ไม่มีใครคาดคิดหรือเตรียมพร้อมมาก่อนว่าเกม Like a Dragon ภาคใหม่จะกลายเป็นเกมโจรสลัดออกล่าขุมทรัพย์ในตำนานไปได้ แล้วภาคนี้จะกาวสมใจแค่ไหน ไอเดียสุดขั้วนี้จะเวิร์คหรือไม่ มาอ่านกันได้เลยในรีวิว Like a Dragon: Pirate Yakuza in Hawaii
เนื้อเรื่อง – สตอรี่แหวกแนวที่สุดในซีรีส์ แต่แลกมาด้วยพล็อตการผจญภัยทั่วไป
รับบทเป็น Goro Majima อดีตยากูซ่า (ว่ากันตามเทคนิค) จู่ ๆ ได้ติดบนเกาะเล็ก ๆ แห่งหนึ่งชื่อว่า Rich Island พร้อมสูญเสียความทรงจำ ที่ไม่สามารถจำได้ว่าทำไมเจ้าตัวถึงเดินทางมาต่างแดนตั้งแต่แรก
หลังได้รับความช่วยเหลือจาก Noah Rich เด็กชายที่เต็มไปด้วยความร่าเริง Majima ได้รู้ว่าโจรสลัดหลายคนกำลังตามหา Esperanza ตำนานสมบัติที่ว่ากันว่าเป็นยาพิเศษที่สามารถรักษาได้ทุกโรค
เนื่องจากไม่มีทางเลือกมากนัก Majima จึงตัดสินใจแต่งตั้งตัวเองเป็นโจรสลัด แล้วออกเดินทางตามสถานที่ลึกลับต่าง ๆ ตามเบาะแส เพื่อทวงคืนความทรงจำของตัวเองกลับมา พร้อมสานฝันของ Noah ที่อยากออกผจญภัยสู่โลกภายนอกให้จริง โดยมีเป้าหมายคือตามหาสมบัติ Esperanza และขุมทรัพย์ให้จนได้ !
เมื่อพูดถึงเกมตระกูล Yakuza หรือ Like a Dragon สิ่งที่หลายคนจะนึกได้อย่างแรก คือเป็นเกมที่มีเนื้อเรื่องเข้มข้น น่าติดตาม พร้อมนำเสนอด้านสีเทาของสังคม และวงการอาชญากรรมที่แม้จะไม่ได้ถ่ายทอดแบบสมจริงที่สุด แต่ก็ยังอยู่ในหลักพื้นฐานความจริง
แต่เนื้อเรื่อง Pirate Yakuza in Hawaii นั้น แตกต่างจากเกมภาคหลักอย่างสิ้นเชิง เพราะภาคนี้เป็นเนื้อเรื่องแนวผจญภัยเกือบเต็มรูปแบบ แม้มีสอดแทรกประเด็นเกี่ยวกับยากูซ่าหรือมาเฟียอยู่บ้าง และบางเนื้อหาได้เชื่อมโยงกับภาค Infinite Wealth แต่โดยรวมแล้ว ธีมหลักของเกมนี้ยังเป็นโจรสลัด การผจญภัยบนท้องมหาสมุทร และการตามหาตำนานสมบัติลึกลับที่เชื่อว่าถูกฝังลึกในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง
นอกจากนี้ Pirate Yakuza in Hawaii ได้นำเสนอตัวละคร Majima สภาพสูญเสียความทรงจำ ที่เหมือนเป็นกึ่งบุคลิกจากภาค 0 และกึ่งบุคลิกหมาบ้ามารวมกัน กลายเป็น Majima รูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้ผู้เล่นรัก Majima ในภาคนี้ได้ง่าย และอยากเอาใจช่วยให้ความทรงจำของเขาได้กลับคืนมาเป็นคนเดิม
ด้วยองค์ประกอบดังกล่าว เนื้อเรื่องภาค Pirate Yakuza in Hawaii จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่มีทางเหมือนกับภาคอื่น เมื่อพูดถึงเกม Like a Dragon โจรสลัด ก็จะมีแต่ภาคนี้ภาคเดียวเท่านั้น ณ ตอนนี้ และแม้เนื้อหาจะออกทะเล แต่ก็ยังถือว่าสมเหตุสมผลสำหรับเกมตระกูล Like a Dragon ที่อุดมไปด้วยคนบ้ามากมาย (และ Majima ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย)
แม้เนื้อเรื่องจะแหวกแนวจาก Like a Dragon ทุกภาค แต่น่าเสียดายที่เรื่องราวภาคนี้คาดเดาได้ไม่ยากเท่าไหร่ และไม่ค่อยมีจุดพีคจนกว่าจะถึงช่วงท้ายของสตอรี่ นอกจากนั้น การเล่าเรื่องชวนอยากให้ติดตามเนื้อเรื่องยังทำได้ธรรมดา เมื่อเทียบกับมาตรฐานของซีรีส์ที่มักทำได้ดีมาตลอด แม้จะมีบางฉากที่น่าจดจำ และบางมุกก็ตบได้สนุกสนาน แต่เนื้อเรื่องจัดว่าอยู่ในเกณฑ์แค่สอบผ่าน มอบความบันเทิงให้ผู้เล่นได้อยู่บ้าง
รวมถึง Pirate Yakuza in Hawaii ยังคงมีปัญหาที่ไม่ได้แก้ไขจากภาค Infinite Wealth คือการบังคับเล่นคอนเทนต์เสริมในช่วง Chapter 1-2 ซึ่งใช้เวลาเล่นค่อนข้างนานจนทำลาย Pacing แม้เราเข้าใจว่าทีมงานทำแบบนี้เพื่อให้ผู้เล่นรู้ว่ามีมินิเกมใหญ่ ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเล่นคอนเทนต์เสริมรอบต่อไป แต่ส่วนตัวอยากให้เกม Like a Dragon ลดเวลาการบังคับต้องเล่นคอนเทนต์เสริมเพื่อดำเนินเนื้อเรื่อง หรือควรแยกไปเลยว่าเนื้อเรื่องหลักคือเนื้อเรื่องหลักอย่างเดียว ไม่ควรมีการเล่นคอนเทนต์เสริมเข้ามาเกี่ยวข้อง
แล้วเนื่องจากเนื้อเรื่องแหวกแนวกับออกทะเลจากเกม Like a Dragon ภาคหลักไปมากจนปรับตัวไม่ทัน ผู้เล่นบางคนอาจจะรู้สึกไม่อินกับสตอรี่ เพราะสุดท้าย Like a Dragon เป็นเกมที่มีจุดเด่นด้านการรักษาบาลานซ์ระหว่างความซีเรียสและความตลกโปกฮาได้ดีมาก พอเนื้อเรื่องเกมได้เอียงด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป จึงไม่แปลกใจเท่าไหร่ที่บางคนจะรู้สึกว่าสิ่งที่ดีที่สุดหรือทำได้ดีมาตลอดขาดหายไปในภาคนี้
การนำเสนอ – คอนเทนต์อัดแน่น แถมมาด้วยเนื้อหาที่กาวกว่าเดิม
อย่างที่กล่าวไว้ด้านบน นี่คือ Like a Dragon ฉบับโจรสลัด ฉะนั้นแค่มองครั้งแรก ก็รู้ทันทีเลยว่าเกมนี้นำเสนอแตกต่างจากเกมภาคก่อนแบบชัดเจน
อย่างแรกเลย ศัตรูหลักในเกมนี้เกือบทุกคน รวมถึงตัวละครหลักกับตัวละครสมทบบางตัว จะแต่งคอสเพลย์เป็นโจรสลัด ถือดาบ Cutlass และใช้ปืนคาบศิลา แต่ก็มีอีกหลายคนที่แต่งตัวเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกมภาคนี้ยังอยู่ในจักรวาลหรือไทม์ไลน์เดียวกันกับเกมหลัก ไม่ใช่จักรวาลแยกที่จู่ ๆ ทุกคนกลายเป็นโจรสลัด
ฉะนั้นการที่เราเห็นตัวละครแต่งตัวหลุดโลก สวมบทบาทเป็นโจรสลัดในโลกแห่งความเป็นจริง (ในเกม) ทำให้เกมนี้มีโมเมนต์ตลกซีเรียสหลายฉาก มีหลายครั้งที่โจรสลัดฝ่ายตรงข้ามจะเยาะเย้ยว่า Majima เป็นโจรสลัดวอนนาบี ทั้งที่ไม่ดูตัวเองเลยว่าแต่งตัวเป็นโจรสลัดเหมือนกัน และ NPC ในเควสต์เสริมบางคน จะอือออไปตามน้ำ แสดงความหลงใหล หรือนินทาลับหลังว่าเป็นคนประหลาด เมื่อรู้ว่า Majima กำลังทำอาชีพเป็นโจรสลัด
การนำเสนอในแง่ของโจรสลัด แม้ไม่ได้ล้ำลึกมากถึงขั้นที่ว่าสร้างมาเพื่อเอาใจคนหลงใหลเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่อย่างน้อย ทีมงานได้นำเสนอถูกจุดว่าเกมโจรสลัดต้องมีอะไรบ้าง อย่างเช่น การเปิดตัวโดยใช้เพลงแนว Musical, ลูกเรือทุกคนร้องเพลงโจรสลัดระหว่างเดินทาง, การต่อสู้โดยใช้ดาบบนท่อนไม้ขนาดเล็ก, การถูกตั้งค่าหัวจากโจรสลัดอีกกลุ่ม ฯลฯ สิ่งที่เห็นในภาพยนตร์หรือสื่อบันเทิงแนวโจรสลัดมาก่อน จะถูกถ่ายทอดผ่านเกมนี้ ซึ่งเรามองว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้ว เพราะหากโยนเนื้อหาโจรสลัดลึกเกินไป คนทั่วไปอาจไม่อินกับการเล่นเกมนี้ตลอดทั้งเกม
แผนที่หลักสำหรับเกมนี้ ผู้เล่นจะสามารถสำรวจเมือง Honolulu จากภาค Infinite Wealth, Rich Island เกาะขนาดเล็กที่มีผู้อาศัยน้อยนิด และ Madlantis เกาะลับที่เป็นศูนย์กลางชุมชนของพวกโจรสลัด ซึ่งพื้นที่นี้จะให้ผู้เล่นได้ทำคอนเทนต์เสริมใหม่ เช่น โหมด Colosseum ที่ภาคนี้มีการรบทางเรือด้วย และโหมด Bang Bang Batting Center มินิเกมเบสบอลตีลูก Cannonball เพื่อเปิดหีบสมบัติยักษ์
ไหน ๆ ก็พูดถึงคอนเทนต์เสริมแล้ว แน่นอนว่า Pirate Yakuza in Hawaii ยังมีเนื้อหาดังกล่าวให้เล่นเหมือนทุกภาค แม้ไม่ได้มีปริมาณเยอะเท่าภาคหลัก แต่ก็ถือว่ามีปริมาณพอดี ไม่เยอะหรือน้อยจนเกินไป
คอนเทนต์นอกเนื้อเรื่องที่โดดเด่นของ Pirate Yakuza in Hawaii มีสองโหมดด้วยกัน คือ Masaru’ s Love Journal เนื้อเรื่องเสริมที่ Majima ต้องทำภารกิจหาสาว ๆ เพื่อสานฝัน Masaru ที่ต้องการออกเดตกับแฟนสาวให้ได้สักวันหนึ่ง แม้โหมดนี้จะเน้นเนื้อเรื่องมากกว่าเกมเพลย์ แต่ส่วนตัวขอยกให้เป็นหนึ่งในคอนเทนต์ที่ดีที่สุดของเกมภาคนี้ แน่นอนว่าเราจะไม่สปอยล์เนื้อหา แต่บอกได้อย่างหนึ่งว่าสิ่งที่โชว์ใน Trailer นั้นแตกต่างจากสิ่งที่คาดหวังไว้อย่างแน่นอน
อีกคอนเทนต์หนึ่งเป็นมินิเกมขนาดใหญ่ ที่เราต้องปราบ Devil Flag กลุ่มโจรสลัดที่แข็งแกร่งที่สุดในแถบ Hawaii ซึ่งโหมดนี้จะมุ่งเน้นการรบทางเรือ และมีเนื้อเรื่องแยกจากเกมหลัก โดยโหมดนี้ใช้เวลาเล่นจนจบประมาณ 5-6 ชั่วโมง รวมถึงได้รับของรางวัลใหญ่ที่มีประโยชน์อย่างมากในช่วง End Game
นี่ยังไม่พูดถึงมินิเกมอื่น ๆ เช่น การทำข้อสอบ, เล่นเกมอาร์เคด, เล่นคอนโซล SEGA Mega Drive, Dragon Kart, Crazy Delivery, ปาเป้า และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งบางกิจกรรมจะมีของรางวัลแจกไม่เหมือนกันด้วย แม้มินิเกมส่วนใหญ่เป็นการรียูสจากภาคเก่า แต่เพราะมีการอัปเดตกฎ ปรับบาลานซ์ และเพิ่มของใหม่เข้าไปเล็กน้อย จึงรู้สึกว่ายังเล่นสนุกเพลิดเพลินตามมาตรฐานของเกม Like a Dragon แต่ถ้าใครคาดหวังว่าจะมีมินิเกมใหม่เอี่ยมที่นอกเหนือจากการรบทางเรือ ก็อาจจะรู้สึกผิดหวังได้เหมือนกัน
ส่วนบท Substories ยังคงมีเนื้อหาทันสมัย แล้วมอบอารมณ์ฮา ซึ้ง อบอุ่นหัวใจ ข้อคิดเล็ก ๆ ซึ่งถือว่าทำได้ดีตามมาตรฐานของเกม Like a Dragon เมื่อกล่าวถึง Substories ที่ชอบที่สุด ก็ไม่มีทางหนีพ้นเควสต์ Majima ต้องเรียนรู้วิธีรักษาลูกเรือให้อยู่กับเราไปนาน ๆ ด้วยการทำความเข้าใจวิถีการทำงานแบบ Work-Life-Balance และเควสต์ทดลองใช้เครื่องแปลภาษา ที่ทำให้ Majima สามารถคุยกับสัตว์ได้ ซึ่งก็ต้องบอกเลยว่า Substories ภาคนี้ยังทำได้ไม่ผิดหวัง
ระบบการแต่งตัว มีความอิสระและเลือกเครื่องแต่งกายกับทรงผมได้หลากหลายกว่าภาค Gaiden อยากจะแต่งตัวเป็นลุคภาค 0, ลุคภาค 3, แต่งเป็น Goromi (Majima แต่งหญิง), แต่งเป็นตัวตลก คุณสามารถทำได้ในภาคนี้ พร้อมกับมีตัวให้เลือกมากกว่า 200 ชนิด ซึ่งเรามองว่าระบบนี้ควรเป็นมาตรฐานของเกม Like a Dragon ภาคต่อ ๆ ไป สิ่งที่ไม่ชอบมีอย่างเดียวในระบบนี้ คือเสื้อผ้า กางเกง รองเท้า หลายชิ้นจะปลดล็อกได้จากการซื้อของตามร้านค้าในเกม หรือหมายความว่าหากต้องการเสื้อทุกตัว รองเท้าทุกใบ ฯลฯ จะต้องวิ่งทั่วแผนที่ Hawaii เพื่อกวาดซื้อไอเทมทั้งหมด ซึ่งค่อนข้างเสียเวลาพอสมควร
นอกจากนี้ ผู้เล่นสามารถสวมแหวนตรงนิ้วมือได้สูงสุด 10 วง ซึ่งแหวนในเกมนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ของตกแต่งตัวละคร แต่สามารถใช้บัฟ Stats ตัวละครได้ เช่น โจมตีแรงขึ้น เพิ่มพลังป้องกัน หรือหมายความว่าการบัฟ Stats ที่ได้จากการสวมไอเทมจากภาคก่อน ถูกเปลี่ยนเป็นการสวมแหวนแทน และสวมได้มากกว่าเดิมอีกด้วย
สุดท้าย เนื้อเรื่องหลักเกมนี้ใช้เวลาเล่นประมาณ 13 ชั่วโมงต่อการเล่นจบ ถ้าหากมีเป้าหมายเก็บทุกอย่างครบ หรือได้พักเล่นมินิเกมบ้างเป็นบางเวลา รับประกันเลยว่าผู้เล่นต้องใช้เวลากับเกมนี้รวม 15-20 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งถือว่าคุ้มค่าสำหรับเกมที่ขายในราคา 1,440 บาท
เกมเพลย์ – การต่อสู้ลื่นไหลดั่งเกม Hack and Slash แต่ระบบการต่อสู้ทางเรือยังขาดความลึก
Pirate Yakuza in Hawaii ได้ย้อนกลับไปเป็นเกมแอ็กชัน Beat’em Up อีกครั้ง แต่ได้เพิ่มระบบใหม่เอี่ยมอย่างการรบทางเรือเข้าไปด้วย
อย่างแรก ขอกล่าวถึงเรื่องระบบการต่อสู้ก่อน เพราะเรากลับมาควบคุมเป็นน Goro Majima อีกครั้งนับตั้งแต่เกม Yakuza 2 Kiwami ซึ่งการต่อสู้สำหรับภาคนี้ก็เป็นไปได้ตามที่คาดหวังไว้ คือมีการเคลื่อนไหว เข้าโจมตี สลับสไตล์จะเร็วมากสมกับคาแรคเตอร์ Majima
สไตล์การต่อสู้ของ Majima ในภาคนี้แบ่งเป็น 2 สไตล์ เช่น สไตล์ดั้งเดิมอย่าง Mad Dog ที่เน้นเข้าโจมตีอย่างรวดเร็ว พร้อมใช้มีด Tanto คู่ใจ และสไตล์ใหม่คือ Sea Dog ที่เน้นการโจมตีศัตรูแบบกลุ่ม ควบคุมฝูงชน โดยใช้อุปกรณ์โจรสลัดกับดาบคู่ Cutlass โดยทั้งสองสไตล์สามารถอัปเกรด เพื่อปลดล็อกท่า Heat Action หรือท่าต่อสู้ใหม่ ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในเกม Like a Dragon แนว Beat’em Up ทุกภาค
นอกจากมีระบบการต่อสู้รวดเร็วมากแล้ว Pirate Yakuza in Hawaii เป็นภาคแรกที่ผู้เล่นสามารถกดกระโดดได้ระหว่างการต่อสู้ ซึ่งฟีเจอร์นี้มีประโยชน์มากสำหรับใช้หลบหนีจากการถูกรุม และหลบกระสุนปืน รวมถึงได้เพิ่มความยืดหยุ่นระหว่างการต่อสู้อีกด้วย แม้การกดกระโดดจะรู้สึกแปลก ๆ ในช่วงแรก เพราะกระโดดได้เฉพาะช่วงที่เรากำลังปล่อย R1 (ไม่อยู่ในสถานะยืนท่าต่อสู้) เท่านั้น แต่เล่นไปเรื่อย ๆ จะรู้สึกคุ้นเคยกับระบบนี้ไปเอง
นอกจากนี้ Majima มีความสามารถใช้ท่าไม้ตาย คือเรียก Doppelganger ของตัวเอง พร้อมบัฟความเร็วในการโจมตีให้เร็วกว่าเดิม และสำหรับสไตล์ Sea Dog เป็นการเรียกสิ่งมีชีวิตจากท้องมหาสมุทร มาช่วยสนับสนุนการต่อสู้ชั่วคราว รวมถึง Majima สามารถรับรู้ว่าศัตรูกำลังเล็งปืนมาที่ตัวเขา ทำให้ทุกครั้งที่ศัตรูกำลังเตรียมโจมตีโดยใช้อาวุธระยะไกล ตัวเกมจะส่งเสียงกับบอกสัญลักษณ์เตือน เพื่อให้ผู้เล่นได้เตรียมหลบทัน
แม้มีของเล่นใหม่มาบ้าง แต่โดยรวมแล้ว ระบบการต่อสู้ภาคนี้เหมือนกับทุกภาคที่ผ่านมา แต่มีความสนุกสนานเร้าใจยิ่งขึ้น เพราะมีการต่อสู้รวดเร็ว ลื่นไหล และสามารถต่อคอมโบได้จากการสลับสไตล์การต่อสู้ ถ้าหากคิดว่าการต่อสู้ในเกม Lost Judgment และ Like a Dragon Gaiden เร็วแล้ว ต้องบอกเลยว่าภาคนี้เร็วขึ้นเกือบเท่าตัวจนเหมือนเกมแนว Hack and Slash ไปแล้ว
แต่จะบอกว่ากลายเป็นเกม Hack and Slash ก็ไม่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะฝ่ายศัตรูโดยเฉพาะกับบอสใหญ่และบอสย่อย จะมีความสามารถขัดจังหวะการทำคอมโบ ฉะนั้นการโจมตีศัตรูกลางอากาศแบบต่อเนื่อง หรือซัดเตะไปเรื่อย ๆ จนไม่มีโอกาสให้ศัตรูได้กลับมาตั้งหลัก เราจะไม่สามารถแบบนั้นได้เสมอไป
และนอกจากนั้น มีจุดสังเกตว่าเกมนี้ไม่มีให้อัปเกรดเพิ่มหลอด Heat ที่ไว้ใช้สำหรับปล่อยท่า Heat Action แต่ก็ทดแทนด้วยการทำดาเมจแรงกว่าทุกภาค ส่งผลให้ภาคนี้เราได้ใช้ Heat Action น้อยลงตามมา ซึ่งอาจจะเป็นข้อเสียสำหรับผู้เล่นที่ชื่นชอบการใช้ Heat Action เพราะอยากเห็นฉากต่อสู้เท่ ๆ แต่ก็มีข้อดีตามมา ตรงที่เราต้องใช้ Heat Action ในช่วงจังหวะที่คิดว่าเหมาะสม และลดการใช้แบบสุ่มสี่สุ่มห้าลง
ไหน ๆ ก็พูดถึงการอัปเกรดแล้ว ผู้เล่นจะสามารถปลดล็อกท่าต่อสู้, ท่า Heat Action, สกิลติดตัว, เพิ่มหลอดเลือด และอื่น ๆ ได้จากการจ่ายเงินในเกม พร้อมกับจ่ายแต้ม Pirate Point แล้วของพวกนี้ได้มาจากไหน ก็ได้มาจากการทำคอนเทนต์เสริมอีกทีหนึ่ง
ในขณะที่เงินได้จากการทำงานเสริม ปราบศัตรูที่มีค่าหัว ฯลฯ พวกแต้ม Pirate Point จะได้รับจากการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโจรสลัด, ทำสถิติ Milestone เช่น ต่อสู้ชนะ 100 ตัว, ใช้จ่ายเงินในเกมทะลุ 10,000 เหรียญฯ หรือผ่านมินิเกมบางอย่างเช่น การทำข้อสอบ ที่จะมอบรางวัลเป็นแต้มนี้โดยเฉพาะ
ซึ่งต้องบอกเลยว่ารางวัลที่ได้จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ นั้น ให้เยอะพอสมควร แถมระหว่างการเดินทางในทุกพื้นที่ จะมีโอกาสเจอหีบสมบัติ ที่เปิดแล้วได้รับวัตถุโบราณ ซึ่งมีมูลค่าเงินกับแต้ม Pirate Point ต่างกัน หรือมีโอกาสเจอทรัพยากรที่ไว้ใช้ในการอัปเกรดเรือ
เนื่องจากตัวเกมคอยมอบของรางวัลระหว่างเดินทาง และรางวัลที่ได้จากการทำกิจกรรม ก็มีค่าตอบแทนที่คุ้มค่า ทำให้เราแทบไม่ต้องฝืนหยุดเล่นเนื้อเรื่อง เพื่อเอาเวลาไปฟาร์มไอเทมบ่อย ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเนื้อเรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าการฟาร์มไอเทม ยังมีความจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการปราบคอนเทนต์ Endgame ที่มีความยากท้าทายสูงสุด
ทีนี้ก็มาพูดถึงระบบการต่อสู้ทางเรือ ซึ่งเป็นระบบใหม่เอี่ยมของภาคนี้ เรือของเราชื่อว่า Goromaru จะสามารถโจมตีได้ 4 รูปแบบด้วยกัน คือ 1. การโจมตีด้านหน้าด้วยการยิงปืนกล 2. การโจมตีด้านซ้าย-ขวาด้วยปืนใหญ่ 3. การชนเรือคู่ต่อสู้ และ 4. การใช้ปืนบาซูก้ายิงเรือฝ่ายตรงข้าม
ระหว่างขับเรือจะสามารถกด Boost เพื่อพุ่งความเร็ว สามารถดริฟต์ระหว่างกด Boost และเข้าสู่โหมด Deck เพื่อเดินเล่นบนเรือระหว่างการผจญภัยบนมหาสมุทร
และแน่นอน สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยในเกมโจรสลัด คือการหาลูกเรือ ซึ่งลูกเรือสามารถหาได้จากการทำ Substories บางเควสต์, เคลียร์มินิเกม หรือทำผ่านเงื่อนไขตามที่ NPC ต้องการ เช่นต่อสู้ให้ชนะ มอบไอเทมบางชิ้น หรือมีระดับดาว Pirate ตามที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ ในเกมมีระบบจัดทีม ให้ผู้เล่นเลือกว่าลูกเรือควร Standby ในหน่วยไหน เช่น หน่วยยิงปืนกล หน่วยยิงปืนใหญ่ และหน่วยจู่โจม ซึ่งลูกเรือแต่ละคนจะมี Stats ความถนัดต่างกัน บางคนอาจเก่งบู๊ บางคนอาจเก่งด้านซ่อมแซมเรือ หรือบางคนอาจเก่งเรื่องการใช้อาวุธปืนกล/ปืนใหญ่
รวมถึงเราจะต้องคอยรักษากำลังใจของลูกเรือ ด้วยการจัดปาร์ตี้ มอบของขวัญ และทำอาหารมื้อใหญ่แล้วเลี้ยงลูกเรือ ซึ่งตอนแรก คิดไว้ว่าระบบจัดทีม และการดูแลลูกเรือจะสร้างความรู้สึกที่ท่วมท้น แต่ด้วยระบบที่ไม่ได้ซับซ้อนมากนัก แถมเลเวลของลูกเรือสามารถอัปได้เองเพียงแค่ตั้งค่าตัวละครให้ไปยืนประจำตำแหน่ง จึงทำให้ระบบนี้เข้าใจและเล่นได้ง่ายเกินคาด
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบการต่อสู้ด้วยเรือที่ขาดความล้ำลึก เพราะมีการโจมตีเพียงไม่กี่แบบ เกมการเล่นเองที่อืดช้า (ตรงนี้เข้าใจได้เพราะเป็นการสู้โดยใช้เรือโจรสลัด) และแม้เรือจะสามารถอัปเกรดเปลี่ยนอาวุธได้ แต่สุดท้าย วิธีการเล่นจะยังเหมือนเดิม จึงทำให้การรบทางเรือในช่วงแรกจะรู้สึกสนุกสนาน รู้สึกแปลกใหม่ แต่พอเล่นผ่านไป 1 ชั่วโมง ก็เริ่มรู้สึกจำเจ (Tedious) แล้ว ซึ่งความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นบ่อยระหว่างเล่นคอนเทนต์เสริมปราบโจรสลัด Devil Flag ที่ต้องวนลูปกับการต่อสู้ทางเรือติดต่อกันหลายรอบ
กราฟิก/ประสิทธิภาพ – ภาพยังสวยงาม รันได้ลื่น แม้ไม่ได้อัปเกรดจากภาค Infinite Wealth ก็ตาม
บอกตรง ๆ เลยว่าส่วนนี้ไม่ค่อยมีอะไรให้กล่าวถึงเท่าไหร่ เพราะประสิทธิภาพและกราฟิกของ Pirate Yakuza in Hawaii ไม่ได้แตกต่างจากภาค Infinite Wealth เลย ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะต้องย้ำอีกครั้งว่านี่คือเกม Spin-Off จึงไม่จำเป็นสร้างเกมใหม่ทั้งหมดหรืออัปเกรดแบบยกใหญ่
จากการทดลองในเครื่อง PS5 (ซึ่งไม่มีตัวเลือกระดับคุณภาพกราฟิก) พบว่าเกมภาค Infinite Wealth และ Pirate Yakuza in Hawaii สามารถรันลื่นที่ 60 FPS เท่ากัน แม้จะมีอาการกระตุกน้อยมากถึงมากที่สุดเมื่อเวลาฝนตก แต่โดยรวมแล้วไม่ได้ส่งผลกระทบหรือสร้างความรบกวนระหว่างการเล่น
สิ่งที่แตกต่างจากภาค Infinite Wealth มีอย่างเดียว คือภาพในเกมได้ใช้ Filter (ที่ไม่สามารถปิดได้) ทำให้ทะเลมีสีฟ้าสดและเงาดำเข้มมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นข้อเสียสำหรับบางคนที่ต้องการภาพกราฟิกแบบ Photorealistic ไม่อยากให้มีการปรุงแต่งภาพมากจนเกินไป ส่วนภาพกราฟิกแม้จะไม่ได้สุดยอดระดับเกม AAA (ความจริงเกมนี้ ไม่ใช่เกม AAA ตั้งแต่แรกแล้ว) แต่ยังถือว่าสวยงาม และเอฟเฟกต์แสงเงายังดูดีสมเป็นเกมที่รันโดย Dragon Engine
แต่ไม่ใช่ว่าเกมภาคนี้ไม่มีปัญหาประสิทธิภาพเลย เพราะเฟรมเรตจะร่วงลงแบบเห็นชัด เฉพาะในช่วงขับเรือในสภาพอากาศฝนฟ้าถล่ม ซึ่งมีเอฟเฟกต์ทำงานบนหน้าเจอเยอะพอสมควร แต่โชคดีที่เกมการเล่นในส่วนของการรบทางเรือนั้นค่อนข้าง Slow-Paced พอสมควร จึงไม่ค่อยรู้สึกว่าเฟรมเรตได้รบกวนในการเล่นเท่าไหร่
ฉะนั้นโดยรวมแล้ว ประสิทธิภาพของเกมนี้ถือว่าแทบไม่ต่างจากภาค Infinite Wealth เลย เราจึงมั่นใจว่าถ้า PC เล่นภาค Infinite Wealth ได้ก็เท่ากับเล่นภาคนี้ได้เช่นกัน
สรุป
Pirate Yakuza in Hawaii เป็นผลงานเกมที่ทีมงาน RGG Studio พยายามพิสูจน์อีกครั้งว่าพวกเขากล้าที่จะทดลองเอาไอเดียสุดแหวกแนวมาสร้างเป็นเกม Like a Dragon ภาคใหม่
แม้เนื้อเรื่องกับการรบทางเรือไปได้ไม่สุดทาง แต่ด้วยระบบการต่อสู้ที่รวดเร็วและลื่นไหลกว่าทุกภาค, บทเนื้อเรื่องเสริม Substories ยังคงเขียนได้ดี, มินิเกมยังเล่นเพลินเหมือนเดิม จึงถือว่าเกมนี้ยังสนุกสนานตามมาตรฐานของเกม Like a Dragon แต่ได้เพิ่มความน่าสนใจยิ่งขึ้น เพราะเป็นธีมโจรสลัดที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะถูกนำมาใช้ในเกมตระกูลนี้
- เนื้อเรื่อง: 6
- การนำเสนอ/คอนเทนต์: 8
- เกมเพลย์: 8
- กราฟิก/ประสิทธิภาพ : 8