BY Markrider
17 Oct 18 11:59 am

Review: Chrome Dino Run (Parody)

22 Views

ในวงการเกมสมัยนี้ ผู้พัฒนาแข่งกันด้วยกราฟิก แข่งกันด้วยเกมเพลย์ แข่งกันด้วยการดีไซน์ ทำให้ ณ ปัจจุบันวงการเกมพัฒนาไปค่อนข้างมาก แต่เพราะการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้หลายคนหลงลืมเสน่ห์ของเกมไป และตีค่าความล้ำหน้าเหล่านั้นไปในเชิงบวก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่เลยแม้แต่น้อย

การพัฒนานำมาซึ่งจุดสิ้นสุดที่เร็วกว่าเดิม ผู้เขียนรู้เพราะการ์ตูนญี่ปุ่นแนวใส ๆ ขายโอตาคุหื่น ๆ ที่ผู้เขียนอ่านมาเขาก็บอกแบบนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าข้อเท็จจริงข้อนี้จะส่งผลให้วงการเกมแตกดับไปในอีกซักวันเพราะความก้าวหน้า ความศรัทธาในตัวงาน Retro ของผู้เขียนจึงพุ่งขึ้นถึงขีดสุด ณ บัดนี้ผู้เขียนพร้อมแล้วที่จะกลายเป็น Retro Man ผู้เหยียดหยามเกมสมัยใหม่ทุกประเภทว่าเป็นเกมกาก และพร้อมที่จะบูชาเกมเก่าประดุจดั่งเทพเจ้า

วันนี้เราเลยหยิบสุดยอดผลงานชั้นเอกอุ ที่ดีงามราวกับอาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาลคนแรกของไทยสมัยสาว ๆ ก็ไม่ปาน นั่นก็คือ “Chrome Dino Run” มารีวิว เราแนะนำให้คุณอ่านให้จบ แล้วคุณจะรู้ว่าความสวยงาม ไม่จำเป็นต้องแสดงออกทางกายภาพ แต่มันอยู่ที่จิตใจต่างหาก

เนื้อเรื่องราวพระเจ้าสร้าง

หลายคนอาจจะคิดไปว่า Chrome Dino Run เป็นเกมอาร์เคดที่ไม่มีเนื้อเรื่อง ทั้งที่ในความเป็นจริง สุดยอดงานชิ้นนี้มีเนื้อเรื่องที่สลับซับซ้อนหลายขั้นตอนเป็นอย่างมาก มันเริ่มต้นด้วยการสร้างจุดเริ่มต้นของตัวเอง ด้วยการโทรบอกให้ค่ายอินเตอร์เน็ต แกล้งดับสัญญาณของผู้ใช้ เมื่อคุณถูกนำพาให้เข้าสู่ Chrome Dino Run ก็ถือว่าผ่านเนื้อหาแรกไปแล้ว เนื้อหาต่อจากนี้คือคุณที่นั่งกด Spacebar พาไดโนเสาร์ T-Rex หน้าโง่เดินทางไปอย่างไร้จุดหมาย เรียกได้ว่าเป็นบทเรียนดี ๆ ที่สอนคุณว่าคุณไม่มีทางชนะอะไรได้เลยทั้งชีวิตจริง และในเกม ทำได้เพียงแค่เก็บคะแนนชีวิตแล้วก็จางหายไปในสายลมเท่านั้น ถือว่าเป็นเนื้อเรื่องแนวจิตวิทยาที่ค่อนข้างรุนแรงมาก ๆ ทำให้เกมนี้ได้เรท R จากคณะกรรมการรายการประกวดร้องเพลง ไทย-ลูกทุ่งสากล แต่เกมไม่ได้ระบุเรทไว้เพราะต้องการหลอกให้คุณเข้ามาเล่น

Chrome Dino Run

งานภาพระดับมาสเตอร์พีซ

ถ้าคุณคิดว่างานภาพของ Chrome Dino Run ทำมาจากจุดพิกเซลไม่กี่จุด เราบอกเลยว่า คุณคิดผิด ! งานภาพของ Chrome Dino Run ประกอบมาจากศิลปะของอตอม ผ่านการใช้กลศาสตร์ควอนตัมแบบประยุกต์ ทำให้ในหนึ่งพิกเซลของตัวไดโนเสาร์ตัวนี้ คืออตอมจำนวนมากถึงขั้นไม่สามารถนับชิ้นได้ การนับอตอมทั้งหมดภายในเกมอาจใช้เวลาถึง 170 ล้านปีเลยทีเดียว สาเหตุที่ Chrome Dino Run เลือกใช้งานศิลปะจากฟิสิกส์แบบนี้ เพราะผู้สร้างต้องการส่งสัญญาณมาบอกเราว่า “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” เขาก็เลยสร้างงานที่คนทั่วไปคิดว่าไม่สามารถทำได้ขึ้นมา

นอกจากการสร้างงานที่ลึกล้ำ ปรัชญาของภาพก็สำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากกราฟิกในเกมเป็นแบบ Abstract (นามธรรม) ทำให้แต่ละคนตีความออกมาได้ไม่เหมือนกัน บ้างก็ว่าแฝงความเชื่อจากไบเบิ้ลเข้าไปอยู่ในเกม บ้างก็ว่าเล่าถึงประวัติศาสตร์การล่มสลายของอารยธรรมไดโนเสาร์ ถือเป็นงานศิลป์ที่มีคุณค่ามากเทียบเท่ากับภาพวาดโมนาลิซ่าได้เลยทีเดียว

ข้อมูลเพิ่มเติม : Art Director ของเกมนี้คือ อีธาน ฮันท์ หนุ่มผู้ชอบทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้เป็นชีวิตจิตใจ

Chrome Dino Run

เกมเพลย์สุขุม นุ่มลึก

Chrome Dino Run นำเสนอความง่ายในการเล่น คุณใช้ปุ่มเพียงแค่สองปุ่มเท่านั้นเพื่อควบคุม T-Rex ของคุณผ่านสิ่งกีดขวาง แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า ผู้สร้างได้ใส่ Symbolic ทางปรัชญาไว้ในเกม เขาต้องการจะบอกเราถึงวัฏจักรของชีวิต ที่ความจริงมีเพียงแค่การเกิดและการตาย เหมือนกับไดโนเสาร์ในเกม ที่คุณทำให้แค่กระโดดแล้วก็นั่งเท่านั้น ถือเป็นระบบการเล่นที่ผสานความเป็นรูปธรรมกับนามธรรมได้อย่างลงตัว เป็นคอนเทนท์ประเภท Less is more ที่เกมอื่น ๆ ควรนำไปใช้เป็นแบบอย่าง

Chrome Dino Run

เสียงประกอบจากสวรรค์

ถ้าคุณยอมรับว่าว็อล์ฟกัง อมาเดอุส โมทซาร์ท คืออัจฉริยะด้านดนตรีที่หาตัวจับยาก ผู้ประพันธ์ดนตรีของ Chrome Dino Run ก็น่าจะเป็นแบบนั้นเช่นกัน งานดนตรีชิ้นนี้ใช้หลัก Less is more เหมือนเกมเพลย์ คือสั้น ง่าย ให้อารมณ์ และได้ใจความสำคัญ ดนตรีที่ประพันธ์ไว้ของเกมนี้มีเพียง Track เดียวเท่านั้น และแทร็กที่ว่ากินเวลาไม่ถึง 0.1 วินาทีด้วยซ้ำ แต่เสียงที่ออกมานับว่าเป็นเสียงที่ใกล้เคียงกับเสียงสวรรค์มากที่สุด มันเป็นเสียงกระโดด “ดึ๋ง” ของไดโนเสาร์ T-Rex ที่ไม่น่าจะกระโดดได้ ทำให้งานชิ้นนี้คืองานที่ท้าทายอย่างมากในฐานะผู้ประพันธ์ดนตรี เนื่องจากเป็นการทำสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงให้เป็นจริงได้

ข้อมูลเพิ่มเติม : Music Director ของเกมนี้คือ อีธาน ฮันท์ หนุ่มผู้ชอบทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้เป็นชีวิตจิตใจ

Chrome Dino Run

SHARE

Nattapit Arsirawatvanit

มาร์ค - Senior Content Writer

Back to top