BY Nuttawut Apiratwarakul
21 May 24 3:00 pm

รีวิว Senua’s Saga: Hellblade II

2,719 Views

หนึ่งในเกมที่ดีที่สุดของปี 2017 กลับมาอีกครั้ง ในภาคต่อที่ยิ่งใหญ่ ทะเยอทะยาน และมีทุนสร้างมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยระบบการต่อสู้ที่ดียิ่งขึ้น งานภาพที่สวยที่สุดในปัจจุบันจากขุมพลัง Unreal Engine 5 ประสบการณ์การเดินทางครั้งใหม่ของ Senua ในภาค 2 มันเป็นยังไง ไปดูกันเลย

เรียกได้ว่าเป็นผลงานที่แฟน ๆ คาดหวังกันอย่างมาก สำหรับ Senua’s Saga: Hellblade II ภาคต่อของเกมแอกชั่นผจญภัยชื่อดัง Hellblade: Senua’s Sacrifice เพราะตัวเกมภาคแรกนั้นอาจจะไม่โด่งดังในหมู่เกมเมอร์ทั่วไป แต่กวาดรางวัลใหญ่จะหลายเวที โดยเฉพาะในด้านของเนื้อเรื่องและการนำเสนอ

หลัง Ninja Theory ทีมพัฒนาถูก Microsoft ซื้อไปร่วมสังกัดในปี 2018 และมีการประกาศภาคต่อของ Hellblade ตอนปี 2019 ในงาน The Game Awards แฟน ๆ ก็รอคอยผลงานเกมนี้กันมาโดยตลอด และในที่สุดหลังการรอคอยอันแสนยาวนาน ตัวเกม Senua’s Saga: Hellblade II ก็จะออกวางจำหน่ายกันแล้วในวันที่ 21 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

ข่าวดี (และอาจจะเป็นข่าวร้ายสำหรับบางคน) ก็คือตัวเกมยังคงความเป็น Hellblade เอาไว้แบบเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอ ระบบการเล่น อะไรที่คุณเคยชอบคุณก็น่าจะชอบอยู่เหมือนเดิม และอะไรที่คุณไม่ชอบจากภาคที่แล้วคุณก็น่าจะยังคงไม่ชอบต่อไปในภาคนี้ แต่ไม่ว่ายังไงก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Hellblade II เป็นประสบการณ์การเล่นเกมที่หาไม่ได้จากเกมอื่นจริง ๆ

STORY

ตัวเกมจะบอกเล่าเรื่องราวในบทต่อไปของ Senua นักรบหญิงชาวเคลต์ นางเอกจากภาคแรก โดยในเกมจะมีการ Recap เล่าเรื่องราวย้อนหลังเพื่อทบทวนความจำสำหรับผู้เล่นเก่า และบอกเล่าเรื่องราวให้รับทราบสำหรับผู้เล่นบางคนที่อาจจะกระโดดมาสัมผัสกับเกมภาคนี้เลยโดยไม่เล่นภาคแรกมาก่อน

เกริ่นมาแบบนี้ก็ต้องบอกก่อนว่าถึงตัวเกมจะเป็นภาคต่อโดยตรงแต่จริง ๆ แล้วเนื้อหาแทบทั้งหมดของเกมก็จะแยกย่อยจากเกมภาคแรกแบบสมบูรณ์ ดังนั้นใครไม่เคยเล่นภาคแรกมาก่อนก็ไม่ต้องกังวล คุณสามารถสนุกกับเกมภาคสองได้ทันที แต่ก็แน่นอนว่าผู้เล่นที่เคยผจญภัยกับ Senua ในเกมภาคแรกก็จะ “อิน” ได้มากกว่าในการเล่าเรื่องบางส่วน โดยเฉพาะในแง่รายละเอียดปลีกย่อยด้านการแสดงอารมณ์ของตัวละคร

เนื้อหาในภาคนี้จะเป็นการผจญภัยของ Senua ที่บุกไปยังไอซ์แลนด์หลังเธอหวังจัดการกับเหล่าไวกิ้ง ที่เป็นต้นตออดีตอันปวดร้าวของเธอให้สิ้นซาก และแม้การผจญภัยครั้งใหม่จะเริ่มต้นด้วยเป้าหมายง่าย ๆ อย่างการล้างแค้นและช่วยเหลือคนอื่น ไม่นาน Senua ก็จะเข้าไปอยู่ในศูนย์กลางการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดที่เธอคาดไม่ถึง

การเขียนบทและการเล่าเรื่องยังคงเป็นจุดที่โดดเด่นที่สุดของเกมตามเคย แต่ภาคนี้โทนของการเล่าเรื่องถูกปรับเปลี่ยนให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และใช้ตัวเสริมเป็นตัวละครหลาย ๆ ตัวมาช่วยเล่าเรื่องราว แตกต่างจากในภาคแรกที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการเดินทางอันโดดเดี่ยวของ Senua

โดยรวมแล้วต้องบอกก่อนว่าเนื้อหาของเกมไม่ได้กระชับเข้มข้นเท่าการผจญภัยในภาคแรก ด้วยการยกระดับที่เล่นใหญ่มากขึ้น มีตัวละครมากขึ้น แต่ตัวเกมก็ยังไม่ทิ้งปมที่เป็นเอกลักษณ์ของเกมตระกูลนี้ไปแต่อย่างใด เราจะยังได้เห็นการเติบโตของ Senua ได้เห็นการนำเสนออาการของผู้ป่วยโรควิกลจริตที่สมจริง ซึ่ง Senua ป่วยด้วยอาการนี้และเป็นปมหลักของทั้งสองภาค

โทนของการเล่าเรื่องก็ยังอัดแน่นด้วยอารมณ์ความรู้สึกเช่นเคย เราจะพบเจอกับความโกรธแค้น ความสับสน ความเศร้าเสียใจ ความกังวล ไปตลอดทั้งเกม ซึ่งก็ต้องเน้นย้ำกันก่อนว่าการเล่าเรื่องของ Hellblade 2 อาจจะไม่เหมาะกับคนที่ต้องการเนื้อหาที่เล่าแบบหมดเปลือก หรือต้องการความเข้าใจในทุกอย่าง ๆ แบบชัดเจนนั่นเอง

PRESENTATION

เรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นที่พัฒนาขึ้นมาแบบเห็นได้ชัดที่สุดจริง ๆ ในฐานะเกมภาคต่อ เอาที่สะดุดตาก่อนเลยก็คือเรื่องของงานภาพ Hellblade II คว้าตำแหน่งเกมที่ภาพสวยที่สุดในยุคตอนนี้ไปได้อย่างไม่ยากเย็น ด้วยขุมพลังจาก Unreal Engine 5 ทุกฉาก ทุกตอน ทุกช่วงเวลา อัดแน่นไปด้วยซีนที่สะกดสายตา รายละเอียดของพื้นผิวในฉาก Texture ของวัสดุ เครื่องแต่งกาย การแสดงออกทางใบหน้าของตัวละคร และแสงเงา ทุกอย่างใส่สุดจัดเต็มจริง ๆ ยิ่งมารวมเข้ากับการออกแบบงานศิลป์ที่สวยงามยิ่งส่งให้ Hellblade II เต็มไปด้วยซีนที่จะติดตรึงอยู่ในใจคุณอย่างแน่นอน

นอกจากเรื่องของงานภาพแล้วการนำเสนอในส่วนอื่นก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน นำหน้ามาด้วยพลังในการแสดงของ Melina Juergens (เมลิน่า โยเกน) ทีมงานภายในของ Ninja Theory เอง ที่ทั้งให้เสียงพากย์และแสดงบท Senua ด้วยตัวเอง หลังภาคแรกตัวเธอไม่ได้มีประสบการณ์ด้านงานแสดงแม้แต่น้อยแต่ถูกผลักดันให้รับบท Senua มาในภาคสองนี้ฝีมือของ Melina ยิ่งเด่นชัดมากขึ้นกว่าเดิม เรียกได้ว่าเอาอยู่ในฐานะตัวเอกที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ของเกมอยู่คนเดียว (พร้อมเสียงหลอนในหัวตัวเอง)

การกำกับภาพ จังหวะการเล่าเรื่อง ทุกอย่างยอดเยี่ยมยิ่งขึ้นกว่าเดิมแบบเท่าตัว Hellblade II จะทำให้คุณรู้สึกเหมือนนั่งชมภาพยนตร์ที่ “เล่นได้” ตัวเกมไม่มีหน้าจอ UI ใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการบอกปุ่มกด ไม่มี Tutorials การนำเสนอในทุกช่วงเวลาทุกจังหวะถูกผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน

ทีมงาน Ninja Theory ใส่ทุกอย่างแบบจัดเต็ม ไม่ว่าจะเป็นฉากโหด ฉากนองเลือด ช่วงเวลาเขย่าประสาท หรือซีนต่อสู้ที่ยาวนานต่อเนื่องแต่ลุ้นระทึกจนคุณต้องกลั้นหายใจเหนื่อยไปด้วย

อีกด้านที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ ก็คือการออกแบบด้านเสียงประกอบ ใครที่หูฟังดี ๆ บอกได้เลยว่านี่คือเกมที่จะเค้นเอาประสิทธิภาพของหูฟังคุณออกมาแบบเต็มที่ (และผมก็แนะนำให้เล่นเกมนี้ด้วยหูฟังจริง ๆ) นอกจาก Senua จะได้ยินเสียงในหัวตลอดเวลาในฐานะผู้ป่วยโรคจิตเภท เสียงประกอบอื่น ๆ และเสียงดนตรียังถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างดี

Ninja Theory พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาสามารถนำเสนองานภาพและเสียงในคุณภาพที่เทียบเท่ากับเกมค่าย AAA ได้จริง ๆ

GAMEPLAY

มาถึงจุดที่เป็นข้อเสียที่สำคัญที่สุดในเกมภาคแรก และแม้จะได้รับการปรับปรุงบ้างแล้วในเกมภาคนี้ แต่ก็ยังคงเป็นข้อเสียที่สุดของเกม Hellblade 2 อยู่อีกเช่นกัน

Gameplay หรือเกมการเล่นของ Hellblade 2 นั้นยกเอาทุกอย่างจากเกมภาคแรกมาเลยก็ว่าได้ กล่าวก็คือตัวเกมโดยรวม ๆ จะประกอบไปด้วยสามส่วน หนึ่งคือฉากสำรวจที่ผู้เล่นจะเดินชมสภาพแวดล้อมไปตามฉาก มีตัวละครพูดคุยหรือเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนที่สองก็คือส่วนของการต่อสู้ ระบบการต่อสู้ในเกมนั้นเรียบง่ายมาก ๆ Senua จะต่อสู้กับตัวละครทีละตัวแบบ 1 Vs 1 เท่านั้น ตัวเกมไม่มีการอัพเกรดพัฒนาตัวละคร ไม่มีการปลดล็อกท่าหรืออาวุธใหม่ ๆ การต่อสู้ก็มีเพียงแค่การกดหลบ กดป้องกัน โจมตีสวนกลับ ด้านศัตรูก็มีแค่มนุษย์เพียงอย่างเดียว แม้ในภาคนี้จะพยายามเพิ่มประเภทของศัตรูให้หลากหลายขึ้นแต่รวม ๆ แล้วก็มีอยู่ไม่กี่ประเภทอยู่ดี ดังนั้นแม้ว่าอนิเมชั่นการนำเสนอในฉากต่อสู้จะทำออกมาได้ดีมาก ๆ แต่เล่นไปนาน ๆ ก็อดไม่ได้เหมือนกันที่จะแอบเบื่อในบางจังหวะ ก็ต้องขอบคุณเสียงเพลง อนิเมชั่น และฉากในเกมที่ทำให้เนื้อหาตื่นเต้นจนหายง่วง

ส่วนที่สามที่เป็นระบบการเล่นหลักของเกมนี้ก็คือการแก้ปริศนา และก็เหมือนกันกับฝั่งของการต่อสู้ ปริศนาในเกมก็ไม่ได้ลึกล้ำชวนให้ “ว้าว” อะไรนัก โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะได้รับมอบหมายให้มองหาสัญลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ภายในฉาก ซึ่งก็เป็นการเดินไปมาตามเส้นทางที่จำกัดเอาไว้แบบแคบ ๆ ผสมกับปริศนาการสลับสภาพแวดล้อมในฉากเพื่อหาทางไปต่อ แม้ว่าปริศนาทั้งสองรูปแบบจะทำงานในฐานะการนำเสนอโรคจิตเภทและตัวตนของ Senua ซึ่งมองเห็นสิ่งที่คนปกติธรรมดามองไม่เห็น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าในฐานะของวิดีโอเกมแล้วมันไม่ได้สนุกอะไร

รวมเข้าทั้งหมดจะพูดให้เห็นภาพชัดก็คือ Senua’s Saga: Hellblade II เป็นเกมสไตล์ Walking Simulator ที่เน้นการเสพบรรยากาศ และใส่ระบบการต่อสู้กับปริศนาเข้ามาแก้เลี่ยน แน่นอนว่ามันอาจจะไม่โดดเด่นในฝั่งของเกมการเล่นหรือมีระบบล้ำ ๆ ลึก ๆ ในฐานะวิดีโอเกม แต่มันก็ทำงานได้ดีในแง่ของการเป็นเครื่องมือนำเสนอเนื้อหาและเรื่องราวซึ่งเป็นจุดที่ทีมงาน Ninja Theory ให้ความสำคัญ

และถึงเราจะบอกว่ามันไม่ได้มีระบบการเล่นลึกล้ำ แถมชวนง่วงในบางครั้งแต่ก็ต้องบอกว่า ด้วยการนำเสนอที่เหนือชั้นทำให้ตัวเกมมีฉากตื่นเต้นเร้าใจอยู่ค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว

อีกจุดที่มีเพิ่มเติมขึ้นมาในภาคนี้ก็คือตัวการเล่นในฝั่งของ Platform หรือการวิ่งฝ่าอุปสรรค ซึ่งถูกใช้ในการเล่าเรื่องจังหวะสำคัญของเกมภาคนี้ อธิบายแบบไม่ Spoil ก็คือผู้เล่นจะได้วิ่งหลบสิ่งกีดขวางไปให้ถึงเป้าหมาย โดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกว่าการนำเสนอในรูปแบบนี้ค่อนข้างจะดึงเอาอารมณ์ร่วมจากเกมค่อนข้างมาก เพราะในขณะที่การนำเสนอส่วนอื่น ๆ ของเกมพยายามอย่างหนักที่จะทำให้เรารู้สึกว่าภาพเสียงตรงหน้าเป็นมากกว่าแค่ “วิดีโอเกม” แต่ Gameplay ในจุดนี้กลับนำเสนอแบบมีความเป็น “เกม” มาก ๆ ก็ถือเป็นข้อเสียเล็ก ๆ ที่อาจไม่ได้กระทบกับผู้เล่นทุกคนแต่เราข้อตั้งข้อสังเกตเอาไว้

นอกจากนั้นในเกมก็มีของซ่อนเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เราตามเก็บสะสม ซึ่งก็เป็นการเล่าเรื่องเพิ่มเติมผ่านจุดซ่อนต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยการสังเกตุให้ดีระหว่างเดินสำรวจ ซึ่งของสะสมทั้งหมดนั้นไม่ได้ส่งผลอะไรมาก แต่มีอันที่หากเก็บครบจะปลดล็อกความลับเล็ก ๆ ให้เราไปใช้ในการเล่นซ้ำรอบสองอีกด้วย

PERFORMANCE

เราค่อนข้างแปลกใจเหมือนกันที่ประสิทธิภาพของเกมนั้นดีกว่าที่คิดเอาไว้เยอะเลยทีเดียว เพราะก่อนเกมออกทีมงานยืนยันออกมาว่าบน Xbox Series ทั้ง S และ X จะรองรับเฟรมเรทที่ 30 เฟรมเท่านั้น แถมตัวเกมก็ดูเป็นเกมเน้นเทคโนโลยีแสดงผลและงานภาพแบบจัด ๆ

สำหรับการแสดงผลบนเครื่อง Xbox นั้นตัวเกมมีโหมดการแสดงผลแค่โหมดเดียว และใช้ Dynamic Resolution หรือความละเอียดภาพแบบปรับไปมาเพื่อรักษาเฟรมเรท

ส่วนด้านประสิทธิภาพของเกมบน PC นั้นเรียกได้ว่า ดีกว่าเกม AAA หลายเกมที่ลง PC ในช่วงที่ผ่านมา

โดยบน PC เราสามารถดันเฟรมให้ไปได้ไกลกว่านั้นตามแต่ความแรงของเครื่องแต่ละคน และตัวเกมรองรับการ Upscale ด้วยเทคโนโลยีทั้ง TSR, Intel XeSS, AMD FSR3 และ NVIDIA DLSS

ประสบการณ์ด้าน Perfomance ของเกมนั้นเราก็ไม่พบกับ Bug หรือปัญหาใด ๆ และเฟรมเรทก็ลื่นไหลตลอดการเล่น

สรุป

Senua’s Saga: Hellblade II ยกระดับมาตรฐานที่สูงอยู่แล้วของ Hellblade ให้สูงขึ้นไปอีกขั้น แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ใช่วิดีโอเกมที่ทุกคนชื่นชอบ แต่เป็นประสบการณ์ที่แตกต่างจากผลงานเกมอื่น ๆ อย่างชัดเจน

Hellblade II นำเสนอเนื้อหาที่อัดแน่นด้วยคุณภาพ เป็นเกมที่เชื้อเชิญให้คุณดำดิ่งลงสู่ประสบการณ์อันยอดเยี่ยมแบบ 8 ชั่วโมงจบในรวดเดียว

เกมเมอร์ที่อยากได้วิดีโอเกมที่มีระบบลึกล้ำอาจไม่โดนใจ แต่สายเนื้อเรื่อง ผู้ชอบเสพบรรยากาศ และแฟนเกม Hellblade ภาคแรก ห้ามพลาดผลงานเกมชิ้นนี้ด้วยประการทั้งปวง

Senua's Saga: Hellblade II

9 / 10 คะแนน

9

ข้อดี

  • การนำเสนอยอดเยี่ยมทุกภาคส่วน
  • บอกเล่าพัฒนาการตัวละคร Senua ได้อย่างน่าสนใจ
  • งานภาพงดงาม

ข้อเสีย

  • ขาดความหลากหลายในเกมการเล่น
  • ปริศนาง่ายมาก ๆ
  • รูปแบบเกมที่เป็นเส้นตรงอาจไม่เหมาะกับผู้เล่นทุกคน

SHARE

Nuttawut Apiratwarakul

โน้ต - Co-Founder / Editor-in-chief

Back to top