BY Markrider
26 Oct 21 10:02 am

รีวิว The Dark Pictures Anthology: House of Ashes ลดความน่ากลัว เพิ่มความระทึกใจ มิติใหม่ของซีรีส์

155 Views

ต่อเนื่องกันมากับเกมที่ 3 ในชุดของ The Dark Pictures Anthology ซีซันแรก มาดูกันว่ามันจะน่ากลัวเหมือนเดิมหรือไม่ ในรีวิวตัวนี้

Story

เรื่องราวของ House of Ashes จะย้อนกลับไปในช่วงปี 2003 กลางเหตุการณ์สงครามอิรัก ทหารอเมริกันตรวจจับคลื่นความร้อนจากใต้ดินได้ในสถานที่หนึ่ง และคาดการณ์ว่าสถานที่นั้นน่าจะเป็นโรงงานผลิตอาวุธเคมีของ “ซัดดัม ฮุสเซน” ศัตรูหมายเลขหนึ่งที่ทางการกำลังต้องการตัว จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยพิเศษเฉพาะกิจที่ถูกรวบรวมมาจากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาล ต้องมาร่วมมือกันเพื่อทลายรังโจร แต่เมื่อไปถึงจริง ๆ กลับพบว่า โรงงานผลิตอาวุธเคมีนั้นไม่มีอยู่จริง แต่มีบางสิ่งจากยุคดึกดำบรรพ์ รอเล่นงานพวกเขาอยู่ใต้พื้นโลก

House of Ashes ถือเป็นเกมที่มีความแตกต่างจาก The Dark Pictures ตัวอื่นอยู่พอสมควร เพราะเนื้อหาจะไม่ได้โฟกัสไปที่ความน่ากลัวเป็นหลัก แม้จะเป็นเกมในซีรีส์เดียวกัน แต่การตีความและอารมณ์ในการเล่น ค่อนข้างแตกต่างจาก Man of Medan และ Little Hope พอสมควร โดยเฉพาะอารมณ์แบบหนัง Thriller ที่มีเพียง House of Ashes เท่านั้นที่ถ่ายทอดออกมา และถ่ายทอดออกมาได้ดีเสียด้วย เพราะเนื้อหาของเกมจะพาเราตื่นเต้นในแบบของความมันสะใจ ผสมอยู่กับอารมณ์ระทึกขวัญในการเอาตัวรอดอยู่ตลอดเวลา ต่างจากภาคก่อน ๆ ที่เน้นถ่ายทอดในด้านความน่ากลัวเป็นหลัก

สิ่งที่เกมภาคนี้เน้นเป็นหลัก จะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในแต่ละตัวละคร เพราะในเกมนี้ เราจะได้เล่นเป็นทั้งฝั่งทหารอเมริกันและทหารอิรัก โดยเกมจะหยอดความสัมพันธ์ที่ยุ่งเหยิงลงไปในระหว่างที่ทุกคนกำลังเอาตัวรอด ทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่าตัวเองมีศัตรูอยู่รอบด้าน ทั้งศัตรูจริง ๆ ศัตรูระหว่างชาติ และศัตรูเรื่องความสัมพันธ์ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้จะสร้างเงื่อนไขในหัวให้ผู้เล่นค่อนข้างมาก และบังคับให้เราระแวดระวังในทุก ๆ คำพูด ทุก ๆ การกระทำจากตัวละครหนึ่งไปสู่อีกตัวละครหนึ่ง

ข้อดีที่ชัดที่สุดของภาคนี้ คือความต่อเนื่องของเนื้อหาที่ทำได้ดีกว่าภาคก่อน ๆ มีจังหวะการเล่าที่แทบจะสมบูรณ์แบบ จังหวะของเกมส่งต่อแบบฉากต่อฉาก ตัวละครต่อตัวละครได้อย่างไหลลื่นไม่มีที่ติ ตลอดระยะเวลา 5 ชั่วโมงนิด ๆ ของเกม แทบไม่มีจุดไหนให้เรารู้สึกเบื่อ หรืออยากจะพักการเล่น ซึ่งถ้าหากพิจารณาดี ๆ เวลากว่า 5 ชั่วโมง ถือเป็นเวลาที่ค่อนข้างเยอะ หากมีเกมไหนที่สะกดคุณให้ติดอยู่กับเกมนั้นเป็นเวลานานขนาดนี้ได้โดยไม่อยากพัก เกมนั้นก็คงเข้าเกณฑ์ของความเป็น “เกมดี” ของคุณได้โดยไม่ยากเย็นนัก

Presentation

ต้องบอกว่า House of Ashes คืออีกขั้นของการนำเสนอ ที่ Supermassive Games จะทำออกมาได้ หากคุณเล่นเกมก่อนหน้านั้น คุณจะพบว่าตัวเลือก การตอบคำถาม การกระทำเท่านั้นที่จะส่งผลตามหลัก และมันจะมีแพทเทิร์นของมันอยู่ เช่น ถ้าคุณกดไม่ทัน หมายความว่าฉากต่อไปจะต้องมีอะไรแย่ ๆ เกิดขึ้น ทำให้ผู้เล่นเหมือนถูกปลูกฝังสัญชาตญาณว่า เราจะต้องกด QTE ให้เฟอร์เพกต์เท่านั้น เราถึงจะได้ฉากจบที่สมบูรณ์แบบ

แต่ House of Ashes ไม่ใช่แบบนั้น เพราะการตัดสินใจในทุก ๆ ฉากมีผลตามมาในแบบที่เดาไม่ได้ แม้กระทั่ง QTE ที่คุณถูกปลูกฝังมาว่า “ไม่ควรพลาด” ในภาคก่อน ในภาคนี้การกด QTE อย่างแม่นยำก็ทำให้คุณซวยได้เช่นกัน กลับกันในบางฉาก หากเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลยอาจจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการกดปุ่ม ตรงนี้ผู้เล่นจะต้องคิดและคำนวณให้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ผ่านคำใบ้ทั้งคำพูดของตัวละคร สภาวะแวดล้อมต่าง ๆ มากมาย ซึ่งมันจะใบ้คุณอย่างละนิดอย่างละหน่อย คุณต้องมีสมาธิจดจ่อกับเกมพอสมควร เพราะบางครั้งการตัดสินใจแบบนี้จะมีให้คุณแค่แว๊บเดียว ถ้าพลาดแล้วคือพลาดเลย

สภาพแวดล้อมของเกมภาคนี้ก็ดีกว่าเกมภาคก่อน ถ้าคุณรู้สึกอึดอัดกับความแคบใน Man of Medan หรือความเก่า ๆ พัง ๆ ใน Little Hope ภาคนี้เขาเอาความเป็นสองภาคมาปรับปรุงให้มันดีขึ้นกว่าเดิม พื้นที่แคบระทึกใจแบบ Man of Medan ยังมี แต่ไม่ได้มีบ่อย ส่วนมากใช้กระชับพื้นที่ให้ตัวเราหาเอกสารได้ง่ายขึ้น ในภาคนี้มีพื้นที่เปิดค่อนข้างกว้างอยู่หลายฉาก ให้ตัวละครเดินสำรวจความเป็นไปของสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ มีทั้งแบบสำคัญบ้างไม่สำคัญบ้าง แต่โดยรวมคือคุณจะรู้สึกอัดอัดน้อยลงกว่าสองเกมก่อนหน้ามาก ๆ เรียกว่าสบายตาแม้จะเป็นเกมสยองขวัญก็ตาม

อีกสิ่งที่ไม่พูดไม่ได้คือเหล่าเอกสาร ในภาคนี้เอกสารต่าง ๆ จะเป็นเสมือนส่วนขยายเนื้อเรื่องเพื่อจุดประสงค์สองแบบ คือ ทำให้คุณเดาสถานการณ์ได้ก่อนเวลา และย้ำความมั่นใจให้คุณหลังคุณเข้าใจในสถานการณ์ตรงหน้า ในภาคนี้จังหวะวางเอกสารต่าง ๆ ใช้คำว่าสมบูรณ์แบบได้เลย เพราะเอกสารในช่วงแรกจะทำให้คุณไขว้เขว แต่ก็แอบใบ้แนวคิดที่ถูกต้องเอาไว้ และเมื่อคุณเข้าใจสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ จะมีเอกสารมาตบท้ายเสริมความมั่นใจให้คุณอีกที ทำให้เอกสารในภาคนี้ นอกจากจะอ่านง่ายเข้าใจง่ายแล้ว ยังส่งผลโดยตรงกับความรู้ความเข้าใจของผู้เล่นอีกด้วย

Gameplay

เกมเพลย์ในภาคนี้ ในส่วนของ QTE อย่างในสองภาคก่อนหน้ายังคงมีอยู่ และเป็นเกมการเล่นหลักที่คุณควรจะฝึกซ้อมไว้ให้ดี เพราะค่อนข้างยากเป็นปกติอยู่แล้ว ด้านการกดปุ่มตามชีพจรก็ยังคงมี แต่ในเกมนี้คุณอาจจะเจอฉากประเภทนี้ไม่บ่อยนัก เพราะน้อยครั้งมากที่ตัวละครจะหลบซ่อนตัว ส่วนสำคัญที่เพิ่มเข้ามาคือ Crosshair หรือการเล็งยิง ที่จะเกิดขึ้นบ่อยมากในเกมนี้ เพราะตัวละครของคุณมีอาวุธปืนทุกตัวละคร ทำให้จังหวะสำคัญ ๆ อาจต้องอาศัยทักษะการเล็งที่แม่นยำเพื่อผ่านฉากนั้น ๆ ไปโดยที่ไม่มีตัวละครใดตาย

การตอบคำถามต่าง ๆ ก็เป็นเกมเพลย์หลักของ The Dark Pictures ในภาคนี้คุณจะได้ควบคุมตัวละคร 5 ตัว เพื่อสร้างความสัมพันธ์กันเอง รวมถึงพัฒนาลักษณะนิสัยของตัวละครนั้น ๆ ตามที่คุณต้องการ โดยทั้งประโยคพูดคุยที่คุณเลือก ลักษณะนิสัยที่ตัวละครนั้น ๆ มี ก็จะส่งผลไปในฉากถัดไปเช่นกัน ฉะนั้นนอกจากทักษะการตัดสินใจที่ดีแล้ว คุณจะต้องรู้ด้วยว่าตัวละครนี้นิสัยเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครได้อย่างถูกต้อง

ในส่วนของเกมเพลย์อาจจะดูเล่าน้อยไปนิด แต่มันก็มีแค่นี้จริง ๆ เพราะเวลาส่วนมากของเกม จะถูกนำไปใช้กับคัตซีนแทบทั้งหมด ซึ่งระหว่างนั้นเราก็ต้องสแตนด์บายรอกด QTE ทำให้ในส่วนของเกมเพลย์ นอกจากที่เราพูดถึงแล้ว ที่เหลือก็จะเป็นการเดินวนไปวนมาในฉากนั่นเอง

Performance

เกมตระกูล The Dark Pictures Anthology ดูเหมือนไม่ใช่เกมที่กินสเปก แต่มันก็ต้องการฮาร์ดแวร์ระดับที่สูงพอสมควรเหมือนกัน โดยเฉพาะในส่วนของ GPU ที่จะต้องใช้เยอะมากเป็นพิเศษ ในภาคนี้ถ้าจะให้เกมเปิดติด เล่นได้เป็นอย่างต่ำ คุณต้องใช้การ์ดจอ GTX 1050Ti ซึ่งดูเหมือนจะเก่า แต่ในยุคการ์ดจอหายาก + ราคาแพงแบบนี้ แค่นี้ก็ถือว่ากินงบประมาณไปค่อนข้างเยอะแล้ว

แต่ถ้าจะให้เกมนี้ลื่นไหล ใช้ประโยชน์ได้สูงที่สุด คุณจำเป็นจะต้องใช้การ์ดจอที่มี Ram สูงกว่า 4 GB ขึ้นไป หมายความว่าอาจจะต้องใช้พวก 1660 จนไปถึง 2060 เลย เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเล่นเกมนี้ ซึ่งถ้าหากเอาราคามากางแล้ว อาจจะเป็นลมเลยก็ได้

ในเรื่องบั๊ก ระหว่างเล่นเราไม่เคยเจอเลยสักครั้ง ย้ำ ไม่เคยเจอสักครั้ง บ่งบอกถึงความใส่ใจในงานของทีมนี้เป็นอย่างดี เพราะเกมก่อนหน้าที่เราเล่น ก็ไม่เคยเจอบั๊กหนัก ๆ เช่นกัน ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับเกมนี้ เพราะอย่างที่เราบอก เนื้อเรื่องของเกมอยากให้เราเล่นไปเรื่อย ๆ โดยไม่หยุดพัก หากเจอบั๊กจุดใดสักจุด รับรองว่าต้องเสียอารมณ์จนเล่นต่อไม่ได้แน่ ๆ แต่ในเมื่อเกมมันไม่มีบั๊กอะไรเลย คุณก็สามารถเล่นเกมนี้ยิงยาว 5 ชั่วโมงโดยไม่มีอะไรมาขวาง ซึมซับความดีงามของเกมได้อย่างเต็มที่

Conclude

House of Ashes เป็น The Dark Pictures Anthology ภาคที่เปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกจากหน้ามือเป็นหลังมือจากสองภาคที่แล้ว แม้ตัวเกมจะเล่าถึง “ความน่ากลัว” แต่ House of Ashes คือความน่ากลัวที่แตกต่าง แตกต่างแบบฉีกแนวออกไปเลย อีกทั้งเกมยังใส่ลูกเล่นหลาย ๆ อย่างที่ลึกลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้เราต้องเพิ่มการประมวลผลเข้ามาอีกหนึ่งชั้น แม้จะมีเวลาคิดเท่าเดิมก็ตาม ส่งผลให้ภาคนี้ระทึกใจกว่าสองภาคก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด แต่ถ้าพูดถึงความน่ากลัว และความซับซ้อนแบบเก็บไปคิดไปฝัน ต้องบอกว่ายังด้อยกว่าภาคอื่น ๆ ในซีรีส์

8.5/10

Nattapit Arsirawatvanit

มาร์ค - Senior Content Writer

Back to top