เตรียมอาวุธของคุณไว้ให้พร้อม เพราะเราจะไปออกล่ามอนสเตอร์ด้วยกันกับเกมใหม่จาก EA และทีมงาน Omega Force ผู้สร้าง Dynasty Warriors
มันจะสนุกแค่ไหน ควรค่าแก่การเล่นไปยาว ๆ หรือไม่ ขอเชิญมาหาคำตอบได้ในรีวิว “Wild Hearts”
Story
เรื่องราวของเกมนี้ เกิดขึ้นในดินแดนที่เรียกว่า “Azuma” ซึ่งดูไปดูมาแล้ว มันก็คือญี่ปุ่นในยุคศักดินาอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ที่แตกต่างคือ Azuma นั้นมีสิ่งที่เรียกว่า “Kemono” อยู่ด้วย พวกมันคือสัตว์ประหลาดร่างยักษ์ที่หลอมรวมเข้ากับพลังงานธาตุต่าง ๆ จนมีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในดินแดนแห่งนี้ได้
ส่วนเรา คือนักล่าลึกลับที่เดินทางไกลมาจากแดนไกล ด้วยความมุ่งมั่นที่จะกำราบเหล่า Kemono ซึ่งโชคชะตาก็พัดพาเรามาพบเข้ากับ “Karakuri” เทคโนโลยีโบราณที่ทำให้เสกสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วจนน่าอัศจรรย์ และด้วยพลังนี้เอง เราจึงสามารถต่อสู้กับเหล่า Kemono ได้อย่างสูสีมากขึ้น
ในเวลาต่อมา เราก็เดินทางมาถึงหมู่บ้าน “Minato” ฐานที่มั่นสุดท้ายของมนุษย์ในดินแดนนี้ เพราะว่าที่อยู่อาศัยแห่งอื่นนั้นถูก Kemono ทำลายจนย่อยยับไปหมดแล้ว การปรากฏตัวของเราจึงเป็นเหมือนความหวังใหม่ของหมู่บ้าน ที่จะปกป้องทุกคนให้รอดพ้นจากการรุกรานของเหล่า Kemono
ประกอบกับว่าพักหลังมานี้ ก็มีคนพบเห็น Kemono จากต่างถิ่นมากขึ้น บางตัวก็มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ดังนั้นนอกจากจะรับบทเป็นผู้พิทักษ์แล้ว เราก็ต้องตามหาต้นตอของเหตุการณ์ประหลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย โดยมี Karakuri เป็นไพ่ตายใบสำคัญ สำหรับต่อสู้กับ Kemono ทุกตัวที่หาญกล้ามาขวางทาง
ฟังดูแล้วก็เป็นพล็อตเรื่องที่เรียบง่าย เราคือคนพิเศษที่เก่งเจ๋งกว่าทุกคน และรับจบทุกปัญหาที่สร้างขึ้นโดยเหล่ามอนสเตอร์ นอกจากนี้ ด้วยความที่ตัวเกมเปิดให้สร้างตัวละครได้อิสระ ทีมงานเขาก็เลยเว้นช่องว่างไว้ประมาณหนึ่ง เพื่อให้เราได้ Insert ตัวเองเข้าไปอยู่ในเนื้อเรื่อง แต่ก็แลกมากับการที่ตัวละครเราจะเป็นใบ้เกือบตลอด ทั้งเกมพูดอยู่คำเดียวคือ “โกเมน” (ขอโทษ) ก่อนลงมือสังหารมอนสเตอร์
ในด้านการดำเนินเนื้อเรื่องก็ไม่ได้หวือหวา บทพูดส่วนใหญ่จะเป็นอะไรที่เราเดาได้อยู่แล้ว เกิดปัญหานี้ เราก็ต้องไปทำอย่างนี้ และทุกคนก็ดูจะ Nice กับเรามาก ไม่มีความขัดแย้งใด ๆ ให้เห็นเลย สิ่งเดียวที่ตัวละครผู้เล่นได้รับ ก็คือคำเยินยอจาก NPC ทุกคนเวลาที่เราทำอะไรสักอย่างจนสำเร็จ เพียงเท่านั้น
แต่ถึง Wild Hearts จะไม่ได้เป็นเกมที่เน้นเนื้อเรื่อง ความยาวของ Story Quest ก็ค่อนข้างน่าพอใจเลยทีเดียว พอถึงจุดที่คิดว่าไคลแมกซ์แล้ว ควรจบได้แล้ว ก็ยังมีต่อได้อีกเรื่อย ๆ ดังนั้นก็ไม่ต้องกลัวว่ามันจะน่าเบื่อจนเกินไป เพราะถึงจะมีจังหวะเนือย ๆ เยอะ แต่จังหวะตื่นเต้นก็มีเยอะเช่นกัน โดยเฉพาะบทบาทในฝั่งมอนสเตอร์ ที่เวลาปรากฏตัวมาแต่ละครั้งนั้นดูหล่อเท่น่าเกรงขามไปหมดเกือบทุกซีน
Presentation
Wild Hearts เป็นเกมแอ็กชันที่เน้นฉาก Boss Fight เป็นหลัก มีความรุนแรงแต่ก็ไม่มีเลือด ไม่มีอะไรชวนสยองขวัญ พูดง่าย ๆ ก็คืออยู่ในเรตทั่วไป เล่นได้เพลิน ๆ ทุกวัย
ส่วนธีมของเกมนี้ ด้วยความที่ฉากหลังจะให้อารมณ์แบบญี่ปุ่นโบราณ ดังนั้นสภาพแวดล้อม อาคารบ้านเรือน เครื่องแต่งกายของผู้คน ก็จะอยู่ในธีมนั้นเช่นเดียวกัน รวมไปถึงชุดเกราะของผู้เล่นด้วย ที่บอกเลยว่าแต่ละชุดดูเท่แบบกินกันไม่ลง ใครหลงใหลความเป็นซามูไรหรือนินจารับรองว่าไม่มีผิดหวัง
อีกหนึ่งจุดที่ต้องชมก็คือวิวธรรมชาติของเกมนี้ พวกฉากทุ่งหญ้า ทุ่งดอกไม้ ถูกจัดวางองค์ประกอบศิลป์เอาไว้สวยงามมาก และอีกฉากที่ได้เห็นบ่อยก็คือตึกอาคารในสภาพพังทลาย ถูกปล่อยทิ้งร้างเพราะโดนมอนสเตอร์รุกราน อันนี้ก็มีมนต์เสน่ห์ชวนมองเหมือนกัน ช่วยเสริมบรรยากาศการต่อสู้กับมอนสเตอร์ได้ดีมาก จนรู้สึกว่าสิ่งมีชีวิตที่ยืนอยู่ตรงหน้า มันคือภัยคุกคามที่ทำให้ตัวเมืองตกอยู่ในสภาพเช่นนี้จริง ๆ
และเมื่อพูดถึง Kemono หรือก็คือมอนสเตอร์ในเกมนี้ ดีไซน์ส่วนใหญ่จะเป็นการอ้างอิงมาจากสัตว์โลกทั่วไป เรียกว่ามาครบเลยทั้งหมู หมา กา ไก่ แต่พวกมันคือเวอร์ชันที่ผสมพลังธาตุต่าง ๆ เข้าไปด้วย ตัวอย่างเช่น หมูป่า มีพลังธาตุไม้, หมาป่า ใช้พลังน้ำแข็ง หรืออีกาที่สามารถพ่นพิษได้ กล่าวคือ มันเป็นการหยิบสิ่งที่เราเคยรู้จักมาขยายเป็นไซส์บิ๊กให้เราได้สู้รบตบมือ
แต่เห็นว่าเป็นสัตว์โลกแบบนี้ คนที่กลัวแมงมุมก็สามารถเล่น Wild Hearts ได้ไม่มีปัญหา ไม่มีมอนฯ แบบนั้นในเกมแน่นอน ส่วนใครที่กลัวงู ในเกมนี้ก็ไม่มีงูตัวใหญ่ จะมีก็แค่พวกตัวเล็ก ๆ ที่ลอยไปลอยมาอยู่กลางอากาศเท่านั้น
และบรรดามอนสเตอร์ของเกมนี้ จะมี Subspecies ยิบย่อยอีกหลายแบบด้วย บางตัวที่เคยเสกธาตุไม้ได้ ต่อมาอาจจะเสกธาตุน้ำแข็งแทน และดุขึ้นกว่าเดิม ซึ่งตัวเกมจะแบ่งระดับมอนสเตอร์แบบกว้าง ๆ ได้ 3 ช่วง คือ
- ช่วงต้นเกมที่ระดับความยากประมาณ 1-3 ดาว
- ช่วงกลางเกมที่มีระดับ 4-5 ดาว รวมถึงมอนฯ ตัวเดิม แต่เติมคำว่า “Mighty” เข้ามาหน้าชื่อ
- และสุดท้ายคือช่วง End Game ที่มีระดับ 6 ดาวขึ้นไป พวกนี้จะมีคำว่า “Volatile” นำหน้าชื่อ ปลดล็อคให้สู้ได้หลังจากที่เราเล่นจบแล้ว และเมื่อชนะก็จะได้รับกุญแจเพื่อใช้ปลดล็อคเควสต์ไปสู้กับมอนสเตอร์ Volatile อีกระดับที่โหดขั้นสุด แต่แน่นอนว่าของดรอปก็ล่อตาล่อใจมากเช่นกัน
จุดหนึ่งที่ถือว่าทำออกมาได้ดีพอตัวสำหรับ Wild Hearts เห็นจะเป็นเรื่องของ UI ที่ออกแบบมาให้ใช้งานง่ายมาก ถึงเกมจะมีระบบเยอะ แต่ทุกอย่างถูกวางไว้ตามที่ตามทางของมัน อยากรู้ว่าวัตถุดิบอันไหน ต้องไปล่ากับมอนอะไร ในเกมก็มีสารานุกรมบอกไว้หมด, ตัวแผนที่ก็ดูรู้เรื่อง และตรงไหนที่มีการเลื่อนเคอร์เซอร์ ก็จะมีปุ่มให้กดเร่งความเร็วในการเลื่อนได้ด้วย
จะมีจุดที่น่าติหน่อยก็คงเป็นเรื่องของความพิถีพิถัน อย่างเวลาที่เราเคลียร์เควสต์สำเร็จ ตัวเกมก็จะโชว์ให้เราดูเฉย ๆ ว่ามีของดรอปอะไรบ้าง ทำเวลาไปเท่าไร จากนั้นก็ขึ้นชื่อเควสต์ปิดท้ายแค่นั้น ไม่ได้สื่อถึงความสำเร็จเท่าที่ควร และที่หนักเลยก็คือตอนเควสต์ล่ม เพราะตัวเกมจะขึ้นหน้าต่างเล็ก ๆ ให้รู้ว่าเราล้มเหลว (คล้ายหน้าต่าง Alert ในระบบวินโดวส์ก็ว่าได้) แล้วก็จบแค่นั้นทันที เลยรู้สึกว่ามันยังขาดความพรีเมี่ยม ให้สมเป็นเกมระดับ AAA ไปบ้างในบางจุด
และมีอยู่สิ่งหนึ่งในเกมนี้ที่เตะตาเรามากทีเดียว นั่นคือซับไตเติลภาษาอังกฤษ เพราะเราจะได้เห็นการใช้คำทับศัพท์ญี่ปุ่นบ่อยมาก คืออย่างคำว่า “Sensei” ที่แปลว่าครู อาจารย์ ยังพอเข้าใจได้เพราะเกมอื่นก็มีให้เห็นบ่อย แต่สำหรับ Wild Hearts มันมีเยอะกว่านั้นมาก ทั้ง “Irrashai”, “Sumanai”, “Sumimasen”, “Mazui”, “Kore Naraba”, “Tta ku” และอีกมากมาย พวกนี้มันไม่ใช่คำที่ไกจินทุกคนจะรู้ความหมาย ก็เลยดูตลกดีเหมือนกันที่เขาเลือกจะเขียนทับศัพท์แบบนี้
และด้วยความที่ Wild Hearts เป็นเกม Multiplayer ซึ่งจะมีอัปเดตอยู่เรื่อย ๆ หลายคนได้ยินแล้วก็อาจจะใจไม่ดี จ่ายรอบเดียวแล้วกลัวไม่จบ อันนี้ก็ขอให้สบายใจได้เลย เพราะทีมงานเขายืนยันมาแล้วว่าเกมนี้ไม่มี Microtransaction แน่นอน จากที่เราเห็นภายในเกมก็ดูเป็นแบบนั้นจริง ๆ ทุกอย่างเป็นระบบปิด ไอเท็มทั้งหมดได้มาจากการฟาร์ม (ยกเว้นของแถมจากการซื้อ Karakuri Edition) และที่สำคัญคือ Wild Hearts จะมี Free Update ให้ด้วยหลังจากที่เกมวางขายไปแล้ว ซึ่งก็ต้องรอดูยาว ๆ ว่าเขาจะอัปเดตมาต่อเนื่องแค่ไหนในอนาคต
Gameplay
หัวใจหลักของ Wild Hearts คือการเรียนรู้จากสมรภูมิจริง คุณต้องเข้าใจจังหวะในการต่อสู้ของเกมนี้ รู้จักตัวเองว่าทำอะไรได้บ้าง และก็ต้องรู้จักมอนสเตอร์ด้วยเหมือนกัน คอยสังเกตท่าทางอยู่เสมอว่ามันจะทำอะไรต่อไป แล้วรับมือให้ถูกวิธี
สำหรับ Flow ของเกมนี้ในหนึ่งตา จะเริ่มต้นด้วยการเปิดแผนที่ แล้วเลือกรับเควสต์เพื่อเข้าไปสู้กับมอนสเตอร์ที่เราอยากสู้ จากนั้นตัวเกมก็จะพาเราวาร์ปไปยัง Area ตรงนั้น สิ่งที่ต้องทำก็คือวิ่งตามหามันแล้วเริ่มต้นปะทะได้เลย
พอสู้กันไปกันมา ก็จะมีจังหวะที่มอนสเตอร์ถอยออกไปตั้งหลัก เปลี่ยนโลเคชันในการสู้ด้วยเหมือนกัน ในระหว่างนี้เป็นโอกาสที่เราได้พักหายใจ เตรียมไอเท็มใหม่ แวะฟาร์ม แล้วค่อยไปต่อยกสอง-ยกสาม ซึ่งแม้ว่าเกมนี้จะไม่มีหลอดเลือดของมอนสเตอร์ แต่เมื่อถึงจุดที่เราเห็นมันเดินกะเผลก ๆ ก็แปลว่ามันใกล้ตายแล้วนั่นเอง ที่เหลือก็แค่ปิดจ๊อบให้สำเร็จ ซึ่งในช็อตสุดท้าย พวกมันก็จะนอนศิโรราบให้เราได้ใช้ท่า Finisher ส่งไปสู่สุขคติแบบเท่ ๆ ด้วย จากนั้นก็เป็นอันว่าจบเควสต์
โดยในหนึ่งตาจะมีความยาวได้หลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับ DPS ของเรา, ความว่องไวในการเดินทาง และปัจจัยอื่น ๆ ดังนั้นก็อาจจะใช้เวลาได้ตั้งแต่ 5 นาที ไปจนถึงหลักชั่วโมงเลยทีเดียว (เต็มโควต้าที่เควสต์มีให้)
และนอกจากเควสต์สู้มอนฯ แบบปกติ บางโอกาสเราก็จะได้สู้กับมอนสเตอร์ไซส์ยักษ์ด้วยเช่นกัน เป็น Gimmick Bossfight ที่ถึงจะไม่ได้ใช้ฝีมือมาก แต่ก็ถือว่าเปลี่ยนบรรยากาศไปอีกแบบ
ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ต้องบอกว่า Wild Hearts ไม่มีให้เลือกปรับระดับความยาก มอนสเตอร์ในเกมนี้ไม่ปรานีให้ใคร และว่องไวกันแทบทุกตัว ดังนั้นปฏิกิริยาตอบโต้ของเราก็ควรเร็วตามไปด้วย ใครที่รู้ตัวว่าหลบไม่เก่ง อย่างน้อยก็ต้องขยันฟาร์ม อัปเกรดชุดเกราะมาให้แน่น ๆ ทดแทน เพราะถ้าตัวเราบางมากเกินไปก็เสี่ยงจะเจอกับความโหดระดับ One Hit Kill ได้เลย
โดยเฉพาะถ้าเล่นเกมนี้แบบ Single Player ก็ต้องทำใจว่าเกมมันจะยากขึ้นอีกระดับ เพราะเราจะไม่มีเพื่อนมาคอยแบ่งความสนใจไปจากมอนสเตอร์เลย แต่นับว่าโชคยังดีที่เกมนี้มีระบบคู่หูมาช่วยเหลือเราด้วย มันคือโรบอทตัวกลมจิ๋วที่เรียกว่า “Tsukumo” ซึ่งช่วยดึงความสนใจได้เป็นพัก ๆ หรือถ้าเราใกล้ตาย มันก็จะใช้สกิลฮีลให้เรา ดังนั้นใครที่เป็นสายโซโล่, Tsukumo ก็คือเพื่อนที่ดีที่สุดสำหรับคุณอย่างไม่ต้องสงสัย
สำหรับอาวุธในเกมนี้จะมีทั้งหมด 8 ชนิด แต่ละอย่างไม่ได้มีท่าโจมตีซับซ้อนมาก ใช้เวลาไม่นานก็เรียนรู้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นท่าโจมตีปกติ 2 แบบ และถ้ากดปุ่ม R2 ก็จะเป็นการใช้ท่าพิเศษของมัน
โดยอาวุธแรกสุดที่ผู้เล่นทุกคนจะได้ใช้คือดาบคาตานะ ตัวดาบนี้มาพร้อมกับเกจท่าไม้ตาย ซึ่งสะสมได้จากการโจมตีบ่อย ๆ และเมื่อใดที่เกจเต็ม คุณสามารถกดใช้ท่าพิเศษ เพื่อเปลี่ยนไปเป็นโหมดแส้ ทำความเสียหายได้รุนแรงกว่าเดิมในระยะเวลาสั้น ๆ
อาวุธต่อมาคือดาบใหญ่ Nodachi, ซึ่งก็แน่นอนว่ามาพร้อมพลังทำลายล้าง ที่แลกกับความเชื่องช้า ส่วนท่าพิเศษจะเป็นการชาร์จดาบ เพื่อรอโจมตีใส่ศัตรูตูมเดียวอย่างรุนแรง แต่ส่วนนี้เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างกินเวลาชาร์จนานเกินไปหน่อย และไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันจะมีสกิลอะไรมาลดระยะเวลาได้หรือไม่
อาวุธชิ้นที่สามคือธนู ซึ่งเก่งกาจในการต่อสู้ระยะกลาง ตัวธนูสามารถสับเปลี่ยนไปมาได้สองโหมด คือโหมดยิงรัวกับโหมดชาร์จยิง นอกจากนี้ก็สามารถกดตั้งธนูเพื่อใช้ท่าพิเศษของแต่ละโหมดได้ด้วย อันนี้ก็แล้วแต่ความชอบเลยว่าอยากเล่นสาย Hit and Run หรือเน้นชาร์จยิงใส่มอนฯ แบบหนัก ๆ ในระยะเผาขน
สำหรับอาวุธถัดมาเป็น “Bladed Wagasa” หรือก็คือร่มญี่ปุ่นที่ติดใบมีดเหล็กเอาไว้ตรงขอบ อันนี้จัดว่ามีความคล่องตัวสูง และยังใช้ Parry ศัตรูได้ด้วย ซึ่งถ้า Parry โดน ก็สามารถทำคอมโบสวนกลับได้อย่างรุนแรง เรียกว่าทั้งเก่งทั้งเท่ และนี่อาจจะเป็นอาวุธที่ได้รับความนิยมสูงทีเดียวเมื่อเกมวางขายจริง
เป็นเกมแอ็กชันทั้งที ก็คงจะขาด “ค้อน” ไปไม่ได้ ซึ่งค้อนของเกมนี้ก็ทำงานได้ตรงฟังก์ชันของมัน หน้าที่หนึ่งเดียวนั่นคือการทุบ ทุบ และทุบให้แหลก คุณสามารถใช้ประโยชน์จากแรงโน้มถ่วงด้วยการกระโดดทุบจากที่สูงอย่างรุนแรง หรือถ้ามอนฯ เปิดช่องว่างเมื่อใด จะกดใช้ท่าพิเศษเพื่อเหวี่ยงค้อนใส่เป็นชุดก็ทำได้เหมือนกัน
อาวุธระยะไกลอีกชิ้นของเกมนี้คือปืนใหญ่ อันนี้ก็ทำหน้าที่ตรงตัว แต่พิเศษหน่อยตรงที่ปืนใหญ่ของ Wild Hearts จะยิงได้รัวมาก ทั้งนี้ก็ถูกจำกัดไว้ด้วยจำนวนกระสุน และต้องคอยระวังไม่ให้มัน Overheat เพราะจะเสียจังหวะโจมตีไปพักหนึ่ง
อาวุธต่อมาคือ “Claw Blade” ที่เป็นเชือกติดปลายด้วยใบมีด นี่น่าจะเป็นอาวุธที่คล่องแคล่วที่สุดในเกมแล้ว มันทำให้คุณสามารถโจมตีและกระโดดหลบได้กลางอากาศถึงสองรอบ ใครชอบรัวปุ่ม ชอบเห็นตัวเลขดาเมจขึ้นมาเยอะ ๆ ก็ควรจะลองอาวุธนี้ก่อนเป็นชิ้นแรกเลย
และปิดท้ายด้วย “Karakuri Staff” นี่คืออาวุธที่สามารถเปลี่ยนร่างได้ 4 โหมด ได้แก่กระบอง, ใบมีด, ชูริเคน และง้าว ซึ่งระหว่างที่เราทำคอมโบอยู่ ก็สามารถกดเปลี่ยนโหมดแล้วโจมตีต่อได้ทันที จึงมีความยืดหยุ่นสูง แต่ก็น่าเสียดายที่มันต้องเปลี่ยนร่างตามลำดับเท่านั้น กดข้ามไปหาโหมดที่ต้องการเลยไม่ได้
จากทั้งหมดที่ว่ามา จะเห็นว่าอาวุธของเกมนี้ต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถึงจะเรียนรู้ไม่ยาก แต่ก็ต้องใช้เวลาเพื่อเล่นให้เข้ามือเราที่สุดในสถานการณ์จริง
ในส่วนของการอัปเกรดอาวุธ, เกมนี้มี Tree ให้เราเลือกสายอาวุธที่ต้องการอยู่เยอะมาก แต่ละสายก็ใช้ของอัปเกรดต่างกัน และมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน บางอันเน้นกายภาพ บางอันจะโจมตีเป็นธาตุต่าง ๆ โดยทุกครั้งที่อัปเกรด เราสามารถเลือกสกิลที่ถูกใจในอาวุธชิ้นเก่า แล้วส่งต่อไปยังอาวุธชิ้นใหม่ได้เลย
นอกจากนี้ตัวเกมก็เปิดโอกาสให้เรา “Undo” การอัปเกรดได้ ใครอัปไปสายไหนแล้วไม่ถูกใจก็แค่กดย้อนกลับมา ของที่เคยใช้อัปเกรด ก็จะได้คืนมาแบบครบถ้วนด้วย ถือว่าเป็นระบบที่ใจดีกับผู้เล่นมากทีเดียว มันทำให้เรากล้าลอง Build ใหม่ ๆ โดยไม่ต้องกลัวเสียดายของ จะเสียอย่างเดียวก็คือเงินในเกมเท่านั้น
แต่เห็นว่า Tree ดูหลากหลายแบบนี้ สุดท้ายปลายทางแล้ว มันก็จะไปบรรจบกันที่อาวุธแค่ 2 ชิ้นเท่านั้น นั่นหมายความว่าตัวเลือกอาวุธตอน End Game ของเราก็ไม่ได้เยอะเท่าไร ต่างจากระบบอัปเกรดชุดเกราะพอสมควรเลย เพราะใน Wild Hearts มีชุดเกราะท้ายเกมที่ค่า Defense เท่ากันให้เลือกอยู่เยอะ และไปแตกต่างกันตรงค่าความต้านทานธาตุ กับสกิลของชุดเกราะที่เก่งกันคนละแบบ ขึ้นอยู่กับว่าเราเอาไปใช้ในสถานการณ์ใด
และก็มาถึงพระเอกของเรา นั่นคือระบบ “Karakuri” ซึ่งเป็นจุดขายหลักของเกมนี้เลยก็ว่าได้ มันคือระบบที่ทำให้เราสามารถเสกสิ่งก่อสร้างมาช่วยสู้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ก็ยังช่วยให้เดินทางสะดวกขึ้นด้วย เช่นการใช้ใบพัดคอปเตอร์เพื่อบินข้ามแมพ หรือการสร้างกล่องมาวางซ้อนเพื่อกระโดดขึ้นที่สูง มันจึงเป็นระบบที่เปิดกว้างให้เราได้สร้างสรรค์สไตล์การเล่นมาก ๆ และทีมงานก็ทำออกมาดีเสียด้วย
โดยผู้เล่นหนึ่งคน จะสามารถติดตั้ง Karakuri ไว้กับตัวได้ 4 แบบ จากทั้งหมด 7 แบบ แต่ละอันก็มีคุณสมบัติต่างกันไป ที่สำคัญเลยคือ 7 อันนี้เป็นแค่ตัวตั้งต้นเท่านั้น เพราะมันสามารถใช้ผสมกันให้กลายเป็น Karakuri แบบพิเศษได้มากมาย เช่นถ้าเราเสกกล่องออกมาติด ๆ กัน 6 อัน มันก็จะเปลี่ยนเป็นกำแพงช่วยป้องกันได้อย่างแน่นหนา หรือถ้าเอาแบบ Advance ขึ้นมาหน่อย ก็อาจจะกดเป็นแท่นกระโดด 1 อัน วางคบไฟซ้อนไว้ 1 อัน แล้วประกบด้วยแท่นกระโดดอีกรอบ ก็จะเปลี่ยนเป็นลูกระเบิดโจมตีเป็นวงกว้างได้เลย
ฉะนั้นเราจะสนุกกับการจำสูตรผสม และปลดล็อค Karakuri แบบใหม่ ๆ กันตลอดทั้งเกม และด้วยความที่เราพกตัวตั้งต้นไปหมด 7 อันเลยไม่ได้ หยิบได้แค่ 4 เท่านั้น ก็จะต้องวางแผนให้ดีก่อนล่า ถ้าไปกับเพื่อนเป็นปาร์ตี้ ก็ตกลงกันให้ดีว่าใครจะเสกอะไร เพราะมอนสเตอร์แต่ละตัวนั้นมีการรับมือไม่เหมือนกัน บางตัวจะแพ้ Karakuri บางอันมากเป็นพิเศษ เช่นมอนสเตอร์หมูป่า เราสามารถสร้างกำแพงขึ้นมาขวางไว้ได้ก่อนมันพุ่งมาขวิดเรา มันก็จะชนกำแพงจนเสียหลักล้มไปเลย หรือถ้าเป็นมอนสเตอร์ที่ชอบบินบนฟ้าบ่อย ๆ ก็อาจจะสร้างเป็นระเบิดแฟลช ทำให้มันสตันแล้วร่วงลงพื้นมาก็ได้ สร้างจังหวะให้เราใส่คอมโบได้หนึ่งชุดใหญ่
เห็นว่าระบบดูดีแบบนี้ แต่ก็มีจุดที่ขัดใจคนเล่นได้เหมือนกัน เพราะตอนกดสูตรสร้าง Karakuri ควรจะยืนอยู่เฉย ๆ เท่านั้น ห้ามขยับ ไม่อย่างนั้นจะทำให้เราสร้างผิดตำแหน่งและเสียของไปฟรี ๆ ได้ อีกอย่างคือถ้ากดเร็วจนเกินไปก็อาจเจอว่ากดติดบ้างไม่ติดบ้าง ซึ่งอันนี้เรายังไม่แน่ใจว่าเป็นที่ Input Lag หรือสาเหตุอะไรกันแน่
และนอกจาก Karakuri ประเภทใช้แล้วหมดไป ใน Wild Hearts ก็มีสิ่งที่เรียกว่า “Dragon Karakuri” อยู่ด้วย พูดง่าย ๆ ว่ามันคือสิ่งปลูกสร้างถาวรที่เราวางไว้ได้เลยตามแผนที่ต่าง ๆ
ตรงนี้ก็เป็นอีกจุดที่สนุกเหมือนกัน เพราะเราเลือกได้เลยว่าอยากให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้างในแคมป์ เช่นวางแท่นตีเหล็ก แล้วอัปเกรดอาวุธระหว่างที่ทำเควสต์อยู่, วางเรดาห์ไว้สแกนหามอนสเตอร์รอบ ๆ หรืออาจจะสร้างเครื่องยิงสลิงเพื่อโหนขึ้นที่สูงไปเลยเขาก็ไม่ห้าม ซึ่งถ้าเราเลือกตำแหน่งก่อสร้างดี ๆ มันก็จะประหยัดเวลาเดินทางไปได้เยอะมาก โดย Dragon Karakuri จะถูกจำกัดจำนวนไว้ด้วยค่า Cost ที่เราสามารถเพิ่มได้ภายหลัง
สำหรับระบบ Multiplayer ของเกมนี้ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ตัวเกมรองรับการเล่นพร้อมกันสูงสุด 3 คน ใช้ระบบ Session จบไปเป็นตา ๆ ใครอยากได้ความช่วยเหลือก็แค่กดแชร์แล้วรอคนเข้ามาในห้องของเรา หรือถ้าอยากไปช่วยคนอื่น ก็กด Join Session ได้จากในแผนที่โดยตรง
ความสนุกของการเล่น Multiplayer คือเราจะได้เข้าไปเห็นวิธีการสร้าง Dragon Karakuri ของผู้เล่นคนอื่นด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเขาวางตำแหน่งไม่เหมือนเราอยู่แล้ว อันไหนที่เวิร์ค ก็อาจจะเอาไอเดียกลับมาใช้บ้างในโลกของเราทีหลัง
และจุดที่ทำให้ Multiplayer นั้นง่ายกว่า Single Player ก็คือถ้า HP เราหมด เราจะยังไม่ตายทันที แต่จะล้มลง และมีเวลาพักหนึ่งให้เพื่อนมาช่วยชุบเราได้ ถ้าเล่นกันเป็น Team Work ก็อาจจะให้เพื่อนคนหนึ่งไปดึงความสนใจมอนสเตอร์ ลากมันออกไปไกล ๆ ก่อน แล้วอีกคนก็วิ่งมาชุบเราได้ ซึ่งแผนนี้มันทำได้ง่ายเลย เพราะเราจะใช้ระเบิดแฟลชถ่วงเวลาไว้ก็ได้ ตั้งกำแพงป้องกันก็ได้ หรือจะเสกฉมวกมายิงจับตัวมอนสเตอร์เอาไว้ก็ยังได้ คือเกมนี้มันไม่ได้มีวิธีแก้ปัญหาแค่วิธีเดียว ระหว่างที่เล่น ถ้าเรานึกอะไรออกแล้วคิดว่าเวิร์ค มันก็อาจจะเวิร์คจริง ๆ ถ้าได้ลองทำดูสักตั้ง
จากที่เราเล่นมา 50 กว่าชั่วโมง สิ่งที่รู้สึกได้ตลอดเวลาเลยก็คือเกมมันสนุกขึ้นเรื่อย ๆ จริง ๆ จากตอนแรกที่เคยคิดว่า “มันจะมี Karakuri ไว้ทำไม” กลับกลายเป็นของที่ขาดไปไม่ได้ ยิ่งปลดก็ยิ่งเก่ง ยิ่งอยากเห็นว่าของเล่นชิ้นถัดไปที่เกมจะนำเสนอเราเป็นอย่างไร คือถ้าใครได้เห็น Skill Tree ของระบบนี้ครั้งแรก เชื่อว่าน่าจะช็อคกันทุกคน เพราะมันยาวเหยียดเหลือเกิน เลื่อนเคอร์เซอร์ลงมาเกือบสิบวินาทีถึงจะสุด ถึงแม้ว่ามันจะมีอัปเกรดย่อย ๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่มันอัปเกรดแล้วก็เห็นผลจริง และนี่แหละ คือเป้าหมายหลักที่จะทำให้ทุกคนอยากฟาร์มกับเกมนี้
พูดถึงเรื่องฟาร์ม, Wild Hearts ก็เป็นอีกหนึ่งเกมที่เน้น Grinding มาก ๆ วัตถุดิบบางชิ้นจะดรอปแบบ RNG ตามแผนที่, บางชิ้นดรอปเมื่อเราโจมตีมอนสเตอร์ถูกจุด แล้วทำลายชิ้นส่วนของมันได้เท่านั้น ดังนั้นอย่างที่บอกไปว่าควรจะต้องวางแผนก่อนออกล่าเสมอ เช็คให้ดีว่าไอเท็มไหนดรอปด้วยเงื่อนไขอะไร เพราะคงไม่มีใครอยากเสียเวลา 10-20 นาที เล่นจนจบตาแล้วไม่ได้ของที่ต้องการเป็นแน่
อย่างสุดท้ายที่ไม่พูดถึงก็คงไม่ได้ และคิดว่าแฟน ๆ เกมตระกูล Monster Hunter ทุกคนคงอยากรู้ นั่นคือเกมนี้มันเหมือนกับ Monster Hunter หรือเปล่า ? ซึ่งถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่าหลายคนคงได้คำตอบแล้วว่ามัน “เหมือนเกิน 50%” เลยทีเดียว เล่น ๆ ไปจะรู้สึกเดจาวูหลายครั้งมาก ยิ่งถ้ามีพื้นฐานกับ Monster Hunter มาก่อน ก็จะปรับตัวและเล่นเกมนี้ให้ชำนาญได้ไวสุด ๆ
โดยหากตัดระบบ Karakuri ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ออกไป เราจะเห็นว่ามันมีทั้ง
- การใช้ระเบิดแฟลชเพื่อสอยตัวบินให้ร่วงพื้น
- มีการขุดแร่ ล่ามอนสเตอร์ตัวเล็กเพื่อเอามาคราฟต์อาวุธ-ชุดเกราะ
- มีระบบนำทางคล้ายกับ Monster Hunter World
- ถ้าเราโดนโจมตีหลาย ๆ ครั้งก็จะทำให้เราติดสตันได้
- มีจังหวะที่มอนสเตอร์โกรธ / เหนื่อย / ล้มเสียท่า / หลับ / เดินกะเผลกเพราะใกล้ตาย
- และมอนสเตอร์สามารถคำรามได้ ซึ่งถ้ากลิ้งให้ถูกจังหวะ เราก็จะหลบเสียงคำรามของพวกมันได้เหมือนกับเกม Monster Hunter ไม่มีผิดเพี้ยน
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทีมผู้พัฒนาอย่าง Omega Force ทำเกมล่ามอนสเตอร์ในลักษณะนี้ เพราะในอดีตพวกเขาก็เคยทำเกมอย่าง Toukiden ออกมาแล้วสองภาค ซึ่งจุดนี้ก็แล้วแต่คนจะมองว่า Wild Hearts คือเกมทางเลือกเกมใหม่สำหรับแนวนี้หรือเปล่า แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เท่าที่เราได้สัมผัสกับระบบต่าง ๆ ก็คงต้องบอกว่ายากจริง ๆ ที่จะไม่โดนเอาไปเปรียบเทียบกันกับ Monster Hunter
Performance
สำหรับ Wild Hearts เราได้เล่นอยู่ 2 แพลตฟอร์มคือ PC กับ PlayStation 5 และก็พบว่ามันมีปัญหาด้วยกันทั้งคู่ บางจุดก็แตกต่าง และบางจุดก็เหมือนกัน
โดยแพลตฟอร์มที่เราเล่นเป็นหลักคือ PlayStation 5 ซึ่งถึงแม้จะเป็นเครื่องคอนโซลที่น่าจะ Optimize เกมได้ง่าย แต่มันก็ยังทำ Framerate ได้ไม่น่าพอใจนัก คือต้องบอกว่าตัวเกมมีให้เลือกอยู่ 2 โหมด ได้แก่โหมด Resolution (ความละเอียดสูง) กับ Performance (Framerate สูง) แต่เอาเข้าจริงแล้ว พอเป็นเกมที่เน้นแอ็กชันเต็มสูบขนาดนี้ มันก็เหมือนบังคับกลาย ๆ ให้เราต้องเลือกแต่โหมด Performance เท่านั้นอยู่ดี
แต่ถึงจะเลือกโหมดดังกล่าว ตัวเกมก็ไม่ได้รันอยู่ที่ 60 FPS ตลอด เราเห็นอาการเฟรมตกทุกครั้งเวลาที่มอนสเตอร์ระเบิดพลัง (เข้าโหมดโกรธ) และยิ่งถ้าเป็นสกิลประเภทสร้างหมอก สร้างควัน หรืออยู่ในฉากฝนตก หิมะตก ก็จะยิ่งเห็นอาการนี้ได้ชัดเจนขึ้นไปอีก
ส่วนเวอร์ชัน PC เราได้ลองเล่นกับการ์ดจอ RTX 2070 ซึ่งอยู่ในสเปคขั้นแนะนำของเกมนี้ แต่สิ่งที่พบคือมันต้องปรับลงมาถึงระดับ Low เลยทีเดียว ในความละเอียด Full HD ถึงจะทำ Framerate ขึ้นไปแตะที่ 60 ได้ แถมยังมีอาการเฟรมตกให้เห็นเป็นเรื่องปกติ ตรงนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะว่าถ้า Wild Hearts ยังเข้าถึงได้แค่คอนโซลกับ PC สเปคสูง ๆ อยู่อย่างนี้ ก็คงหวังให้เกมมีคนเล่นเยอะ ๆ ยากเหมือนกัน
นอกจากนี้ ทุกครั้งที่เราเข้าคัตซีนก็ยังถูกล็อค Framerate ไว้ที่ 30 อยู่เสมอด้วย ทั้งบน PlayStation 5 และ PC แม้ว่ากราฟิกและการ Render จะดูไม่ต่างจากตอนเล่นจริงเลยก็ตาม จึงน่าสงสัยว่าทีมงานมีเหตุผลเชิงเทคนิคอะไรกันแน่ที่ทำให้ต้องล็อค Framerate เอาไว้
แต่ด้วยความที่เราเล่นเกมนี้ก่อนวางจำหน่าย เพราะฉะนั้นก็ยังมีลุ้นว่าทีมงาน Omega Force จะแก้ไขปัญหาด้าน Performance ได้บางส่วนในแพทช์ Day One, อาจจะไม่ต้องแก้ได้หมดแบบ 100% แต่ขอให้ลดแรงกระแทกลงได้บ้างก็ยังดี ทั้งนี้พวกเขาก็ยืนยันแล้วว่าเกมจะมีอัปเดตให้รองรับลูกเล่น NVIDIA DLSS และ AMD FSR ด้วย ตรงนี้ก็จะมีส่วนช่วยให้ได้ Framerate ที่ดีขึ้นเช่นกันสำหรับชาว PC
และถึงจะดูเป็นเกมที่กินแรงฮาร์ดแวร์ขนาดนี้ กราฟิกของ Wild Hearts ก็ไม่ได้ถึงกับเป็นระดับ Next-gen มาก เราพบอาการภาพแตก ภาพเบลอบน PlayStation 5 บ่อยจนเป็นเรื่องปกติ วัตถุหนึ่งชิ้นอาจจะมี Texture บางส่วนที่กลายเป็นดินน้ำมันไปเลยแบบหาเหตุผลไม่ได้ และถึงแม้ว่างานศิลป์ของเกมนี้จะเน้นแสงสีจัดจ้าน แต่มันก็ดูสวยแค่แบบผ่าน ๆ ตา เพราะเมื่อใดที่ตั้งใจดูวัตถุในฉาก ก็จะเห็นความหยาบแฝงอยู่แทบทุกจุด
อีกหนึ่งสิ่งที่เกมนี้ยังทำได้ไม่ดีพอ นั่นคือเรื่องของมุมกล้อง เพราะเราจะได้เห็นการซูมที่ประชิดผิดเพี้ยนบ่อยมาก เวลาต้องสู้แบบหันหลังชนกำแพง, สู้ในที่ชัน ยิ่งถ้าใครชอบกดล็อคเป้ามอนสเตอร์เอาไว้ก็จะยิ่งเห็นความนรกแตก เพราะเมื่อใดที่มันพุ่งเข้ามาหาเรา จะมีโอกาสที่กล้องสะบัด หรือไม่ก็เจอว่าโมเดลของมอนสเตอร์มันบังจอจนดูไม่รู้เรื่องไปเลยพักหนึ่ง
เท่านั้นยังไม่พอ ปัญหาที่เราพบบ่อยมากก็คือบั๊กเรื่องการแสดงผล เช่นวัตถุในฉากไม่ยอมโหลด ต้องรออยู่หลายวินาทีกว่ามันจะมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกับ Dragon Karakuri ที่เราสร้างเอาไว้ตามแมพ แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เราเจอว่าเฟอร์นิเจอร์ประกอบฉากมันก็โหลดไม่ขึ้นด้วยเหมือนกัน และสำหรับคราวนั้น รอนานเท่าไรก็ไม่กลับมาเป็นปกติ
ไม่ใช่แค่กับสิ่งของประกอบฉากเท่านั้น เพราะเราก็เคยเจอบั๊กการแสดงผลกับอาวุธด้วย นั่นคือ Claw Blade ที่เป็นเชือกติดปลายด้วยใบมีด อาการคือตัวเรายืนถืออาวุธอยู่เฉย ๆ แต่ตัวใบมีดมันจะชี้ออกมาแบบสะเปะสะปะ ทำท่าเหมือนร่างกายต้องการปะทะเต็มที่ ถึงจะดูแล้วตลกดี แต่ Claw Blade ก็เป็น 1 ใน 8 อาวุธของเกมนี้ที่จะต้องมีคนใช้เป็นอาวุธหลักอยู่ไม่มากก็น้อย และถ้าลองได้เห็นอาวุธตัวเองบั๊กบ่อย ๆ เชื่อว่าก็คงจะเสียอารมณ์อยู่เหมือนกัน
อีกหนึ่งสิ่งที่เราเจอเป็นเรื่องปกติมาก ๆ นั่นก็คือเครื่องยิงสลิงจะชอบรีเซ็ตตัวเองอยู่เสมอ เจ้าเครื่องนี้เป็นหนึ่งใน Dragon Karakuri ที่สามารถเล็งยิงลวดสลิงไปตามจุดต่าง ๆ ได้เท่าที่มันจะเอื้อมถึง จากนั้นก็สามารถโหนสลิงไป-กลับได้อย่างรวดเร็ว ประเด็นคือบางครั้งลวดสลิงก็จะหายไป ทำให้ต้องมาเสียเวลาเล็งยิงใหม่อีกรอบ ตรงนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นบั๊ก หรือเป็นความจงใจของเกมที่อยากให้มันรีเซ็ตอยู่แล้วด้วยเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งถ้าเป็นแบบหลัง ก็คงต้องบอกว่ามันสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีสักเท่าไรจริง ๆ
Verdict
อาจจะยังต้องปรับปรุงอยู่หลายจุดเพื่อให้เป็นเกมที่สมบูรณ์พร้อม แต่ Wild Hearts ก็โดดเด่นในเรื่องเกมเพลย์อย่างยิ่ง จนพูดได้ว่าถ้าคุณยังทนไหว ไปให้ถึงจุดที่เสก Karakuri ได้เยอะ ๆ เมื่อไร มันก็จะเป็นเกมที่สนุก เล่นต่อเนื่องติดลมกันไปยาว ๆ แน่นอน
ถึงอย่างไร Wild Hearts ก็ยังจัดว่าเป็นเกมที่ตีตลาดเฉพาะกลุ่ม, ขายในราคาระดับเกม AAA และยังกินแรงเครื่องเกินความจำเป็น ดังนั้นใครที่ไม่ได้ชื่นชอบแนวนี้จริง ๆ รวมถึงยังไม่มั่นใจว่าเครื่อง PC ตัวเองจะรับมือไหวหรือไม่ ก็ไปลองเล่นในบริการ EA Play กันก่อนได้ (สมาชิก PC Game Pass จะได้สิทธิ์เข้าถึง EA Play ด้วย) ซึ่งส่วนนี้จะจำกัดไว้ 10 ชั่วโมง, มีเนื้อหาแค่ก่อนถึงหมู่บ้าน Minato แต่ก็สามารถนำเซฟไปเล่นต่อในเกมเต็มได้ทันที ซึ่งพอถึงจุดนั้นแล้ว ค่อยตัดสินใจซื้อก็ยังไม่สาย
Story : 6/10
Presentation : 8/10
Gameplay : 9/10
Performance : 5/10