BY Aisoon Srikum
25 Feb 25 10:00 pm

รีวิว Two Point Museum

849 Views

ซีรีส์เกม Two Point กลับมาอีกครั้ง หลังจากให้เราบริหารจัดการโรงพยาบาลและสถานศึกษา ในคราวนี้เราจะได้บริหารจัดการพิพิธภัณฑ์กันบ้าง และใน Two Point Museum จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง มาติดตามกันได้กับบทความรีวิวของเรากัน

Two Point Museum ว่าด้วยเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ที่ถูกปล่อยให้ซอมซ่อ เรารับหน้าที่เข้ามาเป็นภัณฑารักษ์คนใหม่ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จากนั้นหน้าที่ของเราคือการดูแลและฟื้นฟูพิพิธภัณฑ์ให้กลับมาเป็นที่นิยม และมียอดผู้เข้าชมกันอีกครั้ง โดยผู้เล่นจะเลือกเล่นได้ 2 แบบคือส่วนของโหมด Campaign ที่เราจะเล่นไปตามเนื้อเรื่องหลัก และอีกโหมดคือโหมด Sandbox หรือโหมดที่จะมอบอิสระให้กับผู้เล่น

สำหรับโหมด Campaign นั้น จะว่าไม่ต่างจาก Tutorial เพื่อสอนผู้เล่นก็ว่าได้ ทุกอย่างจะดำเนินไปตามที่ตัวเกมแนะนำ ในช่วงแรกเริ่ม ตั้งแต่สอนการปรับมุมกล้อง การจัดวางวัตถุโบราณในมุมหรือรูปแบบต่าง ๆ จนเข้าสู่ช่วงที่ผู้เล่นพอจะเข้าใจภาพรวมของระบบเกมทั้งหมด จากนั้นจะเล่นต่อหรือจะไปลองระเบิดไอเดียสร้างสรรค์ในโหมด Sandbox ดูก็ได้

จุดเด่นของซีรีส์ Two Point ที่มีมาตั้งแต่ภาค Hospital เลยก็คือ แม้จะเป็นเกม Management ที่เน้นด้านการบริหารจัดการ แต่ตัวเกมเข้าถึงได้ง่าย และมีการออกแบบระบบและดีไซน์เกมที่เข้าใจได้ง่ายมาก ๆ ระบบมีความเยอะ และลึกก็จริง แต่โหมดฝึกสอนและการจัดวางคำอธิบาย รวมไปถึงการใช้ไอคอน หรือภาพแทนการอธิบายนั้น เขาทำได้ดีมาก ๆ ซึ่ง Two Point Museum เองก็เช่นกัน ในทุก ๆ หน้าต่างเมนูและข้อมูลที่เป็นรายละเอียดสำคัญกับผู้เล่น จะถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบ เปิดขึ้นมาแล้วไม่ได้รู้สึกว่ามันได้รับข้อมูลมากเกินไป หรือเข้าใจยากโดยไม่มีเหตุจำเป็น

Story – ชีวิตระดับผู้บริหารไม่เคยง่าย

สำหรับเกมการเล่นเบื้องต้น หลัก ๆ แล้วเราจะได้พื้นที่หนึ่งมา เพื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ และทำตามภารกิจกำหนดไปเรื่อย ๆ ซึ่งมันจะสอนให้เราเรียนรู้ระบบต่าง ๆ แบบคร่าว ๆ เพราะเอาจริง ๆ แล้วเกมนี้มันมีระบบแฝงยิบย่อยอยู่เยอะมาก ชนิดที่ถ้าไม่กดไปอ่านเอง หรือเจอเอง เราอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีระบบนี้ และเราจะได้รู้ทันทีว่า การเป็นหัวหน้างานหรือเป็นระดับผู้บริหารนั้น ชีวิตจะยุ่งและวุ่นวายมากขนาดไหน เพราะต้องบริหารจัดการแทบจะทุกภาคส่วนเท่าที่ทำได้

ในส่วนของเนื้อเรื่องนั้น เกมจะไม่ได้เล่าอะไรมาก นอกจากเกริ่นว่าเราเป็นภัณฑารักษ์หน้าใหม่เท่านั้น นอกนั้นจะเป็นเรื่องของการบรรยายสภาพบรรยากาศของฉาก ในเมือง หรือเรื่องราวยิบย่อยของสถานที่ที่เราไปออกสำรวจ การตามอ่าน อาจจะได้ข้อมูลหรือความอินมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้สำคัญอะไรขนาดนั้น ถ้าใครจะมาหาเนื้อเรื่องจากเกมนี้ก็อาจจะไม่ใช่เกมที่คุณต้องการสักเท่าไรนัก

ต่อมาเริ่มแรกคือเรื่องของพื้นที่ เนื่องจากโหมดแคมเปญนั้น ส่วนใหญ่แล้ว หากเราพยายามลัดเลาะขั้นตอนด้วยการพยายามสร้างพื้นที่เอง จะทำให้เกมเล่นลำบากโดยไม่จำเป็น ช่วงแรกเราจึงต้องพยายามจัดวางสิ่งของต่าง ๆ ให้ได้เหมาะสมกับพื้นที่ที่ได้มามากที่สุด สำหรับวัตถุที่ใช้โชว์แต่ละชิ้น จะมีสิ่งที่เรียกว่า Buzz หรือค่าความตื่นเต้นของเหล่าผู้มาเยี่ยมชม วัตถุแต่ละชิ้นจะมีค่า Max Buzz สูงสุดที่ต่างกัน โดยเมื่อเราวางวัตถุชิ้นใดลงไปแล้ว ตัวเกมจะมีบอกชัดเจนว่าทำยังไงให้ค่า Buzz ของวัตถุชิ้นนั้นเพิ่มถึงค่าสูงสุดได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการวางวัตถุประเภทเดียวกันเอาไว้ใกล้กัน หรือตกแต่งเสริมด้วย Decoration หรือของตกแต่งต่าง ๆ

ผู้เล่นจะมีอิสระในการเลือกว่าจะจัดโซนพิพิธภัณฑ์ยังไงให้เหมาะสมกับการเข้าเยี่ยมชม เพราะท้ายที่สุดแล้ว พิพิธภัณฑ์จะไม่ได้มีแค่การโชว์วัตถุโบราณ แต่จะมีส่วนของร้านขายของที่ระลึก แผนกวิจัย และพื้นที่ทำงานสำหรับเหล่าเจ้าหน้าที่ที่เราจ้างมา ไปจนถึงตู้กดน้ำและอาหารแบบอัตโนมัติ ยิ่งอัปเกรดเลเวลพิพิธภัณฑ์ขึ้นไปสูง ๆ ก็จะยิ่งมีสิ่งของสำหรับอำนวยความสะดวกที่มากขึ้น และคอยให้บริการเหล่าผู้มาเยือนมากขึ้น เช่นร้านกาแฟ ตู้ขายสิ่งของอัตโนมัติและอื่น ๆ อีกเพียบ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะบริหารจัดการยังไงให้ออกมาสวยและดึงดูดลูกค้ามากที่สุด

Presentation – วางแผนจ้างพนักงานให้คุ้มค่าเงินที่สุด (8)

และพิพิธภัณฑ์จะขาดเหล่าพนักงานไปไม่ได้ สำหรับใครที่เคยเล่นเกมซีรีส์ Two Point มาก่อนนั้น จะรู้ว่าความละเอียดของการจ้างบุคลากรนั้น ถือว่าละเอียดพอสมควร อย่างของ Two Point Museum นี้ หลัก ๆ แล้วจะมีเรื่องของ Assistant หรือตำแหน่งพนักงานทั่วไป ที่เราจะกำหนดได้ว่าจะให้ไปทำอะไร มีทั้งขายตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ เป็นพนักงานคิดเงินที่ร้านของที่ระลึก และอื่น ๆ ส่วนอีกสามตำแหน่งคือ Experts ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลวัตถุโบราณ, Janitor คนทำความสะอาด และ Security Guard เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เพื่อคอยเก็บเงินบริจาคหลังผู้เข้าชมเยี่ยมชมเสร็จแล้ว

ก่อนที่เราจะเลือกจ้างพนักงานแต่ละคนนั้น เราสามารถสังเกตค่าสถานะต่าง ๆ ที่มากับตัวพนักงานได้ บางคนอาจจะมี Trait หรือความสามารถเริ่มต้นที่ดี แต่มี Passive ที่ไม่ดีมาแทน อย่างพนักงานคนนี้มีความสามารถช่างเครื่อง (Workshop) ติดตัวมาแต่แรก ทำให้ไม่ต้องจับเข้าห้องสอนงาน แต่จะมี Trait ที่ขอเงินเดือนขึ้นบ่อย เป็นต้น ให้เราบาลานซ์ข้อดีและข้อเสียในการจ้างพนักงานแต่ละคนมาแทน

แน่นอน พอพูดถึงเรื่องเงินเดือน เราจะต้องจัดการเรื่อง Salary หรือเงินเดือนของพนักงานแต่ละคนด้วย ยิ่งวันเวลาผ่านไป พนักงานแต่ละคนทำงานประจำ ก็จะมีการอัปเลเวล ซึ่งมันก็จะเหมือนกับระบบประสบการณ์การทำงาน หากพนักงานคนไหนเลเวลอัป ก็จะปลดล็อคช่องติดตั้ง Perk โดยเราสามารถสร้าง Training Room เพื่อฝึกฝนพนักงานเหล่านี้เพิ่มได้ แต่การฝึกพนักงานให้มีทักษะที่เพิ่มขึ้น จะมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยมีทั้งค่าสร้างห้องฝึก ค่าฝึกสอน และรวมไปถึงหากพนักงานคนนั้น อัปเกรดทักษะพร้อมกับอายุงานที่มากขึ้น พวกเขาก็จะไม่พอใจกับเงินเดือนที่อยู่เท่าเดิมแน่ ๆ ผู้เล่นต้องอาศัยการเข้าไปดูหน้าต่างพนักงานบ่อย ๆ และจัดสรรเงินเดือนให้เหมาะสมกับพนักงานแต่ละคน

พนักงานจะทำงานไปตามความสามารถและตำแหน่งของตัวเองโดยอัตโนมัติ อย่าง Janitor จะคอยทำความสะอาดพื้นที่พิพิธภัณฑ์โดยรอบและห้องน้ำ รวมไปถึงเก็บเศษขยะ แต่บางอาชีพเราอาจจะต้องจัดการแบบ Manual นั่นก็คือสาย Experts ที่บางครั้งอาจจะต้องให้มาทำความสะอาดโบราณวัตถุบางอย่าง ก่อนที่มันจะสกปรกไปมากกว่านี้และทำให้ผู้เยี่ยมชมไม่พอใจ แต่สถานการณ์ส่วนใหญ่ พนักงานต่าง ๆ จะจัดการกันแบบอัตโนมัติอยู่แล้ว เรามีหน้าที่ควบคุมความพึงพอใจหลักอย่างการจ่ายเงินเดือนก็เพียงพอ

เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว การตัดสินใจว่าจะจ้างพนักงานคนใหม่มาแทนคนเก่า หรือจะฝึกคนเก่าให้เก่งยิ่งขึ้นไปอีกก็เป็นตัวเลือกที่ท้าทายไม่ใช่น้อย เพราะยิ่งเล่น เราก็มีโอกาสเจอพนักงานใหม่ที่เริ่มมาด้วยค่าสเตตัสสูงลิ่ว แถมยังเรียกเงินไม่มาก เพราะอายุงานไม่มี งานนี้เราก็จัดการเอาตามใจชอบ ว่าจะหาใหม่ไปเรื่อย ๆ หรือฝึกคนเดิมไปจนกว่าจะเทิร์นโปร และเราค่อยมาบริหารจัดการว่าจะให้พนักงานแต่ละคนทำงานในส่วนไหน หรือจ้างคนใดเพิ่มบ้าง

ในขณะที่กราฟิกของเกมนี้ ยังคงใช้รูปแบบเดียวกันกับ Two Point ทั้งสองภาคที่ผ่านมา ด้วยการนำเสนอกราฟิกในรูปแบบตัวการ์ตูน ทำให้ไม่กินสเปคเท่าที่ควร ใครเคยเล่นสองภาคที่ผ่านมาของซีรีส์นี้ก็สามารถเล่นภาคนี้ได้สบาย ๆ

Gameplay – ออกตามหาวัตถุโบราณเพิ่ม ขยายเลเวลและสาขาพิพิธภัณฑ์ (9)

และหากเราจะทำให้พิพิธภัณฑ์ของเราเติบโตขึ้น สิ่งสำคัญคือการออกตามหาวัตถุโบราณเพิ่ม เพื่อทำให้มีผู้เยี่ยมชมและทำให้เลเวลพิพิธภัณฑ์ของเราสูงขึ้น เกมนี้จะมีสิ่งที่เรียกว่าระบบ Expedition หรือการออกสำรวจ โดยเราจะสามารถส่งพนักงานของเราไปออกสำรวจ เพื่อรับวัตถุโบราณชิ้นใหม่ ๆ เข้ามาจัดโชว์ในพิพิธภัณฑ์ของเราได้ โดยการออกสำรวจในช่วงแรกจะใช้พนักงานสาย Experts เท่านั้น การออกสำรวจแต่ละครั้งจะมีระยะเวลาไม่เท่ากัน แล้วแต่ว่าเราจะทำการสำรวจละเอียดขนาดไหน ยิ่งสำรวจละเอียดก็ยิ่งต้องใช้เงินทุนสูง รวมไปถึงมีโอกาสสุ่มเจอสถานการณ์มากมาย

การออกสำรวจ จะมีโอกาสได้วัตถุโบราณกลับมาจัดโชว์ และหากเป็นวัตถุโบราณหายาก มันจะไม่ได้มีแค่ชิ้นเดียว แต่เราต้องหามาประกอบกันให้ครบจำนวน แต่เราสามารถจัดตั้งวัตถุโฐราณที่ยังไม่สมประกอบได้ เพียงแต่จะได้ค่า Buzz ที่ต่ำกว่าที่ควรจะได้เท่านั้น การออกสำรวจในช่วงหลัง จะไม่ได้มีแค่สาย Experts เท่านั้น แต่จะสามารถพาพนักงานทั่วไป พาคนทำความสะอาดไป และต้องฝึกสกิลให้กับเหล่าพนักงานด้วย เพราะบางที่ก็ต้องค้างคืน หรืออยู่กันยาว ๆ ไปคนเดียวไม่ได้ นอกจากนั้นยังสามารถให้เหล่าทีมสำรวจพกไอเทมไปช่วยเหลือได้ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าพยาบาลลดอาการบาดเจ็บ หรือใช้ไอเทมลดค่าใช้จ่ายในการออกสำรวจก็ทำได้

ยิ่งเล่น เราจะยิ่งเจอกับวัตถุโบราณชนิดพิเศษ หรือแบบเฉพาะที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างดี อย่างถ้าเกิดว่าเราไปสำรวจในพื้นที่ภูเขาหิมะ วัตถุโบราณที่เราได้กลับมาส่วนใหญ่จะเป็นของแช่แข็ง ทำให้เราจำเป็นจะต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้กับพิพิธภัณฑ์ด้วย ไม่อย่างนั้นก็จัดวางวัตถุโบราณไม่ได้

เมื่อจัดแสดงแล้ว ตัวเกมจะมีการระบุว่า มีผู้เข้าชมเท่าไร และได้กระแสรีวิวจากผู้เข้าชมอย่างไรบ้าง สิ่งนี้จะแปรเปลี่ยนไปเป็นค่าประสบการณ์ของพิพิธภัณฑ์ที่เมื่อปลดเลเวลจนสะสมดาวได้แล้ว เราจะได้สิทธิ์ในการดูแลพิพิธภัณฑ์สาขาใหม่ได้ โดยสาขาใหม่นั้นจะแยกใช้ทรัพยากรกัน เราจะได้เงินทุนก้อนใหม่ พื้นที่แบบใหม่ให้เราออกแบบและสร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์ของเราขึ้นอีกด้วย ใครที่ชอบเล่นแบบคุมธีม อาจสร้างให้สองสาขามีรูปแบบที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงไปเลยก็ได้เช่นกัน สาขาเพิ่มของเกมนี้จะมีทั้งหมด 5 สาขาด้วยกัน และคาดว่าหากเกมมีการอัปเดตเพิ่ม ก็อาจจะมีพื้นที่ใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก

พิพิธภัณฑ์ที่มีเลเวลสูงจะปลดล็อคสิ่งของใหม่ ๆ ได้ และการทำภารกิจตามโหมดแคมเปญนั้น จะมีสกุลเงิน Kudosh เอาไว้ให้ปลดล็อคสิ่งของที่เป็นแฟชันล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องปูพื้นลายใหม่ วอลล์เปเปอร์แบบใหม่ หรือแม้กระทั่งชุดยูนิฟอร์มของพนักงานแต่ละตำแหน่งได้ด้วย

โหมด Sandbox สำหรับคนชื่นชอบอิสระในการสร้าง

และหากว่าคุณเล่นแคมเปญแล้วรู้สึกว่าการสร้างถูกจำกัดตามระบบเกม และต้องค่อย ๆ เล่นไปเพื่อปลดล็อค ตัวเกมก็มีโหมด Sandbox ให้กับผู้เล่นด้วย สำหรับโหมดนี้ เมื่อเริ่มต้น ผู้เล่นสามารถเลือกและกำหนดเงินตั้งต้นและค่า Kudosh เองได้เลย เหมาะสำหรับคนที่อยากลองสร้างสรรค์ หรือถ่าย Photo Mode ไปอวดคนอื่นอีกที นอกจากนั้นโหมด Sandbox สามารถกำหนดตัวคูณรายได้ ปรับให้พนักงานรับเงินเดือนน้อยลง และรับเงินโบนัสทุกเดือนได้ ใครชอบสร้างสบาย ๆ ก็จัดไป

Performance – เล่นง่าย สบายเครื่อง การ์ดจอเก่าก็ยังไหว (10)

ด้วยความที่ตัวเกมซีรีส์ Two Point ก่อนหน้าก็ไม่ได้กินสเปคอะไรมาก จากสเปคที่ตัวเกมแนะนำ แค่การ์ดจอรุ่น 1070 ก็สามารถเล่นได้แล้วในขั้นแนะนำ หรือถ้าใครเคยเล่น Two Point ภาคเก่า ๆ มาก็สามารถเล่นได้ ส่วนของ Setting นั้น ตัวเกมแยกการตั้งค่าแบบละเอียด ๆ ได้ถึง 5 แบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา การปรับ Auto-Save และ Subtitle ส่วนนี้สามารถปรับได้ตามใจชอบ

แต่การตั้งค่าของเกมนี้ จัดว่าน้อย และไม่ได้ละเอียดเท่ากับเกมอื่น ๆ เพราะอย่างที่สเปคตั้งไว้ที่ 1070 เท่านั้น ตัวเกมสามารถปรับได้แบบสุด ๆ ก็คือจำพวก Bloom, Depth of Field และภาพรวมอย่าง Texture Quality ที่ถือว่าเป็นเบสิกของเกมนี้

ด้วยความที่เป็นเกมแบบบริหารจัดการ เรื่องสำคัญคือกาารหมุมมุมกล้อง เกมนี้เลยให้ความสำคัญกับเรื่องของการปรับมุมกล้องมาก เราตั้งค่าได้ละเอียดชนิดที่ว่าปรับความเร็วตอนหันมุมกล้อง ปรับแรงสั่นสะเทือน หรือปิดไปเลย หรือแม้กระทั่ง Invert Camera เลยก็ยังได้ ดังนั้นเรื่อง Performance ถือว่าสอบผ่านสบาย ๆ

ใครชื่นชอบเกมแนวบริหารจัดการ และอยู่กับซีรีส์ Two Point มาตั้งแต่ภาค Hospital นี่คืออีกหนึ่งเกมบริหารจัดการที่คุณไม่ควรพลาด แฟน ๆ เกมรอเล่นกันได้ในวันที่ 5 มีนาคมนี้

Aisoon Srikum

Back to top
×
×