Need for Speed Unbound ถือเป็นเกมภาคที่หลายคนจับตามองเป็นพิเศษ เพราะมีการนำเสนอสุดแหวกที่เอาอาร์ตสไตล์ Cel-Shade, Graffiti และ Photorealistic มายำในเกมเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ Need for Speed ไม่เคยทำมาก่อน แล้วความเสี่ยงครั้งนี้จะปังหรือพัง มาอ่านในบทความรีวิวเกมนี้ได้เลย
เนื้อเรื่อง
ในเกมนี้ ผู้เล่นรับบทเป็นนักซิ่งผิดกฎหมายฝีมือดีคนหนึ่งที่ทำงานในอู่แต่งรถ RYDELL’S RYDES ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่หลักของเมือง Lakeshore ที่เหล่านักซิ่งต่างมาแวะเยี่ยม เพื่อแต่งรถคันโปรดของตัวเอง
จนกระทั่งคืนวันหนึ่งได้เกิดเหตุไม่คาดฝัน จู่ ๆ ก็มีเหล่าโจรได้มาขโมยรถในโรงรถทั้งหมด จน RYDELL’S RYDES ต้องสูญเสียทั้งหมดทุกอย่างแล้วเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง
หลังจากเหตุการณ์ร้าน RYDELL’S RYDES ถูกปล้นผ่านไป 2 ปี เราก็ได้ค้นพบว่ารถที่โดนขโมยไป ถูกนำไปใช้ในการแข่งขันรถยนต์ผิดกฎหมายสุดยิ่งใหญ่ของเมือง Lakeshore ที่มีชื่อว่า “The Grand” ด้วยเหตุผลดังกล่าว คุณ, พันธมิตรคนสำคัญ Tess และเจ้าของอู่แต่งรถ Rydell จึงร่วมมือกัน เพื่อเอาชนะการแข่งขัน The Grand แล้วนำทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกขโมยกลับคืนมา
เนื้อเรื่อง Need for Speed Unbound จะคล้ายกับภาพยนตร์ Fast & Furious ในยุคแรก ๆ ที่ผู้เล่นต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการแข่งรถร่วมกับคนอื่น เพื่อสร้างชื่อเสียงตัวเอง แล้วเข้าถึงหัวหน้าระดับสูงที่คาดว่าเป็นต้นตอของเหตุการณ์ทั้งหมด เราจะรู้สึกสนุกสนานสะใจที่ได้เห็นคู่แข่งซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ ต้องเสียหน้า หรือโกรธ จากการพ่ายแพ้ให้กับคุณ ซึ่งเป็นนักซิ่ง Nobody ที่ไม่มีใครรู้จัก
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียหลักส่วนใหญ่ของเนื้อเรื่อง NFS ภาคนี้มาจากพล็อตเนื้อเรื่องที่เบสิกธรรมดามาก ๆ รวมถึงการดำเนินเนื้อเรื่อง กับบทโดยรวมค่อนข้าง Cliche ที่เห็นได้บ่อยตามภาพยนตร์แอ็กชันหลายเรื่อง ส่งผลทำให้เราสามารถคาดเดาเนื้อเรื่องล่วงหน้ากับตอนจบได้ง่าย เล่นจบแล้วจะมีความรู้สึกว่าเหมือนเป็นหนังทั่วไป ดูได้เพลิน ๆ แต่ไม่ค่อยมีอะไรน่าจดจำเท่าไหร่นัก
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ต้องยอมรับว่าการเล่าเรื่องในช่วงปฐมบท (Prologue) และการเปิดปมต่าง ๆ มีส่วนช่วยทำให้เนื้อเรื่องมีโมเมนต์น่าสนใจ ซึ่งนับว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกอยากติดตามเนื้อเรื่องเป็นบางครั้ง ฉะนั้นถ้าเป็นคนชอบเนื้อเรื่องง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน คุณอาจจะเพลิดเพลินกับสตอรี่ของเกมนี้ก็ได้นะ
นำเสนอ
Unbound เป็นเกมภาคแรกของตระกูล NFS ที่ตัวละครใช้กราฟิกสไตล์ Cel-Shade, มีการใช้เอฟเฟกต์การ์ตูนสุดฉูดฉาดรอบรถยนต์ แต่ฉากสภาพแวดล้อม ตึกราวบ้านช่อง และโมเดลรถยนต์ยังเป็นสไตล์ Photorealistic สมจริง ด้วยแนวทางศิลป์ที่เปลี่ยนไปจากเกมภาคก่อนอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ Unbound เป็นภาคที่สร้างกระแสถกเถียงในกลุ่มแฟน ๆ NFS มากที่สุดในตอนนี้
ในความคิดเห็นส่วนตัว เอฟเฟกต์การ์ตูน และตัวละคร Cel-Shade มีส่วนช่วยทำให้ภาพ NFS Unbound ดูมีสไตล์ และมีเอกลักษณ์แตกต่างที่เกม Racing เกมอื่นไม่มีในยุคนี้ ซึ่งฟีเจอร์ดังกล่าวนอกจากเพิ่ม “ตัวตน” ให้เกม NFS แล้ว ยังเพิ่มความน่าตื่นเต้นระหว่างการแข่งขันอีกด้วย
นอกจากนี้ เอฟเฟกต์การ์ตูนรอบรถยนต์ไม่ได้แสดงผลเยอะเกินไป จนบดบังวิสัยทัศน์ระหว่างแข่งรถ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะชื่นชอบเอฟเฟกต์ดังกล่าวด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา ซึ่งผู้เล่นสามารถเลือกควันเป็นสีเทาปกติ ที่ไม่มีลวดลายหรือลูกเล่นอะไรเลยก็ได้ (แต่ไม่สามารถปิดเอฟเฟกต์การ์ตูนได้)
เมือง Lakeshore City ในเกม ซึ่งอ้างอิงมาจากเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอย ประเทศสหรัฐฯ ก็สามารถออกแบบได้อย่างมีชีวิตชีวากว่าเกม NFS ภาคก่อนหน้านี้ ด้วยจำนวนรถที่สัญจรไปมามีปริมาณมากขึ้น มีการแบ่งโซนพื้นที่อย่างชัดเจน และเป็นเกมภาคแรกที่มีชาวเมือง NPC ออกมาเดินข้างถนน ซึ่งหากขับรถบนทางเดิน NPC จะวิ่งหลีกทาง และตะโกนด่าเราทันที โดยบรรยากาศดังกล่าวทำให้เรานึกถึงเกม Midnight Club ของ Rockstar Games
คล้ายกับภาค Heat ในระหว่างผจญภัย Free-Roam จะมีไอเทม Collection ต่าง ๆ เช่น การชนตุ๊กตาหมี กระโดดชนป้ายโฆษณา การหาสตรีทอาร์ต ที่เมื่อเก็บไอเทมได้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้แต่ละขั้น จะเป็นการปลดล็อกพาร์ทอัปเกรดประสิทธิภาพรถ เอฟเฟกต์รอบรถ และไฟนีออนใต้ท้องรถ
นอกจากนี้ ทั่วแผนที่ Lakeshore City มี Challenge พิเศษ เช่น การขับรถไปถึง Checkpoint ด้วยความสูงสุดที่กำหนดไว้, การทำคะแนน Drift และการขับรถรักษาความเร็ว เพื่อแลกเป็นเงินรางวัล กับปลดล็อก Achievement ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้แผนที่ Lakeshore มีกิจกรรมให้ทำหลายอย่าง
และแน่นอน สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยสำหรับเกม NFS คือระบบแต่งรถ ซึ่งภาคนี้มีตัวเลือกการปรับแต่งที่หลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่ตัวเลือกสามารถถอดกันชนหน้า-หลัง ให้รถมีรูปลักษณ์ดิบเถื่อนกว่าเดิม, รถคันเดิมบางคันที่มีให้ขับอยู่แล้วตั้งแต่ภาค Heat มาภาคนี้ก็ตกแต่งได้มากกว่าเดิม ส่วนระบบการแต่งลายรถ ยังคล้ายกับภาค Heat เหมือนเดิม คือผู้เล่นสามารถแต่งด้วยการนำลวดลายมาทับแปะซ้อนหลาย Layer โดยลายรถสามารถบันทึกนำมาใช้เอง หรือแบ่งปันให้เกมเมอร์ในชุมชนไปใช้ต่อก็ได้
เหมือนที่กล่าวไว้ข้างต้น NFS Unbound เต็มไปด้วยสไตล์ที่แตกต่างจากเกมแข่งรถไตเติลอื่นในยุคนี้ และเมือง Lakeshore มีบรรยากาศเต็มไปด้วยชีวิตชีวากว่าเกมภาคก่อนที่ผ่านมา ทำให้จุดที่โดดเด่น และดีที่สุดของเกม Unbound คือ อาร์ตสไตล์อย่างไม่ต้องสงสัย
เกมเพลย์
ถ้าเคยเล่น NFS Heat มาก่อน คุณจะเข้าใจวิธีเล่นเกมนี้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะภาคนี้ คือการนำระบบจากภาคก่อนเก่ามาขัดเกลาปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงใหม่เล็กน้อยให้ดีกว่าเดิม
ความรู้สึกจากการขับรถในภาค Unbound ทั้งการเลี้ยว และการ Drift แม้ไม่ค่อยแตกต่างจากภาค Heat มากนัก แต่ครั้งนี้ ผู้เล่นสามารถปรับสไลด์ได้แล้วว่าต้องการ Handling แบบไหนระหว่างเน้น Grip (เกาะถนน) หรือ Drift มากน้อยแค่ไหน ซึ่ง Handling ระหว่างสองแบบนั้น มีความแตกต่างอย่างชัดเจน
เนื้อเรื่อง Singleplayer จะดำเนินตามปฏิทิน โดยทุกวัน เกมเมอร์ต้องกอบโกยเงินจากการแข่งขันให้ได้มากที่สุด เพื่อนำเงินไปใช้อัปเกรดรถ และเข้าแข่งขันรอบ Qualified ในช่วงทุกท้ายสัปดาห์ โดยใน 1 วันจะแบ่งเป็นอีเวนต์การแข่งขันช่วงเวลากลางวัน กับช่วงกลางคืน
เงินของเกมนี้จะไม่ได้ใช้จ่ายกับการอัปเกรดรถเพียงอย่างเดียว แต่หลายอีเวนต์ ผู้เล่นต้องนำเงินบางส่วนไปจ่ายค่า “Buy-in” เพื่อเข้าแข่งขันด้วย ระบบนี้ทำให้ผู้เล่นต้องคอยบริหารเงินอย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่าเรามีเงินพอที่สามารถเข้าแข่งขันทุกรายการ ใช้จ่ายในการอัปเกรดรถ หรืออัปเกรด Safehouse เพื่อปลดล็อกพาร์ทอัปเกรดในระดับที่สูงขึ้น
วิธีหาเงินเป็นหลัก คือ ผู้เล่นต้องชนะการแข่งขันในรายการต่าง ๆ ในอันดับที่ดีที่สุด โดยตัวเกมไม่ได้บังคับว่าต้องแข่งให้ได้อันดับ 1-3 เพื่อดำเนินเนื้อเรื่องต่อไป (ยกเว้นการแข่งขันรอบ Qualified กับ The Grand ที่มีกฎชัดเจนว่าต้องเอาชนะให้ได้) โดยทุกระดับความยาก มีการจำกัดจำนวนครั้งที่ Restart โดยยิ่งยากเท่าไหร่ จำนวนครั้งที่ Restart เกมก็ยิ่งน้อยเท่านั้น ด้วยระบบดังกล่าว ผู้เล่นจึงไม่สามารถโกงเกมด้วยการกด Restart เริ่มแข่งใหม่ได้ทุกครั้ง
นอกจากนี้ AI ก็ถือว่ามีความยากท้าทายพอดี มีความสมเหตุสมผลอยู่บ้าง ไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป โดยคู่แข่งจะมีความเฉลียวฉลาดระดับหนึ่ง มีการตอบสนองต่อผู้เล่น แต่บางครั้งก็เกิด Human Error เช่น เผลอขับชนรถที่สัญจรไปมา หรือเลี้ยวหลุดโค้ง ซึ่งเปิดโอกาสให้เราสามารถแซงหน้าคู่แข่งไปได้
หรือถ้าหากมั่นใจว่าเกมเมอร์สามารถเอาชนะคู่แข่งได้แน่นอน ก็สามารถกด “Bet” เพื่อเดิมพันเป็นเงิน แต่ผู้เล่นจะสามารถกด Bet ได้แค่คนเดียว ไม่สามารถกำหนดจำนวนเงินได้ และหากแพ้คู่แข่งที่ลงพนันไว้ ผู้เล่นจะต้องเสียเงินที่เดิมพันทั้งหมด
แต่บางครั้ง AI ก็มีการใช้กลโกง ด้วยระบบบาลานซ์สุดคลาสสิกอย่าง Rubber Band (ขับไล่ตามผู้เล่นได้ทัน ทั้งที่ระยะห่างระหว่างผู้เล่นกับ AI อยู่ไกลมาก) ซึ่งแม้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยเหมือนภาค Heat แต่สุดท้าย มันก็เกิดความรู้สึกที่ไม่แฟร์อยู่ดี
แน่นอนว่าระบบการหลบหนีจากตำรวจ (Pursuit) ได้กลับมาอีกครั้ง โดยภาคนี้จะแตกต่างจากภาค Heat เล็กน้อย ตรงที่ตำรวจในช่วงเวลากลางวัน กับกลางคืนจะมีความโหดเท่ากันแล้ว ถ้าหากผู้เล่นมี Heat Level (อารมณ์เหมือน Wanted Level ของ GTA) ระดับที่ 5 เจ้าหน้าที่จะทุ่มกำลังทั้งหมดเท่าที่มีมาหยุดยั้งคุณให้ได้ ตั้งแต่การเรียกกำลังเสริม, ใช้เฮลิคอปเตอร์ไล่ตาม, ตั้ง Roadblock และวิธีอื่น ๆ อีกมากมาย (ยกเว้นการเรียกรถเกราะ Rhino มาพุ่งชน ได้หายไปในภาคนี้)
ในความคิดเห็นส่วนตัว แม้ตำรวจ NFS Heat มีความท้าทาย และเข้มข้นก็จริง แต่มีระบบบางอย่างที่ทำให้การไล่ล่าไม่สนุกสนานพาเครียด เช่น รถของเราเปราะบางเกินไป และรถของเราสามารถฟื้นหลอด HP ได้ที่ปั๊มน้ำมันเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้น
ซึ่ง Unbound มีการแก้บาลานซ์ใหม่ ด้วยการปรับให้รถของเราอึดขึ้น, ลดความดุดันของตำรวจลง เน้นทำงานเป็นทีมมากขึ้น และเปลี่ยนให้ผู้เล่นสามารถแวะปั๊มน้ำมัน เพื่อซ่อมรถได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่หลังซ่อมรถแล้ว ปั๊มน้ำมันจะมีการ Cooldown ซึ่งการปรับดังกล่าวทำให้การไล่ล่าตำรวจสนุกสนานท้าทาย มีความลงตัวกว่าภาค Heat
นอกจากนี้ Heat Level มีการปรับจากภาคก่อน จากเดิมที่ Heat Level จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อของการไล่ล่า แต่ภาคนี้ได้ปรับให้ Heat Level เพิ่มสูงขึ้น หลังจบการแข่งขันแทน และ Heat Level ที่สะสมไว้ในช่วงเวลากลางวัน จะยังคงอยู่ต่อไปในช่วงเวลากลางคืน โดย Heat Level จะรีเซตใหม่ทุกครั้ง เมื่อเริ่มต้นในวันถัดไป
บทลงโทษจากการโดนตำรวจจับ (Busted) ยังคล้ายกับภาค Heat เหมือนเดิม คือหากโดนจับเมื่อไหร่ เงินทั้งหมดที่ได้จากการแข่งขันในรอบนั้นจะถูกยึดทันที ฉะนั้นก็เป็นทางเลือกของผู้เล่นว่าจะเสี่ยงแข่งต่อไป เพื่อให้ได้เงินรางวัลมากที่สุด หรือจะพอแค่นี้ เพื่อไม่ต้องเสี่ยงโดนตำรวจจับยัดเข้าซังเต
สิ่งที่น่ารำคาญอย่างเดียวสำหรับตำรวจของเกมนี้ คือมีหลายครั้งที่ตำรวจออกมาลาดตระเวนในช่วง Free-Roam มีจำนวนมากเกินไป จนทำให้การเดินทางจากจุด A ไป B ขาดความสะดวก และเมื่อเข้าสู่ Heat Level 4 ก็ยิ่งทำให้เดินทางยากลำบากกว่าเดิม เพราะเริ่มมีตำรวจ Undercover (รถตำรวจที่ไม่โชว์ใน Mini-Map) มาลาดตระเวน ทำให้หลายครั้ง เราเผลอเข้าสู่โหมดถูกไล่ล่าโดยไม่ได้ตั้งใจ จนเรารู้สึกว่าใช้เวลากับการโดนตำรวจไล่ มากกว่าการแข่งขันซะอีก
สุดท้าย ข้อเสียของ NFS Unbound คือโหมด Multiplayer ที่แห้งสนิท เพราะตอนนี้ ตัวเกมยังไม่มีคอนเทนต์ที่ดึงดูดให้เราอยากกลับมาเล่นอีกครั้ง นอกเหนือจากการซื้อรถ แต่งรถ แล้วไปแข่งกับเพื่อน ๆ เพื่อสะสมเลเวลในโหมด Multiplayer ไปเรื่อย ๆ แบบไร้จุดหมาย ซึ่งเราคาดหวังว่าในเร็ว ๆ นี้ ตัวเกมมีการอัปเดตใหม่ที่ทำให้โหมด Multiplayer น่าสนใจกว่านี้
กราฟิก / ประสิทธิภาพ
แม้ NFS Unbound ไม่ได้มีภาพสวยอลังการสมกับเป็นเกมที่ลงเฉพาะในคอนโซล Next-Gen แต่ภาพกราฟิกโดยรวมก็ยังถือว่าดูดีสวยงาม ไม่ขี้เหร่ การสะท้อนแสงเงามีความสมจริง ตามมาตรฐานเกมที่ใช้ขุมพลัง Frostbite Engine
Performance ก็ถือว่าสอบผ่าน กินสเปคในระดับพอดี เฟรมเรตมีความนิ่งเสถียรทั้งฉากในเมืองที่เต็มด้วยรถยนต์สัญจรไปมา กับแถบชาญเมืองที่โอบล้อมไปด้วยป่าไม้ธรรมชาติ แต่เราพบว่าเมื่อเปิดเล่นเกมไปนาน ๆ ก็จะเกิดอาการเฟรมเรตดรอปลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งปัญหาทั่วไปดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ด้วยการออกเกมแล้วเข้าใหม่ หรือรีสตาร์ท PC
ถึงอย่างนั้น หากเทียบกับเกมแข่ง Open-World ไตเติลระดับชั้นนำอย่าง Forza Horizon 5 ภาพกราฟิก การขัดเกลา และความใส่ใจในรายละเอียดนั้น NFS Unbound ยังห่างไกลจากเกมดังกล่าวอยู่หลายขุม ซึ่งก็ต้องย้ำอีกครั้งว่า NFS Unbound เป็นเกมที่มีกราฟิกสวยงาม แต่แน่นอนว่าหากเอา 2 เกมมาเปรียบเทียบกัน เราเชื่อว่าไม่มีใครปฏิเสธความงามของกราฟิก Forza Horizon 5 ไปได้
สรุป
นับเป็นอีกก้าวของ Need for Speed ที่เดินมาถูกทาง เกมเพลย์กับระบบโดยรวมไม่แตกต่างจากภาคก่อนก็จริง แต่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นหลายอย่างที่พอรู้สึกสัมผัสได้ กราฟิกกับเอฟเฟกต์การ์ตูน ช่วยให้บรรยากาศเกมมีสีสัน มีสไตล์โดดเด่นกว่าเกม Racing หลายไตเติลในยุคนี้ แม้ยังไม่ถือเป็นเกมภาคคัมแบ็กของซีรีส์อย่างเต็มตัว แต่ถ้าชอบภาค Heat อยู่แล้ว เรามั่นใจว่าแฟน ๆ ต้องปลื้มกับภาคนี้แน่นอน
ข้อดี
- ระบบ Progression ในโหมดเนื้อเรื่องออกแบบมาดี ให้เราต้องบริหารเงินอย่างรอบคอบ
- เอฟเฟกต์การ์ตูน อาร์ตสไตล์ มีเอกลักษณ์
- เกมเพลย์กับระบบโดยรวม ได้ปรับบาลานซ์ให้ดีขึ้นกว่าภาคก่อน
- ตัวเลือกการแต่งรถหลากหลายกว่าเดิม
ข้อเสีย
- A.I. โกง Rubberband บางครั้ง
- โหมด Multiplayer ขาดคอนเทนต์
- เนื้อเรื่องธรรมดา ไม่มีความน่าจดจำ
- หลายครั้งที่ตำรวจออกมาลาดตระเวนในช่วง Free-Roam มีจำนวนมากเกินไป จนทำให้การเดินทางไม่สะดวก
คะแนน 7.5/10