ภาคต่อเกมแข่งรถเปิดโลกกว้างที่ปรับปรุงดีขึ้น จนทิ้งห่างจากภาคก่อนหลายกิโลฯ พร้อมขึ้นแท่นเป็น The Crew ที่ดีที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย
The Crew Motorfest เป็นเกมแข่งรถเปิดโลกกว้างจาก Ubisoft Ivory Tower ที่แตกต่างจากภาคก่อน ด้วยการเปลี่ยนแผนที่จากประเทศสหรัฐฯ กลายเป็นเกาะโออาฮูในฮาวาย แล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะถูกใจขาซิ่งหรือไม่ มาอ่านบทความรีวิวเกมนี้กันได้เลย
การนำเสนอ
แตกต่างจาก The Crew ทั้งสองภาคก่อนที่แผนที่เป็นประเทศสหรัฐฯ ในภาคนี้ ผู้เล่นจะได้ตะลุยออกซิ่งในรัฐฮาวาย หมู่เกาะสวรรค์ที่เป็นแหล่งรวมของคนหลายเชื้อชาติ และความหลากหลายของวัฒนธรรม
ฉากหลังสำหรับเกม The Crew Motorfest ได้ตั้งอยู่ในเกาะโออาฮู ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่อันดับ 3 ของฮาวาย ซึ่งเกาะโออาฮูในเกมมีขนาดใหญ่ก็จริง แต่ทีมงานยืนยันแล้วว่าแผนที่มีการย่อส่วนจากของจริง
แม้แผนที่ The Crew Motorfest ไม่ได้มีขนาดใหญ่เทียบเท่า The Crew ภาคก่อน และไม่มีพื้นที่อื่นของฮาวายนอกเหนือจากเกาะโออาฮูเท่านั้น แต่ด้วยสเกลแผนที่ที่เล็กลง ก็ทำให้แผนที่ในเกมมีรายละเอียดสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นโลเคชันเมืองโฮโนลูลู, ท่าเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์, ป่าไม้ดิบชื้น, ภูเขาไฟ และชายหาด ล้วนมีดีเทลที่น่าเหลือเชื่อ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ถึงแม้เกาะโออาฮูในเกมมีรายละเอียดสูงมากก็จริง แต่ก็รู้สึกเสียดายไม่ใช่น้อยที่แผนที่ภาคนี้ มีขนาดเล็กลงจากภาคก่อนแบบเห็นชัด ซึ่งแม้แผนที่จะยัง “ใหญ่” เกินมาตรฐานเกมแข่งรถ Open-World หลายเกมก็จริง แต่ก็ยังเทียบไม่ติดกับ “ความใหญ่โตมโหฬาร” ของประเทศสหรัฐฯ ในเกมภาคเก่าอยู่ดี ถึงอย่างนั้น การแลกเปลี่ยนครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่า
“คุณภาพมากกว่าปริมาณ” ก็อาจจะดีกว่าเกม Open-World แผนที่ใหญ่เบิ้ม ๆ แต่กลับเต็มไปด้วยความว่างเปล่าไม่น่าจดจำ
อีกฟีเจอร์หนึ่งที่ควรกล่าวถึงคือ Playlist ซึ่งเป็นลิสต์รายการการแข่งขัน ที่แต่ละหมวดจะใช้ยานพาหนะแตกต่างกัน ซึ่ง Playlist ในเกมนี้มีการนำเสนอที่ไม่ธรรมดา เพราะแต่ละหมวดจะมีธีมโดดเด่นเป็นของตัวเอง เช่น หากเข้าเล่นหมวดการแข่งรถญี่ปุ่น Made In Japan สนามแข่งทั้งหมดจะถูกตกแต่งเป็นธีมญี่ปุ่น หรือเมื่อเข้าเล่นหมวดการแข่งรถคลาสสิก Vintage Garage ระหว่างการแข่งขันจะเปิดเพลงย้อนยุค และสีของภาพที่มีลักษณะซีดจางเหมือนภาพถ่ายเก่า
นอกจากนี้ แต่ละ Playlist มีเจ้าภาพจัดงานที่ไม่เหมือนกัน โดยเจ้าภาพแต่ละคนมีนิสัย การพูดคุย และความหลงใหลในเรื่องยานพาหนะแตกต่างกัน ในระหว่างการแข่งขัน เจ้าภาพจะคอยเล่าประวัติความเป็นมาของ Car Culture, รถยนต์ กับสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในฮาวาย
แม้การเล่าเรื่องประวัติความเป็นมาของ Car Culture เป็นฟีเจอร์ที่ขาซิ่งหลายคนให้การต้อนรับ แต่ก็มีสิ่งขัดใจอย่างหนึ่ง คือบทสนทนาของเจ้าภาพบางคนมีความฝืน รวมถึง AI ที่เป็น GPS คอยชี้ทาง ก็มีลักษณะพูดมากเกินไป จนทีมงานเองก็ยังตบมุก Self-Aware (ตระหนักรู้ตัวเอง) ว่า GPS เกมนี้มันน่ารำคาญสุด ๆ แต่อีกด้านหนึ่ง เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ในชีวิตจริงที่ได้มาเป็นแขกรับเชิญในเกมนี้ กลับมีบทสนทนาเป็นธรรมชาติ มีความลื่นไหล ไม่ได้ความรู้สึกว่ากำลังฝืนแต่อย่างใด
ส่วนเรื่องปริมาณยานพาหนะ ก็จัดว่ามีเยอะกับมีความหลากหลายสมกับเป็นเกม The Crew โดยเกมนี้มียานพาหนะให้ขับตั้งแต่รถครอบครัว รถสปอร์ต รถต้นแบบ มอเตอร์ไซค์ เรือสำหรับการแข่งขัน เครื่องบิน และอื่น ๆ อีกหลายประเภท ซึ่งระหว่างการผจญภัย Free Roam ผู้เล่นสามารถสลับเปลี่ยนเป็นรถ เครื่องบิน และเรือได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์มาก ๆ สำหรับการเดินทางไกล และทำให้การสำรวจพื้นที่สนุกสนาน ได้ดื่มด่ำบรรยากาศของเกาะสวรรค์แบบเต็มอิ่ม
แต่สำหรับเกมเมอร์ที่รักความใส่ใจในรายละเอียด ทุกอย่างจะต้องเป๊ะนั้น อาจรู้สึกขัดใจ หรือทริกเกอร์กับโมเดลยานพาหนะไม่ใช่น้อย เพราะเราสังเกตว่ามาตรวัดความเร็วของยานพาหนะทุกคันได้ใช้ฟอนต์เลขตัวเดียวกันหมด, กระจกหลังในมุมกล้อง Cockpit ไม่สามารถใช้งานได้ และแม้คุณภาพโมเดลโดยรวมจะ “ดูดี” แต่ก็ไม่ได้สวยงามจนถึงขั้นร้องว้าวขนาดนั้น
เกมเพลย์
จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยเล่น The Crew 2 ในช่วงวันเปิดตัว ก็ต้องยอมรับว่าผมไม่ใช่แฟนเกมดังกล่าวสักเท่าไหร่นัก โดยปัญหาหลัก ๆ ที่ทำให้ส่วนตัวรู้สึกไม่สนุกจากการเล่นเกมภาคก่อนหน้านี้ คือรถให้ความรู้สึกไร้น้ำหนัก ลื่นลอย และการเลี้ยวซ้าย-ขวามีการตอบสนองเร็วเกินไปจนควบคุมให้รถนิ่งยาก
แต่ The Crew Motorfest ได้ปรับปรุงตรงส่วนนี้จากภาคก่อนอย่างก้าวกระโดด “ทุกยานพาหนะ” ให้ความรู้สึกว่ามีน้ำหนักแล้ว การเลี้ยวมีการตอบสนองที่ดีขึ้น รวมถึงมี Sense of Speed ที่ทำให้รู้สึกว่าเรากำลังขับยานพาหนะด้วยความเร็วสูงจริง ๆ แม้การควบคุมยานพาหนะใน The Crew Motorfest ยังไม่เพอร์เฟกต์ เช่น รถขับเคลื่อนล้อหน้า ยังติดอาการ Oversteer ค่อนข้างง่าย และฟิสิกส์ตอนรถกระแทกลงพื้นยังแปลกประหลาด แต่หากเปรียบเทียบกับ The Crew 2 แล้ว ผมรู้สึกสนุกสนานกับการขับยานพาหนะในเกมภาคนี้มากกว่าภาคก่อนหลายเท่า
ย้อนกลับไปตรงส่วนของ Playlist ที่ก่อนหน้านี้ระบุไว้ว่า การแข่งขันในแต่ละหมวดจะมีธีมการนำเสนอที่แตกต่างกัน ซึ่งมันไม่ได้มีตรงส่วนนั้นเพียงอย่างเดียว แต่บาง Playlist จะมีกฎการเล่นที่แตกต่างจากการแข่งขันปกติ โดยบางรายการ ผู้เล่นต้องแข่งขันแบบขาวสะอาด ที่หากขับรถชนหรือทำรอยขีดข่วน ผู้เล่นจะสูญเสียเงินโบนัสทุกครั้ง, บางรายการเป็นการแข่งขันแบบ Drag Racing ที่ผู้เล่นต้องการทำเบิร์นยาง แล้วกดจังหวะเกียร์ให้ตรงจังหวะเพื่อเร่งความเร็วอย่างสูงสุด, ในการแข่งขันหมวด Motorsport จะมีกฎที่ผู้เล่นต้องคอยรักษายางรถยนต์ไม่ให้สึกหรอจากการเลี้ยวหรือเบรกโดยไม่จำเป็น หรือแม้กระทั่งบางการแข่งขันเป็นโหมด Chill ที่แค่ขับให้ถึงเส้นชัยก็ชนะได้แล้ว
ด้วยบรรยากาศการแข่งขัน, กฎการแข่งขัน, Objective และโหมดที่มีความหลากหลาย ทำให้ทุก Playlist ไม่น่าเบื่อจำเจ เพราะมีการนำเสนอลูกเล่นใหม่ ๆ ตลอดเวลา แถมยังมี “ความท้าทาย” และ “กิจกรรม” ต่าง ๆ ให้ทำมากมายในโลกอันกว้างใหญ่ เช่นการค้นหาไอเทมคอลเล็กชัน และหากล่องสมบัติโดยใช้สัญญาณเรดาร์ จึงนับว่าเป็นกิจกรรมฆ่าเวลาสำหรับที่คนเหนื่อยกับการแข่งได้เป็นอย่างดี
ข้อเสียหลัก ๆ ของ Playlist และกิจกรรมความท้าทายใน The Crew Motorfest คือการแข่งขันส่วนใหญ่จะบังคับให้ใช้ยานพาหนะเช่าที่กำหนดไว้ หรือบังคับว่าต้องใช้รถคันนี้คันนั้นเท่านั้น ทำให้ตลอดการเล่น เราจะแทบไม่ค่อยได้ใช้ยานพาหนะของตัวเองเลย ซึ่งตัวเกมจะปลดล็อกให้แข่งขันโดยใช้ยานพาหนะประจำตัวได้ ก็ต่อเมื่อย้อนกลับไปเข้าแข่งขันในรายการเก่าแล้วเท่านั้น
นอกจากนี้ ความยากของ AI มีความแกว่งที่เดี๋ยวเก่งบ้าง เดี๋ยวอ่อนบ้าง และมีพฤติกรรมประหลาดคล้าย AI จากเกมแข่งรถสมัยก่อนที่มักขับรถจี้หลัง ชอบสะกิดท้ายรถ เข้าเลี้ยวไม่พ้นจนชนเข้ากับกำแพง และมุทะลุจนไม่รับรู้รถคู่แข่ง ซึ่งแม้เป็นปัญหาเล็กน้อย แต่ก็สร้างความรำคาญต่อผู้เล่นพอสมควร
หลังจากเคลียร์ Playlist ครบสามชุดแล้ว ตัวเกมจะปลดล็อก Main Stage ซึ่งเป็นโหมดออนไลน์ให้ผู้เล่นได้เข้าร่วมอีเวนต์การแข่งขันต่าง ๆ เพื่อทำ Ranking และสะสมความคืบหน้า แล้วปลดล็อกเอาของรางวัลต่าง ๆ โดยรายการแข่งขันจะเปลี่ยนแปลงในทุกสัปดาห์ และธีมของ Main Stage จะเปลี่ยนในทุกเดือน
ในขณะที่ระบบความคืบหน้าใน Main Stage ออกแบบได้ค่อนข้างเรียบง่าย ไม่มีความซับซ้อนมากนัก แต่ปัญหาหลักของโหมดดังกล่าว คือเป็นโหมดที่ไม่ต้อนรับผู้เล่นหน้าใหม่อย่างมาก เพราะคล้ายกับ Playlist ที่ทุกรายการแข่งขันใน Main Stage จะบังคับว่าต้องใช้ยานพาหนะคันเดียวเท่านั้น
เนื่องจากการแข่งขันใน Main Stage ไม่มีระบบการเช่ารถ ทำให้ผู้เล่นต้อง Grind ฟาร์มเงิน ฟาร์มพาร์ท ด้วยการชนะการแข่งขันซ้ำ ๆ ทั้งในโหมด Singleplayer และ Multiplayer ซึ่งอีกหนึ่งปัญหาที่ตามมา คือรถบางคันในเกมมีราคาขายที่ค่อนข้างสูงลิ่ว แล้วด้วยรายการแข่งขัน Main Stage ได้มีการเปลี่ยนทุกสัปดาห์ ก็หมายความว่าหากผู้เล่นไม่อยากพลาดของรางวัล Exclusive ผู้เล่นก็ต้องรีบเล่น รีบปั่นอีเวนต์ รีบ Grind เพื่อเอาเงินมาซื้อยานพาหนะ ซึ่งอาจมีโอกาสทำให้ผู้เล่นเบิร์นเอาท์ แล้วไม่สนุกกับการเล่นเกมนี้
สาเหตุที่คิดว่า Main Stage เป็นโหมดออนไลน์ที่ไม่ต้อนรับผู้เล่นหน้าใหม่ เพราะเกมภาคนี้สามารถนำยานพาหนะจาก The Crew 2 ย้ายเข้ามาเกมภาค Motorfest ได้ ฉะนั้นเกมเมอร์ที่เล่น The Crew 2 มานานจนเก็บยานพาหนะครบเซตแล้วจะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้เลย เราจึงคิดว่าอย่างน้อย ทีมงานควรจะใจดีต่อผู้เล่นใหม่ ด้วยการปล่อยให้เช่ารถโดยแลกกับเงินในเกม เพื่อให้พวกเขาได้เข้าร่วมอีเวนต์ Main Stage ได้โดยไม่ต้องรีบเล่น รีบ Grind เงินในทุกสัปดาห์
พูดถึงระบบการแต่งรถแล้ว ก็เหมือนกับ The Crew ภาคที่ผ่านมา คือ รถทุกคันสามารถเปลี่ยนบอดี้ได้ตามที่ต้องการ ส่วนพาร์ทเพิ่มประสิทธิภาพของยานพาหนะอย่างเช่น เบรก, เทอร์โบ, ยางรถยนต์ ฯลฯ จะได้รับจากการแข่งขันชนะเท่านั้น โดยพาร์ทที่ได้จากการแข่งจะเป็นการสุ่มทั้งหมด และมีระดับความแรร์แตกต่างกัน
ความแรร์ของพาร์ทแต่งยานพาหนะ จะแบ่งออกเป็น 4 ระดับด้วยกัน เช่น Uncommon (สีเขียว), Rare (สีฟ้า), Epic (สีแดงชมพู) และ Legendary (สีเหลือง) โดยพาร์ทระดับ Rare ขึ้นไปจะมีเอฟเฟกต์พิเศษที่ช่วยเพิ่มความได้เปรียบในสนามแข่งเล็กน้อย เช่น เพิ่มอัตราการฟื้นฟู Nitro เมื่อใช้เบรก, เพิ่มความเร็วระหว่าง Slipstream ฯลฯ
เอฟเฟกต์ความแรร์ของพาร์ท สามารถเปลี่ยนแปลง และอัปเกรดให้ดีขึ้นได้จากการใช้สกุลเงินที่เรียกว่า “Part” ซึ่งหน่วยเงินดังกล่าวก็ได้มาจากการย่อยสลายพาร์ทแต่งรถที่ไม่ใช้แล้วอีกทีหนึ่ง จึงทำให้การ Grind เพื่อหาพาร์ทมาย่อยสลาย และหาพาร์ทระดับ Legendary จึงกลายเป็น Endgame ของ The Crew 2 รวมถึงเกมภาคนี้ ซึ่งระบบนี้คุณอาจจะชอบหรือไม่ก็เกลียดไปเลย
แต่อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าเอฟเฟกต์พาร์ทก็เป็นเพียงแค่ของเสริมที่มีหรือไม่มีก็ได้ เพราะจากการทดลองใช้แล้ว ก็พบว่าประสิทธิภาพของยานพาหนะไม่ได้ดีขึ้นจากของเดิมแบบก้าวกระโดดมากนัก และจะมีประโยชน์ในบางโอกาสเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายแล้ว พาร์ทที่ดีที่สุดก็ยังคงเป็นพาร์ทที่มีตัวเลข “Performance” เยอะที่สุดอยู่ดี โดยเลข Performance นั้น ไม่ได้มีการจำกัดความแรร์ หรือหมายความว่าพาร์ทแรร์ระดับ Uncommon ก็มีคุณภาพดีเทพ ๆ ที่สามารถใช้งานแก้ขัดไปก่อน เมื่อได้พาร์ทระดับ Legendary แล้วก็ค่อยเปลี่ยนมาใช้ของใหม่ก็ไม่เสียหาย
กราฟิก และประสิทธิภาพ
เนื่องจากเป็นเกมเปิดโลกกว้าง แถมแผนที่ก็มีขนาดใหญ่กว่าเกมโลกกว้างไตเติลอื่น ๆ ทำให้เกมเมอร์บางกลุ่มกังวลว่า The Crew Motorfest จะเป็นเกมที่กินสเปค มีปัญหาด้านประสิทธิภาพตามมาหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ขอให้เกมเมอร์ขาซิ่งหายห่วงกันได้เลย
จากการเล่นเกมด้วยคอนโซล PlayStation 5 พบว่าเครื่องดังกล่าวสามารถรันเกม The Crew Motorfest ได้อย่างลื่นไหลเกือบตลอดเวลา ซึ่งเกมมีโหมดกราฟิกให้เลือกระหว่าง Performance และ Resolution
Performance เป็นโหมดเน้นเฟรมเรต ตัวเกมจะรันด้วยภาพความละเอียดคมชัดระดับ 1080p พร้อมปรับคุณภาพกราฟิก เพื่อให้เกมสามารถรันเฟรมเรตได้ถึง 60 FPS แม้การเปิดโหมดนี้ทำให้ Texture ตึกบ้านช่อง, ถนน, เงาสะท้อนของรถ, ควันจากล้อรถ และองค์ประกอบอื่น ๆ มีคุณภาพต่ำลง แต่ก็ทำให้เกมสามารถรักษาเฟรมเรตได้ถึง 60 FPS และภาพในเกมเองก็ยังมีความสวยงามสมกับเกมยุคปัจจุบัน ไม่ดูขี้เหร่จนตกยุค หรือโดนดาวน์เกรดจนภาพกลายเป็นดินน้ำมัน
จากการเล่นเกมในโหมด Performance ได้ค้นพบว่าเฟรมเรตจะเริ่มอาการดรอปลง และภาพมีอาการสะดุดเล็กน้อยมาก ๆ เมื่อมีรถหลายคันได้กระจุกรวมอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน แต่โดยรวมแล้ว ปัญหาดังกล่าวไม่ได้มีความร้ายแรงมาก ๆ จนส่งผลให้ความสนุกสนานจากการเล่นเกมลดลง หรือเล่นไม่ได้
ส่วนโหมด Resolution ตัวเกมจะรันด้วยภาพความละเอียด 4K 30 FPS นิ่ง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าด้วยภาพที่คมชัด และได้เปิดกราฟิกแบบจัดเต็ม ทุกองค์ประกอบในเกม ยกตัวอย่างเช่น วัตถุ รถยนต์ ถนน หญ้า ต้นไม้ ฯลฯ จะมีรายละเอียดสูงมาก จนภาพในเกมมีความสวยงามระดับน้อง ๆ Far Cry 6 เลยก็ว่าได้ แม้ผู้เล่นหลายคนอาจไม่แตะโหมด Resolution เพราะเฟรมเรตที่ลื่นไหลเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการเล่นเกมแนว Racing แต่เราแนะนำให้เปิดโหมดนี้ เมื่ออยู่ในช่วง Free Roam หรือโหมดถ่ายรูป เพราะเป็นโหมดที่แสดงศักยภาพกราฟิกของเกม The Crew Motorsport อย่างเต็มที่ใน PlayStation 5
แม้ The Crew Motorsport ไม่ใช่เกม Racing Open-World ที่มีภาพกราฟิกสมจริงที่สุด แต่ก็ต้องขอบคุณการกำกับศิลป์ เอฟเฟกต์แสง และแผนที่ฮาวายที่มีรายละเอียดสูง ทำให้งานภาพเกมนี้มีความสวยงาม มีสีสันสดใส สามารถนำเสนอบรรยากาศในฮาวายได้ตรงตามที่หลายคนจินตนาการไว้
ถ้าให้กล่าวถึงสิ่งที่ขัดใจเกี่ยวกับงานภาพของเกม The Crew Motorfest สิ่งแรกที่เราคิดออกได้ทันที ก็คือโทนสีในบางรายการแข่งขัน Playlist ‘Made in Japan’ มีความจัดจ้านเกินไปหน่อย (แน่นอนว่าแต่ละคนมีความชื่นชอบในงานศิลป์ที่ไม่เหมือนกัน) และถ้าหากเราอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีแสง ภาพในเกมจะดู “แบนราบ” แบบเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าการกำกับศิลป์ดี การลงเอฟเฟกต์แสงเงา สามารถทำให้งานภาพเกมสวยงามขึ้นได้จริง
จากการเล่นหลายชั่วโมง บั๊กที่เจอในเกมมีเพียงครั้งเดียว คือบั๊กรถสัญจร จู่ ๆ ก็คว่ำเอง แล้วต่อมา รถคันนั้นก็กลับมาขับบนท้องถนนตามปกติ ซึ่งโดยรวมแล้ว ตัวเกมไม่มีบั๊กร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อการเล่นโดยตรง ฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าตัวเกมจะมีปัญหาทางด้านเทคนิคในช่วงวันเปิดตัว เพราะตัวเกมมีขัดเกลาประสิทธิภาพมาอย่างดีแล้ว
สรุป
The Crew Motorfest ได้ปรับปรุงอย่างก้าวกระโดดจากเกมภาคก่อน ด้วยคอนเทนต์อัดแน่น แผนที่ฮาวายมีรายละเอียดสูง และการขับยานพาหนะรู้สึกมีน้ำหนัก ทำให้เกมนี้คือ The Crew ภาคที่ดีที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย แม้การ Grind เงินกับพาร์ทเพิ่มประสิทธิภาพยานพาหนะจะไม่ใช่สำหรับทุกคน แต่คอร์เกมเพลย์โดยรวมยังสนุกสนาน