สปีดรัน คำนี้หลายคนอาจจะได้ยินกันมาบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ ทั้ง DOOM Eternal และ Resident Evil 3 สองเกมล่าสุดที่เพิ่งออกมา ต่างก็กำลังมีคนทำสปีดรันกันอย่างมากมาย แล้วเรารู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว ชาเลนจ์สปีดรัน มันเริ่มต้นและมีที่มาที่ไปกันยังไง วันนี้มาหาคำตอบได้พร้อม ๆ กันที่นี่เลยครับ
Speed Run คืออะไร ?
Speed Run คือเมคคานิคเกมรูปแบบหนึ่ง คือการเล่นเกมทั้งเกมหรือด่านใดด่านหนึ่ง จบในระยะเวลาอันรวดเร็วที่สุด ซึ่งมันยังแบ่งออกเป็นหลากหลายรูปแบบ บางกรณีนั้นมีเป้าอื่น ขึ้นอยู่กับความท้าทายที่ผู้เล่นเป็นคนกำหนดเอง ปกติแล้ว Speed Run ไม่ได้บังคับให้ผู้เล่นต้องทำ แต่ผู้เล่นเลือกจะทำกันเอง เพื่อประชันฝีมือ หรือแข่งขันกันเองในหมู่เกมเมอร์
ชาว Speed Run จะเรียกกันว่า Speed Runners พวกเขามักจะบันทึกสถิติเพื่อสร้างความบันเทิง และตรวจสอบเวลาที่เล่นเกมนั้น ๆ เสร็จสิ้น
การเล่นแบบ Speed Run นั้นเรียกได้ว่ามีมาแทบจะทุกเกม ตั้งแต่สมัยบนเครื่อง Famicom มาจนถึง PC ปัจจุบันก็ยังมีทำให้เห็นกันอยู่เป็นประจำ และแม้จะไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่แพร่หลายในตอนแรก แต่ก็มีเว็บไซต์หลายแห่ง และยูทูปเบอร์หรือผู้คนมากมายที่ทำตาม ๆ กันมา จนเกิดการแพร่กระจายในวงกว้างในที่สุด
Sequence Breaking หรือการตัดขั้นตอนไม่จำเป็น
การทำลายสถิตินั้นดูจะเป็นปัจจัยหลักในการ Speed Run ในระหว่างการเล่นเกมนั้น ผู้เล่นหรือคนบางคนจะเห็นได้ว่า องค์ประกอบดังกล่าวในเกมนั้น ไม่จำเป็นต้องทำให้สำเร็จก็ได้ เช่นการฆ่าศัตรูทุกตัว การนั่งชม Cutscene (ยิ่งเล่นซ้ำรอบสองขึ้นไปยิ่งไม่จำเป็น เว้นแต่ดูอีกทีเพราะชอบ หรือตกหล่นอะไรก็ว่ากันไป)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกม Metroidvania ทั้งหลาย ที่มีพื้นที่ลับ ห้องหับอีกมากมายให้เราเลือกสำรวจ ซึ่งการเล่นแบบนี้กว่าจะจบ ต้องกินเวลาไม่น้อยแน่ ๆ
การทำ Sequence Breaking อ้างอิงจาก Wikipedia มีการค้นพบว่าถูกใช้ครั้งแรกในปี 2003 กับเกม Metroid Prime โดยการข้ามเงื่อนไขของเกมบางอย่าง และพบว่าเกมยังมอบของรางวัลให้เหมือนเดิม ก่อนที่จะถูกนำไปใช้กับเกมอื่น ๆ ในภายหลัง และกลายเป็นธรรมเนียม Sequence Breaking ต่อยอดมาเป็น Speed Run ในปัจจุบัน
Speed Run กับการใช้ Glitch
คิดว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า Glitch กันมาบ้างแล้ว — Glitch นั้นเหมือนกับ Bug หรือข้อผิดพลาดของตัวเกม ยกตัวอย่างเช่นในเกม Super Mario 64 ในการเปิดประตูไปท้าทายเจ้า Bowser ปกติจะต้องใช้ดาว 70 ดวง จาก 120 ดวงที่หาได้ในเกม แต่คนที่ใช้ Glitch กลับสามารถเปิดประตูเข้าไปลุยได้ตั้งแต่ตอนที่มีดาว 16 ดวง
ด้วยการกระทำแบบนี้ทำให้เกมสามารถเล่นจบได้เร็วกว่าปกติมาก ซึ่งการใช้ Glitch ส่วนมากก็จะใช้กันอย่างแพร่หลายในการทำ Speed Run ยกตัวอย่างเช่น DOOM Eternal ที่จบเกมได้ในเวลา 30 นาที ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการใช้ Glitch ของตัวเกม ทำให้ไปถึงที่หมายได้เร็วขึ้น ไม่ต้องวิ่งหากลไกเปิดประตู
แต่หลัง ๆ มาก็เริ่มมีกฎการ Speed Run ออกมา เพราะบางเกมนั้น ต้องการให้หลีกเลี่ยงการกระทำแบบนี้ บางเว็บไซต์อย่างเช่น Speeddermosarchieve จึงเสนอการสนับสนุนการเล่นแบบ Speed Run ที่ถูกต้อง และให้เลี่ยงข้อผิดพลาดบางอย่างเอาไว้ด้วยนั่นเอง
Speed Run จากเรื่องเล่น ๆ สู่องค์กรการกุศล
ใครจะรู้ว่าจากชาเลนจ์ขำ ๆ ทำกันสนุก ๆ จะกลายมาเป็นการแข่งขันที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการกุศลด้วย โดยองค์กรนี้มีชื่อว่า Games Done Quick ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ชวนคนเล่นเกมเก่ง ๆ มาเล่นเกมให้คนอื่นดู มีพิธีกรมาบรรยาย มีการชวนผู้ชมมาพูดคุย และถ่ายทอดสดในอินเตอร์เน็ตติดกันหลายวันหลายคืนเป็นมาราธอน
ซึ่งจะมีผู้ชมบริจาคเงินเข้ามา และรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายก็จะนำไปบริจาคให้องค์กรหรือกองทุนอื่น ๆ อีกที ซึ่งทาง GamingDose เองก็เคยเขียนเรื่องนี้เอาไว้แล้ว ตามไปอ่านกันแบบเต็ม ๆ ได้ ที่นี่
Speed Run เป็นเรื่องที่ผิดหรือไม่ ?
ต้องบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดเลย เพราะปกติแล้ว Speed Run จะเน้นไปที่การเล่นแบบ Single Player วัดว่าใครจบด่านนั้น ๆ ได้เร็วกว่ากันเท่านั้น และส่วนมากการทำ Speed Run จำเป็นจะต้องเล่นเกมจบอย่างน้อย 1 รอบอยู่แล้ว เพื่อศึกษาเส้นทาง เทคนิค และส่วนมากเกมออนไลน์มัลติเพลเยอร์จะไม่ค่อยมีการทำ Speed Run กันนัก (ยกเว้นเกมที่มี Leader Board ซึ่งการใช้วิธี Glitch อาจโดนแบนได้)
เอาเป็นว่าใครใคร่เล่นเกมแบบเสพเนื้อหาก็เสพไป ใครอยากท้าแข่งสถิติก็ทำไป เรื่องนี้อยู่ที่ความชอบส่วนบุคคลล้วน ๆ เลยทีเดียว ตอนนี้ใครอยากเห็นคนที่ทำ Speed Run โหด ๆ ก็ลองหาดูได้จากคนที่เล่น Resident Evil 3 และ DOOM Eternal กันได้ครับ กำลังเป็นที่นิยมสำหรับสองเกมนี้เลย