้มค่ามากพอที่จะปลดล็อก หรือมีเนื้อหาน่าสนใจ ผู้เขียนเชื่อว่าไม่ว่าเป็นเกมเมอร์สาย Casual หรือ Hardcore Player ย่อมไม่สามารถปล่อยผ่านเนื้อหาเหล่านั้น แม้จะยากลำบากมากแค่ไหนก็ตาม
Mod ช่วยให้การเล่นเกมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เกมเมอร์ทราบดีอยู่แล้วว่าเนื้อหา Mod มีหน้าที่ช่วยให้บรรยากาศโดยรวมจากการเล่น มีความแปลกใหม่จากหน้ามือเป็นหลังมือ
กระแส Mod ร้อนแรงที่สุดในตอนนี้คงหนีไม่พ้น Animerace Nanakochan ของ Fallout 4 ที่เป็นการเพิ่มเชื้อชาติให้ผู้เล่นสามารถเล่นเป็นตัวละครอนิเมะญี่ปุ่น ซึ่งเนื้อหานี้ขึ้นแท่นเป็นเทรนด์อันดับหนึ่งของม็อดประจำสัปดาห์จากเว็บไซต์ Nexus Mod และได้รับเสียงชื่นชมจากคอมมูนิตี้ส่วนใหญ่ว่า “มันดูขัดกับบรรยากาศโดยรวมก็จริง แต่มันเจ๋งมาก” หรือ “ม็อดมีคุณภาพ”
นอกจากนี้ คอมมูนิตี้ม็อดของ Fallout 4 มีความพยายามจะแก้ไขตัวเกมด้วยการปล่อย Unofficial Patch หรือยกระดับเกมเพลย์ให้สนุกยิ่งลึกขึ้น เช่นโหมด Bullet Time หรือเพิ่มไอเท็มชนิดกระเป๋าที่ช่วยให้เกมการเล่นง่ายขึ้น แต่สมเหตุสมผลและแฟร์
ซึ่งแน่นอนว่ายังมีเกมเมอร์อีกหลายท่าน ยังไม่ทราบว่าเกมบางเกมมีเนื้อหาม็อดที่สร้างขึ้น เพราะ Passion ของเหล่าผู้เล่นที่มีต่อเกมดังกล่าว ดังนั้นอย่าเกรงกลัวว่าการใช้ม็อดจะเป็นการทำลายอรรถรสของเกม แต่เป็นการใช้เพื่อส่งเสริมให้คอมมูนิตี้แข็งแรงและพัฒนาเกมต่อไปให้ดียิ่งขึ้นครับ
สรุป
เกมเมอร์หลายท่านอาจจะนึกถึงเกมประเภท RPG เป็นเกมแรกที่มี Replay Value เยอะ เพราะองค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนมีอยู่ในเกมประเภทดังกล่าวเกือบทั้งสิ้น
แต่ไม่ถูกต้องไปหมดซะทีเดียว เพราะยังมีวิดีโอเกมอีกหลายชิ้นที่มีคุณค่าในการเล่นซ้ำที่ไม่ใช่เป็นเกม RPG เสมอไป บางครั้งเป็นเกมประเภทสยองขวัญ-เอาตัวรอด เช่น Resident Evil 2, เกมวางแผนอย่าง Red Alert 2, เกมกีฬาสเกตบอร์ดเอ็กซ์ตรีม Tony Hawk’s Pro Skate และเกมอื่น ๆ อีกมากมายที่ผู้เล่นพร้อมกลับมาเล่นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะหนึ่งปี, ห้าปี หรืออีกสิบปีข้างหน้า
สุดท้าย ผมคิดว่า Replay Value ไม่ได้วัดกันที่ปริมาณคอนเทนต์หรือเนื้อเรื่องที่น่าจดจำ แต่เป็นระบบเกมเพลย์ต่างหากที่เป็นตัวช่วยให้เพิ่มพลังเกจ “คุณค่าในการกลับมาเล่นอีกครั้ง” สูงขึ้น โดยมีองค์ประกอบอื่นของเกมมาเป็นตัวช่วย ไม่ว่าจะเป็นม็อด, สเกลแผนที่ และการนำเสนอครับ