BY StolenHeart
24 Sep 18 11:40 am

SNK กับย่างก้าวที่ผิดพลาดในวงการเกม

43 Views

วันนี้ผู้เขียนขอเล่าต่อถึงเรื่องราวของค่ายเกมในตำนานอย่าง SNK ที่ก่อนหน้านี้เราได้รู้ว่าพวกเขาสามารถขึ้นมาผงาดในวงการอาร์เคดได้ด้วยการสร้าง MVS หรือ Multi Video System ขึ้นมาสำหรับเกมตู้ และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเพราะสามารถประหยัดต้นทุนไปได้มากและมีเกมให้เลือกเปลี่ยนหลากหลาย กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเกมอาร์เคดแถวหน้าของโลกแทบจะทันที และด้วยบรรดาเกมต่อสู้และแอคชั่นต่าง ๆ ที่มีคนรู้จักมากมายในสมัยนั้น ทำให้พวกเขาก้าวขึ้นมาเป็นค่ายเกมแถวหน้าในยุค 90 อย่างยาวนานจนไม่มีใครไม่รู้จักเลยทีเดียว

แต่ไม่น่าเชื่อว่าในเวลาต่อมา พวกเขาจะต้องพบกับวิกฤติครั้งใหญ่ จนเป็นผลให้พวกเขาต้องประสบชะตากรรมที่ย่ำแย่ จากก้าวเดินที่ผิดพลาดในยุคนั้น โดยในวันนี้เราจะพูดถึงเรื่องนี้กันครับ

บทความย้อนหลังเกี่ยวกับค่าย SNK

SNK ผู้นำเทรนด์เทคโนโลยีเกมอาร์เคดในยุค ’90

20 ปี The King of Fighters ’98 เกมที่นำพา SNK ไปสู่จุดสูงสุด

อย่างที่ผู้เขียนได้เล่าไปในตอนที่แล้วว่าทาง SNK เองก็ได้วางจำหน่ายเครื่องคอนโซลของตนเองในชื่อ NeoGeo ที่มีประสิทธิภาพเหนือล้ำกว่าเครื่องคอนโซลเครื่องอื่นในท้องตลาดอย่างมาก เพราะสเปคเครื่องเป็นตัวเดียวกับที่ใช้ในเกมตู้ จึงไม่ต้องห่วงเรื่องประสิทธิภาพเลย แต่สิ่งที่เป็นของสาหัสที่ทำให้ Neo-Geo ไม่ได้รับความนิยมในวงกว้างก็คือราคาของมัน เกมต่อสู้เกมใหม่ที่ได้รับความนิยมของ SNK ที่เพิ่งลงให้ Neo-Geo นั้นราคาสูงลิ่วถึงตลับละ $300 หรือประมาณหนึ่งหมื่นกว่าบาทไทย หรือถ้าเป็นเกมแนวอื่นก็ราคาสูงไม่แพ้กันที่ราคา $200 หรือแปดเก้าพันบาท แต่ถ้าเป็นเกมในแพลตฟอร์มอื่นอย่าง Super Famicom หรือ Mega Drive ก็มีราคาถูกกว่ามากเพียงแค่ $60 ที่เป็นราคามาตรฐานในตลาด แถมเกมไตเติ้ลใหญ่ ๆ ยอดนิยมเกือบทุกเกมก็ไปลงให้กับเครื่องเหล่านี้เกือบทั้งนั้น(แม้จะถูกลดสเปคและประสิทธิภาพลงไปหลายระดับ) แต่ถ้าให้เลือก ผู้บริโภคก็มักจะเลือกระบบที่เขาประหยัดเงินได้มากกว่าและซื้อเกมได้มากกว่าด้วย และที่สำคัญคือแนวเกมที่มีให้เลือกเล่นนั้นไม่ค่อยมีความหลากหลาย เพราะเป็นเกมที่มาจากระบบอาร์เคดเสียหมด ถ้าให้เลือกก็คงไปหยอดเล่นตู้เกมที่ร้านแทนก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่เข้าท่ากว่า

NeoGeo เครื่องเกมคอนโซลจาก SNK ที่จัดเต็มในด้านประสิทธิภาพที่เท่าเทียมกับเวอร์ชั่นอาร์เคด

และด้วยเหตุนี้ทาง SNK จึงได้วางจำหน่ายเครื่องคอนโซลรุ่น Neo-Geo CD ออกมา ซึ่งยังคงประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกับระบบ NeoGeo อยู่ แต่เปลี่ยนจากการใช้ตลับมาเป็น CD-ROM แทน และมีราคาของเกมที่ถูกลงมาก แต่ปัญหาใหญ่ที่เครื่อง Neo-Geo CD เจอก็คือเวลาในการโหลดข้อมูลที่นานระดับลิงหลับได้ และหลายเกมก็มีการโหลดบ่อยมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับเครื่องเกมอื่นที่ยังใช้ตลับอยู่และไม่ต้องเสียเวลาโหลด ก็ทำให้เป็นข้อเสียเปรียบที่มากเกินพอที่จะไม่ซื้อกันแล้ว แม้จะออกเครื่องเวอร์ชั่นใหม่ในชื่อ NeoGeo CDZ ออกมาก็ไม่ช่วยให้ยอดขายกระเตื้องขึ้น จนกระทั้งปี 1995 ศึกสงครามระหว่างเครื่อง Playstation จาก Sony และ Sega Saturn ของ Sega ก็เริ่มขึ้น และแน่นอนว่า Neo-Geo CDZ ก็ไม่เคยอยู่ในสายตาของผู้บริโภคอีกต่อไป

NeoGeo CD เครื่องเกมเวอร์ชั่น CD ที่ราคาถูกลง แต่ใช้เวลาในการโหลดข้อมูลเกมนานมาก

แม้ตลาดเกมตู้จะยังคงไปได้สวย แต่ตลาดคอนโซลตามบ้านของ SNK ก็ยังคงมืดแปดด้าน เนื่องจากราคาที่สูงและไม่ค่อยมีร้านค้าปลีกร้านไหนสั่งซื้อสินค้าไปวางขาย ทาง SNK America จึงเปิดให้สั่งซื้อสินค้าจากไปรษณีย์แทน ในปี 1998 รายได้หลักของ SNK มาจากความสำเร็จของเกม The King of Fighters เป็นหลัก ซึ่งนับตั้งแต่ภาค 94 เป็นต้นมา ซึ่งนอกจากความนิยมของเวอร์ชั่นอาร์เคดแล้ว เวอร์ชั่นคอนโซลตามบ้านก็ขายดีไม่แพ้กัน แต่สิ่งที่ SNK กำลังเผชิญนั้นไม่ใช่แค่ยอดขายของเครื่องที่ตกต่ำลงเท่านั้น พวกเขายังต้องเจอกับกองทัพเกมเวอร์ชั่น Neo-Geo ของปลอมที่เกิดขึ้นในตลาดอีกด้วย แต่กระนั้นแฟนเดนตายหลายคนก็ยังคงให้ความสำคัญกับเกมของแท้จากทางผู้ผลิตมากกว่า แต่ก็ทำให้ทาง SNK เสียรายได้ไปพอสมควร

The King of Fighters ถือว่าเป็นเกมที่สร้างรายได้ให้กับ SNK อย่างมาก ทั้งยอดผู้เล่นจากบนเกมตู้และยอดขายของเวอร์ชั่นคอนโซล

ต่อมาในปี  1997 ทาง SNK ได้สร้างบอร์ดเกมอาร์เคดรุ่นใหม่ในชื่อ Hyper NeoGeo 64 ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลแบบสามมิติเข้าไป และขยับขยายไปสู่เทคโนโลยีแบบ 64-bit จากเดิมที่ 16-bit ซึ่งเป็นการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีอย่างสูง โดยมีเกมชูโรงในยุคนั้นคือ Samurai Shodown64 และ Fatal Fury: Wild Ambitions ซึ่งทั้งสองเกมก็เคยมาเปิดให้เล่นในบ้านเราด้วยอยู่ช่วงหนึ่งและได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ในคราวนี้พวกเขาต้องเจอกับคู่แข่งอีกหลายเจ้าที่เริ่มขยับขยายมาสู่ตลาดเกมอาร์เคดแบบสามมิติ เช่น Namco กับ Tekken 3 และ Virtua Fighter 3 จาก Sega ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่าทั้งสองเกมได้รับความนิยมมากกว่าแบบไม่เห็นฝุ่น และด้วยประสิทธิภาพของ Hyper NeoGeo 64 นั้นก็เทียบไม่ได้กับบอร์ด Model 3 ของ Sega หรือ Namco System 12 ที่สามารถรันเฟรมเรทได้เกิน 30 เฟรมอย่างไม่ยากเย็น ในขณะที่ Hyper NeoGeo 64 นั้นไม่สามารถทำได้ แถมยังออกมาทีหลังทำให้ถูกเปรียบเทียบหลายจุดจนมีเกมบนบอร์ดใหม่นี้ออกมาน้อยมาก จนในที่สุดก็หายไปอย่างเงียบ ๆ

Samurai Shodow 64 เกมเด่นบนระบบ Hyper NeoGeo64

ความพยายามของ SNK ไม่ได้หยุดแค่การสร้างบอร์ดใหม่ที่รองรับระบบสามมิติเท่านั้น แต่ยังขยับขยายไปสู่ตลาดเกมมือถือด้วย ในปลายปี 1998 พวกเขาก็ได้วางจำหน่ายเครื่อง NeoGeo Pocket ที่เป็นเครื่องเกมมือถือเครื่องใหม่ล่าสุดและมาพร้อมกับเกมแนว Fighting หลากหลายเกมตามสไตล์ถนัดของ SNK แต่แค่ไม่ถึงปี พวกเขาก็ออกเครื่อง NeoGeo Pocket Color ออกมา เพื่อต่อกรกับ Gameboy Color ของทาง Nintendo ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งอันที่จริงแล้วเครื่อง NeoGeo Pocket ก็มีหลายเกมที่น่าสนใจมาลงให้อยู่ อย่างเช่น Card Fighter Clash ที่พัฒนาร่วมกับทาง Capcom นำตัวละครจากทั้งสองค่ายมาสร้างเป็นเกมการ์ดที่เล่นสนุกเล่นง่าย แถมยังมีลูกเล่นในการเชื่อมต่อกับเครื่องคอนโซลอย่าง Dreamcast เพื่อรับการ์ดพิเศษและเนื้อหาอื่น ๆ ในเกม แถมโฆษณาโปรโมทที่ออกมาในช่วงนั้นจัดว่าเฟี้ยวมาก โดยเป็นการส่งสารไปหาทาง Nintendo ตรง ๆ ว่า I’m not a Boy หรือ”ฉันไม่ใช่เด็กแล้วนะ” ซึ่งจะสื่อว่าคนที่โตแล้วต้องเล่น NeoGeo Pocket นี่เอง โคตรเฟี้ยว

โฆษณาทางทีวีของ NeoGeo Pocket Color ที่สื่อมาชนกับ Gameboy แบบตรง ๆ

แต่ผลการต่อสู้เรานั้นก็รู้ ๆ กันอยู่ NeoGeo Pocket Color แพ้ยับเยินในเวลาแค่ไม่กี่ปี สู้ไม่ได้ทั้งจำนวนเกมที่ลงให้ ราคาของเครื่องเกมและตลับที่ค่อนข้างสูง ยอดขายก็อย่าให้พูด ทั้งเครื่องทั้งเกมนั้นขายได้แค่เพียงน้อยนิดแม้ตัวเครื่องจะมีประสิทธิภาพในการประมวลผลมากกว่าก็ตาม โดย NeoGeo Pocket Color มียอดส่วนแบ่งการตลาดของเกมมือถือทั้งหมดในช่วงปี 2000 เพียงแค่ 2% เท่านั้น

Gameboy Color ดาวพิฆาตของ NeoGeo Pocket และเครื่องเกมมือถืออีกหลายเครื่องในยุคปี 90

จากการขาดทุนและล้มเหลวอย่างต่อเนื่องในโปรเจคใหม่ ๆ  นับตั้งแต่ปี 1997 ทำให้เค้าลางแห่งความมือเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ในปี 2000 จุดเริ่มต้นแห่งหายนะที่อยู่เบื้องหลังความสวยงามก็เริ่มต้นขึ้น

ในปีนั้นถือว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่ทาง SNK กำลังไปได้สวยจากการร่วมมือกับ Capcom ในการสร้างเกม Cross Over ที่หลายคนรอคอยอย่าง Capcom vs SNK และมันก็กลายเป็นเกมยอดนิยมในทันทีเมื่อวางจำหน่าย แต่ในเวลานั้นเองสภาพทางการเงินของ SNK นั้นก็อยู่ระดับที่ร่อแร่เต็มที จนในที่สุดทาง Aruze บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องปาจิงโกะก็เข้ามาซื้อกิจการของทาง SNK ไปเพื่อช่วยผยุงตัวนำเงินทุนมาทนแทนส่วนที่ขาดทุนไปมาพัฒนาเกมต่อ โดยนำตัวละครจากเกมของพวกเขาไปใช้กับตู้ปาจิงโกะ ซึ่งนอกจากความล้มเหลวในเรื่องยอดขายต่าง ๆ และการทำธุรกิจเกมตู้แล้ว พวกเขาก็จำเป็นต้องปิดร้านเกมตู้ของตนอย่าง NeoGeo World Amusement ไปอีกหลายแห่ง และในปี 1999 ทาง SNK ก็วางจำหน่ายเกม The King of Fighters ’99 Evolution และ Garou: Mark of the Wolves ให้กับเครื่อง Dreamcast ซึ่งเรียกได้ว่าทั้งสองเกมนั้นทำออกมาได้ดีมาก แต่ก็เหมือนคราวซวยซ้ำสอง เพราะเครื่อง Dreamcast นั้นไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ส่งผลให้ยอดขายลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งจากการขายสิทธิ์การใช้ชื่อตัวละครของ Aruze นั้นมีผลให้ผู้ก่อตั้งอย่างคุณ Eikichi นั้นต้องออกจากบริษัทไป โดยได้ออกไปตั้งบริษัทใหม่ในชื่อ Playmore ในวันที่ 1 สิงหาคม 2001

Capcom vs SNK เกมในฝันของเหล่านักสู้ ซึ่งก็ไม่มีใครคาดคิดว่า SNK จะล้มหลังจากวางจำหน่ายเกมนี้ไปได้ไม่กี่ปีต่อมา

จริงอยู่ที่ในปีนั้นเกม Capcom vs SNK จะประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ผลกำไรส่วนใหญ่นั้นก็เป็นของ Capcom ที่เป็นผู้พัฒนาหลัก ส่วน SNK ที่พัฒนาเกมการ์ดให้กับเครื่อง NeoGeo Pocket Color นั้นก็ทำยอดขายไปได้น่าผิดหวังเพียงแค่ 50,000 ชุดเท่านั้น และก็ต้องปิดตัวบริษัทในสาขาอเมริกาเหนือลงทั้งหมด เรียกคืนสินค้าของพวกเขาคืนจากร้านค้าทุกแห่งเหลือเอาไว้เพียงแค่ความทรงจำเท่านั้น และจุดต่ำสุดของพวกเขามาถึงในเดือนตุลาคมปี 2001 เมื่อทาง SNK ประกาศล้มละลายโดยทางผู้ถือหุ้นของ Aruze เห็นว่าหนี้สินของทาง SNK นั้นมีมากจนเกินไป ซึ่งก็มีการขายสินทรัพย์มาชดใช้หนี้ และลิขสิทธิ์ของเกมต่าง ๆ เช่น The King of Fighters ให้กับทาง Eolith ของเกาหลีใต้ และ metal Slug ให้กับทาง Mega Enterprise ไปพัฒนาต่อ หลายคนคงคิดว่า SNK คงมาถึงจุดสิ้นสุดและหายไปจากความทรงจำของพวกเรา

The King of Fighters 2001 เป็นผลงานของ Eolith ของเกาหลีใต้ที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปทำต่อ

แต่เรื่องราวของ SNK ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะในปัจจุบันเราได้เห็นกันแล้วว่าพวกเขาได้กลับมาอีกครั้งและมีเกมใหม่เตรียมวางจำหน่ายในอนาคตอยู่อีกเพียบ แต่เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ก็อย่าลืมตามอ่านกันให้ดีนะครับ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : The history of SNK – Gamespot.com

SNK – SNK Wikia.com

SHARE

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top