BY KKMTC
13 Dec 23 5:35 pm

รีวิว Like a Dragon Gaidan: A Man Who Erased His Name – เกม Yakuza ขนาดเล็ก แต่คุณภาพไม่แพ้เกมหลัก

1,017 Views

Like a Dragon Gaidan: A Man Who Erased His Name เป็นเกม Spin-off ที่เล่าเรื่องผ่านมุมมองของ Kiryu Kazuma ในเหตุการณ์ภาค 7 โดยตัวเกมกลับมาใช้เกมเพลย์แนวต่อสู้ Beat ’Em Up ดั้งเดิม และมีเนื้อเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ แล้วเกมดังกล่าวจะถูกใจแฟน ๆ แค่ไหนนั้น มาอ่านในบทความรีวิวกันได้เลย

เนื้อเรื่อง

เหตุการณ์ Like a Dragon Gaidan: A Man Who Erased His Name (จากนี้จะเรียกชื่อเกมสั้น ๆ ว่า Like a Dragon Gaiden) เกิดขึ้นในปี 2019 ที่ Kiryu Kazuma ต้องทำงานให้องค์กรลับทางการเมือง Daidoji Faction โดยใช้นามแฝงว่า “Joryu” เพื่อซ่อนตัวตนของตัวเองที่เชื่อว่าตายไปแล้ว และช่วยสนับสนุนเด็กในสถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้าทานตะวัน (Sunflower Orphanage) อย่างลับ ๆ ตามที่ Kiryu ได้มอบข้อเสนอกับกลุ่ม Daidoji ไว้ในช่วงท้ายของเนื้อเรื่องภาค 6

จนกระทั่งวันหนึ่ง Kiryu ได้รับภารกิจต้องปกป้อง และตรวจสอบการขนส่งทองคำ อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวกลายเป็นเรื่องหลอกลวง รถบรรทุกที่เชื่อว่าขนส่งทองคำ กลายเป็นการขนส่งแก๊งปริศนาที่ถูกส่งตัวมาเพื่อทำร้ายกับลักพาตัวสมาชิก Daidoji Faction ซะเอง และดูเหมือนว่ากลุ่มดังกล่าวได้ต้องการอะไรบางอย่างจาก Kiryu ที่เชื่อว่าเสียชีวิตไปแล้ว ทำให้ Kiryu จึงต้องหาตัวผู้อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งหมด แล้วเผชิญหน้ากับอันตราย การตัดสินใจที่มีตัวตนของตัวเอง และคนรอบข้างที่เขารักเป็นเดิมพัน

เนื้อเรื่องของ Like a Dragon Gaiden อยู่ในเหตุการณ์ช่วงหลังภาค 6, ก่อนภาค 7 และระหว่างภาค 7 ที่ Kiryu ต้องออกผจญภัย เพื่อสืบหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ Daidoji Faction ถูกโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัวโดยฝีมือของแก๊งปริศนา

เนื่องจากเป็นเกม Spin-Off ความยาวเนื้อเรื่องจึงสั้นกว่าเกมหลักที่เล่นประมาณ 10 ชั่วโมงก็จบแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น คุณภาพของสตรี่ก็ยังรักษามาตรฐานไว้ได้ดี ด้วยเนื้อเรื่องน่าติดตาม มีความระทึก ฉากแอ็กชันต่อยตีมันเร้าใจ และฉากรามาที่เรียกน้ำตาให้กับเกมมอร์บางคนได้

แล้วด้วยเนื้อเรื่องที่มีสเกลเล็กลง และเน้นสำรวจตัวละคร Kiryu มากกว่าทุกภาคที่ผ่านมา การเล่าเรื่องจึงมีความกระชับมากขึ้น บทสนทนาจะเน้นเนื้อหาจริง ๆ มากกว่าน้ำ ซึ่งส่วนตัวไม่ได้รู้สึกสับสน หรือตามเนื้อเรื่องไม่ทัน เพราะตัวเกมโยนข้อมูลมากจนเกินไป

Like a Dragon Gaiden

ตัวละครใหม่ในภาค Gaiden เช่น Akame, Shishido, Tsuruno, Hanawa และ Nishitani III ก็มีความน่าจดจำด้วยการแสดงยอดเยี่ยมทั้งเสียงพากย์ ลีลา และฉาก Boss Fight แต่ก็น่าเสียดายที่บางตัวละครมีบทบาทในเนื้อเรื่องน้อยไปหน่อย แม้เกมจะพยายามเล่าเรื่องภูมิหลังเพื่อให้ตัวละครมีมิติแล้ว แต่ผมคิดว่าจะดีกว่านี้ ถ้าบางตัวละคร (โดยเฉพาะ Nishitani III) ได้รับการเฉิดฉายอย่างเหมาะสม เพื่อให้ตัวละครถูกจดจำไปอีกนานขึ้น

แม้การเล่าเรื่องกระชับมากขึ้น และความยาวของเนื้อเรื่องสั้นกว่าเกมหลัก แต่เกมยังมีปัญหา Pacing เหมือนภาคหลัก ที่บางช่วง ผู้เล่นจะถูกบังคับต้องเล่นไต่ระดับในโหมดความท้าทาย Colosseum ก่อนเพื่อดำเนินเนื้อเรื่องต่อไป ซึ่งส่วนตัวไม่ชื่นชอบการบังคับให้เล่น Colosseum เนื่องจากต้องใช้เวลาเล่นค่อนข้างนาน และเป็นวิธียืดเนื้อเรื่องที่ไม่เนียนเอามาก ๆ แต่โชคดีที่การบังคับเล่น Colosseum มีแค่ครั้งเดียวเท่านั้น

Like a Dragon Gaiden

และอีกปัญหาหนึ่งที่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับแฟน ๆ คือเนื้อเรื่องในภาค Gaiden ไม่เป็นมิตรสำหรับคนเพิ่งเข้าถึงเกมตระกูล Like a Dragon/Yakuza ครั้งแรกพอสมควร เพราะทั้งเนื้อเรื่องหลักกับเนื้อเรื่องเสริมมีการอ้างอิงเหตุการณ์จากภาคเก่า และร้ายแรงที่สุดคือมีสปอยล์เหตุการณ์สำคัญของเกมภาค 6 กับ 7 ด้วย ดังนั้นเราจึงแนะนำว่าก่อนเริ่มเล่นเกมนี้ อย่างน้อยก็ควรรู้เนื้อเรื่อง Yakuza: Like a Dragon ตั้งแต่ต้นไปจนถึงช่วงเกือบปลายเกม เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกสปอยล์เนื้อเรื่องเกมภาคก่อนหน้านี้

การนำเสนอ

ถึงแม้เป็น Spin-Off หรือ “Side Game” ที่มีขนาดเล็กกว่าเกมหลัก แต่ Like a Dragon Gaiden ยังคงมอบคอนเทนต์ที่มีคุณภาพไม่แพ้เกมหลัก

หากพูดถึงเกม Like a Dragon/Yakuza ทุกคนจะนึกถึงกิจกรรม มินิเกม และเควสต์เสริมสุดฮาเป็นอย่างแรก ซึ่งแน่นอนว่าภาค Gaiden ยังมีคอนเทนต์แนวนั้นอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร้านเกมเซนเตอร์ เพื่อเล่นเกมคลาสสิกของ SEGA, เล่นปาลูกดอก, เล่นสนุกเกอร์, เล่นการพนันโดยมีเงินในเกมเป็นเดิมพัน, พูดคุยกับพนักงานต้อนรับสาว กับร้องเพลงคาราโอเกะ

มินิเกมขนาดกลาง-ใหญ่ของภาค Gaiden คือการแข่งรถของเล่น Pocket Racing ที่ Kiryu ต้องเอาชนะการแข่งขัน และนักแข่งคนอื่นด้วยรถของตัวเอง ซึ่งกฎกติกาการเล่นจะคล้ายกับภาคก่อนหน้านี้ คือต้องปรับแต่งรถยนต์ให้เหมาะสมกับสนามแข่ง เพื่อให้ได้รับชัยชนะอันดับ 1 ส่วนการพนันต่าง ๆ จะสามารถเล่นได้ในพื้นที่ใหม่ขนาดเล็กที่เรียกว่า The Castle

The Castle

ส่วน Colosseum หรือโหมดความท้าทายในการต่อสู้สำหรับภาคนี้จะมีความหลากหลายมากขึ้น โดยได้เพิ่มโหมด Hell Rumble การต่อสู้แบบ 1 vs. กองทัพ, Special Event Match การต่อสู้โดยมีกฎพิเศษ และ Hell Team Rumble เป็นการจัดทีมเพื่อต่อสู้กับกองทัพฝ่ายตรงข้าม

อีกความพิเศษอย่างหนึ่งของโหมด Colosseum ภาคนี้ คือ เกมเมอร์สามารถบังคับเล่นเป็นตัวละครทุกคนที่เราคัดเลือกเข้ามาในทีมตัวเองได้ ซึ่งแต่ละคนจะมีมูฟเซต กับสไตล์การต่อสู้ที่ไม่เหมือนกัน แม้ว่าตัวละครหลายตัวที่เล่นได้จะไม่ได้แข็งแกร่งเหมือน Kiryu แต่ก็ถือว่าเป็นระบบที่น่าสนใจ และมอบประสบการณ์การเล่นที่แปลกใหม่จากภาคก่อน

นอกจากนี้ Like a Dragon Gaiden เป็นภาคแรกของ Like a Dragon/Yakuza ที่มีระบบตกแต่งตัวละคร โดย Kiryu ภาคนี้สามารถซื้อเปลี่ยนเสื้อผ้า, Make Up และเครื่องประดับได้ที่ร้าน Boutique แม้ตัวเลือกการตกแต่งตัวละครจะมีน้อย ขาดความอิสระไปบ้าง รวมถึงมีข้อเสียที่ราคาขายแต่ละชุดแพงเกินไปจนไม่สมเหตุสมผล และเปลี่ยนชุดได้เฉพาะที่ร้านเท่านั้น แต่โดยรวมแล้ว ฟีเจอร์นี้จะต้องเป็นที่ชื่นชอบสำหรับเกมเมอร์สายตกแต่งตัวละครไม่ใช่น้อย

Like a Dragon Gaiden

นอกจากนี้ ในเกมมี Akeme Network เป็นเควสต์เสริมที่ผู้เล่นต้องคอยช่วยเหลือชาวเมือง Sotenburi ที่กำลังเดือดร้อน โดยงานส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยหยิบของ, มอบไอเทม, กำจัดพวกกุ๊ยข้างถนน, การถ่ายรูป ฯลฯ ซึ่งระยะการทำภารกิจเหล่านี้จะใช้เวลาสั้น แต่ได้ของรางวัลที่คุ้มค่าเป็นเงิน และ Akame Point จำนวนหนึ่ง

รวมถึง Akame Network คือจุดที่เราสามารถรับภารกิจ Sub-Story ที่เป็นคอนเทนต์สุดเอกลักษณ์ของเกมตระกูล Like a Dragon/Yakuza ซึ่งคล้ายกับเกมภาคก่อนหน้านี้ เนื้อเรื่อง Sub-Story จะมีหลากโทนตั้งแต่สนุกสนาน, ตลกโปกฮา, ให้ข้อคิด, อบอุ่นหัวใจ ไปจนถึงอารมณ์ดรามาซึ้ง ๆ โดยเควสต์ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาเพลิดเพลิน เข้าถึงได้ง่าย เพราะมีการอ้างอิงกับล้อเลียนเทรนด์ในโลกปัจจุบัน

บาง Sub-Story เราจะได้เจอกับตัวละครจากเกม Judgment ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้คอนเทนต์มีคุณภาพดี แต่ปริมาณคอนเทนต์ในภาคนี้จัดว่ามีน้อยกว่าเกมหลัก เช่น Sub-Story จะมีแค่ 24 ภารกิจ และมินิเกมส่วนใหญ่ก็มาจากภาคเก่าที่เอามาขัดเกลาให้เข้ากับเกมยุคใหม่ รวมถึงแผนที่ให้สำรวจมีแค่ย่าน Sotenburi ในโอซาก้าซึ่งเป็นพื้นที่หลัก และเฉพาะส่วนล่างของย่าน Isezaki Ijincho ในโยโกฮามะ ซึ่งเป็นพื้นที่เสริมที่เล่นเนื้อเรื่องจบแล้วก็ไม่ค่อยมีเหตุผลต้องเดินทางกลับมาสักเท่าไหร่ เพราะไม่มีกิจกรรมเสริมให้ทำ นอกเหนือจากเดินเล่นชมวิวเพียงอย่างเดียว

ดูแล้วอาจจะเป็นข้อเสีย แต่ก็เป็นเรื่องที่ประนีประนอมกันได้ เพราะทีมงานย้ำตั้งแต่แรกแล้วว่า Like a Dragon Gaiden คือภาค Spin-Off ที่สเกลของเกมจะเล็กกว่าเกมหลัก และถึงอย่างนั้น การทำความคืบหน้าให้เต็ม 100% สำหรับเกมนี้จะต้องใช้เวลาเล่นประมาณ 25-35 ชั่วโมง ซึ่งสำหรับเกมที่มีราคาขายในไทยที่ประมาณ 1,000 บาทต้น ๆ รวมถึงคอนเทนต์ส่วนใหญ่ก็มีคุณภาพดี ส่วนตัวจึงคิดว่า Like a Dragon Gaiden เป็นเกมที่มีปริมาณกับคุณภาพคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป

และท้ายที่สุด ใน Like a Dragon Gaiden มีเกม Like a Dragon: Infinite Wealth ฉบับ Special Trial ให้เกมเมอร์ได้ลองเล่น Like a Dragon ภาคใหม่ล่วงหน้า ซึ่งเกมดังกล่าวมีทั้ง Story Demo ที่เล่นประมาณ 30 นาทีก็จบแล้ว และ Hawaii Demo ที่สามารถลองเดินเล่นในเมืองโฮโนลูลู ซึ่งแม้เกมเวอร์ชัน Demo จะมีข้อจำกัด และบางคอนเทนต์โดนล็อก แต่ใครที่ตั้งตารอเล่นเกมภาคใหม่อยู่แล้ว ก็ถือว่าเป็นโบนัสคอนเทนต์ที่แฟน ๆ จะต้องถูกใจไม่ใช่น้อย

เกมเพลย์

Like a Dragon Gaiden ย้อนกลับไปใช้เกมเพลย์แบบดั้งเดิมอย่างแอ็กชัน Beat ’Em Up เพราะฉะนั้นหากเคยสัมผัสเกมภาคเก่า ๆ มาก่อน (ยกเว้นเกม Yakuza: Like a Dragon) มาแล้ว ผู้เล่นจะเข้าใจวิธีเล่นเกมนี้โดยทันที นั่นคือการอัดพวกยากูซ่า กุ๊ยข้างถนน เพื่อตะลุยด่านต่อไปเรื่อย ๆ ระหว่างการเล่นเนื้อเรื่อง

ในเกมนี้ Kiryu มีท่าการต่อสู้ 2 สไตล์ โดยสไตล์แรกคือ ‘Agent’ เป็นท่าต่อสู้ที่เน้นการต่อยตีรวดเร็ว เน้นการกำจัดศัตรูเป็นหมู่ และใช้อุปกรณ์ล้ำ ๆ เพื่อช่วยให้การต่อสู้ง่ายขึ้น

จากความรู้สึกส่วนตัว การต่อสู้สไตล์ Agent ได้มอบประสบการณ์การเล่นที่แปลกใหม่ และเหมาะสำหรับการต่อสู้กับศัตรูเป็นกลุ่มได้จริง เพราะมีท่าที่รวดเร็ว และมีความยืดหยุ่นเหมือนเรากำลังควบคุมเล่นเป็นสายลับในหนังแอ็กชัน

นอกจากนี้ ระหว่างการต่อสู้ในสไตล์ Agent ผู้เล่นสามารถใช้อุปกรณ์ล้ำต่าง ๆ เช่น ใช้สายรัดเพื่อยึดอาวุธ ดึงศัตรู และทำให้ศัตรูหยุดนิ่งชั่วคราว, โยนบุหรี่ระเบิดเพื่อทำความเสียหายเป็นวงกว้าง, ใช้รองเท้าติดเจ็ทเพื่อหนีหรือชนศัตรู และเรียกโดรนเพื่อก่อกวนศัตรู

ด้วยลูกเล่นใหม่มากมาย ทำให้การต่อสู้สไตล์ Agent ใช้ได้สนุกสนาน และทำให้สนามต่อสู้เต็มไปด้วยบรรยากาศความวุ่นวาย ถึงอย่างนั้น เราพบว่าอุปกรณ์โดรนกลับไม่ค่อยมีประโยชน์สำหรับการต่อสู้เท่าไหร่ เพราะตัวโดรนค่อนข้างเปราะบาง เรียกแล้วต้องรอเวลา Cooldown แล้วแม้ว่าโดรนจะช่วยรบกวนศัตรูได้จริง แต่ก็พบว่าการต่อสู้โดยใช้อุปกรณ์อื่น ๆ ยังมีประโยชน์มากกว่า

ท่าต่อสู้ที่สองของ Kiryu คือ Yakuza Style หรือ “Dragon of Dojima” เป็นท่าต่อสู้ประจำตัวของ Kiryu ที่ใช้มาตลอดหลายภาค โดยสไตล์นี้จะเน้นต่อสู้แบบตัวต่อตัว และสร้างความเสียหายกับศัตรูอย่างหนัก

สไตล์ Dragon of Dojima เหมือนเป็นการพาเราได้กลับไปควบคุม Kiryu ในสมัยเป็นยากูซ่าอีกครั้งด้วยท่า Heat Action โหด ๆ ,โชว์ลีลาการต่อสู้ที่ใช้กำลังแบบเพียว ๆ และแน่นอน Komaki Tiger Drop ท่าโจมตี Counter ที่อัดหนักเหมือนโดนรถบรรทุกชน กับ Extreme Heat Mode การปลดปล่อยพลังทั้งหมดที่เก็บสะสมมา (ใช้ได้ทั้งสไตล์ Yakuza กับ Agent) ก็กลับมาอีกครั้งในเกมภาคนี้

เนื่องจากการควบคุมได้ปรับปรุงขัดเกลาจาก Yakuza Kiwami 2 กับ Lost Judgment ทำให้การกดปุ่มมีตอบสนองเร็ว จนเรียกได้ว่านี่อาจจะเป็นเกม Dragon Engine ที่มีการต่อสู้ที่ดีที่สุด ณ ตอนนี้ ถึงอย่างนั้น เราพบว่าการใช้สไตล์ Agent ยังมีติดขัดนิดหน่อยในเรื่องการใช้อุปกรณ์เสริมจากการกดปุ่มค้างที่เชื่อว่าการตอบสนองยังทำได้ดีกว่านี้

ทำจบรับเช็คไปเลย !

ความแตกต่างหลักของเกมภาคนี้ที่ไม่เหมือนภาคก่อน ก็เป็นเรื่องการอัปเกรดทักษะกับการซื้อไอเทมจากบางร้าน ที่ครั้งนี้จะไม่ได้ใช้เงินเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องจ่ายด้วยแต้ม Akeme Point ด้วย (เฉพาะบางร้านค้าเท่านั้น) ซึ่งวิธีเก็บแต้มกับเงินหลัก ๆ จะได้มาจากการทำเนื้อเรื่อง Sub-Story, เล่น Colosseum และทำภารกิจ Support ทำความดีต่าง ๆ รอบเมือง ซึ่งหลายภารกิจสามารถทำจบได้ในเวลา 1-2 นาที ฉะนั้นหากผู้เล่นเผชิญหน้ากับปัญหาเงินหรือแต้ม Akame Point ไม่พอ ก็สามารถทำภารกิจง่าย ๆ เพื่อหารายได้เสริม

ส่วนระบบเด่นอื่น ๆ ก็ไม่ค่อยมีอะไรให้กล่าวถึงเท่าไหร่ เพราะระบบหลายอย่างจากภาคนี้ยังคล้ายกับเกม Yakuza ภาคที่ผ่านมา เช่น การอัปเกรดเพื่อปลดล็อกทักษะ, การสวม Gears เพื่อเพิ่มบัฟ หรือ Perk พิเศษ, การเผชิญหน้ากับศัตรูระหว่าง Free Roam เพื่อลองใช้ท่าใหม่ ๆ หรือดรอปเอาเงินเพิ่ม และฟีเจอร์อื่น ๆ ที่ Yakuza ภาคก่อนหน้านั้นเป็นอย่างไร ภาคนี้ก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ

กราฟิก / ประสิทธิภาพ

เหมือนผลงานของเกมค่าย Ryu Ga Gotoku Studio ที่ผ่านมา (ยกเว้นภาค Ishin! ฉบับ Remake) Like a Dragon Gaiden พัฒนาโดยใช้ Dragon Engine ซึ่งเป็นเอนจินเกม In-House ที่ถูกสร้างเพื่อใช้สำหรับเกมของ RGG โดยเฉพาะ

เพราะทีมงานได้ขัดเกลา มีประสบการณ์การใช้งาน และปรับปรุง Dragon Engine มาตลอดทุกภาค ทำให้เอนจินเกมนี้เริ่มมีความเสถียรภาพ กับแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ให้เห็นตั้งแต่เกม Yakuza Kiwami 2 ซึ่งจากการเล่นผ่านเครื่องเกมคอนโซล PlayStation 5 พบว่าเกมภาคนี้สามารถรันอย่างลื่นไหลที่ 60FPS พร้อมแสดงผล Particle Effect, แสง, สี, เงาได้ดีไม่แพ้เกมก่อนหน้านี้อย่าง Lost Judgment

ภาพกราฟิกโดยรวมไม่ได้แตกต่างจากเกม Lost Judgment มากนัก แต่สังเกตว่า Texture ใบหน้าตัวละครในฉากคัตซีนมีรายละเอียดมากขึ้น และจำนวนประชากร NPC ได้ปรากฏตัวบนหน้าจอเยอะขึ้น ซึ่งทำให้บรรยากาศบ้านเมืองมีความครึกครื้นมีชีวิตชีวากว่าเดิม

แม้ตัวเกมยังมีอาการเฟรมเรตตกเล็กน้อยระหว่างการต่อสู้ในบางช่วง และมีบั๊กฟิสิกส์ Ragdoll ของตัวละครสุดฮาให้เห็นเป็นบางครั้ง แต่โดยรวมแล้ว ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ทำลายประสบการณ์ในการเล่น รวมถึงจากการเล่นเกมติดต่อกันรวม 30 ชั่วโมงขึ้นไปก็ยังไม่เจอบั๊กระดับร้ายแรงอีกด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงสามารถบอกอย่างมั่นใจว่า Like a Dragon Gaiden เป็นเกมที่ผ่านการขัดเกลามาอย่างดี ซึ่งก็ต้องบอกตามตรงว่าผมรู้สึกประหลาดใจพอสมควร เพราะทีมงานเคยเผยว่าเกมนี้ใช้เวลาสร้างเพียงแค่ครึ่งปีเท่านั้น แม้ทีมงาน RGG มีชื่อเสียงในด้านการรีไซเคิลสินทรัพย์ (Asset) เก่ามาใช้ในเกมใหม่ แต่การสร้างเกมให้เสร็จใน 6 เดือนก็ไม่ใช่สิ่งที่ทุกทีมงานจะสามารถทำได้ ผมเกิดความสงสัยเลยว่าทีมงานมีวิธีบริหารจัดการงานอย่างไรจึงเข็นเกมออกมาเร็วแต่ยังรักษาคุณภาพเกมไว้ได้ดี

สรุป

แม้เป็นธรรมชาติของเกม Spin-Off ที่มีเนื้อเรื่องสั้น คอนเทนต์น้อยกว่าภาคหลัก และเนื้อหาโดยรวมไม่เป็นมิตรสำหรับคนเพิ่งเข้าถึงเกมตระกูลนี้เป็นครั้งแรก ถึงอย่างนั้น ตัวเกมได้มอบประสบการณ์การเล่นที่เต็มอิ่มและคุ้มราคา ด้วยเนื้อเรื่องการผจญภัยของ Kiryu ที่ต้องเดิมพันทั้งตัวเองกับคนรอบข้าง, มีมินิเกมให้เล่นหลากหลาย และเนื้อเรื่องเสริมซึ่งมีบทดีไม่แพ้เกมหลัก แน่นอนว่านี่คือเกมสำหรับแฟน ๆ ตระกูล Like a Dragon/Yakuza โดยเฉพาะ

รีวิว Like a Dragon Gaidan: A Man Who Erased His Name

8 / 10 คะแนน

8

ข้อดี

  • เนื้อเรื่องน่าติดตาม มีความระทึกไม่แพ้เกมหลัก
  • การต่อสู้สไตล์ใหม่ Agent ใช้ได้สนุกสนาน
  • Boss Fight น่าจดจำ
  • คอนเทนต์สนุกเยอะ คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป

ข้อเสีย

  • มีปัญหา Pacing ที่บางครั้งถูกบังคับต้องเล่นคอนเทนต์เสริม เพื่อเล่นเนื้อเรื่องต่อ
  • บางส่วนของเนื้อเรื่องกับตัวละครสามารถเล่าได้มากกว่านี้
  • มินิเกม และกิจกรรมส่วนใหญ่มาจากภาคเก่า
  • ขาดความสะดวกสบายในการเล่นเล็กน้อย

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top