หลังจากห่างหายไปนาน 5 ปีสำหรับซีรีส์เกมแข่งรถสุดเร้าใจอย่าง Race Driver: GRID ในที่สุด เกม GRID ก็กลับมาอีกครั้งในเวอร์ชั่น 2019 หรือภาค Reboot หลังจากทีมพัฒนา Codemasters มุ่งสร้างเกม DiRT4, DiRT Rally 2.0 และซีรีส์ F1 จนเกมเมอร์ขาซิ่งหลายคิดว่า GRID โดนทอดทิ้งไปแล้วซะอีก
แน่นอนว่าทีม Codemasters มีประสบการณ์ด้านสร้างเกมแข่งรถมานานสองทศวรรษ และเกมดังกล่าวเป็นเกมที่ผู้เล่นขาซิ่งหลายคนรอคอย เหล่าเกมเมอร์ (รวมถึงผู้เขียน) จึงตั้งมาตรฐาน และคาดหวังกับเกมนี้สูงมาก แล้วการกลับมาของ GRID ภาคนี้จะเหมาะสมต่อการรอคอย 5 ปีหรือไม่ ? เรามาพบคำตอบกับบทความรีวิว GRID 2019 กันเลยครับ !
Career Mode
เกม GRID 2019 (จากนี้ไปจะเรียกว่า “GRID”) ไม่มีโหมดเนื้อเรื่อง แต่เป็น Career Mode ที่เกมเมอร์ต้องไต่เต้า กลายเป็นแชมป์รายการแข่งขัน Showdown ของรถแต่ละคลาส และคว้าถ้วยรางวัล GRID World Series มาให้จงได้ ซึ่งเป็นโหมดเกมที่นำเสนอคล้ายเกมแข่งรถอื่น ๆ ทั่วไป มันไม่ได้มีเอกลักษณ์พิเศษอะไร แต่ก็เข้าถึงง่ายมาก ๆ เช่นกัน
ช่วงเริ่มต้นของ Career Mode ผู้เล่นสามารถเลือกเล่นประเภทการแข่งขันแบบไหนก็ได้ระหว่าง Touring, Stock, Tuner, GT, Fernando Alonso (แคมเปญสู้กับนักแข่งรถ Formula One ชื่อดัง) และ Invitational จากนั้นก็ซื้อรถแล้วเริ่มแข่งขันทันที โดยแต่ละอีเว้นท์จะมีความยาวในการเล่นต่างกัน บางอีเว้นท์อาจแข่งสนามเดียว บางอีเว้นท์อาจแข่งนานถึง 3 สนาม
แล้วหากผู้เล่นชนะการแข่งขันโดยมีคะแนนทัวน์นาเมนต์สะสมรวมเป็นอันดับสามขึ้นไปหรือตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ผู้เล่นจะได้รับเงินรางวัล ค่าประสบการณ์ระหว่างการแข่งขัน อย่างเช่นการดริฟต์ การแซงคู่แข่งโดยไม่ชน ขับจี้หลังในระยะห่างที่เหมาะสม ฯลฯ และปลดล็อกอีเว้นท์การแข่งขันต่อไปเรียงลำดับแนวนอนต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงอีเว้นท์ปลายทางอย่าง Showdown ที่ต้องปะทะกับทีม Ravenwest ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นทีมคู่ปรับตลอดกาลที่มักปรากฏตัวเป็น “บอส” ของ GRID ทุกภาค และสะสมถ้วยรางวัลจากการแข่งขันจนได้เข้าแข่งขัน GRID World Series
รายชื่อรถ ณ ตอนนี้ มีจำนวน 69 คัน ซึ่งจัดว่ามีปริมาณพอดี โดยมีตั้งแต่รถญี่ปุ่น, รถอเมริกัน, คูเป้, ซูเปอร์คาร์, ไฮเปอร์คาร์, รถคลาสสิก, F1, F1000 และรถมีการแยกระบบขับเคลื่อนเป็นล้อหน้า ล้อหลัง สี่ล้อ ซึ่งมีลักษณะการควบคุมรถแตกต่างกัน พร้อมแสดงสมรรถภาพรถเป็นหลอดแสดงว่ามีแรงม้า กับน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าหากเกมเมอร์มีความรู้เรื่องรถยนต์ระดับเบื้องต้น ก็สามารถเข้าใจวิธีการเลือกซื้อรถได้ไม่ยาก
ระบบจ้างนักแข่งจาก Race Driver: GRID กลับมาอีกครั้งในภาคนี้ นักแข่งทุกคนมีความถนัดแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ประเภทของการแข่งขัน, ทักษะการแข่งขันโดยรวม, การเชื่อฟังคำสั่ง, การบุกทะลวง และการป้องกัน โดยคู่หูนักแข่งยิ่งมีทักษะเก่งกาจมากเท่าไหร่ เลเวลของเกมเมอร์ก็จะยิ่งต้องการเยอะเพื่อปลดล็อกนักแข่ง รวมถึงค่าจ้างกับส่วนแบ่งจากเงินรางวัลเงินแข่งขันก็แพงขึ้นตามมา
ถ้าให้บอกว่าระบบ Career Mode คล้าย Race Driver: GRID ตามที่แฟน ๆ คาดหวังก็คงไม่ถูกต้องมากนัก
เพราะคอนเทนต์เด่นหลายอย่างจาก GRID ภาคเก่า อย่างโหมด Drift, Overtake, Destruction Derby, Endurance, Elimination และ Checkpoint ไม่มีให้เล่นในเกมภาคนี้ เหลือแต่ GT Race, Time Attack กับ Hot Lap ซึ่งก็คือการแข่งแบบ Qualifying Race (แข่งขันทำเวลาต่อรอบให้เร็วที่สุด เพื่อเอาอันดับเริ่มต้นในวันแข่งจริง) เท่านั้น หรือหมายความว่าเกมโหมดของภาคนี้ มีน้อยมากหากเทียบกับมาตรฐานเกมแข่งรถเกมอื่น ๆ และแน่นอนอีเว้นท์ภายใน Career Mode ทั้งหมด เป็นแข่งรถเพียว ๆ ไม่มีโหมดอื่นเพิ่มเติมอะไรอีกเลย
นอกจากนี้ ระบบสปอนเซอร์ก็ถูกทดแทนหน้าเป็น Objectives อย่างเดียวแล้ว และของรางวัลที่เป็นเงินในภาคก่อน สำหรับภาคนี้เปลี่ยนเป็นสติกเกอร์ไว้ใช้ตกแต่งหน้า Player Profile อวดเพื่อน ๆ แทน ซึ่งต้องบอกตามตรงว่าระบบของรางวัล อาจจะไม่ดึงดูดเหมือนภาคเก่าสำหรับสายตาเกมเมอร์บางคน ซึ่งรวมถึงผู้เขียนที่ชื่นชอบระบบสปอนเซอร์มากกว่า Objectives
และสนามแข่งมีเพียง 13 สนาม (รวม 80 Layout) ทั้งสนามแข่งจากชีวิตจริงกับสมมุติ ซึ่งปริมาณของสนามแข่งยังน้อยกว่าเกมแข่งรถทั่วไป ถึงแม้รูปแบบสนามแข่งมีให้เล่นเยอะ 80 Layout แต่ก็ยังคงแข่งขันในสถานที่ที่เดิม ทำให้การเล่นเกมระยะยาว อาจเกิดความเบื่อหน่ายขึ้น เนื่องจากผู้เล่นต้องพบกับบรรยากาศเดิม ๆ แล้วผสมโรงด้วยโหมดการเล่นน้อยนิดเดียว ทำให้ Career Mode เกิดความซ้ำซาก และไร้เป้าหมาย ซึ่งเป็นข้อเสียอย่างรุนแรงของเกม GRID ที่ยากที่จะมองข้าม
Gameplay
แม้คอนเทนต์จะน้อยนิด แต่เกมเพลย์ของ GRID ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตัวเอง ด้วยระบบการควบคุมรถแบบซิมเคด (กึ่งสมจริงกึ่งอาร์เคด) ที่เน้นขับสนุก ดริฟต์ง่ายเพียงแตะเบรกมือ แต่ตัวเกมยังคงมีองค์ประกอบแนวสมจริง อย่างระบบความเสียหายของรถยนต์ การเบรกเข้าจังหวะเลี้ยว และอื่น ๆ จึงทำให้เกมการเล่นเหมาะสำหรับคนที่เคยมีประสบการณ์เล่นเกมขับรถมาก่อน
สำหรับคนเพิ่งหัดเล่นเกมแข่งรถก็สามารถสนุกสนานกับเกมนี้ได้ด้วยระบบ Flashback ที่หากเกมเมอร์เลี้ยวพลาดออกนอกสนาม หรือชนจนรถยนต์เสียหายหนัก ผู้เล่นสามารถกดปุ่มเพื่อย้อนอดีตกลับไปแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดอีกครั้ง พร้อมระบบตั้งค่า Assist ที่สามารถเปิด/ปิดระบบต่าง ๆ และมีระดับความยากให้เลือกตั้งแต่ Easy, Normal, Hard กับ Very Hard ซึ่งจะเลือกเล่นแบบไหน ก็แล้วแต่สไตล์การเล่นเกมของแต่ละคน
แต่อย่างไรก็ตาม GRID ก็ไม่ใช่เป็นเกมเล่นง่าย เพราะระบบ A.I ที่ผ่านการออกแบบมาอย่างดี ทำให้เกมเมอร์หลายคนต้องรู้สึกหืดขึ้นคอเพราะ A.I. มาแล้วหลายราย เนื่องจากความฉลาดของ A.I. มีการตอบสนองจากผู้เล่นอย่างเห็นได้ชัดจนคาดเดานิสัยยาก
ยกตัวอย่าง ถ้าหาก A.I. กำลังนำหน้าผู้เล่นอยู่ พวกมันจะหาทางป้องกันไม่ให้คุณแซงหน้าด้วยการเลี้ยวบังเลน หรือพยายามบีบเลน และบางครั้ง A.I. จะเข้าตีแซงหน้าทันทีเมื่อมีโอกาส เช่นการเลี้ยวพลาดจนทำความเร็วช้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาคนี้เป็นภาคแรกที่นำเสนอระบบ Nemesis หรือ “ศัตรู” ถ้าหากเกมเมอร์ตั้งใจขับรถชน หรือพยายามบีบความตึงเครียดกับคู่แข่งบ่อยครั้ง คู่แข่งจะกลายเป็น Nemesis ต่อผู้เล่น และพฤติกรรมของ A.I. จะก้าวร้าวมากเกินขึ้น ตั้งแต่พยายามบีบหรือตั้งใจชน เพื่อให้ผู้เล่นขับรถออกนอกสนาม หรือเกิดอุบัติเหตุ และเริ่มเร่งความเร็วเพื่อแซงหน้าคุณให้ได้ ก็ต้องบอกเลยว่าหากผู้เล่นทำศัตรูเยอะเท่าไหร่ บรรยากาศเกมก็ยิ่งเพิ่มความตึงอีกหลายเท่า
แต่น่าเสียดายที่ระบบเกมการเล่นสนุกสนาน กับระบบ A.I. ออกแบบได้ฉลาดท้าทาย ก็ไม่ช่วยให้ Career Mode ลดความซ้ำซาก หรือมีความน่าตื่นเต้นมากขึ้น เพราะโหมดการแข่งขัน และสนามแข่งมีจำนวนน้อย รวมถึง Career Mode ที่ออกแบบธรรมดาจืดชืดเกินไปเหมือนที่กล่าวไว้ข้างต้น
ผู้เขียนต้องบอกเลยว่าเพียงเล่นเกม GRID ประมาณ 6 ชั่วโมงเต็ม ๆ ก็เริ่มมีอาการเบื่อเกม และไม่มีแรงจูงใจอยากเล่นต่อ ซึ่งขัดกับบรรยากาศช่วง 1-2 ชั่วโมงแรกที่ยังรู้สึกสนุกสนานตื่นเต้น
Graphic/Performance
กราฟิกโดยรวมของ GRID จัดว่าเป็นเกมที่มีภาพสวยมากอีกเกมหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพแสงเงา, วิชวลเอฟเฟกต์, ร่องรอยการผุพังของรถยนต์ และมีรายละเอียดฉากหลังที่เยอะ ทำให้เกมมีบรรยากาศสวยงาม น่าตื่นเต้น (โดยเฉพาะฉากกลางคืน หรือฝนตก) ราวกับว่าฉากหลังกำลังเคลื่อนไหวตลอดเวลา
และหลังจากเล่นเกมประมาณ 3 ชั่วโมงก็ยังไม่พบบั๊ก หรือปัญหาด้านประสิทธิภาพเช่นกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า GRID เป็นเกมที่กินสเปกมากสำหรับเกมแข่งรถ ไม่ใช่แนวเปิดโลกกว้าง (สเปกขั้นแนะนำต้องการ Intel i5-8600k / AMD Ryzen 5 2600x, Nvidia GTX 1080 / RX590) ทั้ง ๆ ที่เกมก็ไม่ได้มีการประมวลกราฟิกแบบบ้าพลัง จนต้องใช้การ์ดจอรุ่นสูงเฉียดระดับ High-End
เพราะฉะนั้นก่อนซื้อเกม ก็แนะนำควรสอดส่องสเปก PC ของตัวเองก่อนการตัดสินใจ เพราะหากเล่นเกมแข่งรถในเฟรมเรต 30 FPS หรือมีอาการ FPS ตกแกว่งตลอดเวลาก็คงจะน่าหงุดหงิดไม่ใช่น้อยเลย
สรุป
แม้ GRID จะเป็นภาคต่อเกมแข่งรถซิมเคดที่เล่นสนุก เมามัน และคงรักษาเอกลักษณ์ซีรีส์ในด้านระบบการขับรถ และความฉลาดของ A.I. แต่ความสนุกสนานกลับกลายเป็นความซ้ำซาก เพราะปริมาณคอนเทนต์น้อยมาก กับ Career Mode ที่ออกแบบเรียบง่ายจนธรรมดาจนตกยุคสำหรับเกมแข่งรถในยุคนี้
สำหรับผู้เขียน ก็ต้องบอกเลยว่าแอบรู้สึกผิดหวังต่อเกมไม่ใช่น้อยเลย เพราะคุณภาพเกมโดยรวมไม่ค่อยสมกับการรอคอย 5 ปีสักเท่าไหร่นัก แต่หากท่านสนใจเกมแข่งรถเน้นความเมามัน และความท้าทายเป็นหลัก เกม GRID สามารถตอบโจทย์คุณแน่นอน มันเป็นเกมดีเลยละ แต่นี่อาจไม่ใช่เกม GRID ที่แฟน ๆ ทุกคนคาดหวังตั้งแต่แรกว่าต้องเป็นเกมดีเยี่ยมเหมือน Race Driver: GRID
ข้อดี
- ระบบการขับรถแบบกึ่งอาร์เคดกึ่งสมจริง ทำได้สนุกสนานและขับมัน
- กราฟิก วิชวลเอฟเฟกต์ กับฉากหลังสวยงาม
- A.I. ฉลาด คาดเดานิสัยยาก และท้าทาย
ข้อเสีย
- โหมดเกมน้อยมาก เทียบกับ GRID ภาคเก่าทุกภาค
- การเล่น Career Mode ซ้ำซากหลังเล่นจากเล่นเป็นเวลานาน
- (สำหรับ PC) เกมค่อนข้างกินสเปกเกินความจำเป็น