BY Nuttawut Apiratwarakul
30 May 23 11:00 pm

รีวิว Diablo IV มหกรรมล่าเจ้าอสูรที่จะสูบชีวิตและวิญญาณของคุณจนหมดตัว

1,853 Views

ปล่อยให้คอยกันมานานแสนนาน แถมภาคล่าสุดอย่างภาคที่ 3 (พ่วงท้ายด้วยภาค Immortal) ก็ทำผลงานออกมาไม่โดนใจแฟนเกม Action RPG สาย Hardcore สักเท่าไหร่ 

แล้วการกลับมาในภาคที่ 4 ของมหากาพย์ล่าเจ้าอสูรจะเป็นอย่างไร พัฒนาการไปในทิศทางไหนกันบ้าง ขอเชิญพบกับ ล่าเจ้าอสูรรอบที่สี่หรือ Diablo 4 ฉบับรีวิว

Story 

เนื้อหาใน Diablo 4 จะสานต่อเรื่องราวจาก Diablo 3 มนุษยชาติเกือบสิ้นเผ่าพันธุ์หลังเหตุการณ์ใน Reaper of Souls กาลเวลาผ่านไปนานหลายทศวรรษ มนุษย์หลงเหลืออยู่เพียงแค่ 10% จากในอดีตและใช้ชีวิตอยู่กันอย่างยากลำบาก แม้อารยธรรมจะเริ่มฟื้นคืนกลับมาในบางพื้นที่ 

เมื่อ Lilith มารดาของเหล่ามนุษย์ผู้ให้กำเนิดแผ่นดิน Sanctuary ได้หวนกลับคืนสู่ดินแดนแห่งนี้ การต่อสู้ระหว่างมนุษย์ เทพ และปีศาจจึงได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง

ในเกมเราจะสวมบทเป็น Wanderer นักรบพเนจรผู้ชะตากรรมเข้าไปพัวพันกับ Lilith ทำให้เราต้องออกเดินทางไล่ล่าจอมปีศาจตนนี้และหาทางยับยั้งแผนการบางอย่างของเธอ

ส่วนของเนื้อเรื่องหลักนั้นถึงแม้จะหยิบเอาเนื้อหาจาก Diablo 3 Reaper of Souls มาสานต่อแต่ผู้เล่นใหม่ก็ไม่ต้องกังวลใจแต่อย่างใด ตัวเกมจะพยายามนำเสนอเนื้อเรื่องสำคัญ ๆ ในเราได้รับรู้อยู่เป็นระยะตลอดทั้งเกม ผ่านทางฉากคัทซีน ไปจนถึงภารกิจเสริม และพวกตำราที่เราพบเจอระหว่างการเล่น  

ทิศทางของเนื้อเรื่องในภาคนี้จะย้อนกลับไปใช้ธีมของเนื้อหาในภาค 2 เป็นแรงบันดาลใจ พูดง่าย ๆ ก็คือว่าเนื้อเรื่องจะมืดหม่นกว่าภาค 3 แบบชัดเจน และมีการนำเสนอที่น่าสนใจขึ้นกว่าเกมในภาคก่อน ๆ มาก เราจะได้ค่อย ๆ ตามติดสืบหาร่องรอยของ Lilith และพบเจอกับตัวละครใหม่ ๆ ที่น่าสนใจมากกว่าเดิม

ในภาคนี้ตัวละครทั้งฝ่ายเราและตัวร้ายถูกเขียนขึ้นมาให้มีมิติ มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อนร่วมเดินทางของเราเองก็ไม่ใช่แค่ NPC ที่คอยมายืนสั่งให้เราไปทำภารกิจ กู้โลกแล้วตัวเองยืนเฝ้าฐานอยู่บ้านอีกแล้ว เพราะนอกจากพวกเขาจะติดตามออกไปช่วยเราทำภารกิจในบางครั้ง  ตัวบทเองก็เขียนให้เรารู้สึกผูกพันกับตัวละครเหล่านี้มากกว่าที่เคยมี  ที่ถูกพัฒนาขึ้นมากที่สุดก็คือตัวร้ายในภาคนี้ แต่ละตัวถูกนำเสนอออกมาอย่างดีและมี Character เกินกว่าจะเป็นแค่ปีศาจที่รอให้ผู้เล่นบุกไปตบหน้าสั่งสอน 

และเป็นครั้งแรกที่เกมตระกูล Diablo มีการใส่ภารกิจเสริมหรือ Side Quest เข้ามาในเกม ซึ่งคุณภาพของเนื้อเรื่องของภารกิจเสริมเหล่านี้ก็ปะปนกันไป มีทั้งที่เป็นเนื้อเรื่องง่าย ๆ ให้เราเอาข้าวของไปส่งช่วยเหลือผู้รอดชีวิต หรือบางอันก็มีลักษณะเป็น Chain Quest หรือเป็นภารกิจเสริมแบบต่อเนื่องมีเรื่องราวให้ติดตาม มีเนื้อหาเข้มข้นไม่แพ้เนื้อเรื่องหลักกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามด้วยสไตล์การเล่าเรื่องที่เน้นหนักไปที่ความดิบ เถื่อน ติดดิน แบบภาค 1 และ 2 ก็อาจทำให้ใครที่คาดหวังจะได้เห็นการนำเสนอที่เน้นความเท่ เน้นความฉูดฉาดบาดตา ผิดหวังกันได้เช่นกัน 

สุดท้ายในหัวข้อของ Story ซึ่งถือเป็นการพัฒนาครั้งใหญ่ในเกมตระกูลนี้ก็คือการมีส่วนร่วมในเนื้อเรื่องของตัวละครหลัก  ตัวละครหลักของเราจะมีส่วนร่วมทั้งในฉากคัทซีน เราจะได้เห็นตัวละครเราพูดคุยในฉากสำคัญตลอดทั้งเกม ใส่ชุดที่เราจัดไว้ มีตัวตนและ Character มากกว่าเป็นเพียงเบ๊ที่ถูกส่งไปไล่กำจัดปีศาจเหมือนในภาคก่อน ๆ  จุดนี้เชื่อว่าคอเกมสาย RPG และสายเนื้อเรื่องจะต้องชื่นชอบเป็นอย่างมากแน่ ๆ

Presentation

Diablo 4 ถือเป็นพัฒนาการก้าวใหม่ของเกมตระกูลนี้ในหลายภาคส่วน ถึงแม้เนื้อในของเกมจะยังคงเป็นเกม Action Rpg แนว Hack and Slash ที่เน้นการเดินหน้าฆ่าแหลกอยู่เหมือนเดิม แต่ระบบและการนำเสนอพื้นฐานหลายอย่างของเกมก็ถูกปรับเปลี่ยนให้แตกต่างจากเดิม

เริ่มกันที่จุดที่สำคัญที่สุดกันก่อนก็คือระบบ Open World และความเป็นเกมออนไลน์ ใน Diablo 4 โลกภายในเกมจะไม่ได้ถูกแบ่งออกเป็น Act หรือเป็นบทเป็นฉากเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ภาคนี้ตัวเกมถูกเปลี่ยนมาใช้ระบบ Open World ผู้เล่นสามารถเดินทางไปจุดไหนของโลกก็ได้ตามใจตัวเอง ซึ่งเนื้อเรื่องของเกมก็จะมีภารกิจหลักกระจายไปตามเขตแดนสำคัญ ๆ  

เราสามารถเลือกไปทำภารกิจหลักในจุดที่เกมระบุหรือจะเดินสำรวจไปเรื่อย ๆ ในจุดที่อยากจะไป โดยตัวเกมจะใช้ระบบการ Scale ระดับ Level ของศัตรูให้ตรงกับระดับ Level ตัวละครของเรา ซึ่งโลก Open World ในเกมก็จะอัดแน่นไปด้วยพื้นที่ให้เราสำรวจ มีทรัพยากรให้เราเก็บไว้อัพเกรดอาวุธอุปกรณ์หรือไว้ Craft ทำ potion บวกโบนัส มีดันเจี้ยนให้เราลงไปลุย มีรูปปั้นของ Lilith ให้เราตามหาปลดล็อกเพื่อรับ Bonus เป็นค่า Status  มีภารกิจรองให้เราได้ไล่ทำ และภารกิจ Stonghold พื้นที่ป้อมปราการที่ถูกปีศาจยึดครองซึ่งเราต้องบุกเข้าไปทำลายรังของเหล่าปีศาจเพื่อปลดปล่อยพื้นที่ให้ชาวเมืองย้ายเข้าไปอยู่ เป็นการเปิดจุด Warp ให้เราเดินทางได้สะดวกขึ้นแถมปลดล็อกภารกิจรองใหม่ ๆ ที่อาจเพิ่มเข้ามา 

ต้องบอกก่อนว่าภารกิจรองในเกมนั้นมีอยู่จำนวนเยอะมาก ๆ และก็อย่างที่เราเล่าไปข้างต้น เนื้อหาในภารกิจเหล่านี้ก็มีทั้งแบบง่าย ๆ เช่นใช้ให้เราไปสังหารศัตรูให้ครบจำนวนที่กำหนด หรือแบบล้ำ ๆ เป็นภารกิจยาวที่มีเนื้อเรื่องเข้มข้นให้ติดตาม แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราต้องทำก็จะหนีไม่พ้นการฆ่าเหล่าอสูรที่โผล่มาขวางทางให้หมดนั่นเอง

บนโลก Open World ยังพ่วงระบบอีกอย่างที่เป็นก้าวใหม่ของเกม Diablo นั่นก็คือระบบ Online เราจะเห็นผู้เล่นคนอื่นในโลก Open World และในเมือง และสามารถมีปฎิสัมพันธ์กันได้ เราอาจจะวิ่งไปเจอ Event และมีผู้เล่นคนอื่นมาร่วมแจมช่วยกันทำภารกิจ หรือแค่เดินสวนทางผ่านไปโดยไม่ต้องสนใจก็ได้เหมือนกัน 

และเพราะภาคนี้แผนที่ในเกมนั้นมีขนาดใหญ่มาก ๆ ตัวเกมจึงใส่ระบบการขี่ม้าเข้ามา ซึ่งก็เป็นระบบง่าย ๆ ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เราจะได้รับม้ามาไว้ใช้งานหลังผ่านภารกิจหลักในช่วงท้ายเกม ซึ่งในเกมจะมีม้าและของตกแต่งให้เราตามเก็บสะสมกันด้วย จะมีจุดพิเศษอยู่อย่างนึงคือแต่ละ Class จะมีท่าโจมตีพิเศษกระโดดลงจากหลังม้าคนละหนึ่งท่า เอาไว้เปิดฉากโจมตีศัตรู ซึ่งการใช้ท่าดังกล่าวและการเรียกม้าก็จะมี Cooldown เฉพาะของตนเอง

และด้วยความที่ตัวเกมมีระบบออนไลน์เข้ามาเป็นหัวใจสำคัญก็ทำให้เนื้อหาหลายอย่างที่พ่วงเข้ากับความเป็นเกมออนไลน์ถูกใส่เข้ามา  ภายในเกมจะมี Event จำนวนมากกระจายอยู่ในแผนที่ และมี World Event ขนาดใหญ่ให้ผู้เล่นได้เข้าร่วม ทั้งการกำจัด World Boss ที่โผล่มาตามเวลาที่กำหนด หรือไปลุยใน Legion Event ที่เป็นการฟอร์มกองทัพผู้เล่นเข้าต้านกองทัพอสูรจากนรก และสุดท้ายก็คือพื้นที่ PvP อย่าง Field of Hatred ที่เป็นเหมือนพื้นที่ Dark Zone จาก The Division ที่ผู้เล่นต้องทั้งต่อสู้กับปีศาจเพื่อเก็บคริสตัลและนำไปทำพิธีในจุดที่กำหนดเพื่อเปลี่ยนเป็นค่าเงินในการแลกของรางวัลพิเศษเฉพาะ และผู้เล่นคนอื่น ๆ ก็สามารถโผล่มาสังหารแย่งชิงคริสตัลไปได้

ทั้งหลายทั้งมวลในแง่ของเนื้อหาบนโลก Open World ที่ผมเล่ามาเรายังไปไม่ถึงกิจกรรมใน End Game กันเลยด้วยซ้ำ แต่ก็น่าจะพอทำให้เห็นภาพกันคร่าว ๆ ว่าตัวเกม Diablo 4 นั้นอัดแน่นไปด้วยเนื้อหาจำนวนมาก มีอะไรหลายอย่างให้เราได้ไล่ทำตลอดเวลา 

กิจกรรมต่าง ๆ และภารกิจรองนั้นจะมอบค่าชื่อเสียงหรือ renown ให้กับเรา ซึ่ง renown จะถูกแบ่งออกไปตามเขตแดนหลักต่าง ๆ 5 เขตในแผนที่โลก เมื่อเราเก็บค่าชื่อเสียงถูกจุดที่กำหนดเราก็จะได้รับของรางวัลพิเศษเช่นแต้ม Skill หรือ เพิ่มจำนวนการใช้ Potion ให้มากขึ้น ซึ่งทั้งสองอย่างจัดว่ามีความสำคัญมากทั้งในช่วงต้นและท้ายเกม อย่างไรก็ตามเป็นเพราะว่าแต้ม renown นั้นเราได้มาจากการทำกิจกรรมแทบทุกอย่าง ถึงเราจะไม่ตั้งใจเก็บเราก็จะมีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว ทำให้อาจจะไม่ได้เป็นระบบหลักที่มีรายละเอียดอะไร แต่ก็เพิ่มความสำคัญใน Event เหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น  

การทำ Event ยังทำให้เราได้เหรียญ Obal ซึ่งนำไปใช้แลกรับ Item แบบสุ่มได้ที่พ่อค้าตามเมืองใหญ่ ๆ ได้ด้วย ก็เป็นอีกวิธีในการตามล่าหา Item ที่เราอาจจะต้องการ

สำหรับผู้เล่นสาย Solo ที่ไม่อยากสนใจผู้เล่นคนอื่น ข่าวดีก็คือเมื่อเราบุกลงไปในดันเจี้ยน ตัวเกมจะไม่มีการจับคู่หาผู้เล่นคนอื่นมาให้เราแต่อย่างใด ยกเว้นเพื่อนร่วม Party ที่เราเชิญเข้าร่วมไว้ ส่วนการเล่นบน Open World ก็คงจะต้องทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง  โดยเฉพาะใครที่อยากอิน ไม่อยากเห็นผู้เล่นคนอื่นวิ่งไปวิ่งในเมืองอันนี้ต้องทำใจยอมรับเลยว่า คุณจะได้เห็นผู้เล่นจำนวนมากในเมืองหลักอย่างแน่นอน

พูดถึงการตั้ง Party เมื่อโยกมาเป็นระบบออนไลน์เต็มรูปแบบ ก็ทำให้ตัวเกมภาคนี้รองรับการเล่นแบบ crossplay ด้วย ดังนั้นผู้เล่นไม่ว่าจะบนเครื่องไหนก็สามารถเจอกันได้บน Open World และสามารถตั้ง Party ออกลุยไปด้วยกันได้ ซึ่งจำนวนผู้เล่นใน Party สูงสุดในภาคนี้ก็คือ 4 คน เช่นเดียวกับใน Diablo 3 ส่วนใครเป็นผู้เล่นสาย Console ก็สามารถชวนเพื่อนมานั่งเล่นในจอเดียวเครื่องเดียวกันหรือเป็น Coop แบบ Couch Coop นั่นเอง  สำหรับการเล่นกับผู้เล่นคนอื่นนั้นก็มีข้อดีคือเราจะได้รับ EXP หรือค่าประสบการณ์มากยิ่งขึ้นนั่นเอง 

ในหัวข้อการนำเสนอนั้นจุดที่ต้องชื่นชมเป็นอย่างมากของเกมในภาคนี้เลยก็คือเรื่องของงานศิลป์ ทั้งงานภาพ งานออกแบบ ไปจนถึงเสียงดนตรี  ทุกอย่างเหล่านี้ถือเป็นมาตรฐานที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้วของเกมจากค่าย Blizzard  สภาพแวดล้อมภายในเกมนั้นสวยงามมาก ๆ ตัวฉากก็มีความหลากหลาย โดยเฉพาะฉากบนโลก Open World ทุกซอกทุกมุมของโลกในเกมนั้นถูกออกแบบมาด้วยความตั้งใจ และทำให้การเดินทางไปมาในเกมนั้นเพลิดเพลินเป็นอย่างมาก ตัวฉาก Open World ก็ถือเป็นพัฒนาการใหม่ของฉากในเกมตระกูล Diablo หลังจากที่ผ่านมาตัวฉากมันจะเป็นพื้นที่โล่งกว้างธรรมดา แต่ภาคนี้มีการพัฒนาให้ตัวแผนที่มีความลึก มีมิติ เหมือนสภาพแวดล้อมจริง ๆ มากยิ่งขึ้น เราจะได้เห็นตัวละครไต่เขา กระโดดข้ามเหว สไลด์ลงเนินหรือโหนเชือกข้ามป้อมปราการ

ดนตรีประกอบก็เป็นอีกจุดที่ต้องหยิบยกมาชื่นชม เพลงประกอบในเกมนั้นถูกรังสรรค์ขึ้นมาอย่างดี ยิ่งในฉากโค้งสุดท้ายของเนื้อเรื่อง เชื่อได้ว่านี่จะเป็นหนึ่งในโมเม้นที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเกม Action Rpg ที่เคยมีมาเลยทีเดียว ถือได้ว่าโดยรวมแล้วการนำเสนอของ Diablo 4 ก็ยังคงมาตรฐานของ Blizzard เอาไว้ได้ ส่วนที่จุดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างระบบ Online และระบบ Open World นั้นก็เป็นพัฒนาการใหม่ที่จะต่อเนื่องไปยังส่วนของ Gameplay นั่นเอง

Gameplay

หัวใจสำคัญของเกม Action RPG แบบ Hack and Slash นั้นมีด้วยกัน 2 ส่วน ส่วนแรกคือระบบการต่อสู้ และอีกส่วนก็คือ End Game หรือการตามหา Item มาพัฒนาตัวละครของเรา  เพราะถ้าเรากลั่นเอา Gameplay Loop ของเกมแนวนี้ออกมาเป็นคำนิยามสั้น ๆ มันก็คือการ สู้กับศัตรู ฟาร์มหาของ ทำให้ตัวละครเราเก่งขึ้น เพื่อไปสู้กับศัตรูที่เก่งขึ้น และวนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ นั่นเอง

เราเริ่มกันที่ระบบการต่อสู้หลักก่อน เกมการเล่นในภาคส่วนของ Combat นั้นยังสนุก ดุดัน สมชื่อมาตรฐาน Diablo เช่นเดิม  ท่วงท่าของตัวละครเรานั้นลื่นไหล และเต็มไปด้วยพลังและความรุนแรง ทำให้การฟาดฟันเหล่าปีศาจนั้นเต็มไปด้วยความสะใจ 

จุดที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือภาคนี้ความเร็วในการต่อสู้โดยรวมนั้นถือได้ว่าช้าลงกว่าเกมภาค 3  ด้วยการออกแบบโดยรวมของความสามารถของตัวละครเรา ไปจนถึงการโจมตีของตัวละครฝ่ายศัตรู ซึ่งสะท้อนผ่านการออกแบบ Skill และโบนัสต่าง ๆ ทำให้การต่อสู้ในภาคนี้จะมีช่วงของการ Set Up เพื่อใช้ Skill และทำ Damage ที่นานกว่าเดิมเล็กน้อย ส่วนศัตรูก็มีท่วงท่าในการโจมตีที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเหล่า Boss ซึ่งครั้งนี้ตัวละครทุกตัวจะมีปุ่มกระโดดหลบเพิ่มเข้ามา ทำให้ตัวเกมมีความเป็น Action มากยิ่งขึ้น ซึ่งจริง ๆ การกระโดดหลบนั้นก็เคยมีมาแล้วใน Diablo 3 บน Version เครื่อง Console แต่ครั้งนี้บน PC ก็มีการใส่ปุ่มหลบมาด้วย ซึ่งการหลบจะมี Cooldown และสามารถอัพเกรดให้หลบได้หลายครั้งยิ่งขึ้นผ่านค่าโบนัสของ Item ประเภทรองเท้า 

มีจุดสังเกตอยู่อีกหนึ่งอย่างคือการที่มุมกล้องในภาคนี้ค่อนข้างที่จะซูมเข้าไปใกล้ตัวละครมากขึ้นกว่าเดิม ในแง่นึงก็ทำให้ภาพการต่อสู้นั้นเต็มตา มีความรุนแรงสะใจมากยิ่งขึ้น แต่ในอีกมุมก็ทำให้ดูอึดอัดมีความสบายตาน้อยลง และผู้เล่นสายระยะไกลอาจรู้สึกหงุดหงิดในบางจังหวะได้อยู่เหมือนกัน

ในความยากระดับธรรมดานั้นเราอาจจะยังไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่เมื่อเพิ่มระดับความยากไปที่ระดับที่สองหรือระดับที่สามขึ้นไปศัตรูจะเริ่มมีความสามารถพิเศษมากขึ้นเรื่อย ๆ  บางตัวอาจจะต้านทานการโจมตีบางชนิด บางตัวอาจจะฟื้นพลังให้เพื่อน หรือบางตัวมีออร่าเพิ่มพลังป้องกันให้ศัตรูตัวอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อท้าทายความสามารถในการบังคับและการพัฒนาตัวละครของผู้เล่นนั่นเอง

Diablo 4 จะมี Class ตัวละครให้เราเลือกใช้งานกันอยู่ 5 Class อันประกอบไปด้วยคนเถื่อนจอมฟาด Babarian มือสังหารจากเงามืด Rogue จอมอาคมผู้ทรงพลัง Sorceress หมอผีผู้ใช้มนต์ดำและโครงกระดูก Necromancer และ Druid ผู้ใช้พลังจากธรรมชาติและการแปลงร่างเป็นสัตว์ป่า 

ทั้ง 5 Class นั้นจัดได้ว่ามีรูปแบบการเล่นที่แตกต่างกันแบบชัดเจน ทั้งอาวุธที่ใช้ สายการพัฒนาตัวละคร จุดเด่นจุดด้อย และชุดเกราะเครื่องแต่งกาย และในภาคนี้เรายังสามารถ Custom ปรับแต่งหน้าตาตัวละครของเราได้ แต่น่าเสียดายเป็นอย่างมากที่ตัวเลือกในการปรับแต่งนั้นต้องยอมรับว่าปรับแต่งได้จำกัด ถึงแม้ทุกตัวละครจะเลือกเพศได้ทั้งชายหญิง แต่โดยรวมแล้วหน้าตา ทรงผม และรูปร่างของตัวละครที่มีให้เลือกนั้นค่อนข้างจำกัดเลยทีเดียว ก็ไม่แน่ใจว่าตัวเลือกการปรับแต่งใหม่ ๆ  จะถูกเก็บไปขายใน Store หรือ ร้านค้าในอนาคตหรือไม่

พูดถึงการพัฒนาตัวละคร ในภาคนี้มีการย้อนกลับไปใช้ระบบ Skill Tree อีกครั้งแทนที่ระบบ Rune Skill ของเกมภาคก่อน ซึ่งใน Skill Tree ก็จะทักษะทั้งแบบ Active และ Passive ให้เราเลือกเพิ่มแต้มตามสายตามสไตล์ Build ที่เราต้องการ จากเดิมที่เราไม่มีสิทธิในการเลือกพัฒนาตัวละครในรูปแบบไหน ๆ เลย มาครั้งนี้เราจะสามารถเลือกใส่แต้มได้เอง จะเน้นบวกโบนัสให้กับ Skill ไหนเป็นพิเศษก็สามารถทำได้ตามใจ  และนอกจาก Skill ปกติธรรมดาแล้ว สุดสายทางของ Skill Tree ก็ยังมี Bonus Passive แบบพิเศษที่เลือกใช้งานได้เพียงอันเดียวรอคอยเราอยู่  

ยกตัวอย่างเช่นใน Class อย่าง Rogue ด้วย Skill Passive อันสุดท้ายเราสามารถเลือกได้ว่าจะทุ่มเป็นตัวละครสายโจมตีระยะไกล จะเป็นนักใช้กับดัก หรือเป็นสุดยอดสายผสมที่ใช้ทั้งอาวุธระยะประชิดและระยะไกล ทั้งหมดก็เป็น “หนึ่งในตัวเลือก” ที่เพิ่มความหลากหลายให้ Build ตัวละครของเรา

นอกจากการพัฒนาตัวละครผ่าน Skill Tree แล้ว ตัวเกม Diablo 4 ยังมีการพัฒนารูปแบบพิเศษที่สำคัญเป็นระบบพิเศษที่แตกต่างกันไปในแต่ละ Class ประกอบไปด้วย ซึ่งระบบพิเศษจะปลดล็อกเมื่อตัวละครไปถึงระดับเลเวลที่ 15 โดยจะโผล่มาเป็นภารกิจพิเศษให้ไปทำ

เมื่อทำภารกิจสำเร็จ ระบบพิเศษเหล่านี้จะเข้ามาเสริมความเก่งกาจและความสามารถของ Class ให้มีจุดเด่นเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป และช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับการพัฒนาตัวละคร Necromancer สามารถปรับแต่งความสามารถของลูกน้องได้ผ่านระบบนี้ หรือจะเป็น Necromancer สายไม่เอาลูกน้องเลือกสละลูกน้องทิ้งไปเพื่อรับค่าโบนัส  ส่วน Sorceress ก็สามารถเสริมพลังให้กับ Skill อาคมที่ใช้งานด้วยการพ่วงพลังอื่นจากอาคมที่เลือก  หรือ Rogue ก็สามารถเลือกปรับแต่งว่าจะไปสาย Combo หรือสายโฟกัสเน้นโจมตีตัวละคร  จะเห็นได้ว่าภาคนี้การพัฒนาตัวละครนั้นมีความหลากหลายมากขึ้นแบบชัดเจน ตั้งแต่เรื่องของระบบพื้นฐานอย่าง Skill   ส่วนผู้เล่นสายลองผิดลองถูกก็ไม่ต้องห่วง ในเกมนี้เราสามารถเลือก Reset Skill ได้ตลอดเวลาโดยสิ่งที่ต้องจ่ายก็มีเพียงแค่เงินในเกมเพียงเท่านั้น

แต่เมื่อลงลึกไปถึงระดับ End Game เราก็จะเจออีกหนึ่งระบบพัฒนาตัวละครอย่างบอร์ดพลัง Paragon หลังเราพัฒนาตัวละครไปถึงเลเวล 50 เราจะไม่ได้รับแต้มมาอัพเกรดเพิ่มพลัง Skill แต่อย่างใด แต่ตัวเกมจะมอบแต้ม Paragon ให้เราแทน หลังจากนั้นก็เราก็ต้องนำแต้มดังกล่าวไปเลือกแจกจ่ายลงไปในบอร์ดพลัง Paragon ของเรา

ตัวบอร์ด Paragon นั้นเพิ่มความลึกให้การพัฒนาตัวละครไปอีกขั้น เพราะนอกจากช่องต่าง ๆ ในบอร์ดจะเพิ่มค่าพลังแบบพื้นฐานให้ตัวละคร บางช่องยังเพิ่มโบนัสพิเศษ และต้องมีเงื่อนไขบางอย่างเฉพาะ เช่นเพิ่มพลังโจมตี 20% และจะบวกให้เป็น 25% หากตัวละครมีค่า Str ถึงระดับที่กำหนด จะเห็นได้ว่าด้วยการวางเงื่อนไขแบบนี้ ค่า Status ที่อาจไม่สำคัญสำหรับบางตัวละครก็กลายเป็นมีความสำคัญขึ้นมาทันที ขณะเดียวกันเองภาคนี้ค่า Status ต่าง ๆ ก็เพิ่มระดับความสำคัญให้มีประโยชน์มากขึ้นด้วยตัวมันเอง หมดปัญหาว่าถ้าเล่น Babarian ค่า Int ก็เป็นของไม่มีประโยชน์อีกต่อไป

กลับมาที่บอร์ด Paragon กันใหม่  นอกจากช่องธรรมดาตามที่ได้เล่ากล่าวกันไป บางช่องยังมาพร้อมพลังพิเศษระดับ Legendary ที่อัพเกรดความสามารถตัวละครให้ล้ำยิ่งกว่าเดิม และบางช่องก็เป็นช่องใส่อักขระหรือที่ในเกมเรียกว่า Glyph ซึ่ง Glyph จะเป็น Item ที่สามารถ Drop ได้ในเกมและเราสามารถนำมาติดตั้งลงในช่องของบอร์ด Paragon เพื่อรับค่าพลังพิเศษ 

นอกจากเราจะต้องเลือกเส้นทางเดินบนบอร์ดไปรับโบนัสที่เราต้องการแล้ว หากเราเดินไปจนถึงสุดทางจนถึงช่องประตูเรายังสามารถปลดล็อกบอร์ด Paragon บอร์ดใหม่มาต่อเส้นทางให้เราพัฒนาตัวละครเราต่อไปได้อีก นี่ขนาดแค่เล่ายังเหนื่อยแทน ไม่อยากจะคิดว่าสำหรับผู้เล่นสายจริงจังแล้วจะต้องลงทุนลงแรงและวางแผนพัฒนาตัวละครกันขนาดไหน 

เล่ากันมายาวขนาดนี้ก็เพิ่งจะจบในส่วนของการพัฒนาตัวละครแบบพื้นฐานผ่านการใช้แต้ม แต่หัวใจหลักอีกอย่างของเกมแนวนี้ก็คือเรื่องของระบบ Item หรือ itemization สำหรับภาคนี้เกรดของ Item จะถูกแบ่งออกเป็นหลัก ๆ ได้ตามสีแบบที่แฟนเกมคุ้นเคยกันดี ไล่ไปตั้งแต่ Normal Magic Rare และสองขั้นสุดท้าย Legendary และ Unique 

Item ระดับ Legendary จะเป็นของสีส้มที่หล่นในทุกระดับความยาก Item เกรดนี้สามารถนำมา Extract ดึงเอาพลังพิเศษมาเก็บไว้ โดยพลังที่ถูกดึงออกมาตัวเกมจะเรียกว่า Aspect ซึ่งเราสามารถนำเอา Aspect ไปติดตั้งให้กับ Item ชิ้นอื่นได้ตามที่ Aspect แต่ละอันกำหนด  

อย่างไรก็ตาม Aspect ที่ถูกติดตั้งลงไปแล้วจะไม่สามารถถูกดึงกลับออกมาได้เป็นครั้งที่สอง และในการติดตั้ง Aspect ก็จำเป็นต้องใช้ Material หรือ Item ทรัพยากรที่ได้จากการย่อยของ Legenday อีกด้วย 

ตัวเกมยังมีการช่วยเหลือผู้เล่นด้วย Aspect แบบมาตรฐานที่เราสามารถเลือกนำมาใช้งานได้ทุกเมื่อ เหมือนเป็น Collection Aspect แบบ Basic ซึ่ง Aspect เหล่านี้จะได้มาจากการลุยดันเจี้ยนที่เกมกำหนดเอาไว้ ซึ่งเราสามารถเลือกใช้งาน Aspect เหล่านี้ได้แบบไม่มีข้อจำกัด แต่ก็ต้องใช้ทรัพยากรในการฝัง Aspect ลงไปใน Item เหมือนเดิม

โดยรวมแล้วพลังของ Item ในระดับนี้ก็ถือว่าสูงพอสมควร แต่อาจจะไม่ได้ดูอลังกาลหวือหวาแบบที่เราคาดคิดไว้ นั่นก็เป็นเพราะว่าจริง ๆ แล้ว Diablo 4 มี Item ที่เหนือกว่าขึ้นไปอีกระดับที่ชื่อว่า ระดับ Unique 

Item ในขั้นนี้จะมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ไม่สามารถถอนการ Aspect เอามาใส่ให้ Item ชิ้นอื่นได้ ขณะเดียวกันพลังของ Item ระดับ Unique ก็เหนือล้ำเป็น Item ที่ส่งผลกระทบต่อ Build ของตัวละครกันแบบโดยตรง เรียกได้ว่าใน End Game ของ Diablo 4 ก็จะเป็นการตามล่าหา Item ขั้น Unique นี่เอง

ซึ่ง Item ในระดับ Unique นั้นจะหล่นลงมาให้เก็บในเฉพาะความยากระดับ 3 หรือ Nightmare ขึ้นไปเท่านั้น

นอกจากเกรดของ Item แบบธรรมดาที่แบ่งกันให้ดูแล้ว Item ทุกชิ้นในเกมยังมีโอกาสหล่นออกมาเป็นเกรดพิเศษอีกสองระดับ ได้แก่ Sacred และ Ancestral  ซึ่ง Item ในรูปแบบนี้จะมี Power Level สูงกว่าปกติทำให้ค่าโบนัสต่าง ๆ บวกเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดย Item ระดับ Sacred จะเริ่มมีให้เห็นในความยากระดับ Nightmare และ Ancestral จะเริ่มมีในความยากระดับ Torment  จะเห็นได้ว่าเมื่อเป็นแบบนี้สุดยอด Item ก็จะเป็น Unique ในเกรด Ancestral นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม Item ระดับ Rare ที่เคยเรียกได้ว่าไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่ในภาค 3 กลับมีความสำคัญอย่างมากในภาคนี้ เพราะในช่วงแรกเราสามารถฝังพลัง Aspect ที่เราต้องการลงไปใน Rare Item ได้ ขณะเดียวกัน Rare Item ก็มีโอกาสที่จะ Drop ค่าพลังที่เราต้องการในเกรดสูง ๆ ซึ่งอาจดีกว่าการเลือกใช้ Legendary หรือ Unique ใน Build ตัวละครบางอันเลยก็เป็นได้เช่นกัน

ส่วนนึงก็เป็นเพราะว่าใน Diablo 4 นั้น Item ทุกชิ้น ทุกส่วนมีการบวกค่าพลังที่ไม่ใช่แค่ Stats หลักหรือพลังป้องกันเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถเพิ่มระดับเลเวล Skill หรือมีการบวกพลังโจมตีเงื่อนไขพิเศษเช่นเพิ่มการโจมตีธาตุไฟ หรือ พิษ ซึ่งหากการบวกค่าต่าง ๆ เหล่านี้ลงตัว ตัวละครก็สามารถทรงพลังได้เช่นกัน

สำหรับภาคนี้จะไม่มี Set Item ที่แฟนเกมภาค 2 หรือ 3 คุ้นเคย ดังนั้นเราก็จะไม่ได้เห็น Item สีเขียวที่เคยเป็นสุดยอด Item จากภาค 3 กันในเกมภาคนี้ แต่ทีมงานก็แง้มไว้ว่าหากเป็นไปได้และมีความเหมาะสม Set Item ก็อาจถูกเพิ่มเข้ามาในเกมในการอัพเดทภายหลังเช่นกัน

นอกจากการเฟ้นหา Item มาใช้งานแล้ว ในเกมภาคนี้เรายังสามารถตีบวกอัพเกรด Item ของเราได้อีกเล็กน้อย ซึ่งการตีบวกจะเป็นการเพิ่ม Power Level ให้กับของชิ้นนั้น โดยเราจะสามารถตีบวก Item ได้แค่ 3 ถึง 6 ครั้งเท่านั้นตามเกรดของ Item ไม่ใช่การตีบวกไปเรื่อย ๆ โดยไม่จำกัด นอกจากนั้นก็จะเป็นการใส่เพชรลงใน Socket หรือช่องใส่เพชร เพื่อบวกโบนัสพิเศษตามชนิดและเกรดของเพชร 

และสุดท้ายคือการ Enchant หรือการ Re Roll สุ่มค่า Status ได้ 1 อันใน Item แต่ละชิ้น โดยเราจะสามารถ Re Roll ซ้ำได้เรื่อย ๆ ตราบใดที่มีเงินและทรัพยากรเพียงพอ ซึ่งในการเล่นระดับ End Game ก็จะเป็นการ Farm หาทรัพยากรเพื่อมา Re Roll ทำสุดยอด Item ผ่านการ Enchant นี่เอง

อีกจุดที่ต้องเน้นย้ำก็คือ Item ในเกมนั้นจะเป็นการเล่นแบบ Self Find หรือเน้นการค้นพบด้วยตัวเองเป็นหลัก ใครที่ชื่นชอบการ Trade ก็ต้องขอแสดงความเสียใจด้วย เพราะ Item ระดับ Legenday และ Unique จะถูกล็อกไว้กับ Account ทำให้เราไม่สามารถมอบให้คนอื่นได้ อย่างไรก็ตาม Item ระดับ Rare ยังสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ปกติ ก็ถือเป็นช่องทางเล็ก ๆ 

พอพูดมาถึง End Game เราก็มาถึงส่วนสำคัญส่วนสุดท้ายของเกม Action Rpg นั่นก็คือการเล่นในส่วนของ End Game หรือกิจกรรมหลังเนื้อเรื่องหลักจบลง อย่างที่เราเล่ากันไปข้างต้นตัวเกม Diablo 4  นั้นอัดแน่นด้วยกิจกรรมจำนวนมาก และใน End Game ทีมงานก็ออกแบบเนื้อหาหลายอย่างไว้รองรับผู้เล่น

อย่างแรกที่เราปลดล็อกหลังจบเกมก็คือระบบ Tree of Whispers ตัวระบบนี้จะเป็นการส่งเราไปทำกิจกรรมที่เกมกำหนดขึ้นมาเพื่อเก็บสะสมแต้มให้ครบ 10 แต้ม เมื่อครบ 10 แต้มเราก็สามารถนำกลับมารับกล่องรางวัลที่ภายในเป็นของสุ่มต่าง ๆ 

กิจกรรมที่ตัวเกมส่งเราไปทำก็จะมีตั้งแต่การ Clear ดันเจี้ยนที่กำหนด จบ Event ที่บอก ฆ่าศัตรูให้ครบ กำจัดปีศาจเป้าหมาย ซึ่งกิจกรรมแต่ละอันก็จะมอบแต้มให้กับเราไม่เท่ากัน เมื่อครบ 10 แต้มนำกลับมารับแรงของรางวัลเราก็จะสามารถเลือกรับได้ว่าอยากได้ของสุ่มเป็น Item Gear อะไร เช่นรองเท้า หรือ เกราะตัว 

นอกจากระบบ Tree of Whispers อีกระบบที่จะปลดล็อกหลังจบเกมก็คือ Helltide Event โดยตัวเกมจะสุ่มพื้นที่พิเศษในโลก Open World ขึ้นมา ในเวลาที่กำหนดพื้นที่นั้นจะถูกบุกโดยเหล่าปีศาจจากนรก นอกจากจะมี Boss พิเศษเลเวลเต็มให้เราไปล่า การสังหารศัตรูในพื้นที่ Helltide จะทำให้เราได้รับ Cinder ซึ่งเป็นทรัพยากรที่เราสามารถนำไปปลดล็อกหีบพิเศษที่จะกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ Helltide 

ตัวหีบจะมีการระบุว่าเป็น Item ชนิดไหน เช่นหีบรองเท้า หีบเกราะตัว หีบสุ่ม ซึ่งเราก็ต้องใช้แต้ม Cinder ปลดหีบดังกล่าวในเวลาของ Event เพราะเมื่อหมดเวลาลงแต้ม Cinder ทั้งหมดจะถูก Reset ทิ้งไป ไม่มีการเก็บสะสมไว้ใช้ใน Event ครั้งหน้า ตัว Helltide จะเริ่มมีให้เล่นเมื่อผู้เล่นไปถึงความยากระดับ 3 หรือ Nightmare ขึ้นไปเท่านั้น 

และสุดท้ายก็คือระบบ Nightmare Dungeons เป็นการเปลี่ยนดันเจี้ยนปกติให้มีความยากสูงขึ้น เพื่อรับของรางวัลพิเศษมากขึ้นกว่าเดิม โดยผู้เล่นจะเข้าไปลุยใน Nightmare Dungeons ได้ก็ต่อเมื่อได้รับ Nightmare Sigil หรือตราสัญลักษณ์พิเศษที่จะสุ่มมอบให้กับผู้เล่นผ่านการทำภารกิจของ Tree of Whispers  

เมื่อเปิดใช้งาน Sigil ดันเจี้ยนที่กำหนดจะถูกเปลี่ยนความยากและมีอุปสรรคพิเศษเพิ่มขึ้นตามที่กำหนดในสัญลักษณ์ Sigil มีตั้งแต่อุปสรรคพื้น ๆ เช่น Monster เลือดเยอะขึ้น โจมตีแรงขึ้น หรือแบบล้ำ ๆ เช่นมีสายฟ้าไล่ล่าผู้เล่น,  Monster ไม่สามารถโดน Stun  หรือศัตรูอาจต้านทานธาตุไหนเป็นพิเศษ ซึ่งหากเรา Clear ดันเจี้ยนแบบ Nightmare ก็มีโอกาสที่เราจะได้รับ Sigil ที่ยากขึ้นระดับสูงขึ้นและมอบรางวัลที่เยอะขึ้นเช่นกัน

Performance 

ในแง่ของประสิทธิภาพในการแสดงผลบน PC นั้นโดยรวมแล้ว Diablo 4 สามารถรันได้อย่างลื่นไหล และมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นแบบเห็นได้ชัดหากเทียบกับตอน Beta ปัญหาอาการ Memory Leake ได้รับการแก้ไขกันไปแล้ว ทำให้สามารถเล่นได้เป็นเวลานานโดยไม่ติดขัดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดีตัวเกมยังมีอาการกระตุกในบางจังหวะโดยเฉพาะบนโลก Open World ในตอนเดินทางเข้าสู่เขตพื้นที่ใหม่ เนื่องจากตัวเกมไม่มีการตัดฉากโหลดอีกต่อไป ยกเว้นเวลาตอนเข้าประตู Teleport หรือการลงดันเจี้ยน ซึ่งอาการกระตุกดังกล่าวก็มีทั้งที่กระตุกแค่นิดหน่อยเสี้ยววินาที กับมีช่วงที่ Framerate ล่วงลงไปหลายวินาทีติดกันแบบเห็นได้ชัด 

ในส่วนของบัคอื่น ๆ นั้นระหว่างการทดสอบเราเองก็ยังไม่พบเจอแต่อย่างใด อาจจะมีบัคการแสดงผลของวัตถุบางชิ้นในฉากแต่ก็ถือว่าน้อยมาก ๆ และพบเจอเพียงไม่กี่ครั้งตลอดระยะเวลาการเล่นนับร้อยชั่วโมงในช่วงรีวิว 

สำหรับคอเกมบน PC ข่าวดีก็คือภาคนี้ตัวเกมจะรองรับการบังคับด้วย Controller แบบเต็มรูปแบบ ใครที่เคยไถภาค 3 จนเมื่อยนิ้วแล้วอยากลองสลับมาเล่นบนจอยก็สามารถทำได้ ซึ่งก็ต้องบอกว่าทีมงานออกแบบการบังคับด้วยจอยมาได้ดีเลยทีเดียว ทั้งการบังคับในการต่อสู้รวมไปถึงการใช้งาน UI ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยน Item หรือการเปิดดูหน้าต่าง Skill หรือ Status 

ถ้าจะมีจุดให้ติก็จะเป็นเรื่องของการออกแบบ UI และ UX ตัวหน้าต่าง Interface นั้นบางครั้งข้อมูลหลายอย่างถูกแสดงแบบไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ และคำอธิบายระบบการเล่นและศัพท์เฉพาะหลายอย่างของเกมก็ไม่ถูกนำเสนอได้ดีพอ ผู้เล่นหน้าใหม่น่าจะสับสนอย่างมากแน่นอนกับสารพัดคำศัพท์เช่น Lucky Hit หรือ Fortify หรือ Overpower 

ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่ข้อเสียสำคัญมากแต่ก็สามารถส่งผลให้ประสบการณ์ของผู้เล่นใหม่หรือคนที่ไม่ใช่เซียนสาย Action Rpg สับสนได้ในตอนแรก

สรุป

Diablo 4 ถือเป็นทิศทางใหม่และก้าวที่สำคัญของเกมตระกูล Diablo  มันมาพร้อมเนื้อหาที่อัดแน่น กิจกรรมจำนวนมาก เนื้อเรื่องยาวนานจุใจซึ่งผ่านการนำเสนอที่ยอดเยี่ยม 

ด้วยระบบการต่อสู้ที่สนุกมาก ๆ และระบบการพัฒนาตัวละครที่หลากหลายคอเกมสายนี้จะถูกดูดวิญญาณหมดเวลาไปชีวิตกับ Diablo 4 หลายปีอย่างแน่นอน

ถึงแม้การมาถึงของระบบ Online ระดับ MMO แบบย่อม ๆ อาจจะไม่ถูกใจผู้เล่นทุกคน แต่เนื้อแท้โดยรวมข้างในนี่เป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของ Diablo ส่งให้ชื่อเกมตระกูลนี้ขึ้นมายืนในแถวหน้าของเกม Action RPG แนว Hack and Slash อีกครั้ง

หาก Blizzard สามารถอัพเดทตัวเกมได้ตามมาตรฐานตั้งต้น เนื้อหาใน Season มีความหลากหลายน่าสนใจ และไม่มีอะไรแปลก ๆ โผล่มาในส่วนของร้านค้าเงินจริง Online หรือ Battlepass นี่จะถือเป็นสุดยอดผลงานชิ้นใหม่ของ Blizzard อย่างแท้จริง

 

Diablo 4

9.3 / 10 คะแนน

9.3

ข้อดี

  • การนำเสนอยอดเยี่ยมทุกแง่มุม
  • เนื้อเรื่องน่าติดตามมีพัฒนาการของตัวละครทุกฝ่าย
  • ระบบการต่อสู้ที่สนุกเร้าใจ
  • การพัฒนาตัวละครที่ลึกมีระบบย่อยและสายการพัฒนาที่หลากหลาย
  • อัดแน่นด้วยเนื้อหากิจกรรมจำนวนมหาศาล

ข้อเสีย

  • มาพร้อมระบบการเล่นและการนำเสนอแบบเกม Online ย่อม ๆ
  • นำเสนอคำอธิบายของระบบหลายอย่างไม่ชัดเจน
  • การมีการขาย Battle Pass และ Item ในเกมราคาเต็มถือ
  • มี Early Access ได้เล่นก่อนสำหรับคนจ่ายราคาแพง

Nuttawut Apiratwarakul

โน้ต - Co-Founder / Editor-in-chief

Back to top