หลังจากพัฒนามาหลายปี ในที่สุดม็อด Fallout 4 ที่น่าแฟน ๆ จับตามองอย่าง Fallout: London ก็ปล่อยให้เล่นอย่างเป็นทางการสักที แล้วม็อดนี้คุ้มค่ากับการลองหรือไม่ ก็เข้ามาอ่านในบทความรีวิวกันได้เลย
เนื้อเรื่อง
ในเกมนี้ ผู้เล่นรับบทเป็น Wayfarer (แปลว่านักเดินทาง) มนุษย์ทดลองคนหนึ่งที่ถูกปลุกให้ตื่น หลังห้องแล็บใต้ดินขององค์กรปริศนาถูกบุกรุกโดยไม่ทราบฝ่าย เนื่องจากผู้เล่นสูญเสียความทรงจำในอดีต คุณจึงตัดสินใจออกจากแล็บ แล้วออกผจญภัยทั่วกรุงลอนดอน เพื่อสืบหาว่าตัวเองเป็นใคร และตัวตนที่แท้จริงขององค์กรปริศนาที่จับเรามาเป็นหนูทดลอง
เนื้อเรื่องม็อดนี้ได้ดำเนินตามสูตรของ Fallout คือเมื่อทำภารกิจหลักสำเร็จ ผู้เล่นจะได้รับเบาะแสให้เดินทางไปสถานที่ใหม่ โดยระหว่างดำเนินเนื้อเรื่อง ผู้เล่นจะรู้ความเป็นมาของตัวเอง, รู้จักกับ Faction แต่ละฝ่ายที่มีอุดมการณ์ต่างกัน และคลี่คลายปมปริศนาขององค์กรลึกลับที่อาจเป็นภัยต่อกรุงลอนดอน
แม้เนื้อเรื่อง Fallout: London มีความน่าสนใจอยู่บ้าง แต่เนื่องจากเกมดำเนินเนื้อหาแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเรียกว่า “Slow-Paced” จึงทำให้บางคนอาจไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาหลัก เพราะช่วงแรกไม่ค่อยมีโมเมนต์น่าตื่นเต้น แต่พอเข้าถึงช่วงกลาง-ปลายของเนื้อเรื่องหลัก ปมต่าง ๆ จะเริ่มคลี่คลาย ซึ่งทำให้เราอยากติดตามสตอรี่ต่อไปเรื่อย ๆ
สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือเควสต์เสริมของ Fallout: London ซึ่งเป็นฟีเจอร์สำคัญที่ทำให้หลายคนติดเกมนี้งอมแงมหลายชั่วโมง ซึ่งเควสต์เสริมมีเนื้อเรื่องหลายโทน ตั้งแต่ดาร์ก สนุกสนาน ไปจนถึงตลกเสียดสีสังคม โดยซีรีส์เควสต์เสริมที่ส่วนตัวชอบมากที่สุด คือ เควสต์ของแก๊ง Vagabond ที่แม้ภายนอกเหมือนจะรักกลมเกลียวเหมือนพี่น้อง มีอุดมการณ์ชัดเจนคือปกป้องชาวบ้านจากอันตราย แต่ข้างในเต็มไปด้วยปัญหาการเมือง ความขัดแย้งระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง ที่แสดงให้เห็นว่าอุดมการณ์ดั้งเดิมของ Vagabond เริ่มหายไปทีละเล็กทีน้อย
บางเควสต์เสริมของ Fallout: London ก็เป็นการทดสอบศีลธรรมกับสัญชาตญาณขอผู้เล่น ที่แสดงให้เห็นว่าการทำสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง อาจไม่ได้ส่งผลดีต่อส่วนรวมเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น เควสต์การประท้วงแรงงาน ผู้เล่นจะต้องเลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งที่ไม่มีฝ่ายไหนที่เป็นฝ่ายบริสุทธิ์เลย
เนื่องจากเควสต์เสริมมีเนื้อหากระชับและหลายโทน ส่วนตัวจึงใช้เวลาเล่นกับการทำเควสต์เสริมมากกว่าเนื้อเรื่องหลัก ซึ่งต้องบอกเลยว่าสตอรี่หลักนั้นไม่ได้มีคุณภาพแย่ มันทำได้ดีเกินมาตรฐานม็อดอื่น และมอบความบันเทิงให้ผู้เล่นได้ เพียงแต่ผมคิดว่าซีรีส์เควสต์เสริมนั้นมันน่าสนใจกว่าเควสต์หลักที่เป็นเนื้อเรื่องสูตรสำเร็จ
การนำเสนอ
เราเชื่อว่าสาเหตุที่ Fallout: London เป็นที่สนใจสำหรับแฟน ๆ เพราะเป็นครั้งแรกอย่าง (ไม่) เป็นทางการของจักรวาล Fallout ที่ใช้ฉากหลังเป็นต่างประเทศ นอกเหนือจากสหรัฐฯ
เนื่องจากประเทศอังกฤษไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญในจักรวาล Fallout เนื้อหาของ Fallout: London จึงเป็นเรื่องสมมุติที่แต่งขึ้นมาเองทั้งหมด ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง เพราะทำให้ทีมงานมีอิสระในการสร้างสรรค์ และออกแบบเนื้อเรื่องให้เข้าถึงทุกคนได้โดยไม่จำเป็นต้องเล่น Fallout ภาคใดภาคหนึ่งมาก่อน
เพราะเกมใช้ฉากหลังอยู่ในประเทศอังกฤษ บรรยากาศบ้านเมืองจึงแตกต่างจากประเทศสหรัฐฯ แบบเห็นได้ชัด ทั้งอาหาร ขนม ยา อาวุธปืน และไอเทมเกือบทั้งหมดจะถูกทดแทนเป็นของใหม่ รวมถึงต้องบอกว่าเนื่องจากไวรัส FEV ไปไม่ถึงอังกฤษ ทำให้ลอนดอนไม่มีศัตรูประเภท Super Mutant, Deathclaw ฯลฯ มอนสเตอร์ทั้งหมดในเกมนี้เป็นสัตว์ที่กลายพันธุ์จากสารกัมมันตรังสี และศัตรูส่วนใหญ่เป็นรูปแบบมนุษย์, หุ่นยนต์ Android กับมนุษย์ที่ถูกทดลองโดยฝีมือองค์กรลับ
นอกจากนี้ ในลอนดอนไม่มี Vault-Tec ซึ่งก็หมายความว่าไม่มี Vault ให้สำรวจ และไม่มี Vault Boy ที่เป็นมาสคอตเอกลักษณ์ของเกม Fallout ด้วย
งานสถาปัตยกรรม ดีไซน์รถยนต์ และแผนผังเมืองจะอ้างอิงจากประเทศอังกฤษของจริง ในเกมนี้คุณจะได้เห็นรถเมล์สองชั้น รถแท็กซี่ลอนดอน ตู้โทรศัพท์สีแดง ป้ายรถไฟฟ้าใต้ดิน Underground และแน่นอน คุณจะได้เห็นจุด Landmark สำคัญอย่าง Tower Bridge, หอนาฬิกา Big Ben และ London Eye ในสภาพผุพังหรือถูกดัดแปลงกลายเป็นบ้านสำหรับผู้เอาตัวชีวิตรอด
นอกจากนี้ ตัวละคร NPC ทุกตัวพูดอังกฤษแบบสำเนียงบริติช และสถานที่ต่าง ๆ มีรายละเอียดจัดเต็มสุด ๆ ทำให้ Fallout: London นำเสนอบรรยากาศได้เหมือนเป็นประเทศอังกฤษแท้ มอบประสบการณ์การผจญภัยที่แตกต่างจาก Fallout ที่ใช้เซตติงในประเทศสหรัฐฯ ทุกภาค
ข้อเสียหลัก ๆ อย่างเดียวของการนำเสนอ Fallout: London คือคุณภาพเสียงพากย์ สามารถแบ่งแยกสกิลได้ชัดเจนระหว่างมือสมัครเล่นกับมือโปร บางตัวละครมีเสียงไพเราะน่าฟัง แต่ก็มีบางตัวที่มีเสียงพากย์แปลก ๆ แม้ไม่ได้แย่จนถึงขั้นฟังไม่ได้ แต่คุณภาพมีความแตกต่างชัดเจนจนทำให้อารมณ์ร่วมกับเกมหายไปเป็นบางครั้ง
เกมเพลย์
รูปแบบการเล่น Fallout: London แทบไม่แตกต่างจากเกมภาค 4 ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะนี่เป็นม็อดเปลี่ยนแผนที่ เนื้อเรื่อง และวัตถุต่าง ๆ ในเกมเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในม็อดมีการปรับปรุง Quality-of-Life ที่ช่วยให้การเล่นสะดวกสบายขึ้นนิดหน่อย เช่น หน้าเลือกตอบคำถามจะโชว์ประโยคบทสนทนาแบบเต็ม, หน้าเลือกอัปเกรด Perk ได้กลับไปใช้ดีไซน์แบบภาคเก่า ซึ่งบางคนอาจชื่นชอบเพราะมีดีไซน์ที่เรียบง่าย และประโยคมีให้เลือกมากกว่า 4 ข้อแล้ว
นอกจากนี้ ใน Fallout: London มี Perk ใหม่ที่เอามาจากภาคเก่า ยกตัวอย่างเช่นมี Sneering Imperialist เป็น Perk ที่ทำให้โจมตีพวก “กลุ่มไร้อารยธรรม” แรงขึ้น, เพิ่มระบบ Traits จาก New Vegas เป็น Perk ที่มีทั้งข้อดีกับข้อเสียให้กดเลือกได้ในช่วงต้นเกม รวมถึงเพิ่มจุด Craft Tea สามารถเอาวัตถุดิบมาต้มเป็นน้ำชาแล้วดื่มเพื่อเพิ่มพลังบัฟต่าง ๆ (เวรี่บริติชสุด ๆ ไปเลย) และที่สำคัญที่สุด คุณสามารถปีนบันไดได้แล้ว
นอกเหนือจากนั้น เกมการเล่นไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจาก Fallout 4 ฉะนั้นหากใครเล่นเกมต้นฉบับมาก่อน ก็สามารถเล่นม็อด London เป็นทันที
แต่สิ่งที่แตกต่างจากภาค 4 คือช่วงเริ่มต้น ตัวเกมจะมีความยากท้าทายในระดับหนึ่ง เพราะเรามีไอเทมติดตัวน้อย กระสุนค่อนข้างหายาก และศัตรูส่วนใหญ่ใช้อาวุธ Melee จึงเป็นการบีบบังคับให้เราต้องต่อสู้แบบระยะประชิดไปก่อน และต้องใช้ปืนแบบประหยัดกระสุน แต่หลังจากผ่านพ้นช่วงเริ่มต้น ผู้เล่นจะลำบากน้อยลงเพราะมีทรัพยากรให้เก็บเยอะขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากการเล่นหลายชั่วโมง ก็พบว่าตัวเองยัง Game Over บ่อยด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเผลอเหยียบกับดัก เจอศัตรู/มอนสเตอร์ที่แข็งแกร่งเกินไป และเจอปริมาณศัตรูเยอะจนคนเดียวไม่สามารถรับมือได้ไหว ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ได้จากการเล่นเกม Fallout อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ สถานที่สำหรับสร้างบ้าน Settlement ลดลงเยอะมากจนเหลือไม่ถึง 10 สถานที่ และได้ตัดเควสต์ช่วยเหลือชาวบ้านสุดจำเจออกไป ซึ่งก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผล เนื่องจากในเนื้อหา Lore ฝ่าย Minuteman ไม่มีในประเทศอังกฤษ และก็เป็นข้อดีที่ตัดระบบดังกล่าว เพราะทำให้เราสามารถมุ่งเน้นไปกับการผจญภัย เล่นเนื้อเรื่องหลักหรือทำเควสต์เสริมได้อย่างเต็มที่โดยไม่ถูกรบกวนจาก Settlement Guy อย่าง Preston Garvey
ส่วน Companion ในม็อดนี้ก็มีให้ Recruit หลายตัว ทุกตัวจะถืออาวุธ มีความถนัด ความชอบ ความเกลียด และเนื้อหาความเป็นมาที่ไม่เหมือนกัน ส่วนตัว ผมชื่นชอบคู่หูเด็กหนุ่ม Archie มากที่สุด เพราะสามารถแบกของได้เยอะกว่า Companion ตัวอื่น รวมถึงมีสกิล Lockpick กับ Hacking ซึ่งมีประโยชน์สำหรับการ Loot Item อย่างมาก ส่วนข้อเสียที่ว่าไม่สามารถต่อสู้ได้นั้น กลับกลายเป็นข้อดีคือใช้เป็นตัวล่อเบี่ยงเบนความสนใจให้ศัตรูได้ซะอย่างงั้น
แน่นอนว่าปัญหา Companion (ซึ่งเป็นพิษมาจากเกมหลัก) คือพฤติกรรมของมันค่อนข้างไม่ฉลาด ไหนจะเดินมั่วปล่อยให้ Stealth แตกบ้าง เดินติดไปต่อไม่ได้บ้าง บางครั้งเดินตามไม่ทันต้องคอยหยุดรอ ไม่ยอมเดินเข้าลิฟต์ และอื่น ๆ อีกสารพัดที่ทำให้ Companion สร้างความรำคาญต่อคนเล่น
โดยรวมแล้ว เกมการเล่นเหมือนภาค 4 ที่เพิ่มความยากขึ้นมานิดหน่อย เพราะช่วงเริ่มต้นเรามีทรัพยากรจำกัด ต้องเจอศัตรูประเภทต่าง ๆ ที่ยังไม่รู้วิธีรับมือ และที่สำคัญที่สุด ม็อดนี้ไม่มี Power Armor ให้สวมใส่ แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อเราผจญภัยเรื่อย ๆ จนปรับตัวเข้ากับเกมได้ มันก็เป็นเกมเล่นเพลินสนุกสนานติดได้หลายชั่วโมง ซึ่งเป็นประสบการณ์การเล่นที่ผู้เล่นคาดหวังได้จากเกมค่าย Bethesda
กราฟิก/ประสิทธิภาพ
เนื่องจากเป็นม็อด กราฟิกจึงยังเหมือนเกมต้นฉบับทุกประการ คือภาพมีสีสันสดใสและสวยงามตามมาตรฐานเกมเจเนอเรชันก่อน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าไม่ค่อยมีอะไรให้กล่าวถึงเท่าไหร่ในส่วนของกราฟิกกับเอฟเฟกต์
อย่างไรก็ตาม หลังลงม็อดก็พบว่าเกมกินสเปคหนักขึ้นแบบเห็นได้ชัด มีหลายช่วงที่เฟรมเรตตกหล่นไปถึง 30 FPS ซึ่งอาการนี้เกิดขึ้นบ่อยระหว่างเดินในเมือง ชนบทขนาดใหญ่ และพื้นที่ที่มีรายละเอียดเยอะ รวมถึงเกมมีปัญหาโหลดฉากนานแม้ใช้ SSD ซึ่งปัญหานี้อาจมีต้นตอมาจากรายละเอียดของฉากเยอะมากเกินไป หรือประสิทธิภาพของตัวเอนจินเกมเอง
นอกจากนี้ ในม็อดมีบั๊กประหลาด ๆ ที่แม้ไม่ได้ร้ายแรงจนถึงขั้นเกมพัง แต่ก็สร้างความรำคาญต่อผู้เล่นได้ เช่น บั๊ก Companion เจ้าตูบ Churchill ที่จู่ ๆ หายตัวไป แล้วโผล่มาอีกที่กลายเป็น Dogmeat จากเกมต้นฉบับซะอย่างงั้น รวมถึงมีบั๊กทั่วไปอย่าง Texture ยืด, วัตถุหลอนกลิ้งเอง แถมบางครั้ง ตัวเกมมีอาการ Crash ออกจากเกมเองหลังกดเลือก Fast-Travel
บอกตรง ๆ เลยว่าปัญหาประสิทธิภาพกับบั๊กใน Fallout: London นั้น อาจมาจากทั้งตัวเกมหลักกับตัวม็อดเอง ซึ่งปัญหาเหล่านี้สร้างความรำคาญต่อผู้เล่นมากพอจนไม่สามารถมองข้ามไปได้แม้เป็นม็อดฟรีก็ตาม ซึ่งล่าสุด Team FOLON คอนเฟิร์มแล้วว่าจะมีการปล่อย Patch ขนาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาหลายรายการในเร็ว ๆ นี้
อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ทำให้หลายคนต้องยอมแพ้กับ Fallout: London ทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มเล่น ก็คือการลงม็อดที่ยุ่งยากหลายขั้นตอน ใช้เวลานานในการลง แถมทำตามไกด์หรือใช้โปรแกรมช่วย Install แล้ว ก็ไม่ได้การันตีว่าจะเล่นได้ 100% จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมต้องหัวหมุนประมาณ 2-3 ชั่วโมงเพื่อค้นหาวิธีทำให้ม็อดเล่นได้ แถมเข้าเกมแล้วยังต้องหาวิธีแก้อาการ Crash ทุกครั้งหลังเข้ารถไฟฟ้าในช่วงต้นเกมอีก เพราะการลงที่ยากเย็นจึงเข้าใจได้ที่หลายคนจะเลิกสนใจม็อดตัวนี้ ซึ่งก็หวังในอนาคต ทาง Team FOLON จะมอบวิธีลงม็อดแบบใหม่ที่ง่ายกว่านี้
สรุป
Team FOLON พิสูจน์ความหลงใหลให้แฟน Fallout เห็น ด้วยการจำลองเมืองลอนดอนในโลกหลังล่มสลายที่มีรายละเอียดจัดเต็ม นำเสนอประเทศอังกฤษดูเที่ยงตรง และคุณภาพเนื้อเรื่องถือว่าทำได้ดีเกินคาด แม้เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่ขั้นตอน Install ม็อดแสนยุ่งยาก และปัญหาบั๊ก/ประสิทธิภาพต่าง ๆ จะทำให้บางคนหมดความสนใจ แต่ก็อยากให้ลองเปิดใจ เพราะประสบการณ์ที่ได้จากม็อดนี้ มันเหมือนได้เล่นเกม Spin-Off แบบไม่ออฟฟิเชียลดี ๆ เกมหนึ่ง