เมื่อนายบ้าเกมขออาสาพาเที่ยวทริปประวัติศาสตร์สุดมันส์ ในคืนวันแห่ง … ‘วิดีโอเกมส์’
ผมยังคงจดจำกันได้ดี ในสมัยข้ามผ่านวัยจากเด็กหัวเกรียนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก กับการตัดสินใจเลือกเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ด้วยเหตุผลสุดคลาสสิคแบบที่หลายคนน่าจะเคยคิดหรือรู้สึกกันมาบ้าง ง่ายๆ ครับไม่ซับซ้อน … “อยากเป็นนักสร้างเกม”
ใช่แล้วครับ แค่อยากสร้างเกมส์ อยากเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมที่ใช้เวลาอยู่กับมันและผูกพันกันอย่างยาวนาน ที่ๆ ความรักความชื่นชอบของเราจะมีคนเห็นความสำคัญและได้รับการให้คุณค่า แม้จะไม่ได้มีความรู้หรือความเข้าใจสักกระผีกเลยว่าคณะและภาควิชาดังกล่าวนี้ มันเรียนเกี่ยวกับอะไร จบการศึกษาไปแล้วจะทำมาหารับประทานทางแมวที่ไหน แม้แต่คะแนนสอบวิชาสำคัญเช่นคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี กับชีวะที่ยื่นเข้าสมัครไป ก็ต่ำเตี้ยเรี่ยผิวดินซะจนคณาจารย์ที่สอบสัมภาษณ์ยังออกปากทักท้วงด้วยความห่วงใย (ติดคณะวิทยาศาสตร์ด้วยคะแนนวิชาภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ มันก็น่าอยู่หรอก…)
มาในวันนี้ ที่ชีวิตของผมได้หักเหแบบกลับหัวกลับหางเดินทางสายใหม่กับวิชาชีพ ‘งานเขียน’ เป็นเวลาเกือบจะสิบปี (และคงไม่ต้องถามต่อใช่มั้ยครับว่าชีวิตในภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ของผมมันจบลงแบบไหน?) และวนเวียนกับอุตสาหกรรมวิดีโอเกมส์ในฐานะ ‘ผู้เล่น’ , ‘ผู้วิจารณ์’ และ ‘ผู้สังเกตการณ์’ มาโดยตลอด แต่ในส่วนลึกของจิตใจก็ยังแอบคิดและมโนไปบ้างว่ามันจะเป็นอย่างไร ถ้าเราได้กระโดดเข้าไปอยู่ในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานเหล่านั้นอย่างจริงจังสักครั้ง ได้สร้างความตื่นตะลึง ทำให้ผู้เล่นได้ทึ่ง และกล่าวขานผลงานของเราไปอีกนับเดือน นับปี
และทั้งหมดนี้ คือสาเหตุที่ทำให้ Game Dev Tycoon จาก Greenheart Games นั้นโดนใจผมเป็นพิเศษ
แม้จะไม่สามารถกล่าวได้เต็มปากว่า นี่คือเกมที่สมบูรณ์แบบ หรือ ‘ยอดเยี่ยม’ ในมาตรฐานทั่วไปก็ตาม …
“เราเริ่มต้นกันอย่างง่ายๆ ด้วยพีซีหนึ่งเครื่องในโรงจอดรถ…”
Game Dev Tycoon (ชื่อย่อ :: GDT) นี้ คือเกมที่จะพาผู้เล่นสู่การเดินทางอันแสนตระการตาในฐานะ ‘นักพัฒนาเกม’ ที่ก้าวจากดินสู่ดาว จากสตูดิโอโรงจอดรถ พีซีเก่าเก็บ และทำเกมเป็นงานอดิเรก สู่ความเป็นสตูดิโอขนาดยักษ์ที่สร้างชิ้นงานระดับ Next-Gen ที่จะถูกกล่าวถึงในวงกว้าง สร้างกระแสความคลั่งไคล้เล่นแบบลืมวันลืมคืนและลืมตาย ที่ที่ความสร้างสรรค์อย่างมากมายได้ก่อกำเนิดขึ้นในตลอดระยะทางสามสิบห้าปีแห่งแวดวงวิดีโอเกมส์
“พูดถึงเกมแอ็คชันเมื่อใด กราฟิกคือหัวใจสำคัญ!”
แม้ว่าการพัฒนาเกมในโลกความเป็นจริงคือศาสตร์ที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยความละเอียดอ่อน แต่โชคดีที่ GDT นั้นยังคงหัวใจความเป็น Casual Simulation ไว้ได้อย่างดี เพราะทั้งกราฟิกสีสันสดสวย เพลงประกอบนุ้งนิ้งน่ารัก จนถึงอินเตอร์เฟสที่เรียบง่ายใช้งานสบายไม่ยุ่งยาก
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงชั้นผิวของสิ่งที่เกมนี้พร้อมใจนำเสนอ เพราะการจัดสรรทุกอย่างใน GDT นั้นสร้างผลสืบเนื่องที่ชัดเจนต่อคุณภาพของชิ้นงานในท้ายที่สุด ทั้งการเลือกปรับใช้ Slider จัดสรรเวลาการพัฒนาแบบใดจึงจะเหมาะ แนวเกมและธีมหลักแบบใดที่สามารถเข้ากันได้ดี (คงไม่มีใครอุตริเอาเกมแนว Transport กับ RPG มายัดรวมกันแน่…) ทีมงานคนไหนควรจะรับผิดชอบส่วนใด ระบบหรือแพลทฟอร์มใดที่เหมาะสมกับเกมที่จะสร้าง (ตั้งแต่ Govandore 64 ยัน mBox One และ Playsystem 4…) กลุ่มตลาดแบบไหนที่เหมาะสมกับแนวเกม (‘rate “M” for Mature…) ค่า ratio ด้านการออกแบบและเทคโนโลยีที่สัมพันธ์กับปริมาณบั๊กส์ที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิต การพัฒนาเอนจิ้นใหม่ จนถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การพัฒนาเครื่องเล่นคอนโซลของตนเอง (‘นี่คือวิธีการแชร์เกมของคุณด้วยเครื่องคอนโซลของเรา’ ฮา…) การสร้างระบบ Digital Distribution แบบ In-House (Gaben Time!) กำหนดการวางจำหน่าย การออกบูธงานอีเวนท์ประจำปี และคะแนนรีวิวที่ส่งผลต่อยอดขาย แต่อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า ว่าอินเตอร์เฟสของตัวเกมที่ใช้งานง่ายจะทำให้เรื่องราวทั้งหลายนั้นไม่ซับซ้อน และใช้เวลาเพียงไม่นานผู้เล่นก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ในแทบจะทันที
จากที่กล่าวไป ถ้าวัดกันในแง่ของการออกแบบตัวเกม (หมายถึง ตัวเกม Game Dev Tycoon จริงๆ…) แล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นส่วนที่น่าชื่นชม เพราะการผสมผสานระหว่างบรรยากาศที่แสนจะดูเป็น Casual Games เข้ากับการเล่นที่มีมิติ ไม่ตื้นเขินจนเกินไป และมี Elements ของการวางแผนที่ต้องใช้ฝีมือบ้าง ก็เรียกว่าเป็นความลงตัวที่หาได้ยากยิ่ง และทางทีมพัฒนาก็สามารถเกลี่ยส่วนต่างๆ ได้ดีจนกลายเป็นงานเกมที่เรียนรู้สบาย แต่ก็ไม่ง่ายที่จะเชี่ยวชาญชำนาญในเร็ววัน เมื่อบวกรวมกับฟังก์ชันช่วยเหลือที่ได้รับการต่อยอดจากเวอร์ชันก่อนหน้าเมื่อหลายเดือนก่อนด้วยแล้ว ยิ่งทำให้การเล่นมีความสะดวกและเพิ่มมิติใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น
“เราสัญญาว่าจะออกแพตช์ตามมาในทันทีที่ทำได้”
อย่างไรก็ตาม GDT ก็ยังคงชัดเจนในความเป็น ‘เกมอินดี้ทุนต่ำ’ ซึ่งมีอยู่หลายต่อหลายองค์ประกอบทีเดียวที่ยังขาดการขัดเกลาและกลั่นจนเต็มศักยภาพ ไม่ว่าจะในแง่เทคนิค (เช่น อาการกระตุกเมื่อดำเนินเกมไปในช่วงปีท้ายๆ) การขาดไร้ซึ่งเนื้อหาหลังจากที่เกมครบรอบเวลาการเล่น ซึ่งทำให้เกมนี้ทวีความซ้ำซากไปได้อย่างรวดเร็ว การพัฒนาและวิจัยที่ยังดูตื้นเขินบ้างในบางระดับ ระบบการให้คะแนนรีวิวและการสร้างชิ้นงานในเกมนี้ที่ยังอิงกับสถิติเบื้องหลังที่ถูกซ่อนเอาไว้มากจนเกินความพอดี (ถึงขนาดมีเว็บไซต์ Wiki ที่เฉลยสูตรคำนวณการให้คะแนน การสร้างเกมที่ดี และมาตรฐานที่เหมาะสม ที่ดูจะซับซ้อนผิดจากโฉมหน้าอันสวยใสสุด Casual ของมัน) จนถึงรายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างที่ยังสามารถเติมเต็มลงไปได้อีกมาก (เช่น บริษัทคู่แข่ง ประเด็นทางสังคม การให้รางวัลเกมยอดเยี่ยมประจำปี หรือระบบการตลาดแบบ DRM-Centric ปะทะการตลาดแบบปล่อยเสรีและ DLC Model ที่น่าจะสร้างสีสันกันได้บ้าง) และแม้ว่าทางทีมพัฒนาจะชัดเจนว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากเกมอย่าง Game Dev Story บนระบบ mobile ของค่าย Kairosoft แต่การที่พวกเขาจะเดินตามมาอย่างชัดเจนเกือบทุกกระเบียดนิ้วเช่นนี้ก็เป็นจุดเสียที่ยากจะมองข้ามหรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น
สามทศวรรษแห่งความสร้างสรรค์
แต่พูดก็พูดเถอะ ถึงแม้จะรจนาสาธกข้อเสียของมันชนิดที่ยาวเป็นหางว่าว (และก็ยังยืนยันดังเช่นที่กล่าวไป) แต่หลายสิ่งหลายอย่างในตลอดเวลาที่เล่นนั้นก็ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะอมยิ้มจนแก้มปริ และหัวเราะอย่างเพลิดเพลินใจทุกครั้งหลังจากที่ทีมของผม (ในเกม) ได้เข็นชิ้นงานใหม่ออกสู่ตลาด เห็นคะแนนรีวิวมากมายแบบเทกระจาด เห็นยอดขายพุ่งขึ้นแบบน้ำไหล
และได้มีส่วนร่วมอย่างพร้อมใจ กับสามทศวรรษที่ผ่านไปแห่งแวดวงวิดีโอเกมส์
แม้มันจะเป็นไปในแบบทางอ้อม เช่นการเล่น Game Dev Tycoon เกมนี้ก็ตาม …
กล่าวโดยสรุป Game Dev Tycoon “ไม่ใช่” เกม Simulation จำลองอุตสาหกรรมวิดีโอเกมส์ที่ละเอียดยิบทุกกระเบียดนิ้ว และไม่ทำให้ผู้เล่นได้ Know-How สำหรับออกไปสู้รบปรบมือกับใคร หากแต่การประกอบสร้างของปัจจัยอันหลากหลายในตัวเกมทั้งกราฟิก เพลง ระบบการเล่น จนถึงมุขตลกและรายละเอียดปลีกย่อยที่กระจายเกลื่อนกลาดมากมายในระดับรู้ลึกรู้จริง ก็ทำหน้าที่เป็น ‘จดหมายเหตุ’ ของเหตุการณ์ที่ผ่านพ้น เป็นบันทึก เป็นข้อความฝากให้ของผู้ที่คลั่งไคล้ในแวดวง เป็นความพยายามที่จะ ‘อุทิศ’ ให้กับประวัติศาสตร์สามทศวรรษที่จะก้าวต่อไป ที่อาจจะได้ส่งมอบ ‘แรงบันดาลใจ’ สู่คนรุ่นหลังที่จะก้าวเข้ามา
เพราะแม้จะไม่ได้มีอะไรที่แปลกใหม่ล้ำสมัย แต่ดูเหมือนว่า Greenheart Games ผู้พัฒนาจะสามารถจับสูตรสำเร็จบางอย่างได้ถูกต้องและชัดเจนยิ่ง …
“เพราะสำหรับความทรงจำที่งดงามตราตรึงแห่งโลกวิดีโอเกมส์นั้น หลายครั้ง คุณค่าของมันก็ยากที่จะประเมินได้จริงๆครับ”
**ข้อดี**
-กราฟิก งานศิลป์ อินเตอร์เฟส จนถึงเพลงประกอบเรียบง่ายสวยงามและน่ารัก
-ระบบการเล่นพื้นฐานเข้าใจได้ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน
-รายละเอียดปลีกย่อยที่โดนใจนักเล่นและผู้ติดตามแวดวงวิดีโอเกมส์
-ราคาไม่แพง
**ข้อเสีย**
-เกมการเล่นช่วงหลังที่อิงกับค่าสถิติเบื้องหลังมากจนเกินความจำเป็น
-ไม่มีเนื้อหาหลังจบช่วงระยะเวลา และทวีความซ้ำซากอย่างรวดเร็ว คุณค่าในการนำกลับมาเล่นซ้ำน้อย
-ปัญหาทางเทคนิคประปราย
-ยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่ยังกลั่นไม่สุดและเพิ่มเติมได้อีกมาก
**สรุป**
ถึงจะไม่ใช่เกมที่ดีที่สุด แต่องค์ประกอบที่ลงตัว บวกการเล่นที่ง่ายและติดพันก็มีคุณค่ามากพอที่จะลองออกเดินทางใน ‘ทริปประวัติศาสตร์’ แห่งโลกวิดีโอเกมส์ครั้งนี้ไปด้วยกัน
คะแนนรวม :: 7.5/10