พักจากโลกไซไฟสุดเพี้ยน มาสู่โลกคนบ้าแบบแฟนตาซี สปินออฟจาก Borderlands ครั้งแรกจะเป็นอย่างไร พิสูจน์กันได้ในรีวิวตัวนี้
Story
ในขณะที่โลกของ Borderlands กำลังปะทุ ยิงกันอย่างดุเดือด เราพร้อมกับกลุ่มเพื่อน ประกอบไปด้วย Tina, Valentine และ Frette ได้หนีความวุ่นวายมานั่งเล่นบอร์ดเกมในถ้ำ ณ ดาวแห่งหนึ่ง โดยเกมที่ Tina เลือกมาเล่นด้วยกัน มีชื่อว่า Bunkers and Badasses บอร์ดเกมสุดฮิตประจำกาแลคซี
โดยทั้งสี่คนจะทำหน้าที่ต่างกัน เรารับบทเป็น Fatemaker หรือผู้เล่นหลักของเกม Valentine และ Frette รับบทเป็นผู้ช่วย ส่วน Tina รับบทเป็น Narrative รวมถึงเป็นผู้กำกับบทโดยรวมของเกม Bunkers and Badasses ที่เราจะต้องมาเล่นในเกมนี้อีกที
เรื่องราวของ Bunkers and Badasses เล่าถึงดินแดนสุดแสนแฟนตาซีมหัศจรรย์ เราคือ Fatemaker ผู้ที่ชะตาชักพามาให้ปราบ Dragon Lord ตัวร้าย ผู้ต้องการยึดครองโลก และเปลี่ยนมันให้อยู่ในความมืดมิดตลอดกาล หน้าที่ของเราคือหยุดแผนการอันชั่วร้าย เพื่อคืนความสงบสุขกลับมาสู่โลกใบนี้ให้จงได้
ลักษณะการเล่าเรื่องของ Tiny Tina’s Wonderland จะแบ่งออกเป็นสองลักษณะ คือเป็นเนื้อเรื่องหลักที่เราจะต้องไปกำจัด Dragon Lord และเนื้อเรื่องรองตามแผนที่ต่าง ๆ โดยในฐานะ Fatemaker เราจะต้องช่วยเหลือชาวบ้านชาวเมืองใน Overworld โดยอาศัยความสามารถที่ได้รับมาจากราชินี โดยแต่ละเควสก็จะมีเนื้อหาเป็นของตัวเอง ไม่ได้เชื่อมต่อไปหากับเควสอื่น ๆ อย่างชัดเจนเท่าไหร่นัก จะมีก็แต่การเชื่อมไปถึงตัว Dragon Lord ที่เป็นตัวแปรสำคัญ
เนื้อเรื่องทั้งหมดใช้เวลาจบประมาณ 20 ชั่วโมง เป็นเนื้อเรื่องแบบเส้นตรง ไม่มีตัวเลือกให้เลือก โดยรวมยังเน้นไปที่ความฮาบ้าบิ่น มากกว่าจะมาจริงจัง ทำให้เนื้อหาในภาคนี้ไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่นัก เพียงแต่เป็นการเปิด Lore ของเกมให้ผู้เล่นทำความเข้าใจความเป็นไปของโลกเพียงเท่านั้น
Presentation
Borderlands 3 ในดินแดนแฟนตาซี นี่คือนิยามของ Tiny Tina’s Wonderlands เพราะมันคือการเอาสูตรสำเร็จที่ทำได้ดีอยู่แล้ว มาปรับปรุงเพิ่ม ใส่อันนี้นิดอันนั้นหน่อย เพิ่มกิมมิคความเป็นอาร์พีจีเข้าไปมากกว่าเดิม
เริ่มจากอาชีพ ปกติแล้ว Borderlands จะเป็นเกมที่เราเลือกตัวละคร Vault Hunter มาเพื่อพัฒนาทักษะเพิ่มเข้าไป แต่ใน Tiny Tina’s Wonderlands เราสามารถเล่นเป็นใครก็ได้ ปรับแต่งได้ตั้งแต่หน้าตา รูปร่าง เสียงพูด ไปจนถึงที่มาของตัวละครต่าง ๆ ซึ่งอย่างหลังจะกำหนดสเตตัสที่เราได้เปรียบ หรือเสียเปรียบในเกมด้วย
ในเกมจะมีคลาสให้เราเลือกตอนต้น 6 คลาส แต่ละคลาสก็จะมีจุดเด่นของตัวเองที่ค่อนข้างชัดเจน อย่าง Spellshot ก็จะมีจุดเด่นด้านการใช้เวทมนตร์ สามารถผสมธาตุเข้ากับปืน รวมถึงใช้เวทมนตร์ถึงสองเล่มได้พร้อม ๆ กัน หรือ Graveborn ที่มีจุดเด่นในด้านการใช้พลังชีวิตสร้างความเสียหายให้ศัตรู รวมถึงสามารถดูดพลังชีวิตจากศัตรูมาเป็นของตัวเองได้ ซึ่งพอเราเล่นไปซักพัก ตัวเกมจะเปิดให้เราเลือกซับคลาสเพิ่มจาก 5 คลาสที่เหลือ
นอกจากความ RPG ในด้านการสร้างตัวละครที่เพิ่มมากขึ้น ในด้านแผนที่ก็เหมือนกัน ปกติใน Borderlands จะชอบทำแผนที่แบบ เป็น HUB ให้หนึ่งแผนที่ ส่วนที่เหลือคือแผนที่สำหรับทำเควส โดยเราสามารถวาร์ปไปวาร์ปมาได้จาก HUB ได้โดยไม่ต้องผ่านอะไร
แต่ใน Tiny Tina’s Wonderlands มีการเพิ่มจุดกึ่งกลางของตรงนั้นเข้ามา ในชื่อ Overworld ทำหน้าที่คล้าย ๆ แผนที่โลกในเกม RPG แบบ Final Fantasy โดยใน Tiny Tina’s Wonderlands จะมีฟังก์ชันคล้าย ๆ กับแผนที่โลกในเกม RPG คือเป็นศูนย์รวมสำหรับการเดินทางไปในแต่ละแผนที่ตามเนื้อเรื่อง ซึ่งในช่วงแรก คุณจะยังเดินทางไม่ได้เยอะนัก ตัวเกมจะปิดทางเอาไว้บางส่วน โดยทางที่ปิดอยู่นั้นจะต้องใช้อบิลิตี้ที่ได้จากการจบเนื้อเรื่องบทต่าง ๆ มาใช้เปิด
ในส่วนของแผนที่ปกติ ใครที่เคยเล่น Borderlands 3 มาแล้วน่าจะคุ้นชินกันดี เพราะลักษณะการเดินสำรวจจะคล้าย ๆ กัน คือเป็นแผนที่เดี่ยว ไม่ใหญ่ไม่เล็ก แบ่งเป็นโซนค่อนข้างชัดเจน แต่ละโซนจะมี Activity ที่แตกต่างกันให้ทำ โดยใน Tiny Tina’s Wonderlands ได้มีการเพิ่ม Activity ใหม่ให้เราสนุกกับการสำรวจแผนที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมินิเกมหาลูกเต๋าสีทอง เพื่อเพิ่มอัตราสุ่มตกของไอเท็มในเกม หรือจะเป็นการหาหน้าของบทกวีต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วแผนที่
โดยรวม Tiny Tina’s Wonderlands พยายามนำเสนอสิ่งใหม่เข้ามาให้เราหลายอย่างทีเดียว โดยเฉพาะการนำกิมมิกความเป็น RPG หลายอย่างเข้ามาใส่ในเกม แต่เพราะสิ่งที่เพิ่มเข้ามาอยู่ได้ไม่นาน รวมถึงไม่ใช่คอร์เกมหลัก ทำให้ค่อนข้างน่าเสียดาย เพราะถึงแม้มันจะดูดีแค่ไหน แต่เมื่อถึงช่วง End Game สิ่งเหล่านี้จะไม่ถูกใช้งานอีกต่อไป
Gameplay
จุดสำคัญที่ทำให้ซีรีส์ Borderlands โดดเด่นเลยคือเกมเพลย์ คิดว่าคงไม่มีใครในที่นี้ เล่น Borderlands เพราะอยากเสพเนื้อเรื่อง อยากเสพบรรยากาศ แต่ทุกคนอยากเล่น Borderlands เพราะว่าความเดือดดาลที่ซีรีส์มอบให้
ใน Tiny Tina’s Wonderlands มีการเพิ่มความซับซ้อนในการเล่นเข้ามาเล็กน้อย เปลี่ยนระเบิดเป็นเวทมนตร์แทน ซึ่งเวทมนตร์ในเกมนี้มีหลายร้อยหลายพันแบบไม่ต่างจากปืน และมันมีวิธีใช้ที่แตกต่างจากระเบิดอย่างชัดเจน
จากเดิม หากคุณต้องการจะใช้ระเบิด คุณจะต้องเล็ง แล้วปา อย่างน้อยก็ต้องการเวลาซักพักในการหยุดยิง และนั่นก็หมายถึง DPS ที่ตกลงไประหว่างเล่น แต่เวทมนตร์จะแตกต่างจากระเบิด คุณสามารถร่ายมันทั้ง ๆ ที่คุณกำลังยิงอยู่ได้ทันที และเวทมนตร์ส่วนมากจะเกิดขึ้นทันที ไม่ต้องรอเวลาแบบระเบิด
ทำให้เกมเพลย์โดยรวม Non Stop มากขึ้น ไม่มีการหลบบังเกอร์ ปาระเบิดใส่ศัตรูในระยะไกล ๆ มีแต่การเข้าหาศัตรูให้ได้ระยะ กราดกระสุนแล้วร่ายเวทใส่อย่างต่อเนื่อง พร้อมเพิ่มการกดคีย์ลัดถึงสองคีย์
จุดเดียวที่เราไม่ชอบใน Tiny Tina’s Wonderlands คือการออกแบบศัตรู ศัตรูในภาคนี้ แม้จะมีการแบ่งตำแหน่งคล้าย ๆ Borderlands 3 แต่ความฉลาดของ AI ค่อนข้างต่างกัน ปกติเวลาเราเล่นภาคก่อนหน้า เราจะพบเจอกับการล้อม การขนาบข้าง หรือการหลบหลังที่กำบังได้บ่อย ๆ
แต่ใน Tiny Tina’s Wonderlands เอไอค่อนข้างไร้ทิศทาง เดี๋ยวคนนั้นเดินจุดนี้ คนนี้เดินจุดนั้น กระโดดไปด้านบนบ้างอะไรบ้าง บางคนวิ่งมายิงเราต่อหน้าเลย ไม่คิดจะหลบจะหลีก
เรื่องบอสก็เหมือนกัน ปกติแล้วบอสใน Borderlands มันจะมีลูกเล่นเฉพาะตัว บางตัวก็มีการเล่นกับฉาก เล่นกับพื้นที่ และส่วนมากจะใช้เวลาปราบนาน แต่ใน Tiny Tina’s Wonderlands เหมือนบอสจะโดนดาวน์เกรดลง เพราะเราจะไม่ค่อยพบบอสกิมมิกเยอะ ๆ แบบใน Borderlands 3 ส่วนมากคือโผล่มาด้วยเลือดเยอะ ๆ ให้เรายิงนานหน่อยแค่นั้น
Performance
ในด้าน Performance เกมตระกูล Borderlands ไม่ใช่เกมที่กินสเปกเครื่องอะไรในสมัยที่ภาค 3 ออกมาใหม่ ๆ การ์ดจออย่าง GTX 1060 ยังสามารถเล่นได้อย่างสบาย ๆ และใน Tiny Tina’s Wonderlands ก็ไม่ต่างกัน ฉะนั้นใครที่มีคอมพิวเตอร์ระดับกลาง ๆ ใช้พวก GTX 1660 ขึ้นไป ก็น่าจะเล่นเกมนี้ได้ผ่านฉลุย
นอกจากจะไม่กินสเปกเครื่องแล้ว Tiny Tina’s Wonderlands ไม่ใช่เกมที่กินทรัพยากรเยอะ ระหว่างเล่นเราจะไม่เจออาการแบบ CPU พุ่ง GPU ร้อน หรืออะไรประมาณนั้นเลย อาจเพราะส่วนหนึ่งตัวเกมไม่ใช่ Open World อีกทั้งยังเป็นกราฟิกแบบ Cellshade เลยไม่ได้ประมวลผลอะไรมาก อันนี้ก็ถือเป็นข้อดี พวกเอฟเฟกต์ปืนอะไรต่าง ๆ ก็ไม่ได้กินเครื่องมากมายขนาดนั้น จะมีก็แต่เอฟเฟกต์ตอน Ward แตกที่ทำให้สะดุดกึกบ้างเป็นบางครั้ง แต่ก็ไม่ได้ส่งผลมากเท่าไหร่
แต่สิ่งที่ควรจะพูดถึงเน้น ๆ เลยคือ บั๊ก ที่ไม่รู้จะเยอะไปไหน เดี๋ยวเล่น ๆ อยู่ อ้าว Minimap หาย เล่น ๆ อยู่ อ้าว เลื่อนลูกกลิ้งเมาส์ไม่ได้ เล่น ๆ อยู่ อ้าว NPC หาย เรียกได้ว่าทุก ๆ สามสิบนาทีต้องมีมาซักอย่างสองอย่าง ยังดีที่บั๊กพวกนี้มันไม่ได้ทำให้เซฟพังแบบ เล่นไม่ได้ไปเลย ยังดีที่มันเป็นบั๊กเบา ๆ ออกไปหน้าเมนูแล้วกดเข้าเกมใหม่ก็หาย แม้เราจะได้ตัวเกมมาเล่นก่อนวางจำหน่าย แต่รู้สึกว่าน่าจะต้องพูดเรื่องนี้หน่อย เพราะสมัย Borderlands 3 ไอ้บั๊กเล็ก ๆ พวกนี้ก็โผล่มาในช่วงวางจำหน่ายเหมือนกัน ก็หวังแต่ว่ามันจะมี Day 1 Patch เก็บงานให้หมด
Conclude
Tiny Tina’s Wonderlands ยังเปี่ยมไปด้วยความเป็น Borderlands อย่างที่เราคาดหวัง มันสนุก ตื่นเต้น มอบความเพลิดเพลินทุกครั้งที่หยิบมาเล่น กลับกัน มันไม่ได้สร้างอะไรใหม่ ๆ มากนัก แม้จะเป็นธีมใหม่แต่ไม่ได้รู้สึกถึงความแตกต่าง ถ้าลบชื่อ Wonderlands แล้วเขียนใหม่เป็น Borderlands 3.5 ก็คงไม่ได้รู้สึกแปลกอะไร