BY Zreast
24 Nov 23 3:59 pm

ต้อนรับ Intel® Core™ processors (14th Gen) ขุมพลังใหม่ เพื่อการเล่นเกมในยุคนี้

1,742 Views

เดินทางมาสู่ Gen ที่ 14 กันแล้วสำหรับ Intel® Core™ processors ซึ่งถือว่ายังคงเป็นซีพียูที่ได้รับความไว้วางใจจากเกมเมอร์ ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพ, ความเก่งรอบด้าน รวมไปถึงผลงานเกมต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะถูกพัฒนามาให้รันได้อย่างเป็นมิตรกับ Intel® อยู่เสมอ

แน่นอนว่าการผลัดเปลี่ยน Gen ในครั้งนี้ ทาง Intel® ก็ยกระดับความเก่งกาจของ Intel® Core™ processors ขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งเราได้โอกาสลองนำมาทดสอบกับการเล่นเกมในยุคปัจจุบันกันแบบเต็มที่แล้ว ใครอยากรู้ว่ามันจะแรงขนาดไหน ถึงเวลาที่ต้องอัปเกรดกันแล้วหรือไม่ ตามมาดูพร้อม ๆ กันได้เลย

 

อัปเกรดให้เหนือกว่า

อย่างแรก เราคงต้องทำความรู้จักกับ Intel® Core™ processors (14th Gen) กันก่อน นี่คือซีพียูที่ยังคงต่อยอดความเก่งกาจในเรื่อง Multitasking ทำให้สามารถรันโปรแกรม, เล่นเกม, ทำคอนเทนต์ หรือไลฟ์สไตล์อื่น ๆ ได้พร้อมกันเป็นอย่างดี อันเป็นผลมาจากการใช้สถาปัตยกรรมแบบไฮบริด แบ่งคอร์ประมวลผลเป็น 2 ส่วนคือ ‘Performance Core’ (P-Core) สำหรับงานหนัก และ ‘Efficient Core’ (E-Core) สำหรับงานเบา ช่วยกันประมวลผลและจัดการพลังงาน

ซึ่งการมาถึงของ Gen 14 นี้ ก็อัปเกรดให้เหนือขึ้นกว่าเดิมด้วย Clock Speed สูงสุดถึง 6.0 GHz แถมทาง Intel® บอกเรามาด้วยว่า Gen นี้ทำงานแบบ Multitasking เร็วขึ้นกว่าเดิมได้ถึง 18% เลยทีเดียว สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า Intel® ให้ความสำคัญกับการใช้ PC ได้เต็มที่ที่สุดในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเหล่าเกมเมอร์ที่ชอบเล่นเกมไปด้วย เปิด Web Browser, Discord หรืออื่น ๆ ไปด้วย แม้กระทั่งการไลฟ์สตรีมก็สามารถทำได้สบายแล้ว ไม่ต้องแบ่งเป็น PC สำหรับเล่นเกม กับ PC สำหรับไลฟ์เหมือนอย่างเมื่อก่อน

ไม่ใช่แค่ในด้านประสิทธิภาพเท่านั้น เพราะ Intel® Core™ processors (14th Gen) ยังรองรับเทคโนโลยีแบบเผื่อไว้สำหรับอนาคตหมดแล้ว ทั้ง Wi-Fi 7 และ Bluetooth 5.4 ซึ่งแน่นอนว่าช่วยให้เล่นเกมด้วยสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ดีและเสถียรขึ้น รวมไปถึงการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไร้สายต่าง ๆ ก็วางใจหายห่วงกว่าเดิม

 

จับคู่ลงตัวกับการ์ดจอ Intel® Arc™

หลายคนคงรู้จักกับ Intel® Arc™ graphics กันมาแล้วประมาณหนึ่ง นี่คือการ์ดจอที่ Intel® ส่งเข้ามาลุยตลาดเกมมิ่งกันแบบเต็มตัว เพื่อเกมเมอร์รวมถึงเหล่า Content Creator ด้วย

เดิมที การ์ดจอ Intel® Arc™ graphics กับซีพียู Intel® Core™ processors ก็เหมือนคู่สร้างคู่สมที่ทำงานร่วมกันได้ดีมาก ๆ อยู่แล้ว แต่การมาถึงซีพียู Gen 14 ก็จะยิ่งช่วยให้เราเล่นเกมได้เต็มประสิทธิภาพกว่าเดิม ด้วยไม้เด็ดอย่าง “Intel® Deep Link” เทคโนโลยีที่ทำให้การ์ดจอ Intel® Arc™ กับการ์ดจอออนบอร์ดของซีพียู Intel® มาแชร์ฮาร์ดแวร์ด้วยกัน เสริมประสิทธิภาพกันได้เต็มที่เสมือนเป็นอันหนึ่งอันเดียว

รวมไปถึง “Resizable Bar” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ต่อยอดมาตั้งแต่ซีพียู Gen 10, ช่วยให้การ์ดจอเข้าถึงแรมของเครื่องได้โดยตรง ดึงประสิทธิภาพมาใช้ได้เต็มที่มากขึ้น ซึ่งมันจะดีได้ขนาดไหน เรามีผลทดสอบการเล่นเกมจริงให้ดูด้วยในรูปถัดไป

แต่ก่อนอื่น เรามาดูเซ็ตอัป PC ที่เราใช้ทดสอบกันก่อนเล็กน้อย

CPU : Intel® Core™ i5 processor 14600KF (24M Cache, up to 5.30 GHz), 12 Cores / 20 Threads

GPU : Intel® Arc™ graphics A750 (8GB GDDR6)

RAM : 32 GB DDR5, Bus 5600 

Mainboard : ASRock Z790 Steel Legend WiFi

ติดตั้งเกมและระบบปฏิบัติการบน SSD

 

ทดลองเล่นเกมจริง

ไม่รอช้า มาทดสอบเล่นเกมจริงกันเลย ซึ่งด้วยความที่ Intel® Arc™ graphics A750 เป็นการ์ดจอระดับ Mid-range ในตลาด ก็จะเหมาะสมกับการเล่นเกมที่ความละเอียด Full HD (1920 x 1080) ด้วยกราฟิกระดับสูง ซึ่งเรานำมาลองกับทั้งเกมเก่าและเกมที่ออกใหม่ในปีนี้ และประทับใจกับผลลัพธ์ที่ได้มาก ๆ

Lies of P

เกม Soulslike ของปี 2023 ที่เกมเมอร์ทั่วโลกต่างยกย่อง นี่คือเกมที่โดดเด่นในเรื่องกราฟิกอันสวยงาม และสภาพแวดล้อมที่ละเอียดเนียนตา แต่ถึงจะดูเป็นเกมกินสเปคเครื่องแค่ไหน มันก็ไม่เกินกำลังไปกว่าที่ Intel® Arc™ graphics A750 จะเอาไม่อยู่ ซึ่งเราสามารถเล่นได้ที่ 120 – 130 FPS โดยปรับกราฟิกขึ้นไปสุดที่ระดับ Best ได้เลยทีเดียว

ที่สำคัญคือ นี่เป็นการตั้งค่าแบบไม่ได้เปิดเทคโนโลยีอัปสเกลภาพใด ๆ มาช่วยทั้งสิ้น ซึ่งด้วยความที่ตัวเกมมันรันได้ลื่นขนาดนี้กับซีพียูและการ์ดจอของ Intel® เราก็แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องเปิดเลย อย่างไรก็ตาม ถ้าอยากลองเปิดใช้ FSR 2 ดูจริง ๆ ก็จะได้ผลลัพธ์เฉลี่ยที่ประมาณ 160 – 170 FPS ซึ่งด้วยความลื่นระดับ 100 FPS ขึ้นไปเช่นนี้ ก็รับรองว่าไม่มีเฟรมตกตอนสู้บอสแน่ ๆ

Alan Wake 2

สุดยอดเกมที่โดดเด่นทั้งด้านการเล่าเรื่อง, งานศิลป์ และขึ้นชื่อว่ากินสเปค PC สุด ๆ สำหรับปี 2023 เอาแค่สเปคขั้นต่ำ ก็ทำให้หลายคนปาดเหงื่อได้แล้ว

ซึ่งในทีแรกเราก็แอบหวั่นเหมือนกัน ว่าถ้าลองกับเกมนี้จะได้ประสิทธิภาพประมาณไหน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ต้องบอกว่าโล่งอก เพราะเราสามารถเล่นได้เฉลี่ยที่ 70 FPS ในความละเอียด Full HD และปรับกราฟิกเป็น Preset ระดับ High สำหรับฉากในมิติ Dark Place (บังคับเป็น Alan Wake)

และถ้าสลับมาเล่นเป็นตัวเอกอีกคนอย่าง Saga Anderson, ตัวเกมจะรันอยู่ที่ประมาณ 50 FPS เนื่องจากฉากส่วนใหญ่จะเป็นป่าเขาในเมือง Bright Falls ซึ่งกินประสิทธิภาพซีพียูสูงมาก เพราะมีวัตถุให้ต้องประมวลผลเยอะ ตรงนี้เรามองว่า Intel® Core™ i5 processor 14600KF เข้ามาช่วยได้เยอะจริง ๆ เพราะถ้าเป็นซีพียู Gen เก่ากว่านี้มาก ๆ ก็คงจะเอาไม่อยู่แน่สำหรับ Alan Wake 2

โดยตลอดการเล่น เราเปิดอัปสเกลภาพขึ้นมาจากความละเอียด 1280 x 720 (Quality) ซึ่งถือเป็นจุดที่รับได้และคุณภาพกราฟิกไม่ดร็อปมากนัก แต่ถ้าใครที่อยากเล่นเกมนี้ในเมือง Bright Falls ให้ลื่นอีกสักหน่อย ก็สามารถปรับเป็นระดับ Balance ได้เช่นกัน (อัปสเกลจาก 1129 x 635) ซึ่งจะทำให้เล่นได้ที่ 60 FPS พอดิบพอดี ส่วนในฉาก Dark Place ก็จะพุ่งขึ้นไปเฉลี่ยแถว ๆ 75 – 80 FPS เลย

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ Alan Wake 2 สูบพลัง PC ไปหนักมาก ก็คือการที่ตัวเกมเรนเดอร์ฉากโลกภายนอก และฉากในห้วงความคิดของตัวละครไปพร้อม ๆ กัน (Mind Place / Writer’s Room) โดยหากกด Tab, เกมก็จะสลับภาพไปมาระหว่าง 2 ฉากนี้ได้เลยแบบล้ำ ๆ ดังนั้นแล้วนี่จึงเป็นส่วนที่ท้าทายพลังประมวลผลของซีพียูมาก ๆ เช่นเดียวกับการ์ดจอที่ควรจะต้องมีหน่วยความจำเพียงพอ และตรงนี้ VRAM ของ Intel® Arc™ graphics A750 ที่ให้มาเยอะถึง 8 GB ก็ถือว่าสอบผ่านฉลุย เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้เกม Alan Wake 2 ไม่เกินมือสำหรับการเล่นแบบ Full HD ด้วยซีพียูและการ์ดจอของ Intel® 

Cyberpunk 2077

ปีนี้ Cyberpunk 2077 อัปเดตใหญ่เข้าสู่เวอร์ชัน 2.0 พร้อมภาคเสริมอย่าง Phantom Liberty เลยต้องขอลองกันสักหน่อย ซึ่งใครจะเชื่อว่าเราสามารถเล่นเกมนี้แบบเปิด Ray Tracing ได้ด้วย โดยปรับกราฟิกเป็น Preset ระดับ High และเลือกเปิดใช้เทคนิคดังต่อไปนี้

  • Ray-Traced Reflection
  • Ray-Traced Sun Shadows
  • Ray-Traced Local Shadows

รวมถึงเปิดใช้งาน XeSS เวอร์ชัน 1.1 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอัปสเกลภาพของทาง Intel® โดยเลือกไว้เป็นระดับ Performance ผลลัพธ์คือเราสามารถเล่นได้อยู่ที่แถว ๆ 55 – 60 FPS ซึ่งก็ถือว่าไม่เลวทีเดียวสำหรับการเล่น Cyberpunk 2077 ด้วยแสงเงาที่มีความสมจริงมากขึ้น

แต่อีกหนึ่งการตั้งค่าที่เราแนะนำมากกว่า นั่นคือการปิด Ray Tracing, ปรับกราฟิกเป็น Preset ระดับสูงสุด และเปิด XeSS ไว้ที่ระดับ Balance ซึ่งจะทำให้เล่นได้ 70 FPS นิ่ง ๆ ในความละเอียด Full HD อันเป็นจุดที่น่าพอใจมาก แถมนี่ยังเป็นแค่การทดลองกับซีพียู Intel® Core™ i5 processor 14600KF เท่านั้นเอง ถ้าเป็นรุ่นบนกว่านี้อย่าง Core™ i7 หรือ Core™ i9 ก็จะยิ่งทำประสิทธิภาพได้ดีขึ้นไปอีกสำหรับการเล่นเกม Open World สเกลใหญ่ที่ท้าทายซีพียูในระดับนี้

Fortnite

ปิดท้ายกันด้วยเกมที่เหมือนจะเบา ๆ แต่ก็มีส่วนที่กินเครื่องไม่เบาเหมือนกันอย่าง Fortnite ซึ่งเกมนี้ ถ้าเราไม่เปิดใช้ Nanite Virtualized Geometry (เทคโนโลยีใหม่ของทาง Epic Games) ก็จะเล่นได้ลื่น ๆ แบบปรับสุดทุกอย่างที่ 100 FPS กันไปเลย

สำหรับเกม Multiplayer ที่มีผู้เล่นและวัตถุในฉากเยอะ แต่ยังเล่นได้ลื่นประมาณนี้ ก็ถือว่าสอบผ่าน และทำให้พอจะเดาได้ว่าเกมกระแสหลักอื่น ๆ อย่าง Valorant, Apex Legends, Overwatch 2, Counter-Stike 2 และอีกมากมาย ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงแน่ ๆ สำหรับการจับคู่กันระหว่าง Intel® Core™ processors (14th Gen) และการ์ดจอ Intel® Arc™ 

 

เทคโนโลยีเพื่อการเล่นเกม Next-Gen

จากที่เราทดลองเล่นเกมจริงไปจำนวนหนึ่ง จะเห็นได้ว่าในยุคปัจจุบันนี้ ทาง Intel® มีเทคโนโลยีที่เข้ามาเสริมการเล่นเกมเยอะมาก บางตัวก็เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ส่วนบางตัวก็อาจจะยังไม่คุ้นชื่อกัน ซึ่งนอกเหนือจาก Intel® Deep Link และ Resizable Bar ที่เราพูดถึงไปก่อนหน้านี้ ก็ยังมีเทคโนโลยีที่น่าสนใจจากฝั่งของการ์ดจอ Intel® Arc™ graphics อยู่ด้วย อันได้แก่

  • XeSS (Xe Super Sampling”) เทคนิคการอัปสเกลภาพ เอกสิทธิ์สำหรับคนใช้การ์ดจอ Intel® Arc™ graphics ซึ่งช่วยลดภาระการเรนเดอร์ภาพ และทำให้เล่นเกมได้เฟรมเรตเยอะขึ้น ที่สำคัญคือปัจจุบันนี้ XeSS ก็รองรับกับหลาย ๆ เกมดังแล้วด้วย
  • Ray Tracing ช่วยจำลองแสง-เงาในเกมให้สมจริง ซึ่งแม้ว่าจะเป็นลูกเล่นที่ต้องแลกกับความกินสเปค แต่การจับคู่กับ XeSS ก็ทำให้เราสามารถเล่นเกมโดยเปิด Ray Tracing ไปด้วยได้ ตามที่ทดสอบให้ดูกันไปแล้วกับ Alan Wake 2 และ Cyberpunk 2077
  • รองรับ 3D Engine ทั้ง Open GL / Open CL / Vulkan / DirectX 12 ทำให้เล่นเกมได้ครอบคลุมมากขึ้น
  • รองรับการเข้ารหัส-ถอดรหัสวิดีโอแบบ AV1 ได้ที่ระดับฮาร์ดแวร์ ดังนั้นใครเป็นสายตัดต่อวิดีโอ ก็จะมีตัวเลือกมากขึ้นสำหรับงานเรนเดอร์ ซึ่ง AV1 ก็ถือเป็นอีกหนึ่ง Format ที่มีคุณภาพสูงและเป็นข้อได้เปรียบอยู่ไม่น้อยทีเดียว

อีกหนึ่งสิ่งที่ Intel® Arc™ graphics ทำได้ดีมาก ก็คือซอฟต์แวร์ “Intel® Arc Control” ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมฟีเจอร์ของการ์ดจอแบบครบวงจร เอาไว้เช็คฮาร์ดแวร์, อัปเดตไดรเวอร์, อัดวิดีโอ หรือจะเปิดไลฟ์สตรีมก็ทำได้หมด ซึ่งเปิดโปรแกรมได้ง่าย ๆ เพียงแค่กดปุ่ม Alt+I หรือถ้าใครอยาก Monitor ดู Hardware ระหว่างเล่นเกม ก็แค่กด Alt+O เปิดหน้าต่างขึ้นมาดูได้เลยทันที สะดวกมาก ๆ สำหรับใครที่อยากรู้ว่าขณะนี้ CPU กับการ์ดจอของเรากำลังทำงานอยู่กี่เปอร์เซ็นต์, ความร้อนอยู่ที่เท่าไหร่, ใช้หน่วยความจำไปแค่ไหนแล้ว

นอกจากนี้ Intel® Arc™ graphics ก็ไม่ได้ทำตัวให้สมเป็นการ์ดจอน้องใหม่ของตลาดสักเท่าไรด้วย เพราะยอมรับจริง ๆ ว่าทาง Intel® อัปเดตไดรเวอร์เข้ามาถี่มาก เกมไหนที่มีข่าวว่าเจอปัญหา ใช้เวลาไม่นานก็มีอัปเดตแก้ไขออกมาแล้ว จึงถือเป็นอีกจุดแข็งของ Intel® Arc™ graphics ที่มีการพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อย ๆ จนบางทีเราก็อาจจะลืมไปเหมือนกัน ว่านี่คือการ์ดจอในราคาต่ำหมื่น หรือหมื่นนิด ๆ เท่านั้นเองสำหรับรุ่นท็อปอย่าง Intel® Arc™ graphics A770

 

หาซื้อได้แล้ววันนี้

เราสรุปรวบตึงให้ง่าย ๆ ว่าใครที่ใช้ซีพียู Intel® Gen เก่ามาหลายปีแล้ว “Intel® Core™ processors (14th Gen)” คือตัวเลือกที่ดีมาก ๆ สำหรับการอัปเกรดให้พร้อมเล่นเกมในยุคนี้ รวมถึงเกมที่จะออกในวันข้างหน้า

ดังนั้นใครที่เริ่มรู้สึกอยากเสริมแกร่งให้ PC ตัวเอง ก็ไม่ควรมองข้าม Gen 14 นี้ด้วยประการทั้งปวง ซึ่งตอบโจทย์ได้ทั้งการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน รวมถึงการเล่นเกม, ไลฟ์สตรีม, ทำคอนเทนต์ ด้วยประสิทธิภาพที่เหนือระดับไปกับโปรเซสเซอร์ Intel® Core™

นอกจากนี้ ทาง Intel® ยังฝากเรามาบอกด้วยว่าในงาน Commart ที่กำลังจะมาถึง ก็มีโปรโมชันพิเศษรออยู่มากมายสำหรับคนที่ซื้อคอมพิวเตอร์ที่ใช้ซีพียู Intel® ทุกรุ่น

หรือถ้าอยากทดลองเครื่องจริงกันสักหน่อย ก็แวะเวียนมาที่บูธของอินเทลในงาน Commart นี้ได้ด้วยเช่นกัน ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคมนี้ ที่ไบเทค บางนา, Hall 98-99, บูธ B4/1

SHARE

Satthathan Chanchartree

ฟ่าง - Content Writer

Back to top