คีย์บอร์ดของ Keychron กลายมาเป็นขวัญใจวัยรุ่นและคนทำงานได้สักพักแล้ว ด้วยจุดเด่นในด้านดีไซน์แบบมินิมอล ที่ถูกใจทั้งสายเข้มและสายหวาน แต่ไม่ทิ้งลายในด้านฟังก์ชันแต่อย่างใด ใช้งานได้ทั้ง Mac และ Windows เรียกได้ว่าใช้ได้ดี แถมยังสวยด้วย
สำหรับตัวที่เราจะมารีวิว ถือว่าเป็นตัว “จุดเริ่มต้น” ของคนที่อยากลองใช้คัสต้อมคีย์บอร์ด Keychron อย่างแท้จริง เพราะมันคือ Keychron V1 ตัวเปิดราคาประหยัดของแบรนด์ แต่แฝงไปด้วยฟังก์ชันโหด ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Hot-Swap, QMK/VIA และ Knob มันจะเป็นยังไง มันจะดีขนาดไหน เราไปดูกันเลย
Spec พื้นฐานของ Keychron V1
- Silicone Acoustic Pad
- Programmable Knob
- 1000 Hz Polling Rate
- Hot-Swappable
- Tray Mount Design
- OSA PBT Keycap
- รองรับ QMK/VIA
- รองรับทั้ง Windows และ macOS
เริ่มกันที่ดีไซน์ สำหรับคนที่รู้จัก Keychron จะรู้ว่าดีไซน์ เป็นหนึ่งในส่วนที่โดนใจผู้ใช้มาโดยตลอด สำหรับ Keychron V1 มาในรูปแบบ Form Factor เล็กกะทัดรัด เป็นรูปร่างแบบ 75% มีการตัดปุ่มที่ไม่จำเป็นออกไป จำพวก numpad และปุ่มคำสั่งต่าง ๆ แต่จะยังคงปุ่ม F1-F12 ไว้ ทำให้ค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับ Form Factor ตัวอื่น ๆ ในตลาดที่อยู่ในระดับ 60-65%
ส่วนที่บอกเลยว่าน่าสนใจของคีย์บอร์ดตัวนี้ คือเรื่องงานประกอบที่แข็งแรง คงทนมาก ๆ ในส่วนของวัสดุภายนอกเขาใช้พลาสติกแข็งเป็นส่วนประกอบหลัก ดูค่อนข้างใสมองเห็นถึงชิ้นส่วนภายใน ด้านในใช้เหล็กเป็นโครง ทำให้ค่อนข้างหนักเมื่อเทียบกับคีย์บอร์ดทั่วไป (970 กรัม) โดยด้านในของ Keychron V1 ใช้ดีไซน์แบบ Tray Mount คือเป็นน็อตยึดแผงวงจรกับโครงเข้าด้วยกันทั้งบนทั้งล่าง ทำให้สายคัสต้อมถอดประกอบได้ง่าย ๆ
ตัวคีย์แคปตัวนี้มาเป็น OSA PBT แบบ Double-Shot เป็นโปรไฟล์แบบใหม่ล่าสุดที่น่าสนใจมาก เพราะความสูงที่ใกล้เคียงกับแบบ OEM แต่มีรูปร่างเหมือน SA จึงกลายเป็นคีย์แคปแบบมุมทรงกลม ทำให้การพิมพ์คล่องตัวยิ่งขึ้น ไม่มีจังหวะขัด ๆ จากมุมแหลม
ถัดจากปุ่มมาดูขวาบน จะเห็นว่าในรุ่นนี้เขามี Knob หรือปุ่มหมุนมาให้ด้วย หลายคนที่ใช้คีย์บอร์ดอื่น ๆ สมัยนี้ก็น่าจะชินกับการเพิ่มเสียงลดเสียงผ่านเจ้าตัวนี้ แต่ของ Keychron ทำอะไรได้เยอะกว่านั้นมาก แม้ในเบื้องต้นมันจะทำได้เพียงเพิ่มเสียงลดเสียง แต่เมื่อปรับแต่งผ่านซอฟต์แวร์ เจ้าปุ่มนี้ทำได้แม้กระทั่งซูมเข้า ซูมออก หรือปรับความสว่างของหน้าจอก็ทำได้ เสริมความล้ำของประสบการณ์การใช้งานเข้าไปอีก
เมื่อพูดถึงซอฟต์แวร์แล้ว ในรุ่นนี้ Keychron ยังคงรองรับซอฟต์แวร์คู่บุญอย่าง QMK และ VIA เหมือนเคย ใครใช้คัสต้อมคีย์บอร์ดกันอยู่แล้วก็จะรู้ว่า ทั้งสองโปรแกรมช่วยให้เราสามารถปรับแต่งคีย์บอร์ดได้อย่างอิสระขนาดไหน แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ก็ยังใช้ได้กับ Keychron V1 โดยเฉพาะของใหม่อย่างปุ่ม Knob ก็ปรับได้เช่นกัน ใครเสียบแล้วไฟ RGB ยังไม่โดนใจ หรือปุ่มไหนใช้แบบไหนยังไม่ชอบ ก็ดาวน์โหลดมาลองปรับกันได้
แต่สำหรับเราแล้ว ขอลองเล่นมันแบบเพียว ๆ เลยดีกว่า เราลองเอามาเล่นเกมโดยไม่มีการปรับแต่งใด ๆ เลย พบว่าตัวคีย์บอร์ดตอบสนองได้อย่างดีเยี่ยม ด้วย Keychron K Pro Switch สวิตช์ที่นุ่มมือมาก ๆ ใช้แรงเพียงนิดเดียวก็สัมผัสได้ถึงการกดปุ่มคีย์บอร์ดทันที ทำให้การเล่นเกมประเภทเกมยิงต่าง ๆ สมูธมือมากขึ้น ไม่มีจังหวะแบบ กดก้มไม่ติด กดสไลด์ไม่ติด กดเป็นกด ติดทุกอย่างโดยไม่มีเงื่อนไข
ถัดจากเล่นเกมเราเอา Keychron V1 ไปทำงาน เพื่อดูความลื่นไหลในการพิมพ์ ซึ่งก็ต้องบอกว่าตอบโจทย์เรามาก ๆ แม้จะไม่มี numpad หรือปุ่ม printscreen ที่เราต้องใช้บ่อย ๆ แต่เมื่อปรับตัวแล้วก็ถือว่าพอไหว ที่สำคัญเลยคือคีย์บอร์ดตัวนี้ “แก้ปัญหา” สำคัญที่ออฟฟิศเราเป็นบ่อยมากได้ นั่นก็คือต้องสลับการทำงานบน Windows และ macOS บ่อย ๆ ทำให้ต้องเสียเงินซื้อฮาร์ดแวร์ถึงสองต่อ แต่ Keychron V1 ตัวนี้เชื่อมต่อได้ทั้ง Windows และ macOS โดยไม่มีเงื่อนไข เพียงแค่สไลด์เลือกโหมดเท่านั้น ทำให้การทำงานง่ายขึ้นมาก
สำหรับ Keychron V1 เรายืนยันได้อย่างเต็มปากเลยว่า นี่คือแมคคานิคอลคีย์บอร์ดที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ แม้เราจะใช้โดยที่ไม่ได้คัสต้อมอะไรเพิ่มเข้าไปแบบที่ Keychron เขาเปิดโอกาสให้ทำ เพราะจริง ๆ แค่ประสบการณ์เบื้องต้นก็ดีมากแล้ว ยิ่งเราเองไม่ใช่ผู้ใช้คีย์บอร์ดเหล่านี้โดยมาตรฐาน ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าคีย์บอร์ดตัวนี้เจ๋งจริง
ถ้าคุณอยากหาคีย์บอร์ดสักหนึ่งตัวมาใช้งาน หรืออยากลองเข้าวงการคัสต้อมแมคคานิคอลคีย์บอร์ดดู เราบอกเลยว่า Keychron V1 เหมาะมาก เพราะด้วยราคาเพียง 3,990 บาท เมื่อเทียบกับประสบการณ์ที่ได้ มันคุ้มค่าแบบสุด ๆ จริง ๆ