BY Aisoon Srikum
4 Mar 25 10:59 pm

รีวิว Split Fiction

2,986 Views

ผลงานใหม่จาก Hazelight Studio และ Josef Fares เจ้าของผลงาน Game of the Year ประจำปี 2021 กลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้จะยังสนุกสมมงตำแหน่งที่เคยได้ไปหรือไม่ ขอเชิญพบกับ Split Fiction

Story – ยินดีต้อนรับสู่ “ยุคสมัยใหม่แห่งการเล่าเรื่อง”

นี่ไม่ใช่คำพูดของเรา แต่เป็นคำพูดของ Rader แห่ง Rader Publishing พูดเอาไว้ในเกม ในโลกอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกล บริษัท Rader Publishing สำนักพิมพ์ที่มีคอนเซปต์สุดเท่ว่า นำเรื่องราวมาสู่เรื่องจริง โดยมีผู้ก่อตั้งและผู้บริหารคือ Rader บริษัทนี้วางแผนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่อย่าง The Machine โดยจะให้ตัวนักเขียนสวมชุดพิเศษที่จะคอยติดตามและซิงโครไนซ์กับระบบ ตัวนักเขียนจะได้เข้าไปอยู่ในเรื่องราวที่ตัวเองแต่งขึ้นมา ในรูปแบบของสถานการณ์จำลองที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด และบริษัทจะบันทึกข้อมูลและสถิติก่อนนำผลงานของนักเขียนไปตีพิมพ์ขาย

สองตัวเอกอย่าง Mio และ Zoe คนหนึ่งเป็นนักเขียนแนวไซไฟวิทยาศาสตร์ ส่วนอีกคนเป็นแนวแฟนตาซีที่มาเจอกันโดยบังเอิญ ตัว Mio นั้น ไม่ได้รู้มาก่อนว่าจะต้องมาทดลองกับ The Machine เธอตัดสินใจในวินาทีสุดท้ายว่าจะขอปฏิเสธ แต่ด้วยอุบัติเหตุทำให้ Mio เสียหลักเข้าไปในเครื่องทดลองเดียวกันกับ Zoe และการผจญภัยในโลกนิยายของสองนักเขียนต่างที่มาที่ไป แถมมีจินตนาการและเขียนนิยายกันคนละแนวจึงได้เริ่มต้นขึ้น

ทั้งหมดที่เราเล่ามานี้ ต้องบอกว่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวของเนื้อเรื่องหลักภายในเกมเท่านั้น แต่เราจะไม่เล่าไปมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้เป็นการสปอยล์และทำลายอรรถรสในการเล่นและเสพเนื้อหา แต่ในเกมจะมีปม มีเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งจากตัวบริษัท Rader เอง จากตัวสองนักเขียนที่ทั้งคู่ต่างก็มีปมปัญหาในใจ  และจุดประสงค์ที่แท้จริงของบริษัท Rader

นอกจากนั้นความยอดเยี่ยมในการดำเนินเรื่องของเกมนี้ ยังถูกนำเสนอมาควบคู่ไปกับตัวเกมเพลย์และฉากได้อย่าและการผจญภัยโดยไม่คาดฝันของทั้งคู่ในครั้งนี้ จะค่อย ๆ กะเทาะเปลือกนอกของทั้งคู่ออกมา ให้เราได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับที่เกมจะคอยเล่าเรื่องและค่อย ๆ เฉลยออกมาว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหา

ในแต่ละฉาก แต่ละด่านที่เราผจญภัยในเกมนี้ มันคือโลกแห่งนวนิยายที่ตัวละครเอกทั้งสองคน ที่ต่างกันทั้งบุคลิก นิสัย ทัศนคติ เป็นคนสร้างและคิดมันขึ้นมา เอาง่าย ๆ คือฉากภายในเกมแต่ละฉากก็จะทำให้เราได้เห็นถึงมิติและบุคลิกของตัวละครไปในตัว ไม่ใช่แค่ดีไซน์ฉากมาดี แต่ทำให้เข้าถึงตัวตนของตัวละครนั้น ๆ ด้วย ผ่านฉากและเกมการเล่น เป็นการเล่าเรื่องที่ทำให้คนอินได้ง่ายมาก มากกว่าโยน Lore เป็น Text หรือคัทซีน

และถึงแม้เนื้อเรื่องหลักจะเต็มไปด้วยความระทึก ความตื่นเต้นและชวนให้ติดตาม แต่ในเกมจะมีสิ่งที่เรียกว่า Secret Level หรือด่านลับที่พบเจอได้อยู่ตามฉาก ด่านลับพวกนี้ จะเปลี่ยนรูปแบบการเล่าเรื่องให้ครบรสและสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ผ่อนคลายไปจนถึงตลกฮาจนกรามค้าง และทุก ๆ ครั้งที่เราเคลียร์ด่านลับ มันก็จะมีบทสนทนาของสองตัวละครเพิ่มเข้ามา ราวกับว่าการผจญภัยเสริมก็ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองให้มากขึ้นด้วย ถ้าให้แนะนำจากใจคือไม่อยากให้พลาดด่านลับกันเลยสักด่าน นอกจากจะสนุก แปลกใหม่ทุกด่านแล้ว มิติตัวละครและด้านของการพัฒนาความสัมพันธ์ก็ยังส่งผลให้เห็นในด่านลับพวกนี้ด้วย

ไอเดียดีเดือดแบบนี้ ทำให้สงสัยได้เหมือนกันว่าหากไม่ใช่ Josef Fares จะเป็นใครที่จะนำเสนอและเล่าประเด็นนี้ได้ดีไปกว่านี้อีก บางทีคำว่า ยุคสมัยใหม่ของการเล่าเรื่อง ที่ Rader Publishing พูดถึงในเกม อาจสะท้อนถึงตัวตนและแนวทางการทำงานของ Hazelight Studio ของพวกเขาด้วยก็ได้ ซึ่งก็น่าจับตาดูมากว่าผลงานตัวต่อ ๆ ไปของเขา จะทะเยอทะยานมากขึ้นกว่าเดิมแค่ไหน

Presentation – ประสบการณ์สดใหม่ตลอดการเล่นนับสิบชั่วโมง

Split Fiction เองก็เป็นอีกหนึ่งเกมที่เลือกใช้ขุมพลังใหม่ล่าสุด และเป็นมิตรต่อทีมพัฒนาเกมทั้งหลาย นั่นคือ Unreal Engine 5 เรื่องของกราฟิกนั้นถือว่าหายห่วงได้เลย สวยงามและจัดเต็มไม่แพ้เกมอื่น ๆ และหากไปเทียบกับ It Takes Two ก็ทำให้เราได้เห็นถึงความต่างของ Unreal Engine 4 และ 5 ได้แบบชัดเจน

นอกจากเรื่องของความสวยงาม รายละเอียดเล็กน้อยต่าง ๆ ของเกมก็ถือว่าจัดเต็ม ตามแต่ละพื้นที่ แต่ละด่าน จะเห็นได้ว่ากราฟิกและรายละเอียดนั้น ทีมงานเก็บทุกเม็ดทุกมุม ไม่ว่าผู้เล่นจะเข้าไปซุกซนตรงไหนก็จะมีรายละเอียดที่สวยงามให้ได้เห็นอยู่เสมอ แต่อาจจะติดตรงที่มุมกล้องของเราจะมองเห็นอะไรได้ไม่มาก เพราะการเล่นที่เป็นการแบ่งหน้าจอแบบ Split Screen มุมมองที่เราเห็นจึงไม่ได้กว้างมากแต่อย่างใด

จะมีอยู่หนึ่งสิ่งที่เรียกได้ว่าสร้างสรรค์ และผู้เขียนค่อนข้างชอบเป็นการส่วนตัว คือการใช้ “สี” ที่เกี่ยวพันกับตัวละครหลักในการบอกใบ้เส้นทางไปต่อ สำหรับคนที่ไม่เคยเล่นเกมเก่า ๆ ของทีมพัฒนานี้ จะมีบางช่วงที่รู้สึกตันแบบกะทันหัน และวิ่งวนหาทางไปต่ออยู่พักใหญ่ ๆ เกมนี้เลยใช้วิธีการใช้สีเพื่อบอกใบ้เส้นทาง แม้จะไม่ได้บอกตรง ๆ แต่มันจะเตะตาและจับสังเกตได้ง่ายมาก ๆ

อย่างเช่นฉากนี้ ที่ถ้ามองไกล ๆ ดี ๆ แล้วจะเห็นว่ามีแท่นตีสีชมพู ซึ่งเป็นสีแทนตัวละคร Mio ให้เราได้เห็นว่าทางไปต่อคือทางนั้น ส่วนวิธีการไปก็คือให้ตัว Mio เข้าไปอยู่ในห้องน้ำเล็ก ๆ และมีสัญลักษณ์สีเขียวของ Zoe เป็นการบอกใบ้ผู้เล่นแบบเนียน ๆ และใช้วิธีการสังเกตควบคู่ไปกับการคิดวิเคราะห์ และมันจะเป็นแบบนี้แทบจะตลอดทั้งเกม

การนำเสนอสุดแพรวพราวของเกมนี้ไม่ได้จบแค่นี้ ในทุก ๆ เส้นทางหลัก ผู้เล่นจะเจอกับ Secret Level หรือด่านลับตามที่ได้บอกไป และด่านลับเหล่านี้ไม่ได้ซ่อนอยู่ตามฉาก แต่จะวางให้เห็นกันแบบโต้ง ๆ จะเข้าหรือไม่เข้า ก็ขึ้นอยู่กับผู้เล่นเอง แต่เราจะแนะนำให้เข้ากันทุกด่าน เพราะทีเด็ดของเกมนี้เลยก็คือ Secret Level เหล่านี้นี่เอง Secret Level แต่ละด่าน จะมาพร้อมการนำเสนอที่แตกต่างกันแบบสุดขั้ว และเปลี่ยนเกมเพลย์การเล่นฉากปัจจุบันไปเลย รวมไปถึงซ่อน Easter Egg เด็ด ๆ เอาไว้เพียบ ตั้งแต่การเป็นเกม Side Scrolling ไปจนถึงให้เราเล่นเป็นหมู เพื่อหาทางแปรรูปตัวเองเป็นเบคอนเลยก็ยังมี นี่แค่บางส่วนเท่านั้น ยังมีเด็ดกว่านี้อีกเพียบ

อีกข้อแตกต่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนภายในเกมนี้ กับผลงานเก่า ๆ ก่อนหน้าก็คือ ตัวเกมใส่ความแอ็คชันเข้ามามากยิ่งกว่าผลงานก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็น A Way Out หรือ It Takes Two หากยกมาเทียบกันแล้ว Split Fiction จัดว่าเป็นเกมแอ็คชันที่มากกว่า 2-3 เท่าตัว มันต้องใช้ทั้งความคุ้นเคยทางการเล่นเกม หรือ Game Sense สูงมาก เราอาจจะต้องเตือนตัวโต ๆ ไว้เลยว่า แม้เกมนี้จะมีระบบ Friend Pass ที่สามารถชวนเพื่อนอีกคนมาเล่นได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ แต่อีกคนที่มาร่วมการผจญภัยกับคุณนั้น ควรจะมีประสบการณ์ หรือเล่นเกมมาบ้าง เพราะบางจังหวะของ Split Fiction นั้น ไม่ได้ปราณีหรือเผื่อผู้เล่นใหม่เลย ต้องอ่านจังหวะ และใช้ความแม่นยำในระดับหนึ่งเลยทีเดียว

และไม่ต้องกังวลเลยว่าคุณจะได้เจอกับเกมเพลย์การเล่นแบบเดิมซ้ำตลอดทั้งเกม ที่เราหยิบจับมาโชว์กันนี้มันไม่ถึงครึ่งของเกมด้วยซ้ำ ยิ่งผจญภัยไปในไกลขึ้น เราจะพบกับกิมมิคใหม่สุดท้าทาย และต้องอาศัยการประสานงาน การทำงานเป็นทีมระหว่างผู้เล่นทั้ง 2 คนมากขึ้นเท่านั้น อาวุธที่ใช้ ฉากที่เจอ หากมองแบบละเอียด การออกแบบและการดีไซน์ที่ต้องตั้งเงื่อนไขเอาไว้ว่า ต้อง 2 คนเท่านั้น เท่ากับว่ามันอาจจะต้องใช้การคิด และการวางแผนที่มากกว่าเดิม เพราะทำยังไงการเล่น 2 คนถึงจะสนุก ออกแบบปริศนาแบบไหน ดีไซน์บอสยังไง ทุกอย่างต้องอิงจากพื้นฐานของการเล่น 2 คนในเวลาเดียวกัน ถือว่าทีมงานทำการบ้านกันหนักมาก

สุดท้ายไม้เด็ดของ Split Fiction ก็คือ การคารวะสื่อบันเทิงเกือบทั้งหมด นั่นคือเรื่องของ Easter Egg ในเกมนี้ นอกจากจะมี Easter Egg ที่อ้างอิงถึงผลงานเก่าของพวกเขาเองแล้ว มันยังมีทั้ง Easter Egg จากหนังและเกม รวมไปถึงสิ่งต่าง ๆ มากมาย ชนิดที่ว่าใครติดตาม Pop Culture มาเยอะ ๆ จะต้องร้องอ๋อกับหลาย ๆ ฉากแน่นอน จากที่ผมเจอและพอจะบอกได้ก็มีทั้งหนัง Fast & Furious เกมจาก Ubisoft ไปจนถึงการ์ตูนดังอย่างเซเลอร์มูนหรือแม้กระทั่งเกมโซลไลค์ ที่บอกนี่แค่เล็กน้อย ไปเจอเองคุณอาจจะรู้จักหรือเก็ทเยอะกว่านี้อีกมาก

แม้จะเป็นเกมเส้นตรงและขายแอ็คชัน แต่เรื่องความคุ้มค่ายังไงก็เต็มอิ่ม ทั้งจำนวนชั่วโมงการเล่น สิ่งที่พบเจอ เนื้อหาและคอนเทนต์ ที่สำคัญคือมี Friend Pass จ่ายคนเดียว เล่นได้ถึงสอง ส่วนนี้บอกเลยว่าฟินกันเป็นแพคคู่แน่นอน

Gameplay – ยกระดับความเป็นเกมแอ็คชัน

หาก It Takes Two ที่เป็นผลงานเก่าของสตูดิโอนี้ เน้นการเล่นแบบแพลตฟอร์ม เข้าถึงง่าย อาศัย Game Sense ในระดับ Basic เพื่อเล่นเกมแล้วนั้น Split Fiction จะเป็นคูณสองหรืออาจจะคูณสามความเดือดทางด้านเกมเพลย์ขึ้นมาทั้งหมด ตลอดเวลาในการจับจอย Split Fiction จะมอบประสบการณ์เกมแอ็คชันสุดโลดโผนที่มาพร้อมกับความสร้างสรรค์แบบที่เกมไหนก็ให้ไม่ได้ แถมเป็นแบบแพคคู่ที่ต้องเล่นกันแบบสองคนด้วย

เกมเพลย์การเล่นยังคงเป็นการบังคับ Co-op 2 คนด้วยกันเหมือนเดิม ผู้เล่นทั้งสองคนจะเลือกเป็นหนึ่งในตัวละครอย่าง Mio และ Zoe ได้ ด้วยความที่เป็นทั้งสอง เป็นคนเขียนนิยายคนละแนว ทำให้ตัวเกมจะแบ่งออกเป็นสองตัวละครและสองรูปแบบการเล่น แต่หัวใจสำคัญของเกมจากสตูดิโอนี้ก็คือ มันจะต้องเป็นความแตกต่างกันอย่างมาก แต่ลงตัวมากเช่นกัน และสนับสนุนช่วยเหลือกันได้ พอดีไซน์เกมมันเป็นแบบนี้ เกมเพลย์แหวก ๆ เลยมีมาให้เห็นเสมอ

ยกตัวอย่างเช่นในฉากแรกที่เป็นนิยายไซไฟของ Mio ตัว Mio จะใช้มีดาบไซเบอร์เป็นอาวุธ และสามารถเปลี่ยนแรงโน้มถ่วง ทำให้มีเส้นทางไปต่อในมุมมองที่ไม่เหมือนเดิม ส่วน Zoe จะเป็นแส้พลังงานที่ใช้คว้าจับสิ่งของและโยนไปโจมตี หรือโยนให้ Mio ฟันทิ้งหรือเอาไปแก้ไขปริศนาในฉากได้ และพอไปต่อ ฉากหลังจะเปลี่ยนเป็นแนวแฟนตาซี Mio จะแปลงร่างเป็นลิงยักษ์ ส่วน Zoe ก็จะเป็นนางฟ้าร่างเล็ก แถมมีร่างสัตว์ให้เปลี่ยนแปลงด้วย

ถ้าอธิบายง่าย ๆ พลังและการนำเสนอของสองตัวเอกจะเปลี่ยนไปตามฉากและเกมเพลย์ และถึงแม้จะเป็นเกมแบบเส้นตรง แต่ผู้เล่นจะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ของการเล่นแบบ 2 คน ใครเคยเล่น It Takes Two มาก่อน จะรู้ว่า ผู้เล่นทั้งสองคนจะต้องมี Game Sense หรือต้องมีประสบการณ์ในการเล่นเกมอย่างน้อยในระดับพื้นฐานก็พอจะเล่นไหว แต่ใน Split Fiction ผู้เล่นทั้งสองจะต้องมี Game Sense ในระดับปานกลางค่อนไปทางสูงเลยทีเดียว

ในบางด่านจะเป็นการที่ผู้เล่นทั้งสองจะต้องใช้ความสามารถของตัวเอง ช่วยเหลือกันและกันเพื่อผ่านด่านไปได้ ซึ่งจะต้องใช้จังหวะและความแม่นยำค่อนข้างสูงมาก อาจจะต้องเตือนกันไว้แต่เนิ่น ๆ ว่า หากจะหาเพื่อนเล่นด้วย เพื่อนอีกคนต้องมีประสบการณ์การเล่นเกมในระดับหนึ่ง หากเอามือใหม่ ไม่เคยเล่นเกมมาก่อนเลย รับรองว่ายากขึ้นแบบสุด ๆ

ด้านของฉากและ Mechanic Gameplay ก็เปลี่ยนแปลงแทบ จะตลอดเวลา มันไม่ใช่การใช้อาวุธประเภทเดียว หรือการผจญภัยรูปแบบเดียวไปตลอดทั้งเกม ทุก ๆ ครั้งที่เราเข้าฉากใหม่ ผู้เล่นจะต้องปรับตัวให้เข้ากับเกมการเล่นรูปแบบใหม่เสมอ มีการเปลี่ยนมุมมองการเล่นแบบครบเครื่อง ทั้งกลายเป็น Side Scrolling เป็นเกม Top Down หรือบางทีก็กลายไปเป็นเกมแพลตฟอร์ม เกมขับยาน มันยังคงเหมือนกับ It Takes Two เล่นเกมเดียว แต่จะได้ความรู้สึกเหมือนได้เล่นหลายเกมไปพร้อม ๆ กัน เพียงแต่เกมนี้จะเลือกจังหวะการนำเสนอได้เฉียบคมกว่า และให้ความรู้สึกที่ต่อเนื่องกว่า ลากยาวไปจนถึงฉากสุดท้ายของเกม

ส่วนของ Puzzle และการแก้ปริศนา เจอครั้งแรกอาจจะดูเหมือนยาก แต่หากสังเกตดี ๆ ใช้ความคิดสักเล็กน้อย เกมของสตูดิโอนี้จะเป็นเกมที่ทำให้เราร้องอ๋อนับครั้งไม่ถ้วน เพราะบางทีเรื่องที่ดูเหมือนยาก ก็เป็นแค่เส้นผมบังภูเขา และพอมีสองคนเล่น ก็เหมือนช่วยกันแก้ไขปริศนา ใครไหวพริบดีกว่าจะเหมือนชี้ทางสว่างให้อีกฝ่าย เป็นเกมที่ทำมาเพื่อการ Co-op กันโดยเฉพาะ

เกมเพลย์ของ Split Fiction จะเน้นหนักไปที่แอ็คชันความเร็วสูงเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบางฉากก็ค่อนข้างตึงมือคนเล่น โดยเฉพาะพวกภารกิจขับรถทั้งหลาย ที่ถึงแม้จะเร้าใจและดุเดือดมาก แต่การเล่นครั้งแรกของทีมงานถือว่าเป็นฉากที่ตายกันบ่อยมาก เพราะปรับตัวกับความเร็วเกมไม่ทัน ยังไม่รวมพวกศัตรูที่จัดเต็มถาโถมจนละลานตาเต็มไปหมด ดังนั้นผู้เล่นทั่วไปที่ไม่ค่อยได้เล่นเกม หรือชั่วโมงการเล่นเกมต่ำ เจอฉากเดือด ๆ เข้าไป อาจจะต้องใช้เวลากันสักพักใหญ่ ๆ ถึงจะปรับตัวได้ ถ้าให้เทียบกับ It Takes Two แล้ว เกมนี้มันแอ็คชันเยอะกว่ามาก

ส่วนที่ประทับใจเป็นพิเศษคือการดีไซน์ Boss Fight ที่นอกจกาจะดุเดือด เล่นสนุกมากแล้ว การช่วยกันสู้ 2 คนในที่นี้คือการช่วยกันสู้จริง ๆ เช่นบอสหุ่นยนต์ที่มีการยิงระเบิดสองสี เพื่อเปิดช่องให้ผู้เล่นแต่ละคนยิง อันนี้คือต้องรู้มือ รู้ใจกันมาก คือจากมุมมองของคนที่เล่นเกมเป็น มันไม่ยากก็จริง แต่คนที่ประสบการณ์น้อย หรือไม่ได้เล่นเกมแอ็คชันบ่อย ๆ มีเหนื่อยกันบ้างแน่ ๆ และเหมือนกับด่านหลักด้วย ตัวบอสเองก็ไม่ใช่ว่าจะดีไซน์มาซ้ำ ๆ เหมือนกัน เจอตัวใหม่ทีก็ต้องเรียนรู้กันที นัดแนะกันที

เนื่องด้วยไม่ใช่เกม RPG ไม่มีการอัปเกรดตัวละครทำให้ทั้งสองตัวละครนั้น จะไม่สามารถเก่งขึ้นได้เลย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้เล่นล้วน ๆ ตรงจุดไหนที่ตายหรือไม่ผ่านก็นั่งจับจังหวะ หรือบ่อยครั้งที่ต้องบอกคู่หูเราเองว่าให้ใจเย็น ๆ กดไปพร้อมกัน ทำไปพร้อมกัน เราถึงมองเห็นได้ว่า มันไม่ได้ยาก แต่มันอาศัยจังหวะของคนสองคนพร้อมกันจริง ๆ ใครเร็วกว่าหรือช้ากว่าเพียงนิดเดียวก็ร่วงได้แล้ว แถมเกมนี้โทษของการตายก็แทบจะไม่มีเลยด้วย มันจะใช้ระบบเหมือนกับ It Takes Two ที่ถ้าเกิดมีใครคนหนึ่งตาย จะสามารถกด Quick Time Event เพื่อเกิดใหม่ได้ แต่ถ้าตายพร้อมกันสองคน เกมจะย้อนกลับไปจุด Checkpoint ที่อยู่ไม่ไกลจากจุดปัจจุบันมากนัก ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร

ถึงแม้จะเป็นเกมเส้นตรงแบบรวดเดียว มีด่านลับให้ผจญภัยเสริมเพิ่ม แต่มันคือประสบการณ์การเล่นเกมอันยอดเยี่ยมแบบไม่รู้ลืม และคิดว่าสุดท้ายแล้วมันจะต้องเข้าไปมีบทบาทในเวทีใหญ่อย่าง The Game Awards ปลายปีนี้แน่นอน

Performance – ไร้ที่ติ และปรับให้สะดวกตามแบบของแต่ละคนได้

Hazelight Studio ขึ้นชื่อเรื่องงานเนี้ยบมาแต่ไหนแต่ไร นับตั้งแต่ A Way Out แต่อย่างที่เราระบุไว้ด้านบน Split Fiction เวอร์ชันที่เราได้เล่นกันนั้น เป็นเวอร์ชันก่อนที่เกมจะได้รับการแพทช์ใน Day One แต่ตัวเกมก็ค่อนข้างไร้ที่ติมาก ๆ แล้ว ไม่เจอปัญหาบั๊ก เกมล่ม เกมดับ หรือการติดขัดใด ๆ จะมีปัญหาเพียงนิดเดียวเท่านั้นคือเรื่องของ Framerate ที่อยู่ ๆ ก็ดรอปหรือแกว่งแบบไม่มีสาเหตุ แต่มันจะเป็นแค่ช่วงต้นฉาก ที่ไม่มีการต่อสู้ หรือไม่มีความสำคัญอะไรในด้านเกมเพลย์การเล่น ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาจากการโหลดทรัพยากรตอนเริ่ม ปัญหานี้ แม้แต่เครื่องระดับท็อปที่รันด้วยการ์ดจอ 5090 ก็ยังเป็น

ส่วนของการตั้งค่านั้นก็หายห่วงได้ ไม่ว่าคุณจะเล่นเป็น Mio หรือ Zoe ในหน้า Setting ผู้เล่นจะสามารถปรับการตั้งค่าการควบคุมและปุ่มแยกกันได้เลย ใครถนัดความเร็วแบบไหน หรือใช้เมาส์คีย์บอร์ด อยากตั้งปุ่มอะไรก็ทำได้หมด มีกระทั่งการ Invert ทิศทางการควบคุมที่เชื่อว่าแต่ละคนน่าจะถนัดไม่เหมือนกัน ส่วนนี้สามารถปรับแยกได้แทบทุกอย่าง

และที่สำคัญถือว่าเป็นข้อดีของตัวเกมเลยก็คือระบบ Chapter Select หรือเลือกด่านที่เราเข้าไปเล่นซ้ำ หรือเล่นย้อนได้ตามใจชอบ ถ้าเราขาดตกบกพร่องด่านลับบางช่วงไป เกมจะระบุไว้ชัดเจนเป็นเครื่องหมาย ??? ใน Chapter นั้น ๆ หากอยากเก็บตกก็สามารถแวะกลับไปที่ Chapter เก่า ๆ ได้ทันที ไม่ต้องรอจังหวะ ส่วนนี้ใครชอบเล่นเกมที่ Replay ด่านเดิมซ้ำ ๆ ได้ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดี

โดยรวมแล้วในด้าน Performance และ Technical แม้จะมีปัญหา แต่ก็เป็นจุดเล็กน้อยมาก ๆ และไม่ส่งผลอะไรกับเกมการเล่นเลยด้วยซ้ำไป และคิดว่าทีมงานคงไม่พลาดมี Day One Patch มาแก้ไขจนสมบูรณ์ และกลายเป็นเกมที่ยอดเยี่ยมแบบไร้ที่ติได้ในที่สุด

สรุป

Split Fiction เป็นเครื่องยืนยันอีกครั้งว่า ทุกครั้งที่ Josef Fares ออกมาลั่นวาจาอะไรที่ดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้ แต่เขาทำให้มันเกิดขึ้นได้ และมันเป็นการยกระดับผลงานเก่าของตัวเองที่นอกจากจะไม่รู้สึกว่าซ้ำซากจำเจแล้ว ยังเฉียบคมขึ้น ลูกเล่นแพรวพราวมากขึ้น และเป็นอีกสุดยอดเกมที่คุณไม่ควรพลาดไม่ว่าจะด้วยประการใด ๆ แม้จะมีข้อตินิด ๆ หน่อย ๆ แต่ด้วยประสบการณ์ที่ได้รับแล้ว มันก็ดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรไปเลย

 

Split Fiction

10 / 10 คะแนน

10

ข้อดี

  • สัมผัสประสบการณ์เกมการเล่นที่สดใหม่ตลอดความยาวประมาณ 12 ชั่วโมง
  • ไอเดียสร้างสรรค์ทั้งฉาก เกมเพลย์ ระบบการเล่นที่ยอดเยี่ยมไร้ที่ติ
  • เนื้อเรื่องที่แก่นก็ดี การเล่าเรื่องก็ดี

ข้อเสีย

  • ต้องเล่น 2 คนเท่านั้น และอีกคนที่มาเล่นด้วยต้องเชี่ยวชาญการเล่นเกมพอสมควร
  • คุณค่าการเล่นซ้ำ ให้ได้ไม่เกิน 2 รอบ รอบแรกจะดีที่สุด
  • ดนตรีประกอบบางช่วงโดนการนำเสนอด้านอื่นกลบจนมิด

Aisoon Srikum

Back to top
×