เมื่อสมัยก่อน เมื่อเราพูดถึงคอมพิวเตอร์แบบแบรนด์ เกมเมอร์หลาย ๆ คนน่าจะไม่รู้จัก และถึงแม้จะรู้จัก ก็น่าจะส่ายหัวกันทุกคน เพราะคอมแบรนด์ในสมัยก่อนนั้น ขึ้นชื่อในเรื่องแพง ไม่คุ้มค่ากับราคาฮาร์ดแวร์ข้างใน นั่นเป็นเพราะว่ามันไม่ได้สร้างมาเพื่อเป็นคอมพิวเตอร์สำหรับเกมเมอร์ แต่เกิดมาเพื่อเป็นคอมพิวเตอร์ในสำนักงานนั่นเอง
แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีเปลี่ยนไปมาก เห็นได้จากโน้ตบุ๊คที่เมื่อก่อนมีไว้เพื่อใช้กับงานเอกสารเท่านั้น แต่ ณ ตอนนี้ มันสามารถทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่เล่นเกมไปยันเรนเดอร์งานหนัก ๆ ซึ่งคอมพิวเตอร์แบรนด์ก็พัฒนาไปมากเช่นกัน ทั้งในด้านความคุ้มค่า และบริการหลังการขายที่เป็นจุดเด่นมาอยู่เสมอตั้งแต่แรก
และ ASUS ROG Strix GL10DH คือคอมพิวเตอร์แบรนด์ตัวใหม่จากทาง ASUS ที่ชูความเป็น Gaming ไว้สูงสุด พร้อมเคลมเลยว่า คุ้มค่าที่สุด เพราะหากนำอุปกรณ์เหล่านี้มาจัดแบบแยก จะได้ราคาที่แพงกว่า วันนี้ GamingDose เลยขอหยิบเจ้าคอมพิวเตอร์รุ่นนี้มาพิสูจน์ ว่ามันจะดี คุ้มค่าสมราคาจริง ๆ หรือไม่ ไปดูกัน
ดีไซน์
เมื่อเจ้านี่เป็น ASUS ROG เพราะฉะนั้นจุดเด่นของมันคือการสะท้อนความเป็น “เกมเมอร์” ออกมาตั้งแต่ภายนอก ส่งผลให้เคสของคอมพิวเตอร์ตัวนี้จะออกเป็นสไตล์เฉี่ยว ๆ หล่อ ๆ ดูมีมิติ มาพร้อมกับไฟ RGB แบบเบา ๆ ตามสไตล์สมัยนิยม
ด้านบนของเครื่องไม่มีปุ่มกดใด ๆ เพราะเขาย้ายปุ่มเปิดเครื่องไปอยู่ขวามือ ตอนแรกผู้ใช้อาจจะไม่ค่อยชินเท่าไหร่ แต่พอใช้ชิน ๆ ก็สะดวกไม่แพ้ปุ่มที่อยู่ข้างหน้า จุดนี้น่าจะต้องการความเรียบง่าย เพราะถ้าดูกันจริง ๆ จะเห็นว่าด้านบนไม่มีอะไรเลย ไม่มีสติ๊กเกอร์ติด ไม่มีลายอะไร มีแค่ Port สีดำ ๆ ใส่มาให้ดูมินิมอลแค่นั้น
สำหรับวัสดุภายนอก ASUS เลือกใช้โลหะทั้งตัวปิดเครื่อง ซึ่งข้างในยังคงมีพัดลมระบายอากาศอยู่ด้วย (หลายคนอาจจะไม่ชิน เพราะปีหลัง ๆ มานี้คอมแบรนด์มักจะไม่ใช้พัดลมกันแล้ว) แต่ก็พอรับได้ เพราะมันเงียบมาก
ฮาร์ดแวร์
ฮาร์ดแวร์ข้างในของ ASUS ROG Strix GL10DH เรียกได้ว่าจัดเต็มมาจริง ๆ ตามที่เขาเคลมไว้ ตัวที่เราได้มาเป็นตัว AMD Ryzen 7 3700x พร้อมกับ NVIDIA Geforce RTX 2060 และ Ram 8GB ซึ่งถือว่าเป็นเซ็ตที่ยอดเยี่ยมมาก การันตีว่าสามารถเล่นได้ทุกเกมในโลก ณ ตอนนี้
หลายคนอาจจะรู้สึกว่าแรม 8GB มันไม่เพียงพอต่อการใช้งานแล้วในขณะนี้ รวมถึง SSD ที่ให้มาเพียง 256GB เช่นกัน เรียกได้ว่าลง Call of Duty Modern Warfare เกมเดียวก็น่าจะเล่นเกมอื่นไม่ได้ และเหมือนทาง ASUS จะเข้าใจในจุดนี้ เขาก็เลยเพิ่ม Slot มาให้ทั้งแรมทั้งหน่วยความจำ โดยแรมสามารถใส่เพิ่มได้สูงสุดถึง 32GB ส่วนหน่วยความจำสามารถใส่ HDD เพิ่มได้อีกถึงสองลูก !
ในส่วนของ PSU ให้มาเป็น 500W แน่นอนว่าเพียงพอต่อระบบภายในทั้งหมด แต่อันนี้จะมีความพิเศษหน่อยตรงที่ 2060 มันน่าจะต่อ 8 พินเอาไว้ ถ้าคุณ “ต้องการจะเปลี่ยนการ์ดจอ” คุณก็สามารถเปลี่ยนได้เลยทันที
แต่ก่อนเพิ่มอะไรแนะนำว่าปรึกษาทาง ASUS ก่อนนะ เพราะจากประสบการณ์ในการใช้คอมแบรนด์มานานหลายเครื่อง การถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนใด ๆ ที่ไม่ได้มาจากทางบริษัท หรือไม่ได้ปรึกษาก่อน มีโอกาสหมดประกันทันที ซึ่งตัวประกันนี่แหละเป็นสิ่งสำคัญกับคอมแบรนด์มาก เพราะฉะนั้นระวังนิดนึงสำหรับเรื่องนี้
สเปกแบบเต็ม ๆ : https://www.asus.com/th/Tower-PCs/ROG-Strix-GL10DH/Tech-Specs/
ซอฟต์แวร์
ASUS ROG Strix GL10DH มาพร้อมกับซอฟต์แวร์ Armoury Crate เจ้าเก่าเจ้าเดิม ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมเครื่องมือที่เกี่ยวกับการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมด คุณทำได้ตั้งแต่ปรับโหมดการใช้งานของคอมพิวเตอร์ ให้เน้นไปทางด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ, ล้าง Process ที่ไม่ต้องการ, ปรับเอฟเฟกต์ RGB บนเคส, เปิดโหมดเกม และอื่น ๆ อีกมากมาย
จากการคลุกคลีอยู่กับผลิตภัณฑ์ของ ASUS มาซักระยะ (ทั้งโน้ตบุ๊คและสมาร์ทโฟน) ทำให้ผู้เขียนไม่ต้องปรับตัวมากเท่าไหร่กับโปรแกรมนี้ เพราะทุกอย่างมันเหมือนกันเลย ฉะนั้นใครที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ของ ASUS เหมือนกับผู้เขียน ก็ไม่ต้องกังวลว่ามันจะเปลี่ยนไปมาก เพราะมันไม่เปลี่ยนไปเลย (ฮา)
การเล่นเกม
มาถึงจุดที่ทุกคนรอคอย กับการทดสอบการเล่นเกมของ ASUS ROG Strix GL10DH ที่เคลมว่าสามารถเล่นเกมได้ทุกเกมบนโลกใบนี้ (ก็แหงแหละ Ryzen เกือบท็อป บวก 2060 เล่นไม่ได้ก็ให้มันรู้ไป) โดยเรานำเกมที่เราเล่นบ่อย ๆ ณ ช่วงนี้มาเทสด้วยกันสามเกม นั่นก็คือ Call of Duty Modern Warfare, Red Dead Redemption 2 และ Shadow of Tomb Raider
Call of Duty Modern Warfare
ตัวเกมตั้งค่ากราฟิกแบบ Default ไว้ที่สูงสุดทุกอย่างบนความละเอียด 1920 X 1080 มีเพียงตัวเลือกของ Tessellation เท่านั้นที่ปรับไว้ในระดับกลาง (หรือ Near หากเรียกตามการตั้งค่าในเกม) และแน่นอนว่าลูกเล่น Ray Tracing ก็ถูกเปิดใช้งานเช่นกัน
ในการเล่นบนแผนที่ Hackney Yard ที่ค่อนข้างมีรายละเอียดสูงพอตัว เราจะเห็นเฟรมเรตวิ่งอยู่ที่ 80 ถึง 110 เฟรมเลยทีเดียว เนื่องจากในแต่ละฉากจะมีรายละเอียดแสงเงาไม่เท่ากัน แต่แม้ว่าจะเปิด Ray Tracing ไปด้วย เฟรมเรตที่ได้ก็ยังไม่ต่ำกว่า 70 เฟรม แต่ถ้าคุณต้องการประสิทธิภาพที่สูงกว่านี้ หลังจากที่เราลองปิด Ray Tracing คราวนี้เฟรมเรตเฉลี่ยจะอยู่ที่ 100 กว่า
และแม้ว่าเราจะเล่นในแผนที่ที่ใหญ่ขึ้น อย่าง Arklov Peak กับผู้เล่น 20 คน บนกราฟิกสูงสุดแบบไม่มี Ray Tracing เฟรมเรตก็ยังอยู่ในระดับเฉลี่ย 100 อยู่เหมือนเดิม ซึ่งก็ต้องยอมรับในการ Optimize ของเกมนี้ บวกกับความแรงของ Asus เครื่องนี้ด้วย
Red Dead Redemption 2
เรียกได้ว่าเป็นเกมที่กินแรงเครื่องหนักที่สุดในช่วงเวลานี้เลยก็ว่าได้ ในการปรับภาพกราฟิก เราเอาไว้ที่ Default ของเกมทุกอย่าง ซึ่งเป็นการผสมกันหลายอย่างตั้งแต่ Ultra จนถึง Low บนความละเอียดระดับ 1920 x 1080 เช่นเดิม มีเพียงแค่ตัว API เท่านั้นที่เราเปลี่ยนจาก Vulkan มาเป็น Direct X 12 ที่ช่วยเพิ่มเฟรมเรตขึ้นมาบางส่วน
ในการ Benchmark จากตัวเกมปกติ เราได้เฟรมเรตเฉลี่ยอยู่ที่ 63 เฟรม ซึ่งก็ถือว่าไม่เลวเลย หากแต่ว่า Benchmark ภายในเกมนี้ ไม่ได้โชว์พลังแห่งการกินเครื่องที่แท้จริงในระหว่างเล่น พวกเราเลยลองควบม้าเข้าสู่โลก open world ในช่วงที่อยู่ในเขตทุ่งหญ้า เราจะอยู่ในความลื่นแบบ 70 เฟรมขึ้นไปเลยทีเดียว แต่พอผ่านเข้ามาในเขตเมืองที่มีอาคารหลายหลัง พร้อมกับ NPC เดินไปมา เฟรมเรตก็หล่นมาอยู่ที่ 50 กว่าเฟรม แต่เมื่อกลับเข้าไปในฉากป่าไม้ เฟรมเรตก็ขึ้นกลับไปอยู่ที่ 60 เหมือนเดิม
เห็นได้ชัดว่าเกมต้องใช้การประมวลผลเยอะมากเมื่อมี NPC, อาคาร และ particle effects อยู่ในฉากเดียวกัน พวกเราเลยลองโหลดมิชชั่นหนึ่ง ที่มีทุกอย่างดังกล่าวครบถ้วน แล้วลองเล่นดูอีกทีหนึ่ง แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับน่าประทับใจมาก เพราะในฉากนี้เฟรมเรตไม่มีตกลงมาต่ำกว่า 50 เฟรมแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งดูใกล้เคียงกับการเล่นแบบ 60 เฟรมมาก และขอให้รู้ไว้ว่าในฉากเดียวกันนี้ พวกเราได้ลองกับคอมพิวเตอร์ที่เสปคต่ำกว่านี้หน่อย เฟรมเรตกลับร่วงไปเกือบถึง 30 เฟรมกันเลยทีเดียว
Shadow of Tomb Raider
ถือเป็นเกมแรก ๆ ที่สนับสนุนลูกเล่น Ray Trace ลูกเล่น Ray Trace ของเกมนี้ จะเน้นไปที่แสงเงาที่ละเอียดสุดขีด ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เป็นลูกเล่นตัวเดียวกันที่ใช้ Call of Duty: Modern Warfare 2019 เพียงแต่ว่า จำนวนเงาที่เรนเดอร์จะมีสูงกว่ามาก แถมยังมีลูกเล่นกราฟิกอื่น ๆ อีกมากมาย
พวกเราลองทดสอบใน Benchmark ของเกม ด้วยการปรับกราฟิกทุกอย่างเป็น Default บนความละเอียด 1920 x 1080 แต่มีอย่างเดียวที่ไม่เหมือนเดิม นั่นคือการปรับลูกเล่น Ray Tracing ขึ้นเป็น Ultra ภายในฉากงานรื่นเริง เรายังเล่นอยู่ในระดับ 50 เฟรม ซึ่งก็ยังถือว่าไม่น่าเกลียด แต่เมื่อเกมตัดเข้าสู่ฉากป่า ในช่วงนี้ เกมของเราเกิดอาการกระตุกจนเกือบค้างกันไปเลย แถมเฟรมเรตในฉากนี้ก็ยังต่ำไปอยู่ที่ 30 เฟรม
และพอตัดมาที่ฉากหมู่บ้าน เราก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่ดีจากเดิมเท่าไหร่ นั่นคือ 40 เฟรมโดยเฉลี่ย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะ Shadow of Tomb Raider ก็จัดเป็นเกมที่กินแรงการ์ดจอหนักมาก และ RTX 2060 ก็ถือเป็นรุ่นกลางในหมู่ของการ์ด RTX ด้วยกัน แต่ถ้าเราทดสอบบนการปรับกราฟิก Default ปกติ เราจะเล่นอยู่ที่ 80-90 เฟรม มีเพียงฉากในหมู่บ้านเท่านั้น ที่มีตกลงมาถึง 57 บ้าง
สรุปคือ ASUS ROG Strix GL10DH เอาอยู่เกือบทุกเกม จะมีก็แต่การเปิด Ray Tracing ที่ดูจะไม่สุดเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าทำได้ดี ใครที่ซื้อไปเล่นเกม เราคิดว่าไม่ผิดหวังแน่นอนสำหรับเครื่องนี้
สรุป
ASUS ROG Strix GL10DH ตอบโจทย์อย่างมากทั้งในแง่ของความคุ้มค่า และประสิทธิภาพ เห็นได้จากการเล่นเกมที่ดุดันไม่แพ้คอมประกอบเอง บวกกับราคาเริ่มต้นเพียงแค่ 26,990 บาทเท่านั้น ยังไม่รวม On-site Service และอื่น ๆ อีกมากมายก่ายกองที่พูดกี่วันก็ไม่หมด ทำให้เราการันตีได้เลยว่า หากคุณต้องการหาคอมพิวเตอร์สำหรับเล่นเกมในเรตราคานี้ ความสามารถเท่านี้ ไม่มีใครโดดเด่นเกิน ASUS ROG Strix GL10DH แน่นอน
ข้อดี
- ประกัน On-site ซ่อมฟรีถึงบ้าน 3 ปี (ดีจริง ๆ คอนเฟิร์ม ที่ผู้เขียนซื้อคอมแบรนด์ใช้ก็เพราะข้อนี้แหละ)
- Perfect Warranty 1 ปีแรก
- ราคาคุ้มค่า
- วินโดวส์แท้
ข้อสังเกต
- Ram กับ SSD ยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย