Razer ขอส่งไมค์คุณภาพสูงเอาใจผู้ใช้งานสาย Streamer จะดีขนาดไหน คุ้มค่าคุ้มราคาหรือเปล่า และมันเหมาะกับใครบ้าง ไปดูกันเลย
ขยับขยายมีอุปกรณ์ใหม่ ๆ กันแบบต่อเนื่องสำหรับแบรนด์ Razer ผู้ผลิตอุปกรณ์เกมมิ่งชื่อดัง ที่หลัง ๆ มานี้นอกจาก เมาส์ คีย์บอร์ด หรือของใช้งานเพื่อการเล่นเกมต่าง ๆ ยังมีไลน์อัพอุปกรณ์หลายชิ้นสำหรับ Streamer โผล่ออกมาให้เห็นกัน
ล่าสุดที่เรารีวิวกันไปแล้วก็คือกล้องเว็บแคม Razer Kiyo X และมาวันนี้เราก็ขอหยิบอุปกรณ์อีกหนึ่งชิ้นที่ทาง Razer ส่งออกมาเจาะตลาดเหล่า Streamer ทั้งหลาย นั่นก็คือ ไมโครโฟนรุ่นใหม่ล่าสุดของค่ายภายใต้ชื่อรุ่น Razer Seiren V2 Pro และ V2 X
เจ้าไมโครโฟนสองพี่น้องนี้ แม้รูปร่างหน้าตาภายนอกจะมีความคล้ายคลึงกันแต่ก็มีราคาและการใช้งานที่แตกต่างกันไป และวันนี้ GamingDose จะพาไปเจาะลึกดูการใช้งานแบบครบทั้งสองรุ่นกันเลย จะเป็นยังไงบ้างไปอ่านกันได้เลย
ดีไซน์
Razer Seiren V2 Pro และ V2 X ถือเป็นรุ่นพัฒนาต่อยอดจาก Razer Seiren X ไมโครโฟนรุ่นประหยัดตัวดั้งเดิม การกลับมาครั้งนี้ Razer ยังยึดเอาดีไซน์และจุดเด่นหลักดั้งเดิมของ Seiren X เอาไว้ แต่มีการปรับลดขนาดโดยรวมของตัวไมโครโฟน แก้ดีไซน์ในบางส่วน ขณะเดียวกันก็คงข้อดีและจุดเด่นดั้งเดิมเอาไว้
กลับมาครั้งนี้ Razer Seiren V2 Pro และ V2 X ย้ายเอา Port การเชื่อมต่อไปไว้ด้านหลังของตัวไมโครโฟน ความล้ำและความโดดเด่นคือสาย USB-C ที่ให้มาและดีไซน์จุดเชื่อมต่อนั้นแนบสนิทเข้ากับตัวไมโครโฟน เป็นการเก็บสายแบบสวย ๆ หรือต่อให้ใช้สาย USB-C ธรรมดาทั่วไปการย้ายจุดเชื่อมต่อไปไว้ด้านหลังก็ทำให้ง่ายต่อการจัดวางตัวไมโครโฟน สำหรับสาย USB-C ที่ให้ก็มีความยาวที่เรียกได้ว่าเหลือใช้แถมเป็นสายถักคุณภาพดีอีกด้วย
สำหรับขนาดนั้นทั้งสองตัวก็จัดเป็นไมโครโฟนในกลุ่มขนาดเล็ก โดยรวมแล้ว ทั้ง Razer Seiren V2 Pro และ รุ่น V2 X ก็จะมีดีไซน์ที่เหมือนกัน ในส่วนของหน้าตาภายนอกนั้นตัว Seiren V2 Pro จะมีปุ่มสำหรับเพิ่มลด Volume ไมโครโฟนตัวมอนิเตอร์มา ส่วนที่เหลือก็จะเป็นปุ่มปรับเพิ่มลด Gain และปุ่มสำหรับ Mute ไมโครโฟนที่มีไฟ Led แสดงสถานะติดมาด้วย ทั้งสองรุ่นยังมาพร้อมกับฐานตั้งที่สามารถถอดประกอบได้ แต่ในการใช้งานจริงแล้วส่วนตัวเราคิดว่า Razer Seiren V2 ทั้งสองรุ่นดูเหมาะกับการใช้งานกับขาบูมมากกว่า ด้วยรูปร่างโดยรวมที่ทำให้การวางกับโต๊ะอาจจะทำให้ตัวไมโครโฟนอยู่ห่างจากปากของเรามากเกินไปและลดทอนคุณภาพเสียงลง
ในด้านดีไซน์แล้ว Razer Seiren V2 ทั้งสองตัวถือว่าโดดเด่น สวยงาม จะจัดวางตรงไหนก็โดนใจ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเสน่ห์สำคัญของอุปกรณ์จากทาง Razer อยู่แล้ว
สเปก
แม้หน้าตาภายนอกจะเหมือนกันแต่พอเจาะลึกลงไปในเรื่องของสเปก ความต่างของ Seiren V2 Pro และ รุ่น Seiren V2 X ก็เริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ตัว Seiren V2 X จะเป็นไมโครโฟนคอนเดนเซอร์แบบ 25 มม. มี Sample Rate อยู่ที่ 48 kHz และมี Bit Rate อยู่ที่ 24 Bit
ตัว Seiren V2 Pro มาในไมโครโฟนแบบไดนามิค 30 มม. มี Sample Rate อยู่ที่ 96 kHz และมี Bit Rate อยู่ที่ 24 Bit
ทั้งสองรุ่นมีค่า Frequency response อยู่ที่ 20 Hz – 20 kHz Sensitivity อยู่ที่ -34 dB และมีค่า Max SPL อยู่ที่ 120 dB ตัวที่โดดเด่นในจุดนี้ของสเปกก็น่าจะเป็นค่า Max SPL ที่เป็นการระบุว่าตัวไมโครโฟนรองรับความดังของเสียงถึงระดับไหนโดยที่เสียงที่ออกไปจะไม่มีอาการเสียงแตก
ด้านคุณภาพเสียงนั้นตัว Seiren V2 X ถ้าดูจากสเปกก็ถือได้ว่ามีการอัพเกรดพัฒนาจากรุ่นก่อนพอสมควร ในรุ่น Seiren V2 X จะมีรูปแบบการรับเสียงแบบ Super Cardioid แบบเดียว ซึ่งทิศทางการรับเสียงตัวนี้จะโดดเด่นในเรื่องการรับเสียงด้านหน้า และมีการรับเสียงด้านหลังที่แคบกว่า ในการทดสอบใช้งานแบบ Plug and Play หรือแกะกล่องแล้วเสียบใช้งานเลยตัว Seiren V2 X ให้เสียงที่ค่อนข้างแบน คุณภาพเสียงโดยรวมถือว่าน่าประทับใจและดีกว่า ไมโครโฟนบนหูฟังอย่างแน่นอน แต่ข้อสังเกตสำคัญคือการใช้งานแบบวางกับโต๊ะนั้นตัว Seiren V2 X ยังให้เสียงที่แย่กว่าไมโครโฟนในรุ่นไล่ ๆ กันตัวยอดนิยมหลายตัว ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะขนาดของ Seiren V2 X มีขนาดที่เล็กกว่าไมโครโฟนเจ้าอื่น ๆ แบบชัดเจน
พอขยับมาเป็นในรุ่น Seiren V2 Pro คุณภาพเสียงก็เพิ่มขึ้นแบบชัดเจนอีกขั้น ถ้าตัว V2 X เหมาะกับการใช้งานสำหรับ Streamer ธรรมดาทั่วไป คุณภาพเสียงของตัว Pro ก็ขยับมาเป็นการทำงานที่มีความจริงจังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการ Stream เล่นเกม หรือลงเสียงสำหรับงาน Content ต่าง ๆ สำหรับรุ่น V2 Pro นั้รูปแบบการรับเสียงจะเป็น Cardioid ซึ่งเน้นการรับเสียงจากทางทิศด้านหน้าของตัวไมโครโฟนโดยเฉพาะ ซึ่งตัวไมโครโฟนก็มีการจับเสียงที่ดีและช่วยลดเสียงรบกวนจากทิศทางอื่นได้ แม้เรื่องการตัดเสียงโดยรวมของทั้งสองรุ่นอาจจะไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็ถือว่าทำได้ดีหากเทียบกับราคาค่าตัวของทั้งสองรุ่น
จุดเด่นจริง ๆ ของทั้งสองรุ่นนั้นอยู่ในส่วนของ Software Mixer โดยการปรับแต่งเสียงแบบละเอียดจะใช้การปรับแต่งผ่านโปรแกรม Razer Synapse ซึ่งการปรับแต่งค่า Gain ผ่าน Software โดยตรงจะช่วยเพิ่มคุณภาพเสียงได้มากและเราสามารถ จัดการค่า Gain ได้แบบละเอียดกว่าการปรับบนตัวไมโครโฟนโดยตรง
จุดที่น่าเสียดายเป็นอย่างมากคือส่วนของการปรับแต่ง Mixer ผ่าน Razer Synapse เพราะแม้ตัวไมโครโฟนจะชูจุดเด่นในเรื่องของความ “ง่าย” ในการใช้งาน หรือ Plug and Play แต่การใช้งานตัว Mixer นั้นถือว่ามีความยุ่งยากในระดับหนึ่งเลยทีเดียว และถึงแม้ตัว Feature นี้จะถูกออกแบบมาให้ User ที่ไม่ใช่มือใหม่ แต่ส่วนของการ Set Up ก็ควรจะทำได้ง่ายกว่านี้ และจุดด้อยดังกล่าวยังไปผูกกับข้อเสียสำคัญก็คือการที่ตัวไมโครโฟนทั้งสองตัวจะเพิ่ม Output เสียงอีกกว่า 10 รายการลงไปใน Windows audio settings ของเรา แม้จะถือว่าเป็นตัวช่วยสำคัญใน Mixer แต่ก็ให้ความรู้สึกเกะกะได้เช่นกัน โดยเฉพาะในช่องเสียงที่เราไม่ได้ใช้และเราต้องเลื่อนหา มากันเต็มไปหมดทั้ง Microphone, Game, Browser, Voice chat, Music ไปจนถึง Aux ทั้ง 3 และ Sound Effect
สรุป
โดยรวมแล้วทั้ง Razer Seiren V2 Pro และ Seiren V2 X ก็ถือเป็นไมโครโฟนคุณภาพดีที่ถูกออกแบบมาเพื่อ Streamer โดยเฉพาะ ตัวรุ่น Seiren V2 X มีจุดที่น่าเสียดายเล็กน้อยตรงคุณภาพเสียงโดยรวมยังถือว่าฟัดกับไมโครโฟนในระยะเท่า ๆ กันแล้วแพ้ไปนิดหน่อย แต่ก็ชูในส่วนของการออกแบบและขนาดที่เล็กขึ้นมาแทน ส่วนตัว Seiren V2 Pro นั้นมีคุณภาพเสียงที่น่าประทับใจมาก แต่อาจจะต้องมีการปรับแต่งเพิ่มอีกบ้างใน Software
ทั้งสองรุ่นก็ถือว่าเจาะตลาด Streamer ที่กำลังมองหาไมค์ที่จบงานทุกอย่างในตัวเดียว ไม่ว่าจะเป็นงาน Live หรือการพากย์เสียงทำ Content ต่าง ๆ เสริมภายนอก ยิ่งการที่ทั้งสองรุ่นมาพร้อมกับช่องมอนิเตอร์ทำให้สามารถต่อหูฟังและทดสอบเสียงต่าง ๆ ได้ในตัว
สรุปง่าย ๆ Seiren V2 X สำหรับ Streamer ทั่วไป เน้นงาน Live ไม่จริงจังในตัวคุณภาพเสียงแบบ 100% หรือคนที่มองหาไมโครโฟนขนาดเล็กแต่ยังให้เสียงที่มีคุณภาพดี ส่วน Seiren V2 Pro เหมาะสำหรับ Streamer ระดับกึ่งมืออาชีพ มีการ Set Up โปรแกรมและอุปกรณ์เพิ่มเติม โดยเฉพาะคนที่ต้องการ Mixer จะถูกใจการปรับแต่งผ่าน Razer Synapse ของตัวนี้
RAZER SEIREN V2 PRO ราคา 5,690 บาท
RAZER SEIREN V2 X ราคา 3,890 บาท
ข้อดี
- ดีไซส์โดดเด่น ขนาดเล็ก จัดวางติดตั้งง่ายดาย
- สายถักคุณภาพสูงที่ให้มา
- เสียบแล้วใช้งานได้ทันที
- มาพร้อม Mixer ที่รองรับการใช้งานหลากหลาย
ข้อด้อย
- ขั้นตอนการ Set Up ตัว Mixer ค่อนข้างยุ่งยาก
- เพิ่มจำนวน Audio Output ใน Windows อีกหลายรายการ
- เหมาะกับการใช้งานควบคู่กับขา Boom เพื่อคุณภาพเสียงที่ดีที่สุด