เกมแอ็คชันสวยใส กับความโหดระห่ำที่จะทำให้คุณหัวเราะไม่ได้ ร้องไห้ไม่ออก …
ยังคงพอจำกันได้เลาๆ ว่าในช่วงสองปีก่อนหน้า เคยมีปรากฏการณ์คลิปวิดีโอการเล่นเกมเกมหนึ่งที่ชื่อ ‘Mario Neko’ ที่แชร์ผ่านหน้า Facebook กันโดยถ้วนทั่ว ไม่ใช่เพราะมันมีกราฟิกที่สุดยอดหรือแปลกใหม่น่าสนใจอะไร หากแต่เป็นเพราะอารมณ์ของผู้ Casting ที่บรรยายอย่างปวดจิตถึงความโหดวิปริตซาดิสต์วิปลาสที่มาพร้อมกับความยากที่ประหนึ่งจะจงใจแกล้งคนเล่นให้สติขาดเป็นชิ้นๆ (และอาจจะต้องชื่นชมคนสร้างในแง่หนึ่งที่สามารถดักทางผู้เล่นได้ทุกดอกทุกเม็ดอยู่ไม่น้อย)
ก็อดจะนับถือ Lawbreaker คนเล่นและคนแคสติ้งไม่ได้จริงๆ … อดทนเล่นเข้าไปได้ยังไงไอ้เกมวิปลาสพรรค์นี้ – -“
แน่นอน การออกแบบของ Mario Neko นั้นไม่ได้เป็นอะไรนอกไปเสียจากความบันเทิงหงายเงิบกับความยากแบบ ‘ไม่แฟร์’ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นวงกว้าง (เรียกว่าเกมเถื่อนทำกันเองก็คงไม่ผิด…) และส่วนตัวก็ลงไปถึงข้อสรุปว่า คงไม่มีทีมพัฒนาเกมสติดีที่ไหนที่จะออกแบบเกมด้วยแนวคิดป่วยจิตแบบนี้แล้วเอามาวางขาย ไม่ว่าจะในตลาดหลัก หรือตลาดรองก็ตาม
หากแต่ในความเป็นจริง …
ผมคิดผิดเข้าอย่างจัง …
นั่นเพราะ Eryi’s Action เกมแอ็คชันแพลทฟอร์มสวยใสสไตล์อินดี้ จะไม่เพียงวางขายอย่างหรูหราหลังผ่านการโหวตโปรเจ็กต์ใน Steam Greenlight อย่างทรนงองอาจเท่านั้น แต่มันยังมาพร้อมกับแนวคิดการสร้างพื้นฐานที่จงใจจะแกล้งและถีบผู้เล่นชนิดหัวเราะไม่ได้ ร้องไห้ไม่ออก ด้วยสารพันอุปสรรคที่คัดสรรโดย Nyu Media ทีมพัฒนาที่กระหน่ำมาอย่างสุดซอยไร้ทางถอย ที่แม้จะไม่สามารถแนะนำให้ได้ในวงกว้าง แต่กับแนวทางที่แน่วแน่ชัดเจนในการ ‘กวนตีน’ ผู้เล่นแบบนี้ มันก็ชวนให้ถอนใจและเล่นต่อไปอย่างเสียไม่ได้ไม่น้อยเลย
//แตงโมที่รักกก//
มันเป็นวันฟ้าสว่างกระจ่างแจ้งที่สดใสวันหนึ่ง ที่ Eryi นางฟ้าตัวน้อยแห่งป่าใหญ่ (และหัวใจใฝ่ความ M…) มุ่งหมายจะใช้เวลาแสนสบายเพื่อหม่ำ ‘แตงโม’ อันชุ่มฉ่ำสุดอร่อยล้ำให้สมอยาก แต่แล้ว แตงโมที่ว่า ก็กลับอันตรธานหายไป (เหลือเป็นเส้นประแว้บๆ แบบการ์ตูนญี่ปุ่น…) พร้อมข้อความในจดหมายที่เหลือไว้ให้ดูต่างหน้า …
“แตงโมของเทอว์นี่มันน่าโดนเสียจริงๆ ดังนั้น ชั้นเลยเอาไปซะเลย รักนะจุ๊บๆ จาก Farta นางฟ้าคนสวย”
แน่นอนว่าจากที่รู้จักกันมาสักพัก (ใหญ่ๆ…) เธอรู้ว่า Farta ไม่ได้อยากกินแตงโมมากไปกว่าทำเพื่อยั่วโมโห Eryi เล่นไปวันๆ ดังนั้น เมื่อถูกหยามเช่นนี้ มีรึที่นางเอกจะยอมทนได้ เธอจึงสะบัดบ๊อบสวยใส โหมฟืนไฟแห่งความโกรธ ออกจากบ้านเพื่อไปทวงคืน ‘แตงโม’ ลูกอร่อยกลับคืนมา !!
(หมายเหตุ :: แตงโมในเกมนี้คือแตงโมจริงๆ ไม่ได้เป็นตัวแทนหรือสัญญะทางปรัชญาอะไรทั้งสิ้น จบนะ?)
//Dark Souls ยังต้องอาย//
แต่ช่างหัวแตงโมมันไปก่อน (หรือจะลืมๆ มันไปเลยก็ได้ ไม่ได้ทำให้คุณพลาดไฮไลท์อะไรทั้งสิ้น…) เพราะสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเกี่ยวกับเกมนี้ คือความไม่เข้ากันอย่างแรงระหว่างองค์ประกอบศิลป์ กับรูปแบบการเล่นโดยรวมของมัน …
ในเบื้องต้น Eryi’s Action นำเสนอด้วยสไตล์สวยใสไร้พิษภัย ด้วยกราฟิกแบบอนิเมะญี่ปุ่น ที่ให้อารมณ์แบบเดียวกับเกมแนว Platformer ในยุค 16 บิตที่น่าคิดถึง (อย่างเช่น Super Mario World) แน่นอนว่ามันเป็นการนำเสนอที่เรียบง่าย น่ารัก และสามารถเข้าถึงคนเล่นได้ทุกเพศทุกวัย และทำให้สเปคเครื่องที่ใช้ไม่ต้องสูงเสียดทะยานฟ้า ขอเพียงแค่มีการ์ดจอพอสมควรกับมอนิเตอร์สักอัน (มันก็แหงรึเปล่าน่ะ ?) ใครๆ ก็สามารถเปิดเกมนี้ขึ้นมาเล่นได้อย่างไม่ยากเย็น
อย่างไรก็ดี ไอ้ความสวยใสไร้มลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เห็น มันก็แทบจะไม่ต่างอะไรกับลูกกวาด ‘ยัดไส้พิษ’ เพราะไอ้ตัวละครน่ารักๆ กราฟิกสวยๆ เพลงประกอบเพลินๆ มันล้วนแล้วแต่แฝงด้วยอันตรายหลายระดับ และเทคนิคการสร้างฉากแต่ละจุดที่วางกับดักได้อย่างไร้ความปรานีในทุกที่ ทุกโอกาส เห็นทางโล่งๆ งั้นรึ ? พรวด ศัตรูโผล่มาชน เจอเหวง่ายๆ กระโดดข้ามไม่ยากอย่างงั้นรึ ? เจอบล็อกล่องหนส่งไปลงหลุม เจอภูติสาวแสนสวย เหยียบหน่อยมั้ย ? โดนเธอจับเหวี่ยงไปลงหนาม และอีกสารพันที่ค่อนข้างชัดเจนในเจตนาที่จะ ‘แกล้งยั่ว’ และ ‘กวนตีน’ กันแบบหน้าใสๆ (และไม่ต้องห่วงครับ เกมนี้ให้คุณเล่นต่อไปเรื่อยๆ ได้ ต่อให้เครดิตมันติดลบถึงหลักร้อยแล้วก็ตามทีเถอะ…) ที่รับประกันได้ว่าคุณจะตายแล้วตายอีก ตายซ้ำตายซาก แม้แต่ฉากแผนที่ก็ฆ่าคุณได้ (แถมตัวเกมเวอร์ชัน Steam ก็มี Achievement รองรับการตายไว้อีกมากมาย ปรารถนาแค่ไหนก็ลองคิดดู…)
กระนั้น ก็เช่นเดียวกับเกมมหาโหดสไตล์ Roguelike ที่กลายเป็นความนิยมในตลาดอินดี้ การฝ่าฟันความยากแบบวายป่วงไปจนถึงปลายทาง ก็ให้คุณค่าและความรู้สึกถึงความสำเร็จอยู่ไม่น้อย รวมถึงบรรดาปริศนาและการสู้กับบอสซึ่งต้องชมว่าทีมพัฒนาสามารถกลั่นออกมาได้ค่อนข้างดีและชวนลุ้นพอสมควร
//พอเหอะ กุขอ…//
กระนั้นแล้ว อย่างที่แจ้งแถลงไปก่อนหน้า เกมนี้คือชิ้นงานที่ถูกออกแบบมาเพื่อการทำความสะอาดสัมปะชัญญะผู้เล่นจนราบเรียบ และปั่นความอดทนจนเกลี้ยงเกลา หลายปริศนา หลายกับดัก มันโหดหินและ ‘ลงโทษ’ จนเกินกว่าเหตุ เรียกว่าไม่เห็นเหตุผลใดๆ ในการคงอยู่ของรูปแบบดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งของรางวัลจากความสำเร็จก็ไม่ได้ชัดเจนจนถึงขั้นคุ้มค่ากับสติที่ถูกปั่นจนยุ่ยเป็นผุยผงขนาดนั้น (เข้าทำนอง ‘So What!?’) รวมถึงการควบคุมที่น่าจะหาจอยแพดสักอันแล้วลืมคีย์บอร์ดไปได้เลยถ้าคุณไม่อยากให้เกมนี้กลายเป็น Super Hard Mode กันไปเสียก่อน
//เล่นต่อก็ได้วะ…//
ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ผมจะเล่นไปถึงแค่ประมาณฉากที่สาม อีกทั้งตายวางวายจนเครดิตติดลบร้อย สบถคำด่ายอดนิยมตามวงเหล้าแทบจะทุกโมเมนต์ที่ไม่คาดฝัน (ที่ผมเองก็ขี้เกียจจะไปนับแล้วว่ามีทั้งหมดกี่ครั้ง แต่ที่แน่ๆ คำว่า ‘here’ นี่หลุดบ่อยสุดละ…) รวมถึงขบฟันกรอดๆ อยากจะลบเกมทิ้ง ขว้างจอย และส่งไอ้เกมนรกสาปนี่ไปให้พ้นๆ จากชีวิต แต่สุดท้าย…มันก็มีแรงดึงดูดให้กลับมาเล่นใหม่ทุกที …
อันที่จริง ใช่ว่าตัวผมเองจะเป็นนักเล่นพันธุ์ซาดิสต์ชอบความโหดวิปริตเป็นนิจศีล (แม้ว่า Dark Souls จะเป็นความระห่ำโหดที่โปรดเหลือหลาย…) แต่กับการออกแบบที่เข้าข่ายกลั่นแกล้งผู้เล่นด้วยความยากแบบจงใจหาเรื่องจนเกือบถึงจุดระเบิดของ Eryi’s Action ที่แตกต่างจากความท้าทายอย่างมีตรรกะของเกมแนว Roguelike อื่นๆ มันก็ทำให้ผมรู้สึกแบบทั้งรักทั้งเกลียดไปในคราวเดียวกัน ไม่อยากจะเล่นให้เสียจิต แต่ก็อยากพิชิตให้ไปถึงปลายทาง กลั้นใจเอากันสักตั้ง แต่จะสำเร็จตอนไหน ไม่รู้ คงอีกนาน เรียกว่าทีมพัฒนาเล็กๆ กลุ่มนี้เชี่ยวชาญในวิธีการปั่นหัวและยั่วล้อแวดวงเกมยุคใหม่ได้แสบไส้เหลือจะกล่าว (อ้อ ผมบอกไปรึยังครับ ว่าทีม Nyu Media ผู้พัฒนาเกมนี้ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นคนสร้างไอ้เกม Mario Neko สุดวางวายวังเว่อร์เกมนั้นนั่นแหละ…)
กล่าวโดยสรุป แม้จะชัดเจนว่าเกมนี้ไม่เหมาอย่างยิ่งสำหรับผู้มีความอดทนต่ำ และไม่อยากพบความระทมมาแผ้วพานชีวิตการเล่น (ที่ออกจะปกติสุขดี) ให้แหลกสลายหายไป แต่ลึกๆ แล้ว ภายใต้ความโหดระห่ำและขี้แกล้ง มันก็เป็นไปด้วยเจตนาที่น่ารักบางอย่าง ที่ผู้พัฒนาพยายามจะสื่อไปถึงผู้เล่น และแวดวง ว่าชิ้นงานนี้อาจจะไม่ใช่อื่นใด นอกจากการเรียกร้องให้ทุกคนกลับมา ‘ใส่ใจ’ กับการเล่นให้มากขึ้น ให้คุณค่าและความทุ่มเทมากขึ้น แม้มันจะมาในสไตล์ตบหัวและลูบหลังอย่างเมามันส์ขนาดนี้ก็ตามทีนั่นล่ะครับ
Final Verdict
-ข้อดี :: กราฟิกสวยใสไม่กินสเปค , องค์ประกอบศิลป์น่ารัก , การผสานช่วงแก้ปริศนาและฉากสู้บอสที่เข้าใจคิดดี
-ข้อเสีย :: โหดระห่ำติดเพดานบิน และยากแบบไม่แฟร์และไม่แคร์เวิร์ลอะไรทั้งสิ้น , การควบคุมด้วยคีย์บอร์ดเข้าข่ายหายนะ
-สรุป :: ด้วยการประกอบสร้างอันบ้าบออย่างพิสดาร และราคาที่ไม่แพงนัก Eryi’s Action เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักเล่นจอมซาดิสต์ , ผู้ชอบความท้าทาย และเกมเมอร์ผู้มีนิสัยกวนตีนเป็นนิจศีล