เกมบางเกมไม่ได้ออกแบบมาเพื่อสำหรับเกมเมอร์สายฮาร์ดคอร์ที่ต้องการความท้าทายเพียงอย่างเดียว แต่ผู้เล่นบางคนต้องการเล่นเกมเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้ตัวเอง หรือเสพเกมที่มีเนื้อหาเยอะ ซึ่งเกมเหล่านั้นมีชื่อเรียกว่า Slow Burn Game หรือเกมที่ต้องการให้ผู้เล่นได้ซึมซับกับตัวเกมอย่างเต็มที่ด้วยระบบเกมเพลย์ หรือการดำเนินเนื้อเรื่องแบบช้า ๆ
Slow Burn Game คืออะไร
Slow Burn Game ไม่ใช่เป็นชื่อแนวเกมอย่างเป็นทางการ แต่เป็นชื่อไว้สำหรับเรียกเกมที่มีลักษณะดำเนินเนื้อหาไปแบบช้า ๆ ชิลล์ ๆ โดย Slow Burn Game จะเห็นบ่อยตามเกมประเภท Singleplayer ที่เน้นสตอรี่เป็นหลัก หรือเกมที่ดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงเกมดังกล่าว เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื่องจากผู้เล่นหลายคนเริ่มให้ความสนใจกับองค์ประกอบด้านเนื้อเรื่องมากขึ้นกว่าเกมยุคก่อนที่ผ่านมา
ถ้าหากพูดถึง Slow Burn Game สิ่งที่หลายคนจะต้องนึกถึงเป็นอย่างแรกก็คงเป็นเกมเน้นสตอรี่ อย่าง Death Stranding, Nier: Automata กับ Red Dead Redemption II โดยทั้งสามเกม มีเพลเยอร์บางส่วนได้วิจารณ์ในส่วนของการดำเนินเนื้อเรื่องที่ค่อนข้างช้า เพราะเกมดังกล่าว ใช้เวลาการเตรียมปูเนื้อหาก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องหลักที่นานกว่าเกมอื่น เช่น เผยประวัติของตัวละครหลักและตัวละครเสริมเบื้องต้น, เผยวิธีการเล่นหรือระบบเกมต่าง ๆ, เล่าเนื้อเรื่อง Lore และอื่น ๆ อีกมากมาย
Death Stranding
สาเหตุที่ทีมพัฒนาเกมบางส่วน ใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบ Slow Burn ก็เพื่อให้เกมเมอร์ได้ซึมซับไปกับบรรยากาศ รับรู้ตัวละคร และเนื้อเรื่องในเกม จนผู้เล่นสามารถเข้าถึงตัวเกม แล้วอินไปกับเนื้อเรื่องในช่วงกลาง-ท้ายเกม โดยช่วงนั้นเกมเมอร์จะได้เห็นพัฒนาการของตัวละครอย่างชัดเจน กับจุดไคลแมกซ์ที่น่าตื่นเต้นสุด ๆ
ซึ่งวิธีการเล่าเรื่องดังกล่าวอาจจะสามารถทำได้ในเฉพาะในวิดีโอเกม เพราะเกมระดับ AAA ส่วนใหญ่ได้ออกมาแบบมาเพื่อให้มีระยะเนื้อเรื่องยาวต่อเนื่อง 6 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งแตกต่างจากซีรีส์ทีวีที่ฉายเฉลี่ยตอนละ 45 นาทีในทุกสัปดาห์ และภาพยนตร์ที่ส่วนใหญ่มีระยะความยาวของหนังที่ 2-3 ชั่วโมง
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเกมเนื้อเรื่องดีจะจำเป็นต้องดำเนินเนื้อเรื่องแบบช้าเสมอไป ยกตัวอย่างเช่นเกมแนวแอ็คชัน-เอาตัวรอดอย่าง The Last of Us ที่แม้เกมดังกล่าวสามารถนำเสนอเนื้อหาความเป็นมนุษย์ได้สมจริง และแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง Joel กับ Ellie อย่างลึกซึ้ง แต่เกมดังกล่าวก็มีการดำเนินเนื้อเรื่องที่ค่อนข้างกระชับ รวมถึงเข้าสู่เกมเพลย์อย่างรวดเร็วโดยไม่มีฉากคัดซีนยาวเป็น 10 นาที ส่งผลทำให้เกมดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้ง่าย และเป็นที่ถูกอกถูกใจทั้งเกมเมอร์สายเสพเนื้อเรื่อง และเสพเกมเพลย์เป็นหลัก
และไม่ใช่ว่า Slow Burn Game มีแต่เกมเน้นเนื้อเรื่องเพียงอย่างเดียว แต่เกมที่เน้นระบบเกมการเล่นเป็นหลักก็สามารถเป็น Slow Burn Game ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นเกมแนว RPG แบบผลัดเทิร์น ที่เน้นเกมการเล่นแบบ Tactic เป็นหลักมากกว่าเกมแอ็คชัน RPG ทั่วไป หรือรวมถึงเกมตระกูล Sid Meier’s Civilization เป็นเกมวางแผนแบบ 4x ที่มีชื่อเสียงจากวลีว่า “ขออีกเทิร์น” ก็ถือว่าเป็นเกม Slow Burn ได้เช่นกัน เพราะว่าเกมเหล่านั้นเน้นเกมเพลย์แบบช้า ๆ ไม่เร่งรีบจนเกินไป
ส่วนเกมที่เล่นอย่างได้อย่างเพลิดเพลินหรือเสพติดหลายชั่วโมง เช่น Euro/American Truck Simulator หรือ Stardew Valley ก็จัดว่าเป็นเกม Slow Burn เช่นกัน เพราะเกมดังกล่าวไม่มีจุดไคลแม็กซ์, ไม่มี Objective ที่โหดหินมาคอยกดดันผู้เล่น, ไม่มีเนื้อเรื่องที่ซีเรียส และเป็นเกมที่สามารถเริ่มเล่นตอนไหนก็ได้ หรือเลิกเล่นตอนไหนก็ได้เช่นกัน
Slow Burn Game ในปัจจุบันเริ่มมีการกล่าวถึงมากขึ้นในบอร์ดต่างชาติ เพราะวิดีโอเกมกลายเป็นสื่อบันเทิงที่ได้รับความนิยมไม่แพ้ภาพยนตร์ หลายคนที่ไม่ได้เล่นเกมมาตั้งแต่เด็ก เริ่มหันมาเล่นเกมมากขึ้นเพื่อเสพเนื้อเรื่องที่นำเสนอผ่านเกม และต้องการผ่อนคลายตัวเองจากการทำงานหนักมานาน 7-8 ชั่วโมงเป็นประจำทุกวัน ซึ่งส่งผลลัพธ์ทำให้เกม Slow Burn เช่นเกมเฉพาะกลุ่มอย่าง Simulation, เกมปลูกผัก ได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนเกม Singleplayer ระดับ AAA เน้นเนื้อเรื่อง ก็ยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดเหมือนเกมยุคผ่าน ๆ มา แม้ต้นทุนการสร้างเกมจะเพิ่มขึ้นทุกปีก็ตาม