ในช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ ไม่น่ามีเกมไหนมาแรงเกิน Elden Ring ทั้งในแง่ความยอดเยี่ยมของเกมเพลย์ ระบบการเล่น และอีกหลาย ๆ อย่างที่ค่อนข้างลงตัว จนหลายคนลงความเห็นว่า ปีนี้ ตำแหน่ง Game of the Year ไม่น่าจะหนีเกมนี้ไปได้ แต่ในอีก 1 เดือนต่อมา มีอีกเกมที่เปิดตัวอย่างเงียบ ๆ ด้วยฉากหน้าที่ดูเป็นเกมอินดี้น่ารัก ๆ แต่หลังจากที่ทุกคนได้สัมผัส ก็พบว่านี่เป็นอีกเกมที่นำเสนอความน่ารักน่าชังของเจ้าจิ้งจอกส้ม และได้อิทธิพลและแรงบันดาลใจมาจากเกมตระกูล Souls มาพอสมควรเลยทีเดียว เกมนี้มีชื่อว่า TUNIC แต่มันจะยอดเยี่ยมและสนุกแค่ไหน เชิญพบกับรีวิวของเรากันได้ในวันนี้
Story
คุณจะรับบทเป็นจิ้งจอกน้อยสีส้มสุดน่ารักแต่ไร้ชื่อ ไม่ได้หมายถึงไร้ชื่อเสียง แต่เป็น “ไม่มีชื่อ” จริง ๆ จิ้งจอกน้อยตัวนี้ค้นพบวิญญาณบรรพบุรุษของพวกเขา บรรพบุรุษตนนี้เคยเปิดเผยความจริงและเรื่องราวอันลี้ลับในโลก แต่ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไร วิญญาณนี้จึงถูกกักขังเอาไว้ในมิติแห่งความเป็นและความตาย เราในฐานะจิ้งจอกส้ม หรือวีรบุรุษไร้ชื่อ คือต้องก้าวขึ้นเป็นวีรบุรุษคนใหม่และปลดปล่อยวิญญาณบรรพบุรุษ แต่มันก็มีราคาที่ต้องจ่าย เพราะหากเราไม่คู่ควร วัฎจักรและสิ่งเลวร้ายจะตามมาอีกมากมาย
แม้เราจะเล่าเรื่องราวได้เป็นฉาก ๆ ขนาดนี้ แต่ตอนเล่นเอง รับรองว่า คุณจะเจอแต่คำว่า งง งงไปหมด สิ่งที่เราเจออยู่คืออะไรกันแน่ ทำไมพื้นที่ตรงนี้ถึงเป็นแบบนี้ ศัตรูเหล่านี้เกิดจากอะไร แม้กระทั่งคำถามที่ว่า เราเป็นใคร และจุดมุ่งหมายของเกมคืออะไร เกมนี้จะไม่ได้บอกผู้เล่นโดยตรง ซึ่งมันก็คืออีกหนึ่งสไตล์การเล่าเรื่องของเกมตระกูล Souls เราจะไม่มีทางรู้ได้ในทีแรกว่าสิ่งที่เราเจออยู่ตรงหน้าคืออะไร และมันจะส่งผลกระทบอะไรกับโลกในเกมบ้าง ทางเดียวที่จะรู้ได้ คือเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ และจับจุดเชื่อมโยงเอาเอง ว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมา มันเกิดอะไรขึ้นมาก่อนบ้าง ถึงทำให้เรื่องราวเป็นแบบนี้ และตอนจบของเกมนี้ยังมีถึง 2 แบบ เป็นแบบ Bad Ending และ Good Ending ซึ่งการจะได้มา ผู้เล่นก็ต้องตั้งใจเล่น หรือเก็บรายละเอียดให้ครบ ไม่อย่างนั้นอาจมีการจบแบบ Bad กันซะเป็นส่วนใหญ่แน่นอน
นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งเกมที่มีเนื้อเรื่องไม่ได้แหวกแนวไปกว่าเกมอื่น ๆ แต่มีการเล่าเรื่องที่ชวนให้ตีความและขบคิดอยู่ตลอดเวลา หลากหลายส่วนของเนื้อหา อาจถูกผู้เล่นแต่ละคนเข้าใจไม่เหมือนกันก็เป็นได้ แต่ท้ายที่สุดบทสรุปของเกมจะทำให้เราเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด แม้จะไม่ได้ฉีกแนวทางเนื้อเรื่องไปมาก แต่สำหรับเกมอินดี้จากทีมเล็ก ๆ เท่านี้ก็ถือว่าน่าพึงพอใจแล้ว
Presentation
จุดที่โดดเด่นของเกมนี้มาก ๆ คือ การนำเสนอ ในเมื่อเนื้อเรื่องก็มาแบบงง ๆ ให้คนจับต้นชนปลายกันเอาเองแล้ว การนำเสนอของเกมนี้ก็ยิ่งชวนให้คนงงหนักมากขึ้นไปอีก เพราะเกือบจะทุกอย่างภายในเกมนี้ จะถูกนำเสนอออกมาเป็นภาษาแปลก ๆ ที่อ่านไม่เข้าใจ และไม่ได้ถูกถอดแบบมาจากภาษาอังกฤษด้วย นอกจากเนื้อเรื่องเกมนี้จะชวนปวดหัวแล้ว ทุกครั้งเวลาเราเดินทางไปเจอพื้นที่ใหม่ โซนใหม่ เราก็จะปวดหัว และต้องใช้เวลาพอสมควร กว่าจะเข้าใจได้ว่ามันคืออะไร
เกมนี้ไม่มีบทพูด ไม่มีซับไตเติลให้อ่าน มีเพียงการแสดงออกของตัวละคร แต่ฉากที่จะเล่าเรื่องว่าเกิดอะไรขึ้นเท่านั้น แต่ส่วนที่ผู้เขียนชอบมากเป็นพิเศษคือส่วนของ Guide Game หรือคู่มือเกมของเกมนี้ ด้วยการออกแบบระบบนี้ให้เหมือนกับการเปิดอ่านหนังสือ และมีงานออกแบบดีไซน์ที่เหมือนใช้มือวาดแทบทั้งหมด เลยทำให้งานศิลป์ของเกมนี้สวยงามเป็นอย่างมาก ประกอบกับมุมกล้องแบบ Isometric ที่เราไม่สามารถหันปรับมุมมองใด ๆ ได้ แม้จะดูเหมือนเป็นอุปสรรคในการเล่น แต่หลายครั้งที่ผู้สร้างใช้วิธีการแพนกล้องที่ดี เช่นซูมเข้า หรือขยายออก ให้เราเห็นภาพรวม ก็เป็นอีกหนึ่งการนำเสนอเกมที่ดีเช่นกัน เท่านั้นยังไม่พอ การออกแบบฉาก ก็จะมีความคล้ายคลึงกับเกมซีรีส์โซลด้วย เพราะหลากหลายครั้งที่เราจะเดินทางไปเจอกับทางตัน หรือทางแยกที่ไม่สามารถเดินทางต่อได้ แต่ท้ายที่สุด หากเล่นไปตามเนื้อเรื่อง เราจะเจอกับทางไปต่อ แถมเชื่อมกลับมายังเส้นทางเดิมที่เราเดินทางผ่านไปได้ด้วย
ระบบ Guide Game หรือคู่มือของเกมนี้ ไม่ใช่อย่างที่หลายคนเข้าใจว่ามันจะบอกเทคนิค หรือวิธีการเล่นต่าง ๆ ให้เราทราบ แต่มันจะเป็ฯเหมือนกับหนังสือเดินทางที่เราต้องคอยเปิดดูตลอด มันจะมีทั้งแผนที่ของโซนนั้น ๆ ที่เรากำลังจะไป หรืออยู่ในพื้นที่นั้นแล้วโดยไม่ได้ตั้งใจ มีจุดที่ชี้บอกพื้นที่ลับที่อาจจะเข้าไปเจอไอเทมช่วยเหลือ หรือสมบัติลับ ทุกอย่างถูกออกแบบมาราวกับว่ามันเป็นลายแทงขุมทรัพย์จริง ๆ เป็นอีกการนำเสนอที่เกมหลายเกมยุคนี้ไม่ค่อยทำกันสักเท่าไร เพราะมันยากต่อการสังเกตและเข้าใจ แต่เกมนี้ นอกจากจะกล้าทำเนื้อเรื่องชวนงงแล้ว ยังใช้วิธีการนำเสนอที่ต้องทำความเข้าใจอีกด้วย แต่เพราะแบบนี้เลยทำให้ตัวเกม TUNIC มีความเป็นเอกลักษณ์ในด้านการนำเสนอสูงมาก แม้ในช่วงเปิดตัว จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับเกมในตำนานอย่าง Legend of Zelda และอีกหลาย ๆ เกม แต่ท้ายที่สุด ด้วยเอกลักษณ์ของตัวเองที่ชัดเจน ก็ทำให้เกมนี้กลายเป็นที่ยอมรับ ดูได้จากกระแสคะแนนวิจารณ์จากสื่ออื่น ๆ
Gameplay
Elden Ring but Cute น่าจะเป็นคำนิยามที่เหมาะสมที่สุดของเกมนี้ เพราะนอกจากเนื้อเรื่องชวนงง การนำเสนอที่ต้องตีความเองแล้ว รูปแบบเกมเพลย์การเล่นของเกมนี้ก็ยังคงมีความเป็น Soulsborne อย่างเต็มเปี่ยม เริ่มตั้งแต่การใช้อาวุธโจมตี มีการใช้ Stamina ในการกลิ้งหลบ หรือตั้งการ์ด การตายแล้วสูญเสียเงินจำนวนหนึ่ง การนั่งพักที่แคมป์ไฟ แล้วศัตรูจะรีเซ็ทใหม่หมด เพียงแต่เกมนี้ นำเอามันมาเป็นหนึ่งในระบบที่สร้างความสนุกเท่านั้น เพราะโทษของการตายหรือความยากของเกมนี้นั้น เบากว่าเกมตระกูลโซลเยอะมาก ๆ อย่างเช่นการตายแต่ละครั้งก็จะเสียเงินแค่ 20 หน่วย ซึ่งจำนวนเงินแค่นี้ นั่งแคมป์ไฟแล้วให้ศัตรูรีเซ็ทก็เก็บใหม่ได้สบาย ๆ แล้ว หรือการใช้ Stamina ในการต่อสู้และป้องกันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น ดังนั้นจึงบอกได้อย่างเต็มปากว่า มันไม่ใ่ชการก๊อปปี้ แต่เป็นการโคลนระบบขึ้นมาใหม่ให้สร้างสรรค์ และเล่นได้ง่ายขึ้น
ความสร้างสรรค์ของเกมนี้คือ การซ่อนจุดลับต่าง ๆ เอาไว้ในมุมที่เราคิดว่าไม่สามารถไปได้ เช่น อุโมงค์เล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่ในมุมมืดของแผนที่ โดยไอเทมที่อยู่ในจุดลับต่าง ๆ แม้ว่าจะไม่ใช่คีย์ไอเทมที่ช่วยให้เราโหดขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่ถ้าคุณสำรวจ ตัวละครจิ้งจอกน้อยของคุณก็จะเก่งเร็วขึ้น และเผชิญหน้ากับศัตรูในฉากต่อ ๆ ไปได้ดีขึ้น
ในช่วงของการสำรวจนั้น จะต้องใช้ทักษะและการสังเกตเป็นอย่างมาก Guide Game ที่เป็นเหมือนกับแผนที่ในตัว จะเป็นเครื่องมือชั้นดีที่จะช่วยชี้นำทางผู้เล่นให้ไปเจอสถานที่ลับต่าง ๆ ด้วย ในเกมยังสามารถอัปเกรดเพิ่มพลังต่าง ๆ ให้กับเจ้าจิ้งจอกส้ม ทั้งพลังโจมตี พลังชีวิตสูงสุด พลังเวทสูงสุด นอกจากนั้น หากเราอยากได้สิ่งของใหม่ ๆ อาวุธใหม่ ๆ เรายังต้องขยันค้นหาด้วยตัวเอง แม้ว่าบางอย่างจะปลดล็อคมาตามเนื้อเรื่องก็ตาม นอกจากอาวุธต่าง ๆ แล้ว เรายังมีไอเทมช่วยเหลือในการต่อสู้ เช่น ระเบิด กับดัก ต่าง ๆ ที่เราสามารถใช้ช่วยเหลือในการต่อสู้ และมีขายที่ NPC ด้วยเช่นกัน
และแม้แต่เกมเพลย์ มันยังเป็นการได้แรงบันดาลใจมาจากเกมซีรีส์โซลด้วย แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ Stamina ในการต่อสู้ แต่รูปแบบการโจมตี การกลิ้งหลบ การสวนกลับ หากใครเคยเล่นเกมแนวโซลมาก่อนก็จะสัมผัสได้ว่า มันมีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก และแทบจะไม่ต้องปรับตัว นอกจากอาวุธหลัก ไอเทมช่วยเหลือแล้ว ยังมี Card Slot ที่เอาไว้ติดตั้งการ์ดเพื่อเพิ่มรูปแบบความสามารถของตัวละคร เช่น เพิ่มพลังชีวิตสูงสุด พลังโจมตี และอื่น ๆ อีกด้วย และทั้งหมดนี้ จะได้มาจากการออกค้นหาและผจญภัยไปในโลกของเกม เชื้อเชิญให้ผู้เล่นออกสำรวจมากยิ่งขึ้น
แต่สิ่งที่ต้องชื่นชมเลยคือ TUNIC เป็นเกมที่ผสมผสานความยากและความท้าทายของตัวเกมเอาไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัวมาก มันไม่ใช่เกมง่าย น่ารัก ๆ อย่างที่หน้าปกเกมโชว์ให้เราเห็น เพราะทุกครั้งที่เราเจอศัตรูใหม่ พื้นที่ใหม่ เราจำเป็นจะต้องเล่นอย่างระมัดระวัง เพื่อเรียนรู้ว่าศัตรูแต่ละตัว มีรูปแบบการโจมตีอย่างไร และสภาพภูมิประเทศตรงนั้น มีอันตราย หรือทางลับอะไรบ้าง โดยเฉพาะมอนสเตอร์ระดับบอส ที่ออกแบบมาได้ชวนปาจอยอย่างมาก ไม่น่าเชื่อว่าเกมน่ารัก ๆ แบบนี้ จะใส่ความยากลงมาในระดับที่ใช้คำว่า ท้าทายได้อย่างไม่ต้องเขินอายนัก แต่อีกแง่มุมหนึ่งคือ มันไม่ใช่เกมยากในระดับเดียวกับเกมโซลซีรีส์อะไรขนาดนั้น ด้วยการผสมผสานกันอย่างลงตัวของทั้งสองรูปแบบเกมเพลย์การเล่น ทำให้ TUNIC ครบเครื่องมาก ในแง่ของเกมเพลย์
Performance
แม้จะมาในรูปแบบของกราฟิกการ์ตูนแสนจะน่ารัก แต่ตัวเกมนั้น มีความต้องการด้านสเปคคอมพิวเตอร์เอาเรื่องเลยทีเดียว ถ้าอยากจะเล่นแบบลื่นไหล สวยงาม ไม่ติดขัดใด ๆ สเปคที่เกมต้องการคือ GTX 1080 Ti / RX Vega 64 กันเลยทีเดียว แต่เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหามากนัก เพราะอย่างน้อยปรับแต่งแบบ Medium – High ก็เพียงพอ และเกมอินดี้แบบนี้ การปรับสุดไป ถ้าไม่ใช่คนที่เพ่งละเอียดจริง ๆ ก็อาจจะหาความแตกต่างได้ไม่พบ
ส่วนของ Setting และการตั้งค่าต่าง ๆ แม้จะเป็นเพียงเกมอินดี้ แต่ก็ถือว่าออกแบบการตั้งค่ามาได้หลากหลาย สมกับเป็นเกมยุคปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้ปรับแต่งอะไรได้เยอะมากแบบเกม AAA เพราะท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่เกมนี้แสดงผลได้ก็มีเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น ดังนั้นเอาเป็นว่าถ้าคุณมีสเปคคอมพิวเตอร์ที่ผ่านขั้นต่ำขึ้นมา ก็น่าจะเล่นได้สบาย ๆ แล้ว
TUNIC เป็นอีกหนึ่งเกมที่หลายคนมองข้ามไป อาจจะด้วยกระแสของเกมฟอร์มใหญ่ ความเงียบในการโปรโมท หรืออะไรก็ตาม แต่หากคุณอยากเล่นเกมที่ท้าทาย ให้อารมณ์โซลซีรีส์ แต่น่ารักกว่า เล่นง่ายกว่า เข้าถึงได้มากกว่า นี่คือทางเลือกที่ไม่เลวเลยทีเดียว
Verdict 8/10