แม้รีวิวเมืองนอกจะด่าซะเสียคน แต่ผมกลับรู้สึกสนุกอย่างน่าประหลาดใจ
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวและอาจเปิดเผยถึงเนื้อเรื่องบางส่วน
Need For Speed เกมขับรถระดับตำนานที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงภาค Underground ยาวมาจน Most Wanted ก่อนจะเริ่มร่วงโรยไปตามกาลเวลาในภาคต่อมาจวบจนถึงปัจจุบัน หลังจากผ่านจากยุค Underground ยาวนานมา 12 ปี ทาง EA ก็ได้ทำการหยิบจับ Need For Speed กลับมา Reboot อีกครั้งในปี 2015 โดยทาง EA ได้ประกาศว่าจะเป็นการ Reboot ทั้งแฟรนไชส์ยกแผงใหม่หมดอีกครั้ง แต่ทว่าก็ดูเหมือนจะไม่ได้กอบกู้ศรัทธาแฟนเกมกลับมามากเท่าไหร่นัก
อีกครั้งในปี 2017 นี้ EA ได้ตัดสินใจส่ง Need For Speed Payback กลับมาโดยผลงานการสร้างของ Ghost Games ทีมพัฒนาผู้อยู่เบื้องหลังเกม Need For Speed สามภาคล่าสุด ซึ่งในภาคนี้ตัวเกมได้ปูภาพรวมของเกมมาว่าจะเน้นในการนำเสนอด้วยรูปแบบ “action driving”
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงที่พร้อมใจกันปล่อยฮุคซ้ายฮุคขวากะเอาให้ตายคามือ ผมเองกลับรู้สึกพึงพอใจกับเกม Need For Speed Payback อย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งต้องบอกไว้ตรงนี้ก่อนว่าไม่ได้ตั้งใจจะรีวิวสวนกระแสเอาเท่แต่อย่างใด เรียกได้ว่าชอบจริงชอบจัง เล่นไปแล้วกว่า 14 ชั่วโมงตลอดสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ส่วนจะชอบเพราะอะไร แล้วตัวเกมมีอะไรกันบ้างนั้นลองดูได้จากด้านล่างนี้เลยครับ
เกมขับรถที่ยังมีเนื้อเรื่องในยุคปัจจุบัน
ผมเองก็ไม่แน่ใจว่ายุคที่เกมขับรถแบบมีเนื้อเรื่องนั้นเข้ามาเป็นที่รู้จักมันเป็นช่วงไหนกันแน่ เท่าที่พอจะจำและย้อนกลับไปได้มากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นช่วงยุค 2000 ต้นๆ หรือเมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อน แน่นอนว่าเนื้อเรื่องคงไม่ได้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนอะไรกันมากขนาดนั้น เหมือนเป็นเพียงองค์ประกอบที่เข้าไปช้อนการแข่งรถซิ่งให้ดูเติมเต็มมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง
ตัดภาพกลับมาในยุคปัจจุบันที่เกมขับรถล้วนแล้วแต่ไปโฟกัสเรื่องของความสมจริงในการขับขี่ยวดยาน รายละเอียดของตัวรถและสร้างบรรยากาศราวกับนั่งอยู่ในรถด้วยตนเอง แต่ Need For Speed Payback กลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น
Need For Speed Payback พาเรากลับไปสู่ยุคช่วง 2000 ต้นๆ อีกครั้งกับเนื้อเรื่องที่เล่าเรื่องผ่านกลุ่มเพื่อนนักซิ่งตัวละครทั้ง 3 คนที่ดูเป็นสูตรสำเร็จของภาพยนตร์ชื่อดัง ผู้เล่นจะได้พบกับ Tyler Morgan นักซิ่งหนุ่มหล่อผู้มากความสามารถ (พอจะคุ้นๆ กันมั้ยครับ) , Mac นักขับตีนระเบิดผู้มาพร้อมกับความตลกโปกฮาที่ดูแล้วก็คุ้นๆ เหมือนมาจากภาพยนตร์อะไรสักเรื่อง และ Jess The Wheelman ที่มีความช่ำชองในการหลบหนี
ทั้ง 3 คนนี้จะกลับมาร่วมมือกันหลังจากถูกหักหลังเพื่อโค่นล้ม The House กลุ่มองค์กรชายชุดดำที่ครองโลกใต้ดินของ Fortune Valley ไว้ในกำมือ โดยผู้เล่นจะได้สวมบทบาทเป็นตัวละครทั้ง 3 คน โลดแล่นไปในเมือง Fortune Valley ที่เหมือนหยิบเอาเมือง Las Vegas เข้ามาย่อส่วนแล้วใส่ลงไปในเกม โดยแต่ละคนก็จะมีบทบาทและรูปแบบการแข่งที่แตกต่างกันไป เช่น Ty จะได้ขับรถซิ่งเพื่อเอาชนะกลุ่มแกงค์นักซิ่งต่างๆ แบบยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง Mac จะต้องออกวาดลวดลายในการแข่ง Offroad ที่เรียกว่าดริฟกันฝุ่นตลบอบอวนควันคลุ้งกันท่วมจอ และ Jess ที่ต้องพาลูกค้าคนสำคัญหลบหนีการตามล่าจาก The House และเจ้าหน้าที่ตำรวจ
สรุปว่า เนื้อเรื่องมันก็มีแค่นี้แหละครับ กลุ่มตัวเอกโดน The House หักหลัง > แต่ละคนแตกกระเจิงไปทำมาหากิน > กลับมารวมตัวกันอีกครั้งโดยมีคนหนุนหลังอยู่เล็กน้อย > ตามโค่นบัลลังก์ The House
ส่วนจะดีหรือแย่อย่างไร เดี๋ยวผมจะสรุปให้อีกทีด้านล่างนี้
ความสนุกแบบอาเขตที่เกือบลืมไปแล้ว
ความรู้สึกของการขับรถในเกม Need For Speed Payback นั้นมีการปรับเปลี่ยนจากภาคก่อนๆ เพียงเล็กน้อย โดยฟีลที่ได้รับจะยังคงมีความอาเขตที่เราคุ้นเคยผสมผสานไปกับการแข่งขันแบบความเร็วสูง ดังนั้นสิ่งที่เราจะได้รับก็คือการขับขี่ที่รวดเร็ว ฉับไว ตื่นเต้นและเล่นง่าย
คุณจะไม่ต้องเสียเวลาไปศึกษากระบวนการขับรถ และไม่ต้องปวดหัวกับ Learning Curve ของเกมที่สูงจนปวดขมับ รู้จักไว้แค่ 4 ปุ่มคือ คันเร่ง เบรค เบรคมือ และไนตรัส ทุกการขับขี่จะเป็นได้อย่างใจ การดริฟไถลตีเส้นโค้งจะสวยงามเหมือนคุณผ่านการฝึกมานานนับปี ทุกท่วงท่าภายในเกมตลอดเส้นทางจะดูงดงามเหมือนคุณเป็นนักแข่งรถมืออาชีพก็ว่าได้ เหมาะสำหรับคนที่อยากสัมผัสฟีลเกมขับรถที่เล่นแล้ว Feel Good จนน่าประหลาดใจ
โลกอันเปิดกว้าง…ที่แสนอ้างว้างและเดียวดาย
Fortune Valley มหานครของคนฝันใหญ่ที่หยิบเอาความเป็น Las Vegas มาใส่อย่างเต็มสูบ แน่นอนว่ามันมาพร้อมกับทางหลวงที่แสนยาวไกล ทะเลทรายที่แสนอ้างว้าง ยิ่งเมื่อรวมไปกับกิจกรรมภายในเกมที่ดูซ้ำซากแต่ก็ต้องทำเพื่อปลดล็อคสิ่งของต่างๆ แล้วมันยิ่งทำออกมาได้ดูแย่และแสนน่าเบื่อ
การปลดล็อคอุปกรณ์ตกแต่งนั้นจะเปลี่ยนจากการเอาชนะนักซิ่งคนอื่นๆ มาเป็นการปลดล็อคกิจกรรมภายในเกมอย่างเช่น Speed Trap หรือ Drifting Zone ที่ดูไม่มีความดึงดูดใจใดๆ เลยแม้แต่น้อย หรือกระทั่งการปรับแต่งสมรรถนะของตัวรถที่อาศัยการสุ่มเปิดการ์ดที่ทำเอาเกมเมอร์คนรักรถหลายคนต้องปวดใจ นอกจากนี้การปรับแต่งตัวรถที่ไม่สามารถเลือกให้เข้ากับแนวทางการขับได้เท่าที่ควรก็ดูจะเป็นข้อด้อยสำหรับเกมนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
สิ่งเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านภาพกราฟิกที่ดูสวยงามน่าประทับใจและไม่กินสเปคเครื่องเท่าไหร่นัก นอกจากนี้ตัวเกมยังมีระบบกลางวันกลางคืนที่ดูสมจริงมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้มีผลกับเกมการเล่นสักเท่าไหร่นักแต่ก็ทำให้ตัวเกมดูน่าสนใจขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย
การขับรถหลบหนีการไล่ล่าจาก The House และเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่ามันยังไปได้ไกลกว่านี้ เนื่องจากตัวเกมในภาคก่อนหน้านู้นนนนนนได้มีการหยิบเอาความเป็น Burnout (ก็แน่ล่ะ ทีมพัฒนา Burnout เลยนี่) มาใส่ไว้ในตัวเกมจนฝังรากมาถึงปัจจุบัน ดังนั้นการเอาชนะผู้ไล่ล่าจึงมีเพียงวิธีเดียวคือการเบียดจนรถคว่ำกระเด็นกระดอนและไม่ได้ดูมีสีสันเท่าเมื่อในอดีต ไม่มีการใช้ฉากเป็นตัวช่วย ไม่มีการเสริมอารมณ์ด้วยอุปกรณ์อื่นใด คุณต้องเบียด เบียด เบียด และเบียด สิ่งที่พอจะผ่อนเบาความน่าเบื่อในครั้งนี้ก็คงจะเป็นการตั้งขบวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีการบีบรถของผู้เล่นให้แน่นิ่งไปได้ ใครที่คิดจะเอาชนะด้วยความเร็วก็คงจะยากหน่อยในภาคนี้
สรุปเกมนี้เป็นยังไง ?
Need For Speed Payback ยังคงเป็นเกม Need For Speed ที่น่าสนใจสำหรับคนที่ชื่นชอบเกมตระกูลนี้เป็นทุนเดิม การขับรถความเร็วสูงในแบบอาเขตที่เน้นเล่นง่าย อิ่มอกอิ่มใจเป็นเข้าว่า นำเสนอผ่านกราฟิกที่สวยงาม ผสมผสานไปกับเรื่องราวและการนำเสนอที่คล้ายกันกับภาพยนตร์ Fast and Furious ฉบับ 2009 ที่มีปมเนื้อเรื่องและบทพูดอันแสนประดักประเดิดไม่แพ้กัน แต่ถามอย่างซีเรียสเลยว่าคุณคาดหวังเนื้อเรื่องอันแสนเข้มข้นสลับซับซ้อนเฉือนคมกันขนาดนั้นจากเกมขับรถจริงๆ หรือ ?
เกมนี้คงไม่เหมาะกับคนที่มองหาความสมจริง ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการ Mood and Tone ในเกมแบบค่าย Codemaster หรือ Gran Turismo แต่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการสัมผัสกับอารมณ์ของการเล่น Need For Speed ที่หายไปนานแสนนานนั่นเอง