BY KKMTC
1 Sep 20 5:46 pm

รีวิว Project CARS 3 – แนวทางใหม่ที่ได้อย่างแต่ก็เสียอย่าง

78 Views

Project CARS เป็นหนึ่งในแฟรนไชส์เกมแข่งรถสมจริงของค่าย Slightly Mad Studios ที่ประสบความสำเร็จ จนตัวเกมสามารถดำเนินมาไกลถึงสามภาค แต่เกมภาคล่าสุดอย่าง Project CARS 3 มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของเกมใหม่ ซึ่งมีความแตกต่างจากเกมภาคก่อนอย่างเห็นได้ชัด แล้วไดแรกชันใหม่จะทำให้เกมเมอร์ขาซิ่งยอมรับได้หรือไม่ มาพบกับบทความรีวิว Project CARS 3

การนำเสนอ

หลังจากเข้าเกม Project CARS 3 เป็นครั้งแรก สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือการออกแบบ UI กับ HUD ที่ดูเรียบง่ายกว่าภาคเก่า โดยเฉพาะหน้าต่างการปรับตั้งค่ารถยนต์จะไม่มีตัวเลข หรือหน่วยต่าง ๆ ซึ่งสร้างความงุนงงให้กับผู้เล่นบางคนอีกต่อไป เหลือเพียงตัวเลือกสไลด์เลื่อนซ้ายกับขวาในการปรับแต่งเท่านั้น

ส่วน Career Mode ของเกมจะลดความยุ่งยากซับซ้อน มีระบบความคืบหน้าที่เป็นเส้นตรง และเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น โดยอีเวนท์การแข่งขันจะมีการแบ่งคลาสออกอย่างชัดเจน เช่น หมวดการแข่งขันรถ Road E จะสามารถใช้ได้แค่รถคลาส E เท่านั้น หรือหมวดการแข่งขัน Road A จะสามารถใช้รถคลาส A เท่านั้น เป็นต้น

รถยนต์แต่ละคันจะมีค่า PIR ที่เปรียบเสมือนเป็นค่าบอกสมรรถภาพของรถยนต์โดยรวม โดยยิ่งปรับแต่งรถเยอะเท่าไหร่ ค่าสถานะ PIR ก็ยิ่งเยอะเท่านั้น ซึ่งค่า PIR เยอะก็ส่งผลช่วยให้เลื่อนระดับคลาสของรถยนต์ เช่นสมมุติว่ารถยนต์เริ่มต้นของคุณเป็นคลาส E ผู้เล่นสามารถอัปเกรดเป็นรถคลาส C จากการอัปเกรดส่วนไหนของรถยนต์ก็ได้ และแน่นอนว่าผู้เล่นก็สามารถดาวน์เกรดรถให้กลับคืนสู่คลาส E ได้เช่นกัน

เพราะฉะนั้น รถหนึ่งคันในเกมนี้จะสามารถใช้ซ้ำติดต่อยาว ๆ ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้เล่นที่ต้องการประหยัดเงิน เพื่อซื้อรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า 

นอกจากนี้ รถยนต์เกือบทุกคันจะสามารถเปลี่ยนรูปร่างจากรถธรรมดา รถสปอร์ต หรือรถหรู ให้กลายเป็นรถแข่ง Race Car ด้วยอุปกรณ์ Race conversion kits รวมถึงสามารถตกแต่งลวดลายรถยนต์ได้อย่างอิสรเสรี ก็ต้องบอกเลยว่านี่เป็นฟีเจอร์ที่คอนักแต่งรถ อาจจะชื่นชอบไม่ใช่น้อย

แต่บางอีเวนท์การแข่งขันจะมีเงื่อนไขบังคับให้ใช้รถยนต์เฉพาะบางคันเท่านั้น เช่นให้ใช้รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น, รถสัญชาติอเมริกัน, รถรุ่นนั้น หรือรถแบรนด์นี้ ฯลฯ แต่ไม่เหมือนกับเกมอื่นที่ตัวเกมมีการเตรียมรถให้ผู้เล่นสามารถเข้าร่วมการแข่งขันทันที แต่เกมนี้จะบังคับให้ผู้เล่นต้องซื้อรถยนต์คันใหม่ เพื่อผ่านเงื่อนไขในการเข้าร่วมบางอีเวนท์

สำหรับความคิดเห็นตัวแล้ว ไม่ค่อยชื่นชอบเงื่อนไขดังกล่าวสักเท่าไหร่นัก เพราะเป็นการบังคับให้เราต้องยอมเสียเงินซื้อรถคันใหม่โดยไม่ใช่เหตุ เพื่อเข้าร่วมอีเวนท์เล็ก ๆ อีเวนท์หนึ่ง ซึ่งส่งผลลัพธ์รถยนต์หลายคันที่ซื้อมามักถูกดองไว้ในโรงเก็บรถ หรือไม่ก็นำไปขายคืนเงิน หลังจากรถดังกล่าวไม่มีประโยชน์ที่จะใช้งานอีกต่อไป

สุดท้าย สำหรับใครที่กังวลเกี่ยวกับด้านเนื้อหาจะลดน้อยจากเกมภาคก่อน ก็ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะ Project CARS 3 ยังคงอัดแน่นเต็มไปด้วยคอนเทนต์มากมาย ด้วยรถยนต์ที่มีให้เลือก (รวมรถที่ต้องปลดล็อกเอง) มากกว่า 200 คัน และมีสนามแข่งรถจากโลกชีวิตจริงกับแบบฟิกชั่น รวมทั้งหมด 120 สนาม ซึ่งก็พอช่วยให้การเล่นเกมไม่มีความรู้สึกซ้ำซากจำเจ เนื่องจากแต่ละสนามแข่งจะมีการออกแบบโค้ง และมีอุปสรรคที่แตกต่างกัน

เกมเพลย์

ก่อนที่เกมจะออกวางจำหน่าย แฟน ๆ หลายคนต่างกังวลว่า Project CARS 3 จะกลายเป็นเกมแนวแข่งรถแบบอาร์เคด จากเดิมที่เป็นเกมแข่งรถแบบสมจริง ซึ่งความกังวลดังกล่าว สุดท้ายก็เป็นเรื่องจริง เพราะเกมภาคนี้ มีการปรับเปลี่ยนระบบเกมเพลย์ใหม่ที่มีความแตกต่างจากเกมภาคก่อนเป็นอย่างมาก

Project CARS 3 จะไม่ใช่เกมแข่งรถแนวสมจริงอีกต่อไป แต่กลายเป็นเกมแข่งรถแบบกึ่งสมจริงกึ่งอาร์เคด ทำให้การควบคุมรถและระบบฟิสิกส์แตกต่างจากภาคก่อน โดยรถจะขับง่ายขึ้น, เลี้ยวง่ายขึ้น,  ริฟท์ง่ายขึ้น, การเล่นเกมจะเหมาะใช้ทั้งคอนโทรลเลอร์กับพวงมาลัย, กฎระหว่างการแข่งขันจะลดความเข้มงวดลง และทุกอีเวนท์จะมี Objective ให้ทำ 3 อย่าง เช่น เข้าเส้นชัยอันดับ 3 ขึ้นไป, ดราฟต์คู่แข่งจำนวน 5 วินาที, ทำ Perfect Corners (เลี้ยวโค้งอย่างสวยงาม) เป็นต้น

นอกจากนี้ ลักษณะการแข่งขันก็เปลี่ยนไปอีกด้วย ในเกมนี้จะไม่มีการแข่งขันรอบ Quilifying, ไม่มีการจอด Pitstop เพื่อเปลี่ยนยางหรือเติมน้ำมัน รวมถึงไม่มีระบบสึกหรอของยางรถยนต์ ทำให้อีเวนท์ประเภทการแข่งขันเกือบทุกชนิด ผู้เล่นสามารถโฟกัสกับการแข่งขันอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดการวางแผนเข้า Pitstop หรือเลือกประเภทล้อรถยนต์ระหว่างการแข่งขันอีกต่อไป

ด้วยระบบเกมเพลย์ที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้ประสบการณ์การเล่นเกม Project CARS 3 จะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เร้าใจ ลุ้นระทึก และเข้าถึงเกมมอร์ที่ชื่นชอบเกมแข่งรถมากยิ่งขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม เพราะฟีเจอร์ต่าง ๆ หลายอย่างถูกตัดออกไปจากเกมภาคก่อน ทำให้ผู้เล่นที่เคยสัมผัส Project CARS ภาคเก่า อาจมีความรู้สึกว่าตัวเกม “เหมือนขาดอะไรไปหลายอย่าง” และแน่นอนว่าด้วยลักษณะเกมเพลย์ที่เปลี่ยนเป็นเกมแข่งรถแนวกึ่งสมจริงกึ่งอาร์เคด ทำให้แฟน ๆ เกมหลายคนอาจรับไม่ได้ หรือรู้สึกเกลียดแนวทางใหม่ของ Project CARS 3 ไปเลย

ส่วนความยากของเกมดังกล่าว ผู้เล่นสามารถกำหนดเองได้อย่างอิสระ โดยเกมเมอร์สามารถเปิด/ปิด ระบบ Assist ต่าง ๆ เช่น เลี้ยวอัตโนมัติ, เปิด Racing Line บอกระยะการเบรกก่อนเข้าเลี้ยว และอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงสามารถปรับความยาก และความดุดันของ AI  ซึ่งผู้เล่นยิ่งปิดระบบ Assist หรือเพิ่มความยากมากเท่าไหร่ ผู้เล่นจะได้รับรางวัลและค่า EXP สำหรับเลเวลอัพตัวละคร กับเลเวลของรถยนต์ หลังการแข่งขันจบมากกว่าปกติ

ถึงอย่างนั้น พฤติกรรมของ AI ในเกม ก็จัดว่าค่อนข้างแปรปรวนและไม่เป็นธรรมชาติพอสมควร คู่แข่งบางคนขับรถเหมือนหุ่นยนต์ที่ขับตามเส้นทาง หรือปล่อยให้เราแซงไปง่าย ๆ แต่บางคันก็มีพฤติกรรมดุดันเกินไป เช่น  AI ขับรถจี้ประชิดเกินไป หรือมีการเบียดซ้ายเบียดขวาระหว่างการเลี้ยวโค้ง ทำให้เราเสียหลักระหว่างการแข่งขัน แม้ความยากของเกมดังกล่าวโดยรวมจะมีความท้าทายที่พอดี แต่บางครั้งก็มีความไม่แฟร์ เนื่องจากพฤติกรรมของ AI ที่คาดเดายาก และขาดความสมดุลบางครั้ง

ส่วนระบบ Multiplayer จะคล้ายกับเกมแข่งรถเกมอื่น พอเมื่อเข้าโหมดออนไลน์จะมีให้เลือกระหว่าง Quick Play สุ่มเลือกห้องล็อบบี้, Scheduled Event การแข่งขันตามตารางอีเวนท์ที่เกมกำหนดไว้ และ Custom Lobby ที่ผู้เล่นสามารถสร้างห้องล็อบบี้ กำหนดสนามแข่ง จำนวนรอบ สภาพอากาศ และชักชวนเพื่อนให้เข้าร่วมเกมได้ตามอิสระ

เหมือนที่กล่าวไว้ข้างต้น เนื่องจากตัวเกมมีการปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่กลายเป็นเกมแข่งรถที่เข้าถึงง่ายขึ้น ก็ทำให้บรรยากาศการแข่งขันดูซีเรียสน้อยลง และเน้นสนุกสนานมากขึ้น ส่วนรางวัลจากการแข่งขันจบจะคล้ายกับ Career Mode คือจะได้รับเงินและค่า EXP สำหรับเลเวลอัพตัวละคร กับเลเวลของรถยนต์ ซึ่งเป็นโหมดที่เหมาะสำหรับคนที่เบื่อโหมด Singleplayer หรือต้องการปะทะฝีมือกับเกมเมอร์คนอื่น

กราฟิก

*Project CARS 3 รีวิวผ่านเครื่องเกม PlayStation 4 Pro

อีกหนึ่งในจุดที่น่าผิดหวังของ Project CARS 3 คือภาพกราฟิกในเกมไม่มีพัฒนาการจากภาคก่อน และดูเหมือนว่ามีการดาวน์เกรดกราฟิกลงซะด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของ Texture ความละเอียดของฉาก แสง เงา จัดว่าไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไหร่นัก เนื่องจากทุกองค์ประกอบของกราฟิก มีคุณภาพระดับเกือบต่ำจนถึงปานกลาง

แม้ลักษณะภาพกราฟิกของเกมโดยรวมจะไม่ได้ดูแย่จนน่าเกลียด เพราะก็ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าฉากบางฉากมีความสวยงามเป็นธรรมชาติ รวมถึงโมเดลรถบางคันมีรายละเอียดเยอะใช้ได้เลย แต่หากเปรียบเทียบกับเกม Project CARS ภาคสอง และภาคหนึ่ง เราพบว่ากราฟิกของเกมภาคใหม่ มีความเป็น “การ์ตูน” มากยิ่งขึ้น โดยโทนสีของรถยนต์กับฉากหลังจะดูเข้มข้น จัดจ้าน ซึ่งแตกต่างจากภาคก่อน ๆ ที่มีโทนสีเป็น Photorealistic สมจริง ก็ต้องบอกเลยว่าส่วนตัวไม่ชื่นชอบกราฟิกสไตล์ใหม่สักเท่าไหร่นัก

อีกสาเหตุหนึ่งที่รู้สึกผิดหวังกับคุณภาพกราฟิกของ Project Cars 3 เพราะเกมดังกล่าวโปรโมตว่าจะลงให้เครื่องเกมคอนโซลยุคหน้าอย่าง PlayStation 5 และ Xbox Series X ด้วย ฉะนั้นเราจึงคาดหวังว่าอย่างน้อย ควรจะมีการอัปเกรดภาพกราฟิกบ้าง ซึ่งก็ไม่แน่ว่าตัวเกมเวอร์ชัน PS5 กับ Xbox Series X จะมีการปรับปรุงในส่วนนี้

นอกจากนี้ ตัวเกมพบปัญหาประสิทธิภาพ เมื่อรันผ่านเครื่องคอนโซล PlayStation 4 Pro เล็กน้อย โดยระหว่างการเล่น ตัวเกมจะสามารถรันที่ 60FPS 1080p แต่หากฉากหลังมีรายละเอียดเยอะกว่าปกติ เฟรมเรตอาจจะดิ่งลงที่ 50FPS และเฟรมเรตสามารถดิ่งลงสุดถึง 40FPS หากมีสภาพอากาศฝนตก

รวมถึงมีบั๊กภาพกราฟิกประปราย เช่น ป้ายของตึกโหลดไม่ทัน หรือมีแสงสะท้อนตรงพื้นสว่างจ้าเกินไป บั๊กดังกล่าวแม้จะไม่ใช่บั๊กร้ายแรง หรือส่งผลกระทบระหว่างการเล่นเกมมากนัก แต่ก็สร้างความรู้สึกขัดใจให้ผู้เล่นบางกลุ่มได้เช่นกัน

บั๊กกราฟิกที่จู่ ๆ มีแสงประหลาดบนกระจกรถ

แต่โชคดีที่ตัวเกมมี Option ให้เลือกปรับตั้งค่ากราฟิกแบบ “Performance” เน้นความสวยของภาพ กับ “Framerate” เน้นเฟรมเรตที่ลื่นไหล เพราะฉะนั้นถ้าหากต้องการเล่นเกมด้วยภาพ 50-60FPS ตลอดเกือบทั้งเกม ตัวเลือกกราฟิกเน้นเฟรมเรต ถือว่าเป็นทางเลือกที่ไม่เลวเช่นกัน

สรุป

Project CARS 3 เป็นเกมภาคต่อที่พยายามเปลี่ยนแนวทางของเกมใหม่เกือบทั้งหมด เพื่อเกมเมอร์เข้าถึงตัวเกมได้ง่าย และเน้นการเล่นสนุกสนานมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ทีมงานพยายามออกแบบรูปแบบเกมเพลย์ใหม่ให้คนทั่วไปสามารถเอ็นจอยกับเกมดังกล่าว

แน่นอนว่าการสร้าง Project CARS 3 ไปในทิศทางใหม่ ก็ส่งผลลัพธ์ทำให้ตัวเกมสูญเสียเอกลักษณ์ จากดั้งเดิมที่ Project CARS เป็นที่รู้จักในฐานะเกมขับรถแบบสมจริง มีบรรยากาศซีเรียส และเน้นการแข่งขันจริงจัง แต่มาในภาคนี้กลายเป็นเกมแข่งรถแบบกึ่งอาร์เคดกึ่งสมจริง ที่พบเห็นบ่อยในตลาดเกมแข่งรถ ณ ตอนนี้ รวมถึงเนื่องจากตัวเกมออกแบบให้เข้าถึงง่ายขึ้น ก็ทำให้ความใส่ใจในรายละเอียดของระบบ กราฟิก เกมเพลย์ และฟีเจอร์ต่าง ๆ โดนลดทอนจากเกมภาคก่อนอย่างเห็นได้ชัด

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด เราจึงไม่สามารถแนะนำเกมนี้ต่อคนที่แฟนเกมแข่งรถแนวสมจริง หรือแฟนเกม Project CARS แต่ถ้าหากคุณรับได้กับการเปลี่ยนแปลงของภาคนี้ เกม Project CARS 3 จัดว่าเป็นเกมแข่งขันที่โอเคเกมหนึ่งเลยละ

คะแนน 6.7/10

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top