จะเป็นยังไงเมื่อนักบินตัวจริงจากสายการบินในไทยมารีวิว Microsoft Flight Simulator ให้เราดู
ถือเป็นเกม Flight Sim ฟอร์มยักษ์ที่หลายคนจับตามองแถมหลังเปิดตัวก็สร้างกระแสได้ไม่เลว กลายเป็นเกมที่สื่อชั้นนำหลายแห่งยกให้เป็นเกม Next Gen ที่แท้จริง เพราะตัวเกมมาพร้อมเทคโนโลยีล้ำ ๆ มากมาย แต่สุดท้ายแล้วในฐานะวีดีโอเกม Microsoft Flight Simulator สอบผ่านหรือเปล่าและน่าสนใจขนาดไหน วันนี้เราขอให้ “นักบิน” และ “เกมเมอร์” ตัวจริงมารีวิวเกมนี้ให้เราดูกัน และนี่คือความคิดเห็นของเขาครับ
ห่างหายกันไปนานถึง 14 ปีจากภาคก่อน แล้ววันนี้มันก็กลับมาอีกครั้งในรูปแบบใหม่ที่ไฉไลขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น ภาพสวยขึ้น และแน่นอนว่ามันก็กินสเปคมากขึ้น ภายใต้ชื่อของแฟรนไชส์ Microsoft Flight Simulation (2020) หากมองย้อนกลับไปที่ภาคก่อน Microsoft Flight Simulator X หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า FSX นั่นก็เป็นภาคหนึ่งที่ปฏิวัติวงการเกมซิมูเลเตอร์ มันเป็นเกมแรกๆ ที่ใช้เปิดตัว DirectX 10
ซึ่งบอกได้เลยว่าในยุคนั้น ภาพมันโคตรสวย แต่ถึงกระนั้น สเปคคอมพิวเตอร์ซีพียู 4 คอร์ Intel Q6600 การ์ดจอ nVidia 8800GT และแรม 8GB ซึ่งจัดว่าเป็นสเปคคอมที่ค่อนข้างไฮเอนด์และอยู่ในจุด “sweet spot” ในขณะนั้นก็ยังเอาไม่อยู่ จนสุดท้ายต้องปรับกราฟฟิกบางส่วนมาที่ medium บ้าง หรือ low บ้าง จนมีคำแซะใหม่เกิดขึ้นก็คือ “Can it run FSX?” พร้อมๆ กับเกม Crysis กันเลยทีเดียว
เรื่องที่ผมจะต้องพูดและทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน นั่นก็คือ “คอมของเราจะเล่นได้มั้ย?” เรื่องของประสิทธิภาพ ไม่พูดก็คงไม่ได้ต่อให้ผมอยากเขียนบทความนี้โดยเน้นที่ประเด็น “ความรู้สึกหลังเล่นในมุมของนักบิน” ซักแค่ไหน เพราะ MSFS เป็นเกมที่ใช้ทรัพยากรเครื่องค่อนข้างสูงเช่นเดียวกับ FSX เพียงแต่ MSFS นั้นทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม หากเทียบกับฮาร์ดแวร์รุ่นที่ออกมาในยุคสมัยเดียวกัน
ก่อนอื่นเลยเราต้องเปิดใจยอมรับก่อนว่าเกมนี้ใช้เวลาโหลดเข้าเกมนานมากๆ ต่อให้ลงเกมใน SSD M.2 NVME ก็ยังใช้เวลาร่วม 2 นาทีในการเข้าเกมมาถึงหน้าเมนูล็อบบี้ และใช้เวลาโหลดแมพอีก 1 นาทีในการเข้าเล่นเกม ผมขอการันตีว่าคอมระดับ Mid-End ขึ้นไปของใครหลายๆ คนสามารถเล่นเกมนี้ได้โดยไม่ติดขัดเสียอรรถรสอย่างแน่นอน
แต่เราจะไม่มีทางได้เห็นก้อนเมฆลอยตุ๊บป่องหรือเครื่องบินกางล้อที่ 120fps อย่างแน่นอน เพราะเฟรมเรทเฉลี่ยของเกมนี้จะติดแหง่กอยู่ที่ 30-70fps เท่านั้นต่อให้คุณใช้การ์ดจอ RTX2080Ti แต่นั่นมันก็เพียงพอแล้วกับการเล่นเกมสไตล์ “กินลมชมวิว” ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เฟรมเรทสูงหันมุมกล้องไปมาแบบเกม FPS
สำหรับคอมของผมที่ใช้เล่นเกมนี้ มีสเปค CPU Intel i9 9900K การ์ดจอ RTX2070 แรม 16GB สามารถรันเฟรมเรทเฉลี่ย (ณ วันที่เกมวางจำหน่ายและอัพเดตไดรเวอร์การ์ดจอเวอร์ชั่นล่าสุด) ได้ที่ 30-40fps ในกราฟฟิกระดับ High (ต่ำสุดลดลงมาที่ประมาณ 25 fps) ปัญหาสำหรับคอมของผมนั้นคือผมใช้จอ Ultrawide ที่มีความละเอียด 3440*1440 ซึ่งสูงเกินจำเป็น ทำให้การ์ดจอทำงานหนัก ดังนั้นใครที่ใช้จอ FHD สเกล 16:9 หรือ 16:10 จะสามารถเพิ่มเฟรมเรทจากจุดนี้ขึ้นได้อีกเยอะ เช่นเดียวกับการปรับกราฟฟิกลดลงมาที่ระดับ Medium ซึ่งยังคงความสวยงามของแสงเงาและโมเดลเครื่องบินอยู่ไม่ต่างจาก High หรือ Ultra เลย
จุดแตกต่างที่สังเกตได้ชัดเจนที่สุดของกราฟฟิก 3 ระดับตั้งแต่ Medium-High-Ultra นั้นคือปริมาณของอาคารบ้านเรือน ก้อนเมฆ และต้นไม้ใบหญ้าแค่นั้น ส่วนภาพระดับ Low นั้นความสวยงามจะลดลงมาจาก Medium ค่อนข้างมาก แต่ตัวเกมไม่สามารถทำเฟรมเรทเพิ่มขึ้นได้ตามคุณภาพของภาพที่ลดลงเท่าที่ควร ฉะนั้นจึงไม่แนะนำเท่าไหร่ ถ้าเราเข้าใจข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพนี้ตรงกันแล้ว ก็ไปเข้าประเด็นหลักกันได้เลย
ประเด็นแรกที่เราอยากพูดถึงคือเรื่อง “การเข้าถึง” หรือตัว gameplay กันก่อน ทำไมผมต้องพูดเรื่องนี้เป็นประเด็นแรก? ก็เพราะมันคือสิ่งแรกที่รั้งให้ผู้เล่นทั่วไปเล่นต่อไปได้ และก็เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้คนยอมแพ้กด refund โบกมือลา ลองนึกภาพดูสิว่า สมมติว่าถ้าให้คนทั่วไปที่ไม่เคยมีประสบการณ์การขับยานอวกาศเลย (มันจะมีซักกี่คนบนโลก?) มาเล่นเกม “ยานอวกาศซิมูเลเตอร์ ๒๕๖๓” มันจะเกิดอะไรขึ้น? สิ่งแรกที่ทุกคนต้องตั้งคำถามในใจคือ “มันต้องเริ่มตรงไหนก่อน (วะ) ?” , “นี่คือปุ่มอะไร (วะ) ?” หรือ “มันขับยังไง (วะ) ?”
และแน่นอนผมก็คือหนึ่งในนั้น ถึงแม้ว่าเกมในซีรีย์ Microsoft Flight Simulator จะไม่ใช่เกมจำลองเครื่องบินที่สมจริงที่สุด เพราะยังมีเกมจำลองเฉพาะกลุ่มอื่นๆ เช่น X-Plane หรือ Prepar3D ที่จำลองได้สมจริงกว่า แต่ในภาคที่ผ่านๆ มาอย่าง FSX ก็มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงของตัวเกมให้เห็นกันบ้าง ต่อให้เกมจะมีตัวช่วยแล้วก็ตามแต่ก็ทำได้ไม่สะดวกนัก เช่นการแนบคู่มือขับเครื่องบินมาให้เป็นไฟล์ .pdf ซ่อนอยู่ในโฟลเดอร์เกม (เอ่ออออ…คุณพี่ครับ เอางี๊จริงดิ -__-!?) แต่สำหรับ MSFS ภาคนี้นั้น ผมเอะใจว่า Microsoft คงเล็งเห็นปัญหาใหญ่ในจุดนี้ซึ่งยอดขายเกมเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เลยทำให้ทุกอย่างมันง่ายลงกว่าเดิมมากต่อให้คุณเป็นนักบินระดับ Novice ก็ตาม
จุดแรกเลย ตัวเกมทำหน้าต่างเข้าถึงเมนูคำสั่งที่ “จำเป็น” สำหรับการบินจริงให้เข้าถึงง่ายขึ้นมาก เพียงแค่เราขยับเมาส์แถบเมนูคำสั่งต่างๆ ก็โผล่ขึ้นมาให้เห็นแล้ว ในขณะที่ภาคก่อนต้องนั่งงมกันไป แต่เพียงแค่นี้คงน้อยไปถ้าบอกว่ามันทำให้เล่นง่ายขึ้น
จุดที่สองคือเกมทำระบบช่วยเหลือการบินและ Checklist มาให้ ทำให้ผู้เล่นใหม่ได้เรียนรู้ว่า “ในการบินหนึ่งไฟลท์นั้น เราต้องทำอะไรก่อน/หลัง อะไร/ยังไงบ้าง” ขับเครื่อง taxi ไป gate ไม่ถูกหรอ? เรามีลูกศรนำทางให้ , บินขึ้นไปแล้วต้องทำไงต่อ ถ้าไปไม่ถูกเราก็มีกล่องข้อความเตือนให้ , ก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์เราต้องทำยังไง? หาปุ่ม APU Bleed ไม่เจอ? ไม่เป็นเรา เรามีปุ่มกดส่องให้ดู หน้าจอก็จะเล็งไปที่ตำแหน่งแผงปุ่มนั้นให้เราทันที แล้วถ้ากดไม่เป็นล่ะ? ขี้เกียจหรอ? อยากเริ่มบินเร็วๆ เลยใช่มั้ย?
ไม่เป็นไร เรามีคำสั่ง Auto Checklist ให้ เกมก็จะทำเช็คลิสต์ต่างๆ ให้เราโดยอัตโนมัติทันที ผมเชื่อว่างานนี้ถูกใจคนไทยสาย skip อย่างแน่นอน กดแค่ไม่กี่ปุ่มก็สามารถขึ้นไปบินเล่นบนท้องฟ้าได้แล้ว แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้น มันก็ไม่ใช่เรื่องดีซะทีเดียว เพราะในการบินจริงเราไม่ควรมองข้ามเรื่องเหล่านี้นิเนอะ? และความสมบูรณ์ของเช็คลิสต์ในเกมนี้ก็เป็นจุดด้อยในคราวเดียวกัน เพราะมันยังทำได้ไม่ครบถ้วนดี และไม่ถูกต้องตามจริงซะทีเดียว เช่น เครื่องบินหลายๆ แบบในเกมมีเช็คลิสต์จบถึงแค่ขั้นตอนของ “Before Takeoff” เท่านั้น ซึ่งในชีวิตการบินจริงมันจะมีขั้นตอนต่อจากนั้นอีกมากโข
จุดที่สามคือระบบ AI นักบินผู้ช่วย ต้องขอเกริ่นก่อนว่าการบินเครื่องพาณิชย์จริงนั้น เราไม่ได้บินด้วยตัวคนเดียว แต่เป็นการทำงานร่วมกันของนักบิน 2 คน 2 หน้าที่ต่างกัน คือ Pilot Flying ที่ทำหน้าที่ควบคุมการบินตั้งแต่ takeoff ยัน landing และ Pilot Monitoring ที่ช่วยด้านติดต่อสื่อสารวิทยุและงานรองต่างๆ ซึ่งสองหน้าที่นี้ จะเป็นกัปตันหรือนักบินผู้ช่วยก็ได้ทั้งนั้น สลับๆ กันไปในแต่ละไฟลท์ และแน่นอนว่าในเกม MSFS นั้นเราขับเครื่องบินคนเดียวไม่มีใครมานั่งช่วยข้างๆ เรา แล้วใครจะเป็นผู้ช่วยเราไปได้นอกจาก AI แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความฉลาดของ AI ล่ะก็…..หึหึ ให้มันพูดติดต่อวิทยุกับหอควบคุมพอครับ ถ้าให้มันบินแทนเราด้วยนั่นคือหายนะระเบิดเวลาดีๆ นี่เอง มันพร้อมเอ๋อได้ตลอด!
ข้อสุดท้ายคือเรื่องการควบคุม สำหรับการเล่นใน PC นั้นสิ่งที่ทุกคนมีกันก็คือคีย์บอร์ดและเมาส์ และการควบคุมด้วยอุปกรณ์สองชิ้นนี้ถือว่าทำได้ “ดีขึ้น” กว่าเดิมมาก ถึงแม้ว่ามันจะทำได้ไม่ดีเทียบเท่าการเล่นด้วย joystick หรือ flight yoke ซึ่งหาซื้อได้ยากและจำกัดรุ่นมากขึ้นตามความนิยมของยุคสมัย แต่มันก็ทำให้เล่นเกมแบบพอถูพอไถได้พอสมควรโดยเฉพาะการบินแบบ Instrument Flight Rules หรือการบินแบบ “มองแต่หน้าปัด” ที่เน้นใช้ปุ่ม hotkey และใช้เมาส์กดปุ่มเป็นหลัก ปุ่ม hotkey ที่จำเป็นจริงๆ ที่ต้องจำก็มีแค่ไม่กี่ปุ่ม
แต่สำหรับการบินแบบ Visual Flight Rules หรือว่าง่ายๆ “อยากบังคับไปตรงไหนก็เลี้ยวไปตรงนั้น ไม่ต่างกับการขับรถ” อุปกรณ์สองชิ้นนี้อาจตอบโจทย์การควบคุมได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่เราก็สามารถทดแทนได้ด้วยการเล่นผ่านจอย XBOX หรือ PS4 ซึ่งผมใช้วิธีนี้ช่วย เพราะผมหาจอยไฟลท์ซิมตัวเก่าไม่เจอ ไมได้เล่นนานจัด ไม่รู้เก็บเข้ากรุไว้แถวไหน ถ้าถามว่ามันเวิร์คมั้ย ก็ดีในระดับนึง แต่มันก็มีบางจุดที่เล่นผ่านจอยแล้วรู้สึกว่ามันขาดความพอดีอยู่บ้าง เช่น “ขยับเท่านี้ยังน้อยไปนะ” กับ “เฮ้ยยย! นี่มันเยอะเกินไปแล้ว”
ในด้านความสมจริงของตัวเกมก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เราร้อง “ว้าว!” ได้เช่นเดียวกับช่วงเวลาที่ FSX เปิดตัวออกมาใหม่ๆ แต่ในเวอร์ชั่นนี้ไม่ใช่ความสมจริงทางด้านภาพกราฟฟิกเท่านั้น แต่ความสมจริงในด้านสภาพแวดล้อมภูมิประเทศ บรรยากาศการบิน การสร้างอารมณ์ร่วมให้ผู้เล่นได้รู้สึกเหมือนเราเป็นนักบินจริงๆ ก็ทำออกมาได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก โดยตัวเกมจะมีระบบเล่นออนไลน์เล่นไปพร้อมกับผู้เล่นจากทั่วทุกมุมโลก (เท่าที่เล่นดูมีพวกบินผาดแผลงโหม่งโลกก็เยอะ) และ Live Traffic ซึ่งนำข้อมูลไฟลท์จริงจากฐานข้อมูลมาจำลองใส่เข้าไปในตัวเกม ทำให้ขณะที่เราเล่นเกม เราจะได้ยินเสียง ATC เรียกเครื่องบินจากสายการบินดังๆ ที่เรารู้จักกันได้สดๆ เช่น หากเราบินเล่นในเขตประเทศไทย เราอาจจะได้ยินเสียงจากหอดอนเมืองพูดคุยกับสายการบินไทยแอร์เอเชีย นกแอร์ หรือไลอ้อนแอร์ เช่น “ThaiAsia3240 Cleared to land runway 21L”
หรือถ้าบินที่สุวรรณภูมิก็อาจได้ยินหอควบคุมพูดถึง BangkokAir , ThaiVietjet หรือ Thai อยู่บ่อยๆ และเมื่อรวมเข้ากับระบบ Live Weather ที่นำข้อมูลสภาพอากาศ ณ ขณะนั้นในแต่ละพื้นที่ มาใส่เข้าไปในตัวเกม (แต่มันก็ไม่ได้ตรงเป๊ะ 100% ซะทีเดียวนะ) มันก็ทำให้เกมมีความสมจริงและช่วยเพิ่มความอินให้ผู้เล่นยิ่งขึ้นไปอีก เราจะได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่เราไม่ต้องการพบเจอในชีวิตจริง เช่น การบินฝ่าเข้าไปในเมฆ Cumulonimbus แล้วพบกับน้ำแข็งเกาะอยู่เต็มลำตัวเครื่อง สำหรับนักบินแล้วคงเป็นเรื่องสยองสองบรรทัด……แล้วนี่เรายังไม่ได้พูดถึงภูมิประเทศกันใช่มั้ย?
อย่างที่หลายๆ คนรู้กันหรืออาจเคยเห็นกันมาในคลิปต่างๆ บ้างแล้ว ระบบภูมิประเทศของเกมนี้ลิงค์ข้อมูลกับ Bing Map (ว่าง่ายๆ มันคือ” กูเกิลแมพ” ของ Microsoft) และทำการจำลองโมเดล 3D ของอาคารต่างๆ โดยอ้างอิงจากแผนที่ดาวเทียมจริง ซึ่งมันก็ทำได้ดีในระดับหนึ่ง โมเดลเหล่านี้ไม่ใช่โมเดลล่องหนบินทะลุผ่านแบบภาคก่อนๆ แต่เป็นวัตถุที่จับต้องได้ ถ้าเราบินไปชนนั่นคือจบ game over (ตอนเครื่องระเบิดมีเอฟเฟกซ์เสียงหวีดในหูให้ฟังด้วยนะ เล่นเอาซะนึกว่าตายมาจากเกม Call of Duty)
เราสามารถบินเอื่อยๆ เฉื่อยๆ ส่องฝูงยีราฟในทวีปแอฟริกา บินจากดอนเมือง ผ่านสถานีรถไฟบางซื่อที่กำลังก่อสร้างอยู่ ไปส่องบ้านเพื่อนแถวฝั่งธน แล้ววนกลับมาชมวิววัดพระแก้ว ไปจนถึงการบินข้ามเทือกเขาแอลป์จากสวิซฯ ไปมิวนิคแล้วแวะชมโรงแรมริมเขาสกีย่านบาวาเรียได้โดยไม่เดือดร้อนใคร แต่รูปร่างของตัวอาคารมันก็ไม่ได้ตรงตามความเป็นจริงร้อยเปอร์เซ็น ถึงแม้ว่าเกมจะมีโมเดล 3D ของแลนด์มาร์คสำคัญของโลกใส่มาให้หลายจุด เช่น วัดโพธิ์ นครวัด พิรามิดกีซ่า วิหารพาร์เธนอน แต่สนามหลวงซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ วัดพระแก้วมันก็ไม่น่ามีตึกสูงตั้งเป็นห้องแถวอยู่ตรงกลางลานได้เลย
MSFS ภาคล่าสุดนี้หลายสำนักได้กล่าวเอาไว้ว่า “มันเป็นเกมที่ซับซ้อนและมีรายละเอียดปลีกย่อยสูงมาก” ผมก็เห็นด้วยกับประโยคนี้ส่วนหนึ่ง แต่ผมอยากจะขอแก้ไขเป็น “เกมที่มีรายละเอียดสูง แต่ไม่ซับซ้อนจนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น” เพราะด้วยสาเหตุทั้งหลายที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้เล่นปาจอยทิ้งกลางคัน
หัวใจหลักของ MSFS คือเกมขับเครื่องบิน เพราะฉะนั้นเราคงพูดถึงความสมจริงของตัวเครื่องบินเป็นไม่ได้ (ไม่นับเรื่องหน้าตาเครื่องบินหรือความสมจริงทางด้านภาพกราฟฟิกในค็อกพิทนะ) ถ้าให้ผมพูดในฐานะนักบินนั้นคงลากยาวแบบย่อๆ ไปได้อีกหนึ่งหน้า เพราะเครื่องบินที่ผมได้สัมผัสในชีวิตจริงจนถึงเครื่องบินที่ใช้หากินนั้นมีอยู่ในเกมนี้ทั้งหมดนั่นก็คือ Cessna172 , Diamond42 , Airbus A320 และผมได้ลองแล้วก็พบว่ามันมีความแตกต่างจากเครื่องบินของจริงอยู่ในหลายๆ ด้าน เช่น ระบบต่างๆ ของเครื่องบิน , ประสิทธิภาพของเครื่องบิน , คาแรคเตอร์ของเครื่องแต่ละแบบ (ถ้าเปรียบเทียบให้เราเห็นภาพกันก็เหมือนรถขับเคลื่อนล้อหน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง หรือรถโฟร์วีล อะไรประมาณนั้น)
ตัวผมกดคะแนนในส่วนนี้เหลือเพียงครึ่งหนึ่ง เพราะมันมีทั้งจุดที่ “ไม่ใช่เลย” บางจุดที่ “เกือบเหมือน” หรือบางจุดที่ “เฮ้ย! แบบนี้ก็ได้เรอะ!?” ซึ่งมันเป็นข้อมูลเทคนิกเชิงลึก เช่น เครื่องบิน Airbus A320 ปุ่มกดต่างๆ ใช้ได้เพียง 3/10 และ 1/3 นั้นเป็นปุ่มดัมมี่ไว้กดเล่น ไม่ได้ส่งผลกับการทำงานของเครื่องจริงๆ , โหมดการบินและการทำงานของระบบ autopilot ที่มีความเอ๋ออยู่บ่อยๆ , กาง Flap2 แล้วความเร็วไม่ลดลง , การแสดงผลบนหน้าจอ Primary Flight Display ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง , การป้อนข้อมูลการบินใส่ลงไปในคอมพิวเตอร์เครื่องบินที่ทำได้ไม่ครบถ้วน , หน้าจอแสดงสถานะระบบของเครื่องบินที่แสดงได้เพียงแค่ 3 ระบบนอกนั้นเปิดดูไม่ได้ ในมุมของผมเครื่องบินในเกมลำนี้เปรียบเหมือนงานเผาเข็นให้ทันก่อนเกมออก ในชีวิตจริงนั้นคงนำมาขึ้นบินไม่ได้ เพราะว่ามันจะมีป้าย post-it ติดคำว่า “INOP. (เสีย) ” อยู่ในห้องค็อกพิทเต็มไปหมด (ตัวอย่างบางส่วนที่กล่าวมานี้ ผมพยายามแปลศัพท์เทคนิกให้ “ไทย-ไทย” แล้ว หากใครไม่เข้าใจก็ต้องขออภัย ณ ที่นี้ ด้วย)
ทั้งหมดทั้งมวลที่ติชมมานี้คือมุมมองของผมต่อตัวเกมนี้ในฐานะผู้มีอาชีพนักบิน แต่ถ้าหากมองจุดประสงค์ในมุมของผู้พัฒนาเกมที่ทำเพื่อสานต่อตำนานเกม simulator ชั้นครูที่ช่วยเติมเต็มฝันด้านการบินให้กับใครหลายๆ คนที่มีใจรักสู่การเป็นนักบินในอนาคต หรือในมุมของผู้เล่นที่ทั้งเคยและไม่เคยสัมผัสกับเครื่องบินจริง แต่ต้องการความเพลิดเพลินจากบรรยากาศของการบินแบบกินลมชมวิวในสถานที่ซึ่งไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริงด้วยข้อจำกัดต่างๆ ด้านกฎหมาย การตัดทอนบางสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปแต่ยังทำให้เครื่องบินไปต่อได้ แล้วเติมเต็มบางอย่างที่ควรใส่ใจให้มากขึ้น การทำให้เกมเข้าถึงได้ง่ายขึ้นโดยไม่ลดทอนความเป็นเกม simulator จนเปลี่ยนเป็นเกม casual นั่นก็ถือเป็นจุดกึ่งกลางของความลงตัวที่ดีงามแล้ว
Performance 6.5/10
Presentation 10/10
Gameplay 8/10
Realism 7/10
Overall 8/10
บทความโดย PhXIX