BY France
2 Aug 21 7:57 pm

Semiconductor คืออะไร ? และที่มาของวิกฤต “การ์ดจอแพง”

133 Views

ทุกวันนี้ ทุกคนคงได้ยินข่าวที่ราคาการ์ดจอหรือ CPU แพงขึ้นทำให้การซื้อคอมพิวเตอร์ประกอบต้องใช้งบที่สูง หลายคนเลยเบนเข็มไปพึ่งพาโน้ตบุ๊กเล่นเกมที่มีสเปกแรงๆแต่ก็มีราคาสูงเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน ซึ่งปัญหาที่เราเจอกันอยู่ ถ้ามองแกนกลางของเรื่องนี้จริงๆก็คือปัญหาที่เรียกว่า “ชิปขาดแคลน” นั่นเอง แต่ว่า ชิปที่ขาดแคลนมากจนเป็นเหตุให้มีผลกระทบไปจนถึงอุปกรณ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมือถือ แท็บเล็ต หรือแม้แต่รถยนต์ก็เช่นกัน จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้คือชิ้นส่วนเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่เรียกกันง่ายๆว่า Semiconductor หรือสารกึ่งตัวนำ แต่เจ้า Semiconductor คืออะไร สำคัญยังไงกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ วันนี้เรามาหาคำตอบกัน

Semiconductor หน่วยย่อยที่สุดสำหรับการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

Semiconductor หรือสารกึ่งตัวนำ คือคือสิ่งที่มีสถานะทางไฟฟ้าได้ทั้งเป็น “ฉนวน” และ “นำไฟฟ้า” ในตัวเดียวกัน โดยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ , แสง และปัจจัยอื่นๆ เช่น ถ้าอุณหภูมิสูงหรือร้อน semiconductor ก็จะนำไฟฟ้าได้ดี หรือถ้าเย็นลงมันก็จะกลายเป็นฉนวนไฟฟ้าได้ ด้วยความสามารถแบบนี้เลยทำให้ Semiconductor กลายเป็นส่วนสำคัญในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น ชิปหรือบอร์ดสีเขียวๆที่เราเห็นกันบ่อยๆ สารประกอบที่นิยมนำมาทำเป็น Semiconductor คือ ซิลิคอน ซึ่งเป็นสารประกอบสำคัญในการผลิต CPU หรือชิปที่หลายคนคงเคยได้ยินมา

ต้นกำเนิดของปัญหา “ชิปขาดแคลน”

ในปัจจุบัน Semiconductor มีความสำคัญมากสำหรับการผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เราใช้งานกัน และด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งทางฝั่งของคนซื้ออย่างพวกเรา และผู้ผลิตอุปกรณ์ โดยเราจะขอพูดแยกเป็น 2 กรณี

  • ปัญหาจากฝั่งผู้บริโภค(คนที่ซื้อหรือยากได้อุปกรณ์เช่นพวกเรา)

ด้วยวิกฤตของ Covid – 19 ที่ทำให้เราทุกคนต้องอยู่บ้านทำให้ใครหลายคนเลือกที่จะซื้อคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กใหม่ ทั้งคนที่มีของเดิมอยู่แล้วแต่อยากเปลี่ยนเครื่อง หรือคนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวให้ใช้งาน นี่ยังรวมไปถึงการซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น มือถือ , หลอดไฟอัจฉริยะ , เตาไฟฟ้า ,เมาส์ , คีย์บอร์ด และอื่นๆ ที่เราอยากได้ และยังมีเรื่องของการขุดเหรียญ Cryptocurency ที่เกิดเป็นกระแสจนทำให้การ์ดจอราคาแพงขึ้น ทั้งหมดนี้ถ้าจะให้สรุปง่ายๆคือ เราที่เป็นคนซื้อมีความต้องการที่จะซื้อที่มากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตของได้ทันตามความต้องการนั่นเอง

  • ปัญหาจากฝั่งผู้ผลิต(ผู้ที่ผลิตชิปและชิ้นส่วนต่างๆให้เราใช้งาน)

นอกจากปัญหาที่เกิดจากคนซื้ออย่างเราแล้ว ทางผู้ผลิตก็ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น พายุหิมะในอเมริกา , น้ำแล่งในไต้หวัน หรือเชื้อ Covid – 19 ที่ส่งผลต่อการหยุดชะงักในกระบวนการการผลิตชิปต่างๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากในแต่ละวัน ทำให้การผลิตมีความซับซ้อนมากขึ้น ผลิตได้ช้าลง เช่น การเปลี่ยนแผ่นซิลิคอนที่ทำมาจากทรายให้กลายเป็นเครือข่ายของสวิตช์ที่เราเรียกกันว่า Transistor ที่มีขนาดเล็กกว่าผมของเรามาก มากจนมองไม่เห็นรายละเอียดได้ด้วยตาเปล่า

จากที่เราเห็นกันว่าปัญหาของการขาดแคลนของชิปที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนมาก จนไม่สามารถแก้ไขในระยะเวลาสั้นๆได้ ซึ่งทางรัฐบาลในหลายประเทศก็มีแผนที่จะเยียวยาและช่วยเหลืออุตสาหกรรมนี้ แต่ก็อาจจะต้องใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าที่เราจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้

ผลกระทบของวิกฤต “ชิปขาดแคลน” ในอนาคต

ปัญหาชิปขาดแคลนอาจจะยังอยู่กับเราไปอีก 1-2 ปี นั่นจะทำให้เราต้องซื้อโน้ตบุ๊กในราคาที่แพงขึ้น , การประกอบคอมต้องเตรียมงบเยอะกว่าเดิม , ของจะขาดตลาดง่ายขึ้น เช่นเหตุการณ์ที่ Playstation 5 ขาดตลาดอยู่ ณ ตอนนี้ 

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ชิ้นส่วนเล็กๆไปจนถึงอุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่จะทำได้น้อยลงกว่าเดิมมาก ส่วนของคนที่อยากจะพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี IoT หรือเทคโนโลยีใดๆ อาจจะพัฒนาได้ช้าหรือยากขึ้น เพราะด้วยอุปกรณ์ที่มีน้อยและการตั้งราคาที่ต้องให้คนทั่วไปสามารถเลือกซื้อได้

ทั้งหมดนี้คือเรื่องของ Semiconductor ที่มีความสำคัญระดับโลก เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะขับเคลื่อนเทคโนโลยีให้มีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ แต่ด้วยปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เราก็ทำได้แต่หวังว่าให้ปัญหาและวิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นหายไป เพื่อทำให้การผลิตชิปกลับมาราบรื่นเหมือนเดิม

SHARE

ปณต ประจันตะเสน

Back to top