BY Nuttawut Apiratwarakul
Less than a minute ago

Spirit Mancer: เส้นทางความหวังสู่ผลงานเกมในฝันของทีมพัฒนาไทย Sunny Syrup Studio

8 Views

Spirit Mancer เกมแอกชั่นแนว Side Scroller จากทีมพัฒนาน้องใหม่ชาวไทย Sunny Syrup Studio ผ่านการพัฒนา ผ่านเรื่องราวมากมายจนตัวเกมเตรียมจะวางจำหน่ายจริงกันแล้ว

และในโอกาสที่ตัวเกมเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวางจำหน่ายจริงในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2024 ที่กำลังจะมาถึงนี้  GamingDose ของเราก็ได้โอกาสมานั่งคุยกับผู้ก่อตั้งและทีมพัฒนาทั้งสองถึงเรื่องราวความเป็นมาของทั้งทีมงาน Sunny Syrup และผลงานเกม Spirit Mancer 

ไปทำความรู้จักพวกพวกเขา สำรวจและพูดคุยถึงแง่มุมในการทำงาน ที่มาที่ไปของผลงานเกมชิ้นนี้ 

ย้อนรอยการเดินทางจากการตั้งต้นเป็นนักพัฒนาเกมไทย สู่วันที่ผลงานชิ้นแรกกำลังจะวางจำหน่ายสู่มือเกมเมอร์ทั่วโลกกัน

Spirit Mancer จากเกมในฝันสู่สายตาเกมเมอร์ทั่วโลก

“ก็สำหรับ Spirit Mancer นะครับตัวเกมนี่เราได้แรงบันดาลใจมาจาก Metal Slug Megaman การ์ตูนโจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ และ Pokemon ครับ คุณเชนทร์ เชนทร์ สุขภูมิ และคุณแอน ดวงฤทัย ปรีดานนท์ สองผู้ก่อตั้งทีม Sunny Syrup Studio และผู้สร้าง Spirit Mancer เปิดเผยถึงแรงบันดาลของตัวเกมกับเรา

“จุดเด่นของเกมก็คือเราสามารถจับมอนสเตอร์ภายในเกมมาใช้งานได้ในรูปแบบของวิญญาณ” 

“นอกจากนั้นเนี่ยเกมเราก็ยังมีระบบ Local Co-op คือจะเล่นคนเดียวก็ได้ แต่ก็สามารถเล่นกับเพื่อนอีกคน นั่งสนุกไปด้วยกันบนจอเดียวได้เลย”

ระหว่างการพูดคุยบูธของเกม Spirit Mancer ก็ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง มีเกมเมอร์ให้ความสนใจวนเวียนมายืนทดสอบตัวเกมในงาน Gamescom Asia 2024 แบบไม่ขาดสาย 

จากที่เราได้เห็นและสัมผัสก็ต้องบอกว่าตัวเกมนั้นโดดเด่นในเรื่องของอนิเมชั่น การออกแบบ และระบบการเล่น ถือได้ว่านอกจากระบบการเล่นของเกมจะถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีแล้ว ก็ยังมีลูกเล่นหลายอย่างที่น่าสนใจ ตัวเกมก็มีความลื่นไหลเป็นอย่างมาก  

ตัวผลงานนั้นสัมผัสได้เลยว่าทีมงานใส่ใจ ต้องการให้เป็นเกมแอกชั่นที่เล่นสนุก มีรูปแบบการโจมตีและการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว แม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นการยิงกระสุนหรือการฟาดฟันศัตรูทั้งหลาย

ความเป็นมาของการก่อตั้ง Sunny Syrup Studio

คุณ เชนทร์ สุภูมิ และคุณ แอน ดวงฤทัย ปรีดานนท์ เล่าถึงที่มาที่ไป ในการร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอตั้งแต่ศูนย์จากที่ไม่มีความรู้ในการสร้างเกมเลย อาศัยการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองปลุกปั้นผลงานกันแบบเต็มที่และล้มเหลวมาหลายครั้งหลายตอนมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

เชนทร์เล่าถึงความคิดแรกเริ่มที่ทำให้เขาเข้าสู่วงการพัฒนาเกมว่า แม้เขาจะเรียนในสายสุขภาพมา แต่เขารู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับการทำงานในสายงานนั้น เพราะไม่ชอบงานในโรงพยาบาล เขาต้องการสร้างสรรค์สิ่งที่เขารู้สึกว่าทำได้ดีและสนุกไปพร้อมกัน และเขาก็เห็นว่าการพัฒนาเกมเป็นโอกาสที่น่าสนใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ตอบโจทย์ความชอบของเขา

“ย้อนไปหลายปีก่อน ตอนช่วงเรียนอยู่มหาลัย ผมเรียนคณะเภสัชมา เป็นสายสุขภาพแต่ว่าส่วนตัวไม่ได้ชอบงานเกี่ยวกับโรงพยาบาลเลยครับ”

“เราก็รู้สึกว่าอยากจะทำอะไรที่เรารักซึ่งเกมเนี่ยเป็นอะไรที่เราชื่นชอบ และมีความรู้สึกว่าน่าจะทำเป็นอาชีพได้ ”

“ส่วนทางแอนก็เรียนด้านการออกแบบมา เราก็คุยกันว่าถ้างั้นเรามาลงมือทำอะไรสักอย่างจริงจังกันดีกว่า”

“เราลงมือศึกษาข้อมูล ดูทุกอย่างที่เกี่ยวกับการทำเกมเรียกได้ว่าค้นคว้าทุกอย่างจริง ๆ ตั้งแต่ต้นเลยค่ะ”

เรียกได้ว่ามีความตั้งใจ มีฝันแต่ทั้งคู่ก็รู้ตัวว่าไม่ได้มีความรู้ความสามารถในด้านนี้ จึงต้องเริ่มต้นศึกษาเก็บเกี่ยวประสบการณ์กันมาอย่างยาวนาน พร้อมกับปรึกษาผู้มีความรู้ผู้คนรอบข้าง ค่อย ๆ การก้าวเดินไปทีละก้าว และสร้างสรรค์ผลงาน ประกอบมันขึ้นมาทีละชิ้น ๆ 

การพัฒนาเกม Spirit Mancer

โปรเจกต์ Spirit Mancer ได้เริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2557 โดยในช่วงแรกนั้นเป็นการพัฒนารูปแบบเบื้องต้น (Pre-production) ที่ยาวนานถึง 6 ปี เนื่องจากต้องเรียนรู้และทดลองหลายๆ สิ่ง โดยการพัฒนาฉบับเต็มรูปแบบ (Full Production) นั้นเพิ่งจะเริ่มต้นอย่างจริงจังในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี่เอง

ในช่วงนี้ เกมยังไม่มีชื่อที่ชัดเจนและยังอยู่ในกระบวนการคิดคอนเซ็ปต์ โดยเป็นการเดินทางที่เต็มไปด้วยความฝันและความหวังของทีมพัฒนา ทั้งคู่พยายามค้นหาทางออกในการทำให้เกมที่สามารถวางจำหน่ายและได้รับความนิยมในตลาดเกมโลกได้จริง ๆ 

“ช่วงแรกนี่เรามองไม่เห็นทางออกเลยค่ะ แต่ก็สู้มาเรื่อยๆ”

 “พอเราเริ่มมีผลงานที่เป็นรูปเป็นร่างแล้วเนี่ยการจะขายเกมให้ได้จริงมันเป็นเรื่องที่ยากมากกว่า ”

“เราดิ้นรนกันเต็มที่มาก พาเกมเราออกไปให้โลกรู้จัก ไปออกงานเกมหลายที่ทั่วโลกเลยในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อพาให้เราไปถึงกลุ่มลูกค้าของเรา”

ความท้าทายในการพัฒนาและการเรียนรู้

การพัฒนาเกม Spirit Mancer ไม่ได้ราบรื่น ทีมพัฒนาพบเจอความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของ SDK (Software Development Kit) ที่เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาเกม ซึ่งเชนทร์และแอนต้องศึกษาและเรียนรู้จากศูนย์ นอกจากนี้ ทั้งคู่ก็ยังต้องพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรมและเรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

“ปัญหาที่สำคัญที่สุดเลยสำหรับเราก็คือเราเป็นมือใหม่มากค่ะ อย่างที่บอกไปพวกเราเริ่มต้นจากการไม่รู้อะไรเลย”

“ใช่ครับผมว่าปัญหาของเรามันก็คือความไม่รู้นี่แหละ”

“นี่เป็นผลงานเกมแรกของเรา เราผิดพลาดบ่อยมาก ๆ เรียกได้ว่าเดินไปทางไหนก็ทำผิดกันตลอดทาง”

“แต่ก็พยายามเรียนรู้กันมาอย่างต่อเนื่อง ค่อย ๆ พัฒนา พัฒนาตัวเองในทุกๆวัน”

“แน่นอนว่าพอพลาดขึ้นมามันก็เสียทั้งเงินและเวลา เราก็ท้อแท้ล้มลุกกันมาตลอดเป็นเรื่องปกติ” 

“เอาจริง ๆ เลยก็คือร้องไห้กันเยอะมาก (หัวเราะ)” 

แน่นอนว่าในวันที่ Spirit Mancer เตรียมจะออกวางจำหน่ายในเวลาอีกแค่ไม่ถึงหนึ่งเดือนข้างหน้า การย้อนกลับไปมองความพยายามอันยาวนานกว่า 10 ปีของทั้งคู่ก็นำพามาซึ่งความทรงจำที่ทั้งบอบช้ำและสวยงาม

ยังไม่รวมถึงการต่อสู้ในอนาคตที่จะต้องเกิดขึ้นเมื่อเกมออกวางจำหน่ายจริง

ความท้าทายในฐานะของ “เกมไทย”

การทำเกมก็ว่ายากแล้ว การขายเกมก็ยากขึ้นไปอีก แต่การขายเกม “ไทย” มันเหมือนจะมีความยากมากขึ้นไปอีกขั้น จากประสบการณ์ที่ทั้งคู่ได้พบเจอมา 

ซึ่งเชื่อว่าเป็นประสบการณ์ที่นักพัฒนาเกมไทยหลายคนอาจจะต้องได้พบเจอ

“การทำเกมมันเป็นเรื่องยาก มันมีความท้าทายหลายแบบ แต่ยิ่งไปกว่านั้นเวลาเราเอาเกมไทยไปโชว์ในปีแรก ๆ นี่มันเหมือนเป็น Hard Mode อยู่เหมือนกัน” 

“เค้าไม่เชื่อว่าคนไทยจะทำเกมได้ บางคนก็มีภาพจำที่ไม่ค่อยดีกับประเทศไทยสักเท่าไหร่”

“แน่นอนว่าการพูดคุยต่าง ๆ เวลาเราไปเจรจาหรือแนะนำเกมมันก็เหมือนมีร่องรอยที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่”

“แต่ทุกวันนี้เชื่อว่าผลงานเกมไทยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเรามีความสามารถมากพอ”

ตัวทีมพัฒนาชาวไทยเองก็ปล่อยผลงานระดับโลกกันออกมาแบบต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา ภาพจำเดิม ๆ ของเกมไทยในสายตาเกมเมอร์ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

ในแง่ของคุณภาพเชื่อว่าหลายคนก็ยอมรับว่าเกมไทยในปัจจุบันนั้นมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด เป็นผลงานเกมที่วางจำหน่ายในมาตรฐานสากลและพร้อมรับการพิสูจน์จากเกมเมอร์ทั่วทุกมุมโลก

ถึงอย่างนั้นการทำเกมก็เป็นความทรงจำที่สวยงามสำหรับทีม Sunny Syrup Studio

“เราคิดว่าวงการเกมมันมีความน่ารัก การได้มาทำเกมสร้างความทรงจำดี ๆ ให้เราเยอะมาก ๆ”

“ที่สำคัญที่สุดก็คือเราสัมผัสได้ว่าคนที่มาเล่นเกมเราเป็นกลุ่มคนที่มี Passion รักในวิดีโอเกมกันจริง ๆ มันเป็นอะไรที่เรารู้สึกว่าเราหาไม่ได้จากที่อื่น ๆ”

“อีกด้านที่สำคัญมากก็คือการสนับสนุนจากครอบครัวของพวกเราเองและน้อง ๆ ในทีม” 

“อย่างน้อง ๆ ในตอนแรกพ่อกับแม่ก็ต่อต้านว่ามาทำงานวงการเกมมันจะไปรอดหรือเปล่า มั่นคงมั๊ยนะ แต่ตอนนี้คือพ่อแม่ผู้ปกครองน้อง ๆ ในทีมคือช่วยกันแชร์ผลงานเกมเรา น่ารักมาก ๆ ที่เห็นคนยุค Baby Boomer มาแชร์วิดีโอเกม อยากให้เราประสบความสำเร็จ”

ฝากถึงเกมเมอร์ไทย

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่จะหยิบยกเอาการเป็นทีมไทยแล้วมาบอกให้เกมเมอร์ไทยต้องสนับสนุนกันอย่างเดียว ทีมงาน Sunny Syrup Studio เข้าใจดีว่าสำหรับเกมเมอร์แล้ว “คุณภาพ” เป็นสิ่งที่สำคัญและตัวชี้วัดในการตัดสินใจสนับสนุนควักเงินซื้อผลงาน

“เราเข้าใจดีว่าสุดท้ายคุณภาพเป็นตัวกำหนดทุกอย่าง แต่แน่นอนว่าเราก็อยากให้เกมเมอร์ไทยได้เล่นเกมของเรากัน”

“ขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนพวกเรามาตลอด ตัวเกม Spirit Mancer ก็มีภาษาไทย และการตั้งราคาพิเศษให้ด้วยสำหรับเกมเมอร์ชาวไทย เราตั้งราคาในไทยถูกเป็นพิเศษจริง ๆ อยากให้ทุกคนได้ลองเล่นกัน”

Spirit Mancer วางจำหน่ายวันที่ 22 พฤศจิกายน นี้ บนระบบ PlayStation, Nintendo Switch และ STEAM ใครสนใจก็ตามไปกดกันได้เลยครับผม

https://store.steampowered.com/app/2172580/Spirit_Mancer/

Nuttawut Apiratwarakul

โน้ต - Co-Founder / Editor-in-chief

Current template: single-gamecom-asia.php