BY Zreast
7 Dec 23 6:32 pm

Arknights: Prelude to Dawn & Perish in Frost การต่อสู้เพื่อสันติที่อาจไม่มีอยู่จริง

514 Views

เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดถึงเกมกาชาบนมือถือ ซึ่งโดดเด่นทั้งเนื้อเรื่องและเกมเพลย์ ก็มักจะมีชื่อของ “Arknights” ติดไปด้วยเสมอ เพราะแม้จะล่วงเลยมาแล้วกว่า 4 ปี แต่ทางทีมงาน Hypergryph, Studio Montagne และ Yostar ก็ยังคงเพิ่มคอนเทนต์ใหม่ ๆ และรักษาคุณภาพตัวเกมไว้ได้ดี

เท่านั้นไม่พอ เพราะ Arknights ยังพิสูจน์ให้เห็นมานับครั้งไม่ถ้วน ว่าตัวเกมไม่ได้มีของขึ้นชื่อแค่ระบบการเล่น ดีไซน์ตัวละคร และ KyoStinV แต่ยังมีศักยภาพที่จะกลายเป็นสื่อบันเทิงอื่น ๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานเพลงที่ตั้งใจทำกันแบบจริงจัง ไปจนถึงภาพยนตร์แอนิเมชันสั้น ๆ ที่แทรกอยู่ตามอีเวนต์ต่าง ๆ ของเกม ดังนั้นเมื่อ Arknights ถูกดัดแปลงมาเป็นซีรีส์อนิเมะแบบเต็มตัว ทุกสายตาจึงจับจ้องด้วยความคาดหวังว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไรกันแน่

ซึ่งสตูดิโอที่รับผิดชอบโปรเจกต์นี้ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นทาง Yostar Pictures เอง ที่ปลุกปั้น Arknights ฉบับอนิเมะจนได้ออกฉายไปแล้วเรียบร้อย กับซีซันแรก “Prelude to Dawn” จำนวน 8 ตอนเมื่อปี 2022 และล่าสุดกับซีซัน 2 อย่าง “Perish in Frost” อีก 8 ตอน ที่เพิ่งฉายจบเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

เรื่องราวของ Arknights ฉบับอนิเมะ คือการถอดแบบมาจากเนื้อเรื่องหลักของเกมที่เป็นธีมไซไฟ-ดิสโทเปีย ว่าด้วยโลก ‘Terra’ ซึ่งปกคลุมด้วยความสิ้นหวังจากหายนะโรคระบาดที่เรียกว่า Oripathy, สิ่งนี้ได้พรากโอกาสและชีวิตไปมากมาย อีกทั้งยังทำให้ผู้คนแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เชื่อมั่นในอุดมการณ์และวิถีเอาตัวรอดที่ต่างกัน บ้างก็หวังเปลี่ยนแปลงโลกด้วยไฟสงคราม บ้างก็หวังผลประโยชน์ทางการเมือง

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีองค์กรอย่าง “Rhodes Island” ที่เชื่อมั่นว่าโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ และพยายามช่วยเหลือ ให้ที่พักพิงแก่เหล่าผู้ติดเชื้ออย่างไม่เลือกปฏิบัติ นำโดย “Amiya” ตัวเอกผู้ใฝ่หาสันติ ทว่าโลกนี้ก็ไม่ได้ใจดีกับเธอสักเท่าไร ราวกับจะบอกเธอว่า “ถ้าทุ่มลงไป สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่ ก็ควรต้องพอ” อยู่เสมอ ๆ

สำหรับเนื้อหาในซีซันแรก จะเล่าผ่านมุมมองตัวละคร “Doctor” เป็นส่วนใหญ่ และด้วยเหตุที่ Doctor เป็นบุคคลที่สูญเสียความทรงจำ ก็จะทำให้ผู้ชมได้รู้จักโลกของ Arknights ไปพร้อม ๆ กับ Doctor เองด้วย โดยจุดนี้ก็น่าสนใจที่ทีมงานยังคงความลึกลับของ Doctor เอาไว้ ไม่ใช่แค่การปกปิดหน้าตาเพียงอย่างเดียว แต่เราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริง ๆ แล้วตัวละครนี้เป็นเพศใดกันแน่ ส่วนหนึ่งก็ต้องยกเครดิตให้กับงานพากย์ของคุณ Yuki Kaida ที่มีความก้ำกึ่ง ปล่อยให้คนดูได้ Self-insert ไปกับ Doctor ในลักษณะเดียวกันกับเกมต้นฉบับ

ในด้านการนำเสนอ ทาง Yostar Pictures สามารถถ่ายทอดบรรยากาศความกดดันภายใต้สนามรบออกมาได้ดี ตามสไตล์ที่ Arknights ควรจะเป็น โดยตลอดการดำเนินเรื่องนั้นแทบจะมีแต่ความเงียบอันชวนอึดอัด และมีเพลงประกอบเข้ามาเฉพาะฉากที่ต้องการสื่ออารมณ์ไปสู่คนดูเป็นพิเศษ ซึ่งตรงจุดนี้ก็เป็นดาบสองคมเหมือนกัน เพราะหากจังหวะการเล่าเรื่อง (Pacing) ไม่ดีพอ ก็อาจทำให้คนดูเบื่อได้เลย ก่อนจะไปถึงฉากสำคัญ

โชคร้ายหน่อยที่ Arknights ก็ตกม้าตายตรงนี้จริง ๆ เพราะ Pacing นั้นจัดว่าอยู่ในขั้นแย่ โดยเฉพาะซีซันแรกที่เลือกจะเคารพต้นฉบับด้วยการแทบไม่ตัดทอนอะไรออกไป กระทั่งเนื้อเรื่องส่วนที่ออกแบบมาเพื่อ Tutorial ของเกม ก็ยังไม่ยอมตัดออก มันจึงเกิดเป็นจังหวะพูดคุยแบบเวิ่นเว้อ และฉากที่ไม่จำเป็นมากมาย

ยังดีที่ปัญหาส่วนนี้ก็จะค่อย ๆ น้อยลงในซีซัน 2 ซึ่งมีการปูเรื่องราวไปเยอะแล้ว พร้อมทั้งยังพิสูจน์ให้เห็นว่าถึงอนิเมะ Arknights จะดำเนินไปอย่างเชื่องช้า แต่ถ้ามันมีชั้นเชิง นี่ก็อาจไม่ใช่วิธีนำเสนอที่แย่เสมอไป โดยเฉพาะฉากแช่ภาพที่มีให้เห็นบ่อย แต่ก็ให้ผลดีมากกว่าผลเสีย แถมยังได้ปล่อยให้คนดูซึมซับบรรยากาศและพักสมองไปในตัว

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องชื่นชมว่า Arknights ฉบับอนิเมะนั้นทำได้เหนือชั้นจริง ๆ ก็คือการแสดงสีหน้าท่าทางของตัวละคร ที่สื่อถึงอารมณ์ของคน ๆ นั้นได้ดีโดยไม่ต้องใช้คำพูด เช่นสีหน้าตอนตื่นตระหนก, ขาดสติ, เจ็บปวดทรมาน หรือขณะต่อปากต่อคำกันอย่างเผ็ดร้อน ทีมงานก็เก็บรายละเอียดเป๊ะทุกเฟรม มีความเล่นหูเล่นตาแต่ไม่เกินเบอร์ และเสริมตัวละครเหล่านี้ให้ดูดีมีชีวิตชีวามาก อย่างที่ไม่ได้จะเห็นกันบ่อย ๆ จากอนิเมะที่ฉายอยู่ในยุคปัจจุบัน

และด้วยธีมเรื่องราวแบบ Arknights มันก็ยิ่งทำให้เราได้เห็นอารมณ์ด้านลบเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ เพราะ Oripathy ไม่ได้กัดกินแค่ร่างกาย หากยังกัดกินศีลธรรมของผู้คนไปด้วยในทางอ้อม ซึ่งความโหดร้ายเหล่านี้จะมุ่งเล่นงานกับสัญลักษณ์แห่งความหวังอย่าง Amiya หนักเป็นพิเศษ เหมือนเป็นบทพิสูจน์ภาวะผู้นำของ Amiya ขณะเดียวกันก็เป็นบทเรียนที่สาหัสมากด้วย จนแม้ตัวเธอจะแหลกสลายกี่ครั้งก็ยังต้องทนอยู่ เพื่อกอบกู้ชีวิตผู้คนให้ได้ ด้วยการตัดสินใจที่ดีที่สุด ณ เวลานั้น

และในซีซัน 2 อย่าง Perish in Frost, เนื้อเรื่องก็จะยิ่งเข้มข้นมากขึ้น เพราะเหตุการณ์จะดำเนินต่อจากซีซันแรกเลยในวิกฤติเดียวกัน ดังนั้นทีมงานจึงไม่จำเป็นต้องลดกราฟความตึงเครียดลงมาเพื่อเริ่มต้นใหม่ แถมยังเป็นจังหวะเหมาะเจาะพอดีกับการใส่บทบาทของ “FrostNova” เข้ามาเพื่อเสริมเรื่องราวให้ทรงพลังไปอีกขั้น ซึ่งส่วนตัวสำหรับผู้เขียนแล้ว ทุกครั้งที่มีตัวละครนี้อยู่ในฉาก ก็ไม่เคยทำให้ผิดหวังเลยจริง ๆ เรียกว่าสมฐานะกับการเป็น 1 ในตัวละครที่น่าจดจำที่สุดสำหรับ Arknights และเป็นฉาก Bossfight ที่ดีจนชวนขนลุก ดีจนต้องนั่งยันนอนยันว่ามันจะคุ้มค่าแก่การสละเวลาดูมาตั้งแต่ซีซันแรกแน่นอน

ในส่วนของงานภาพและแอนิเมชัน ทางทีมงาน Yostar Pictures สามารถรังสรรค์ออกมาได้ในระดับที่ไม่น้อยหน้าสตูดิโอดัง ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นฉากแอ็กชันที่ละเอียดลื่นไหล รวมถึงยังมีการใช้ 3DCG เข้ามาช่วยในส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วย เช่นเหล่าตัวประกอบของฝ่าย Reunion, โมเดลรถยนต์ และอื่น ๆ แบบพอหอมปากหอมคอ ไม่เด่นขึ้นมาจนขัดสายตา ดูในภาพรวมแล้วก็เรียกว่าพัฒนาขึ้นจากสมัยที่ทำเรื่อง Azur Lane และก็น่าจะฝากความหวังไปถึงอนิเมะ Blue Archive ที่พวกเขากำลังสร้างอยู่ได้ด้วย

ส่วนใครที่สงสัยว่าถ้าไม่เคยเล่น Arknights มาก่อน จะดูรู้เรื่องหรือไม่ ? ก็ต้องบอกว่ารู้เรื่องแน่ ๆ แต่อาจมีบางส่วนที่ตามไม่ทันอยู่เหมือนกัน มันคือการยกเนื้อเรื่องจากในเกมมาเล่าใหม่แบบแทบไม่เร่ง ไม่ตัดทอนอะไร ซึ่งถึงแม้จะดูเคารพต่อต้นฉบับ แต่มันก็กลายเป็นข้อด้อยไปด้วย เพราะในเกมที่มีองค์ประกอบของกาชา ก็มักจะจัดวางให้มีตัวละครเข้ามาปรากฏในเนื้อเรื่องเยอะ ๆ เพื่อกระจายบทไปยังตัวละครนับสิบนับร้อยให้ได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นแล้วทั้งในซีซันแรกและซีซัน 2 เราก็จะได้เห็นตัวละครใหม่ ๆ โผล่เข้ามาไม่หยุด จนอาจทำให้ผู้ชมหน้าใหม่ตามไม่ทันว่าคน ๆ นี้เป็นใคร อยู่สังกัดใด และมีความสำคัญอะไรกับเนื้อเรื่อง ณ ตอนนั้น

และด้วยความไม่ตัดทอนตรงนี้นี่เอง ก็เป็นตัวฉุดรั้งให้หลาย ๆ ฉากออกมาดูไม่สมเหตุสมผล เราได้เห็นทั้งจังหวะที่สู้ไปสักพักก็แวะคุยข่มกัน หรือหันไปพูดคุยกับเพื่อนได้จนจบประโยคโดยไม่โดนศัตรูฉวยโอกาส หรือกระทั่งฉากอธิบายความสามารถตัวเองให้ศัตรูฟังก็ยังมี ซึ่งอะไรแบบนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ หากมันอยู่ในรูปแบบ Visual Novel เหมือนในเกมต้นฉบับ เพราะมันคือบทพูดที่จะทำให้คนอ่านนึกภาพตามได้มากขึ้น แต่พอมาอยู่ในอนิเมะแล้วมันก็ดูติดขัดขึ้นมาทันที นี่จึงเป็นอีกข้อพิสูจน์ว่าการดัดแปลงที่เคารพต้นฉบับจนเกินพอดี ก็อาจไม่ใช่แนวทางที่เวิร์คสักเท่าไรนัก

อย่างไรก็ตาม Arknights ฉบับอนิเมะนั้นโดดเด่นในด้านการถ่ายทอดอารมณ์สู่คนดู จนหลายครั้งเราก็สามารถมองข้ามข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปได้ นี่คือเรื่องราวการต่อสู้ของฝ่ายพิทักษ์เมือง, ฝ่าย Reunion ที่ต้องการสร้างโลกสำหรับเหล่าผู้ติดเชื้อ ด้วยแนวคิดหัวรุนแรง กับฝ่าย Rhodes Island ที่อยากช่วยเหลือผู้คนและทำในสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ต่างก็ทำไปเพื่อรุ่งอรุณที่ตนวาดฝัน โดยนอกจากที่เราจะได้เห็นอารมณ์หดหู่และเคียดแค้นของเหล่าชาวเมืองแล้ว ตัวเรื่องก็ยังพาไปสำรวจแง่มุมของฝ่าย Reunion ด้วย แม้เหตุผลหรืออดีตของบางคน อาจไม่ใช่ข้อแก้ตัวสำหรับสิ่งร้าย ๆ ที่พวกเขาทำ แต่มันก็ทำให้เรารู้จักกับตัวละครฝั่ง “ศัตรู” อย่างลึกซึ้ง เมื่อถึงคราวที่ต้องปะทะกันกับ Reunion มันจึงดูมีความหมายเป็นพิเศษ ไม่ได้ชวนให้คิดแค่เพียงว่าอยากให้พวกเขารีบตายให้พ้น ๆ กันไป

ในด้านงานเพลง ถือเป็นองค์ประกอบที่ทีมงานได้ใส่ความเป็นตัวเองเข้ามาเต็มที่มาก ๆ ดังนั้นใครที่ไม่ชินสไตล์เพลงของ Arknights ก็อาจจะไม่ถูกใจไปง่าย ๆ เลย โดยเฉพาะกับเพลงเปิดของทั้ง 2 ซีซัน ซึ่งทำ MV มาได้น่าผิดหวัง มันเหมือนเป็นแค่การตัดเอาฉากแอ็กชันเด็ด ๆ เข้ามายำรวมกันให้ครบทุกตัวละคร ดังนั้นพอ MV มันไม่ส่งเสริม, เพลงก็ไม่ติดหู มารวมกันแล้วก็ยิ่งพาลให้ไม่ชอบไปกันใหญ่ ส่วนที่ดีที่สุดจริง ๆ จึงน่าจะไปอยู่ที่เพลงปิดซีซัน 2 อย่าง “R.I.P.” ของ ReoNa ซึ่งจัดเต็มทั้งภาคดนตรี และงานกำกับศิลป์ของ MV, ช่วยสื่อความเจ็บปวดจากการถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ของเหล่าผู้ติดเชื้อ รวมถึงฝ่าย Reunion ออกมาได้ดี

สรุป

โดยรวมแล้ว Arknights: Prelude to Dawn (ซีซันแรก) และ Perish in Frost (ซีซัน 2) เป็นอนิเมะที่นำเสนอประเด็นหนักหน่วงได้ตรงเป้าอย่างที่ควรจะคาดหวังจากความเป็น Arknights แต่ก็เป็นเรื่องที่มีแผลเยอะทั้งในด้าน Pacing ที่ไม่ดี และบทพูดอันผิดธรรมชาติ เพราะซื่อตรงกับต้นฉบับมากจนเกินงาม

อย่างไรก็ตาม นี่คืออีกหนึ่งผลงานจากเกมที่ควรค่าแก่การรับชม สำหรับคนที่ชอบอนิเมะในโทนมืดหม่น แต่ยังพอมีแสงแห่งความหวังแทรกอยู่ตามหลืบมุม, ชอบฉากแอ็กชันที่มาน้อยแต่ทำได้ถึงใจ และก็เหมาะกับทั้งคนที่ยังไม่เคยเล่นเกม / เคยเล่นแต่ไม่ค่อยรู้เนื้อเรื่องเพราะกด Skip บ่อย หรือถ้าติดตามอ่านเนื้อเรื่องอยู่แล้วก็จะยิ่งอินเป็นพิเศษ เมื่อได้เห็นฉากที่เคยจินตนาการไว้ ออกมาโลดแล่นเป็นแอนิเมชัน

ซึ่งถ้าจะมองให้ทั้ง 2 ซีซันเป็นเรื่องราวเนื้อเดียวกันในความยาว 16 ตอน ก็จะจำกัดความได้ว่า “ซึมครึ่งแรก สนุกครึ่งหลัง” และไม่แปลกเลยที่หลายคนดูแล้วจะถอดใจไปก่อนตั้งแต่ซีซันแรก จนจากเดิมที่กระแสเงียบอยู่แล้ว พอซีซัน 2 ก็ยิ่งเงียบกว่าเดิมไปอีก ขนาดที่คนเล่นเกมนี้ก็อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันฉายจบไปแล้ว ดังนั้นก็คงต้องลุ้นกันเหนื่อยหน่อยว่าทาง Yostar Pictures จะยังอยากไปต่อกับซีซัน 3 หรือไม่

อย่างสุดท้าย คือน่าเสียดายที่ Arknights: Prelude to Dawn และ Perish in Frost ยังไม่มีซับไทยอย่างเป็นทางการ ดังนั้นใครที่อยากรับชม ก็ต้องดูซับภาษาอังกฤษกันไปก่อน ผ่านทางสตรีมมิ่งอย่าง Crunchyroll (ปัจจุบันรองรับโซนไทยแล้ว เริ่มต้นที่ 69 บาทต่อเดือน) ส่วนเรื่องนี้จะตามไปลงแพลตฟอร์มอื่น ๆ พร้อมซับไทยด้วยหรือไม่ ก็คงยากที่จะตอบได้ในตอนนี้

Arknights: Prelude to Dawn & Perish in Frost

7.5 / 10 คะแนน

7.5

Satthathan Chanchartree

ฟ่าง - Content Writer

Back to top