BY Aisoon Srikum
20 Nov 19 4:16 pm

รีวิว Yes, Your Grace – สัมผัสความปวดกบาลจากการ “ทรงงาน” เป็นกษัตริย์ผ่านวิดีโอเกม

105 Views

หากจะมีเกมสักเกมที่ให้เราสวมบทบาทจำลองอะไรสักอย่าง Yes, Your Grace เกมใหม่แนวบริหารการจัดการผสมกับแนว Simulator ผลงานจากสตูดิโอ Brave at Night ตัวนี้ ถือว่าน่าสนใจมากที่สุดแล้ว เพราะเกมนี้จะให้เราสวมบทบาทเป็นกษัตริย์ Eryk ที่จะต้องบริหารอาณาจักรตัวเองให้อยู่รอด และมันไม่ใช่แค่การเตรียมกองทัพ แต่มันยังรวมไปถึงไปการรับเรื่องร้องทุกข์จากเหล่าประชาชน และยังต้องคอยจัดการปัญหาดราม่าภายในครอบครัวของเราเองอีกด้วย และนี่คือเกมที่จะสอนให้เรารู้ว่า การเป็นกษัตริย์หรือผู้นำแผ่นดิน มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยใน Yes, Your Grace เกมที่จะทำให้คุณปวดกบาลจนไมเกรนขึ้นจากความ “เยอะ” ทั้งของประชาชน และของครอบครัวตัวเอง

Story

อย่าคิดว่าเกมแนวบริหารการจัดการและภาพสไตล์พิกเซลแบบนี้จะไม่มีเนื้อเรื่อง เพราะ Yes, Your Grace นั้นมีเนื้อเรื่องที่น่าติดตามพอสมควร เราจะรับบทเป็นกษัตริย์ Eryk แห่งอาณาจักร Davern ตัวเกมเปิดมาด้วยเราที่กำลังเตรียมกองกำลังรับมือกับศึกสงครามครั้งใหญ่ ก่อนที่ภาพจะตัดมาที่ 1 ปีก่อนหน้าเหตุการณ์นี้ และเริ่มเล่นเกมของเรา เราจะมีทั้งภรรยา และลูกสาวที่จะคอยสร้างเรื่องอันปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับคุณในทุกวัน และเกมนี้ยิ่งคุณเล่นไปเรื่อย ๆ เนื้อเรื่องของแต่ละผู้เล่นก็จะแตกต่างกันออกไป ตามแต่ว่าคุณได้เลือกทำอะไรลงไปบ้างในแต่ละวัน แม้ยังไม่ทราบว่าตัวเกมช่วงทดสอบนี้จะไปสิ้นสุดลงที่ตรงไหน แต่เอาเป็นว่านี่คือเนื้อเรื่องทั้งหมดที่เรารู้ในตอนนี้ และบอกไว้ก่อนว่าหากคุณเลือกผิด อนาคตแผ่นดินก็อาจจะจบสิ้นลงที่ยุคสมัยของคุณได้ตั้งแต่เริ่มเกมเลยทีเดียว

Presentation

ตัวเกมนำเสนอด้วยกราฟิกที่ใช้ Unity Engine ดังนั้นกราฟิกจึงเป็นแบบพิกเซลเหมือนเกมย้อนยุคในสมัยก่อน พื้นที่ที่เราจะเดินทางไปได้ก็คือภายในปราสาทที่อยู่ใต้การปกครองของเรา แต่เมื่อเล่นไปสักพัก เกมก็จะมีแผนที่โลกให้เราออกไปสำรวจ หรือส่งทหารระดับนายพลออกไปสำรวจได้ด้วย แต่หลัก ๆ แล้ว ภารกิจที่เราต้องทำจะอยู่ในปราสาทซะเป็นส่วนมาก

ตัวเกมจะเน้นให้เราอ่านและซึมซับไดอะล็อกที่เกมนำเสนอ แต่ต้องบอกก่อนว่า แม้มันจะเป็นเกมจำลองชีวิตการเป็นกษัตริย์ แต่ศัพท์ของเกมนี้ก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น และข้อดีของตัวเกมคือ ถ้าเราไม่คลิกเมาส์ ไดอะล็อกของตัวเกมก็จะยังไม่เลื่อนถัดไป ดังนั้นเราสามารถเล่นไป แปลไปได้อย่างสนุกสนาน และต้องบอกว่ามันคุ้มค่าที่จะแปลมาก เพราะเนื้อเรื่อง และคดีต่าง ๆ ที่ชาวบ้านมาร้องทุกข์นั้น มันสนุก เข้มข้น น่าติดตาม หรือบางอันก็เป็นชนิดที่ว่า WTF! ได้เลยทีเดียว

เราจะยกตัวอย่างปัญหาที่ประชาชนมาร้องทุกข์กับเราให้ดูดังนี้

  • เคสที่ 1 : ชาวบ้านคนหนึ่งกำลังจะจัดงานแต่งให้กับลูกสาว แต่อยากมักใหญ่ได้หน้า อยากจัดงานหรูหรา แต่มีเงินไม่พอ จึงมาขอเงินจากเรา
  • เคสที่ 2 : พ่อค้าต่างถิ่นมองเห็นทำเลในอาณาจักรเราว่าเหมาะกับการเปิดโรงเตี๊ยมไว้บริการแขก แต่ขาดเงินทองจึงมายื่นข้อเสนอให้กับเรา ถ้าเราสนใจร่วมลงทุนด้วย จะมีส่วนแบ่งให้
  • เคสที่ 3 : ลูกชายถูกโจรเรียกค่าไถ่จับไปเป็นตัวประกัน มาขอความช่วยเหลือให้เราส่งนายพลไปช่วย หรือไม่ก็ขอเป็นเงินทองเพื่อนำไปไถ่ตัวลูก
  • เคสที่ 4 : ชาวบ้านประสบภัยบางอย่าง จึงมาขอเงินทองหรือเสบียงไปใช้ประทังชีพ

และถ้าปัญหาของประชาชนยังทำให้เราปวดหัวได้ไม่มากพอ ก็ลองมาดูตัวอย่างปัญหาดราม่าภายในครอบครัวเราบ้าง

  1. เคสที่ 1 : ลูกสาวคนโตของเราโดนลูกสาวคนเล็กแกล้ง จึงวิ่งโร่มาโวยวายต่อหน้าเราถึงห้องรับเรื่องร้องทุกข์ จนโดนแขกผู้มาเยี่ยมตำหนิต่อหน้า
  2. เคสที่ 2 : เพื่อต้องการทหารมาเข้าร่วมกองทัพ หากเราตัดสินใจยกลูกสาวของเราให้ไปแต่งงานกับกษัตริย์อีกดินแดนหนึ่ง ลูกสาวของเราจะโกรธมาก ระบายปัญหาออกมาเต็มที่ รวมถึงด่าว่าเราเป็นพ่อที่ไม่ได้เรื่อง
  3. เคสที่ 3 : กษัตริย์ต่างถิ่นตำหนิเราว่าเราเลี้ยงดูลูกได้ไม่เหมาะสม (แล้วแต่การเล่นของเรา)
  4. เคสที่ 4 : ภรรยาของเราที่บางทีก็เหมือนป่วยเป็นไบโพลาร์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้ายตลอดเวลา

จริง ๆ แล้วทั้ง 8 เคสที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ตอนเล่นจริงคุณจะเจอสารพัดปัญหาให้ปวดหัวกว่านี้ สังเกตได้ว่ามันเหมือนจะเป็นปัญหาง่าย ๆ แต่คุณจะต้องเลือกให้ดีว่าคุณจะช่วยคนเหล่านี้ยังไง หรือถ้าไม่ช่วยจะส่งผลอะไรหรือไม่ อย่าลืมว่าทรัพยากรของเรามีจำกัด ไม่สามารถช่วยเหลือทุกคนได้แน่นอน ถ้าช่วยแล้วตัวคุณเองเดือดร้อน คุณจะเอาอะไรไปบริหารแผ่นดินที่ปกครองได้

และอย่างที่บอก ตัวเกมนั้นยังมาพร้อมกับการกำหนดทางเลือกของตัวคุณเองอีกด้วย เช่นถ้าคุณจับนักโทษคนนึงมาได้ คุณจะนำไปขังไว้ หรือสั่งประหารเลยก็ได้ ผลที่ตามมาก็จะแตกต่างกันออกไป หรือบางทีเราลงไปเยี่ยมเยียนคุกของเมือง แล้วสืบสวนนักโทษ พบว่าเขาไม่ได้ทำผิดร้ายแรง เราก็เลือกที่จะสั่งให้พัศดีปล่อยตัวนักโทษไปได้เลย โดยเราจะได้ค่าความประทับใจของประชาชนมาเพิ่มแทนด้วย เป็นต้น

ดังนั้นใครที่เล่นเกมนี้อาจจะต้องเชี่ยวชาญภาษาสักนิดนึง แต่ถ้าไม่รู้เลยแต่อยากจะลองเล่นด้วยการเล่นไป แปลไปผ่าน Translate ก็ทำได้เช่นกัน ยิ่งถ้าคุณสนใจชีวิตการเป็นกษัตริย์ การบริหาร การใส่ใจทุกอย่างรอบตัว คุณจะชอบเกมนี้มากจนวางไม่ลงเลยทีเดียว

Gameplay

แน่นอนว่าเราบอกแล้วว่าเกมนี้เป็นเกมแนวบริหารจัดการ เกมเพลย์หลัก ๆ ของเกมนี้จึงเน้นไปที่การ Point & Click โดยใช้เมาส์เพียงเท่านั้น สิ่งที่คุณต้องทำเป็นเพียงการอ่านสคริปท์ของเกมให้เข้าใจ และเลือกตัดสินใจว่าคุณจะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์นั้นยังไงดี

ระบบของเกมนี้จะเป็นแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ในหนึ่งสัปดาห์นี้จะไม่มีกรอบเวลามากำหนด ผู้เล่นจะสามารถรับเรื่องร้องทุกข์ได้ที่ห้องบัลลังก์ รวมไปถึงเดินทางยังไปทุกห้องในปราสาทของตัวเองเพื่อพูดคุยกับภรรยาและเหล่าลูกสาวของเราได้ เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้เรากำลังเจอปัญหาอะไรบ้าง และจะแก้ไขมันยังไง เกมแบ่งปัญหาออกเป็นสองส่วนคือปัญหาภายในครอบครัวเรา กับปัญหาของแผ่นดิน

แน่นอนว่าการเป็นกษัตริย์ย่อมมีอำมาตย์หรือผู้ช่วยเป็นของตัวเอง เกมนี้ก็ใส่มาให้เช่นกัน ก่อนจะเริ่มรับเรื่องร้องทุกข์ของชาวบ้าน เราสามารถปรึกษาสภาพโดยรวมของแผ่นดินเราได้ ว่าขาดตกบกพร่องอะไรบ้าง ซึ่งจะทำให้เรารู้ข้อมูลโดยรวมของแผ่นดินเรา และเลือกที่จะบริหารจัดการทรัพยากรได้ว่า ถ้าวันนี้มีคนมาขอเงินหรือเสบียง เรามีเพียงพอจะให้ไหม หรือใครที่มาขอควรได้ไป ถือเป็นอีกหนึ่งความละเอียดที่มีสีสันมาก

การที่คุณจะไปรับร้องเรียนปัญหาของแผ่นดินได้ คุณจะต้องไปยัง Throne Room หรือห้องบัลลังก์ จะมีชาวบ้านมาต่อคิวร้องทุกข์ และในการต่อคิวร้องทุกข์นี้ บางทีก็จะมีนายหน้าธนาคารมาปล่อยเงินกู้ มีทหารมาสมัครงาน หรือบางทีก็มีกระทั่งลูก ๆ ของเราเองที่มาฟ้องเรื่องในครอบครัวเองก็มี ซึ่งการแก้ปัญหาหรือการเจรจาแต่ละครั้งเราก็มีจะมีอิสระในการเลือก และยิ่งกว่านั้นคือเลือกได้เลยว่าจะช่วยหรือไม่ช่วย ซึ่งมันก็จะส่งผลแตกต่างกันไปในแต่ละการเลือกด้วย ในตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นผลกระทบมากเกินไปนัก แต่คาดว่าช่วงเกมเปิดให้เล่นจริง ๆ เราน่าจะเห็นผลของการกระทำแต่ละอย่างได้ชัดเจนกว่านี้

อย่างที่บอกว่าตัวเกมนั้นใช้ระบบการนับรอบแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ในแต่ละสัปดาห์เกมจะแจ้งว่าเราจะได้ทรัพยากรเท่าไรมาเพิ่ม เช่นได้ทองเพิ่มเท่าไร ได้เสบียงเพิ่มเท่าไร จากนั้นเราก็เลือกบริหารเอาเองเลยว่า จะจัดการมันยังไง นำมันไปใช้อัพเกรดอะไร

และนี่น่าจะเป็นเกมแนวบริหารการจัดการ + จำลองชีวิตการเป็นกษัตริย์ที่เล่นเพลิน ติดหนึบ สนุกมากอีกหนึ่งเกม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณชอบอ่านเนื้อเรื่อง ซึ่งเราขอย้ำกันตรงนี้อีกทีว่า มันไม่ยากเลย สำหรับศัพท์เกมนี้ แถมระบบที่เอื้อมาให้เราหยุดอ่าน และแปลได้ง่าย ๆ ดังนั้นใครอยากจะลองฝึกภาษาอังกฤษจากเกม ผมก็ขอแนะนำเกมนี้เป็นตัวเลือกเลยทีเดียว

Performance

จริง ๆ กราฟิกแบบ Unity Engine แบบนี้ก็คงไม่มีคอมพิวเตอร์เครื่องไหนเล่นไม่ได้อยู่แล้ว และแน่นอนว่าลูกเล่นปรับแต่งมันก็คงไม่มีอะไรมาก ซึ่งจริง ๆ แล้วการรีวิวในส่วนของ Performance เกมนี้อาจจะแทบไม่จำเป็นด้วยซ้ำ และอีกกรณีนึงคือผู้เขียนเกมนี้อยู่ในช่วง Beta หรือช่วงทดสอบเท่านั้น แม้จะคาดเดาไว้ว่าเปิดจริงอาจจะไม่ได้มีการปรับปรุง Performance แต่จะไปปรับปรุงในส่วนของ Gameplay Content แทน แต่ก็ยังถือว่าไมแ่ฟร์สักเท่าไร หากจะให้พูดถึง Performance ของเกมนี้

Yes, Your Grace ถือเป็นอีกเกมที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ในฐานะที่เป็นเกมแนว Management + Simulator และไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะได้นั่งบัลลังก์กษัตริย์ และสัมผัสชีวิตผู้ปกครองแผ่นดิน แล้วคุณจะรู้ว่าการเป็นผู้นำของอะไรสักอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำแผ่นดิน นี่ล่ะ..

Yes, Your Grace

8 / 10 คะแนน

8

ข้อดี

  • นำเสนอเรื่องการบริหารจัดการได้ชัดเจนและเห็นภาพเป็นรูปธรรมที่สุดแล้วในเกมแนวเดียวกัน
  • ปัญหาทุกปัญหามีทางแก้ไขหลายทาง แต่จะดีที่สุดหรือไม่ ก็ไม่มีใครบอกได้ ตัวเกมนำเสนอจุดนี้ได้ดี
  • ช่วยเพิ่มมุมมองใหม่ ๆ ให้กับคนที่คิดว่าการเป็น ผู้นำ นั้น เป็นเรื่องง่าย
  • ระบบเกมไม่ซับซ้อนเท่าไรนัก เข้าใจได้ง่าย

ข้อเสีย

  • ภาษาอังกฤษต้องแข็งแรงในระดับหนึ่งถึงจะเข้าใจเนื้อหาและภาพรวมทั้งหมด
  • เมื่อเล่นถึงจุดนึง และเข้าใจระบบเกมแล้ว ความท้าทายจะลดลงไปพอสมควร เว้นแต่เราจะไปปรับความยากที่สูงขึ้นเอง

Aisoon Srikum

Back to top
×